แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
เปิดสูตรเด็ดเคล็ดลงทุน หมอบุญ วนาสิน

เปิดสูตรเด็ดเคล็ดลงทุน หมอบุญ วนาสิน

ณัฐวิทย์ ณ นคร
"นายแพทย์บุญ วนาสิน" หรือ "หมอบุญ" เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อเขาก้าวเข้ามาซื้อธุรกิจ "โรงพยาบาลปิยะเวท" โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันไปสู่ "เมดิคัลฮับ"

จากวันนั้นทำให้ชีวิตที่มั่งคั่งของหมอบุญ เริ่มเป็นที่ประจักษ์วงกว้าง



ทุกวันนี้ขุมทรัพย์หลายหมื่นล้านบาทของ "หมอบุญ" กระจายหลักแหล่งอยู่ทั่วโลกตั้งแต่เมืองจีน ไต้หวัน อเมริกา และในเมืองไทย

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีโอกาสเปิดห้องสนทนากับหมอบุญ เพื่อถ่ายทอด "วิธีคิด" - "วิธีการลงทุน" และ "วิธีสร้างธุรกิจ"

ที่นี่ที่เดียว!!

--------------------------------------------------------

"เมดิคัลฮับ" ขุมทรัพย์หมื่นล้าน "หมอบุญ"


ทฤษฎีนิยมในการดำเนินธุรกิจด้วย "เงินสด" โดยการ "ไม่กู้เงิน" คือต้นสายแห่งความสำเร็จ ก่อนจะก่อตัวเป็นความมั่งคั่งนับหมื่นๆ ล้านบาท

กระทั่งวันนี้ ความสำเร็จในธุรกิจอันหลากหลายของหมอบุญ ได้ส่งให้ "วิธีคิด" ของหมอคนนี้กำลังก้าวขึ้นไปเป็น "กรณีศึกษา" ให้แก่นักธุรกิจชั้นนำในเมืองไทย

ด้วยอุปนิสัยเป็นคนชื่นชอบการ "อ่านหนังสือ" ตั้งแต่สมัยยังวัยรุ่น โดยเฉพาะหนังสือประเภทอัตชีวประวัติของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจต่างๆ หมอบุญจึงนำความรู้ที่ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงตลอดมา

"ทุกวันนี้เวลาส่วนใหญ่ของผมก็ยังใช้ไปกับการอ่านหนังสือ ชีวิตผมมีปรัชญาข้อหนึ่งว่า คนที่มี "อินฟอร์เมชั่น" มากที่สุดคือ "ผู้ชนะ"

หมอบุญมีแนวคิดว่า หนังสือไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเขา กลับกัน "ผมสร้างชีวิต (ที่ร่ำรวย)ด้วยการอ่านหนังสือ...แล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตจริง"

ความมั่งคั่งของหมอบุญ "ส่วนใหญ่" จะมาจากการลงทุนประเทศต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกวิธีในการกระจายความเสี่ยง เพื่อไม่ให้ขุมทรัพย์นับหมื่นล้านบาทต้องมา "แขวน" ไว้กับอนาคตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งหมอบุญเชื่อว่ามีความแข็งแรงน้อยกว่าเศรษฐกิจของประเทศที่เขานำเงินไปลงทุน

หมอบุญอธิบายว่า เขาชอบทำธุรกิจโดยหาเงินจากคนต่างชาติ เพราะคนไทยมีกำลังซื้อน้อย

"ถ้าผมต้องเอาธุรกิจมาผูกไว้กับเศรษฐกิจไทย...ชีวิตผมจบ"

ฉะนั้นเงินส่วนใหญ่ของหมอบุญจึงลงทุนอยู่ในเมืองจีน ซึ่งสะสมการลงทุนมานานกว่า 30 ปี เรียกว่าเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในเมืองจีน

หมอบุญอธิบายแนวทางการลงทุนในต่างประเทศว่า ส่วนใหญ่จะร่วมลงทุนกับคนไต้หวัน เพราะมีเพื่อนชาวไต้หวันจำนวนมาก และกระจายอยู่นับสิบอุตสาหกรรมในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

"ผมทำอุตสาหกรรมมาเกือบทั้งหมดแล้ว แต่เรื่องอสังหาฯ ก็ลงทุนไว้บ้างในช่วงแรกๆ แต่ตอนนี้ไม่ไหวเพราะคู่แข่งมันเยอะ และก็มีเงินมากกว่าเราเป็นสิบๆ เท่า ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ...เรามันแค่รายย่อย" หมออธิบาย

การลงทุนในประเทศจีนของหมอบุญ มีตั้งแต่ในธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีอยู่มากกว่า 7-8 แห่ง และยังมี "โรงพยาบาล" มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท (150 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตั้งอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง

หมอบุญยังทำ "ธุรกิจคลินิก" ทางด้านความงาม ซึ่งเซ็นสัญญาไว้กับห้างคาร์ฟูร์ ...หมายความว่า ห้างคาร์ฟูร์ไปตั้งอยู่ที่ไหน เราก็จะต้องไปเปิดคลินิกความงามอยู่ที่นั่น

"คลินิกความงาม เราลงทุนเล็กๆน้อยๆ ประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ (120 ล้านบาท) เท่านั้น แต่เพียงปีเดียวก็ได้ทุนคืนหมดแล้ว เพราะคนจีนชอบทำตา ทำจมูก ทำหน้าอก"

การลงทุนอื่นจากนั้น ก็มีตั้งแต่อุตสาหกรรมหินอ่อนและโรงไฟฟ้า

เรียกว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ หมอบุญร่วมลงทุนกับเพื่อนไต้หวันทั้งหมด โดยเฉพาะ "โรงไฟฟ้า" ที่ไต้หวันซึ่งมีหลายแห่ง

"ส่วนเรื่อง Wealth (ความมั่งคั่ง) ผมคงบอกไม่ได้ และก็ไม่ค่อยได้นับ ใครจะไปนั่งนับ เพราะมันอยู่หลายประเทศ"

สำหรับอุตสาหกรรมในเมืองไทยตามทัศนะของหมอบุญเชื่อว่า อุตสาหกรรมที่ยังมีอนาคต...จะมีอยู่เพียง 6 อุตสาหกรรมคือ

อุตสาหกรรมแรกคือ "ท่องเที่ยว" ตามด้วย "เอ็นเตอร์เทนเมนท์" อันดับ 3 "เมดิคัลฮับ" อันดับ 4 "อุตสาหกรรมพลังงาน" และ 5 "อุตสาหกรรมการเกษตร" ส่วนอุตสาหกรรมที่ 6 ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบการขนส่ง

แต่ธุรกิจที่เมืองไทย หมอบุญเน้นอยู่แค่ 2 อย่างคือ "เมดิคัลฮับ" กับ "เรียลเอสเตท"

"อย่างโครงการ 'เดอะพีค' ที่เกาะสมุย และโครงการต่างๆ ที่อยู่ติดชายทะเล ตั้งแต่โรงแรม รวมถึงสปา ทั้งหมดที่ผมทำถือว่าอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งในเมืองไทยมันยังไปได้อีกมาก" หมอบุญยกตัวอย่าง ก่อนอธิบายต่อไปว่า

สำหรับอุตสาหกรรมบันเทิง เขาก็เกือบจะก้าวเข้าไปทำ โดยเฉพาะ "สถานีโทรทัศน์ไอทีวี"

หมอบุญเล่าว่า เคยสนใจลงทุนในไอทีวี ตั้งแต่ครั้งที่ 'กองทุนเทมาเส็ก' มาซื้อไปจากกลุ่มชิน เพราะโดยส่วนตัวคุ้นเคยกับทางเทมาเส็กดี

"เราแจ้งไปว่าเราสนใจร่วมทุนในไอทีวี และเห็นว่าที่เขาได้มา...เขาก็ไม่อยากทำ เราบอกว่าเราจะทำ (ไอทีวี) เอง เพราะภรรยาของผมก็เป็นประธานบริษัท "โลว์ลินตาส" ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องโฆษณา ถือเป็นรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทย จึงมีความคุ้นเคยกับงานสายนี้ แต่พอมาเกิดเรื่องว่าต้องจ่ายค่าสัมปทาน...ผมถอยเลย"

ส่วนเรื่อง "เมดิคัลฮับ" หมอบุญบอกไว้ว่า อ่านอนาคตได้ขาด เขาเชื่อว่าธุรกิจนี้รุ่งแน่ๆ เพราะขณะนี้ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมารักษาที่เมืองไทย และมีแนวโน้มเข้ามาอีกจำนวนมาก

"เราเลยขยายโรงพยาบาลปิยะเวทให้ค่อนข้างใหญ่ และให้ครบวงจรอยู่ที่นี่ทั้งหมด"

หมอบุญกล่าวว่า ในจำนวน 6 อุตสาหกรรมที่ยังมีอนาคตสำหรับเมืองไทย เขาจะเลือกทำเฉพาะบางอย่าง และขณะนี้ขอโฟกัสไปที่ "เมดิคัลฮับ"

เพราะ "เมดิคัลฮับ" ของเมืองไทย...ตอนนี้เป็นแค่ "จุดเริ่มต้น" เท่านั้น

"ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะการทำตลาด ซึ่งเราจำเป็นต้องออกไปสร้างคอนเนคชั่นที่ประเทศต่างๆ ฉะนั้น จะต้องมีตัวแทนไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา ตะวันออกกลาง อังกฤษ ยุโรป และสแกนดิเนเวีย

เราจะมีตัวแทนอยู่ทุกประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนแบบ Join venture ทั้งกับคลินิก อินชัวรันส์ และหน่วยราชการต่างๆ ในประเทศนั้นๆ จากนั้นตัวแทนจะจัดหาและส่งคนไข้มารักษากับเรา"

จากทุกๆ จุด จะถูกดึงเข้ามาใช้บริการที่ "ปิยะเวท" ทั้งหมด

แต่สำหรับ "โรงพยาบาลธนบุรี" หมอบุญบอกว่า ไม่ได้จัดอยู่ในธุรกิจด้านเมดิคัลฮับ เพราะจะรับเพียงคนไข้ในประเทศย่านฝั่งธน และที่สำคัญ สิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ถึงระดับ

"การลงทุนให้เป็นโรงพยาบาลนานาชาติใช้เงินลงทุนสูงมาก เครื่องมือแพทย์ต้องชั้นหนึ่ง"

สำหรับโรงพยาบาลปิยะเวท หมอบุญบอกว่า ตอนนี้เพิ่งเดินหน้าไปเพียง 20-30% แค่นั้น เพราะเริ่มออกตัวมาได้เพียง 2-3 ปี ยังต้องไปต่ออีกไกลทีเดียว

"ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2549-2553) ยังจะต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 10,000 ล้านบาท"

โดยเฉพาะฮับสุขภาพทางด้านหลังโรงพยาบาล (เมดิคัล สปา) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ "แค่ส่วนนั้นถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว"

เขาบอกว่า เฉพาะเมดิคัลสปา โรงพยาบาลปิยะเวทลงทุนไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งพื้นที่ดำเนินงานประมาณ 50 ไร่ คาดว่าจะต้องลงทุนถึง 10,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีจากนี้จึงจะครบวงจร เนื่องจากยังมีตึกอาคารต่างๆ ที่ต้องสร้างอยู่รอบๆ

ตั้งแต่เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม อาคารทันตกรรม พลาซ่าสำหรับให้ครอบครัวคนไข้ได้ชอปปิง

"เงินลงทุนขนาดนี้ผมไม่เสี่ยง เพราะคนอย่างผมจะทำอะไรก็ตาม "การตลาดต้องมาก่อน" หมายความว่า (เมดิคัลฮับ) มีคนมาซื้อแน่นอน และโปรเจคเราแน่นอน"

ด้วยสายตาระดับนี้ หมอบุญยืนยันว่าเขามองไม่พลาด และโชว์เคสที่ยืนยันก็คือ ผลประกอบการของโรงพยาบาลปิยะเวท

"รายได้ของปิยะเวทเติบโตแบบ 100% ติดต่อกันมา 3 ปี นับจากที่ผมซื้อมาจากธนาคาร ตอนนั้นเราทำให้รายได้เพิ่มจาก 100 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 14 เดือนเท่านั้น มันไม่ใช่ง่ายๆ แต่เป็นเพราะผมมีตลาดรองรับอยู่ก่อน"

นั่นแสดงว่า "เมดิคัลฮับ" ของหมอบุญ ได้มีแผนการตลาดรองรับไว้หมดแล้ว

"คนไข้ (ต่างชาติ) ที่มาผ่าตัดที่นี่ เขาจะซื้อเป็นแพ็คเกจ เพื่อให้ได้รับบริการที่ครบวงจร อย่างคนไข้ชาวอเมริกันบินมาผ่าตัด เขายกมากันเป็นครอบครัว โดยครอบครัวจะพักอยู่ที่เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์สัก 1-2 วัน ในช่วงที่คนไข้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จากนั้นเราก็ส่งไปพักฟื้นยังสถานที่ซึ่งผ่อนคลายสักหน่อย...จะไปอยู่ที่สมุย ภูเก็ต หัวหิน หรือปากช่อง ก็ได้ทั้งนั้น

หรืออาจไปพักฟื้นที่ "คอนโดมิเนียม...ริมแม่น้ำเจ้าพระยา" ที่นั่นจะเป็นอีกโครงการที่ผมกำลังจะไปทำ พื้นที่ก็ราวๆ 100 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ตั้งโครงการอยู่แถวปากเกร็ด

คนไข้ไม่จำเป็นต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ให้เขาไปพักฟื้นที่อื่น และยังมีสปาไว้บริการด้วย แถมยังเหลือเงินกลับบ้านอีก"

เอาเข้าจริงคนไข้ต่างชาติจะนอนอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 3-4 วันเท่านั้น แต่แพ็คเกจของหมอบุญเป็นการขายพ่วงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจท่องเที่ยวไปในคราวเดียวในรูปแบบแพ็คเกจ โดยส่งตัวคนไข้ไปพักฟื้นยังสถานที่พักผ่อนที่มีสปา อีกราวๆ 1 สัปดาห์ หรือ 10 วัน

"เราจะขายเป็นแพ็คเกจ" หมอบุญบอกถึงกลยุทธ์การตลาดของเมดิคัลฮับไว้เช่นนั้น

หมอบุญเชื่อว่าใน 5 ปีข้างหน้า เฉพาะรายได้จากธุรกิจ "เมดิคัลฮับ" จะสูงถึงปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ เฉพาะตัวธุรกิจโรงพยาบาลปีละ 4,000 ล้านบาท บริการด้านสปาอีกมากกว่า 1,000 ล้านบาท และอื่นๆ อีก

เพราะแผนเมดิคัลฮับของหมอบุญ ยังส่งผ่านรายได้ไปถึง ธุรกิจโรงแรม คอนโดมิเนียม และพลาซ่า ซึ่งเป็นการลงทุนในชื่อ "ราชธานีกรุ๊ป"

"ที่ผมกล้าลงทุนขนาดนี้ เพราะอ่านอนาคตแล้วว่า "เมดิคัลฮับ" ในเมืองไทยมันใหญ่มาก"

หมอบุญมองแนวโน้มว่า ปัจจุบันที่เมืองไทยมีกลุ่มโรงพยาบาลเพียง 5 เครือข่าย คือ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลปิยะเวท , เครือโรงพยาบาลสมิติเวช และเครือโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งยังไม่พอ เพราะดีมานด์มีมากกว่าซัพพลายมาก

"แต่ใครทำมันก็ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเจาะตลาดกันน่าดู"

สำหรับโรงพยาบาลปิยะเวทขณะนี้ กลุ่มผู้ใช้บริการต่างชาติมีองค์ประกอบของชาวตะวันออกกลางมากที่สุด ขณะที่อเมริกันและอังกฤษ เพิ่งเริ่มเข้ามา โดยเฉพาะที่อเมริกายังมีประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพอีกมากกว่า 72 ล้านคน

"ตอนนี้มีโบรกเกอร์ตั้งอยู่เต็มไปหมดในหลายๆ เมืองของอเมริกา เพื่อจัดหาสถานที่รักษาคนไข้ ตรงนี้ถ้าเขาส่งมาหาเรา (รพ.ปิยะเวท) ยกตัวอย่างการผ่ากระดูก ถ้ามาที่เมืองไทยค่าใช้จ่ายของคนไข้ตั้งแต่ค่าเครื่องบิน ค่ารักษา ค่าห้อง ค่านอนโรงแรม รวมกันแล้วคิดเป็นเงินเพียง 30% ของที่โบรกเกอร์ที่นั่นจัดแพ็คเกจรักษาให้คนไข้ที่ไม่มีประกัน ที่นั่นแพงมาก"

หมอบุญอธิบายต่อไปว่า ตอนนี้ปิยะเวทเริ่มส่งทีมเข้าไปเจรจากับโบรกเกอร์ต่างชาติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างๆ ทั้งทางด้านบริษัทประกัน และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่สู้ค่ารักษาพยาบาลของพนักงานที่ไม่มีประกันสุขภาพไม่ไหว

นี่คือเทรนด์การเติบโตของประเทศไทย และของโรงพยาบาลปิยะเวท

สำหรับแผนการนำโรงพยาบาลปิยะเวทเข้าตลาดหุ้น คงต้องรออีกประมาณ 3-4 ปี เพราะต้องรอให้ "เมดิคัลฮับ" ของปิยะเวทครบวงจรเสียก่อน

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวมองว่า ธุรกิจด้าน "เฮลท์แคร์" ไม่ควรเข้าไปจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น เพราะจะเกิดลักษณะ conflict ในเชิงการทำกำไร เพราะธุรกิจในตลาดหุ้นจำเป็นต้องมุ่งหากำไรสูงสุด ขณะที่โรงพยาบาลต้องเอากำไรแต่พอควร

"และหุ้นส่วนของผม (เฉลียว อยู่วิทยา) คุณก็คงเห็นว่า เขาไม่ชอบเอาธุรกิจเข้าไปไว้ในตลาดหุ้น"

แต่ถึงอย่างไร โรงพยาบาลปิยะเวท คงจะเข้าตลาดหุ้นก็คงด้วยเหตุผลเดียวคือ

"ผมสงสารผู้ถือหุ้นรายย่อยของเรา (5%) เพราะจากหุ้นละ 10 บาทที่เขาเคยลงทุนไว้ตั้งแต่ต้น (ประมาณ 2,000 ล้านบาท) ตอนนี้มันเหลือแค่หุ้นละ 50 สตางค์เท่านั้น เช่นนั้นเอง เราก็คงเอาปิยะเวทเข้าตลาดหุ้น เพื่อตอบแทนเขาบ้าง แต่หุ้นในส่วนของผม (และเฉลียว) อีก 95% ยังไงก็คงไม่มีทางที่จะขายออกมา

ที่สำคัญตอนนี้ "cash flow" ของเราเพียงพอ หมายถึงของผมกับคุณเฉลียวนะ แม้จะต้องใส่เงินลงทุนต่อไปอีก 4-5 ปี ยังไงผมกับคุณเฉลียวก็คนละครึ่ง"

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหมอบุญบอกว่า "เราคงไม่ซื้อคืนจากรายย่อย ถ้าซื้อก็ไม่คุ้มสิ เราสงสารจริง...แต่เราก็ไม่ถึงกับชำระขาดทุนให้รายย่อย" หมอบุญอธิบายวิธีคิด

เขายืนยันว่า ปิยะเวทไม่ได้มีเจตนาเข้าไประดมทุน แต่ถ้าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เพราะต้องการให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้ขาย (ทำกำไร) ได้

" พี/อี ที่ 10 เท่าก็โอเคแล้ว แต่ตอนนี้โรงพยาบาลบางแห่ง (รพ.กรุงเทพ หรือ BGH) พี/อี เข้าไปตั้ง 36-37 เท่า ซึ่งผมมองว่าสูงเกินไป"

ในมุมมองของหมอบุญ ธุรกิจโรงพยาบาลควรจะมี พี/อี ประมาณ 5-6 เท่า เพราะถือเป็นธุรกิจที่ "ห่วย" ในแง่ของผลตอบแทน

///


"รายได้ของปิยะเวทเติบโตแบบ 100% ติดต่อกันมา 3 ปี นับจากที่ผมซื้อมาจากธนาคาร ตอนนั้นเราทำให้รายได้เพิ่มจาก 100 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 14 เดือนเท่านั้น"



Create Date : 21 สิงหาคม 2549
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 11:07:59 น. 0 comments
Counter : 1170 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com