แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

ชมสวนกล้วยไม้ ครอบครัว ครูชิงธง สรรค์วงศ์ ตัวอย่างที่น่าศึกษา

พรศรี ฟองลม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ชมสวนกล้วยไม้ ครอบครัว ครูชิงธง สรรค์วงศ์ ตัวอย่างที่น่าศึกษา

พูดถึงจังหวัดจันทบุรีแล้ว ชวนให้คิดถึงผลไม้ อย่างเช่น ทุเรียน เงาะ และผลไม้อื่นอีกหลายต่อหลายอย่าง คนที่นี่ยึดอาชีพเกษตรกรรมชาวสวนปลูกผลไม้สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งมากันอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคนจันทบุรีจะทำแต่สวนผลไม้กันหมด ยังมีการทำสวนประเภทอื่นอีกที่สามารถสร้างรายได้ให้ไม่แพ้การทำสวนผลไม้ และอีกสวนหนึ่งในจังหวัดนี้ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ สวนกล้วยไม้ นั่นเอง

ไม่เพียงแต่จังหวัดนครปฐมเท่านั้น ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยไม้จนมีชื่อเสียง จังหวัดจันทบุรีที่เพาะปลูกสวนผลไม้กันมาก ยังเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ สามารถเพาะปลูกทำสวนกล้วยไม้ได้เช่นกัน เกษตรกรหลายรายเลือกเพาะปลูกกล้วยไม้ที่จังหวัดนครปฐมจนเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไม้ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการคมนาคมขนส่งที่สะดวก เหมาะแก่การค้า นอกจากจังหวัดนครปฐมแล้วจังหวัดจันทบุรียังสามารถเพาะปลูกกล้วยไม้ให้เจริญเติบโต สวยงาม เพื่อการค้าได้เช่นกัน

ผู้เขียนเคยเดินทางมาจังหวัดจันทบุรีเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก มักพบเห็นสวนผลไม้ตามสองข้างทาง และร้านขายผลไม้ริมถนนตลอดทาง จวบจนทุกวันนี้เวลาผ่านล่วงเลยไปนานหลายปี ได้มีโอกาสเดินทางไปอีกครั้ง ถึงได้ทราบว่าไม่เพียงแต่มีสวนผลไม้เท่านั้น จังหวัดจันทบุรีเองยังมีสวนกล้วยไม้ที่สวยงามไม่แพ้ที่อื่นอีกด้วย

หากกล่าวถึงกล้วยไม้ ใครหลายคนต้องชื่นชอบแน่ เพราะกล้วยไม้เป็นพรรณไม้ที่สวยงามได้รับความนิยมกันอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกและจังหวัดที่เพาะปลูกอีกด้วย

การดูแลรักษาให้กล้วยไม้เจริญเติบโตดี ให้ดอกงามๆ ชูช่อเบ่งบานอยู่ได้นั้นไม่ง่ายนัก ต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษทั้งเรื่องของกระบวนการเพาะปลูก การรดน้ำใส่ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช รวมถึงสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศ ต้องเหมาะสมกับการปลูกเลี้ยง ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตขึ้นมาได้อย่างสวยงาม แข็งแรง เกษตรกรที่เอาใจใส่ บำรุง ทะนุถนอม เสมือนเป็นแก้วตาดวงใจของรักของหวงของตน ยังมีส่วนทำให้กล้วยไม้เติบโตเบ่งบานออกดอกสวยงามเช่นกัน

ครูชิงธง สรรค์วงศ์ เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี ผู้ยึดอาชีพเพาะปลูกกล้วยไม้จนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ ที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง

ปัจจุบันครูชิงธงทำสวนกล้วยไม้มา 4 ปีแล้ว จัดเป็นสวนที่ขึ้นชื่อของทางจังหวัดก็ว่าได้ แม้ว่าสวนจะยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ราชการกำหนดไว้ แต่ก็เป็นสวนตัวอย่างที่ดีสำหรับเกษตรกรผู้สนใจยึดไว้เป็นแบบเพาะปลูกภายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี



จุดเริ่มต้นอาชีพใหม่

เกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้

ครูชิงธง สรรค์วงศ์ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20/2 หมู่ 1 ตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแก่งหางแมว ในอำเภอแก่งหางแมว ข้าราชการครูเกษียณอายุ ผู้ไม่ยอมหยุดนิ่ง แสวงหาอาชีพใหม่หลังเกษียณทำในช่วงเวลาว่างไว้แก้เหงา เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

แรกเริ่มก่อนที่จะมาตัดสินใจทำสวนกล้วยไม้ดังที่เห็นทุกวันนี้ ครูชิงธงได้เล่าให้ฟังว่า "ช่วงใกล้จะเกษียณ ผมเตรียมหาข้อมูลทำอาชีพใหม่ เริ่มจากค้นคว้าข้อมูลก่อนว่าจะเลือกเพาะปลูกอะไร ไปดูสวนผลไม้ที่เขาทำกันมาก่อน เห็นว่าต้องใช้เวลาในการปลูกนานหลายปีกว่าจะเห็นผล ผมอายุมากแล้วมาทำสวนผลไม้ยังไงก็ไม่ทันกินแน่ จึงคิดว่าน่าจะทำสวนที่ให้ผลผลิตเร็วๆ ดีกว่า พอดีมีคนรู้จักทำสวนกล้วยไม้มา 4-5 ปี เห็นเขาทำก็ชอบใจ จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องการเพาะปลูกกล้วยไม้อย่างจริงจัง โดยตัดสินใจเดินทางไปจังหวัดนครปฐม ศึกษาจากสวนกล้วยไม้ของจริง ดูวิธีการทำซาแรน ทำโต๊ะ ตลอดจนเรียนรู้วิธีการทำสวน จากนั้นจึงเริ่มวางแผนงาน ใช้พื้นที่สวนหลังบ้าน ตอนแรกคิดจะลองทำดูก่อน 1 ไร่ ใช้รถแทร็กเตอร์ปรับปรุงพื้นที่ แล้วนำเครื่องพ่นยากำจัดศัตรูพืชมาพ่นตามหลัง ลงทุนเบ็ดเสร็จประมาณหนึ่งแสนสองหมื่นบาทต่อไร่ รวมค่าปรับปรุงพื้นที่จนถึงค่าพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ผมไม่ได้เป็นเกษตรกรมาก่อนจำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องมือที่จำเป็นอย่างเครื่องพ่นยา แต่การลงทุนค่าเครื่องพ่นยามาใช้ในพื้นที่เพียง 1 ไร่ เป็นการทำให้ต้นทุนสูงเกินไป จึงตัดสินใจทำสวนกล้วยไม้รวดเดียวจบ ปรับปรุงพื้นที่ทำสวนทั้งหมด พ่นยาทีเดียว ให้เสร็จทั้งหมด รวมกับค่าล้อมรั้วสวน ค่าจ้างขุดบ่อน้ำบาดาลอีกประมาณหกหมื่นบาท และค่าพันธุ์กล้วยไม้ เบ็ดเสร็จทั้งสิ้นลงทุนไปล้านกว่าบาท"

สวนกล้วยไม้ของครูชิงธง เป็นสวนในแบบครัวเรือนบนพื้นที่กว่า 7 ไร่ จัดสรรพื้นที่ออกเป็น ส่วนนอกรั้วหน้าบ้าน ส่วนบริเวณที่พักอาศัย และส่วนของสวนหลังบ้าน โดยพื้นที่นอกรั้วด้านหน้าบ้าน จะนำกล้วยไม้มาวางจำหน่าย ถัดเข้ามาในรั้วจะเป็นตัวบ้าน โรงเรือนรับแขกเล็กๆ สวนขนาดย่อมเป็นทั้งบ่อพักน้ำและสระน้ำเลี้ยงปลามีน้ำตกเล็กๆ สร้างให้สวยงามเพลิดเพลินเล่น มีแท็งก์เก็บน้ำและแปลงปลูกพวกกล้วยไม้กระถาง ไม้แขวน ไม้น้ำ ที่ขาดไม่ได้สำหรับสวนหลายสวนก็คือสุนัข กรงสุนัขอยู่ด้านหลังตัวบ้าน เวลามีคนแปลกหน้าเข้ามาจะเห่าร้องระงมบอกเจ้าของทุกครั้ง และส่วนพื้นที่ด้านหลังบ้านติดกับกรงสุนัข จะเป็นบริเวณแปลงเพาะปลูกกล้วยไม้ทั้งหมด

"แรกเริ่มผมทำสวนบริเวณหลังบ้านทั้งหมดก่อน เสร็จแล้วมาทำต่อบริเวณพื้นที่ว่างในบ้านและหน้าบ้าน ที่เอาไว้โชว์ พื้นที่ทุกตารางนิ้วในบ้านและนอกบ้านถูกนำมาใช้ประโยชน์หมด งานหลักที่ทำทุกวันจะให้ลูกจ้างทั้ง 3 คน ช่วยกันทำงาน" ครูชิงธงกล่าวถึงที่มาของสวนกล้วยไม้ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้



เข้าเป็นสมาชิกชมรมกล้วยไม้

ในจังหวัดจันทบุรี

คุณชิงธงเล่าให้ฟังว่า หลังจากเริ่มทำสวนกล้วยไม้ ชมรมกล้วยไม้ของจังหวัด มาชวนเข้าเป็นสมาชิก ด้วยว่าเคยเป็นข้าราชการครูมาก่อน จึงได้รับตำแหน่งกรรมการ เป็นสมาชิกลำดับที่ 72 ผ่านมา 2 ปีเศษๆ ปัจจุบันมีสมาชิก ประมาณ 500 คน



วิธีการปลูก

ครูเล่าว่า กล้วยไม้ที่ปลูกจะนำมาเพาะปลูกเลียนแบบวิธีการทำจากการไปดูสวนกล้วยไม้ที่นครปฐม ไม่มีซาแรนวางรองรับไว้ข้างใต้ ตอนหลังครูชิงธงจึงใช้วิธีเพาะปลูกกล้วยไม้ในกาบมะพร้าวเพื่อให้เก็บกักความชื้น โดยนำกาบมะพร้าว 5 อัน มาจัดใส่กระบะขนาดกว้าง 25 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และปลูกใส่แบบเรือใบหงาย โดยใช้กาบมะพร้าวมาทำเป็นรูปทรงคล้ายเรือใบ กล้วยไม้จากกระบะและเรือใบแต่ละอันจะเรียงเป็นแถวบนซาแรน เป็นการรองพื้นไว้อีกทีเพื่อไม่ให้กล้วยไม้ตกลงมาเสียหาย

ผู้อ่านคงสงสัยสินะว่า ปลูกกล้วยไม้แบบใส่ในกระบะกับแบบเรือใบ แบบไหนดีกว่ากัน ครูชิงธงให้คำตอบว่า "ในจันทบุรีเลือกปลูกแบบเรือใบจะดีกว่า เพราะถ้ามีกล้วยไม้ต้นหนึ่งเกิดเสียหาย จะยกทิ้งทั้งเรือใบเลย ส่วนแบบกระบะต้องใช้เวลาเลือกต้นที่เสียหายทิ้ง"

นอกจากจะใช้ไม้นิ้วและไม้หน่อเพาะเลี้ยงแล้ว ยังนำไม้ขวดมาใช้เพาะเลี้ยงเช่นกัน ไม้ขวดที่นำมาเพาะเลี้ยงจะเป็นพวกไม้ป่าตระกูลเอื้องทั้งหลาย เช่น เหลืองจันท์ ไอยเรศ และตระกูลช้าง เป็นต้น เริ่มจากเอาออกจากขวดมาเพาะเลี้ยง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แล้วนำมันไปเกาะขอน



ค้นพบพันธุ์กล้วยไม้

ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

หวาย เป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่คุณชิงธงเพาะปลูกมากที่สุดถึง 80% ของพื้นที่ทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นจะเป็นพันธุ์อื่นๆ อย่างไม้ป่า โดยซื้อมาจากไม้ขวดบ้างและได้รับเป็นรางวัลจากการประกวดในชมรม ขณะที่ผู้เขียนเดินชมสวนอยู่ สังเกตเห็นต้นเดฟเข้าพอดี เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนไปชมสวนกล้วยไม้แถวพุทธมณฑลมา ก็มีเจ้าเดฟนี่แหละประจำถิ่นอยู่ในสวนกล้วยไม้ทุกแหล่งเลย ไม่เว้นแม้แต่สวนกล้วยไม้ในจังหวัดนี้ด้วย

"ตอนไปศึกษาถึงที่สวนกล้วยไม้นั้น ได้ไปดูพันธุ์กล้วยไม้ที่เขาใช้ปลูกกันอยู่ มีพันธุ์หวายหลายสาย อย่างเช่น โจแดง ที่ผมปลูกจะเป็นหวายเกือบทั้งหมด มีตระกูลคัทลียา แวนด้า ฟาแลนนอฟซีส ม็อกคาล่า เป็นส่วนน้อย ครั้งแรกผมเริ่มปลูกกล้วยไม้พันธุ์หวายหลายสาย พบว่าชนิดที่ดี เหมาะสมแก่การเพาะปลูกที่สุด คือ เอียสกุล โดยไปขอซื้อมาจากคนรู้จักที่เขาเพาะขยายพันธุ์ เป็นไม้นิ้วราคาต้นละ 8 บาท ไม้หน่อราคาต้นละ 3 บาท เริ่มต้นเพาะปลูกก่อน แล้วนำมาขยายพันธุ์เอง เพื่อช่วยลดต้นทุน" ครูชิงธง กล่าว



การดูแล

ครูชิงธง เล่าว่า ในช่วงหน้าแล้ง รดน้ำวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที คือ ใช้ฝักบัวรดน้ำ เวลา 08.00 น. และเปิดสปริงเกลอร์ให้น้ำเป็นตัวช่วยเสริมอีกที เวลา 15.00 น. เพื่อให้อากาศเย็นลง ในช่วงหน้าฝนหรือวันที่มีฝนตกจะไม่รดน้ำช่วงบ่าย จะรดน้ำเฉพาะช่วงเช้า เพราะอากาศมีความชื้นอยู่แล้ว แต่จะมีการรดน้ำชะล้างน้ำฝนออกเป็นระยะ เพื่อกำจัดสารพิษที่เจือปนมากับน้ำฝนออกไป น้ำที่ใช้จะเป็นน้ำบาดาลสูบขึ้นมาพักน้ำ 1-2 คืน แล้วปล่อยลงสระน้ำใกล้ๆ ตัวบ้านที่เห็นเป็นสวนย่อมมีน้ำตกเล็กๆ เลี้ยงปลา ตรงนั้นแหละเป็นที่ให้น้ำนั้นหมุนเวียน จะมีระหัดวิดน้ำช่วยเพิ่มออกซิเจนเข้าไป จากนั้นจึงค่อยสูบน้ำที่ได้ไปใช้รดกล้วยไม้อีกที หลังรดน้ำเสร็จจะถอนหญ้าทิ้งและเลือกถอนกล้วยไม้ต้นที่เน่าออกด้วยเช่นกัน

ส่วนปุ๋ย จะใช้เครื่องพ่นยาฉีดออกไปตามสาย ทุกเช้าวันเสาร์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 น. เสร็จประมาณ 10.00 น. เริ่มจากให้ปุ๋ยเกล็ดก่อน แล้วค่อยให้ปุ๋ยกลางสูตรเสมอสลับกับปุ๋ยอีกสูตรหนึ่ง โดยสูตรที่ว่านี้จะปรับเปลี่ยนอัตราไปตามขนาดของกล้วยไม้ โดยจะใช้ตัวหน้าสูงหรือตัวหลังสูง พ่นสลับกันไประหว่างปุ๋ยสูตรเสมอ 2 ครั้ง กับปุ๋ยสูตรหน้าสูงหรือหลังสูงอีก 2 ครั้ง สรุปว่าเดือนหนึ่งพ่นปุ๋ย 4 ครั้ง ปุ๋ยที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเลือกจากยี่ห้อ สามารถใช้ยี่ห้อใดก็ได้

เมื่อมีน้ำเป็นปัจจัยให้เจริญเติบโต มีปุ๋ยให้ต้นสวยงามออกดอกแล้ว กล้วยไม้จะเจริญเติบโต สวยงาม แข็งแรง พร้อมส่งขายไม่ได้ ยังต้องพึ่งยากันแมลงกันเชื้อรา ไม่ให้ทำลายกล้วยไม้อีกด้วย

การพ่นยา ยากันแมลงจะให้พร้อมยากันราทุกบ่ายวันจันทร์ เป็นยาน้ำกันเชื้อราชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่พวกไฟทอปทอร่าผสมกับยากันแมลงจำพวกเพลี้ยและหนอน ทั้งยาพ่นกันเชื้อรา เพลี้ย และหนอน ผสมรวมกันศัตรูร้าย 3 อย่าง เป็นประจำ ตั้งแต่ดอกลงไปถึงกาบมะพร้าว ครูชิงธงให้เป็นแคปแทนซึ่งช่วยรักษากาบมะพร้าวไม่ให้ผุพังแล้วมันยังแปรสภาพเป็นปุ๋ยไปในตัวด้วย และยังใช้สตาด์เป็นฮอร์โมนใส่เสริมลงไปช่วยให้ลำต้นแข็งแรง



ปราบเชื้อราครั้งใหญ่

แก้ปัญหาต้นเน่า

ครูชิงธง เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การปราบเชื้อราตัวร้ายครั้งใหญ่ที่มีชื่อว่า "ไฟทอปทอร่า" ในช่วงเริ่มแรกของการปลูกกล้วยไม้ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกล้วยไม้หลายคนประสบปัญหาเช่นนี้เหมือนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

"ทางกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ ในกรุงเทพฯ ส่งนักวิชาการมา 6-7 คน ลงดูสวนกล้วยไม้ของผม เก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายท่อส่ง รวมทั้งต้นเน่า กลับไปตรวจหาเชื้อ ประมาณ 7 วัน กลับมาบอกว่า เป็นเชื้อราไฟทอปทอร่าแน่นอน ให้ใช้เมตาแลกซิลกำจัดอย่างเดียว เริ่มจากถอนกล้วยไม้ที่มีอาการเน่าออกให้หมด ต้นไหนยังไม่เน่านำมาตัดใบตัดยอดทิ้ง ผ่าเฉพาะหน่อออกมาแช่เมตาแลกซิลทิ้งไว้ 2-3 คืน ส่วนกระบะรื้อทิ้งทั้งหมด จากนั้นเริ่มปลูกใหม่ โดยใช้ไม้หน่อในสวนของผมมาเพาะปลูกลงในกาบมะพร้าวที่นำมาจากระยอง ปลูกใส่ในกระบะที่ทำจากเครื่องทำกระบะ และปลูกในกาบมะพร้าวแบบเรือใบหงาย แล้วนำมาวางบนซาแรน" ครูบอก



ต้นทุนการผลิต

เนื้อที่กว่า 7 ไร่ ที่ลงทุนเปลี่ยนพื้นที่เป็นแปลงปลูก บ่อเก็บน้ำ เครื่องพ่นยา รวมถึงค่าพันธุ์กล้วยไม้ ในขั้นเริ่มต้นพร้อมเริ่มลงมือปลูกได้นั้น ใช้ทุนแรกทำไปกว่าล้านบาท รวมกับรายจ่ายประจำในแต่ละเดือนที่ต้องเสียให้กับค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน และอื่นๆ อีกประมาณ 25,000 บาท ต่อเดือน เป็นต้นทุนการผลิตสวนกล้วยไม้ของคุณชิงธงทั้งหมด

"ผมใช้เวลาประมาณ 2 ปี ถึงจะคืนทุน ปีแรกเป็นปีที่ลงทุนอย่างเดียว ถ้าไม่โดนเชื้อราไฟทอปทอร่าเล่นงานครั้งใหญ่คงจะคืนทุนเร็วกว่านี้ รายได้ในตอนนั้นพอเลี้ยงครอบครัวได้ ยังไม่ถึงกับขาดทุน" คุณชิงธงตอบเหมือนรู้ว่าจะถามอะไรต่อ แม้ว่าจะใช้ทุนค่อนข้างสูงพอสมควร แต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะกล้วยไม้เป็นพันธุ์ไม้สวยงาม น่าปลูก ใช้พื้นที่ปลูกไม่มากนัก ให้ผลผลิตเร็ว ขายออกง่าย คืนทุนไว ตลาดสามารถรองรับผลผลิตได้ อาชีพเพาะปลูกกล้วยไม้จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เหมาะแก่การทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมในยามว่างและช่วยแก้เซ็ง



อยู่แบบพอมีพอกิน

"ตอนเริ่มจำหน่ายกล้วยไม้ บอกข่าวผ่านทางชมรม เป็นสื่อช่วยกระจายข่าว ส่วนใหญ่จะเป็นพวกพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นนี้พอทราบข่าวก็ตามมาซื้อถึงบ้าน บางส่วนที่นำมาวางโชว์ไว้หน้าบ้านเป็นพวกไม้กระถางส่วนใหญ่ จัดไว้หลายชนิด พอมีคนผ่านมาก็มาขอซื้อไป คนที่เคยมาซื้อพูดกันปากต่อปากกันไป จนมีลูกค้ามาเข้าซื้อกันเยอะขึ้น สร้างรายได้ให้จนถึงทุกวันนี้" ครูชิงธง กล่าวถึงวิธีขาย

ถามถึงรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน พอจะได้กำไรเท่าไหร่ ครูชิงธงก็ตอบว่า "ไม่ได้คำนึงเรื่องกำไรนัก ขอให้มีรายได้มากกว่าสองหมื่นห้า มากกว่ารายจ่ายในแต่ละเดือน พอใช้เป็นทุนในเดือนต่อไปและเลี้ยงครอบครัวได้ก็พอใจแล้ว" ฟังแล้วทำให้ผู้เขียนนึกถึงแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง อยู่แบบพอมีพอกิน ในวิถีชีวิตเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง



ไม่เหมือนจังหวัดนครปฐม

พ่อค้าแม่ค้าขายส่งที่ครูชิงธงเล่าให้ฟังนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนในท้องที่ เข้ามาซื้อกันเยอะ ส่งขายยังตลาดในจังหวัดบ้าง ในตัวกรุงเทพฯ บ้าง โดยมากจะติดใจในคุณภาพ ความสดสวยกล้วยไม้ของครู พวกเขาเหล่านั้นจะเลือกซื้อกล้วยไม้ของครูก่อนที่อื่น เพราะจะเหี่ยวช้ากว่าที่อื่น หากเขามีกล้วยไม้ที่มาจากกรุงเทพฯ อยู่ จะขายกล้วยไม้จากกรุงเทพฯ ก่อน กล้วยไม้ของครูเก็บไว้รอขายวันหลัง

ครูชิงธงเล่าถึงเทคนิควิธีการรักษาความสดใหม่อยู่เสมอของกล้วยไม้ว่า "พอตัดเสร็จนำมากำเป็นช่อ ช่อละ 40-45 ส่งขาย ถ้าขายไม่หมดนำกล้วยไม้ที่เหลือมาพรมน้ำแล้วใส่ลงในถุงพลาสติค ใช้วิธีแช่น้ำไว้ขายวันต่อๆ ไปได้ จากนั้นเอามาวางเรียงกันแล้วใช้ผ้าขาวชุบน้ำคลุมไว้อีกที การดูแลในส่วนนี้แสนจะง่าย พอคลุมเสร็จจะเอาออกไปส่งขายก็เอาออกไปทีละห่อ ขายไปเรื่อยๆ กล้วยไม้เหล่านั้นยังคงสวยสดงดงาม กลีบบาน แข็งแรง ไม่เหี่ยวเฉาง่าย ส่วนที่อื่นพวกแม่ค้าพ่อค้าคนกลางใช้วิธีอัดแน่นเข้าตู้ พอมีคนมาซื้อจึงค่อยทยอยนำออกมาขายเรื่อยๆ คนที่ซื้อไปก็นำไปเก็บเข้าตู้อีก ทำให้เซลล์ตาย กล้วยไม้จะเหี่ยวห้อย ไม่สวยงาม"



สวนตัวอย่างเพื่อการศึกษา

สวนกล้วยไม้แห่งนี้ จะเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรผู้สนใจเพาะปลูกกล้วยไม้ในครัวเรือนไว้เป็นแบบอย่าง ครูชิงธงยินดีให้คำแนะนำ คำปรึกษา หากใครสนใจมาชมสวนในแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตรก็ได้ ได้ทั้งความรู้เพิ่มเติม พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ชื่นชมกล้วยไม้สวยงาม

ผู้สนใจต้องการคำปรึกษา หรือสนใจมาท่องเที่ยวชมสวนกล้วยไม้ของครูชิงธง สามารถเดินทางมาได้ตามที่อยู่ข้างต้น หรือโทร. (01) 759-3378




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 10:48:56 น.   
Counter : 3001 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com