The Day I Became a Woman ‘ผ้าคลุมศีรษะ’สตรีอิหร่าน ตามสายตาตะวันตก



The Day I Became a Woman
‘ผ้าคลุมศีรษะ’สตรีอิหร่าน
ตามสายตาตะวันตก

- พล พะยาบ -

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 8, 15, 22 พฤษภาคม 2548



(1)

พร้อมกับการเติบโตของลัทธิเฟมินิสม์ สิทธิของสตรีชาวอิหร่านมักจะถูกหยิกยกมาพูดถึงเสมอในฐานะที่เป็นหนึ่งในตัวอย่าง “ด้านลบ” อันชัดเจนที่สุด

นับตั้งแต่เปอร์เซียยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม เรื่อยมาจนถึงยุคระบอบชาห์ที่เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก และหลังการปฏิวัติโดย อยาตอลลาห์ โคไมนี จนกลายเป็นรัฐอิสลามจารีตนิยมในปี 1979 สตรีเปอร์เซียนชาวอิหร่านยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎข้อห้ามมากมาย อาทิ ต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อนเดินทาง ห้ามพูดคุยสนิทสนมกับชายที่ไม่ใช่สามี หากขึ้นรถโดยสารสาธารณะก็ต้องนั่งด้านหลัง

ยังไม่พูดถึงการสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า “ฮิญาบ” และ “ชาดอว์” ชุดสีดำสนิทที่คลุมจากหัวจรดเท้า อันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการจำกัดสิทธิสตรี และเป็นภาพความล้าหลังในสายตาของชาวตะวันตก

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว นี่คือวัฒนธรรมของคนเชื้อชาติหนึ่งที่แตกต่างออกไปเท่านั้น

สภาพแท้จริงของผู้หญิงภายในสังคมอิหร่านจะเป็นเช่นไรก็ตาม ภาพที่สะท้อนออกมาสู่สังคมภายนอกได้ก่อเกิดทัศนคติต่อต้านตามแบบ “เสรีนิยม” ของชาวตะวันตก เมื่อผนวกกับเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาที่ผันผวนไปในทางลบ นับแต่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ มาจนถึงการประกาศว่าอิหร่านเป็นหนึ่งใน “อักษะแห่งความชั่วร้าย” โดยประธานาธิบดีบุช จูเนียร์

อิหร่านจึงเป็นผู้ร้ายอย่างมั่นคงเสมอมา

ดังนั้น ใครมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับอิหร่าน โดยเฉพาะหากเป็นคนอิหร่านเองด้วยแล้ว แม้เป็นเรื่องสังคม-วัฒนธรรมจะได้รับโอกาสให้ “พูดเสียงดัง” ในเวทีโลก ดังกรณีของ ชิริน เอบาดี สตรีนักกฎหมายชาวอิหร่านซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2003 จากการพยายามต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมกันทางกฎหมายให้เพื่อนหญิงร่วมชาติ

ภาพสะท้อนดังกล่าวเกิดขึ้นในวงการหนังด้วยเช่นกัน


นอกจากจารีตประเพณีอันเคร่งครัดจนร้อยรัดวิถีชีวิตชาวอิหร่านทั้งชายและหญิงแล้ว กรอบจารีตยังแปรมาเป็นกฎเซ็นเซอร์ยิบย่อยให้คนทำหนังชาวอิหร่านต้องปฏิบัติตาม

กฎหมายฉบับหนึ่งที่ออกมาหลังปฏิวัติอิสลามแบ่งการเซ็นเซอร์ไว้ถึง 4 ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนพิจารณาบทหนัง รายชื่อทีมงาน ขั้นพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเมื่อหนังสร้างเสร็จ หรือจะ “แบน” หนังเรื่องนั้นก็ได้ จนถึงขั้นสุดท้ายคือการจัดเรตเอ-บี-ซี เพื่อจำกัดการโฆษณาและการฉาย

การเซ็นเซอร์ดังกล่าวทำให้คนทำหนังแดนเปอร์เซียที่ต้องการแสดงออกทางความคิดต่อสภาพสังคมของตน หาทางออกด้วยการใช้สัญลักษณ์หรือเนื้อหาที่สื่อนัยยะแทนเพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ งานสร้างสรรค์กลั่นกรองด้วยวิธีคิดอันละเอียดอ่อนนี่เอง เป็นที่มาของคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ผู้ก้าวพ้นพรมแดนปิดสู่โลกกว้างระลอกแล้วระลอกเล่า

นับแต่ อับบาส เคียรอสตามี เบิกทางให้โลกรู้จักหนังอิหร่านด้วยหนังอย่าง Where is My Friend’s Home(1987) Homework(1990) จนมาถึงคลื่นลูกต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็น โมห์เซน มัคห์มัลบาฟ ที่มีงานเด่นอย่าง A Moment of Innocence(1996) และ Gabbeh(1996) จาฟาร์ พานาฮี กับ The Mirror(1997) และ The Circle(2000) หรือที่เป็นขวัญใจนักดูหนังบ้านเราอย่าง Children of Heaven(1997) ของ มาจ์อิด มาจ์อีดี

ผลงานส่วนใหญ่ของคนทำหนังเหล่านี้ ถ้าไม่เป็นเรื่องของตัวละครเด็กก็จะเกี่ยวกับวิถีชีวิตของหญิงอิหร่าน การใช้ตัวละครเด็กถูกตีความว่าเด็กคือวัยที่มีอิสระในสังคม ไม่ถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์มากมาย หรืออาจเป็นการแอบประชดประเทียดกองเซ็นเซอร์ของผู้สร้างหนังว่าตนเองเป็น “เด็กดี-ไร้เดียงสา”

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับตัวละครผู้หญิง สามารถมองเห็นนัยยะวิพากษ์สภาพความเป็นผู้หญิงในสังคมอิหร่านที่ต้องมีสถานะต่ำกว่าผู้ชายตลอดชีวิต โดยไม่ต้องตีความซับซ้อนแต่อย่างใด


หนังอิหร่านทั้ง 2 แบบเมื่อออกมาเป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติ จึงเท่ากับเป็นการสื่อสารท่าที “ไม่เห็นด้วย” ไปจนถึง “ต่อต้าน” รัฐอิหร่านโดยคนอิหร่านเอง เข้าทางภาพลักษณ์ด้านร้ายที่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐละเลงไว้ตลอดมา

ยิ่งหนังเรื่องไหนโดนแบนในประเทศ ไม่ใช่แค่ “ความดี” ตามแนวทางของหนังเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยังมี “ความชอบ” พ่วงเข้ามาด้วยในฐานะที่เพิ่มภาพร้ายๆ ให้อิหร่าน กระทั่งกลายเป็นคุณสมบัติ “ความกล้า” ของผู้สร้างสำหรับโฆษณาหนังเรื่องนั้นอีกต่อหนึ่ง

ขณะเดียวกัน คนทำหนังชาวอิหร่านเมื่อเห็นว่าหนังที่มีท่าทีวิพากษ์ตนเองมีโอกาสจะประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จึงผลิตหนังลักษณะนี้ตามกันออกมาตามแต่จะสร้างสรรค์เนื้อหาหรือเทคนิควิธีการ แต่ไม่ว่าอย่างไร สารจากหนังเหล่านี้ล้วนแต่ซ้ำเดิม ไม่ได้เพิ่มเติมหรือแปลกใหม่แต่อย่างใด กลายเป็นหนังร้อยเนื้อแนวคิดเดียว จนยากจะแยกออกว่าหนังเรื่องหนึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยทัศนคติด้านสังคมจริงๆ หรือสร้างเพราะรู้ว่าโลกภายนอกต้องการ

กระทั่งลามมาถึงอัฟกานิสถาน ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ถูกสหรัฐบอมบ์ใส่เมื่อไม่นาน มี Osama(2003) หนังวิพากษ์รัฐบาลทาลิบันกับการจำกัดสิทธิสตรี ซึ่งดูแล้วไม่ใช่ประเด็นใหม่ ไม่ได้จุดประกายความคิดหรือเปิดโลกทรรศน์ให้ผู้ชม นอกจากได้เห็นอีกกรณีหนึ่งของผู้ถูกกระทำในโลกมุสลิมที่เคร่งครัด แต่ยังดีเด่นจนได้รับรางวัลที่เมืองคานส์ ลูกโลกทองคำ และอีกหลายเทศกาลในหลายประเทศ

The Day I Became a Woman หนังปี 2000 ของผู้กำกับฯหญิง มาร์ซิเยห์ เมชคีนี ที่หยิบมากล่าวถึงคราวนี้ก็คือผลต่อเนื่องจากปรากฏการณ์เดียวกัน


(2)

มาร์ซิเยห์ เมชคินี คลุกคลีอยู่กับภาพยนตร์มาโดยตลอด เธอเป็นภรรยาของโมห์เซน มัคห์มัลบาฟ ผู้กำกับฯฝีมือดี เรียนในโรงเรียนภาพยนตร์ของโมห์เซน ได้ฝึกมือเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้หนังหลายเรื่องของสามี และของ ซามิรา มัคห์มัลบาฟ บุตรสาว

The Day I Became a Woman เป็นงานกำกับฯเรื่องแรกของเธอ


ในหนังเรื่องนี้ มาร์ซิเยห์ได้นำผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม หรือ “ฮิญาบ” มาใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญ เพื่อสื่อถึง “จุดเริ่มต้น” ที่ผู้หญิงอิหร่านคนหนึ่งต้องถูกพันธนาการทางสังคมไปตลอดชีวิต

ทำไมต้องเป็น “ฮิญาบ”? เพราะสิ่งนี้มีฐานะเป็นสัญลักษณ์ “สากล” ของการจำกัดสิทธิสตรี-สิทธิมนุษยชนในอิหร่านเท่านั้นหรือ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนขอเล่าที่มา-ความหมายของผ้าผืนนี้ในทางสังคมอิหร่านสักเล็กน้อย ย้อนกลับไปปี 1939 อิหร่านกลายเป็นประเทศมุสลิมประเทศแรกที่ห้ามการสวมผ้าคลุมศีรษะตามคำสั่งของ เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี ด้วยนโยบายทำประเทศให้ทันสมัย(ยุคเดียวกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิวัติวัฒนธรรมไทย)

โดยไม่คาดคิด คำสั่งห้ามดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากสตรีชาวอิหร่านส่วนใหญ่ซึ่งยึดมั่นในศาสนาและจารีตดั้งเดิม จนต้องยกเลิกไปในปี 1941

อย่างไรก็ตาม ระบอบชาห์ที่เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก และมุ่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทำให้สังคมอิหร่านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างมากขึ้น คนชนบทอพยพหลั่งไหลสู่เมือง ความวิตกกังวลค่อยๆ ก่อตัว สมทบกับแนวคิดต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านอเมริกัน จนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบชาห์ในที่สุด

ถึงจุดนี้ หญิงอิหร่านไม่ได้สวมฮิญาบ(รวมทั้งชาดอว์ และเครื่องแต่งกายสตรีมุสลิมอื่นๆ) โดยยึดตามจารีตทางศาสนา แต่เพื่อแสดงออกทางการเมืองเป็นหลัก เสมือนว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระจากผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงระหว่างการปฏิวัติอิสลามนำโดย อยาตอลลาห์ โคไมนี กระทั่งประสบความสำเร็จ ขับไล่ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ออกนอกประเทศได้ในปี 1979

แต่แล้วหญิงอิหร่านที่เคยสวมฮิญาบสนับสนุนโคไมนีก็ต้องพบกับความขมขื่นผิดหวัง เมื่อโคไมนีออกคำสั่ง “บังคับ” ให้พวกเธอสวมฮิญาบ โดยถือเป็นหนึ่งในกฎหมายอิสลามที่โคไมนีใช้ปกครองประเทศ

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากโคไมนีซึ่งก่อนหน้านี้ต้องลี้ภัยทางการเมือง หวนคืนสู่บ้านเกิดได้เพียง 1 เดือน และเพียง 1 วัน ก่อนวันสตรีสากล(8 มีนาคม) ซึ่งกลุ่มผู้หญิงอิหร่านเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองการที่พวกเธอร่วมกันแสดงพลังล้มระบอบชาห์ได้สำเร็จ

เมื่อสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยกลายมาเป็นหนึ่งในพันธนาการ มวลชนแห่งงานฉลองจึงแปรเปลี่ยนเป็นปฏิกิริยาตอบโต้โดยฉับพลัน


นี่เองที่เป็นพื้นฐานที่มาของการเรียกร้องสิทธิสตรีในอิหร่าน หรือจะบอกว่าขบวนการเฟมินิสม์ในอิหร่านมี “ฮิญาบ” เป็นชนวนเริ่มต้นก็ว่าได้ และยังแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาสตรีอิหร่านทั้งเคยสนับสนุนและคัดค้านการสวมฮิญาบ แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้โน้มนำไปในทางคัดค้าน

ดังนั้น หากพิจารณาจากเรื่องราวความเป็นมาในอดีต การนำฮิญาบมาใช้ใน The Day I Became a Woman จึงไม่ใช่เพียงสื่อถึงสิทธิสตรีซึ่งถูกจำกัดในความหมายที่รับรู้กันเป็นสากล หรือเพื่อตอบสนองต่อตลาดหรือเวทีประกวดหนังนานาชาติเท่านั้น แต่ในสังคมอิหร่านเองจะรับรู้ถึงความหมายได้เข้มข้นและลึกซึ้งยิ่งกว่า

ด้วยเหตุนี้ The Day I Became a Woman จึงถูกกองเซ็นเซอร์อิหร่านจัดเรตให้ฉายเฉพาะพื้นที่คนจน ซึ่งยากที่จะเจียดเงินเข้าไปดูหนังสักเรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

หนังแบ่งออกเป็น 3 เรื่องราวเชื่อมโยงถึงกันแบบหลวมๆ โดยเริ่มต้นและจบด้วยภาพเดียวกัน คือภาพผืนผ้าสีดำขนาดปานกลางถูกขึงรับลมอยู่กับแท่งไม้คล้ายเป็นใบเรือ เบื้องหลังเป็นผืนน้ำทะเลกว้างไกล

จากภาพเปิดเรื่อง หนังเฉลยต่อมาว่าผ้าสีดำดังกล่าวคือฮิญาบผืนแรกในชีวิตของเด็กผู้หญิงชื่อ ฮาวา ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 9 ขวบ นั่นหมายความว่านับแต่นี้ไปเธอจะไม่ใช่เด็กหญิงที่มีอิสระอีกแล้ว แต่ต้องกลายเป็นผู้หญิงที่มีกฎเกณฑ์ ข้อห้าม ข้อบังคับมากมายห้อมล้อมรัดรึง โดยเริ่มจากการสวมผ้าคลุมหน้าและเครื่องแต่งกายปกปิดมิดชิด

ฮาวาขอร้องแม่และยายออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนสนิทที่เป็นเด็กผู้ชาย โดยอ้างว่าเธอเกิดตอนเที่ยงวัน จึงยังพอมีเวลาเหลืออยู่ แม่ของเธออนุญาตโดยให้พกกิ่งไม้ไปปักบนผืนทรายเพื่อดูเวลา พร้อมกำชับว่าเธอมีเวลาเที่ยวเล่นถึงแค่เมื่อเงาของกิ่งไม้หายไป

เรื่องต่อมา หญิงสาวชื่อ อาฮู และผู้หญิงอีกหลายสิบคนซึ่งสวมชุดสีดำสนิทกำลังขี่จักรยานแข่งขันกัน แต่แล้วจู่ๆ มีผู้ชายขี่ม้าควบตามมา เขาคือสามีของอาฮู บังคับให้เธอหยุดขี่จักรยานแล้วตามเขากลับบ้าน ทั้งขู่ว่าจะหย่าถ้าเธอไม่ทำตามคำสั่ง

นอกจากสามีแล้ว ยังมีพ่อ พี่ชาย และนักบวช ผลัดกันขี่ม้ามาตามอาฮู หญิงสาวเหนื่อยล้าเหลือกำลัง แต่ยังตั้งหน้าตั้งตาขี่จักรยานต่อไป

เรื่องสุดท้าย ฮูรา หญิงชราซึ่งได้รับมรดกก้อนใหญ่ ตระเวนจับจ่ายซื้อสิ่งของเครื่องใช้มากมายที่เธอไม่เคยมีเคยใช้มาตลอดชีวิต ทั้งเครื่องใช้ในครัวเรือน ชุดเจ้าสาว และเตียงนอนขนาดใหญ่ ฮูราเป็นหญิงโสด เงินทองมากมายที่จะช่วยให้เธอได้แต่งงานกับผู้ชายสักคนมาถึงมือเธอในช่วงเวลาที่สายไปเสียแล้ว

3 เรื่องราวกับสตรี 3 วัย ในวันที่พวกเธอไม่ได้เป็นแค่คนคนหนึ่ง แต่เป็น “ผู้หญิง” ชาวอิหร่าน ซึ่งถูกร้อยรัดด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม โจทย์อันชัดแจ้งนี้ได้ถูกถ่ายทอดโดยใช้สัญลักษณ์มากมาย โดยสัญลักษณ์สำคัญคือผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบนั่นเอง


(3)

แม้ว่าชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้จะตรงกับเรื่องราวแรกซึ่งเกี่ยวกับเด็กหญิงที่กำลังครบวัย 9 ขวบ จึงต้องเปลี่ยนสถานะเป็นหญิงสาว แต่อีก 2 เรื่องราวที่ตามมา ทั้งเรื่องของหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว และเรื่องเกี่ยวกับหญิงชรา ได้ช่วยเติมเต็มความหมายให้กับชื่อหนังมากยิ่งขึ้น

เพราะในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงมิใช่แค่เพียงวันแรกที่เด็กหญิงต้องสวมฮิญาบ แต่จะส่งผลผูกมัดเธอไปตลอดชีวิต

ฮาวา เด็กหญิงในเรื่องแรกอาจอ่อนวัยเกินกว่าจะคิดถึงเรื่องพวกนี้ แต่การที่เธอพยายามยื้อช่วงเวลาสุดท้ายไว้ให้นานที่สุดเพื่อจะได้เที่ยวเล่นกินขนมอร่อยๆ กับเพื่อน ขณะที่ในใจวิตกกระวนกระวายเพราะแม่ของเธอขู่ว่าถ้าเธอกลับมาไม่ทัน พระเจ้าจะไม่ให้อภัย ทำให้การกลายเป็นหญิงสาวเป็นกิจกรรมที่ใจร้ายต่อเด็กไปในทันที

ฉากที่ฮาวายืนคุยและแบ่งปันขนมกับเด็กชายเพื่อนสนิทอย่างทุลักทุเล โดยที่เธออยู่ด้านนอก ส่วนเพื่อนยืนอยู่หลังลูกกรงที่กั้นขวางทั้งสองไว้ จึงหมายถึงโลกของหญิง-ชายที่แยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง

ดีกรีด้านร้ายของการดำรงสถานะผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในเรื่องราวที่สอง อาฮู หญิงสาวที่แต่งงานแล้วดื้อขี่จักรยานโดยไม่สนใจคำสั่งและคำด่าทอสาปแช่ง ของพ่อ พี่ชาย และนักบวช รวมทั้งคำขู่ว่าจะหย่าของสามีที่ขี่ม้ามาตามเธอ(การขี่จักรยานเป็นหนึ่งในข้อห้ามสำหรับสตรีอิหร่าน)

เมื่ออีกฝ่ายล่าถอย อาฮูยังตั้งหน้าตั้งตาขี่จักรยานต่อไป ระหว่างนี้คำถามหนึ่งจะผุดขึ้นในใจผู้ชมว่าเธอจะขี่ไปได้แค่ไหนและมีจุดหมายอยู่ที่ใด

ภาพกลุ่มคนขี่ม้าที่เห็นขวางทางอาฮูในตอนท้ายคือคำตอบว่าที่สุดแล้วความพยายามมากมายของเธอก็ไม่เกิดผลใดๆ

ขณะที่เด็กหญิงและหญิงที่แต่งงานแล้วพยายามดิ้นหนีพันธนาการ หญิงชราผู้ได้รับมรดกมากมายเที่ยวจับจ่ายซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่เธอไม่เคยมีเคยใช้ในเรื่องสุดท้าย ดูแตกต่างออกไปเพราะมีเธออิสระอย่างเต็มที่ แต่ความจริงค่อยๆ เผยว่า เธอมีฐานะยากจนมาตลอดชีวิต ไม่มีใครใส่ใจช่วยเหลือ ไม่เคยแม้กระทั่งดื่มน้ำเย็นจากตู้เย็น
และความยากจนทำให้เธอไม่ได้ลิ้มรสชีวิตคู่ เพราะเธอไม่อยู่ในฐานะที่สมควรถูกเลือกให้แต่งงาน

ดังนั้น การที่หญิงชราตระเวนซื้อสิ่งของมากมายที่เธอไม่เคยมีมาทั้งชีวิต จึงเป็นการดิ้นหนีพันธนาการ แล้วไขว่คว้าหาความสุขให้ตนเองแม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ต่างจากช่วงเวลาก่อนครบวัยของเด็กหญิงในเรื่องแรก และช่วงเวลาการขี่จักรยานของหญิงที่แต่งงานแล้วในเรื่องที่สอง


การใช้ภาพสัญลักษณ์ของการจำกัดสิทธิสตรีอย่างฮิญาบ ถูกขึงเป็นใบเรือแล่นลมสู่ท้องทะเลกว้างในฉากเปิดเรื่อง จึงหมายถึงอิสรภาพของสตรีอิหร่านในอุดมคติ ในวันที่ไม่ถูกร้อยรัดผูกมัดด้วยกฎเกณฑ์ข้อห้ามใดๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือการส่งสารไป “ฟ้อง” โลกภายนอกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของ The Day I Became a Woman ที่ต้องนำมาพิจารณาคือ หนังถูกสร้างเพื่อนำเสนอต่อโลกภายนอก เกินครึ่งคือเวทีหนังนานาชาติในยุโรปและสหรัฐ มิใช่เพื่อคนอิหร่านเอง เพราะผู้สร้างย่อมรู้ว่าหนังต้องถูกแบนหรือจำกัดการฉายในประเทศอย่างแน่นอน

ดังนั้น มุมมองของ มาร์ซิเยห์ เมชคีนี ผู้กำกับฯ และ โมห์เซน มัคห์มัลบาฟ ผู้ร่วมเขียนบท ในการนำเสนอประเด็นกฎหมายจารีตที่มีผลต่อสตรีอิหร่านจึงตอบสนองทัศนคติแบบเสรีนิยมและโลกสมัยใหม่ของผู้ชมต่างชาติให้ตีความ-รับรู้ แทนที่จะนำเสนอภาพวิถีชีวิตแท้ๆ ของสตรีอิหร่านภายใต้วัฒนธรรมตนเอง ซึ่งอาจมีความขัดแย้งภายในแต่ชาวต่างชาติคงเข้าไม่ถึง

หนังตั้งโจทย์ไว้ว่าการสวมฮิญาบและกฎหมายจารีตมากมายที่ร้อยรัดวิถีชีวิตสตรีอิหร่าน คือความล้าหลังคร่ำครึ แล้วนำมาปะทะเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมในโลกสมัยใหม่ ในแต่ละเรื่องราวจึงมีภาพวัฒนธรรมหรือวิถีดั้งเดิมกับวิถีใหม่ๆ ที่ดูขัดแย้งกัน เพื่อช่วยขับเน้นโจทย์ของหนัง

ราวกับจะบอกว่าปัจจุบันโลกไปถึงไหนกันแล้ว แต่อิหร่านยังคงล้าหลังทางวัฒนธรรมไม่เปลี่ยนแปลง

ในเรื่องแรก แม่ของฮาวาให้เธอใช้กิ่งไม้ปักบนทรายเพื่อดูเวลาว่าเธอมีเวลาเที่ยวเล่นถึงเมื่อไร วิถีโบราณหรือพูดในเชิงลบว่า “ความล้าหลัง” กับการสิ้นอิสรภาพของเด็กผู้หญิงจึงถูกดึงมาเกี่ยวข้องกัน เรื่องที่สอง อาฮูผู้พยายามหนีพ้นพันธนาการใช้จักรยานเป็นพาหนะ ขณะที่กลุ่มผู้ชายที่ไล่ตามเธอใช้การขี่ม้า ภาพล้อจักรยานที่วิ่งหมุนวนสลับกับภาพขาม้าวิ่งควบคือเจตนาที่จะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วโลกเก่ามีอิทธิพลมากกว่า

(หนังตอนที่สองถ่ายทำบนเกาะคิช แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวในประเทศที่อนุญาตให้ผู้หญิงอิหร่านขี่จักรยาน รวมทั้งกฎข้อห้ามมากมายได้รับการยกเว้นบนเกาะนี้ ทั้งยังเป็นแหล่งความเจริญและวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งหาไม่ได้บนแผ่นดินอิหร่าน)

ส่วนเรื่องสุดท้าย หญิงชราตักตวงช่วงเวลาดีๆ ด้วยการซื้อข้าวของเครื่องใช้ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ มีชุดเจ้าสาวสีขาวแบบสากล แทนที่จะเป็นเครื่องแต่งกายตามธรรมเนียมอิหร่าน เธอบอกว่าสิ่งของเหล่านี้มี “คุณค่าทางใจ” ต่อเธอ

ทั้งการปักไม้บนทรายเพื่อดูเวลาสิ้นอิสรภาพของเด็กหญิง กลุ่มชายขี่ม้าพยายามหยุดหญิงสาวขี่จักรยาน และข้าวของเครื่องใช้สมัยใหม่ที่มีคุณค่าทางใจต่อหญิงชรา อาจเป็นเจตนาของผู้สร้างที่ต้องการสื่อเรื่องการจำกัดสิทธิสตรีอิหร่านให้เข้าถึงชาวต่างชาติ จึงนำเสนอภาพเปรียบเทียบด้านดีงาม-เลวร้ายของโลกเก่ากับโลกใหม่กันตรงๆ จนแทบจะเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าผู้สร้างซึ่งเป็นชาวอิหร่านเองเป็นพวกนิยมตะวันตกหรือโลกยุคใหม่อันทันสมัยและเปี่ยมเสรีภาพ จนอคติกับจารีตดั้งเดิมที่ยังมีคุณค่าแบบ “อนุรักษนิยม” อยู่หรือเปล่า

หรือจุดประสงค์แท้จริงคือการ “เอาใจ” ทัศนคติ “อิหร่านวายร้าย” ของชาติมหาอำนาจที่พยายามครอบงำโลกมาตลอด เพื่อความสำเร็จบนเวทีประกวดหนังนานาชาติ ซึ่ง The Day I Became a Woman สามารถคว้าหลายรางวัลในหลายเทศกาล โดยหนึ่งในนั้นคือ รางวัลยูเนสโก ที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ประเทศอิตาลี


หากเปรียบเทียบกับหนังอิหร่านหลายๆ เรื่อง ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดใน The Day I Became a Woman คือ หนังไม่ได้ยึดติดกับแนวทางสัจนิยม(Realism) ที่เห็นในหนังอิหร่านเรื่องดังหลายต่อหลายเรื่อง แต่จะมีลักษณะของหนังแนวทดลอง อาจเพราะเป็นการทำงานโดยมีผู้กำกับฯจอมเทคนิคอย่างโมห์เซน มัคห์มัลบาฟ หนุนหลัง อีกทั้งความเป็นนักเรียนหนังกับผลงานกำกับฯชิ้นแรก ทำให้มีรูปแบบหนังแนวอื่นผสมผสานใส่เข้ามาเหมือนเป็นการลองวิชา

ทั้งเรียลิสม์ในเรื่องแรก เหนือจริงหรือ Surrealism ในเรื่องที่สอง ขณะที่เรื่องสุดท้ายมีกลิ่นอายเกินจริงแบบสัจนิยมมายา(Magical Realism) จนทำให้หนังดูแปลกใหม่และน่าสนใจยิ่งขึ้น

The Day I Became a Woman อาจจะเป็นหนังอิหร่านที่เปิดเผยเจตนาในการทำตามโจทย์มากเกินไป ทั้งยังชวนให้เกิดความคลุมเครือในเรื่องทัศนคติของผู้สร้าง แต่หากข้ามจุดนี้และมองไปยังความเป็นหนังเรื่องหนึ่งๆ ต้องยอมรับว่านี่คือหนังที่น่าชมเชยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในส่วนของเรื่องราวและวิธีการเล่าเรื่อง

และนับเป็นหนังเรื่องเด่นจากดินแดนเปอร์เซียเรื่องท้ายๆ ก่อนที่กระแสหนังอิหร่านจะอ่อนแรงลงไปเมื่อขึ้นศตวรรษที่ 21 พร้อมกับเกิดแนวทางหรือเทรนด์ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่บนเวทีหนังโลก




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
8 comments
Last Update : 14 ธันวาคม 2549 18:20:18 น.
Counter : 5467 Pageviews.

 

The Day I Became a Woman ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ ตอนมาฉายก็พลาดและคลาดกันในที่สุด

อ่านทั้งหมดมานี้ก็ได้ข้อมูลต่างๆเพิ่มเติมให้กับตัวเองได้เยอะเลยอ่ะค่ะ ขอบคุณจิงจิง

เคยดู Osama ตอนเทศกาลหนัง
ส่วน Gabbeh กะ Salam Cinema แผ่นยังรอให้เปิดดูอยู่ค่ะ

 

โดย: renton_renton 1 สิงหาคม 2549 19:57:38 น.  

 

หนังอิหร่านเป็นหนังที่มี "ความเป็นธรรมชาติในเรื่องบท" อยู่สูงมาก (ล่าสุดเพิ่งได้ดู Gilaneh ที่เทศกาลหนังกรุงเทพฯมา...ก็ยังรู้สึกอีกเช่นกัน)

สำหรับเรื่องนี้เข้าฉายเมื่อปลายปีก่อนครับ ผมได้ไปดูที่โรงหนังสยามมา ชอบประเด็นของเด็กหญิงคนแรก...แค่ข้ามวันทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คนที่สอง...ผมว่า ฉากขี่จักรยานเนี่ย เป็นภาพคลาสสิคมากๆ (แปลกนะที่หนังไม่เปลี่ยนโลเคชั่นเลย...แต่ผมกลับดูได้อย่างสนุก) ส่วนหญิงแก่คนสุดท้าย ผมสนุกกับการตัดสินใจทำอะไรของเธอ อย่างที่เธออยากจะทำ (มันดูปลดปล่อยความเป็นอิสระภาพดี)

 

โดย: ตี๋หล่อมีเสน่ห์ 2 สิงหาคม 2549 13:52:53 น.  

 



(แว่บมาชี้แจง.....แก้ไขแล้วนะคะ อิ อิ ** ก็เห็นเรียกลุงมงว่าพี่อ่ะค่ะ เลยเดาๆเอา 5 5 5 )

 

โดย: renton_renton 3 สิงหาคม 2549 23:20:39 น.  

 

ตอนผมทำตัวจบตอนปริญญาตรี หนึ่งในหนังที่ผมศึกษาด้วยแง่มุมเฟมินิสต์คือหนังเรื่องนี้

ผมเคยเขียนไว้เหมือนกัน แต่เป็นแง่มุมของคำว่า Surreal นะครับ

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=djdonk-mc43&group=1&month=09-2005&date=08&blog=1

 

โดย: I will see U in the next life. 5 สิงหาคม 2549 22:59:08 น.  

 

คุณตี๋หล่อฯ : "หนังอิหร่านมี 'ความเป็นธรรมชาติในเรื่องบท' สูงมาก" เห็นด้วยครับ
ส่วน Gilaneh ผมยังไม่ได้ดู

คุณ I willฯ : ตามไปอ่านแล้วครับ เสียดายว่าสั้นไปหน่อย

หลาน renton : แผ่นหนังเหงาแย่แล้ว

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 6 สิงหาคม 2549 3:25:52 น.  

 

ผมกลับเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ดูหนังอิหร่านเท่าไหร่ครับ
(พูดง่ายๆคือ ตอนมันเข้าก็ไม่ได้เกิดอาการอยากดูขึ้นมาซักที มาอ่านบทวิจารณ์ทีหลังถึงเกิดอาการอยากดู แต่ก็ไม่อยากเจียดเงินไปซื้อดีวีดี จะดูพากย์ไทยก็ยังไงอยู่ 555+ -- เป็นวงจรอุบาทว์ไปซะแล้ว)

พูดถึงประเด็น "ฮิญาบ" นี่ผมว่าสตรีมุสลิมส่วนใหญ้เขาใส่ก็เพราะเกี่ยวพันถึงจารีตและประเพณีปฏิบัติมาแต่กาลก่อน เหมือนกับเมื่อไม่เกินสองปีที่ผ่านมานี้ที่รัฐบาลฝรั่งเศสไปสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนมุสลิมใส่ผ้าคลุมผมไปเรียน ก็เจอกับกระแสต่อต้านในแนวเดียวกันเช่นกัน แม้จะอ้างเหตุผลสวยหรูว่า "ไม่ให้เกิดการแบ่งแยกทางศาสนา"

(แต่ก็ชวนให้ผมคิดว่า ถ้าไม่แบ่งแยกจริง จะไปยุ่งอะไรกับจารีตทางศาสนาของเขาเนี่ย แถมคนออกนโยบายก็ไม่ได้เป็นมุสลิมอีก - -*)

ตามความคิดผม คือผมมองว่าใส่ผ้าคลุมผมเฉยๆ ยังดูดีกว่าการใส่แบบทั้งตัวน่ะครับ ถึงจะเข้าใจว่าเป็นจารีตทางศาสนาก็ตาม แต่ว่าบางอย่างก็ยังยากจะเข้าใจว่ามันเกินไปหรือเปล่า (เพราะอิสลามนี่เป็นศาสนาที่เคร่งในระเบียบวิถีปฏิบัติ และเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันเอามากๆด้วย) นอกจากเรื่องญิฮาบนี่ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการบังคับให้กินดองกับคนในรีตเท่านั้นอีกด้วย (ถึงแม้จะเป็นการช่วยธำรงศาสนาไว้ทางหนึ่งก็ตามที)

เอ๊ะ.. ไปๆมาๆ ผมไปวิจารณ์ศาสนาคนอื่นซะงั้น

 

โดย: nanoguy (nanoguy ) 6 มกราคม 2550 0:14:56 น.  

 

ดูเรื่อง ที่ ญ อิหร่านแก่ๆคนนึง ที่ตอนหลังได้เจอน้องชายหรือยังอ่ะ ชื่อเรื่อง Waiting อะไรสักอย่าง ... อยากอ่านรีวิวเรื่องนี้ด้วยอ่ะ

 

โดย: amoderndog (amoderndog ) 2 เมษายน 2551 13:01:10 น.  

 

อัสสลามมุอาลัยกุมค่ะ
ขอรบกวนเวลานิดนึงนะคะ
สนใจผ้าคลุมฮิหญาบนำเข้า สวยหลากสไตล์
อย่าลืมคลิ๊กมานะคะที่
//www.rositahijabshop.com

 

โดย: rose IP: 125.24.207.148 9 มิถุนายน 2552 23:15:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.