แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

สมชาติ นาควิโรจน์ นักวิชาการคนเก่ง กับถังแก๊สชีวภาพเศรษฐกิจพอเพียง ที่พัทลุง

สายฝน ฟาร์เรล

สมชาติ นาควิโรจน์ นักวิชาการคนเก่ง กับถังแก๊สชีวภาพเศรษฐกิจพอเพียง ที่พัทลุง

จากสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ต้นทุนในการดำรงชีวิตเริ่มสูงขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มหาทางออกให้กับครอบครัวและตัวเองแตกต่างกันออกไป แนวทางที่ยั่งยืนและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยได้ดีที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ "เศรษฐกิจพอเพียง" นั่นคือ การอยู่อย่างพอมีพอกิน พึ่งพาตนเองได้ การรู้จักใฝ่หาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

หลังจากที่ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวปักษ์ใต้มาพอสมควร ก็พอสังเกตเห็นได้ว่าตอนนี้มีเกษตรกรหลายรายเริ่มตระหนักถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น มีการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ที่เห็นได้ชัดคือ การปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคกันเองในครัวเรือน เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เสริม สิ่งเหล่านี้ แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ก้าวเล็กๆ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดำรงชีวิตตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง วันนี้ ผู้เขียนจะนำทุกท่านไปเรียนรู้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรไทยหรือผู้สนใจในยามนี้ ซึ่งก็คือ "การผลิตถังแก๊สชีวภาพแบบเศรษฐกิจพอเพียง" โดยนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และได้มีการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับนักวิชาการคนเก่ง ที่กล่าวถึงข้างต้นก็คือ คุณสมชาติ นาควิโรจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ก่อนที่จะเข้าถึงรายละเอียดของการผลิตถังแก๊สชีวภาพแบบเศรษฐกิจพอเพียง คุณสมชาติ ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงที่มาที่ไปของแนวคิดการผลิตถังแก๊สชีวภาพแบบเศรษฐกิจพอเพียงว่า เริ่มจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เข้าสู่ยุคของการแข่งขันและการเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น จึงคิดว่าทำอย่างไร ให้สถาบันครอบครัวอยู่ได้ มีความใกล้ชิด ผูกพันกันมากขึ้น และคิดว่าภาคเกษตรกรรมก็เป็นภาคส่วนหนึ่งที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆ ได้ โดยมองว่า ปัจจัย 4 ที่เราใช้ในขณะนี้บางสิ่งบางอย่างสามารถค้นหา ปรับปรุง และบริหารจัดการกันเองได้ภายในครอบครัว พอมองลงไปในแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็มองถึงการมีจิตสำนึก มีความเป็นครอบครัว ส่วนหนึ่งในโลกปัจจุบัน เศรษฐกิจรัดตัว ชีวิตต้องดิ้นรน รายจ่ายไม่พอกับรายรับ นี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สถาบันครอบครัวประสบปัญหาต่างๆ ตามมาได้ เพราะการพัฒนาในปัจจุบันจะเป็นไปในรูปแบบเงินนำหน้าปัญญาตามหลัง แต่เมื่อเราเข้าใจกันในครอบครัว การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นประโยชน์ก็ต้องลดละเลิกกันบ้าง



ปลูกพืชผักรอบบ้าน ลดรายจ่าย

คุณสมชาติ กล่าวว่า ปัจจัย 4 ของเรา โดยเฉพาะอาหาร พืช ผัก หากเราสามารถบริหารจัดการกันได้ในครอบครัว ก็ไม่จำเป็นต้องไปใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้ให้มากนัก โดยเฉพาะผักที่บริโภคในครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวสามารถช่วยกันผลิตได้ สำหรับครอบครัวของตนนั้น มีผักที่ปลูกไว้บริเวณรอบบ้านหลากหลาย อาทิ ผักหวาน มะเขือ พริกขี้หนู ต้นหอม ถั่วฝักยาว ชะอม กระทั่งเห็ดนางฟ้า เป็นต้น และถือคติที่ว่า กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำให้ช่วยลดรายจ่ายในส่วนนี้ลงได้มากทีเดียว และในขณะเดียวกันพืชผักที่เหลือจากการบริโภคก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ โดยจะทำเป็นแพ็ค บรรจุถุง พร้อมปรุง เช่น ผักหวานและเห็ดนางฟ้า สำหรับแกงเลียง แกงจืด นอกจากผักก็ยังมีผลไม้ต่างๆ ได้แก่ ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม ที่นำมาแปรรูปเป็นวุ้นมะพร้าว ส่งไปจำหน่ายยังโรงพยาบาล และร้านค้าชุมชนต่างๆ ช่วยสร้างรายได้จุนเจือให้แก่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี



หลักการเกื้อกูลสร้างความสมดุล

"ในหลักการต่างๆ ทำอย่างไรให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การปลูกผักเราต้องใช้ปุ๋ย และปุ๋ยที่ใช้เราก็ต้องสามารถทำใช้เองได้ หรือสามารถเสาะหามาได้ภายในพื้นที่ โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พืชผักของเราปลอดภัย สามารถนำวัตถุดิบที่เรามีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเกื้อกูลกัน เช่น ผมปลูกผัก มีเศษผักที่เหลือทิ้ง สามารถนำมาผลิตปุ๋ยได้ นอกจากนี้ เศษพืชผักอีกส่วนหนึ่งที่เหลือก็สามารถนำมาผลิตแก๊สชีวภาพได้ ซึ่งเป็นแก๊สมีเทนที่เราผลิตเองได้ แก๊สที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้ในครัวเรือน เพื่อการหุงต้มอาหารได้ และสิ่งที่เหลือท้ายสุดจากกระบวนการเกิดแก๊ส ได้แก่ กากล้น เศษอาหาร ก็สามารถหมุนเวียนนำไปเป็นปุ๋ยใส่พืชผักต่อไปได้อีกต่อหนึ่ง" คุณสมชาติ กล่าว

นอกจากนี้ การปลูกผักบริโภคกันเองภายในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมายนัก เราสามารถจัดสรรพื้นที่ จัดองค์ประกอบต่างๆ ให้ดูดีขึ้นได้ นำผักข้างบ้านมาจัดแต่งเป็นสวนหย่อม ก็ได้ประโยชน์ ทั้งนำไปบริโภคและช่วยปรับภูมิทัศน์รอบบ้านให้ดูดีขึ้นได้ อาจจะปลูกผักในวัสดุเหลือใช้ จำพวกถัง กะละมัง ยางรถยนต์ ท่อบล็อคต่างๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกลงดินเสมอไป และการปลูกผักที่สำคัญต้องมองถึงการอยู่ร่วมกันได้ด้วย บางชนิดลำต้นสูง บางชนิดชอบอยู่ใต้ร่มเงา เราก็สามารถจัดแต่งสวนหย่อมผักได้ และให้ผลผลิตที่เหมาะสม เป็นการวางระบบการปลูกเพื่อใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด



โครงสร้างของถังแก๊สฯ

ในส่วนของการผลิตถังแก๊สชีวภาพแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแบบฉบับของคุณสมชาตินั้น เจ้าตัวได้อธิบายถึงโครงสร้างของถังแก๊สว่า ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ประการแรก คือถังเติม เป็นที่เติมมูลสัตว์ หรือเศษอาหารที่ผสมกับน้ำเข้ากันแล้ว ก่อนปล่อยลงถังหมัก ประการที่ 2 ถังหมัก เป็นที่รับมูลสัตว์หรือเศษอาหารที่ผสมเข้ากันแล้วมาหมักให้เกิดแก๊สชีวภาพ ถังจะต้องแข็งแรง ไม่รั่วซึม โดยเฉพาะส่วนบนของถัง เพราะเป็นที่เก็บแก๊สที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะนำไปใช้ และแก๊สนี้ก็จะผลักดันมูลสัตว์หรือเศษอาหารที่ผ่านการย่อยสลายแล้วให้ไหลขึ้นไปอยู่ในถังล้น

ประการต่อมาคือ ถังล้น มีหน้าที่รับมูลสัตว์ หรือเศษอาหารที่ล้นออกมาจากถังหมัก และเมื่อนำแก๊สในถังหมักไปใช้ มูลสัตว์หรือเศษอาหารในถังเติมและถังล้นจะไหลกลับเข้าไปในถังหมักอีกครั้ง จะหมักและเกิดแก๊สใหม่วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดไป และถังล้นยังเป็นที่ระบายมูลสัตว์หรือเศษอาหารเมื่อมีปริมาณมากกว่าที่กำหนดของถังหมัก ประการสุดท้ายคือ ถังรับกาก จะเป็นถังที่รับกากมูลสัตว์ หรือเศษอาหารจากถังล้น การที่มูลสัตว์หรือเศษอาหารล้นออกมานี้ สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับปรับปรุงดินเพื่อการเกษตรต่อไปได้



ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเกิดแก๊ส

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจในเรื่องของโครงสร้างของถังแก๊สแล้ว คุณสมชาติยังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมในประเด็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดแก๊สว่า การเติมมูลสัตว์ หรือเศษอาหารในช่วงแรกนั้น ต้องเติมในถังหมักให้ล้นมายังถังล้นครั้งต่อไป ประมาณ 40 ลิตร ต่อเดือน หรือเติมเดือนละครั้ง สำหรับระยะเวลาการหมักและย่อยสลายของมูลสัตว์หรือเศษอาหารที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่าง 40-60 วัน นอกจากนี้ บรรดาสารเคมี ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และสารเคมีอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อแบคทีเรียที่ย่อยสลายมูลสัตว์ หรือเศษอาหารในถังได้ ทำให้แบคทีเรียหยุดทำงานและไม่มีแก๊สเกิดขึ้น จึงไม่ควรปล่อยให้สารเคมีเหล่านั้นลงไปภายในถังหมัก อีกประการหนึ่งคือ เรื่องของอุณหภูมิ ซึ่งแบคทีเรียจะเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 30-35 องศาเซลเซียส

"ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่า 30-35 องศาเซลเซียส แบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้ไม่ดีนัก แก๊สที่ผลิตได้จะมีปริมาณลดลงด้วย เช่น ในฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดหรือในฤดูหนาวที่อากาศเย็นจัด การเกิดแก๊สจะช้ากว่าปกติ และความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่าง 6.7-7.5 ถ้าต่ำกว่านี้แบคทีเรียจะหยุดทำงาน ส่งผลให้แก๊สไม่สามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ เรื่องของการดูแลรักษาแผงวัดความดันแก๊ส เพราะเป็นเครื่องชี้ถึงความปกติหรือไม่ปกติของระบบแก๊สชีวภาพ และควรตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้กับแก๊สอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อป้องกันการรั่วซึมของแก๊ส" คุณสมชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณสมชาติ กล่าวว่า การผลิตแก๊สชีวภาพจากวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการเกษตรมีการทำมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้ฟืน ถ่าน เนื่องจากสมัยก่อนป่าไม้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ขณะนี้ป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก จึงต้องหาแนวทางมาประยุกต์ใช้ใหม่ เพื่อนำทรัพยากรที่เรามีอยู่ ได้แก่ อินทรียสารที่มีอยู่โดยทั่วไป เลยคิดว่าเราน่าจะนำอินทรียสารมาหมักเป็นแก๊สมีเทนใช้ได้ ซึ่งคุณสมบัติของแก๊สชนิดนี้คือ ติดไฟได้ และสามารถนำแก๊สนี้ไปใช้หุงต้มอาหารในครัวเรือนได้ และช่วยประหยัดค่าแก๊สหุงต้มที่มีราคาสูงขึ้นในปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงมีการผลิตแก๊สหุงต้มจากมูลสัตว์หลายราย แต่ลักษณะการผลิตแตกต่างกัน มีต้นทุนสูง และใช้ได้ไม่นาน เนื่องจากเกิดการอุดตันของกากอาหารในบ่อหมัก ทำให้ไม่สามารถนำแก๊สมาใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง เลยคิดว่าน่าจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น และเห็นว่าการผลิตแก๊สชีวภาพโดยใช้ถังพลาสติค ขนาด 200 ลิตร ไม่ได้ฝังดิน ตั้งทิ้งไว้บนโครงเหล็ก ในระดับที่แตกต่างกัน ก็สามารถทำให้เกิดแก๊สได้ ต้นทุนไม่สูงนัก การดูแลรักษาง่าย คิดว่าภายในครอบครัวสามารถทำใช้เองได้ สอดคล้องกับสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

สำหรับท่านใดที่สนใจแนวทางการผลิตแก๊สชีวภาพแบบเศรษฐกิจพอเพียงของคุณสมชาติ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูล รายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (081) 959-0478 และ (074) 681-846 หรือเดินทางไปศึกษาดูงานด้วยตนเอง ณ บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 11 ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เชื่อมั่นเหลือเกินว่าท่านจะได้รับความรู้ทางด้านวิชาการเกษตร รวมทั้งแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มข้นเลยทีเดียว




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:08:28 น.   
Counter : 1103 Pageviews.  


เพาะเลี้ยงปลาหมอ สูตรสำเร็จ ของ ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ประมงน้ำจืดปัตตานี ตอน 1

ไชย ส่องอาชีพ

เพาะเลี้ยงปลาหมอ สูตรสำเร็จ ของ ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ประมงน้ำจืดปัตตานี ตอน 1

"ปลาหมอ"ในบรรดาสัตว์น้ำจืดด้วยกัน มิเป็นสองรองใคร เนื่องจากเนื้อรสชาติดี และตลาดมีความต้องการตลอดด้วย

ตามตลาดสดทั่วๆ ไป ราคาซื้อขายกันกิโลกรัมละ 100 บาทเศษ ส่วนปลาตัวเล็กหรือขนาด 8-12 ตัวกิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 70-90 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสถานที่ขาย

แม้ว่าราคาโดยรวมสูงกว่าปลาทั่วๆ ไป แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ไม่เพียงมีรสชาติดีเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประกอบอาหารหรือแปรรูปได้หลายอย่าง อาทิ ฉู่ฉี่ปลาหมอ แกงส้ม ต้ม ทอด และย่างราดน้ำเกลือ เป็นต้น

เมื่อก่อนในธรรมชาติมีปลาชนิดนี้อยู่มาก แต่ปัจจุบันนี้มีน้อย เพราะว่าสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันผู้คนนิยมบริโภคกันมากขึ้น ส่งผลให้ปลาในธรรมชาติมีปริมาณลดลง และส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็กเกือบทั้งนั้น ยกเว้นในแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ไม่ค่อยมีใครไปบุกรุกหรือจับสัตว์น้ำมาขายมักจะพบเห็นปลาหมอตัวใหญ่ 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง ให้ราคารับซื้อดีด้วย

มิแปลกที่กรมประมงให้ความสนใจในด้านการศึกษาวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปลาหมอ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้กับ คุณศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี พร้อมคณะ ศึกษาวิจัยมานานกว่า 10 ปี และขณะนี้ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง สามารถจับปลาจากธรรมชาติมาเลี้ยงในบ่อดินเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ออกลูกออกหลานได้ โดยไม่ต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นอะไรเลย

"ผมศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงนั้นกำลังสร้างเขื่อนที่ปากพนังอยู่ เพื่อป้องกันไม่น้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่ที่น้ำจืด ซึ่งเมื่อก่อนนั้นชาวบ้านจะยึดอาชีพเลี้ยงกุ้งลาดำเป็นหลัก เราเป็นเจ้าหน้าที่ประมง จำเป็นต้องคิดและทำ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน โดยทดลองนำปลาหมอที่อยู่ในธรรมชาติมาฉีดฮอร์โมนเพาะขยายพันธุ์ เพื่อผลิตลูกปลาให้ชาวบ้านเลี้ยงแทนกุ้งกุลาดำ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่ง แต่มาระยะหลังนี้ผมได้ศึกษาลงลึกถึงการเลี้ยงอย่างไร ที่ให้ผลกำไรสูงสุด และวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปลาธรรมชาติด้วย"คุณศราวุธ เล่าถึงความเป็นมาและการพัฒนางานศึกษาวิจัย

แม้ว่าปัจจุบันนี้คุณศราวุธได้ย้ายที่ทำงานมาอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานีก็ตาม แต่ยังนำความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านจังหวัดปัตตานีมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้นด้วย

"ผมว่าปลาหมอนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างแท้จริง มีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย เกาหลี ไต้หวัน จีน และตลาดตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ปลาหมอยังมีคุณสมบัติเด่นในการเลี้ยงด้วย คือสามารถเพาะเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นสูง และเจริญเติบโตในภาวะคุณสมบัติของดินและน้ำที่แปรปรวนสูงได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย อีกทั้งน้ำค่อนข้างเป็นกรดหรือพื้นที่ดินพรุ ดินเปรี้ยว ตลอดจนนาข้าว นากุ้งทิ้งร้างได้ และสามารถขนส่งในรูปปลาสดมีชีวิตระยะทางไกลๆ อันสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นิยมใช้ปลาสดมีชีวิตประกอบอาหารได้"คุณศราวุธ กล่าว

ปลาหมอ อดทนสูง

ปลาหมอ มีชื่อสามัญว่า Climbing Perch และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus เป็นปลาที่มีความทนทาน ทรหด อดทนสูง เพราะว่ามีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ (labyrinth organ) จึงอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีน้ำน้อยๆ หรือที่ชุ่มชื้นได้เป็นเวลานาน พบทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล เมื่อก่อนมีให้เห็นมากในแถบจีนตอนใต้ อินโดจีน ไทย มลายู พม่า อินเดีย ศรีลังกา เกาะฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

ปลาชนิดนี้ปรับตัวเจริญเติบโตเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อย ป่าจากหรือที่ลุ่มดินเค็มชายฝั่งทะเลที่มีความเค็มไม่เกิน 10 ส่วน ใน 1,000 ได้อย่างสบายเลยทีเดียว

ในธรรมชาติเป็นปลาผู้ล่า (predator) กินสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ชอบกินอาหารที่ผิวน้ำและกลางน้ำ อย่างไรก็ตาม สามารถกินเมล็ดข้าว ธัญพืช ปลวก ตัวอ่อนแมลงน้ำ ตั๊กแตน กุ้งฝอยหรือลูกปลาเล็กปลาน้อยที่มีชีวิตหรือตายเป็นอาหาร

สำหรับรูปร่างลักษณะของปลาหมอนั้น มีลำตัวป้อมค่อนข้างแบน ความยาวประมาณ 3 เท่า ของความลึก ลำตัวมีสีน้ำตาลเหลืองปนดำ ส่วนท้องสีจางกว่าส่วนหลัง เกล็ดแข็ง ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 17-18 ก้าน และก้านครีบอ่อน 9-10 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 9-10 ก้าน และก้านครีบอ่อน 10-11 ก้าน

ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อนทั้งหมด 15 ก้าน กระดูกสันหลังมี 26-28 ข้อ ตำแหน่งตั้งต้นของครีบหลัง ครีบอก ครีบท้อง อยู่ในแนวเดียวกัน

"เส้นข้างลำตัวแบ่งขาดเป็น 2 ตอน จำนวนเกล็ดบนเส้นข้างลำตัวตอนบน 14-18 เกล็ด ตอนล่าง 10-14 เกล็ด ปลายกระดูกกระพุ้งแก้มมีลักษณะเป็นหนามหยัก แหลมคมมาก และส่วนล่างของกระพุ้งแก้มแบ่งแยกอิสระเป็นกระดูกแข็งสำหรับปีนป่าย กระดูกกระพุ้งแก้มงอพับได้ หางเป็นแบบมนกลมเล็กน้อย ตามลำตัวมีแถบสีดำ 7-8 แถบ และที่โคนหางมีจุดสีดำกลม ซึ่งซีดจางหายไปได้เมื่อเวลาตกใจ ปากอยู่ตอนปลายสุดของหัวและเฉียงขึ้นเล็กน้อย ริมฝีปากยืดหดไม่ได้ มีฟันแหลมคม เหนือริมฝีปากบนก่อนถึงตาทั้งสองข้าง เป็นหนามแหลมดำ บริเวณหนามแหลมของปลากระดูกกระพุ้งแก้มจะมีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีดำติดอยู่ทั้งสองข้าง"

ปลาหมอมีอวัยวะช่วยหายใจ อยู่ในช่องเหงือกใต้ลูกนัยน์ตา จึงทำให้สามารถอยู่บนบกได้นานๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางท่านให้ข้อสังเกตว่า ปลาหมอ ปลาตีน และปลาปอด อาจเป็นรอยต่อหรือสะพานทางพันธุกรรมของการวิวัฒนาการจากปลาซึ่งเป็นสัตว์น้ำสู่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ



เพศเมียใหญ่กว่าเพศผู้

สำหรับวิธีการดูเพศปลานั้น คุณศราวุธ บอกว่า เพศเมียจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากกว่าเพศผู้อย่างชัดเจน เมื่อมีขนาดความยาวเท่ากัน ปลาตัวผู้จะมีลำตัวยาวเรียว ตัวเมียมีความลึกของลำตัวมากกว่าตัวผู้

ในฤดูวางไข่ปลาเพศเมียจะมีส่วนท้องอูมเป่ง และโคนหางของปลาเพศเมียหนากว่าเพศผู้ รังไข่และถุงน้ำเชื้อมีลักษณะยาวเป็นคู่ โดยรังไข่ที่เริ่มพัฒนามีลักษณะเป็นสีชมพูแก่และมีเม็ดไข่เป็นจุดสีขาวนวลเกิดขึ้นเล็กน้อย ต่อมาก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

"รังไข่ที่แก่จะมีไข่สีเหลืองและแยกออกเป็นสองพูอยู่เต็มบริเวณช่องท้อง รังไข่ที่แก่จัดจะเห็นเส้นโลหิตฝอย ถุงน้ำเชื้อในระยะแรกจะมีสีชมพูใส เมื่อพัฒนาสมบูรณ์ มีลักษณะสีขาวขุ่น แยกเป็น 2 สาย ซึ่งยึดติดกับบริเวณเนื้อเยื่อในช่องท้อง ในธรรมชาติพบอัตราส่วนเพศ ระหว่างเพศเมียต่อเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 1 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปลาเพศผู้มักมีความสมบูรณ์เพศต่ำและน้ำเชื้อมักมีน้อย ในการเพาะพันธุ์ มักใช้สัดส่วนปลาเพศเมียต่อเพศผู้ ประมาณ 1 ต่อ 2"คุณศราวุธ กล่าว



เตรียมบ่อเลี้ยงปลา

คุณศราวุธ บอกว่า หลังจากจับปลาขายทุกครั้งควรสูบน้ำออกจากบ่อให้แห้ง ซึ่งจะช่วยกำจัดศัตรูปลาที่หลบซ่อนอยู่ในบ่อ และขจัดของเสียด้วย

จากนั้นหว่านปูนขาวในขณะที่ดินยังเปียก ในอัตรา 100-200 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดินและฆ่าพยาธิ

"นอกจากนี้ เราต้องกำจัดวัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำที่มีอยู่ในบ่อด้วย หากปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของศัตรูปลาหมอ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก กบ และงู เป็นต้น และทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลง เนื่องจากพืชน้ำใช้ออกซิเจนในการหายใจเช่นเดียวกับปลา และหากมีพืชน้ำอยู่ในบ่อมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการให้อาหารปลา และการจับปลาด้วย"คุณศราวุธ กล่าว

หลังจากดูดน้ำออกและกำจัดวัชพืชแล้ว ก็จะตากบ่อทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อให้ก๊าซพิษในดินบางชนิดสลายตัวไป ทั้งยังเป็นการฆ่าเชื้อโรค และศัตรูปลาที่ฝังตัวอยู่ในดินด้วย

ตากบ่อจนแห้งสนิท เขาก็ดูดน้ำเข้าในบ่อ โดยผ่านการกรองด้วยผ้าไนล่อน เพื่อป้องกันสัตว์น้ำหรือไข่ปลาชนิดอื่นๆ เข้ามาเจริญเติบโตภายในบ่อ และในที่สุดเข้าแย่งกินอาหารหรือเป็นศัตรู ไล่กัดกินลูกปลาหมอต่อไป

คุณศราวุธดูดน้ำเข้าบ่ออยู่ในระดับสูงครั้งแรก 60-80 เซนติเมตร พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอก ประมาณ 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ ลงไปด้วย จากนั้นทิ้งไว้ 2-3 วัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดลูกไรหรืออาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นภายในบ่อ

"ในบ่อนี้เราจะปล่อยพ่อแม่ปลาลงเลี้ยงหรือนำลูกปลาจากที่อื่นมาอนุบาลก็ได้ แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วจะนำพ่อแม่ปลามาปล่อยเลี้ยง เพื่อผสมพันธุ์ออกไข่ และอนุบาลลูกปลาภายในบ่อต่อไป ซึ่งก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงทุกครั้งต้องมีอวนไนล่อนสีฟ้ากั้นรอบคันบ่อให้สูงจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันศัตรูปลาและปลาหลบหนีออกจากบ่อ เนื่องจากปลาหมอมีนิสัยชอบปีนป่ายโดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตก"คุณศราวุธ กล่าว




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:06:07 น.   
Counter : 3348 Pageviews.  


เพาะเลี้ยงปลาหมอ สูตรสำเร็จ ของ ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ประมงน้ำจืดปัตตานี ตอน 2 (เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูร

เทคโนโลยีการประมง

ไชย ส่องอาชีพ

เพาะเลี้ยงปลาหมอ สูตรสำเร็จ ของ ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ประมงน้ำจืดปัตตานี ตอน 2 (เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูรณ์ก่อนผลิตลูก)

คุณศราวุธ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาคือ การจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลาให้สมบูรณ์เพศพร้อมผสมพันธุ์วางไข่ เริ่มต้นจากการเรียนรู้ชีวประวัติปลา ฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่ ความแตกต่างของเพศ ขนาด หรืออายุที่สมบูรณ์เพศ ตลอดจนเทคนิคการเหนี่ยวนำให้ปลาผสมพันธุ์วางไข่

ฤดูกาลวางไข่ของปลาหมอนั้น เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนตุลาคมของทุกปี

"ปลาหมอนั้น เราจะคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ น้ำหนัก 100-200 กรัม หรืออายุ 6 เดือน ขึ้นไป ทั้งนี้ ต้องเป็นปลาผ่านการคัดเลือกแล้วว่า เจริญเติบโตดีที่สุดของปลาแต่ละรุ่น"

"หากเป็นพ่อแม่พันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรเลี้ยงให้เชื่อง และฝึกให้กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปก่อน แล้วจึงนำมาเลี้ยงรวมกันในบ่อดิน ขนาด 200-400 ตารางเมตร อัตราปล่อย 20 ตัว ต่อตารางเมตร สามารถปล่อยแยกเพศหรือรวมเพศก็ได้ ให้อาหารที่มีไขมันต่ำ วันละ 1 ครั้ง ไม่เกิน 1% ของน้ำหนักปลา กระตุ้นให้ปลาสมบูรณ์เพศยิ่งขึ้น โดยให้ปลาสดสับเป็นอาหาร 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ พร้อมถ่ายเปลี่ยนน้ำวันละ 25% เมื่อเราให้ปลาไปได้สักระยะหนึ่งก็จะพบว่าปลาแต่ละตัวนั้นจะมีความสมบูรณ์ทางเพศมากทีเดียว" คุณศราวุธ กล่าว

สำหรับวิธีการเพาะขยายพันธุ์นั้น คุณศราวุธ บอกว่า ปัจจุบันนี้เราประสบความสำเร็จ ทั้งใช้สารกระตุ้นหรือฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์และแบบธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไป

วิธีการเพาะพันธุ์ แบบแรกหรือการกระตุ้นการวางไข่ด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์นั้น เริ่มตั้งแต่การ

คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีไข่และน้ำเชื้อสมบูรณ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์ ซึ่งลักษณะปลาตัวเมียนั้นส่วนท้องอวบอูม ใช้มือบีบเบาๆ จะมีไข่สีเหลืองออกมา ส่วนปลาตัวผู้ จะมีน้ำเชื้อสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา

คุณศราวุธ กล่าวว่า เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาได้แล้ว จัดเตรียมอุปกรณ์และวิธีการผสมพันธุ์แบบช่วยธรรมชาติคือ ฉีดฮอร์โมนเร่งการวางไข่ให้กับตัวเมีย ในอัตราความเข้มข้นฮอร์โมนสังเคราะห์ (LHRHa, ชื่อการค้าว่า Suprefact) 15 ไมโครกรัม และสารระงับการทำงานของระบบการหลั่งฮอร์โมน คือ Domperidone (ชื่อการค้าว่า Motilium) 5 มิลลิกรัม ต่อแม่ปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำนวน 1 ครั้ง และฉีดฮอร์โมนปลาเพศผู้ อัตรา 5 ไมโครกรัม ร่วมกับการใส่ Domperidone ที่ระดับ 5 มิลลิกรัม ต่อพ่อปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม

"เพื่อความสะดวกในการแยกพ่อแม่ปลา ควรปล่อยให้ผสมพันธุ์วางไข่ในกระชังตาห่างซึ่งแขวนอยู่ในบ่อ โดยมีกระชังผ้าโอล่อนแก้วรองรับไข่ปลาอยู่อีกชั้นหนึ่ง สำหรับอัตราส่วนการปล่อยนั้นปลาเพศเมียต่อเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 2 ที่ระดับน้ำในบ่อ 30-50 เซนติเมตร พร้อมพ่นสเปรย์น้ำตลอดเวลาด้วย"

คุณศราวุธ กล่าวว่า ในการเพาะแต่ละครั้งเราใช้แม่พันธุ์ปลาประมาณ 3-5 กิโลกรัม ซึ่งจะฉีดฮอร์โมนเวลาประมาณ 15.00 น. หลังจากนั้น 8-12 ชั่วโมง ปลาเริ่มผสมพันธุ์วางไข่

"วันรุ่งขึ้นก็นำพ่อแม่พันธุ์ออก เพราะว่าในการผสมพันธุ์แต่ละครั้ง มีหวอดหรือฟองอากาศ หยดไขมัน เมือก และกลิ่นคาวมาก ดังนั้น เพื่อป้องกันน้ำเสีย อาจรวบรวมไข่ปลาไปเพาะฟักในบ่อใหม่ หลังจากลูกพันธุ์ปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว ในช่วงเช้าวันที่ 4 จึงรวบรวมไปอนุบาลในบ่อดินต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ปลาสมบูรณ์เพศเต็มที่การถ่ายเปลี่ยนน้ำใหม่ ก็สามารถกระตุ้นให้ปลาวางไข่ได้ ตรงกันข้ามหากนอกฤดูกาล จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้น ทั้งพ่อและแม่ปลาในระดับความเข้มข้นของฮอร์โมนที่สูงมากขึ้นกว่าปกติ" คุณศราวุธ กล่าว

ส่วนวิธีการเพาะพันธุ์แบบที่สองนั้น เขาปล่อยพ่อแม่พันธุ์ให้วางไข่และอนุบาลในบ่อดินแบบธรรมชาติ ซึ่งมีข้อดีคือช่วยลดปัญหาลูกปลาตายระหว่างการลำเลียงได้ โดยจะปล่อยในอัตราส่วนปลาเพศเมียต่อเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 2 ซึ่งจะใช้พ่อแม่ปลาน้ำหนัก 8-10 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือประมาณ 40-60 คู่ ต่อไร่

วันรุ่งขึ้นเมื่อปลาวางไข่หมดแล้ว ปล่อยให้ไข่ฟักเป็นตัว และจัดการอนุบาลลูกปลาต่อไป

"ในการผสมพันธุ์ปลาในบ่อดินนั้น เราจะใช้ทางมะพร้าวปักคลุมทำเป็นที่หลบซ่อนและอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน โดยให้มีระยะห่างกันประมาณ 3 เมตร ซึ่งเมื่อไข่ปลาฟักออกเป็นตัว ก็มาอาศัยหลบภัยอยู่บริเวณทางมะพร้าว ทำให้อัตรารอดชีวิตของลูกปลาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว" คุณศราวุธ กล่าว

ปลา 1 แม่ จะให้ไข่ประมาณ 10,000 ฟอง ซึ่งฟักออกเป็นตัวโดยเฉลี่ย 3,000 ตัว และเหลือรอดชีวิตอยู่ประมาณ 1,000 ตัว เท่านั้นเอง



อนุบาลลูกปลา

ในการอนุบาลลูกปลาเป็นขั้นตอนที่คุณศราวุธบอกว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อให้ได้ลูกปลาที่สมบูรณ์ แข็งแรงและมีอัตรารอดตายสูง โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่อ การจัดการอาหารสำหรับลูกปลาวัยอ่อน ป้องกันศัตรูและโรคพยาธิปลาให้สอดคล้องกับการพัฒนาการของลูกปลา จึงเป็นหัวใจที่นักเพาะพันธุ์ปลาต้องตระหนักและหมั่นเอาใจใส่ ควบคุม ดูแลใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง

"การเตรียมบ่ออนุบาลนั้นเราได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยจัดทำน้ำเขียวและอาหารธรรมชาติ ไม่เพียงหว่านปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 100 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น แต่ควรใช้ปลาป่นผสมรำละเอียด อัตรา 1 ต่อ 3 ปริมาณ 3 กิโลกรัม ต่อไร่ หลังจากนั้น 3 วัน ควรใส่เชื้อโรติเฟอร์ และไรแดงลงในบ่อด้วย ซึ่งจะเป็นอาหารลูกปลาวัยอ่อนอย่างดี"

"อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกปลาอายุได้ 4 วัน เราควรให้อาหารเสริมพวกไข่ไก่ต้มสุก เอาเฉพาะไข่แดงบดผ่านผ้าขาวบางผสมน้ำสาดทั่วบ่อ และอาหารผงสำเร็จรูปหรือรำละเอียดผสมปลาป่น อัตรา 1 ต่อ 1 ด้วย หลังจากนั้นหรือวันต่อๆ ไป จึงให้อาหารเม็ดจิ๋วหรืออาหารปลาดุกเม็ดเล็กพิเศษ เมื่ออายุครบ 15 วัน ลูกปลาจะเจริญเติบโตเท่าๆ ใบมะขามแล้ว"

คุณศราวุธ กล่าวว่า พฤติกรรมของลูกปลาหมอนั้นจะกินอาหารอย่างว่องไว ตะกละและกินจุ ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ โดยเฉพาะพวกแพลงตอนสัตว์

"ช่วงแรกๆ เราต้องตรวจสอบปริมาณความสมบูรณ์ของโรติเฟอร์ ไรแดง และสุขภาพลูกปลาทุกวัน หากได้รับสารอาหารครบถ้วน ลูกปลาจะอ้วน ป้อม ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่คล้ายกระสวยและแข็งแรง"

สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตลูกปลาออกจากบ่ออนุบาลนั้น ควรมีอายุ 15 วัน ขึ้นไป ซึ่งจะได้ขนาดใบมะขาม หรือถ้าต้องการขนาดปลา 1 นิ้ว ก็จำเป็นต้องเลี้ยงนานประมาณ 30-45 วัน

"ถ้าเราจะจับลูกปลาไปขายหรือย้ายเลี้ยงที่อื่น ควรดำเนินการในช่วงเช้า โดยรวบรวมอย่างทะนุถนอมและพักในกระชังอวนผ้าโอล่อนที่ปักขึงไว้ในบ่อ ทำหลังคาใบมะพร้าวป้องกันความร้อนจากแสงแดด และใส่ผักบุ้งหรือพันธุ์ไม้น้ำในกระชัง การบรรจุลูกปลา ตักทั้งลูกปลาและน้ำลงในถุงหรือภาชนะลำเลียงขนส่งไปยังบ่อเลี้ยงปลาต่อไป" คุณศราวุธ กล่าว

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจับหรือปล่อยลูกพันธุ์ปลาคือ ช่วงเช้าหรือเย็น และควรปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงให้ใกล้เคียงกับน้ำในบ่อก่อนปล่อย โดยนำถุงลูกปลาแช่น้ำในบ่อเป็นเวลา ประมาณ 10-15 นาที เพื่อป้องกันลูกปลาช็อค แล้วค่อยๆ เปิดปากถุง เอาน้ำในบ่อใส่ถุงเพื่อให้ลูกปลาปรับตัวให้เข้ากับน้ำใหม่ได้



ขุนลูกปลาหมอให้โต

หากลูกปลาที่เกิดขึ้นใหม่ในบ่อมีประมาณไม่มากนัก ก็สามารถเลี้ยงต่อไปได้เลย แต่ถ้ามีมากเกิน 80,000 ตัว ต่อไร่ ควรจับแยกบ่อเลี้ยง อย่างไรก็ตาม หากมีเป้าหมายต้องการปลาขนาดใหญ่ ต้องปล่อยลูกปลาในความหนาแน่นต่ำลงมา ประมาณ 20 ตัว ต่อตารางเมตร หรือ 32,000 ตัว ต่อไร่

"ในการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาให้ผสมพันธุ์วางไข่ อนุบาลและเลี้ยงในบ่อเดียวกัน ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น โดยใช้อัตราพ่อแม่ปลา 40-60 คู่ ต่อไร่ นั้น เราจะได้ลูกปลาขนาดใบมะขาม ประมาณ 80,000-150,000 ตัว ต่อไร่ ทั้งนี้ ความหนาแน่นในการเลี้ยงนี้ ขึ้นอยู่กับสมรรถนะการจัดการฟาร์มและงบประมาณเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรแต่ละรายไป"

"ขนาดบ่อที่นิยมใช้เลี้ยงปลาหมอกันนั้น ส่วนใหญ่ขนาดไม่ใหญ่นัก พื้นที่ประมาณ 1-3 งาน หรือบางแห่งนิยมเลี้ยงในบ่อขนาด 3-4 ไร่ ความลึกประมาณ 1.5-2.0 เมตร บ่อเก่าต้องสูบน้ำให้แห้งกำจัดศัตรูปลาโดยเฉพาะปลากินเนื้อ วัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำออกให้หมด หว่านปูนขาว ประมาณ 150-200 กิโลกรัม ต่อไร่ ตากบ่อให้แห้งเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคและศัตรูปลา กรณีบ่อใหม่ หว่านปูนขาว ปริมาณ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ปลาหมอไทยไม่ชอบน้ำที่เป็นด่างหรือกระด้างสูง หรือมี pH ของน้ำควรอยู่ในช่วง 6.5-8.5 และควรใช้อวนไนล่อนสีฟ้ากั้นรอบบ่อให้สูงประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปลาหลบหนีด้วย" คุณศราวุธ กล่าว

และว่า การเลี้ยงปลาหมอ แบบยังชีพหรือแบบหัวไร่ปลายนา ไม่ว่าในบ่อปลาหลังบ้าน ร่องสวน คันคูน้ำ มุมบ่อในนาข้าวหรือบ่อล่อปลา นอกจากอาหารตามธรรมชาติแล้ว ควรให้อาหารสมทบจำพวกเศษอาหารจากครัวเรือน รำละเอียด ปลาสดสับ ปลวกและการใช้ไฟล่อแมลงกลางคืนตลอดจนอาหารสำเร็จรูปด้วย

ส่วนการเลี้ยงปลาหมอแบบธุรกิจเชิงพาณิชย์นั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการปล่อยเลี้ยงแบบหนาแน่นสูงมาก (super intensive system) ใช้ปัจจัยการผลิต ทั้งอาหารปลา ยาป้องกันรักษาโรค และการเปลี่ยนถ่ายน้ำเต็มที่ หวังผลผลิตที่สูง

ปลาหมอนั้น เป็นปลากินเนื้อในช่วงแรก จากลูกปลาขนาดใบมะขาม เป็นปลารุ่น (อายุ 1-2 เดือน) ต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 40% ประมาณ 10-5% ของน้ำหนักตัว หลังจากนั้น เมื่ออายุ 2-3 เดือน ต้องการอาหารระดับโปรตีนต่ำลงมา คือ 37-35% ของน้ำหนักตัว วันละ 3-4 มื้อ




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:05:05 น.   
Counter : 7023 Pageviews.  


ข้าวโพดข้าวเหนียว-ข้าวโพดเทียนพันธุ์ใหม่ ผลงานเด่นจากไบโอเทค ทางเลือกใหม่ สร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตร

ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์



เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามคำเชิญของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ช่วงที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมแปลงทดลองปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียนพันธุ์ใหม่นั้น ตรงกับระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังจัดงานวันสาธิตข้อมูลวิชาการ "Field Day" พอดิบพอดี ทำให้มีผู้คนเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ภายในงานมีการจัดสัมมนาวิชาการและพาชมแปลงปลูกข้าวโพดที่ปลูกเพื่อเป็นเชื้อพ่อแม่พันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดข้าวเหนียว และข้าวโพดเทียน แปลงปลูกดังกล่าวก็อยู่ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั่นแหละ โดยมีพื้นที่ข้าวโพดประมาณ 2 ไร่ และข้าวโพดทุกต้นจะห่อถุงกระดาษสีน้ำตาลเอาไว้ทุกต้น เพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์ของข้าวโพดเองตามธรรมชาติ

รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ตั้งแต่ปี 2549 ศูนย์ไบโอเทคได้มอบทุนให้ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพด พริกและมะเขือเทศ เป็นรายปี เฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2528 และตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พันธุ์ข้าวเหนียวหวานขอนแก่น พันธุ์ขอนแก่นหวานสลับสี (สีขาวสลับสีเหลือง) พันธุ์ดอกคูน พันธุ์สำลีอีสานลูกผสมและพันธุ์ข้าวเหนียวสลับสีลูกผสม เป็นต้น

ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ทำหน้าที่รวบรวมเชื้อพันธุกรรมจากหลากหลายประเทศ เช่น เชื้อพันธุกรรมข้าวโพดหวาน 107 สายพันธุ์ เชื้อพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว 238 สายพันธุ์และเชื้อพันธุ์ข้าวโพดเทียน 45 สายพันธุ์ และนำเชื้อพันธุกรรมเหล่านี้มาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์จนได้ข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตดีขึ้น เป็นที่ต้องการและนิยมในตลาด ศูนย์ได้แนะนำพันธุ์ที่พัฒนาให้เอกชนนำไปใช้ปรับปรุงพันธุ์หรือต่อยอดเป็นพันธุ์การค้าต่อไป ซึ่ง ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ไบโอเทคเปรียบเปรยเอาไว้ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์ไบโอเทคทำหน้าที่สร้างฐานรากขึ้นมา ส่วนเอกชนขยับต่อเป็นเสา เป็นคาน เป็นหลังคา เป็นบ้านต่อไป

สำหรับวันสาธิตข้อมูลวิชาการ "Field Day" ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เกษตรกร และคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมชมงานในครั้งนี้ เพื่อแสดงผลงานปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดต่างๆ ทั้งการปรับปรุงเชื้อพันธุกรรมของข้าวโพดและสายพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายทอดเชื้อพันธุกรรมและพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้แก่ภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้าต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป

ในปี 2550 ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แนะนำผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประชากรข้าวโพดข้าวเหนียว (ขอนแก่น คอมโพสิต 1) และประชากรข้าวโพดเทียน (เทียนเหลืองขอนแก่น) และแนะนำเชื้อพันธุกรรมที่จะเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพันธุ์ต่อไป ได้แก่ พันธุ์ KKUWXN001 (ข้าวโพดข้าวเหนียวเมล็ดสีขาว) พันธุ์ KKUWXT001 (ข้าวโพดเทียนเมล็ดสีม่วงแดง) และพันธุ์ KKUSH001 (ข้าวโพดหวานเมล็ดสีเหลือง)

สาเหตุที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นสนใจพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน เนื่องจากเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงทั้งในประเทศและหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ คาดว่ามีชาวเอเชียบริโภคข้าวโพดทั้งสองชนิดนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 300-600 ล้านคน ดังนั้น บริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์นานาชาติ ไม่ว่าในประเทศ จีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย สนใจเร่งพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดกันอย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันไทยมียอดส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวไม่ต่ำกว่าปีละ 70-80 ล้านบาท ทีเดียว

ดร.กมล บอกว่า ในปีนี้เป็นโอกาสดีที่เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการปลูกข้าวโพดให้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงกระจายสายพันธุ์ข้าวโพดที่ผ่านการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์เป็นอย่างดีให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นทางเลือกในการเพาะปลูกพืช เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน รวมไปถึงเชื้อพันธุ์ข้าวโพดนานาชนิด และสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดทางการค้าต่อไป

รศ.ดร.กมล กล่าวว่า โครงการแห่งนี้ นอกจากมุ่งบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดข้าวเหนียวและข้าวโพดหวานพิเศษ ใน 3 ด้าน คือ

1. การจัดการเชื้อพันธุกรรม คือปลูกประเมินเชื้อพันธุกรรม และปลูกขยายเชื้อพันธุกรรม

2. การสร้างประชากรพื้นฐานสายพันธุ์แท้ของพืชและสายพันธุ์ลูกผสม ปัจจุบันโครงการที่ดำเนินงานสำเร็จไปแล้ว คือการสร้างประชากรพื้นฐานข้าวโพดข้าวเหนียว (ขอนแก่น คอมโพสิต 1) และประชากรข้าวโพดเทียน (เทียนเหลืองขอนแก่น) ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เผยแพร่เมล็ดพันธุ์ประชากรพื้นฐานนี้ให้กับหน่วยงานด้านปรับปรุงพันธุ์ เพื่อนำขยายสร้างพันธุ์ใหม่ต่อไป

3. การสร้างนักปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากมีผู้สนใจศึกษาในสาขาวิชานี้กันค่อนข้างน้อย ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และนักปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างมาก แต่น่าชื่นใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาด้านปรับปรุงพันธุ์พืช ระดับปริญญาโทจากโครงการนี้จำนวน 2 คน นักศึกษาระดับปริญญาเอกอีก 2 คน ปริญญาโท 6 คน และมีผู้ช่วยนักวิจัยที่จะเข้าศึกษาระดับปริญญาโทในปีการศึกษา 2551 อีกจำนวน 3 คน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยากให้ภาครัฐบาลช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาสนใจเข้ามาศึกษาในสาขาวิชานี้ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในระยะยาวให้เพิ่มมากขึ้น

รศ.ดร.กมล กล่าวอีกว่า โครงการจัดการเชื้อพันธุกรรมข้าวโพด ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญในการสร้างพันธุ์พืชใหม่ๆ เมื่อมีเชื้อพันธุกรรมที่หลากหลาย ก็จะยิ่งส่งผลให้นักวิชาการสามารถปรับปรุงพันธุ์ สร้างพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายให้มากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น และพืชพันธุ์ใหม่นี้เอง ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สิ่งที่ตามมาก็คือ ช่วยเหลือประชากรของโลกให้มีทั้งทางเลือกใหม่และเพิ่มปริมาณอาหารโลกให้เพิ่มมากขึ้น ที่เหลือก็คือการสร้างรายได้ที่คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกไม่มากก็น้อย



คำนิยาม

เชื้อพันธุกรรมข้าวโพด คือ พันธุ์หรือสายพันธุ์ข้าวโพดที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแหล่งปลูกหรือตามธรรมชาติ ความแตกต่างดังกล่าวขึ้นอยู่กับการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือการคัดเลือกโดยผู้ปลูก สำหรับเชื้อพันธุกรรมที่นำมาใช้มีทั้งพันธุ์ป่า พันธุ์พื้นเมือง หรือสายพันธุ์ทางการค้า ตัวอย่างเช่น

ข้าวโพดพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นบ้านอุบล (พันธุ์หัวปลี) เป็นข้าวโพดที่มีลักษณะปุ่ม เมล็ดสีขาว แป้งของข้าวโพดพันธุ์นี้มีความเหนียวนุ่ม ข้าวโพดเทียนบ้านเกาะอยุธยา เป็นพันธุ์ข้าวโพดเทียนที่มีฝักขนาดเล็ก รสชาติดี หวาน และเหนียวนุ่ม

จะเห็นได้ว่าเชื้อพันธุ์ของข้าวโพดทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ต่างกัน สำหรับข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองที่มีความแตกต่างกัน ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป โดยนิยมไปเป็นประชากรพื้นฐาน เพิ่มพัฒนาให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมของลักษณะที่ต้องการ

การบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรม คือ กระบวนการรวบรวมเชื้อพันธุกรรม การเพิ่มขยายเชื้อพันธุกรรม การประเมินเชื้อพันธุกรรม การเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรม และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างพันธุ์พืชพันธุ์ใหม่

การปลูกประเมินเชื้อพันธุกรรม คือ การปลูกเพื่อศึกษาลักษณะของเชื้อพันธุกรรม เป็นการประเมินการปรับตัวของเชื้อพันธุกรรมที่เก็บรวบรวมมาจากแหล่งที่แตกต่างกันว่ามีการปรับตัวดีมากหรือน้อยเพียงใด โดยได้เก็บข้อมูลลักษณะต่างๆ ของเชื้อพันธุกรรมตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น สีของใบแรก สีที่โคนต้น อายุออกดอก อายุออกใหม่ ความสูงของต้น ความสูงของฝัก รูปทรงฝัก และผลผลิตที่ได้ เป็นต้น

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทร. (02) 564-6700 ต่อ 3114 โทรสาร (02) 564-6702




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:00:50 น.   
Counter : 3107 Pageviews.  


ไปเมืองโคราช ชมโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์

ไปเมืองโคราช ชมโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

พลังงานน้ำมันที่ได้จากธรรมชาติเหลือน้อยเต็มที การใช้พลังงานประเภทแร่ถ่านหิน ไม้ฟืน ก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงและเกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม หลายคนจึงกลับไปใช้พลังงานบริสุทธิ์จากธรรมชาติประเภทพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ แต่พลังงานเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดทางธรรมชาติเนื่องจากปัญหาความปรวนแปรของภาวะอากาศตามธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดค้นพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทน ยกตัวอย่างเช่น พลังงานชีวมวล

ชีวมวล (Biomass) หมายถึง วัสดุหรือสารอินทรีย์ ประเภทวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เศษไม้ ปลายไม้จากอุตสาหกรรมไม้ มูลสัตว์ ของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตร วัชพืช และขยะของเสียจากชุมชน ฯลฯ ซึ่งวัสดุหรือสารอินทรีย์เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานได้ เรียกว่า พลังงานชีวมวล เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีปริมาณชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมากมาย เช่น ฟางข้าว แกลบ กากอ้อย กาก ใยและทะลายปาล์ม เป็นต้น ทำให้ภาครัฐและสถาบันการศึกษาพยายามคิดค้นวิธีแปรรูปเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้นำกลับมาใช้ในรูปพลังงานชีวมวล เพื่อทดแทนพลังงานน้ำมันที่มีต้นทุนสูง

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อศึกษาดูงานด้านการผลิตพลังทดแทนตามคำเชิญของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำหรับโครงการโรงงานพลังไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบแห่งนี้เป็นโครงการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้คิดค้นและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาดเล็ก เพื่อใช้เป็นศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนระดับภูมิภาค

เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล เพื่อกระจายแนวคิดการผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อนสู่ชุมชน หรือสถานประกอบการขนาดเล็กให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล "สุรนารี" ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานเขียว สำหรับใช้งานภายในมหาวิทยาลัย และในอนาคตวางแผนที่จะให้บริการสู่ชุมชนและ ระดับประเทศต่อไป

โรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล "สุรนารี" แห่งนี้ ถือเป็นโรงงานไฟฟ้าต้นแบบขนาดเล็ก มีกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์ โดยนำวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ต้นกระถินยักษ์ กาบมะพร้าว ทางปาล์มน้ำมัน ซังข้าวโพด เปลือกและเหง้ามันสำปะหลัง ฯลฯ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แต่ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ยังไม่มากพอ เนื่องจากข้อจำกัดของโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กแห่งนี้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพียง 100 กิโลวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับบ้านเรือนประชาชนได้ถึง 200 ครัวเรือน ทีเดียว เนื่องจากยังเป็นเพียงโครงการทดลองนำร่องกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ จึงใช้งานได้ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นก็คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านไฟฟ้าได้มากถึง 50% ทีเดียว เรียกว่าช่วยประหยัดงบฯ มหาวิทยาลัยไปได้เยอะมาก

ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) บอกว่า โรงงานไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ ใช้เทคโนโลยีก๊าซซิฟิเคชั่น ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตก๊าซเชื้อเพลิง โดยนำแนวคิดการเผาไหม้ที่ควบคุมปริมาณอากาศมาใช้เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก๊าซเชื้อเพลิงดังกล่าวประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน ที่ให้ค่าความร้อนเฉลี่ย 4.5-5.5 เมกะจูด ต่อลูกบาศ์เมตร สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ทดแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติได้ โดยก๊าซเชื้อเพลิงที่ผลิตได้ เมื่อนำมาผ่านกระบวนการทำความสะอาด (กำจัดฝุ่น/ยางเหนียว) และผ่านกระบวนการลดอุณหภูมิแล้ว สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์สันดาป ที่เป็นต้นกำลังให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้

ผศ.ดร.วีรชัย ยังบอกอีกว่า พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวสามารถใช้ทดแทนพลังงานน้ำมันได้ สำหรับโรงงานไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบขนาดเล็ก 100 กิโลวัตต์ แห่งนี้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้งานภายในบริเวณฟาร์มมหาวิทยาลัย เช่น โรงเพาะเห็ด ฟาร์มปศุสัตว์ ฯลฯ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันโครงการศึกษาวิจัยแห่งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนทั่วไป

สำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการแห่งนี้ก็คือ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซซิฟิเคชั่น เพื่อให้เกิดการผลิตพลังงาน หรือกระแสไฟฟ้าขึ้นใช้เองภายในชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงสนับสนุนให้มีโครงการศึกษาวิจัยเรื่องพลังงานชีวมวลและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชนแบบครบวงจร

สำหรับโครงการโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ ได้ศึกษาทดสอบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรประเภทต่างๆ เช่น ไม้กระถินยักษ์ เนื้อไม้และเปลือกไม้ยูคาลิปตัส แกลบ ซังข้าวโพด กะลามะพร้าว กาก เปลือกและเหง้ามันสำปะหลัง และทางปาล์มน้ำมัน ดังนั้น โรงงานไฟฟ้าชีวมวลจึงเหมาะสมกับทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ผลการทดสอบโครงการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งนี้ พบว่า เชื้อเพลิงชีวมวลทุกชนิดสามารถผลิตก๊าซเชื้อเพลิงได้ แต่มีประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ไม้โตเร็วในกลุ่มไม้ยูคาลิปตัส กระถินเทพา กระถินณรงค์ พบว่า มีศักยภาพสูงสุดในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานชีวมวล หน่วยงานภาครัฐจึงควรสนับสนุนให้มีการปลูกไม้โตเร็วเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตพลังงานทดแทนในอนาคต

ย้อนกลับมาดูเรื่องต้นทุนการผลิตโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กกันดูบ้าง ผลการศึกษายืนยันว่า ต้นทุนการผลิตพลังงานชีวภาพไม่แพงเลย ผศ.ดร.วีรชัย บอกว่า โรงงานไฟฟ้าชีวมวลมีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำกว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสียอีก ปัจจุบันการผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 2.90 สตางค์ แต่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังชีวมวลมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยเพียง 2.40 สตางค์ เท่านั้น จะเห็นว่าต้นทุนพลังงานชีวมวล ถูกกว่ากันตั้ง 50 สตางค์ ต่อหน่วย ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วางแผนที่จะดำเนินโครงการผลิตไม้โตเร็ว เช่น ไม้ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ กระถินเทพา ฯลฯ บนเนื้อที่ 500 ไร่ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในอนาคต ทั้งนี้ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 100 กิโลวัตต์ จำเป็นต้องใช้วัสดุดิบเชื้อเพลิงไม้ประมาณ 1,500 ตัน ต่อปี ดังนั้น หากปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่ 500-600 ไร่ แบบหมุนเวียน ก็จะมีปริมาณวัตถุดิบสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างเพียงพอตลอดไป

คณะนักวิจัยฝากบอกมาว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการปลูกต้นไม้โตเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน น้ำ อากาศ เมื่อเทียบกับประเทศในเขตหนาว ที่ต้นไม้เติบโตช้ากว่าประเทศไทย ไม้โตเร็วที่ปลูกในประเทศไทยสามารถนำมาใช้งานได้ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป ฉะนั้น การผลิตวัตถุดิบมาป้อนเข้าสู่โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ จึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

นับว่าโครงการนี้ มีคุณค่าดี เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ที่สำคัญเป็นพลังงานที่ได้จากธรรมชาติ ไม่มีปัญหาด้านมลภาวะ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ตลอด ช่วยลดปริมาณการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ประหยัดเงินตราออกนอกประเทศ สิ่งที่สำคัญเป็นการสร้างเพิ่มมูลค่าให้แก่เศษวัสดุที่เหลือใช้ และยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานภายในชุมชน

เรียกว่ามองเห็นข้อดีมากกว่าข้อเสียที่แก้ไขได้ เช่น ของแข็งที่มีคุณสมบัติเป็นถ่าน มีค่าความร้อนสูง สามารถนำมาอัดเป็นแท่งถ่าน ใช้หุงต้มได้ ส่วนน้ำเสียที่เกิดจากการผ่านระบบบำบัดแบบปิด ก็ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กากตะกอนน้ำเสียก็จะนำมาตากแห้ง เผาผ่านกระบวนการก๊าซซิฟิเคชั่น ซึ่งจะได้ใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนกลับมาใช้งานใหม่ได้อีก ส่วนในเรื่องของเสียจากโรงงานไฟฟ้า ก็ยังอยู่ในขั้นปรับปรุงแก้ไข เรียกว่าในอนาคตนี้ คนไทยทั่วประเทศมีโอกาสใช้งานพลังงานไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้แน่นอน




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 6:58:45 น.   
Counter : 2779 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com