Group Blog
 
All Blogs
 

เก็บเงินอย่างไรให้รวยเหมือนเจ้าสัว

สวัสดีค่ะ

เทศกาลตรุษจีนถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของคนไทยเชื้อสายจีนหลายคน เพราะได้รับอั่งเปาจากญาติผู้ใหญ่ มีเงินมีทองใช้กันถ้วนหน้า แต่สำหรับผู้ใหญ่บางคนที่เลยวัยได้รับอั่งเปาไปแล้วก็ไม่ต้องเสียใจ เปลี่ยนมาเป็นคนควักเงินในกระเป๋าจ่ายออกไปให้กับลูกหลานบ้าง ยังไงก็บริหารจัดการรายจ่ายตรงนี้กันดีๆ นะคะ K-Expert ขอใช้เทศกาลตรุษจีนนี้เป็นโอกาสดีที่จะชวนเพื่อนๆ ทุกคนมาเริ่มต้นเก็บเงินกัน โดยดูจากคนจีนเป็นแบบอย่าง เพราะคนจีนในไทยส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่ก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้จนเป็นเศรษฐี เขามีเทคนิคอย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ

ก่อนที่เราจะมีเงินให้เก็บได้ก็ต้องทำงานหารายได้ก่อนใช่ไหมคะ คนจีนขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่ ขยันทำมาหากิน มากๆ เรียกได้ว่า ทั้งขยันและอดทน เลยทีเดียว งานหนักก็เอา งานเบาก็สู้ และไม่ยอมย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ในเมื่อขยันทำงาน หาเงินเก่งซะขนาดนี้ มีหรือที่เงินทองจะไม่ไหลมาเทมา มีรายรับเข้าบ้านไว้ใช้จ่ายอย่างไม่ขาดมือ หากใครรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ ไม่ค่อยขยันทำงานสักเท่าไหร่ ก็ลองปรับเปลี่ยนนิสัยของเราดูค่ะ และอย่าลืมหาความรู้เพิ่มเติม พัฒนาความรู้ความสามารถของเราให้เชี่ยวชาญในงานที่ทำจนเป็นที่ต้องการของตลาดก็มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ไม่ยากค่ะ

นอกจากงานประจำหรืองานหลักแล้ว หากได้ ทำอาชีพเสริม ควบคู่ไปด้วย เช่น ขายของออนไลน์ รับจ้างสอนหนังสือ ก็จะช่วยเพิ่มรายรับเข้ามาอีกทางหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ แถมยังช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดรายได้เพราะมีรายรับเพียงแค่ทางเดียวอีกด้วย ใครชอบหรือถนัดอะไร ก็อย่าลืมมองหาอาชีพเสริมทำตามความชอบความถนัดของเรากันนะคะ

เมื่อทำงานหาเงินมาได้แล้วก็ต้อง รู้จักเก็บเงิน ไม่ปล่อยให้เงินไหลออกไปได้ง่ายๆ แนะนำให้ เก็บก่อนใช้ อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน อย่างน้อย 20% ของรายได้ในแต่ละเดือนค่ะ เช่น ได้เงินมา 20,000 บาท ก็ให้เก็บก่อนเลย 4,000 บาท วิธีนี้จะช่วยให้เรามีวินัยในการเก็บเงินและมีเงินเก็บทุกเดือนอย่างที่ตั้งใจอีกด้วย หลายคนได้เงินมาก็ดีใจ รีบใช้เลยทันที มีเหลือเท่าไรค่อยเก็บ และสุดท้ายก็มักจะไม่มีเงินเหลือให้เก็บทุกทีไป ดังนั้น ลองเปลี่ยนมาเก็บก่อนใช้ดูนะคะ รับรองได้ผลแน่นอน

สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ ลองมองหา ตัวช่วยในการเก็บเงิน อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนดูค่ะ อย่างการฝากเงินเท่าๆ กันทุกเดือนในบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี หรือลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินเป็นรายเดือนก็น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะค่ะ เพราะนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนแล้ว ยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

หลังจากกันเงินส่วนหนึ่งมาเก็บก่อนใช้แล้ว เงินที่เหลือหลังจากนั้นก็พยายามจัดสรรให้ดี ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด ของเสียนิดหน่อยก็ซ่อมไป ไม่ต้องรีบซื้อใหม่ และไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ลองใช้วิธี จดบันทึกรับจ่าย ดูค่ะ จะได้รู้ว่าเงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไร เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นหรือฟุ่มเฟือยมากน้อยแค่ไหน และพยายามลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง เพียงแค่นี้ เราก็จะมีเงินเหลือมาเก็บออมได้มากขึ้นแล้วล่ะค่ะ สำหรับการจดบันทึกรับจ่ายเดี๋ยวนี้ก็สะดวกสบาย ทำได้ง่ายมากๆ เพราะมีทั้งโปรแกรมออนไลน์และแอปพลิเคชันให้เราได้ดาวน์โหลดมาใช้ฟรี  

ใครอยากรวยเหมือนเจ้าสัวก็ลองนำเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ดูนะคะ สำคัญที่สุดอยู่ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจและความมีวินัยในการเก็บเงินของเราเอง หากเรายอมเหนื่อยวันนี้ วันข้างหน้าก็จะสบาย สามารถสร้างเนื้อสร้างตัว มีทุกอย่างตามที่ฝันไว้ได้ แล้วเราจะรู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของเราเองค่ะ  

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมรับ-จ่ายอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2559    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2559 14:12:14 น.
Counter : 1049 Pageviews.  

เช็กความพร้อมก่อนยื่นภาษี

สวัสดีค่ะ

เข้าสู่เทศกาลยื่นภาษี เชื่อว่าเป็นช่วงที่เพื่อนๆ หลายคนรู้สึกกังวลและเครียดกันพอสมควรเลยทีเดียว เพราะไม่ค่อยจะถนัดในเรื่องนี้กันสักเท่าไร ครั้นจะให้คนอื่นมายื่นให้ก็เกรงใจ เดี๋ยวจะเห็นตัวเลขรายได้กันหมด ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะ K-Expert จะขออธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ทุกคนได้เข้าใจและเอาไปใช้ได้ทันที มาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่นภาษีกันเลยดีกว่าค่ะ

ใครมีหน้าที่ยื่นภาษีและต้องยื่นแบบไหน

หลายคนแอบสงสัย ไม่รู้ว่าตัวเองต้องยื่นภาษีกับเขาด้วยไหม หรือบางคนอาจเข้าใจไปเองว่า รายได้เรานิดเดียว ยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็คงไม่ต้องยื่นภาษีมั้ง จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ เพราะคนที่มีรายได้ทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเข้าเงื่อนไข 2 อย่างนี้ก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกคนค่ะ

คนโสด ที่มีรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 30,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเกิน 50,000 บาทต่อปีในปีภาษีนั้นก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีค่ะ

คนมีคู่ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันเกิน 60,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเกิน 100,000 บาทต่อปีในปีภาษีนั้น ก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเช่นกันค่ะ

ดังนั้น ใครรู้ตัวว่าเข้าข่ายก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีให้ถูกต้องนะคะ ส่วนจะยื่นแบบไหนให้ดูง่ายๆ เลยว่า เรามีรายได้อะไรบ้าง ถ้ามีรายได้เฉพาะเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพ ก็ให้ยื่นแบบภ.ง.ด. 91 ส่วนคนที่มีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่นๆ ด้วย หรือคนที่มีเฉพาะรายได้อื่นๆ อย่างเดียว ก็ให้ยื่นแบบภ.ง.ด. 90 ค่ะ อย่าสับสนนะคะ

เช็กสิทธิลดหย่อน และเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่นภาษี

เมื่อรู้แล้วว่าเราต้องยื่นภาษีแบบไหน ก่อนจะยื่นภาษี อย่าลืมเช็กสิทธิลดหย่อนที่มีและเตรียมเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนซะก่อนนะคะ ซึ่งเอกสารที่ใช้ในการยื่นภาษีก็มีหลายอย่างด้วยกัน แต่จะมีเอกสารอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลยค่ะ

1. หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) ที่เราได้รับจากนายจ้าง ซึ่งจะบอกให้เรารู้ว่าใครมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย รายได้ทั้งปี ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงจำนวนเงินที่เราจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้นค่ะ

2. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต จากบริษัทประกันชีวิตที่เราทำไว้สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

3. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) เป็นแบบฟอร์มที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และให้คุณพ่อคุณแม่เซ็นชื่อให้เราเป็นคนใช้สิทธิหักลดหย่อนด้วยนะคะ โดยสามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยค่ะ

4. หนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา จากบริษัทประกันชีวิตที่ระบุว่าตัวเราเป็นผู้ชำระเบี้ย สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยคุณพ่อคุณแม่ของเราหรือคู่สมรสต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีถึงจะใช้สิทธินี้ได้

5. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (ล.ย.04) เป็นแบบฟอร์มที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาทค่ะ

6. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถขอรับหรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เราซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

7. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถขอรับหรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เราซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีค่ะ

8. หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ธนาคารออกให้ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

9. ใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี สำหรับค่าบริการนำเที่ยวและค่าที่พักโรงแรมภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นในปี 2558 สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

10. ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เป็นใบเสร็จรับเงินที่ทางร้านค้าออกให้จากการไปชอปปิ้งในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 ซึ่งระบุวันที่ซื้อสินค้า ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ของเราผู้ซื้อไว้อย่างชัดเจน โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทค่ะ

11. ใบเสร็จรับเงินบริจาค ที่ทางหน่วยงานต่างๆ ออกให้ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว โดยเงินบริจาคการกุศลสาธารณะหักลดหย่อนได้ 1 เท่า แต่ถ้าเป็นเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาและการกีฬาเอามาหักลดหย่อนได้ถึง 2 เท่าเลยล่ะค่ะ

ใครมีสิทธิลดหย่อนภาษีข้อไหน ก็รีบเตรียมเอกสารหลักฐานเอาไว้ให้เรียบร้อยนะคะ เพราะหากเอกสารครบถ้วนเมื่อไหร่ก็สามารถจัดการยื่นภาษีได้เลยทันที หากเรายื่นเร็ว ยื่นไว ก็มีโอกาสได้เช็คคืนภาษีกลับมาเร็วนั่นเองค่ะ 

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณภาษีอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2559    
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2559 11:19:48 น.
Counter : 944 Pageviews.  

จะรวยยุคนี้ ต้องมีอาชีพเสริม

สวัสดีค่ะ 

การออมเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างมั่งคั่งก็จริง แต่หากพิจารณาให้ดีเราจะพบว่าคนที่ออมเงินเก่งอย่างเดียว จะไปมีอนาคตการเงินร่ำรวยเทียบเท่าคนที่มีรายได้สูงและออมเงินเยอะด้วยนั้นคงเป็นเรื่องยาก การเป็นยอดมนุษย์สุดประหยัดเพื่อออมเงินได้มากกว่าปกติ คือมากกว่าร้อยละ 20 ถึง 30 ของรายได้ต่อเดือนติดต่อกันเป็นเวลานาน (สำหรับกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลาง) อาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเนื่องจากต้องบีบรัดค่าใช้จ่ายมากเกินไป 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ “มนุษย์เงินเดือน” หรือผู้เป็นลูกจ้างประจำควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะโดยพื้นฐานแล้วกลุ่มนี้มักมีรายได้คงที่ในแต่ละเดือน พอข้ามปีก็ได้เงินเดือนขึ้นประมาณ 3 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน  และได้เงินโบนัสประมาณ 2 ถึง 10 เท่าของเงินเดือนแล้วแต่กับผลประกอบการของบริษัท ซึ่งหากเราใช้ข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณเงินที่เราจะมีในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า ก็จะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดว่าเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ตัวเองปรารถนาหรือไม่ หากตอบตัวเองว่าไม่น่าจะหรือไม่แน่ใจแล้ว ทางออกของปัญหานี้อยู่ตรงที่ “การหาอาชีพเสริม” เพื่อเริ่มรายได้นั่นเอง

เราให้นิยามอาชีพเสริมว่าเป็น “แหล่งรายได้จากการทำงานอื่นนอกเหนือจากงานประจำ” สิ่งนี้หมายถึงการแปลงความรู้ความสามารถของเราเพื่อสร้างรายได้ด้วยรูปแบบที่มั่นคงมากกว่าการหาเงินเป็นครั้งคราว เราอาจแบ่งอาชีพเสริมออกได้เป็นสามประเภทหลักคือการให้บริการ (Servicing)ซื้อมาขายไป (Trading) และผลิตเพื่อขาย(Producing)

อาชีพเสริมประเภท การให้บริการ อาศัยทักษะของตนเองเป็นวัตถุดิบสำคัญ จึงเป็นรูปแบบที่เริ่มต้นง่ายไม่ต้องใช้เงินทุนอะไรนัก แต่ต้องมั่นใจว่าทักษะความรู้หรือประสบการณ์ที่เรามีนั้นจะมีค่าพอที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายยอมจ่ายเงินให้ คนที่ทำอาชีพลักษณะนี้โดยทั่วไปมักต้องออกไปเจอลูกค้าจึงจะเสนอบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาชีพเหล่านี้ได้แก่ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าซื้อขายบ้าน ติวเตอร์ ช่างภาพรับถ่ายรูปงานรับปริญญา เป็นต้น อย่างไรก็ดี บางอาชีพก็ไม่จำเป็นต้องเจอลูกค้าเสมอไป บางคนรับออกแบบผลิตภัณฑ์โดยติดต่อลูกค้าทางอีเมล์เป็นหลัก บางคนขายทักษะการถ่ายภาพด้วยการนำรูปถ่ายวิวทิวทัศน์ของตนเองวางขายผ่านเว็บไซต์ซื้อขายรูปภาพ 

อาชีพเสริมประเภท ซื้อมาขายไป เป็นการจัดหาสิ่งของที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตเพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งอาจจะมีทั้งแบบซื้อมาแล้วค่อยขาย หรือเปิดพรีออเดอร์รับคำสั่งซื้อก่อนแล้วไปจัดหาสินค้ามาให้เพื่อกินส่วนต่างก็ได้ อาชีพเสริมที่เห็นหลักๆ คือการเปิดร้านขายของออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมเนื่องจากผู้บริโภคแทบทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้ ระบบการชำระเงินก็สะดวกไม่ว่าจะผ่านการโอนเงินผ่านมือถือหรือใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า นอกจากนี้ ต้นทุนการเริ่มต้นมีร้านค้าออนไลน์นั้นต่ำมากแต่มีศักยภาพในการเข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง ทำให้ลบข้อจำกัดการเปิดร้านแบบเดิมที่ต้องไปตระเวนหาเช่าห้องแถวในทำเลดีๆ ซึ่งก็แลกมาด้วยค่าเช่าที่ค่อนข้างแพง หัวใจสำคัญของอาชีพเสริมประเภทนี้อยู่ที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายและเข้าใจเทรนด์ความต้องการ เพื่อที่จะจัดหาสินค้ามานำเสนอได้ถูกจังหวะ หากสินค้าประเภทไหนเริ่ม Out หรือหลุดเทรนด์แล้วก็ต้องหูไวตาไวพอที่จะเร่งปล่อยสินค้าตัวนั้นให้รวดเร็ว

อาชีพเสริมประเภท ผลิตเพื่อขาย เป็นการนำวัตถุดิบต่างๆ มาสร้างเป็นสินค้าแล้วจำหน่าย อาชีพที่เราเห็นบ่อย เช่น ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ คอร์นเฟล็กหรือป๊อปคอร์นเคลือบรส เสื้อผ้าสำหรับสาวทำงาน รวมทั้งงานฝีมือต่างๆ เป็นต้น อาชีพประเภทนี้อาจยากตรงที่ต้องคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เอง ไม่เหมือนกับการซื้อมาขายไปที่นำของสำเร็จรูปมาขาย แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการทำกำไรมากกว่าหากสินค้าแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในท้องตลาดแต่ตอบโจทย์ความต้องการได้

เมื่อเริ่มสนใจอาชีพเสริมแล้ว อย่าลืมเตรียมความพร้อม แล้วลองเลือกทำอาชีพเสริมตามความชอบความถนัดของเราดูนะคะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมรับ-จ่าย สำหรับบันทึกเงินออมและลงทุนอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 28 มกราคม 2559    
Last Update : 28 มกราคม 2559 11:42:39 น.
Counter : 1142 Pageviews.  

3 นิสัยช่วยให้มีเงินเก็บ

สวัสดีค่ะ

ถ้าพูดถึงเรื่องการเก็บเงิน หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของเศรษฐี คนมีเงินเท่านั้นที่จะมีเงินเหลือกินเหลือใช้แล้วสามารถแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาเก็บออมได้สม่ำเสมอทุกเดือน คนจน หาเช้ากินค่ำ หรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จะเอาเงินที่ไหนมาเก็บ แค่พอมีพอใช้ไปวันๆ หมุนเงินให้ทันแบบเดือนชนเดือนก็ถือว่าเก่งแล้ว อย่าเพิ่งคิดอย่างนั้นเลยค่ะ เพราะจริงๆ แล้ว เราจะเก็บเงินได้หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยและพฤติกรรมของเราเองมากกว่า เพราะไม่ว่ารายได้จะมากหรือน้อยแค่ไหน ถ้าตั้งใจจะเก็บเงินซักอย่าง ยังไงเราก็ทำได้ K-Expert จึงอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกับ 3 นิสัยที่จะช่วยให้เราทุกคนมีเงินเก็บ ซึ่งสามารถทำตามได้ง่ายๆ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ

1. ใช้บัตรเอทีเอ็มกดเงินเพียงสัปดาห์ละครั้ง

ใครติดนิสัยชอบกดเงินบ่อยๆ ลองใช้วิธีนี้ดูค่ะ เริ่มจากการคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละสัปดาห์เพื่อดูว่า ปกติเราใช้เงินสัปดาห์ละประมาณเท่าไหร่ หรืออยากใช้สัปดาห์ละไม่เกินเท่าไหร่ แล้วให้กดเงินจำนวนนั้นมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเลือกกดในวันจันทร์เพราะเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ หลังจากนั้นให้แบ่งเงินออกเป็น 5 ส่วน หรือ 7 ส่วน แล้วแต่จำนวนวันที่เราต้องการใช้เงิน จะได้รู้ว่าต้องใช้เงินวันละเท่าไหร่ แล้วแบ่งเงินใส่กระเป๋าสตางค์ไว้แบบวันต่อวัน เพื่อป้องกันการใช้เกินนั่นเองค่ะ เงินส่วนที่เหลือให้หาที่เก็บไว้ก่อน วิธีนี้จะช่วยให้เรามีวินัยในการใช้เงินมากขึ้น ไม่กดเงินตามอำเภอใจ และยังช่วยให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกด้วย

2. ไม่ไปในที่ที่จะทำให้เราเสียตังค์

ถ้าเราไม่พาตัวเองเข้าไปในที่ที่จะทำให้เราต้องเสียเงินแล้ว เราก็จะรอดพ้นจากการเสียเงินในทันที วิธีนี้ง่ายไหมล่ะคะ ลองมาดูตัวอย่างกันเลยดีกว่าค่ะ อย่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถ้าเราไม่รู้จะไปไหนดีก็ให้พักผ่อนอยู่บ้านค่ะ เพราะถ้าเราไม่ออกจากบ้านไปไหน ไม่ไปร้านเสื้อผ้าที่เราชอบใส่ ไม่ไปร้านอาหารที่เราชอบกิน ไม่เข้าร้านกาแฟที่เราชอบดื่ม หรือแม้กระทั่งอยู่บ้าน ก็ไม่ต้องเผลอใจเข้าไปชอปปิ้งออนไลน์ ลองหากิจกรรมอย่างอื่นทำเพลินๆ แทน เช่น อ่านหนังสือ หรือทำงานบ้าน เพียงแค่นี้ เราก็จะไม่เกิดความอยากได้ และไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายกับเรื่องที่จะทำให้เราต้องเสียเงินได้ง่ายๆ แล้วล่ะค่ะ

3. ซื้อเฉพาะของที่ลิสต์ไว้เวลาไปชอปปิ้ง

ใครที่รู้ตัวว่าไม่สามารถห้ามใจ ไม่ให้พาตัวเองเข้าไปในที่ที่จะทำให้เราต้องเสียเงินได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ ลองใช้วิธีจดลิสต์รายการสินค้าที่เราจะซื้อไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะเวลาไปชอปปิ้งจะได้เดินดิ่งเข้าไปซื้อเฉพาะของที่เราลิสต์เอาไว้เท่านั้น ไม่วอกแวก ออกนอกลู่นอกทางไปเดินดูของอย่างอื่น หรือเผลอไปชอปปิ้งในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะซื้อมาก่อน วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น หรือชอปปิ้งเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น แถมยังช่วยประหยัดเวลาในการชอปปิ้งและได้ในสิ่งที่ต้องการครบถ้วนอีกด้วยล่ะค่ะ  

ใครอยากมีเงินเก็บ ลองเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมในการใช้เงินกันสักนิด ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้กันไป แม้ว่าช่วงแรกๆ อาจรู้สึกอึดอัด ขัดกับนิสัยของเราไปบ้าง แต่เมื่อได้ทำไปเรื่อยๆ เราจะเกิดความเคยชิน และไม่รู้สึกอึดอัดอีกต่อไป แถมยังช่วยให้เรามีวินัยในการใช้จ่ายและมีเงินเก็บมากขึ้นด้วย โดยเงินที่เก็บได้นี้ หากสะสมไปเรื่อยๆ และนำไปลงทุนให้เหมาะสมกับระยะเวลาในการใช้เงินและความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว ก็สามารถเอาไปทำตามเป้าหมายที่ฝันไว้ได้เลยล่ะค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมรับ-จ่ายอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 26 มกราคม 2559    
Last Update : 26 มกราคม 2559 11:18:44 น.
Counter : 1023 Pageviews.  

แก้สมการ "ชีวิตติดลบ"

สวัสดีค่ะ

เมื่อพูดถึง “ชีวิตติดลบ” เรามักนึกถึงคนที่ผิดหวัง หรือผิดพลาดจากเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องที่ทำให้คนเราต้องพบกับ “ชีวิตติดลบ” คงหนีไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างขาดไม่ได้ และถึงแม้ว่าเงินจะไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต แต่การไม่มีเงินก็ทำให้ชีวิตลำบากจนเรียกว่าติดลบได้ แล้วแบบไหนที่เรียกว่ามีปัญหาการเงินจน “ชีวิตติดลบ” และจะมีแนวทางแก้ไขยังไงได้บ้าง K-Expert มีคำตอบมาฝากค่ะ

ถ้าเราอยากรู้ว่าการเงินของตัวเราเป็นยังไง ให้เรารวบรวมทรัพย์สิน หนี้สิน รายรับ และรายจ่าย ของตัวเราออกมา แล้วคำนวณเป็นสมการทางการเงิน ... เขียนมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งงงกันนะคะ ไม่ได้ยากอะไรค่ะ แต่ที่ให้เขียนเป็นสมการจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การเงินของเราเป็นบวก เป็นศูนย์ หรือติดลบ ซึ่งสามารถแสดงด้วยสมการทางการเงิน 2 สมการ ดังนี้ค่ะ

“สมการความมั่งคั่ง” โดยเอาทรัพย์สิน ลบ หนี้สิน ถ้าคิดออกมาแล้วได้ค่าเป็นบวก แสดงว่าเรามีสุขภาพการเงินแข็งแรง ยิ่งเป็นบวกมากเท่าไร ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าเรามีความมั่งคั่งมากเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าได้ค่าเป็นลบ ก็คือ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน เรียกว่า ความลำบากเริ่มมาเยือนตัวเราแล้ว เพราะว่าเรามีภาระที่จะต้องชำระคืนหนี้สิน และที่สำคัญ ทรัพย์สินที่เรามี ถือว่า เรายังไม่ได้เป็นเจ้าของเต็มตัว แต่ยังมีส่วนของเจ้าหนี้รวมอยู่ด้วย ดังนั้น ถ้ามีหนี้สินมาก ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก เพราะถือว่าเรามี “ชีวิตติดลบ” มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

อีกสมการหนึ่งคือ “สมการเงินออม” คิดคำนวณได้จาก รายรับ ลบ รายจ่าย โดยผู้ที่จะมีสุขภาพการเงินที่ดีได้ต้องมีรายรับมากกว่ารายจ่าย เพราะเมื่อรายรับลบรายจ่ายแล้วเป็นบวก ก็คือ เงินออม ของเรานั่นเอง แต่ถ้าหักลบกันแล้ว ออกมาติดลบ ก็บ่งบอกได้ว่าปัญหาการเงินเริ่มเข้าใกล้ตัวเรา เพราะเมื่อเงินที่เรารับเข้ามาไม่เพียงพอกับเงินที่ต้องจ่ายออกไป เราอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่าย แล้วถ้าการเงินติดลบบ่อยๆ หรือกระเป๋าฉีกเป็นประจำ ต้องบอกว่า ถึงเวลาเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมรับมือกับภาวะ “ชีวิตติดลบ” ได้แล้วล่ะค่ะ

มาถึงตอนนี้ก็น่าจะพอรู้แล้วนะคะว่า สมการทางการเงินของเราเป็นยังไงกันบ้าง ถ้าใครที่มีสมการความมั่งคั่งและสมการเงินออมเป็นบวกทั้งคู่ คือ ทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน และรายรับมากกว่ารายจ่าย ต้องขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ เพราะแสดงถึงสุขภาพการเงินที่แข็งแรง และยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้มากขึ้นจากเงินออมที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปลงทุน เพิ่มความคุ้มครองด้วยการทำประกัน หรือวางแผนเพื่อเป้าหมายในชีวิต และแนะนำว่า แต่ละเดือนสามารถหักเงินเดือนมาเก็บออมไว้ก่อนนำเงินไปใช้จ่าย สามารถเก็บในเงินฝากประจำ 24 เดือน หรือกองทุนรวมที่เราสนใจ ช่วยสร้างวินัยการออมและมั่นใจได้ว่าทุกเดือนจะมีเงินเก็บออมอย่างแน่นอน

ส่วนใครที่มีสมการใดสมการหนึ่งติดลบ ต้องบอกว่า อาการยังไม่หนักหนาเท่าไรที่จะแก้สมการจากติดลบให้กลายเป็นบวกค่ะ โดยถ้ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน แต่มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่หามาได้ การแก้ปัญหาไม่ยากเลยค่ะ ควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการจดจะช่วยให้รู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง รู้ว่าอะไรไม่จำเป็น สามารถปรับลดได้บ้าง ซึ่งช่วยอุดรอยรั่วของกระเป๋าสตางค์ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ

หรือถ้าใครที่สามารถควบคุมการใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบของรายได้ แต่กลับมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน อาจเป็นเพราะอยู่ในวัยกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แนะนำให้นำเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในแต่ละเดือนไปชำระคืนหนี้สินเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะหนี้สินระยะสั้น พวกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย แต่ถ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินระยะยาวอย่างสินเชื่อบ้าน แนะนำให้รักษาวินัยในการผ่อนชำระให้ตรงเวลา และพยายามโปะเงินต้นให้ลดลง เพราะเมื่อยอดหนี้ลดลง ดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลง หมดหนี้ได้เร็วขึ้น และทำให้ความมั่งคั่งของตัวเราทยอยเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

แต่สำหรับใครที่ติดลบทั้งสองสมการ ดูแล้วมีปัญหาหนักที่สุด เพราะนอกจากเงินรายได้ไม่พอกับรายจ่ายแล้ว ยังมีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกด้วย แต่ไม่ว่ายังไงก็อย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะ แม้ชีวิตจะติดลบ แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ขอเพียงมีความตั้งใจและมีวินัยเป็นที่ตั้ง โดยเรื่องแรกที่ต้องทำเลยคือ จัดการกับรายจ่ายอย่างเข้มงวด ปรับ ตัด ลด ค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลง และหาทางเพิ่มรายได้ เพื่อให้มีเงินเหลือในแต่เดือนที่จะนำมาชำระคืนหนี้ให้หมดภาระไวขึ้น สิ่งสำคัญ พยายามไม่ก่อหนี้เพิ่ม ไม่เช่นนั้นจะยิ่งตอกย้ำภาวะ “ชีวิตติดลบ” ให้หนักยิ่งขึ้น

ไม่ว่าตัวเราจะมีสถานะ หรือสมการทางการเงินเป็นยังไง ถ้าเป็นบวก ก็ต้องพยายามรักษาสุขภาพทางการเงินให้แข็งแรงต่อไป แต่ถ้าติดลบ ก็ขอให้รู้ว่า ทุกอย่างสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ซึ่งการบริหารเงินรายรับ-รายจ่าย รับรู้รูปแบบการใช้ชีวิต และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการวางแผนการเงิน เพราะบางครั้งจุดเปลี่ยนอาจอยู่เพียงแค่ปลายจมูกของเราเท่านั้นเองค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมรับ-จ่ายอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




 

Create Date : 21 มกราคม 2559    
Last Update : 21 มกราคม 2559 11:44:19 น.
Counter : 1223 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.