แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

เชิญพบ "จ่าติ๊ก" อดีตทหารช่าง (นักตอน) ผักหวานป่ามืออาชีพ แห่งอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี



มนุษย์มีการคิดเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด การคิดเป็นสิ่งที่ง่าย คิดอยากได้อะไรย่อมคิดกันได้ ส่วนจะสำเร็จตามที่คิดไว้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนของประเภทการคิดไม่มีข้อตายตัว แต่ก็เคยได้ยินได้ฟังมา เช่น คิดถึง คิดเห็น คิดดู คิดว่า คิดเล่น คิดผิด คิดใหม่ คิดถูก แต่การคิดที่นำประโยชน์มาสู่มนุษย์มักได้ยินว่าคิดค้น คิดสร้างสรรค์ คนที่คิดค้นสิ่งที่คนอื่นคิดค้นไม่สำเร็จแต่ตนเองทำได้สำเร็จก่อน ย่อมส่งผลต่อผู้คิดค้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าด้านชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้นว่า ผู้คิดค้นสร้างเครื่องบินได้สำเร็จเป็นคนแรก ผู้คิดค้นนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์เป็นคนแรก แต่คนที่คิดค้นการเป็นนอมินีของใครบางคนจนสำเร็จ จะมีผู้ใดสรรเสริญเยินยอหรือไม่ ไม่ทราบ

บุคคลที่จะแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักในฉบับนี้ เป็นอีกผู้หนึ่งที่เป็นนักคิดค้น เพื่อจะเอาชนะความเป็นธรรมชาติของต้นไม้จนสำเร็จ และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องผักหวานป่า แม้ว่าเขาคิดค้นได้สำเร็จ ก็ไม่คิดที่จะเก็บหรือหวงไว้ทำคนเดียว ความสำเร็จจากการคิดและทดลองทำนานกว่า 16 ปี ทำให้เขามีความภาคภูมิใจ และยินดีที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับมาสู่ท่านผู้อ่านด้วยความเต็มใจ บุคคลผู้นี้คือ จ่าติ๊ก หรือชื่อจริง นามสกุลจริงว่า จ่าสิบเอกเทวัญ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา โทรศัพท์ (086) 124-6596, (081) 898-6184



ความเดิม

จ่าติ๊ก เล่าย้อนภูมิหลังให้ฟังว่า เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด มีอาชีพรับราชการทหาร โดยเป็นทหารช่างอยู่นานถึง 18 ปี แต่มีใจรักในการทำการเกษตร เช่น การปลูกต้นไม้ การขยายพันธุ์ต้นไม้แบบต่างๆ และได้ลาออกจากราชการทหารตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2530 โดยขอรับเงินบำนาญ ส่วนภรรยาคือ คุณหน่อย รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

เมื่อลาออกจากราชการทหารแล้ว ได้ผันตนเองไปอยู่ที่ตำบลธารเกษม อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียง 3 ไร่เศษ พื้นที่ตรงนี้แม่ยายเป็นผู้ยกให้ สภาพพื้นที่ค่อนข้างขาดแคลนต้นไม้ ส่วนพวกหญ้าต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งโดยเฉพาะหญ้าคา ก่อนอื่นใดได้ปลูกบ้านหลังเล็กๆ เป็นที่อาศัยเพื่อเสริมความมั่นใจให้แกร่งขึ้น จึงทำป้ายติดไว้หน้าสวนว่า "สวนนิคเนม" ชาวบ้านใกล้เคียงที่ทราบว่าจะใช้พื้นที่ทำสวน เขาก็พากันหัวเราะเยาะว่าที่ดินตรงนี้จะปลูกอะไรได้ เจ้าตัวก็ไม่ว่าอะไร แต่ในใจนึกว่าต้องลองดู

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า ตนเองมีใจรักในการเกษตร จึงได้พยายามเสาะหาตำราการเกษตรมาศึกษา จึงทำให้ทราบว่า พื้นฐานการเพาะปลูกที่สำคัญที่สุดก็คือน้ำ แต่พื้นที่ของตนไม่มีแหล่งน้ำหรือใกล้กับแหล่งน้ำใดๆ ก็เลยลงมือจัดสร้างแหล่งน้ำ โดยใช้วิชาความรู้ในการเป็นทหารช่างมาก่อน จึงขุดและระเบิดบ่อเอง ได้บ่อลึกพอสมควร มีน้ำพอใช้แต่ไม่พอสำหรับการรดต้นไม้ หมดงบฯ ไปหมื่นกว่าบาท ต่อมาจึงรู้ว่าชาวบ้านแถวนั้นเขาเจาะใช้น้ำใต้ดิน เจาะลึกประมาณ 20 เมตร ก็มีน้ำพอใช้ จึงไปจ้างเขามาเจาะ หมดงบฯ ทั้งค่าเจาะ ค่าอุปกรณ์ไม่ถึงครึ่งหมื่น ทำให้มีน้ำใช้พอเพียงจวบจนวันนี้ เลยประจานตนเองไว้ว่า "โง่ครั้งที่ 1"



เริ่มลงมือทำ ปลูกไม้ผลยืนต้น

เมื่อมีแหล่งน้ำพร้อม ก็ตระเวนหาซื้อไม้ผลชนิดต่างๆ ที่กำลังมีชื่อเสียงในยุคนั้น เป็นต้นว่า มะยงชิด กิ่งละ 500 บาท จำนวนหลายสิบต้น มะม่วงพันธุ์ต่างๆ อีกนับร้อยต้น รวมทั้งมะไฟ มะพร้าวน้ำหอม หลังปลูกเสร็จเรียบร้อยก็ดูแลรักษาเป็นอย่างดี ต้นไม้ทุกต้นเจริญเติบโตตามวัย ทำให้คาดคิดไว้ว่า อีกไม่นานต้องมีผลออกมาให้ลิ้มลอง แต่พอเวลาผ่านไปถึง 6 เดือน ต้นที่มียอดมีใบเขียวงามขจี เริ่มออกอาการกิ่งยอดแห้งเหี่ยวลามไหลลงมา ตนเองต้องตัดกิ่งออกไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเหลือสูงเพียงแค่เข่า แม้จะพยายามเสริมรากเข้าช่วยแต่ก็ไร้ผล สุดท้ายก็เหมือนกับเลี้ยงบอนไซ บทเรียนบทนี้พอสรุปได้ว่า ตนเองได้โง่อีกเป็นครั้งที่ 2

ด้วยความอยากรู้ว่ามันมาจากสาเหตุใด จึงนำดินไปตรวจวิเคราะห์ที่หน่วยวิเคราะห์ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนำน้ำไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ ผลที่ออกมาปรากฏว่า ใต้พื้นที่ทำสวนนั้นมีดินมาร์ลจำนวนมาก ทำให้ดินมีความเป็นด่างและมีหินปูนสูง หากจะแก้ไขต้องลงทุนจำนวนมาก หากปลูกไม้ประเภทรากตื้น เช่น ไผ่ กล้วย มะละกอ หรือไม้ประเภทล้มลุก จะสามารถให้ผลผลิตตอบแทนได้ อีกประการหนึ่งที่สังเกตได้คือ ในพื้นที่มีต้นผักหวานป่าอยู่ก่อนแล้ว 3-4 ต้น แต่ไม่เห็นมันตาย จึงเกิดความคิดใหม่ขึ้นมา



หันกลับมองไปที่ต้นผักหวานป่า

เมื่อถึง ปี พ.ศ. 2533 เริ่มทดลองขยายพันธุ์ผักหวานป่าหลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด ขุดตอจากป่า ตัดชำราก สกัดราก ตัดชำกิ่งทั้งอ่อนและแก่ ทับกิ่ง และตอน จากการทดลองหลายรูปแบบพอสรุปได้ว่า การขุดตอจากป่าได้ผลพอสมควร แต่ต้องทะนุถนอมมาก นำเข้าตู้อบ มีเปอร์เซ็นต์การตายสูง ต้นตอหายาก การตัดชำราก ไม่ค่อยได้ผล มีเปอร์เซ็นต์การงอกน้อย การตัดกิ่งชำ ไม่ได้ผลแม้จะเข้าตู้อบแล้วก็ตาม การสกัดราก ได้ผลดีเพราะไม่ได้ขุดรากขึ้นมา เพียงแต่คุ้ยหารากให้พบแล้วทำให้รากขาดจากกัน จึงทำให้ส่วนของรากที่ขาดจากต้นแตกยอดขึ้นมาใหม่ แต่ก็ทำมากๆ ไม่ได้ การทับกิ่ง พอทำได้แต่ก็ขยายไปได้ไม่ไกลต้น การทับกิ่งต้องใช้กิ่งยาวที่อยู่ไม่สูงนัก

การเพาะเมล็ด ได้ผลดีแต่จะโตช้า เวลาปลูกต้องดูแลรักษาอย่างดี กล้าที่เพาะจากเมล็ดต้องการแสงเพียงรำไร หากปลูกในที่โล่งแจ้งต้องมีการพรางแสงให้ด้วย คนที่นำต้นกล้าไปปลูกบางรายปลูกเป็นพันต้น แต่สุดท้ายก็ตายหมด คิดว่าคงเกิดจากการเข้าใจผิดว่า ผักหวานป่าไม่ชอบน้ำจึงไม่ค่อยรดน้ำ ปล่อยให้กล้ารากแห้งตายแล้วอะไรจะเหลือ ที่บอกว่าผักหวานป่าชอบน้ำ ก็เพราะเมื่อหน้าฝน ปี พ.ศ. 2549 น้ำท่วมสวนผักหวานป่าส่วนที่เป็นลุ่มนานครึ่งเดือนกว่า เมื่อน้ำลดผักหวานป่าก็ปกติดี จึงทำให้ตนเองต้องรดน้ำทุกวันในฤดูแล้ง ยิ่งบริเวณรอบโคนต้นมีต้นหยาดน้ำค้าง ต้นแว่นแก้วขึ้นปกคลุม จะเพิ่มความชุ่มชื้นให้ต้นผักหวานป่าได้อีกทาง



การตอนกิ่งผักหวานป่า

การตอนกิ่งผักหวานป่า ใช้วิธีเดียวกันกับการตอนกิ่งพันธุ์ไม้ทั่วๆ ไป คือเริ่มจากการเลือกกิ่งที่จะตอนเป็นกิ่งกระโดง ที่มีขนาดพอเหมาะประมาณดินสอดำหรือนิ้วก้อย ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ใช้มีดหั่นรอบกิ่งใต้ตาด้านบนก่อน แล้วหั่นรอบกิ่งด้านล่างให้ห่างจากด้านบนประมาณ 2 นิ้ว ลอกเปลือกออกให้หมด ขูดเยื่อเจริญที่หุ้มกิ่งออกให้หมด การขูดควรทำจากบนลงล่าง เพื่อป้องกันส่วนที่จะออกรากบอบช้ำ ทาฮอร์โมนเร่งรากที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป กรีดเปลือกตรงบริเวณที่จะออกรากในแนวตั้งรอบกิ่งให้เป็นแผล 3-4 รอย ความยาวของแผลประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ออกรากเร็วขึ้น หุ้มกิ่งด้วยถุงตอนที่เตรียมไว้ มัดถุงตอนด้วยเชือกฟางให้แน่นตามภาพ รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน ประมาณ 2-3 เดือน ก็จะมีรากแทงออกมาให้เห็น รากที่ออกมาใหม่จะมีสีขาว ให้รอจนรากเปลี่ยนเป็นสีเขียวจึงตัดกิ่งออกจากต้นแม่



ขั้นตอนการปลูกกิ่งตอน

ก่อนนำกิ่งตอนผักหวานป่าลงปลูก ต้องเตรียมการให้พร้อมในหลายอย่าง เป็นต้นว่า สถานที่ที่จะปลูก แหล่งน้ำ ร่มเงา เพราะผักหวานป่าต้องการร่มเงาหรือมีแสงรำไร หากขาดเรื่องร่มเงาต้องพรางแสงให้ เช่น ซาแรน กิ่งไม้ ใบไม้ เช่น ทางมะพร้าว ไม้สำหรับปักยึดต้นกิ่ง ซึ่งจ่าติ๊กเองใช้เหล็กเส้นตัดเป็นท่อน เพราะทนทานต่อการผุจากความชื้นหรือปลวกกัดแทะ

หลุมปลูก ให้ขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว ลึก 30-40 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตรเสมอประมาณกำมือ โรยทับด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักครึ่งปุ้งกี๋ กลบดินลงไปแต่อย่าให้เต็มปากหลุม เหลือไว้ประมาณ 1 ฝ่ามือ การนำกิ่งตอนลงปลูกต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ตุ้มหุ้มรากขาดหรือกระทบกระเทือน นำกิ่งตอนลงหลุมปลูกกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ปักหลักยึดกิ่งให้แน่น ระยะในการปลูกระหว่างแถว 1.5 เมตร ระหว่างต้น 1 เมตร

จากการบอกเล่าของคุณติ๊กอาจไม่สามารถสื่อสารได้ละเอียดมากนัก ท่านผู้อ่านที่สนใจจริงๆ ควรจะไปศึกษาดูของจริงด้วยตนเอง เพราะสวนของจ่าติ๊กอยู่ในทำเลเมือง ไป-มาสะดวก บริเวณสวนตั้งอยู่ด้านหลังศูนย์โตโยต้า อำเภอพระพุทธบาท เจ้าของสวนรูปหล่อใจดี โดยเฉพาะคุณหน่อยผู้เป็นภรรยา ท่านใดที่ไปเยี่ยมสวนจะประทับใจในการจัดการต่างๆ เกี่ยวกับผักหวานป่าแบบที่ไม่หวงวิชา นอกจากนี้ จ่าติ๊กยังเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวผักหวานป่าที่หน้าสวนอีก ซึ่งเปิดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 นี่เอง

ข้อคิดที่จ่าติ๊กฝากผ่านไปยังผู้สนใจปลูกผักหวานป่าว่า หากต้องการความสำเร็จต้องมีการเตรียมการที่ดี ไม่ว่าเรื่องกิ่งพันธุ์ น้ำ แสง เวลาในการดูแลรักษา และสำคัญยิ่งคือ "ใจรัก" ปิดท้ายจากจ่าติ๊กว่า จังหวัดสระบุรี จะจัดงานผักหวานป่าประจำปี 2551 ในวันที่ 7-9 มีนาคม 2551 ที่อำเภอบ้านหมอ สวัสดีครับ




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 10:39:37 น.   
Counter : 3431 Pageviews.  


สมพงษ์ ยิ้มโฉม ปลูกเตยหอม รายได้ดี ที่ระนอง



คุณสมพงษ์ ยิ้มโฉม เกษตรกรคนเก่ง แห่งบ้านเขานางหงษ์ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น ยางพารา ทุเรียน มังคุด ลองกอง กระท้อน หมาก มะพร้าว เงาะ รวมทั้งปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เช่น มะลิ กุหลาบ ดาวเรือง เตยหอม และมีบ่อเลี้ยงปลา และปลูกบัว นอกจากนี้ มีการเลี้ยงไก่ เป็ด ไว้กินไข่อีกด้วย

คุณสมพงษ์ วัย 68 ปี ย้อนอดีตให้ฟังว่า มีภูมิลำเนาอยู่ระโนด จังหวัดสงขลา ภรรยาเป็นชาวพัทลุง เมื่อปี 2520 จำเป็นต้องปลีกตัวจากภัยการเมืองยุคนั้นมาอยู่ระนอง เริ่มต้นด้วยการปลูกผักขายและทำการเกษตร จนมีทุนทรัพย์พอ จึงซื้อที่ดินเพิ่มถึงทุกวันนี้มี 50 ไร่ ปลูกพืชหลากหลายชนิดเต็มพื้นที่



ปลูกเตยหอมในสวนยาง

สวนมังคุด

ด้วยความที่คุณสมพงษ์ อยู่ในวงการไม้ดอกไม้ประดับ โดยปลูกมะลิขายดอกสด และร้อยพวงมาลัย ขายมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี และปลูกไม้ดอกอื่นๆ เสริมบ้าง เช่น ดาวเรือง กุหลาบ บัว ฯลฯ ทำให้ทราบว่าในแวดวงคนขายดอกไม้ ไม้ประดับ มีความต้องการเตยหอม เพื่อใช้ประดับตกแต่งช่อดอกไม้ไหว้พระ หรืองานมงคลอื่นๆ เดือนละจำนวนมาก โดยสั่งซื้อมาจากต่างจังหวัด ราคาต้นละเกือบ 1 บาท

คุณสมพงษ์จึงมีความคิดว่า เราน่าจะปลูกเตยหอมเองได้ ส่งให้ร้านดอกไม้ในราคาที่ถูกกว่า เพียง 30 สตางค์ ต่อต้น เราเองก็มีรายได้เพิ่ม แม่ค้าไม้ดอกก็ไม่ต้องซื้อของแพงจากต่างจังหวัด ประกอบกับก่อนหน้านี้เคยปลูกแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำอยู่แล้ว จึงคิดว่าระบบรากของแฝกและเตยหอมน่าจะคลุมหน้าดินและอนุรักษ์ผิวหน้าดินได้ดีพอกัน

จึงเริ่มนับหนึ่ง ปลูกเตยหอม นับถึงวันนี้กว่า 5 ปีแล้ว ที่ปลูกเตยหอมขาย และขยายพื้นที่จนเต็มที่ว่างในสวนยางพารา สวนมังคุด และอื่นๆ รวมกว่า 7 ไร่

ส่วนการดูแลก็ไม่ได้ยุ่งยาก ให้น้ำตามสมควร เนื่องจากเตยหอมต้องการน้ำมาก ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 4 เดือน ต่อครั้ง เพียงแค่นี้ เตยหอมก็เจริญเติบโตดี ยอดอ่อนสวยงาม



การตลาด ตัดขายทุกวันพระ

ครั้งละ 20,000 ต้น

ด้านการตลาด คุณสมพงษ์กล่าวว่า ด้วยความที่ปลูกมานานหลายปี เตยหอมขึ้นปกคลุมเต็มพื้นที่ที่ปลูก ทำให้สามารถตัดต้น (ยอดอ่อน) ขายได้ทุกวันพระ ครั้งละ 20,000 ต้น ขายต้นละ 0.30 บาท ทำให้มีรายได้ 6,000 บาท ต่อวันพระ เดือนละ 24,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าจ้างคนงานแล้วก็มีรายได้ดีพอสมควร นอกเหนือจากรายได้จากพืชอื่นๆ ที่ปลูกผสมผสาน

คุณสมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เตยหอม นอกจากจะเป็นพืชที่ตลาดไม้ดอกต้องการมากแล้ว ตราบใดที่คนเรายังทำบุญไหว้พระ แสวงหาที่พึ่งทางใจ เตยหอมยังเป็นพืชที่ช่วยรักษาความชื้นให้กับดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ดีอีกด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรที่น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการทำการเกษตร โดยการปลูกพืชที่มีความหลากหลาย ลดความเสี่ยงจากภาวะการตลาด และเป็นการพึ่งพาตนเองได้ดี ก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

หากท่านที่สนใจดูงาน ติดต่อคุณสมพงษ์ ยิ้มโฉม บ้านเลขที่ 121 หมู่ที่ 5 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โทร. (077) 831-300




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:24:34 น.   
Counter : 3988 Pageviews.  


แนวทางการเพาะเลี้ยงจระเข้ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ร.อ.น.พ.ปัญญา ยังประภากร บริษัท จระเข้ทองการเกษตร (ประเทศไทย) จำกัด



หนังจระเข้ไทยสู่ตลาดโลก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้อยู่เป็นจำนวนมาก รวมแล้วมีจระเข้พันธุ์น้ำจืด ประมาณ 300,000 ตัว ในแต่ละปีจะมีการเพาะลูกจระเข้เกิดใหม่ ประมาณ 50,000-80,000 ตัว แต่เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้หนังจระเข้ทั่วโลกซึ่งแต่ละปีใช้กันอยู่ประมาณ 1-2 ล้านผืน จะเห็นได้ว่าปริมาณลูกจระเข้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีจำนวนไม่มาก สามารถแทรกเข้าไปในตลาดโลกได้ ซึ่งการเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นได้นั้น มีปัจจัยสำคัญอยู่ที่

1. คุณภาพหนังสวย

2. ราคาที่สามารถสู้กับตลาดโลกได้

3. สามารถแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้า

3.1 กฎหมายภายในประเทศของคู่ค้า

3.2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขสากล เช่น GAP, GMP, HACCP

4. เพิ่มมูลค่าจากหนังดิบเป็นหนังฟอก หรือผลิตภัณฑ์



ทิศทางการเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย

ปัญหาและการแก้ไข

การเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทยยังไม่มีทิศทางและรูปแบบที่แน่นอน เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างเลี้ยง เวลามีปัญหาก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขาดการวางแผนร่วมกับหน่วยงานราชการ ทั้งๆ ที่จระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าได้ เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหา

1. ข้าราชการที่ต้องดูแลตามกฎหมาย หากขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงวิธีปฏิบัติ การออกใบอนุญาตต่างๆ ให้กับผู้เลี้ยงจระเข้ก็จะเป็นปัญหา

2. ประชาชนผู้เลี้ยงจระเข้สับสน ไม่ทราบรายละเอียด วิธีการขออนุญาต ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินเรื่อง เดินทาง และเวลา อีกทั้งกังวลใจในข้อกฎหมายต่างๆ

3. ควรกำหนดพื้นที่ในการเลี้ยงจระเข้ เช่น ไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพราะเป็นปัญหาเมื่อน้ำท่วม จระเข้หลุด

4. เลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์

4.1 หนัง เพื่อทำผลิตภัณฑ์โดยไม่สนใจเนื้อ เพราะขายลำบาก เนื้อถูกนำไปใช้เป็นอาหารให้จระเข้กิน

4.2 หนังและเนื้อ หนังนำไปทำผลิตภัณฑ์ เนื้อขายให้คนบริโภคเป็นอาหาร โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก

4.3 หนังและเนื้อเพื่อบริโภคในบางประเทศ เช่น จีน นิยมรับประทานเนื้อจระเข้ติดหนัง เพราะนอกจากความอร่อยของหนังแล้ว ยังมั่นใจว่าเป็นเนื้อจระเข้แท้อีกด้วย

4.4 ขายจระเข้มีชีวิต อวัยวะภายใน เลือด กระดูก ฯลฯ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยให้ต่างคนต่างเลี้ยง ทิศทางการเลี้ยงก็จะไม่แน่นอน คือการเลี้ยงเพื่อเอาหนังและเนื้อ วิธีการเลี้ยงก็จะถูกกำหนดให้ฟาร์มเลี้ยงจะต้องได้รับ GAP กล่าวคือ คุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงต้องอยู่ในเกณฑ์กำหนด มีการบำบัดน้ำทิ้ง อาหารจระเข้ต้องมาจากแหล่งที่ตรวจสอบได้ ปลอดภัย ฯลฯ โรงงานที่ชำแหละเนื้อและหนังต้องได้รับ GMP, HACCP แต่สำหรับผู้ที่เลี้ยงเพื่อเอาหนังอย่างเดียวก็บอกว่าเขาไม่ใช้เนื้อ ดังนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่อง GAP เวลาชำแหละก็ชำแหละข้างบ่อ ไม่จำเป็นต้องมี GAP, HACCP

การวางแผนการเลี้ยงจระเข้ให้มีระบบที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อ

1. ทุกฟาร์มปฏิบัติเหมือนกัน ง่ายต่อการดูแลของทางราชการ

2. เมื่อมีการส่งออกเนื้อจระเข้ได้ก็ไม่มีปัญหาว่าเนื้อมาจากฟาร์มที่ได้ GAP หรือไม่ การผลิตในโรงงานที่มี GMP, HACCP หรือไม่

หากมีมาตรการที่กำหนดแน่นอนเพื่อปฏิบัติ เกษตรกรที่จะเลี้ยงจระเข้จะได้ทราบแต่แรกและดูว่าสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ ต้นทุนเป็นอย่างไร มิใช่เลี้ยงไปแล้วมีการออกมาตรการให้ปฏิบัติ เช่น เรื่องน้ำทิ้ง เรื่องที่มาของอาหาร เพื่อให้เป็นระบบ GAP ซึ่งอาจเป็นการลำบากที่จะปฏิบัติและเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่หากไม่มีการกำหนดที่แน่นอน หน่วยราชการก็ควรจัดระดับฟาร์มเพื่อเป็นมาตรฐานให้ทราบกันทั่วไปโดยกำหนด

ระดับ A ฟาร์มมี GAP โรงผลิตมี GMP, HACCP

ระดับ B ฟาร์มมี GAP โรงผลิตมี GMP

ระดับ C ฟาร์มมี GAP โรงผลิตมี GMP หรือไม่มีโรงผลิต

ระดับ D ฟาร์มไม่มี GAP



การพัฒนาการเลี้ยงจระเข้ให้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ต้องพยายามลดต้นทุน

ต้นทุนในการเลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปลายทางคือหนัง ต้องไปสู้กับราคาตลาดโลก ซึ่งบางแห่งหนังจระเข้มาจากการล่า หรือเก็บไข่และลูกจระเข้มาเลี้ยง ทำให้เขามีต้นทุนในการผลิตลูกจระเข้ต่ำกว่าประเทศไทย ต้นทุนในการเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทยจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากต่ออนาคตจระเข้ไทย

1. ค่าใบอนุญาตต่างๆ รวมทั้งค่าเดินทางในการติดต่อ

1.1 การขอใบอนุญาตครอบครองซึ่งมีอายุของใบอนุญาต 3 ปี และใบอนุญาตค้าซึ่งมีอายุของใบอนุญาต 1 ปี การขอใบอนุญาตครั้งเดียว และสามารถต่ออายุได้เมื่อใบอนุญาตหมดอายุ ไม่ต้องขอใหม่ แต่ความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่และเกษตรกร เวลาขายจระเข้แต่ละครั้งก็ต้องขออนุญาตค้าทุกครั้ง ทำให้เสียค่าขอใบอนุญาตค้าโดยไม่จำเป็น เป็นการสิ้นเปลือง

1.2 การเตรียมเอกสารไม่ครบ เพราะไม่ทราบ ทำให้ต้องเดินทางไปขอใบอนุญาตหลายครั้ง ซึ่งบางแห่งผู้เลี้ยงจระเข้จะต้องเดินทางไป-กลับแต่ละครั้งกว่า 100-200 กิโลเมตร เพื่อ

1.2.1 ยื่นคำขอ

1.2.2 เตรียมเอกสารเพิ่มเติมเพราะไม่ครบถ้วน กลับไปเตรียมใหม่

1.2.3 ไปรับใบอนุญาต ซึ่งบางครั้งมาตามนัด แต่ใบอนุญาตยังไม่เสร็จ ต้องไปรับใหม่

1.2.4 บางครั้งใบอนุญาตพิมพ์ผิด ต้องกลับไปแก้ไขใหม่

หากเกษตรกรเลี้ยงจระเข้จำนวนน้อย เช่น 20-50 ตัว ต้นทุนในการขอใบอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายครั้ง เวลาที่เสียไปก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูง แต่หากเลี้ยงจระเข้หลายร้อยตัวก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่ไม่สูง

2. ต้นทุนบ่อ

ผู้เลี้ยงควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก่อนเริ่มสร้างบ่อ ผู้ที่เป็นแหล่งข้อมูลคือ ฟาร์มจำหน่ายลูกพันธุ์ และเจ้าหน้าที่ราชการ

สถานที่เลี้ยงจระเข้ควรคำนึงถึง

- การเดินทางสะดวก

- น้ำท่วมถึงหรือไม่

- สร้างบ่อได้ถูกต้องตามแบบ

- น้ำที่ใช้เลี้ยงเหมาะสมหรือเพียงพอหรือไม่

- ต้องบำบัดน้ำเสียที่ปล่อยทิ้งหรือไม่

- แหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงจระเข้เหมาะสมหรือไม่ มีเพียงพอหรือไม่

เพราะการสร้างบ่อจระเข้ต้องลงทุนสูง ควรใช้เลี้ยงเป็นระยะเวลานาน จึงจะคุ้ม ถ้าเลือกสถานที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดปัญหา ต้องสร้างที่ใหม่ หรือต้องแก้ไข ทำให้เป็นการเพิ่มทุน อีกทั้งถ้าไม่ได้กำหนดให้มีการบำบัดน้ำก่อนทิ้ง ผู้เลี้ยงไม่มีเนื้อที่เผื่อไว้แล้ว ทางราชการมากำหนดภายหลังว่าต้องมี ทำให้เกิดความยุ่งยากมากในการแก้ไข ดังนั้น เรื่อง GAP มีความสำคัญ หากกำหนดนโยบายที่แน่นอนได้ จะได้รู้ว่าการเลี้ยง สถานที่ และการสร้างบ่อจะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของ GAP ด้วยหรือไม่

3. ลักษณะการเลี้ยง

- เลี้ยงบ่อรวม ต้นทุนจะต่ำ เพราะหนึ่งบ่อเลี้ยงจระเข้หลายตัว และการดูแลจัดการง่าย ประหยัดพลังงานแต่หนังจะไม่สวย จึงขายได้ในราคาถูกและหาตลาดยาก

- เลี้ยงบ่อเดี่ยว ต้นทุนค่าบ่อสูง เพราะหนึ่งบ่อใส่จระเข้ 1 ตัว การให้อาหาร ทำความสะอาดบ่อจะเสียเวลามากกว่า และจระเข้จะโตช้ากว่าบ่อเลี้ยงรวม ทำให้มีต้นทุนในการเลี้ยงสูงกว่า แต่หนังที่ได้มีคุณภาพดีกว่า ทำให้ได้ราคาที่สูงกว่าและขายได้ง่ายกว่าบ่อรวม

4. ต้นทุนลูกพันธุ์

เกษตรกรควรซื้อลูกพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยขอข้อมูลจากหน่วยราชการ เพราะถ้าได้ลูกพันธุ์ที่ดีจะสูญเสียน้อย โตเร็ว ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำลง รวมทั้งควรคำนึงถึงการรับซื้อจระเข้คืน มีการรับซื้อคืนตามที่ตกลงกันไว้จริงหรือไม่

5. ต้นทุนค่าอาหาร

ปัจจุบันการเลี้ยงจระเข้ค่อนข้างมีปัญหา แต่เดิมใช้ไก่ตายตามเล้าเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงจระเข้ ซึ่งสามารถหาได้ง่าย มีคนหามาส่งเป็นประจำ ราคาถูก แต่เมื่อเกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกขึ้น ไก่ตายเหล่านั้นต้องทำลายห้ามเคลื่อนย้าย ทำให้ผู้เลี้ยงหาอาหารได้ยากขึ้นและราคาแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนกาเลี้ยงสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น หากมีการวิจัยเพื่อผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับจระเข้ได้ จะทำให้การเลี้ยงจระเข้สะดวกขึ้น และมีต้นทุนที่แน่นอนขึ้นกว่าการใช้อาหารสดที่หายากและราคาไม่แน่นอน

6. ความรู้ในการเลี้ยง

ฟาร์มใหญ่และหน่วยราชการเป็นแหล่งความรู้กับเกษตรกร เพื่อให้เลี้ยงได้ดีและโตเร็ว

7. การทำประวัติจระเข้

การทำเครื่องหมายจระเข้เพื่อติดตามและตรวจสอบประวัติ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตัดเกล็ดหางจระเข้ การติด Tag การฝังไมโครชิป แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อด้อยต่างกันไป แต่วิธีที่ได้ผลดีและมีราคาถูกคือ การตัดเกล็ดหางจระเข้ ซึ่งเหมาะสำหรับการทำประวัติและควบคุมจระเข้ในประเทศ ส่วนการใช้ Tag หรือไมโครชิป มักจะทำในจระเข้มีชีวิตที่ส่งขายระหว่างประเทศ

8. ภาษีอื่นๆ จากท้องถิ่น

- ภาษีสัตว์น่ารังเกียจ

- ภาษีโรงเรือน

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งพยายามจะเก็บภาษีในทุกรูปแบบ และก็พยายามมองว่าจระเข้เป็นสัตว์น่ารังเกียจ เมื่อเลี้ยงแล้วต้องมีการเก็บภาษีสัตว์น่ารังเกียจโดยเรียกเก็บทุกปี และบ่อเลี้ยงจระเข้ อบต. ก็พยายามตีความเป็นโรงเรือนเพื่อเก็บภาษีโรงเรือน โดยไม่คำนึงว่าเป็นอาชีพประมง เกษตรกรรม เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาและกุ้ง ไม่ได้มีกำไรมากมาย แต่ละ อบต. ก็มีการกำหนดและเก็บแตกต่างกันไป ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน ดังนั้น หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมควรเข้ามามีบทบาทในการออกกฎต่างๆ เพื่อช่วยเหลืออาชีพเกษตรกรรมประมง และให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ มีหลักการที่ถูกต้อง มิให้ท้องถิ่นตีความต่างๆ กัน เรียกเก็บแพงๆ เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต

จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงจระเข้เป็นอาชีพที่ใช้ระยะเวลานานอย่างน้อยประมาณ 2-4 ปี จึงจะขายได้ เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องดูศักยภาพของตนว่าเหมาะสมที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม เพราะตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงจะมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับ และต้องดูปัจจัยอื่นๆ เช่น อาหาร น้ำ ที่ดิน แรงงาน อยู่ในต้นทุนต่ำหรือไม่



ตลาดส่วนมากส่งออกต่างประเทศ

การบริโภคหนังและเนื้อจระเข้ในประเทศไทยยังน้อยอยู่ ดังนั้น เกือบทั้งหมดจึงเป็นการส่งออก ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ หากแก้ไขได้ก็จะทำให้ตลาดเปิดกว้างสำหรับหนังและเนื้อจระเข้ไทย และราคาจะสูงขึ้นอีกด้วย

- หนังจระเข้ไทยไม่สามารถส่งไปขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ทั้งๆ ที่หนังจระเข้ไทยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ CITES ทุกประการ และสหรัฐอเมริกาก็เป็นสมาชิก CITES ทราบว่าจระเข้ไทยเป็นจระเข้เพาะเลี้ยง แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ยอมแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งห้ามหนังจระเข้ไทยเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดสำหรับหนังจระเข้ไทยแคบ และหลายประเทศไม่กล้าซื้อหนังจระเข้ไทยไปฟอก ตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะส่งขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ หากแก้ไขกฎหมายนี้ได้ หนังจระเข้ไทยจะมีตลาดกว้างขึ้นและราคาจะสูงขึ้นอีก

- ผู้ผลิตหนังจระเข้ไทยบางส่วนต้องขายหนังจระเข้หมักเกลือ ซึ่งเป็นหนังดิบไปยังต่างประเทศ ซึ่งได้ราคาน้อยกว่าหนังฟอก เนื่องจากไม่สามารถหาที่ฟอกหนังจระเข้ในประเทศได้ เพราะโรงฟอกหนังส่วนใหญ่จะไม่รับฟอกหนังจระเข้จากผู้เลี้ยงทั่วไป ดังนั้น หากภาครัฐสามารถหาโรงฟอกหนังจระเข้จากผู้เลี้ยงอื่นๆ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับหนังจระเข้ไทย หรือมีการขอยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษีสำหรับหนังจระเข้ที่ส่งไปฟอกในต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อขายหรือทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหนังจระเข้ไทยด้วย

- เนื้อจระเข้เป็นที่ต้องการของคนจีน โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เนื่องจากประเทศไทยได้มีข้อตกลงการซื้อขายสินค้าเกษตรกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนำเนื้อจระเข้ไปผูกกับเนื้อไก่ โดยประเทศไทยส่งเนื้อจระเข้ไปขายยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะเดียวกันก็ให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถส่งเนื้อไก่มาขายยังประเทศไทย ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่อนุญาตให้เนื้อจระเข้ไทยเข้าประเทศได้ หากแก้ไขปัญหานี้ได้ และให้เนื้อจระเข้เข้าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เสรี เนื้อจระเข้ก็จะมีตลาดกว้างขึ้นและขายได้หมด

- เนื้อจระเข้ปลอมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ากลัว ไม่กล้าซื้อเนื้อจระเข้จากประเทศไทย โดยทั่วไปเนื้อจระเข้ปลอมส่วนใหญ่จะใช้เนื้องูและเนื้อตะกวด เนื้อปลามาทำเป็นเนื้อจระเข้ตากแห้งปลอม หากทางภาครัฐสามารถตรวจคุณภาพของเนื้อว่าเป็นเนื้อจระเข้จริงหรือปลอมได้ ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อได้ และไม่เสียชื่อเสียงประเทศไทย

- เมื่อมองภาพปัญหาและการแก้ไขการเลี้ยงจระเข้ของประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่าหากมีการจัดระบบและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว สามารถที่จะลดต้นทุนการเลี้ยงลงได้ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้มีรายได้จากการเลี้ยงจระเข้เป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก และสามารถขยายการเลี้ยงให้กว้างขวางขึ้น

ตลาดหนังและเนื้อของจระเข้ไทยก็จะกว้างขวางมากขึ้น และได้ราคาดีด้วย




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:21:17 น.   
Counter : 2884 Pageviews.  


สตรอเบอรี่ พืชต่างแดน เสริมรายได้ให้คนไทย

สิริพร ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา



ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ไม่ว่ามองไปทางไหนมักจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าวางขายสตรอเบอรี่สดกันเต็มไปหมด อย่างที่ตลาดบางลำพูก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นย่านการค้าเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตดุสิตและเขตพระนคร บนเกาะรัตนโกสินทร์ ที่นอกจากจะมีการจำหน่ายเสื้อผ้าและอาหารอันลือชื่อแล้ว เครื่องดื่มอย่างน้ำผลไม้ปั่นก็เป็นที่สะดุดตาไม่น้อย ด้วยร่มสีเหลืองสดที่มีลายสตรอเบอรี่สีแดงบนผืนร่ม ทำให้กลายเป็นจุดสนใจของผู้ที่มาจับจ่ายซื้อของในย่านดังกล่าว

ร้านขายน้ำผลไม้ปั่นแห่งนี้ ได้มีการจัดวางด้วยผลสตรอเบอรี่สดจำนวนมาก เนื่องจากเป็นผลไม้ของฤดูกาลนี้ และเป็นผลไม้ที่มีผู้นิยมสั่งมากที่สุด โดยมี คุณมนัส พงษ์ธนดล หรือ คุณจู อายุ 46 ปี เป็นผู้ทำน้ำผลไม้ปั่นร่วมกับภรรยา ซึ่งได้จำหน่ายอยู่ย่านนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว

คุณมนัส กล่าวว่า การทำน้ำผลไม้ปั่นทุกชนิดจะต้องคัดเฉพาะผลไม้ที่ดี ไม่มีตำหนิ เพราะจะทำให้ได้น้ำผลไม้ปั่นที่อร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย อย่างน้ำสตรอเบอรี่จะคัดเฉพาะลูกสตรอเบอรี่ที่ดีไม่มีตำหนิ ซึ่งได้สั่งซื้อสตรอเบอรี่คัดเกรดเอ โดยใช้สตรอเบอรี่สดเฉลี่ยวันละ 5 ลัง หรือประมาณ 35 กิโลกรัม ส่วนน้ำเชื่อม ใช้น้ำเชื่อมฟรัคโทสที่ทำจากมันสำปะหลัง เพราะมีคุณสมบัติข้นเหนียวและหวานน้อย นอกจากนี้ จะใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ

"น้ำผลไม้ปั่นที่นี่ ไม่แตกต่างจากร้านอื่นๆ ทั่วไป แต่ที่ร้านของเราจะใช้ของที่มีคุณภาพ และใส่ใจทำ เพื่อสุขภาพของลูกค้า โดยไม่เน้นกำไร ขอเพียงแค่ส่งลูกทั้ง 2 คน เรียนหนังสือ และมีต้นทุนขายน้ำผลไม้ปั่นต่อไปก็พอแล้ว" คุณมนัส กล่าว

ด้วยอัธยาศัยที่ดีของพ่อค้า ทำให้มีลูกค้าทั้งประจำและขาจร แวะเวียนมาซื้อน้ำผลไม้ปั่นของคุณจูอย่างต่อเนื่องทั้งวัน เนื่องจากได้ลิ้มรสความอร่อยของน้ำผลไม้ปั่นที่ราคาไม่แพง เพียงแก้วละ 20 บาท เท่านั้น พร้อมกันนี้ คุณมนัสกล่าวเสริมว่า ที่ร้านจะขายเฉพาะผลไม้ไทย หรือผลไม้ที่สามารถผลิตได้ในเมืองไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนคนไทยด้วยกัน

เมื่อกล่าวถึงสตรอเบอรี่ก็อดที่จะเอ่ยถึงการปลูกสตรอเบอรี่ไม่ได้ ส่วนใหญ่จะมีการปลูกมากทางภาคเหนือ โดยโครงการหลวงเริ่มทดลองหาพันธุ์สตรอเบอรี่ที่ปลอดโรคเพื่อส่งเสริมเกษตรกร มีการผลิตต้นแม่พันธุ์และต้นไหลปลอดโรคด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องทดลอง ทุกปีมีการคัดและผสมพันธุ์จนได้พันธุ์พระราชทานเบอร์ต่างๆ

สตรอเบอรี่จัดเป็นพืชหลายปี แต่โดยทั่วไปจะปลูกปีเดียวแล้วจะมีการปลูกใหม่ในปีถัดไป ลักษณะการเจริญเติบโตจะแตกกอเป็นพุ่มเตี้ย สูงจากพื้นดิน 6-8 นิ้ว ทรงพุ่มกว้าง 8-12 นิ้ว ระบบรากส่วนใหญ่อยู่ระดับลึก ประมาณ 12 นิ้ว จากผิวดิน ลำต้นปกติยาว 1 นิ้ว ความยาวของก้านใบขึ้นอยู่กับพันธุ์ ขอบใบหยัก ใบส่วนใหญ่ประกอบด้วย 3 ใบย่อย ตาที่โคนของก้านใบจะพัฒนาเป็นตาดอก ลำต้นสาขา ไหล หรือพักตัว โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดอกจะออกเป็นช่อ มีกลีบรองดอกสีเขียว กลีบดอกสีขาวหรือชมพู เกสรตัวผู้สีเหลืองและเกสรตัวเมียเรียงอยู่บนฐานรองดอก ซึ่งฐานรองดอกนี้จะพัฒนาเป็นเนื้อของผล ส่วนเมล็ดอยู่ติดกับผิวนอกของผล ผลมีหลายรูปทรง เช่น ทรงกลม ทรงกลมแป้น ทรงกลมปลายแหลม ทรงแหลม ทรงแหลมยาว ทรงลิ่มยาว และทรงลิ่มสั้น มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับพันธุ์ ผลจะมีสีเขียวในระยะแรก และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม รสเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นหอมน่ารับประทาน

ดินที่ปลูกสตรอเบอรี่ควรเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังจะทำให้รากเน่า ดินควรมีความเป็นกรดเล็กน้อย สภาพอากาศหนาวเย็นหรือฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส สตรอเบอรี่จะเริ่มสร้างตาดอก รวมทั้งในสภาพวันสั้นกว่า 12 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำตอนกลางคืนเป็นเวลาค่อนข้างยาวนาน หลังจากปลูกต้นสตรอเบอรี่ลงแปลงแล้ว จะทำให้มีความต่อเนื่องของการออกดอกชุดต่อๆ มามากขึ้น

พันธุ์สตรอเบอรี่ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์พระราชทานเบอร์ 16, 20, 50, 70 เนียวโฮ แลเซลวา เป็นต้น ซึ่งแต่ละพันธุ์มีลักษณะที่แตกต่างกัน สำหรับการผลิตเป็นการค้านั้น จะผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ในลักษณะของผลรับประทานสดและผลผลิตเพื่อส่งโรงงานแปรรูป

สำหรับการปลูกสตรอเบอรี่ ให้เตรียมดินโดยใส่ปูนขาวในอัตรา 60-80 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อปรับสภาพดินพร้อมการไถดะ ไถแปร และผึ่งดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช หลังจากนั้นหว่านปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกให้ทั่วแปลงในอัตรา 2-2.5 ตัน ต่อไร่ พร้อมการไถพรวน เตรียมแปลงปลูกแบบยกร่องให้ฐานแปลงกว้าง 75 เซนติเมตร สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร และมีสันแปลงเหลือกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร เว้นทางเดินระหว่างแปลงไว้ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อเป็นการช่วยรักษาความชื้นของดินในแปลงปลูก และช่วยในการควบคุมวัชพืชบนแปลง รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผลสตรอเบอรี่เกิดการเสียหายเนื่องจากสัมผัสกับดิน ให้ใช้วัสดุคลุมแปลง ได้แก่ ฟางข้าว ใบหญ้าคา พลาสติค ใบตองเหียงหรือใบตองตึง คลุมแปลงปลูก

สำหรับระยะที่ใช้ปลูก จะใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 30-40 เซนติเมตร ระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ปลูกแบบสลับฟันปลา โดยทั่วไปจะใช้ต้นไหลสำหรับปลูกประมาณ 8,000-10,000 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ไร่

การปลูกสตรอเบอรี่ควรปลูกในเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม โดยต้นอ่อนหรือไหลที่จะปลูกควรมีแขนไหลที่มีข้อติดด้วย การเตรียมแปลงปลูกทำนองเดียวกับแปลงปลูกผักคือ การปลูกต้องใช้ส่วนโคนของลำต้นอยู่ในระดับดิน ถ้าปลูกลึกยอดจะเน่า ถ้าตื้นรากจะแห้งทำให้เจริญเติบโตช้า ใช้ส่วนแขนไหลจิ้มลงในดินเพื่อช่วยดูดน้ำในระยะแรกปลูกในขณะที่ไหลกำลังตั้งตัว ระยะปลูก 25x30 เซนติเมตร แปลงกว้าง 100 เซนติเมตร สูง 20 เซนติเมตร ยาวตามที่ต้องการ ทางกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ปลูก 3 แถว ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ไหลปลูกประมาณ 10,000-12,000 ต้น

ส่วนการให้น้ำสตรอเบอรี่ จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า น้ำที่จะให้มีคุณสมบัติเป็นกรดหรือด่าง ถ้าเป็นด่างไม่ควรใช้เพราะต้นสตรอเบอรี่จะไม่เจริญเติบโตในสภาพที่ดินเป็นด่าง วิธีการให้น้ำอาจใช้บัวรด ซึ่งรดทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ซึ่งวิธีนี้ประหยัดน้ำ แต่สิ้นเปลืองแรงงาน หรือจะให้น้ำแบบท่วมโดยปล่อยน้ำเข้าท่วมแปลง จนกระทั่งดินอิ่มตัวด้วยน้ำ ซึ่งประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วแต่คุณสมบัติของดินและความชื้นอากาศ โดยใช้ระยะเวลา 7-10 วัน จึงปล่อยน้ำ 1 ครั้ง วิธีนี้ประหยัดแรงงาน แต่ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำ ทั้งนี้อย่าลืมว่าสตรอเบอรี่เป็นพืชที่ไม่ทนต่อความแห้งแล้ง เพราะฉะนั้นต้องระวังการให้น้ำเป็นพิเศษ การขาดแคลนน้ำนานๆ มีผลกระทบต่อผลผลิตของสตรอเบอรี่

ในการให้ปุ๋ยเพื่อต้องการผลนั้น ก่อนปลูกให้ขุดหลุมลึกประมาณ 5-6 นิ้ว แล้วใส่ปุ๋ยคอก 30 กรัม และปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟส 1 ช้อนชา รองก้นหลุมก่อนปลูก หลังจากนั้น 1 เดือน ใส่ปุ๋ย สูตร 6-24-24 (ใช้ในกรณีที่ปลูกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) หรือปุ๋ย สูตร 13-13-21 (ในกรณีที่ปลูกเดือนกันยายน-ตุลาคม) หรือปุ๋ย สูตร 16-16-16 (ในกรณีที่ปลูกเดือนพฤศจิกายน-มกราคม) โดยใส่ 2 กรัม ต่อต้น โดยแบ่งให้ 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 7-10 วัน

เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง และช่วงแสงสั้นเข้าซึ่งประมาณเดือนพฤศจิกายน สตรอเบอรี่เริ่มติดดอกและผลจะสุกหลังจากติดดอก 21-25 วัน ผลสตรอเบอรี่ระยะแรกจะมีสีเขียว และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวปนหวาน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร

สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลการปลูกสตรอเบอรี่ สามารถสอบถามที่ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. (02) 955-1555 หากต้องการลิ้มรสความอร่อยของน้ำสตรอเบอรี่ปั่นของคุณมนัส พงษ์ธนดล สอบถามเส้นทางที่ โทร. (084) 548-2827




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:10:46 น.   
Counter : 1596 Pageviews.  


เห็ดยานางิ ตลาดผู้บริโภคยังดี ราคาสูง พิทยา เจียมประเสริฐ ผลิตก้อนป้อนผู้เลี้ยง ขายดอก

มนตรี แสนสุข



เห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีตลาดผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดี กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง สนนราคาของเห็ดปัจจุบันดี ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของเกษตรกรที่สนใจในเรื่องของการเพาะเห็ด และผู้ที่กำลังเพาะเห็ดอยู่แล้ว

คุณพิทยา เจียมประเสริฐ เกษตรกรหนุ่มคนเก่ง แห่งบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิด "พิทยาฟาร์ม" จำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น และก้อนเห็ดอีกหลายๆ ชนิด หลังจากที่ประสบความล้มเหลวกับการทำฟาร์มไก่ไข่ เมื่อต้องเจอกับวิกฤตไข้หวัดนกระบาด เป็นเหตุให้กิจการฟาร์มไก่ต้องล้มไปอย่างไม่เป็นกระบวน

ในเนื้อที่ 14 ไร่ กับโรงเรือนอีแว้ปที่เลี้ยงไก่ หลายโรงเรือนถูกทิ้งร้างเมื่อไข้หวัดนกมาเยือน คุณพิทยาเป็นงงอยู่นาน ที่สุดก็หันมามองการทำธุรกิจเกี่ยวกับเห็ด คุณพิทยามองไปที่การทำก้อนเชื้อเห็ดออกขายเป็นหลัก ส่วนการเพาะเก็บดอกเห็ดเป็นอาชีพรอง ใช้โรงเรือนอีแว้ปที่มีอยู่นำมาทำเป็นโรงบ่มก้อนเชื้อเห็ด ซึ่งใช้ได้ดีกับเห็ดยานางิ ในพื้นที่ 14 ไร่ จัดระบบใหม่ แบ่งพื้นที่ทำโรงเรือนเพาะเห็ด 5 ไร่ ที่เหลือทำบ่อปลาเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน และปลาอื่นๆ เท่าที่จะหามาเลี้ยงได้ เน้นปลากินพืชเป็นหลัก

สำหรับเห็ดที่ทำก้อนเชื้อและเพาะ ก็มีเห็ดยานางิ เห็ดเป๋าฮื้อญี่ปุ่น เห็ดหูหนู เห็ดฮังการี และเห็ดขอนดำ-ขอนขาว ในกระบวนเห็ดที่ทำก้อนเชื้อทั้งหมด เห็ดยานางิมีราคาดีกว่าเพื่อน

ปัญหาเรื่องแรงงานกับการเพาะและทำก้อนเชื้อเห็ด คุณพิทยาบอกว่า เห็ดยานางิมีลักษณะพิเศษกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ คือ จะออกดอกเป็นรุ่น รุ่นหนึ่งจะออกครั้งเดียว พอเก็บดอกหมดก็จะต้องหยุดพักก้อนไปอีก 20 วัน หลังจากนั้น เห็ดก็จะให้ดอกชุดใหม่ออกมาอีก ช่วงที่ออกดอกสามารถเก็บดอกได้ทุก 4 ชั่วโมง หรือจะทยอยเก็บไปเรื่อยๆ คือ 2 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมงครึ่ง แล้วแต่เจ้าของฟาร์มจะจัดสรรเวลาเก็บดอกเห็ดให้ดีๆ ใน 1-2 วันแรก เห็ดจะค่อยๆ ทยอยออกดอกมาให้เก็บ ระยะนี้ยังพอเก็บคนเดียวหรือสองคนได้ แต่พอเข้าวันที่ 3-4-5 เห็ดจะออกดอกมากสุด ถึงตอนนี้ต้องระดมกันเข้าไปเก็บดอกให้ทัน ไม่เช่นนั้นดอกจะบานเสียหายได้ พอหลังจากเก็บดอกชุดใหญ่หมด ก็จะมีดอกเห็ดค่อยๆ ทยอยออกมาให้เก็บ แต่ก็ไม่มากนัก จนถึง 70 วัน ดอกก็จะหมด เมื่อดอกหมดก็ต้องหยุดพักคอยสเปรย์น้ำ เห็ดจะพักอยู่ 20 วัน จึงจะให้ดอกชุดใหม่ออกมาอีก นี่คือวงจรของเห็ดยานางิกับการเก็บเกี่ยว ฉะนั้นเกษตรกรถ้าจัดตารางเวลาการเก็บดอกเห็ดให้ดีๆ ก็จะไม่มีปัญหาในการเก็บผลผลิตดอกเห็ดออกจำหน่าย

คุณพิทยา บอกว่า 1 โรงเรือน จะมีก้อนเห็ด 5,000 ก้อน แรงงานเก็บดอกเห็ดใช้ 2 คนก็พอ แรกๆ เก็บไปตั้งแต่ 4-5 ทุ่มรอบหนึ่ง จากนั้นก็ไปเก็บดอกตอนตี 5 อีกรอบ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการแรงงานเก็บดอก เมื่อเก็บเอาดอกออกมาก็ต้องมาเอาขี้เลื่อยออกจากดอกให้หมด แล้วก็เป่าดอกเห็ดด้วยพัดลมให้ดอกแห้งไม่มีความชื้น ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการบานของดอกเห็ด ดอกเห็ดที่กลีบดอกมีความชื้นจะบานเร็วมาก พอดอกบานก็เสียราคา ฉะนั้นเมื่อเก็บดอกออกมาแล้วต้องเป่าให้แห้งทันที พอกลีบดอกแห้งก็บรรจุถุงพลาสติคจะเป็นถุงร้อน ถุงเย็น หรือกล่องโฟมก็ได้ ไล่อากาศในถุงออกด้วย จะทำให้ดอกบานช้าออกไปอีก

คุณพิทยากล่าวว่า ดอกเห็ดถ้าไม่รีบเป่าให้แห้ง ไม่ช้าดอกเห็ดกลีบดอกจะหลุดและบาน ทำให้เสียราคา เมื่อทำให้แห้ง บรรจุถุงแล้วนำเข้าแช่ในตู้เย็นสามารถเก็บรักษาดอกตูมไว้ได้ถึง 10 วัน เห็ดยานางิเก็บดอกส่งขาย ตลาดรับซื้ออยู่ที่ 150-200 บาท หากจะทำส่งตลาดลูกค้าประจำ เกษตรกรต้องทำหลายโรงเรือน หรือไม่ก็รวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อนบ้านทำเห็ดชนิดเดียวกัน แล้วบริหารเรื่องเวลาการเปิดดอกเห็ด เพื่อให้มีดอกเห็ดให้เก็บทุกวัน สามารถป้อนตลาดลูกค้าได้ไม่ขาด วิธีนี้จะได้ลูกค้าขาประจำแน่นอน หากจะทำรายเดียวและให้มีเห็ดเก็บได้ตลอด ต้องทำถึง 4 โรงเรือน แล้วเปิดดอกทุกสัปดาห์ ก็จะมีดอกเห็ดทยอยให้เก็บได้ทุกวัน

สำหรับเกษตรกรสนใจจะโดดเข้าสู่การเพาะเห็ดขายบ้าง ต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างโรงเรือน คุณพิทยาแนะนำว่า โรงเรือนขนาดมาตรฐานประมาณ กว้าง 5 เมตร สูง 11 เมตร โรงเรือนแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มไม้นั้นได้ร่มเงาอยู่แล้ว หลังคาควรใช้ซาแรนจะประหยัดได้มาก ตัวฝาโรงเรือนโดยรอบใช้หญ้าแฝก ส่วนโรงเรือนกลางแจ้งใช้แฝกมุงเป็นหลังคาพราะต้องป้องกันความร้อนจากแสงแดด ในเรือนต้องให้เย็น การควบคุมป้องกันความร้อนจากภายนอกก็ต้องมี เมื่อทำโรงเรือนเรียบร้อยก็ต้องทำชั้นวางก้อนเชื้อเห็ดภายในโรงเรือน ชั้นนั้นควรใช้อิฐบล็อคจะดีกว่า ชั้นหนึ่งสูง 4 เมตร ใช้อิฐบล็อคราว 28 ก้อน ทำทั้งหมด 3 ล็อค ติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ใช้หัวสเปรย์น้ำชนิดฝอย วางหัวสเปรย์น้ำให้ทั่วโรงเรือน

เมื่อเตรียมโรงเรือนพร้อม ก็นำก้อนเชื้อเห็ดที่เชื้อเดินเต็มก้อนแล้ว มาวางเรียงกันบนชั้นในโรงเรือน จากนั้นก็เปิดจุกที่หัวก้อนเชื้อออก เขี่ยเมล็ดธัญพืชที่ปากก้อนเชื้อเห็ดออก เก็บเศษที่เขี่ยออกมาให้ดีอย่าให้ตกกระจัดกระจาย แล้วนำออกจากโรงเรือนเอาไปทำลายไกลๆ โรงเรือนเลย พอเขี่ยเมล็ดธัญพืชแล้วก็ให้น้ำสเปรย์ให้ทั่วโรงเรือน

การให้น้ำต้องดูอากาศด้วย ถ้าอากาศร้อนให้น้ำ 1-2 ชั่วโมง ต่อครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 นาที หากเป็นหน้าฝนอากาศชื้น ห่างการให้น้ำต้องปรับตามสภาพอากาศไม่มีกฎตายตัว

หลังจากให้น้ำถัดไปประมาณ 3-4 วัน จะเกิดเป็นฝ้าและมีเม็ดไข่ปลาเล็กๆ ให้เห็นที่ปากก้อนเชื้อเห็ด จากนั้นอีก 2 วัน เห็ดเล็กๆ ก็จะโตสามารถเก็บได้ ให้ทยอยเก็บดอกตูมที่โตเต็มที่ไปเรื่อยๆ นับจากวันแรกที่เก็บดอกเห็ดไป 10 วัน เห็ดก็จะไม่เจริญเติบโตให้เก็บ ถึงตอนนี้ก็ต้องพักการเก็บ เรียกว่า "พักก้อน" ใช้ระยะเวลาพักก้อน 20 วัน เห็ดก็จะออกดอกมาให้เก็บอีก เป็นเช่นนี้ไปจนกระทั่งเชื้อเห็ดในก้อนหมดก็ต้องเลิก เปิดโรงเรือนเอาก้อนเชื้อออกทิ้ง ทำความสะอาดโรงเรือนให้ดี ฆ่าเชื้อรา เชื้อโรคต่างๆ ให้หมด แล้วจึงนำเอาก้อนเห็ดชุดใหม่เข้ามาวางเรียงเป็นการทำเห็ดในรุ่นที่ 2

สำหรับการทำก้อนเชื้อเห็ดเองนั้น ถ้าเป็นเกษตรกรมือใหม่หัดขับไม่แนะนำให้ทำเอง ควรซื้อก้อนเห็ดมาเปิดเก็บดอกจะดีกว่า แต่สำหรับรายที่เพาะเห็ดจนชำนาญแล้ว อยากจะทำก้อนเชื้อดูบ้าง คุณพิทยาแนะนำว่า การทำก้อนเชื้อเห็ดเองนั้นสามารถทำแล้วเพาะเก็บดอกเห็ดขายเองได้ ประหยัดต้นทุนในส่วนของการซื้อก้อนเห็ดมาเก็บดอก อัตราก้อนเชื้อเห็ดอยู่ที่ราว 8-10 บาท

วิธีการทำก้อนเชื้อเห็ดนั้น ต้องหาวัตถุดิบคือขี้เลื่อย ที่ "พิทยาฟาร์ม" สั่งซื้อขี้เลื่อยยางพารามาจากทางภาคใต้ ขายกันเป็นรถสิบล้อ เที่ยวหนึ่งๆ ราคาเกือบสองหมื่นบาท เมื่อได้ขี้เลื่อยมาถึงก็ให้กองขี้เลื่อยตากแดดเอาไว้ จากนั้นก็หาสปริงเกลอร์น้ำมารดกองขี้เลื่อยให้ชุ่ม วางสปริงเกลอร์บนยอดกองขี้เลื่อยนั่นแหละเหมาะสมที่สุด สเปรย์น้ำให้กองเปียกชุ่มชื้นตลอด ใช้เวลา 2 สัปดาห์ จะได้ขี้เลื่อยหมักจนชุ่มสามารถนำมาบรรจุถุงได้แล้ว

เมื่อขี้เลื่อยเปียกชื้นดี ก่อนบรรจุถุงก็ให้ผสมขี้เลื่อย รำละเอียด ปูนขาว ดีเกลือ และน้ำเข้าด้วยกัน ใช้อัตราส่วน

ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม

รำละเอียด 5-7 กิโลกรัม

ปูนขาว 1 กิโลกรัม

ดีเกลือ 2 ขีด

คอยพรมน้ำขณะคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ต้องให้ชุ่มชื้นพอสมควรจึงบรรจุลงถุงพลาสติคขนาด 6x12 เป็นถุงร้อน แล้วก็นำถุงก้อนเห็ดไปนึ่งในตู้นึ่งฆ่าเชื้อก้อนเห็ด หลังจากนึ่งในอุณหภูมิเกิน 100 องศาเรียบร้อยแล้ว นึ่งประมาณ 4 ชั่วโมง ก็ให้เอาออกมาทิ้งไว้ให้ก้อนเห็ดเย็น พอก้อนเห็ดเย็นลงแล้ว คราวนี้ก็เอาหัวเชื้อเห็ดไว้ในโรงเรือนระบบปิด ประมาณ 2 เดือน เชื้อจึงจะเดินเต็มที่

เมื่อบ่มจนเชื้อเห็ดที่เป็นเส้นใยขาวๆ ในก้อนเต็มดีแล้ว ก็นำก้อนไปวางเรียงในโรงเรือนเปิดดอก สเปรย์น้ำให้ชุ่ม ทำการเปิดดอก ไม่ช้าก็จะได้เก็บดอกเห็ดเสร็จสมอารมณ์หมาย

การเพาะเห็ดจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น คุณพิทยา บอกว่า อยู่ที่หลัก 3 ประการ คือ 1. ก้อนเชื้อเห็ดต้องคุณภาพดี 2. ต้องมีการจัดการในโรงเรือนที่ดี และ 3. การตลาดดี ถ้าได้ "ดี" ทั้ง 3 อย่างนี้ รับรองประสบความสำเร็จแน่ ปัจจุบัน "พิทยาฟาร์ม" ทำก้อนเชื้อเห็ดจำหน่าย เจ้าตัวบอกว่าเห็ดยานางิทำค่อนข้างยาก ไม่ค่อยมีใครทำก้อนเชื้อกัน

ผู้ใดสนใจลองโทร.ไปคุยกับคุณพิทยาดูก็ได้ที่เบอร์ (087) 933-7458 และ (089) 799-0325 เชิญครับผม




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:09:37 น.   
Counter : 5395 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com