Group Blog
 
All Blogs
 

อ่านให้พร้อม ก่อนใช้พร้อมเพย์






สวัสดีค่ะ

สัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนได้ยินชื่อ “พร้อมเพย์” กันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากข่าวตามสื่อต่างๆ หรือจาก Social Media ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ สำหรับใครที่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าพร้อมเพย์คืออะไร มีประโยชน์ยังไง ถ้าสนใจต้องไปลงทะเบียนผูกบัญชีที่ไหน เมื่อไร มีขั้นตอนยังไง แล้วใช้เอกสารอะไรบ้าง K-Expert ได้รวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้มาฝาก ไปติดตามกันเลยค่ะ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับบริการพร้อมเพย์กันก่อนว่าคืออะไร

บริการพร้อมเพย์คือ บริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ที่ใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนแทนเลขที่บัญชีในการโอนเงินผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ATM, Internet Banking, Mobile Banking นั่นเองค่ะ ทำให้การโอนเงินในชีวิตประจำวันของเราง่ายและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีอีกต่อไป และไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยว่าเป็นบัญชีของธนาคารไหน และในอนาคตเรายังสามารถรับเงินจากภาครัฐ เช่น เงินสวัสดิการ เงินช่วยเหลือ เงินคืนภาษี เข้าบัญชีได้โดยตรง นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงในการพกพาเงินสด ส่งมอบเงินสด สามารถตรวจสอบรายการโอนเงินได้ แถมยังประหยัดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินข้ามเขตหรือต่างธนาคารอีกด้วย ทั้งนี้ บริการพร้อมเพย์จะมีระบบกลางที่เชื่อมบัญชีเงินฝากของทุกธนาคาร กับเบอร์โทรศัพท์มือถือและเลขบัตรประชาชนเข้าด้วยกัน และยังมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล โดยจะเริ่มให้บริการรับโอนเงินระหว่างกันได้จริงภายในเดือนตุลาคมปีนี้ค่ะ

ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินของบริการพร้อมเพย์เป็นอย่างไร

ต้องอธิบายก่อนว่า เนื่องจากผู้ใช้บริการพร้อมเพย์จะได้รับความสะดวกในการโอนเงินจากการที่ไม่ต้องถามเลขที่บัญชีของผู้รับโอน ดังนั้น การคิดค่าค่าธรรมเนียมของพร้อมเพย์จึงไม่ได้มีการคิดแยกรายการเป็นแบบในเขต ข้ามเขต หรือรายการในธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคารอย่างที่เราเข้าใจ แต่จะคิดตามวงเงินในการโอนแต่ละครั้งเป็นหลัก โดยมีโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมดังนี้ค่ะ

ช่วงมูลค่าวงเงินโอน (ต่อรายการ)

ค่าธรรมเนียมการโอน

ไม่เกิน 5,000 บาท

ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ

มากกว่า 5,000 – 30,000 บาท

ไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ

มากกว่า 30,000 – 100,000 บาท

ไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ

มากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป

ไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ

เมื่อทำความรู้จักกับบริการพร้อมเพย์กันไปพอสมควรแล้ เชื่อว่าหลายคนมีคำถาม ข้อสงสัยตามมามากมาย K-Expert ขออธิบายให้ทุกคนเข้าใจกันค่ะ เริ่มจากคำถามที่ว่า

หากสนใจใช้บริการพร้อมเพย์ต้องทำยังไง 

สำหรับใครที่สนใจใช้บริการพร้อมเพย์จะต้องไปลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับเบอร์โทรศัพท์มือถือ และ/หรือเลขบัตรประชาชนตามช่องทางลงทะเบียนที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนดไว้ เช่น สาขาธนาคาร ตู้ ATM, Internet Banking, Mobile Banking โดยที่เราต้องเลือกบัญชีเงินฝากธนาคารที่ต้องการใช้เป็นบัญชีในการรับเงิน และเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการลงทะเบียน ได้แก่ สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกระแสรายวันที่ต้องการลงทะเบียน บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และโทรศัพท์มือถือที่ต้องการลงทะเบียน ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์จะต้องเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือที่จะลงทะเบียนด้วยนะคะ

เริ่มลงทะเบียนได้เมื่อไร 

เริ่มลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1-14 กรกฎาคมนี้ ผ่านช่องทางของธนาคารที่พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนก่อน ส่วนระบบกลางของบริการพร้อมเพย์จะเปิดให้ทุกธนาคารลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไปค่ะ ซึ่งไม่มีกำหนดสิ้นสุดการรับลงทะเบียน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนแต่อย่างใด ทั้งนี้ ธนาคารจะแจ้งผลการลงทะเบียนให้ผู้ใช้บริการทราบหลังวันที่ 15 กรกฎาคม และเราสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการผูกบัญชีธนาคารได้ตลอดเวลาเลยค่ะ สำหรับใครที่ตั้งใจจะไปลงทะเบียนล่วงหน้า อย่าลืมเช็กก่อนนะคะว่า ธนาคารที่เราจะไปลงทะเบียนนั้นเปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้าไหม และมีช่องทางลงทะเบียนทางไหนบ้างจะได้ไม่ไปเสียเที่ยวค่ะ หลายคนถามว่า ถ้าไม่ไปลงทะเบียนได้ไหม ตอบเลยว่าได้ค่ะ เพราะการลงทะเบียนพร้อมเพย์เป็นการลงทะเบียนแบบสมัครใจ และบริการพร้อมเพย์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการโอนเงินและรับเงินที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการนี้หรือไม่ค่ะ     

เงื่อนไขการผูกบัญชีเป็นอย่างไร 

เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แค่จำง่ายๆ ว่า เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชนหนึ่งหมายเลขสามารถใช้ผูกหรือจับคู่กับบัญชีเงินฝากปลายทางได้เพียงแค่หนึ่งบัญชีเท่านั้นค่ะ โดยที่บัญชีเงินฝากหนึ่งบัญชีสามารถผูกได้กับทั้งเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ บัญชีเงินฝากหนึ่งบัญชีสามารถผูกกับหมายเลขได้สูงสุด 4 หมายเลขด้วยกันคือ เลขบัตรประชาชน 1 หมายเลข และเบอร์โทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 หมายเลข หรือตามที่ธนาคารกำหนดไว้ค่ะ

สำหรับคนที่สนใจใช้บริการพร้อมเพย์ และจะไปลงทะเบียนผูกบัญชี K-Expert มีคำแนะนำเพิ่มเติมมาฝากค่ะ

เลือกบัญชีเงินฝากที่ใช้บ่อยๆ เป็นบัญชีรับเงิน

เนื่องจากบางคนมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชี หลายธนาคาร การจะเลือกใช้บัญชีเงินฝากใด และธนาคารใดเป็นบัญชีในการรับเงิน อยากให้เลือกบัญชีที่เราใช้อยู่บ่อยๆ และสะดวกในการใช้ค่ะ และเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับคนที่ต้องรับโอนเงินบ่อยๆ เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากการรับเงินในชีวิตประจำวัน เช่น รับเงินค่าขายของออนไลน์จากลูกค้า อาจเลือกเปิดบัญชีใหม่เพื่อผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชน แยกออกมาจากบัญชีเงินเดือนและบัญชีเงินออมอื่นๆ ของเราที่มีอยู่ก็ได้ค่ะ

เลือกผูกบัญชีกับทั้งเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือ

หากตั้งใจจะไปลงทะเบียนผูกบัญชีอยู่แล้ว แนะนำให้ลงทะเบียนผูกบัญชีกับทั้งเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือไปเลยค่ะ โดยใช้เลขบัตรประชาชนในการรับเงินจากภาครัฐ และใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือในการรับเงินในชีวิตประจำวันของเรา ทั้งนี้ก็เพื่อความสบายใจในกรณีที่เราไม่อยากเปิดเผยเลขบัตรประชาชนให้คนอื่นได้รู้นั่นเองค่ะ

แม้ว่าบริการพร้อมเพย์จะช่วยอำนวยความสะดวกในการโอนเงินและรับเงินในชีวิตประจำวันมากขึ้น เราเองในฐานะของผู้ใช้บริการก็ควรใส่ใจ ระมัดระวังทุกครั้งที่ทำธุรกรรมโอนเงิน เช่น ตรวจสอบชื่อ-นามสกุล ของผู้รับโอนเงินให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง รวมถึงเก็บรายละเอียดหรือหลักฐานในการโอนเงินไว้ หากเกิดความผิดพลาดในการโอนขึ้นมาจะได้ตรวจสอบได้ทันที ในส่วนของผู้รับโอนเงินเอง หากมีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ได้ลงทะเบียนผูกบัญชีไปแล้ว ก็ต้องรีบแจ้งยกเลิกการผูกบัญชีกับธนาคารเจ้าของบัญชีทันที รวมถึงแจ้งให้ผู้โอนเงินได้รู้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการปกป้องเงินในบัญชีของเรานั่นเองค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Article: อยู่สบายๆ แบบไม่ง้อเงินสด <<< โหลดฟรี 




 

Create Date : 23 มิถุนายน 2559    
Last Update : 23 มิถุนายน 2559 11:47:27 น.
Counter : 874 Pageviews.  

ประกันสุขภาพที่ผู้หญิงควรมี





สวัสดีค่ะ

รู้หรือไม่ว่า ผู้หญิงมีโอกาสเจ็บป่วยไม่สบายง่ายกว่าผู้ชาย เพราะโดยทั่วไปผู้หญิงจะใช้เวลาในการฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บทางร่างกายนานกว่าผู้ชาย ผู้หญิงอย่างเราๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงค่ะ แต่ก็ยอมรับว่าจะไม่เจ็บไม่ป่วยเลยก็คงทำได้ยาก และถ้าต้องหาหมอขึ้นมา ก็หนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ถูกๆ ดังนั้น การมีตัวช่วยอย่างประกันสุขภาพสามารถบรรเทาค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ประกันสุขภาพแบบไหนบ้างที่ผู้หญิงควรมีไว้ K-Expert มีคำแนะนำค่ะ

ถ้าพูดถึงโรคที่ไม่มีใครอยากเป็น เชื่อว่าหนึ่งในโรคที่หลายๆ คนนึกถึงก็คือ โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันว่า มะเร็งเป็นโรคร้ายที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด โดยในปี 2557 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 70,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน สำหรับมะเร็งที่ผู้หญิงไทยเป็นกันมาก คือ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม ซึ่งยิ่งอายุมากขึ้น หรือมีคนในครอบครัวเคยป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่เราจะป่วยเป็นโรคมะเร็งได้ และสิ่งที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น ค่าผ่าตัดในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับการผ่าตัดเต้านมหรือมดลูก ครั้งหนึ่งก็เกือบๆ 3 แสนบาท (ขึ้นอยู่กับชนิดมะเร็ง) ตัวเลขนี้แค่ค่าผ่าตัด ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายหากต้องฉายรังสีหรือให้ยาคีโมหลังการผ่าตัดด้วยนะคะ ซึ่งรวมๆ แล้วก็น่าจะต้องใช้เงินเพิ่มอีกเป็นหลักแสนค่ะ ถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ถ้ามีเงินเก็บไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบด้านการเงิน ซึ่งการทำประกันโรคมะเร็ง หรือประกันโรคร้ายแรง จะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้

ความคุ้มครองของประกันโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรมธรรม์ ซึ่งเราต้องอ่านรายละเอียดความคุ้มครองให้ดีค่ะ อย่างประกันโรคมะเร็ง บางกรมธรรม์คุ้มครองเฉพาะระยะลุกลาม  บางกรมธรรม์คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ หรือประกันโรคร้ายแรง ซึ่งมักคุ้มครอง 30-40 โรคร้ายแรง บางกรมธรรม์เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรงโรคใดโรคหนึ่ง บริษัทจ่ายเงินชดเชย ความคุ้มครองจะสิ้นสุดลง แต่บางกรมธรรม์ยังคุ้มครองโรคร้ายแรงอื่นอีกก็ได้

นอกจากนี้ รู้หรือไม่ว่าการท้องหรือตั้งครรภ์ก็ทำให้ผู้หญิงหรือคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่มีความเสี่ยงมากขึ้น จึงควรทำประกันคุ้มครองการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ไว้ด้วยนะคะ โดยทั่วไปความคุ้มครองจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกคุ้มครองขณะตั้งครรภ์ เช่น ทารกในครรภ์เสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด การผ่าตัดเนื่องจากภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก และส่วนที่ 2 คุ้มครองหลังการคลอดบุตร เช่น คุณแม่หรือทารกเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนด ทารกมีโรคประจำตัวแต่กำเนิด เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็มีแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้หญิง เช่น คุ้มครองโรคร้ายแรง การทำศัลยกรรม และการตั้งครรภ์ อยู่ในกรมธรรม์เดียวกันค่ะ

จะเห็นได้ว่า เกิดเป็นผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งการทำประกันจะช่วยปกป้องเงินเก็บของเราที่อาจต้องจ่ายไปเป็นค่ารักษาในอนาคตได้ ทั้งนี้ ก่อนทำประกัน ก็ควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครองของแบบประกันให้ดีเพื่อเลือกให้เหมาะกับตัวเรามากที่สุด และสิ่งสำคัญคือ ตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และทำจิตใจให้สดใส เพื่อให้สุขภาพที่แข็งแรงอยู่คู่กับผู้หญิงอย่างเราไปนานๆ ค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Article: ปกป้องเงินออมด้วยประกันสุขภาพ <<< โหลดฟรี 




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2559    
Last Update : 16 มิถุนายน 2559 11:19:55 น.
Counter : 787 Pageviews.  

FinTech สุดฟินสำหรับคนรุ่นใหม่





สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้ หันไปทางไหนก็เจอแต่กระแส FinTech หรือ Financial Technology ซึ่งถ้าอธิบายง่ายๆ FinTech ก็คือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินง่ายขึ้น แล้ว FinTech อะไรบ้างที่น่าสนใจ K-Expert ได้รวบรวมมาฝากกันแล้วค่ะ

วางแผนการเงินง่ายๆ ด้วย FinTech

เมื่อพูดถึงเรื่องของการวางแผนการเงิน เชื่อว่าหลายคนรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญและอยากเริ่มวางแผนการเงินให้กับตัวเอง แต่ติดที่ว่า การวางแผนการเงินนั้นต้องเกี่ยวข้องกับตัวเลข จึงรู้สึกว่าซับซ้อนและทำด้วยตัวเองค่อนข้างยาก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้การวางแผนการเงินด้วยตัวเองไม่ยากอย่างที่คิดแล้วล่ะค่ะ สำหรับคนที่อยากเก็บเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ อย่างซื้อบ้าน ส่งลูกเรียนเมืองนอก หรือเกษียณอายุ K-Expert MyPort เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยให้เราเก็บออมเงินเพื่อเป้าหมายสำคัญได้ ซึ่งเราสามารถตั้งเป้าหมายต่างๆ ได้หลายเป้าหมาย โดยโปรแกรมจะช่วยคำนวณเงินออมของแต่ละเป้าหมายให้กับเราได้ค่ะ นอกจากนี้  K-Expert MyPort ยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการรวบรวมทรัพย์สินต่างๆ ที่เรามีอยู่หลายที่มาไว้ในที่เดียว พร้อมแสดงสัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆ ตามระดับความเสี่ยง ทำให้ทราบว่า ในปัจจุบันเราลงทุนตรงตามระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้หรือไม่ค่ะ

ส่วนใครที่ส่งเงินเข้าประกันสังคม แล้วอยากรู้ว่า เราได้สิทธิประโยชน์อะไรจากประกันสังคมบ้าง โดยเฉพาะเงินสะสมชราภาพซึ่งเป็นเงินที่เราจะได้รับเพื่อใช้จ่ายในช่วงเกษียณอายุ การค้นหาข้อมูลเหล่านี้ทำได้ไม่ยากแล้วค่ะ เพราะประกันสังคมได้มีการจัดทำแอพพลิเคชัน My SSO Smart Life ซึ่งเราสามารถเช็กข้อมูลประกันสังคมของตัวเราเองได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม โรงพยาบาลที่เราสามารถใช้สิทธิ ยอดเงินสะสมชราภาพ และยอดเงินที่เราจ่ายสมทบเข้าประกันสังคมค่ะ

เพิ่มค่าเงินลงทุนด้วย FinTech

“ข้อมูล” นับเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุนหุ้น ยิ่งเรารู้ข้อมูลมาก ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลของบริษัทที่เราสนใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งรายได้ของบริษัท สถานะการเงิน รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งโปรแกรม Jitta สามารถช่วยเราวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ว่า หากได้คะแนนสูง แสดงว่า บริษัทนั้นมีสถานะทางการเงินและธุรกิจมีแนวโน้มที่ดี นอกจากนี้ Jitta ยังแสดงราคาที่เหมาะสมของหุ้นผ่าน Jitta Line ทำให้เราทราบว่า ราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตอนนั้นแพงหรือถูกเมื่อเทียบกับราคาที่เหมาะสม

ส่วนคนที่เป็นลูกค้าของบล.กสิกรไทย KS Super Stock เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เราลงทุนหุ้นได้ดียิ่งขึ้น โดยตอบโจทย์ทั้งนักลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์ทางพื้นฐานและเทคนิค จุดเด่นของแอพพลิเคชัน KS Super Stock คือ เมนู Scanner ซึ่งจะช่วยคัดเลือกหุ้นที่ตรงตามเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้ เช่น หุ้นที่กำไรเติบโตสูง หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง หรือหุ้นที่กราฟเทคนิคส่งสัญญาณว่า เริ่มมีแรงซื้อเข้ามา เป็นต้น นอกจากนี้ KS Super Stock ได้รวบรวมข้อมูลทางการเงินของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ และกราฟเทคนิคของบริษัทต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า หุ้นที่เราสนใจอยู่นั้นมีพื้นฐานที่ดี และราคาน่าเข้าซื้อแล้วหรือยัง รวมทั้งเราสามารถตั้ง Price Alert เมื่อราคาหุ้นมาถึงราคาที่กำหนดไว้ ทำให้ไม่พลาดจังหวะการซื้อขายที่สำคัญค่ะ

สำหรับคนที่ใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการลงทุน การเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนตรงกับวัตถุประสงค์และผลการดำเนินงานที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ FIN Application เป็นตัวช่วยหนึ่งในการเลือกลงทุนกองทุนรวม เพราะ FIN Application มีการจัดอันดับกองทุนรวมแต่ละประเภท โดยใช้ผลการดำเนินงานย้อนหลัง รวมทั้งมีรายละเอียดของแต่ละกองทุนรวมว่า มีการลงทุนในสินทรัพย์อะไร และเป็นสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน ช่วยให้การเลือกลงทุนกองทุนรวมทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นกว่าเดิมเลยล่ะค่ะ

แม้ว่า FinTech เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายๆ คน แต่หากเราศึกษาและทำความเข้าใจ FinTech ก็จะไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการบริหารเงินของเราให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: ผู้ช่วยจัดการสินทรัพย์ออนไลน์ <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2559    
Last Update : 14 มิถุนายน 2559 11:41:46 น.
Counter : 962 Pageviews.  

Update ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง





สวัสดีค่ะ

วันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำมาใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 สำหรับใครที่กำลังตามข่าวเรื่องนี้อยู่ และอยากรู้รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าเป็นอย่างไร เราเข้าข่ายต้องเสียภาษีที่ดินนี้ด้วยหรือไม่ K-Expert ได้รวบรวมข้อมูลและสรุปรายละเอียดสำคัญๆ ในเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ

เริ่มจากการทำความเข้าใจในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กันก่อนค่ะ  

ใครบ้างที่มีหน้าที่เสียภาษี ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

ใครเป็นคนจัดเก็บภาษี สำหรับหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้นั้นจะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ทำหน้าที่จัดเก็บเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นค่ะ 

ทรัพย์สินอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี ส่วนทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด

ใช้ฐานภาษีอะไรในการคำนวณ สำหรับฐานภาษีที่ใช้ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะคิดคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด รวมถึงอัตราค่าเสื่อมราคาที่กรมธนารักษ์เป็นผู้กำหนด ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูราคาประเมินได้ที่เว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ค่ะ

คราวนี้เราลองมาดูอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันค่ะ

ลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

อัตราภาษีที่จัดเก็บจริง (ของฐานภาษี)

ใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม

0-0.1%

ใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย
-บ้านหลักส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป
-บ้านหลังที่สอง

0.05-0.1%

0.03-0.3%

ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม

0.3-1.5%

ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน

1-3% (เพิ่มขึ้นทุก 3 ปี)

แล้วเราจะคำนวณภาระภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปีอย่างไร ขออธิบายเป็น 3 กรณีดังนี้ค่ะ

1.กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี 

โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

2.กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี

โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา

3.กรณีห้องชุด ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี

โดยมูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)

อัตราภาษีที่จัดเก็บจริงของบ้านหลักและบ้านหลังที่สอง

บ้านหลัก

บ้านหลังที่สอง

≤ 50 ล้านบาท        ยกเว้น

> 50-100 ล้านบาท   0.05%

> 100 ล้านบาท        0.10%

≤ 5 ล้านบาท          0.03%

> 5-10 ล้านบาท     0.05%

> 10-20 ล้านบาท   0.10%

> 20-30 ล้านบาท   0.15%

> 30-50 ล้านบาท   0.20%

> 50-100 ล้านบาท  0.25%

> 100 ล้านบาท       0.30%

ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงนั้น จะกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษีค่ะ เช่น ถ้าบ้านหลักของเรามีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท (≤ 50 ล้านบาท) ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีไป หากบ้านหลักเรามีมูลค่า 60 ล้านบาท (>50-100 ล้านบาท) อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.05% ของฐานภาษีหรือเท่ากับปีละ 5,000 บาทค่ะ หลายคนสงสัยว่าแล้วจะดูจากอะไรล่ะว่าบ้านหลังไหนคือบ้านหลักของเรา ตรงนี้ให้ดูว่าเรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังไหนก็แสดงว่าบ้านหลังนั้นคือบ้านหลักของเราค่ะ

สำหรับใครที่บ้านหลักมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็อย่าเพิ่งดีใจไปนะคะ เพราะหากเรามีบ้านหลังที่สองก็จะถูกจัดเก็บภาษีด้วยตามมูลค่าของบ้านหลังนั้นค่ะ เช่น เรามีบ้านหลังที่สองมูลค่า 4 ล้านบาท (≤ 5 ล้านบาท) อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.03% ของฐานภาษีหรือเท่ากับปีละ 1,200 บาท หากบ้านหลังที่สองมูลค่า 6 ล้านบาท (>5-10 ล้านบาท) อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 0.05% ของฐานภาษีหรือเท่ากับปีละ 2,000 บาทค่ะ ตรงนี้อย่าสับสนนะคะ ถ้าเรามีบ้านหลายหลัง บ้านหลังที่ 2, 3, 4 และหลังอื่นๆ ที่เรามีก็ถือว่าเป็นบ้านหลังที่สองเหมือนกัน ดังนั้น จะถูกจัดเก็บภาษีด้วยค่ะ หากจะเช็กว่าเราเป็นเจ้าของบ้านกี่หลังให้ดูที่โฉนดได้เลยค่ะ

ในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่า หากใครมีที่ดินลักษณะนี้จะถูกจัดเก็บภาษีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว โดยปีที่ 1-3 อัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจะอยู่ที่ 1% ของมูลค่าที่ดิน ปีที่ 4-6 อยู่ที่ 2% ของมูลค่าที่ดิน ปีที่ 7 ขึ้นไปอยู่ที่ 3% ของมูลค่าที่ดิน เช่น เรามีที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท หากทิ้งไว้ ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ในปีที่ 1-3 จะถูกจัดเก็บภาษีปีละ 10,000 บาท ปีที่ 4-6 จะถูกจัดเก็บภาษีปีละ 20,000 บาท และหากยังไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในที่ดินผืนนั้นอีก ปีที่ 7 ขึ้นไป จะถูกจัดเก็บภาษีสูงถึงปีละ 30,000 บาทเลยล่ะค่ะ

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ได้มีการบรรเทาภาระให้กับเจ้าของบ้านหลักที่ได้มาจากการรับมรดก โดยบ้านที่เราได้มาจากมรดกซึ่งสามารถดูได้จากโฉนดนั้นจะลดภาระภาษีให้ 50% ของจำนวนภาษีที่ต้องเสียค่ะ นอกจากนี้ ยังมีการลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ อาคารบ้านเรือนเกิดความเสียหายหรือถูกทำลายด้วย เรียกว่าค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในการจัดเก็บภาษีมากเลยทีเดียว

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้เชื่อว่าไม่ได้กระทบกับคนส่วนใหญ่หรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ มากนัก แต่สำหรับใครที่ชอบสะสมที่ดิน มีบ้านหลายหลัง หรือซื้อคอนโดไว้ปล่อยเช่าแล้ว ก็ลองสำรวจตรวจสอบทรัพย์สินของตัวเองกันดูนะคะว่า มีมูลค่าเท่าไร จัดอยู่ในประเภทไหน เข้าข่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ ในอัตราเท่าไร หากคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายต่อปีแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าไร และจะจัดการกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างไร ทั้งนี้ หากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทาง อปท. ประกาศไม่ถูกต้อง เราสามารถอุทธรณ์ได้เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาทบทวนอีกครั้งค่ะ และอย่าลืมบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Article: บ้านมีหลายหลัง ดอกเบี้ยลดหย่อนอย่างไร <<< โหลดฟรี 





 

Create Date : 09 มิถุนายน 2559    
Last Update : 9 มิถุนายน 2559 15:34:29 น.
Counter : 2009 Pageviews.  

ข้อควรรู้ก่อนเปลี่ยนชิปการ์ด





สวัสดีค่ะ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวฮอตฮิตทางการเงินที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเราและมีการพูดถึงกันมากที่สุดคงจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ นอกจากบัตรชิปการ์ดนั่นเองค่ะ เชื่อว่าบางคนอินเทรนด์ได้ไปเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตมาเป็นบัตรแบบชิปการ์ดแล้ว สำหรับใครที่ยังไม่ได้ไปเปลี่ยน หรือยังสงสัย ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วดียังไง มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมบ้าง K-Expert ได้สรุปรายละเอียดในเรื่องนี้มาฝาก พร้อมทั้งคำแนะนำที่ควรรู้ ดังนี้ค่ะ

บัตรชิปการ์ดคืออะไร และแตกต่างจากบัตรแบบแถบแม่เหล็กยังไง

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ทุกธนาคารออกให้เราจะเป็นบัตรแบบชิปการ์ดทั้งหมด ซึ่งบัตรชิปการ์ดคือบัตรรูปแบบใหม่ที่มีความปลอดภัยมากกว่าบัตรแบบแถบแม่เหล็ก เนื่องจากข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในชิปที่ป้องกันการถูกคัดลอกข้อมูลหรือสกิมมิ่ง และการโจรกรรมข้อมูลจากบัตร ทำให้การคัดลอกข้อมูลทำได้ยากกว่าบัตรแบบแถบแม่เหล็กนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มรหัสพิน (PIN) จาก 4 หลัก เป็น 6 หลัก เรียกว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากลเลยล่ะค่ะ ส่วนการใช้งานนั้น ยังคงใช้งานได้สะดวกเหมือนเดิม ทั้งการถอน โอน จ่าย ซื้อสินค้าผ่านเครื่องรับบัตร หรือชอปออนไลน์ ทำให้เรามีความมั่นใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมากยิ่งขึ้นค่ะ

เมื่อทำความรู้จักกับบัตรชิปการ์ดไปแล้ว หลายคนอาจมีคำถาม ข้อสงสัย หรือความกังวลใจเกิดขึ้นมากมาย K-Expert ขออธิบายให้เคลียร์ดังนี้ค่ะ

บัตรแบบแถบแม่เหล็กยังคงใช้ได้ไหม

สำหรับใครที่ยังใช้บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็กอยู่ และบัตรของเรายังไม่หมดอายุนั้นก็ไม่ต้องตกใจไปค่ะ เพราะเรายังสามารถใช้บัตรแบบแถบแม่เหล็กต่อไปได้ตามปกติ โดยสามารถใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เท่านั้นค่ะ แต่หากใครต้องการเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปการ์ดก็สามารถทำได้เลยทันที โดยไปติดต่อธนาคารผู้ออกบัตรที่เราใช้บริการอยู่ อย่าลืมนำบัตรประชาชน สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตใบเก่าไปด้วยนะคะ

มีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนบัตรไหม

หลายคนกังวลเรื่องค่าธรรมเนียม ถ้าไปเปลี่ยนบัตรแบบชิปการ์ดแล้วจะเสียค่าธรรมเนียมไหม ต้องบอกว่า ค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนบัตร และค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรจะเป็นไปตามอัตราและเงื่อนไขที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนดไว้ค่ะ ซึ่งในช่วงแรกนี้ หลายๆ ธนาคารก็ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนบัตรให้เราค่ะ ยังไงก็ลองเช็กกับธนาคารเจ้าของบัตรกันดูนะคะ  

บัตรแบบชิปการ์ดสามารถใช้ได้กับตู้เอทีเอ็มทุกตู้ใช่ไหม

ในช่วงแรกอาจมีตู้เอทีเอ็มบางตู้ของบางธนาคารที่ยังไม่พร้อมรองรับการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดซึ่งตู้เอทีเอ็มจะแสดงข้อความให้เรารู้เลยค่ะว่า ตู้นี้ใช้บัตรชิปการ์ดได้หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เราไม่ได้รับความสะดวกไปบ้างในช่วงแรกนี้ ดังนั้น ควรวางแผนการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไว้ให้ดี และจดจำตู้เอทีเอ็มที่เราใช้บ่อยๆ ซึ่งสามารถรองรับการใช้บัตรชิปการ์ดได้ค่ะ

สำหรับคนที่สนใจอยากใช้บัตรชิปการ์ด และจะไปเปลี่ยนบัตรในเร็วๆ นี้ เรามีคำแนะนำเพิ่มเติมมาฝากค่ะ

เลือกรูปแบบบัตรให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์

ปัจจุบันบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตของแต่ละธนาคารมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ก่อนไปติดต่อธนาคาร แนะนำให้ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของบัตรแต่ละแบบ และเลือกรูปแบบบัตรที่ใช่ ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเรามากที่สุด เพื่อให้การเปลี่ยนบัตรใหม่ในครั้งนี้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น คนที่ต้องการความคุ้มครองด้านอุบัติเหตุ อาจเลือกใช้บัตรเดบิตแบบชิปการ์ดที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุด้วย เป็นต้น

ปรับวงเงินบัตรตามความเหมาะสม

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับบัตรเดบิต หรือกังวลเรื่องความปลอดภัยในการชอปปิ้งออนไลน์หรือซื้อสินค้าผ่านเครื่องรับบัตร การปรับวงเงินถอน โอน หรือซื้อสินค้าต่อวัน ตามความต้องการและความเหมาะสม ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยคลายความกังวลในเรื่องนี้ไปได้ค่ะ โดยเราสามารถติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อขอปรับวงเงินบัตรที่จะใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ วิธีนี้นอกจากจะช่วยคลายความกังวลลงแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นอีกด้วยล่ะค่ะ

จากข้อมูลที่นำมาฝากน่าจะช่วยให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าใจบัตรชิปการ์ดได้ดียิ่งขึ้น ลองสำรวจบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตของตัวเองกันดูนะคะว่า บัตรหมดอายุเมื่อไร เราพร้อมหรือสะดวกไปเปลี่ยนบัตรใหม่กันแล้วหรือยัง และแม้ว่าบัตรชิปการ์ดจะมีความปลอดภัยมากขึ้น ตัวเราเองในฐานะผู้ใช้งานก็ต้องไม่ประมาท ควรใส่ใจ ระมัดระวังทุกครั้งเมื่อทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านบัตร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องทรัพย์สินของตัวเราจากเหล่ามิจฉาชีพนั่นเองค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Article: ทำธุรกรรมผ่าน ATM อย่างไรให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ <<< โหลดฟรี 




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2559    
Last Update : 7 มิถุนายน 2559 11:18:06 น.
Counter : 912 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.