Group Blog
 
All Blogs
 
เช็กความพร้อมก่อนยื่นภาษี

สวัสดีค่ะ

เข้าสู่เทศกาลยื่นภาษี เชื่อว่าเป็นช่วงที่เพื่อนๆ หลายคนรู้สึกกังวลและเครียดกันพอสมควรเลยทีเดียว เพราะไม่ค่อยจะถนัดในเรื่องนี้กันสักเท่าไร ครั้นจะให้คนอื่นมายื่นให้ก็เกรงใจ เดี๋ยวจะเห็นตัวเลขรายได้กันหมด ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะ K-Expert จะขออธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ทุกคนได้เข้าใจและเอาไปใช้ได้ทันที มาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่นภาษีกันเลยดีกว่าค่ะ

ใครมีหน้าที่ยื่นภาษีและต้องยื่นแบบไหน

หลายคนแอบสงสัย ไม่รู้ว่าตัวเองต้องยื่นภาษีกับเขาด้วยไหม หรือบางคนอาจเข้าใจไปเองว่า รายได้เรานิดเดียว ยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็คงไม่ต้องยื่นภาษีมั้ง จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ เพราะคนที่มีรายได้ทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเข้าเงื่อนไข 2 อย่างนี้ก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกคนค่ะ

คนโสด ที่มีรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 30,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเกิน 50,000 บาทต่อปีในปีภาษีนั้นก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีค่ะ

คนมีคู่ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันเกิน 60,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเกิน 100,000 บาทต่อปีในปีภาษีนั้น ก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเช่นกันค่ะ

ดังนั้น ใครรู้ตัวว่าเข้าข่ายก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีให้ถูกต้องนะคะ ส่วนจะยื่นแบบไหนให้ดูง่ายๆ เลยว่า เรามีรายได้อะไรบ้าง ถ้ามีรายได้เฉพาะเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพ ก็ให้ยื่นแบบภ.ง.ด. 91 ส่วนคนที่มีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่นๆ ด้วย หรือคนที่มีเฉพาะรายได้อื่นๆ อย่างเดียว ก็ให้ยื่นแบบภ.ง.ด. 90 ค่ะ อย่าสับสนนะคะ

เช็กสิทธิลดหย่อน และเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่นภาษี

เมื่อรู้แล้วว่าเราต้องยื่นภาษีแบบไหน ก่อนจะยื่นภาษี อย่าลืมเช็กสิทธิลดหย่อนที่มีและเตรียมเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนซะก่อนนะคะ ซึ่งเอกสารที่ใช้ในการยื่นภาษีก็มีหลายอย่างด้วยกัน แต่จะมีเอกสารอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลยค่ะ

1. หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) ที่เราได้รับจากนายจ้าง ซึ่งจะบอกให้เรารู้ว่าใครมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย รายได้ทั้งปี ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงจำนวนเงินที่เราจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้นค่ะ

2. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต จากบริษัทประกันชีวิตที่เราทำไว้สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

3. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) เป็นแบบฟอร์มที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และให้คุณพ่อคุณแม่เซ็นชื่อให้เราเป็นคนใช้สิทธิหักลดหย่อนด้วยนะคะ โดยสามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยค่ะ

4. หนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา จากบริษัทประกันชีวิตที่ระบุว่าตัวเราเป็นผู้ชำระเบี้ย สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยคุณพ่อคุณแม่ของเราหรือคู่สมรสต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีถึงจะใช้สิทธินี้ได้

5. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (ล.ย.04) เป็นแบบฟอร์มที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาทค่ะ

6. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถขอรับหรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เราซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

7. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถขอรับหรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เราซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีค่ะ

8. หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ธนาคารออกให้ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

9. ใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี สำหรับค่าบริการนำเที่ยวและค่าที่พักโรงแรมภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นในปี 2558 สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

10. ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เป็นใบเสร็จรับเงินที่ทางร้านค้าออกให้จากการไปชอปปิ้งในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 ซึ่งระบุวันที่ซื้อสินค้า ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ของเราผู้ซื้อไว้อย่างชัดเจน โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทค่ะ

11. ใบเสร็จรับเงินบริจาค ที่ทางหน่วยงานต่างๆ ออกให้ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว โดยเงินบริจาคการกุศลสาธารณะหักลดหย่อนได้ 1 เท่า แต่ถ้าเป็นเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาและการกีฬาเอามาหักลดหย่อนได้ถึง 2 เท่าเลยล่ะค่ะ

ใครมีสิทธิลดหย่อนภาษีข้อไหน ก็รีบเตรียมเอกสารหลักฐานเอาไว้ให้เรียบร้อยนะคะ เพราะหากเอกสารครบถ้วนเมื่อไหร่ก็สามารถจัดการยื่นภาษีได้เลยทันที หากเรายื่นเร็ว ยื่นไว ก็มีโอกาสได้เช็คคืนภาษีกลับมาเร็วนั่นเองค่ะ 

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมคำนวณภาษีอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2559 11:19:48 น. 0 comments
Counter : 945 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.