Group Blog
 
All Blogs
 
สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ก่อน Early Retire


สวัสดีค่ะ

ใครๆ ก็คงอยาก Early Retire ไปใช้ชีวิตชิลๆ สบายๆ ในแบบที่เราต้องการใช่ไหมล่ะคะ     แต่การจะ Early Retire ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราจะต้องเตรียมเงินให้มากขึ้นเพื่อใช้ในช่วงหลังเกษียณที่ยาวนานขึ้นนั่นเอง สำหรับใครที่ตัดสินใจแล้วว่าจะ Early Retire แต่แอบรู้สึกกังวลไม่ได้ว่า เมื่อเรา Early Retire ไปแล้ว เงินที่เราออมผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นั้นจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เพราะโดยทั่วไป เราจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อเราอายุครบ 55 ปี แล้วอย่างนี้เราควรจะจัดการกับแหล่งเงินออมทั้ง 3 ประเภทนี้อย่างไร K-Expert ได้รวบรวมคำตอบมาให้แล้วค่ะ

1. กองทุนประกันสังคม

คนที่เป็นลูกจ้างประจำจะรู้ว่า เราต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เดือนละ 750 บาท ซึ่งเราจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้ประกันตนมาตรา 33” และจะได้รับสวัสดิการ 7 เรื่อง โดย 2 เรื่องหลักๆ ที่เรามักจะมีโอกาสได้ใช้กันคือ สิทธิในการรักษาพยาบาลภายใต้ประกันสังคม และเงินบำเหน็จบำนาญกองทุนชราภาพ แต่เมื่อจะ Early Retire ก็แปลว่าเราจะลาออกจากงาน ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงซึ่งจะทำให้สิทธิการรักษาพยาบาลนี้ถูกยกเลิกไปด้วย ดังนั้น หากใครต้องการได้รับสิทธินี้ต่อไปก็ต้องไปสมัครเป็น “ผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39” ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ลาออกจากงาน โดยจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือน เดือนละ 432 บาทค่ะ 

ส่วนสิทธิประโยชน์เรื่องเงินบำเหน็จบำนาญกองทุนชราภาพนั้น เมื่อเรา Early Retire จะยังไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้จนกว่าจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น หากใครที่ Early Retire แต่ไม่ได้ต้องการรับสิทธิการรักษาพยาบาลก็ให้รอต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะอายุครบ 55 ปี แล้วไปติดต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อรับสิทธิเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องไปสมัครเป็นผู้ประกันตนใดๆ

ทั้งนี้ สำหรับคนที่ไปสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมก็จะนับอายุสมาชิกต่อไป ส่วนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพหรือบำเหน็จชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปี ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนค่ะ คือถ้ามีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพซึ่งเป็นเงินรายเดือนที่จะได้รับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสียชีวิต แต่หากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพซึ่งเป็นเงินก้อนที่มอบให้เพียงครั้งเดียวค่ะ   

2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับคนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ จริงๆ แล้วเราสามารถเอาเงินออกมาได้โดยไม่ต้องรอจนอายุครบ 55 ปี แต่ก็ต้องเสียภาษีค่ะ ซึ่งมี 2 กรณีด้วยกันคือ กรณีอายุสมาชิกสั้น น้อยกว่า 5 ปี กับ กรณีอายุสมาชิกยาว เกินกว่า 5 ปีและอายุไม่ถึง 55 ปีค่ะ 

หากเราเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำเงินที่ได้รับคือ เงินที่นายจ้างช่วยออมทั้งในส่วนของเงินต้น (เงินสมทบ) กำไรที่เกิดขึ้น (ผลประโยชน์ของเงินสมทบ) และกำไรจากที่เราออมเอง (ผลประโยชน์ของเงินสะสม) มารวมเป็นเงินได้แล้วเสียภาษีตามฐานภาษีของเราค่ะ แต่หากเราอายุไม่ถึง 55 ปี และเป็นสมาชิกมานานคือเกิน 5 ปีแล้ว เงินในส่วนนี้จะนำไปคำนวณแบบพิเศษเรียกว่า “ใบแนบ” ซึ่งมีสูตรการคำนวณเฉพาะทำให้เสียภาษีน้อยกว่ากรณีแรกค่ะ 

หากใครยังไม่จำเป็นต้องรีบใช้เงิน แนะนำให้ติดต่อนายจ้างที่เราจะขอลาออกจากบริษัทว่าขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไปได้หรือไม่ ถ้าได้จะเสียค่าธรรมเนียมในการรักษาสถานภาพไว้เพียงปีละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น และให้เรารอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อเราอายุครบ 55 ปีแล้วและเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เราจะได้รับสิทธิยกเว้น ไม่ต้องนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี เช่น สมมติว่าเรา Early Retire ตอนอายุ 53 ปี ก็ไปแจ้งขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและรอจนอายุครบ 55 ปี ค่อยลาออกจากสมาชิกกองทุนก็จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี แต่ต้องเช็คให้ดีด้วยว่านายจ้างให้เราคงเงินไว้ในกองทุนได้สูงสุดกี่ปีค่ะ   

3. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

สำหรับกองทุนรวม RMF นี้มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างจะเข้มงวดสักหน่อย หากนำเงินออกมาก่อนกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขเรื่อง Early Withdrawals ทำให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับมาเป็นโมฆะและต้องคืนให้กับรัฐ โดยมีผลย้อนหลังในช่วง 5 ปีปฏิทินที่ผ่านมาค่ะ     ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้ซื้อกองทุนรวม RMF อย่างต่อเนื่องทุกปี ตามเกณฑ์คือ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือ 5,000 บาท แล้วแต่อันไหนจะต่ำกว่า แต่ถ้าอยากจำง่ายๆ ก็ซื้อ 5,000 บาทไปเลยดีกว่าค่ะ และถ้าใครอยาก Early Retire แบบไปเป็นนายตัวเอง มีรายได้จากการทำงานก็แปลว่าเรายังมีรายได้ มีภาระที่ต้องเสียภาษีอยู่ ดังนั้น การซื้อ RMF อย่างต่อเนื่องก็ไม่ได้สูญเปล่าอะไรเพราะเราจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการออมระยะยาวเหมือนเดิมค่ะ 

หวังว่าข้อมูลที่บอกไปจะเป็นแนวทางในการจัดการกับแหล่งเงินออมอย่างกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับคนที่วางแผนจะ Early Retire ไปใช้ชีวิตในแบบที่เราฝันไว้ได้นะคะ โดยให้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะกับเรามากที่สุด เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และมีชีวิตที่สุขสบายในช่วงบั้นปลายของเรานั่นเองค่ะ 

-----------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Cal Tool: คำนวณเงินออมวันเกษียณ <<< โหลดฟรี




Create Date : 14 ตุลาคม 2558
Last Update : 14 ตุลาคม 2558 16:05:01 น. 0 comments
Counter : 1044 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.