Group Blog
 
All Blogs
 
ใช้ทุกสิทธิลดหย่อนภาษีให้มีเงินเหลือ

สวัสดีค่ะ

มนุษย์เงินเดือนกับภาษีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมานาน และถือเป็นหน้าที่ของคนที่มีรายได้อย่างเราๆ ทุกคนที่จะต้องยื่นและเสียภาษี เชื่อเลยว่าเพื่อนๆ หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับเรื่องภาษีกันสักเท่าไร และมองว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยาก จึงอาจปล่อยปละละเลย ไม่ค่อยสนใจวางแผนภาษีกันเท่าที่ควร มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ต้องหาเงินมาจ่ายภาษีนั่นแหละ ในขณะที่เห็นคนใกล้ตัวได้เช็คคืนภาษีกันมาหลายตังค์ มีเงินมาใช้หลักพัน หลักหมื่นกันเลยทีเดียว ใครอยากประหยัดภาษีและมีเงินเหลือใช้บ้าง K-Expert แนะนำให้วางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี โดยเช็กสิทธิลดหย่อนที่มี และใช้ทุกสิทธิลดหย่อนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รายละเอียดที่ว่าจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ

สิทธิลดหย่อนภาษีที่ได้มาโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

สำหรับสิทธิข้อนี้เป็นสิทธิที่เราได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเลย ซึ่งได้แก่ สิทธิลดหย่อนตัวเราเองและสมาชิกในครอบครัว ดังนี้ค่ะ

เริ่มจากตัวเราเองนั้นจะมี ค่าลดหย่อนส่วนตัวปีละ 30,000 บาท

สำหรับคนที่แต่งงาน มีคู่แล้ว ถ้าคู่ของเราไม่มีรายได้ก็จะมี ค่าลดหย่อนคู่สมรสให้อีกปีละ 30,000 บาท และถ้ามีลูกด้วยก็จะมี ค่าลดหย่อนลูกให้ฝ่ายละ 15,000 บาทต่อปีต่อลูก 1 คน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 3 คนค่ะ นอกจากนี้ ถ้าลูกของเราเรียนอยู่ในประเทศด้วย ก็ยังมี ค่าลดหย่อนการศึกษาลูกให้อีกฝ่ายละ 2,000 บาทต่อปีต่อลูก 1 คน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 3 คนเช่นกันค่ะ

ส่วนคนที่คุณพ่อคุณแม่อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะมี ค่าลดหย่อนคุณพ่อคุณแม่ให้คนละ 30,000 บาทต่อปีค่ะ

นอกจากนี้ ใครที่อุปการะเลี้ยงดูคนพิการอยู่จะมี ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการให้คนละ 60,000 บาทต่อปีค่ะ

เห็นไหมคะว่า เป็นสิทธิลดหย่อนใกล้ตัวที่เราได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเลย ดังนั้น แนะนำให้เช็กสิทธิเหล่านี้เป็นอันดับแรก และใช้สิทธิที่เรามีให้เต็มที่ไปเลยค่ะ

สิทธิลดหย่อนภาษีที่มีคนจัดให้ ไม่ต้องออกแรงมาก

สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนอยู่แล้วก็สามารถ นำเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาทต่อปีค่ะ

ส่วนคนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทหรือเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็สามารถ นำเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีค่ะ

ลองเช็กจากใบ 50 ทวิ ที่บริษัทออกให้ดูนะคะว่า ในปีนี้เราได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไปทั้งหมดเท่าไร และได้จ่ายเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไปเท่าไร จะได้นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มสิทธิค่ะ

นอกจากนี้ คนที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ ก็สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่จ่ายไปมาลดหย่อนภาษีได้ค่ะ โดยนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรก ซึ่งมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทด้วยแล้ว ก็สามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาหักลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย

ทั้งนี้ หากใครใช้สิทธิทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็ยังมีภาระต้องเสียภาษีอยู่อีก แนะนำให้หาตัวช่วยมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม โดยการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ดังนี้ค่ะ

สิทธิลดหย่อนภาษีที่ต้องออกแรงเพิ่ม

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถนำค่าซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีค่ะ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถนำค่าซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีค่ะ

ประกันชีวิต สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีค่ะ

ประกันบำนาญ สามารถนำค่าเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทค่ะ

ประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ สามารถนำค่าเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของเราเองหรือของคู่สมรสที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ อีก ได้แก่ เงินบริจาค และค่าลดหย่อนจากการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเงินบริจาคเพื่อการศึกษาและการกีฬาที่สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า และค่าลดหย่อนจากการท่องเที่ยวไทยคือ ค่าที่พักโรงแรมและค่าทัวร์ที่สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปีนั้น จะสิ้นสุดในปี 58 นี้แล้วนะคะ ใครยังไม่ใช้สิทธิ ต้องรีบหน่อยแล้วล่ะค่ะ

จะเห็นว่า สิทธิลดหย่อนภาษีมีมากมายหลายรูปแบบ ขอเพียงแค่เราวางแผนภาษีกันสักนิด เช็กสิทธิลดหย่อนที่มีสักหน่อย แล้วใช้ทุกสิทธิลดหย่อนเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเริ่มจากการใช้สิทธิที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มก่อน ถ้ายังไม่เพียงพอ ค่อยมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ต้องใช้เงินลงทุน โดยเลือกลงทุนให้เหมาะกับจุดประสงค์ ตรงกับความต้องการ และความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเรามากที่สุด เพียงเท่านี้เราก็จะมีเงินเหลือใช้ ไม่ต้องกังวลกับการหาเงินมาจ่ายภาษีอีกต่อไปค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณภาษีอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




Create Date : 24 ธันวาคม 2558
Last Update : 24 ธันวาคม 2558 11:39:48 น. 0 comments
Counter : 1039 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.