Group Blog
 
All Blogs
 
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่นอีกไหม

สวัสดีค่ะ

ช่วงต้นเดือนมีนาคมแบบนี้น่าจะเป็นเวลาที่หลายคนกำลังรวบรวมเอกสารต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปัญหาที่ K-Expert พบบ่อยก็คือ ผู้เสียภาษีมีเงินได้อื่นนอกจากเงินเดือน แต่ไม่ได้ยื่นแสดงรายได้ดังกล่าวด้วยสาเหตุบางอย่าง เช่น ไม่รู้ว่าต้องนำมารวมในแบบประเมิน หรือคิดว่าหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว แปลว่าเราหมดภาระภาษีแล้ว หรือจงใจเลี่ยงไม่แสดงเงินได้เพราะคิดว่าทางการไม่น่าจะตรวจเจอ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ช้าก็เร็วจะทำให้เกิดการลงโทษคือเบี้ยปรับภาษีตามมา

ในทางกฎหมายแล้ว “ไม่รู้ไม่ได้แปลว่าไม่ผิด” เพราะการจะแยกระหว่างคนกลุ่มหนึ่งคือไม่รู้แล้วจึงไม่ได้ยื่น ออกจากคนอีกกลุ่มคือรู้แต่จงใจไม่ยื่นภาษีนั้นทำได้ค่อนข้างยากในทางปฏิบัติ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ยื่นแบบประเมินที่จะต้องทำความเข้าใจเงินที่ตนเองได้มาเพื่อการยื่นภาษีอย่างถูกต้องและครบถ้วนค่ะ

เงินได้ประเภทแรกที่อยากพูดถึงคือ รายได้พิเศษต่างๆ หลายคนหารายได้เสริมด้วยการเป็นวิทยากรในงานสัมมนา เป็นอาจารย์รับเชิญสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิช่วยออกข้อสอบ เป็นต้น เงินที่ได้มาจากงานเหล่านี้ถือเป็นเงินได้ประเภท 40(2) คือมาจากการรับจ้างที่จะได้เงินเมื่อทำงานเสร็จสิ้น เวลาจะได้เงินมานั้นผู้ว่าจ้างจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากรในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ หรือบางคนอาจรับงานในลักษณะที่เข้าข่ายนักแสดงสาธารณะ เช่น ถ่ายโฆษณา เล่นละคร แสดงตลก ซึ่งถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ทำให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้

จุดที่พลาดคือ ผู้มีเงินได้มักคิดไปเองว่าผู้ว่าจ้างได้ “จ่ายภาษีแทน” ให้เรียบร้อยแล้ว แต่การหักภาษี ณ ที่จ่ายเหล่านี้เป็นเพียงการนำส่งภาษีบางส่วนเท่านั้น หมายความว่าผู้มีเงินได้ยังคงต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่นๆ ของตัวเองเพื่อยื่นภาษีอีกครั้ง

หลายคนมักถามว่า แล้วกรมสรรพากรจะรู้ได้อย่างไร รับเงินแล้วทำเงียบๆ ไปเลยดีไหม ตอบเลยค่ะว่า รู้แน่ เพราะตอนผู้ว่าจ้างทำการหักภาษีนั้นต้องมีการระบุว่ารายได้นี้จ่ายให้ใคร โดยบันทึกข้อมูลเลขที่บัตรประชาชนของผู้รับเงินไว้ด้วย แปลว่าข้อมูลนี้อยู่ในระบบแล้วอย่างแน่นอน เพียงแต่อาจจะรอวันให้เจ้าหน้าที่รื้อข้อมูลขึ้นมาดูเท่านั้น ใครที่คิดว่าตัวเองพลาดไปก็ขอให้ไปแจ้งสำนักงานสรรพากรพื้นที่เพื่อทำการคำนวณภาษีใหม่จะดีกว่าค่ะ

คนที่ได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมก็มีเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจเช่นกัน คือเวลาที่เราไปเปิดบัญชีกองทุนรวมนั้นจะมีช่องให้เลือกว่าจะยินยอมให้บริษัทจัดการลงทุนหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 หรือไม่ ในเมื่อถามว่าได้เงินแล้วจะให้หักภาษีเลยไหม คนเราก็มักเลือกที่จะไม่จ่ายดีกว่า แต่การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดภาระความรับผิดชอบตามมา โดยผู้มีเงินได้ต้องนำเงินปันผลกองทุนรวมมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีด้วย และที่สำคัญกว่านั้น ผู้ที่เลือกยินยอมบ้างไม่ยินยอมบ้างคือ ต้องยื่นแสดงเงินปันผลของกองทุนรวมอื่นๆ “ทุกรายการ” แม้ว่าบางกองทุนจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วก็ตาม 

สำหรับคนที่คาดว่าจะมีรายได้ในอัตราภาษีร้อยละ 15 ขึ้นไปนั้น แนะนำให้เลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 (และต้องหักสำหรับทุกกองทุนรวมด้วย) เพราะการหักภาษี ณ ที่จ่ายในกรณีของเงินปันผลกองทุนรวมนั้นถือเป็นภาษีสุดท้าย คือ “จ่ายแล้วจบ” เราไม่ต้องนำเงินปันผลมารวมคำนวณในฐานภาษีของเรา ทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงการบริหารเงินส่วนบุคคล

การลืมแสดงรายการเงินได้สองประเภทที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นจะส่งผลให้เกิดการตีความว่ามีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงภาษี และทำให้เกิดเบี้ยปรับตามมา อย่างไรก็ดี มีเงินได้อีกประเภทหนึ่งที่เรามักลืมที่จะนำมาแสดงแล้วเป็นผลให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่คุ้ม เงินได้นั้นก็คือ “เงินปันผลหุ้นสามัญ” นั่นเอง

เงินปันผลที่เราได้รับจากหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 และถือเป็นภาษีสุดท้ายเช่นกัน ดูเผินๆ แล้วคล้ายกับกรณีเงินปันผลกองทุนรวม แต่การละเลยไม่นำเงินปันผลจากหุ้นมารวมคำนวณนี้อาจทำให้พลาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก “เครดิตภาษีเงินปันผล” ซึ่งเป็นกลยุทธ์วางแผนภาษีที่สำคัญเลยทีเดียว

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเงินปันผลที่เราได้รับมานั้นเป็นกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่หักภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว หากนำเงินก้อนเดียวกันที่ “เคย” ถูกหักภาษีไปแล้วมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดาอีก จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความซ้ำซ้อนในการเสียภาษี กรมสรรพากรจึงกำหนดเรื่องเครดิตภาษีเงินปันผลเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนนี้

การจะนำเงินปันผลมารวมนั้นจะไล่ย้อนกลับไปถึงยอดเงินก่อนที่จะมีการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล สมมติเราในฐานะบุคคลธรรมดาได้เงินปันผลจากหุ้นที่ 80,000 บาท หากบริษัทมหาชนนี้ได้จ่ายภาษีนิติบุคคลในอัตราร้อยละ 20% แปลว่าจริงๆ แล้วมีกำไรสุทธิก่อนหักภาษีจำนวน 100,000 บาท ก็ให้เอาเงินก้อนนี้ถือบวกเข้าไป

สมมติว่าคนที่ไม่ได้ใช้เครดิตภาษีเงินปันผลมีเงินเดือนและโบนัสทั้งปี 1,000,000 บาท หักค่าใช้จ่ายของเงินได้ประเภทเงินเดือนและค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้วเหลือเป็นเงินได้พึงประเมินสุทธิจำนวน 910,000 บาท คิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 97,000 บาท (คำนวณโดยใช้ฐานภาษีเดิม)

หากจะขอเครดิตภาษีเงินปันผลก็ต้องนำรายได้อีก 100,000 บาท ข้างต้นเข้าไปรวม ทำให้มีเงินได้ทั้งหมด 1,100,000 บาท คิดเป็นภาษีที่ต้องจ่าย 117,500 บาท ซึ่งฟังดูเหมือนว่าต้องเสียภาษีเยอะกว่า “แต่” เงินปันผลก้อนนี้ได้ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว 20,000 บาท (ร้อยละ 20 จากเงิน 100,000 บาท) และภาษีหัก ณ ที่จ่าย 8,000 บาท (ร้อยละ 10 จากเงินที่เหลือคือ 80,000 บาท) ดังนั้น เราสามารถขอคืนส่วนที่จ่ายไปแล้วคือ 28,000 บาท เพื่อมาคำนวณใหม่ เบ็ดเสร็จทำให้เหลือภาษีที่ต้องเสียจำนวน 117,500 – 28,000 เท่ากับ 89,500 บาท ซึ่งต่ำกว่ากรณีแรกที่ต้องเสียภาษีกรณีที่ไม่ได้ขอเครดิตภาษีเงินปันผลเสียอีก

เห็นไหมคะว่า การภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีความสำคัญต่อการวางแผนภาษีไม่น้อยเลย ยังไงก็อย่าลืมยื่นภาษีให้ถูกต้องกันด้วยนะคะ 

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณภาษีอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




Create Date : 03 มีนาคม 2559
Last Update : 3 มีนาคม 2559 11:27:29 น. 0 comments
Counter : 1066 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.