Group Blog
 
All Blogs
 
คนมีลูก ก็วางแผนเกษียณได้





สวัสดีค่ะ

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ครอบครัว อยากให้ลูกมีชีวิตที่สุขสบาย ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียง ก็ทุ่มเทเงินทองให้กับลูก ไม่ได้คิดเผื่อตัวเองว่าต้องมีเงินเก็บและหลักประกันที่มั่นคงเผื่อเอาไว้ในวัยเกษียณ โดยคิดว่าส่งเสียเลี้ยงดูลูกจนเรียนจบก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน แม้ว่าจะไม่มีอะไรผิดอะไรถูกในเรื่องของการเลี้ยงลูก แต่การทุ่มเทให้ลูกจนตัวเราต้องลำบากยามบั้นปลายชีวิต หรือกลายเป็นภาระของลูกในอนาคต ก็คงไม่ดีแน่ ดังนั้น ในฐานะนักวางแผนการเงิน K-Expert แนะนำว่า อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่ามองข้ามการวางแผนเกษียณของตัวเอง ซึ่งบทความนี้ก็มีแนวทางในการเก็บออมเงินเพื่อเกษียณมาฝากค่ะ

ด้วยค่านิยมของคนไทยเราจะส่งลูกเรียนจนจบอย่างน้อยๆ ระดับปริญญาตรี ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 19-21 ปี โดยถ้าคุณพ่อคุณแม่ค่อยมาวางแผนเก็บเงินเกษียณของตัวเองเมื่อลูกเรียนจบ อาจช้าเกินไป เพราะตัวเราก็คงใกล้เกษียณ หรือคุณพ่อคุณแม่บางครอบครัวอาจเกษียณก่อนที่ลูกจะเรียนจบก็เป็นได้ ดังนั้น แผนเกษียณของตัวเองและแผนการศึกษาของลูกเป็นสิ่งที่ควรวางแผนควบคู่กัน

ในการเก็บเงินเพื่อแผนเกษียณของตัวเรานั้น ควรจัดทำแยกออกจากการวางแผนเพื่อการศึกษาลูกหรือแผนการเงินอื่น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบซึ่งกันและกัน โดยคำนวณก่อนว่าหลังเกษียณต้องใช้เงินเท่าไร เพื่อกันเงินในแต่ละเดือนมาเก็บออมให้เพียงพอ แล้วค่อยกันเงินอีกส่วนหนึ่งสำหรับค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายของลูก คำนวณคร่าวๆ หากวันนี้คุณพ่อคุณแม่อายุ 30 ปี มีเวลาเก็บเงินเกษียณเพื่อตัวเอง 30 ปีก่อนที่จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี จำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณของคนสองคนอยู่ที่ประมาณเดือนละ 25,500 บาท ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณจากการสำรวจของ K-Expert ว่า ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของคนๆ หนึ่งจะอยู่ที่เดือนละ 15,500 บาท แต่สำหรับคู่สามีภรรยา ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะใช้ร่วมกันได้ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย พวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตัวเลข 25,500 บาท เมื่อรวมเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3%  เข้าไปแล้ว ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น 62,000 บาท โดยหากใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นเวลา 25 ปี เท่ากับว่า ณ วันที่เกษียณต้องมีเงินเตรียมไว้ประมาณ 18.6 ล้านบาท สมมติเก็บออมเงิน 30 ปี ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี จะเก็บออมเดือนละ 15,220 บาทค่ะ แต่หากรอจนลูกเรียนจบ ค่อยเริ่มเก็บเงิน คุณพ่อคุณแม่อาจมีอายุสัก 50 ปี เท่ากับมีเวลาออมเงิน 10 ปี เพื่อให้มีเงินพอใช้จ่ายหลังเกษียณ จะต้องเก็บออมถึงเดือนละ 59,400 บาท จะเห็นได้ว่า ยิ่งเก็บออมเร็ว จะไม่ต้องเก็บเงินในแต่ละเดือนสูงมากนัก ส่วนจะเก็บออมที่ไหนได้บ้างนั้น ขอแนะนำ ดังนี้ค่ะ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานประจำ และบริษัทมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนะนำให้สมัครเป็นสมาชิก และเลือกสะสมเงินในอัตราสูงสุดเท่าที่ทำได้ (ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน) ซึ่งบริษัทหรือนายจ้างจะสมทบเงินเข้ากองทุนฯ ให้อีกแรงหนึ่งด้วย การสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะได้ประโยชน์ในแง่ของการมีบริษัทฯ ช่วยออมเงินให้แล้ว ยังได้ประโยชน์ทางด้านภาษีถึง 2 ต่อด้วยกัน ต่อที่ 1 คือ เงินที่เราจ่ายเข้ากองทุนฯ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่เราจ่ายสะสม สูงสุดไม่เกินปีละ 5 แสนบาท และต่อที่ 2 หากนำเงินออกจากกองทุนฯ เมื่อมีอายุอย่างน้อย 55 ปี และเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี จะไม่ต้องเสียภาษี เห็นแบบนี้ ต้องรีบสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันแล้วล่ะค่ะ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเสียภาษี กองทุน RMF เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการลดหย่อนภาษีและวางแผนเกษียณในคราวเดียวกันเลยค่ะ โดยสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท และด้วยเงื่อนไขของกองทุน RMF ที่กำหนดให้มีการลงทุนทุกปี หรือเว้นไม่ซื้อหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี ลงทุนถึงอายุ 55 ปี และมีการลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม จึงจะขายกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข ก็ช่วยสนับสนุนการออมเงินเพื่อเกษียณด้วยค่ะ กองทุน RMF ยังมีลักษณะพิเศษ คือ มีหลายนโยบาย เช่น ลงทุนในหุ้น ลงทุนในตราสารหนี้ ลงทุนผสมในหุ้นและตราสารหนี้ ลงทุนในทองคำ ให้เลือกลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือตามอายุของผู้ลงทุน รวมถึงไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพื่อให้เราได้สะสมเงินในกองทุนไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเองค่ะ

ประกันชีวิต สำหรับประกันชีวิตที่เหมาะกับการวางแผนเกษียณ ขอแนะนำ แบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเราจะได้รับเงินก้อนจากประกันเมื่อครบสัญญา รวมถึงมีความคุ้มครองให้ลูกหรือครอบครัวหากเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้เราต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย โดยแนะนำให้เลือกแบบประกันที่มีความคุ้มครองหรือระยะเวลาครบสัญญาสอดคล้องกับอายุเกษียณของเรา เช่น วางแผนเกษียณในอีก 25 ปีข้างหน้า ก็เลือกแบบประกันที่ครบสัญญารับเงินก้อนในอีก 25 ปี นอกจากนี้ ยังมีประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า หลังเกษียณจะมีเงินให้ใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยประกันจะเริ่มจ่ายเงินเป็นรายงวดให้เราเมื่อมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และที่สำคัญ ประกันชีวิตทั้งแบบสะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ หากเราเลือกทำแบบที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป เบี้ยที่จ่ายในแต่ละปีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงปีละ 3 แสนบาทเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า มีหลากหลายช่องทางในการวางแผนเกษียณสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แถมช่วยให้ประหยัดเงินภาษีได้ด้วย ทั้งนี้ เมื่อรู้แล้วว่าต้องเก็บเงินเพื่อแผนเกษียณเดือนละเท่าไร คุณพ่อคุณแม่จะสามารถวางแผนการศึกษาและค่าใช้จ่ายของลูกได้เหมาะสม อย่างแผนการศึกษา โรงเรียนแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน สองภาษา นานาชาติ ก็มีค่าเล่าเรียนที่แตกต่างกัน แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ย่อมอยากเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่ก็ต้องให้มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับรายได้ของครอบครัว นอกจากนี้ การกันเงินเพื่อแผนเกษียณของตัวเราออกมาก่อน ก็ช่วยให้เราไม่ใช้จ่ายเงินไปกับลูกจนหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเรียนพิเศษ เสื้อผ้า ของเล่น โดยมีการวางแผนซื้อเท่าที่จำเป็น เพราะหากไม่วางแผนให้ดี ไม่เพียงแค่ไม่มีเงินเพื่อแผนเกษียณของตัวเรา อาจมีผลกระทบกับแผนการศึกษาของลูกได้อีกด้วย

เมื่อมีลูก ก็มีค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่น้อย จึงต้องวางแผนให้ดี มีการกันเงินออมเพื่อเกษียณของตัวเอง ไม่นำเงินสำหรับแผนเกษียณไปใช้เพื่อแผนการเงินอื่น และอย่ารอจนใกล้เกษียณค่อยคิด ค่อยวางแผน ค่อยเริ่มเก็บเงิน เพราะอาจสายเกินไป กลายเป็นปัญหาการเงิน ซึ่งเราคงไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวที่เรารัก ดังนั้น เมื่อวางแผนมีลูก ก็เริ่มวางแผนเกษียณไปด้วยกันเลยค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





Create Date : 29 กันยายน 2559
Last Update : 29 กันยายน 2559 11:23:10 น. 0 comments
Counter : 847 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.