Group Blog
 
All Blogs
 
3 คำถามฮิต ของเจ้าของร้านออนไลน์





สวัสดีค่ะ

หากพูดถึงวิธีการหารายได้ที่สามารถเริ่มได้ไม่ยากและมีโอกาสทำเงินได้มาก โดยเฉพาะในยุค Social Media แบบนี้คงจะหนีไม่พ้นการขายของออนไลน์นั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ใช้เวลาว่างจากงานประจำมาทำอาชีพเสริมด้วยการขายของออนไลน์ แม่บ้านที่ใช้เวลาว่างหลังจากทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกมาสร้างรายได้ หรือแม้แต่คนที่คิดจะทำธุรกิจแบบจริงๆ จังๆ เพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นธุรกิจของตัวเองในอนาคต ก็มักจะเริ่มต้นด้วยการขายของออนไลน์ ซึ่งคำถามที่เจ้าของร้านออนไลน์หลายคนสงสัยและถามกันเข้ามาบ่อยๆ นั้นมี 3 เรื่องด้วยกัน จะมีเรื่องอะไรบ้าง และมีคำตอบในเรื่องนั้นๆ อย่างไร K-Expert มีข้อมูลมาฝากกันค่ะ

1. ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไหม

แค่ขายของออนไลน์หลายคนบอกว่าไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ เพราะไม่อยากไปทำเรื่องให้ยุ่งยาก แต่จริงๆ แล้วการขายของออนไลน์จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพราะหากเราละเลยหรือลืมจด ตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 จะต้องจ่ายค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท และมีค่าปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 100 บาทค่ะ

สำหรับการจดทะเบียนพาณิชย์นั้นมี 2 ประเภทด้วยกัน หากเราเปิดร้านค้าแบบมีหน้าร้าน ก็จดทะเบียนพาณิชย์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นการขายของออนไลน์ ไม่ได้มีหน้าร้าน ก็จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ค่ะ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่อยู่กรุงเทพฯ สามารถไปจดได้ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถไปจดได้ที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยาค่ะ โดยมีค่าคำขอจดทะเบียนเพียงแค่ 50 บาท ซึ่งจ่ายครั้งเดียวตอนขอเท่านั้น และไม่มีค่าใช้จ่ายรายปีแต่อย่างใด ทั้งนี้ การที่เราไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นการแสดงถึงความตั้งใจในการทำอาชีพนี้ ซึ่งทำให้ลูกค้าและคู่ค้าของเราไว้วางใจเรามากขึ้นอีกด้วย

2. ควรจดเป็นนิติบุคคลเมื่อไร

ก่อนอื่นเจ้าของร้านออนไลน์ควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลไปเพื่ออะไร เพราะสามารถขายในนามบุคคลธรรมดาไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์มาควบคุมมากนัก งบการเงินก็ไม่ต้องทำ การยื่นภาษีก็ไม่ยุ่งยาก แทบจะไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานใดๆ เลย เรียกว่ามีความคล่องตัวมากกว่า แต่หากเราขายไปเรื่อยๆ จนมียอดขายในระดับหนึ่งแล้วก็จะเริ่มมีข้อจำกัด เช่น เริ่มเสียภาษีในฐานที่สูงขึ้น เพราะบุคคลธรรมดาใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้าซึ่งอยู่ที่ 5-35% ในขณะที่นิติบุคคลมีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 20% หรือมีข้อจำกัดด้านความน่าเชื่อถือเพราะต้องสั่งซื้อสินค้ามากๆ หรือมีการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงต้องการขยายกิจการให้โตขึ้นจากปัจจุบัน เพื่อช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้ เราจึงควรเริ่มศึกษาเรื่องการจัดตั้งนิติบุคคลค่ะ

สำหรับนิติบุคคลมีหลายรูปแบบด้วยกัน โดยรูปแบบหลักๆ ที่เจอจะมีอยู่ 2 รูปแบบคือ

• ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ซึ่งเป็นการบริหารกิจการที่ใกล้เคียงกับการทำงานด้วยตัวคนเดียวมากที่สุด แต่ต้องมีการทำบัญชีงบการเงิน มีการตรวจสอบและรับรองงบการเงินด้วย ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องเอกสารต่างๆ  ทั้งรายรับและรายจ่ายเพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ต้องมีหลักฐานเพื่อสามารถลงตัวเลขในงบการเงินได้

• บริษัทจำกัด (บจก.ถือเป็นนิติบุคคลที่มีโครงสร้างมากขึ้น คือมีทั้งผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัท ซึ่งนอกจากการทำบัญชีงบการเงินและสอบบัญชีแล้ว ยังต้องมีการทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ใบหุ้น และมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขหรือมีกฎหมายอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติตามด้วย เช่น การทำบัญชี การยื่นภาษีที่ต่างไปจากบุคคลธรรมดา รวมถึงหากจะเลิกกิจการก็จะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากอยู่เหมือนกัน

ดังนั้น หากคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง หรือถึงจุดที่คิดว่าจะต้องลาออกจากงานประจำมาทำอาชีพขายของออนไลน์แบบเต็มตัวแล้วล่ะก็ การจัดตั้งนิติบุคคลก็เป็นสิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ

3. อนาคตจะขอสินเชื่อ ควรเตรียมตัวอย่างไร

แน่นอนว่า หากเราสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อย่างต่อเนื่อง อนาคตถ้าจะขอสินเชื่อกับธนาคารก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อมอีกต่อไป ซึ่งการที่ธนาคารจะให้สินเชื่อกับกิจการหรือไม่นั้น ธนาคารจะพิจารณาว่า กิจการสามารถชำระคืนเงินกู้ได้หรือไม่ โดยหลักๆ จะดู 2 เรื่องด้วยกันคือ

• ประสบการณ์ โดยดูว่าดำเนินกิจการมานานแค่ไหนแล้ว ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากทะเบียนพาณิชย์หรือการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยปกติหากเราดำเนินกิจการมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี ก็พอจะมั่นใจได้ว่าสามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่อง

• กำไรของกิจการ โดยดูว่ากิจการมีกำไรเพียงพอในการชำระหนี้ไหม ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากเงินที่เข้าออกผ่านบัญชีธนาคาร หลายกิจการมีกำไรเยอะ แต่รับและจ่ายเป็นเงินสด เมื่อมาขอสินเชื่อ ทางธนาคารจะไม่มีทางรู้เลยว่าที่ผ่านมากิจการมีกำไรมากน้อยแค่ไหนดังนั้น กิจการควรรับรายได้ผ่านบัญชีธนาคาร และเมื่อจะใช้จ่ายจึงค่อยถอนเงินออกไป หากเราสามารถเดินบัญชีได้อย่างน้อย 1 ปีก็พอจะนำไปใช้อ้างอิงกับธนาคารได้ว่า มีกำไรเฉลี่ยเดือนละเท่าไร ทั้งนี้ สำหรับนิติบุคคล ชื่อบัญชีธนาคารควรเป็นชื่อนิติบุคคลด้วยเพื่อเป็นการยืนยันว่าบัญชีดังกล่าวสะท้อนรายได้หรือกำไรของกิจการอย่างแท้จริง

เชื่อว่าเจ้าของร้านออนไลน์คงได้คำตอบจากเรื่องที่สงสัยกันแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มต้นขายของออนไลน์ อยากให้ศึกษาและลงมือทำอย่างจริงจัง โดยทำให้ถูกต้อง มีความซื่อสัตย์และจริงใจกับลูกค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้ร้านค้าของเราเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงค่ะ   

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





Create Date : 30 สิงหาคม 2559
Last Update : 30 สิงหาคม 2559 11:25:53 น. 0 comments
Counter : 779 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.