happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
13 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
ม่านน้ำตา




//www.4shared.com/audio/tuf3is2C/154-_.htm




ม่านน้ำตา
เนื้อร้อง ชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง สมาน กาญจนผลิน

โศกระกำช้ำเกินจะข่ม
ต้องซมซานในม่านน้ำตาแห่งกรรม
แม้เมฆฝนเบื้องบนนภาคล้อยต่ำ
ยังเหลียวมองความช้ำหลั่งน้ำทิพย์มา

ระคนน้ำตาฉันมีบาปอันใดทำลายใจกัน
ไม่รู้กี่วันจะผ่านพ้นไป
เหนื่อยใจนักเพราะรักมาหน่าย
ไม่วายตรมจึงโศกระทมจิตใจ

หรือเทพบนฟ้าเสกสรรค์น้ำตามาให้
จึงระทมหมองไหม้หวั่นไหวเช้าเย็น
ฉันจึงใช้เวรในม่านน้ำตา
ลาก่อนชีวี ลาทีชีวา ความช้ำอุราลาแล้วเจ้าเอย





เฉียดคุกครั้งแรก (๒๔๙๔)


ความรักความหวานของชีวิตลงตัว แต่ความตื่นเต้นใหม่ๆกำลังก้าวย่างเข้ามาในชีวิตเพ็ญศรี ไม่ได้อยู่กับหนุ่มหล่อ มาดนักประพันธ์ผู้โด่งดังเท่านั้น หากเธอยังอยู่กับนักอุดมคติคนจริงคนหนึ่งของแผ่นดิน เป็นคนจริงผู้พร้อมที่จะร่วมชะตากรรมกับประชาชน คุณเพ็ญศรีจึงค่อยๆ เรียนรู้อยู่แก่ใจคนเดียวเงียบๆ ว่าเธอไม่ได้เพียงแต่คุณสุวัฒน์ วรดิลกมาร่วมชีวิตเท่านั้น หากได้แบกรับเอาสังคมและบ้านเมืองที่มีชะตากรรมของประชาชนมาร่วมชีวิตด้วย

ปี ๒๔๙๕ คุณสุวัฒน์เป็นหนึ่งในกบฏสันติภาพ

“ตอนนั้นเป็นช่วงที่องค์การสันติภาพสากลสต๊อคโฮล์มแห่งประเทศสวีเดน ได้เผยแพร่เอกสารเรียกร้องให้คนลงชื่อใน ๓ ข้อ คือหนึ่ง ต่อต้านการใช้อาวุธปรมาณูทุกรูปแบบ สองต่อต้านสงครามทุกรูปแบบ และสาม ให้ประณามผู้ก่อสงครามเป็นอาชญากร ทางฝ่ายไทยก็มีการขานรับโดยการตั้งคณะกรรมการสันติภาพขึ้น โดยมีคุณสุวัฒน์ วรดิลกเป็นหนึ่งในกรรมการ มีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์หรือศรีบูรพา เป็นรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการสันติภาพ ฝ่ายไทยก็ได้เพิ่มข้อความอีก ๑ ข้อคือ คัดค้านสงครามเกาหลี”

เดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๔ เป็นเดือนที่คุณเพ็ญศรีจำได้ไม่มีวันลืมเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ตื่นเต้นของชีวิตคู่

คุณสุวัฒน์เล่าให้ฟังเป็นการปูพื้นว่า “ตอนนั้นนักศึกษาธรรมศาสตร์กับคณะกรรมการสันติภาพจัดงานคืนสู่เหย้า ในกรณีที่สามารถยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คืนมาจากการยึดครองของทหาร (ที่อ้างการปราบปราบกบฏแมนฮัตตัน) ได้สำเร็จ ก็มีการจัดละครขึ้น ผมเป็นคนเขียนเรื่องชื่อ “ผิดแผ่นดิน” มีโจ๊ว ไปช่วยร้องเพลงแทนนางเอก ละครแสดงวันที่ ๕ พฤศจิกายน พอวันที่ ๑o พฤศจิกายนก็ถูกจับ เขาเรียกว่าจับกบฏสันติภาพ

ช่วงนั้นสองสามีภรรยาเช่าบ้านไม้หลังเล็กๆ อยู่ที่ฝั่งธนฯ ตอนที่ตำรวจมาจับตัวคุณสุวัฒน์ไปนั้นเป็นเวลาประมาณสองทุ่มเศษ

“กำลังกินเหล้ากันอยู่...” คุณสุวัฒน์ว่า “เขามาเอาตัวไปสอบที่สันติบาล”

คุณเพ็ญศรียืนมองตำรวจจับสามีไปด้วยความระทึกใจ นี่เป็นก้าวใหม่ของการเรียนรู้จักสามีนักประพันธ์ของเธออีกขั้นหนึ่ง ชีวิตของเขา อุดมการณ์ของเขา มันทำให้เธดต้องเผชิญกับความตื่นเต้นของชีวิตไม่ขาดสาย เธอกินเหล้าไม่ลง ทำอะไรไม่ได้ เอาแต่ยืนมองออกไปนอกหน้าต่าง เขาจะเป็นอย่างไรบ้าง ตำรวจจะทำอะไรกับเขา เขาถูกจับด้วยข้อหาอะไร โทษจะร้ายแรงปานใด เธอและเขาจะต้องพลัดพรากจากกันหรือไม่ ทั้งหมดวนเวียนอยู่ในความคิด ไม่มีน้ำตาหลั่งรินเพราะความงงงันกับสิ่งที่เกิดขึ้น คุณเพ็ญศรีนั่งคอยสามีอยู่ด้วยความระทึกใจจนกระทั่งตีสามของวันนั้น

“กลับมาเห็นคุณเพ็ญศรีนั่งคอยอยู่...” นั่นเป็นคำบอกเล่าของคุณสุวัฒน์ “ด้วยความดีใจที่เห็นสามีกลับมา...” คุณสุวัฒน์หยุดหัวเราะแล้วหันไปถามใหม่ว่า “หรือว่าเสียใจที่กลับมา”

คุณเพ็ญศรีหัวเราะ ความทุกข์ในชีวิตของคนคู่นี้ผ่อนคลายลงได้เพราะความมีอารมณ์ขันของสามีนั่นเอง



สุวัฒน์ วรดิลก ยิ้มร่าวันฟังศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก
โดยมีเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เดินร้องไห้ตามหลังเมื่อฟังคำตัดสิน






พระราชทานเพลงละร้อย


ชีวิตของเขาทั้งคู่ยังตื่นเต้นต่อไปอีก เมื่อบางวันที่มืดดำของชีวิตแล้วก็มีบางวัน ที่พระอาทิตย์ส่องกระจ่างตา

พ.ศ. ๒๔๙๖ แม้จะออกจากราชการไปแล้วแต่มีวันหนึ่ง ทางกรมโฆษณาการก็ให้คนแจ้งข่าวตามตัวคุณเพ็ญศรีไปร้องเพลงพระราชนิพนธ์ คุณเพ็ญศรีเล่าว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพรราชดำรัสถามคนในกรมโฆษณาการว่า นักร้องที่ร้องเพลงสายฝนหายไปไหน นั่นแหละคนทางกรมจึงได้มาตามไปร้องเพลงพระราชนิพนธ์”

คุณเพ็ญศรีจึงได้บันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์นอกจากสายฝน (วอลซ์และสวิง) แล้วอีก ๔ เพลงคือ ดวงใจกับความรัก เทวาพาคู่ฝัน มหาจุฬาลงกรณ์ ความฝันอันสูงสุด และอาทิตย์อับแสง

ในการบันทึกเสียงครั้งนี้ คุณเพ็ญศรีได้รับพระราชทานเงินเพลงละ ๑oo บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากอย่างยิ่งในสมัยนั้น





คู่เคียงคู่งาน


ในปี ๒๔๙๘ คุณสุวัฒน์ วรดิลกได้เป็นผู้จัดรายการในสถานีวิทยุทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ คุณเพ็ญศรีจึงได้เป็นนักร้องประจำสถานี

“ไม่ได้ร้องอย่างเดียวนะ” คุณเพ็ญศรีว่า “บางทีได้อ่านข่าวด้วย”

เสียงของคุณเพ็ญศรีเมื่อขึ้นลงเป็นไปตามทำนองเพลงเป็นอย่างไร เป็นที่พอรู้กันอยู่ แต่เสียงเวลาอ่านข่าวแทบไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน

“ทำไมต้องอ่านล่ะคะ” คุณเพ็ญศรีหัวเราะ

“ก็สามีเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการนี่ ใครขาดเขาก็เอาเราใส่เข้าไป”

นับว่าเป็นสามีภรรยาคู่ฝันโดยแท้ เพราะเคียงคู่กันไม่ได้ห่างหายแม้แต่งานเดียว

คุณสุวัฒน์เป็นฝ่ายจัดรายการ สถานีวิทยุทหารอากาศอยู่ ๒ ปีก็ลาออกเพราะความเบื่อหน่ายระบบราชการและอื่นๆ ทำให้คุณเพ็ญศรีหมดหน้าที่ตามไปด้วย





คู่ยากต่างแดน


๒๗ เมษายน ๒๕oo คุณสุวัฒน์ วรดิลกได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนศิลปินไทย นำนักร้องนักดนตรีรวม ๔๘ คนเดินทางไปประเทศสาธารณประชาชนจีน โดยผ่านทางฮ่องกง ในจำนวน ๔๘ ชีวิตนี้แน่นอนที่สุดย่อมต้องมี “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” รวมอยู่ด้วยอย่างมิต้องสงสัย และเป็นที่รู้กันว่าคณะศิลปินคณะนี้ ยกเว้นนักแสดงระดับหัวหน้าแล้ว ไม่มีใครรู้ว่า คุณสุวัฒน์จะพาพวกเขาข้ามไปถึงประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นดินแดนต้องห้าม เพราะตอนนั้นยังไม่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ รวมทั้งคุณเพ็ญศรีผู้เป็นภรรยา ซึ่งอยู่ในฝ่ายนักร้องและถือว่าเป็นฝ่ายที่ไม่มีใครเป็นหัวหน้า

เรื่องทีต้องปิดลับอย่างเข้มงวดนี้คุณสุวัฒน์เล่าเองไว้ใน “ใต้ดาวแดง” ว่า

“คืนนั้น ผมนอนไม่ค่อยหลับ เพราะเฝ้าครุ่นคิดภาระใหม่ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนเล็กๆ อย่างผม แต่ผมไม่ยอมปริปากปรารภกับใคร แม้แต่ภรรยาผู้นอนร่วมเตียงเดียวกันทุกคืน” (ใต้ดาวแดว หน้า๔)

เมื่อกลายเป็นว่าการเดินทางของคณะศิลปินไทย กลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ระหว่างสองชนชาติไปแล้ว นักแสดงทุกท่านก็ยินยอมตามคุณสุวัฒน์ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาที่มีอยู่เดิม รวมทั้งคุณเพ็ญศรีที่นอกจากเชื่อมั่นและศรัทธาแล้ว ยังเติมรักและผูกพันเข้าไปอีกจนหมดใจ

ที่เมืองจีนนี่เองคุณเพ็ญศรีเลือกร้องเพลง “หวางสุ่ยเหยว” ที่บรรยายถึงภัยสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่คุกคามแม่น้ำเหลือง ทำให้บ้านแตก สาแหรกขาด พ่อแม่พี่น้องพลัดกัน ซึ่งเป็นเพลงที่เหมาะกับเสียงเธอ ทำให้คนฟังต่างแดนประทับใจยิ่ง

ในข้อเขียน “ใต้ดาวแดง” ของคุณสุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคณะศิลปินไทยตลอดระยะเวลาที่ตระเวนแสดงอยู่สามเดือนในเมืองจีน มีส่วนที่กล่าวถึงเพ็ญศรี พุ่มชูศรีอยู่เพียงเล็กน้อย ตอนแรกที่ร้องเพลง “หวางสุ่ยเหยว” ต่อมาคุณสุวัฒน์อยากให้ไปเป็นแขกพิเศษของท่านประธานเหมา เจ๋อ ตง แต่เกรงคนครหาจึงชวนคุณสุพรรณ บูรณะพิมพ์ไปแทน และท้ายสุดตอนที่ล่ามชื่อสุเพ็ญร่ำไห้กอดคุณสุพรรณและคุณเพ็ญศรี

การที่คุณสุวัฒน์เอ่ยถึงคุณเพ็ญศรีน้อยไม่ได้แปลว่า คุณเพ็ญศรีไม่มีตัวตน ไม่มีความหมาย แต่เป็นเพราะคุณสุวัฒน์รู้อยู่ว่า คุณเพ็ญศรีนั้นไม่มีปัญหาใดๆแน่นอน อีกทั้งยังเป็นมารยาททางการเขียนหนังสือด้วยที่จะไม่เขียนถึงแต่ “คนของตัวเอง” ถึงกระนั้น ทุกบรรทัดที่ได้อ่าน ทุกเรื่องราวที่ได้เล่ามา นักอ่านก็รู้ดีว่ามีคนหนึ่งที่แม้คุณสุวัฒน์ไม่เอ่ยถึง คนคนนั้นคือเพ็ญศรี พุ่มชูศรี

คุณเพ็ญศรีในช่วงนั้นยังเยาว์วัยและยังเต็มไปด้วยอารมณ์ หลายครั้งจึงอดไม่ได้ที่จะน้อยใจคุณสุวัฒน์ที่ดูราวกับว่าไม่สนใจเธอ แต่เมื่ออายุมากขึ้นและมองย้อนหลังกลับไป เธอบอกว่า

“ตอนไปเมืองจีน เรารู้สึกอย่างเดียวว่าเขาเป็นหัวหน้าคณะของเรา ไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหนเราก็อยู่ได้ แต่ตอนนั้นลึกๆแล้วพี่ยังมีอารมณ์ของความไม่ถูกต้อง บางครั้งรู้สึกว่าเขาไม่สนใจเรา เขาไม่แคร์เรา นั่นเป็นเพราะอารมณ์ของคนมีอายุยังน้อย บางครั้งเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้สนใจว่าเราจะทุกข์สุขอย่างไร” (เกิดโตแก่ตาย ๗๒ ปี หน้า ๕๒)

เมื่อเรือที่โดยสารกลับประเทศเข้าเทียบฝั่งที่สีชัง ตำรวจสันติบาลก็ขึ้นมาบนเรือและควบคุมตัวทุกคนไว้ในข้อหา “มีส่วนกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” และภายหลังจึงได้รับการปล่อยตัวแบบมีการประกันตัว อันเป็นนโยบายที่คุณสุวัฒน์เรียกว่า

“จอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านปฏิบัติตามสัญญา สมเป็นชายชาติทหาร แต่ท่านก็ไม่วายรักษาน้ำใจ “อเมริกา” ซึ่งเป็น “ญาติผู้ใหญ่” ด้วยการปล่อยตัวพวกเราแบบมีประกัน” (ใต้ดาวแดง หน้า ๑๔๙)







คู่คุกคู่ยาก


๑๖ กันยายน ๒๕oo บ้านเมืองเข้าสู่การเปลียนแปลงอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์เป็นผู้นำ และต่อมามีการเลือกตั้งทั่วไป จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล การเลือกตั้งครั้งนี้เองที่คุณสุวัฒน์ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย และได้กลายเป็นเป้าของศัตรูใส่ร้ายจนชีวิตเข้าสู่มุมอับสุด เหมือนพระอาทิตย์แห่งชีวิตเข้าสู่ความมืดมน และคนที่เป็นพระจันทร์แห่งชีวิตที่เคียงคู่กันมาก็พลอยมืดมนไปด้วย

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕o๑ เป็นวันที่ศาลประทับรับฟ้องคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ที่คุณสุวัฒน์ วรดิลกและภรรยา คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรีเป็นจำเลย และทั้งสองเดินเข้าสู่เรือนจำพระนครในบ่ายวันเดียวกัน โดยสามีอยู่ “ขัง ๔” ซึ่งเป็นที่คุมขังสำหรับนักโทษคดีเช็ค คดีฉ้อโกงซี่งส่วนใหญ่มีฐานะดี (แม้คุณสุวัฒน์จะต้องคดีการเมืองต้องขังที่ “ขัง ๗” แต่ตอนนั้นยังไม่มีนักโทษคนอื่น ทางเรือนจำจึงไม่ยอมเปิด “ขัง ๗”) และภรรยาอยู่ “ขัง ๘” ซึ่งเป็นที่คุมขังสำหรับนักโทษหญิงเท่านั้น

เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งแรกของชีวิต ทำให้คุณเพ็ญศรีเข้าใจความขึ้นลงของชีวิตมากขึ้น การยืนอยู่บนเวทีต่อหน้าผู้คนนับร้อยที่มีสายตาทุกสายตาเต็มไปด้วยแววศรัทธาแลเปี่ยมสุข ย่อมต่างกันราวฟ้ากับดินเมื่อต้องมายืนอยู่ท่ามกลางผู้ต้องขังนับร้อยที่ทุกสายตาเต็มไปด้วยความสงสัยและแคลงใจ
“เพ็ญศรี พุ่มชูศรีหรือ”
“ใช่หรือ”
เป็นเสียงที่เธอได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นการตอกย้ำบอกตัวเองย้อนกลับไปมาว่า ใช่แล้วหรือ เธอคือเพ็ญศรี พุ่มชูศรีที่มีคนรู้จักเสียงไปทั่วประเทศนั้นแหละ

หลายครั้ง “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จึงต้องใช้เสียงในสถานที่แห่งใหม่นี้ เพื่อความสุขของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีทุกข์ไม่แพ้เธอ และเพื่อเจ้าหน้าที่สำหรับมิตรภาพที่จะตอบแทนกลับมา

การพิจารณาคดีดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในเวลาปีเศษๆของการถูกคุมขัง ศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษา คุณสุวัฒน์เล่าไว้ใน “คนสองคุก” ว่า

“ระยะนั้น ศาลชั้นต้นให้จำคุกผมสามปี ปล่อยเพ็ญศรีพ้นข้อหาไป ทำให้ผมหายห่วง เพระอยู่คนเดียวสบายใจกว่าสองคน” (คนสองคุก หน้า ๒o๔)





คนเดียวเดียวดาย


วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาปล่อยตัว “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” แทบไม่ต้องถามว่าคุณเพ็ญศรีรู้สึกอย่างไร แม้จะมีความสุขแค่ไหนที่ได้รับการปล่อยตัว แต่เมื่อสามียังต้องติดคุกอยู่ต่อไป คุณเพ็ญศรีก็แทบจะไม่รับรู้ว่า “สุข” ที่ได้จากการปล่อยตัวนั้นคืออะไร เธอกลับไปบ้านแบบคนวังเวงใจ ไร้ความรู้สึกที่แท้จริงในชีวิต เพราะทั้งหมดนั้นได้ฝากไว้กับคุณสุวัฒน์ คู่ชีวิตที่ยังทุกข์หนักหนาสาหัสอยู่

นอกจากใช้น้ำตาเป็นเพื่อนแล้ว หนทางเดียวที่เธดทำได้ก็คือ การส่งข้าวส่งน้ำและไปเยี่ยมเยียนคุณสุวัฒน์สม่ำเสมอ

“คุณสุวัฒน์ชอบกินพริกขิง พริกตำแหลกใส่กระเทียมผัดกับกากหมู ของโปรดของเขาเลยทีเดียว” คุณเพ็ญศรีเล่า





กำแพงติดกัน


พระเจ้าก็คงไม่ชอบเท่าไหร่ที่แยกคนที่รักกันออกห่างจากกัน พระองค์ต้องการที่จะทดสอบความอดทนในความรักของเขาทั้งตู่อีกครั้ง

ในวันที่ ๒o ตุลาคม ๒๕o๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ปฏิวัติรัฐประหารแบบล้มสถาบันการเมืองที่มีอยู่ขณะนั้นโดยสิ้นเชิง และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร

คุณสุวัฒน์บอกว่า “จอมพลสฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกรรัฐมนตรีเสียเอง โดยมีนักปราชญ์ประจำตัวผู้เผด็จการทุกยุคเป็นคู่คิด คือหลวงวิจิตรวาทการ ประกาศเทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างผิดสังเกต พวกเราเริ่มใจคอไม่ดี และก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำคุกผมและคุณเพ็ญศรีคนละ ๕ ปี” (คนสองคุก หน้า ๒o๔)

การกลับเข้ามาอีกครั้งของคุณเพ็ญศรีเป็นการกลับเข้ามาอย่าง “คู่คุก” อย่างแท้จริง เพราะคุณสุวัฒน์ถูกย้ายมาอยู่ “ขัง ๗” และคุณเพ็ญศรีอยู่ “ขัง ๘” ซึ่งมีกำแพงติดกัน คุณสุวัฒน์บอกว่า

“ภาระตั้งต้นกับผมใหม่อีกครั้ง ปิ่นโตเถาเดียวกลายเป็น ๒ เถา การกลับมา “ขัง ๘” ใหม่สำหรับเพ็ญศรีซึ่งเคยเข้ามอยู่แล้ว ไม่สู้จะทำให้เธอเสียขวัญเท่าใดนัก กลับแสดงความยินดีที่ทราบว่า “ขัง ๗” กับ “ขัง ๘” อยู่ติดกันเพียงชั่วกำแพงสูงใหญ่กั้นอยู่เท่านั้น เราติดต่อกันสะดวกกว่าครั้งที่ผมอยู่ที่ “ขัง ๔” (คนสองคุก หน้า ๒o๔)

ไม่ใช่ว่าการกลับมาครั้งนี้ของคุณเพ็ญศรีไม่ “เสียขวัญ” เท่านั้น เธอยัง “ได้ขวัญ” กลับคืนมาด้วย อย่างน้อยที่สุดเธอก็รู้สึกว่า เธอไม่ได้ออกไปเป็นอิสระสุขกายสบายใจอยู่คนเดียวเหมือนที่ผ่านมา เธอได้กลับมาทำหน้าที่ของคู่ชีวิตที่เคียงคู่กันทุกอย่างในชีวิตแล้ว นั่นคือ มีสุข สุขด้วย และเมื่อมีทุกข์เธอจึงยินดีที่จะทุกข์ด้วยอย่างเต็มใจ





คุณครูเพ็ญศรี


การกลับมาเรือนจำอีกครั้งนี้คุณเพ็ญศรีลดภาระหน้าที่ด้านการใช้เสียงกล่อมใจลงไปโดยอัตโนมัติ และได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่มาทดแทน

ในเรือนจำมีพวกญวนที่ขอกลับไปเวียดนามเหนือถูกคุมขังอยู่เป็นจำนวนมาก หญิงญวนจำนวนเกือบ ๕o คน ขอให้คุณเพ็ญศรีสอนภาษาไทยให้พวกเขา และทางเรือนจำอนุญาต คุณเพ็ญศรีจึงได้ทำหน้าที่ “ครู” อย่างสมบูรณ์ใน “ขัง ๘” ในขณะเดียวกัน ความใฝ่รู้เธอก็ได้สมัครเข้าฝึกวิชาพยาบาล จนสามารถคักษาคนป่วยไข้ด้วยการฉีดยาเข้าเส้นและกล้ามเนื้อได้ ตลอดจนฝึกวิชาปฐมพยาบาลด้วย คุณสุวัฒน์บอกว่า

“นับว่าเธอได้ใช้ชีวิตอยู่ในคุกอย่างมีประโยชน์ยิ่งกว่าผมซะอีก วันหนึ่งๆ เวลาจึงผ่านเธอไปอย่างไม่รู้ตัว เพราะแต่ละวันเธอมุ่งการสอนและพยาบาลคนไข้” (คนสองคุก หน้า ๒o๕)

คุณเพ็ญศรีเป็นที่รักของนายตำรวจที่คุมขังอยู่ใน “ขัง ๗” ตลอดเวลา ใครมีขนมนมเนยพิเศษก็ฝากไปให้เธอก่อนเสมอ โดยเฉพาะ “เฮียชิต” เมื่อสั่งอาหารพิเศษจากนอกคุกมาเลี้ยงดูกัน เฮียชิตต้องตะโกนบอกผมก่อนเสมอว่า “แบ่งไปให้โจ๊วหรือยัง” (คนสองคุก หน้า๒o๕ – ๒o๖)





อันเป็นที่สุด


ต่อมา “ขัง ๘” มีผู้ต้องขังล้น มีการปรับเปลี่ยน “ขัง ๗” เป็นที่คุมขังเพิ่มเติม และผู้ต้องขังส่วนหนึ่งจะต้องโยกย้ายไปอยู่คุกลาดยาว ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง คุณเพ็ญศรีสมัครใจขอย้ายมาอยู่ลาดยาวด้วย แต่แยกเป็นที่คุมขังหญิงภายในกำแพงล้อมของคุกลาดยาว เธออยู่ในคุกหญิงลาดยาวได้เพียง ๒ คืน ก็มีคำสั่งศาลฎีกาให้ผู้ต้องหาทั้งสองคนไปฟังคำพิพากษา

เวลาบ่ายของวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕o๔ ศาลฎีกาพิพากษายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุกคุณสุวัฒน์ วรดิลก ๕ ปี ในขณะที่ปล่อยตัวเพ็ญศรีพ้นข้อหาไป

คนคู่คุกกำลังจะไม่คู่กัน แต่คุณสุวัฒน์ผู้ยังต้อง “คู่คุก” ต่อไปก็ดีใจเหลือหลาย เขาเขียนเอาไว้ว่า

“ผมดีใจยิ่งกว่าตัวเองได้รับอิสรภาพเสียอีก เพราะจะได้ไม่ต้องห่วงใยเธอต่อไป ชีวิตภายนอกคุกสำหรับเธอคงไม่ยากลำบากหรือมีปัญหาอะไรอีก เพราะผมมีรายได้จากการเขียนละครวิทยุและที.วี.เป็นประจำอยู่แล้ว ดีเสียอีกที่เธอจะได้แบ่งภาระจากจีรวรรณ น้องสาวของผมซึ่งต้องทำงานและเรียนพร้อมกันไปอยู่ขณะนั้น” (คนสองคุก หน้า๒๔๔)





บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 13 มีนาคม 2551
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 21:34:26 น. 0 comments
Counter : 3157 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.