Group Blog
 
All Blogs
 

เงินเดือนเพิ่มรับปีใหม่ ควรจัดการอย่างไร







สวัสดีค่ะ

การขึ้นปีใหม่เป็นสถานการณ์ที่มีความสำคัญในเชิงการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะสำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” หรือลูกจ้างผู้มีเงินได้ประจำจากการทำงาน โดยทั่วไปแล้วก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ถึง 6 จากปีก่อน และในปี 2560 นี้เป็นปีที่พิเศษขึ้นมาอีกสักหน่อย เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยการเพิ่มจำนวนการหักค่าใช้จ่ายเงินได้และการหักค่าลดหย่อน ทำให้ผู้เสียภาษีมีเงินออมเพิ่มขึ้น

ขออธิบายกลไกการคำนวณภาษีสักเล็กน้อย จำนวนเงินที่เราได้รับจากนายจ้างหรือวิธีการอื่นๆ จะถูกเรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” ซึ่งเงินก้อนนี้ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเราจะต้องจ่ายภาษีเยอะหรือน้อย เนื่องจากต้องนำมาหักกับรายการค่าใช้จ่ายเงินได้และค่าลดหย่อนก่อน เพื่อให้ได้ “เงินได้สุทธิ” ซึ่งจะใช้เป็นฐานคำนวณภาษีต่อไป โดยค่าใช้จ่ายเงินได้นั้นมีไว้เพื่อชดเชยต้นทุนการออกไปทำงานของผู้มีรายได้ ส่วนค่าลดหย่อนเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้เสียภาษีดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ภาครัฐต้องการ  โดยรวมแล้วเมื่อเทียบคนสองคนที่มีเงินได้พึงประเมินเท่ากัน แต่คนหนึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้มากกว่าก็จะเสียภาษีเงินได้ต่ำกว่า

ปี 2560 นี้ กรมสรรพากรปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า เป็นต้น จากปัจจุบันร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท รวมทั้งการปรับปรุงค่าลดหย่อนต่างๆ อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัวจาก 3 หมื่นบาทเป็น 6 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มในส่วนของค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร เป็นต้น ท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้จากข่าวกรมสรรพากร เลขที่ข่าว ปชส. 15/2559

ประเด็นนี้ทำให้ลูกจ้างมีเงินออมเพิ่มขึ้นทันทีตั้งแต่มกราคม 2560 เป็นต้นไป เนื่องจากนายจ้างจะนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างเป็นจำนวนที่น้อยลงกว่าเดิม ทั้งนี้ ผู้มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อเดือนจะอยู่ในขั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้ที่มีรายได้เกินระดับดังกล่าวก็ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลงด้วย

เงินที่ได้เพิ่มมาจากทั้งการปรับฐานเงินเดือนและการปรับโครงสร้างภาษีนี้ควรนำไปจัดการให้ได้ประโยชน์ เรื่องแรกที่อยากแนะนำคือการลงทุนในกองทุนรวม ที่ผ่านมาทางทีม K-Expert ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้คนไทยเข้าใจการลงทุนแบบต่างๆ และพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้จักเพียงแค่การฝากเงินอย่างเดียว ไม่กล้าลงทุนในกองทุนรวมแม้ตนเองจะมีความพร้อมด้านการเงินก็ตาม สาเหตุคือกลัวขาดทุน

จะว่าไปแล้วก็ถูกต้อง เพราะการลงทุนไม่ใช่การฝากเงินจึงมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินต้นได้ แต่ก็มีสองเหตุผลที่ยังคงต้องลงทุนในกองทุนรวม เหตุผลแรกคือการฝากเงินออมทรัพย์ก็ทำให้ขาดทุนในเชิงมูลค่าเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี ขณะที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตลอดในอัตราที่ไม่น้อยกว่าดอกเบี้ย แปลง่ายๆ คือเมื่อเวลาผ่านไป เงินที่เราถอนออกมาใช้นั้นจะซื้อสินค้าหรือบริการได้น้อยลงกว่าเดิม

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือกองทุนรวมก็บางประเภทมีโอกาสขาดทุนน้อย ดังเช่นกองทุนรวมตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ซึ่งมักได้รับการจัดระดับความเสี่ยงที่ 1 หรือ 2 จากทั้งหมด 8 ระดับ  กองทุนประเภทนี้มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐอายุไม่เกินหนึ่งปี ทำให้โอกาสที่ราคาตราสารและราคากองทุนจะผันผวนมีน้อยมาก นอกจากนี้ โอกาสที่ผู้ออกตราสารซึ่งได้แก่รัฐบาลไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันนั้นจะผิดนัดชำระหนี้ ก็น้อยมากเช่นกัน

จากสถิติที่ผ่านมา กองทุนประเภทตราสารหนี้ระยะสั้นหลายกองแทบไม่เกิดผลขาดทุนเลยเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน ผลตอบแทนที่ได้รับก็สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ 1 ถึง 3 เท่าตัว คืออยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ถึง 2 ต่อปี อีกทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายคืนหน่วยลงทุนด้วย

ดังนั้น แนะนำว่าใครที่ยังไม่เคยลงทุนกองทุนรวมก็ควรไปเปิดบัญชีได้แล้ว โดยอย่างน้อยก็เลือกกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นไว้ก่อน วิธีการคือให้เก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เป็นจำนวนที่เพียงพอกับการใช้จ่ายในช่วง 1 ถึง 2 เดือนข้างหน้า เงินส่วนเกินที่เหลือให้นำไปเก็บไว้ในกองทุนรวมดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างผลตอบแทนในระหว่างที่ยังไม่ได้ใช้เงินนั่นเอง โดยการเปิดบัญชีก็ทำได้ง่ายดาย ที่สาขาของธนาคารพาณิชย์หรือสำนักงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ

อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือการตัดสินใจทำประกันชีวิต หลายท่านที่พบมักถามเรื่องผลตอบแทนจากประกัน หรือที่เรียกว่า IRR (Internal Rate of Return) เป็นอย่างแรก ทั้งนี้ หากมองในเชิงการวางแผนการเงินแล้วการทำประกันชีวิตไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่การสร้างผลตอบแทนเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นการให้รักษาสถานภาพการเงินของครอบครัว ในกรณีที่ผู้ทำประกันซึ่งเป็นผู้หารายได้เสียชีวิต ทุพพลภาพ ทำให้ไม่สามารถหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นปกติ

K-Expert มองว่าผู้ทำงานควรมีทุนประกันประมาณ 3 เท่าของรายได้ต่อปี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเวลาให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังได้ปรับตัวหากผู้หารายได้หลักเกิดเหตุอะไรไป การจะทำประกันให้ได้ทุนระดับนี้เป็นเรื่องหนักเกินไปหากใช้ประกันแบบสะสมทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงถึงร้อยละ 20 ถึง 25 ของเงินเดือน แต่หากลองแบ่งบางส่วนมาเป็นประกันแบบตลอดชีพบ้าง ก็จะช่วยลดจำนวนเบี้ยจ่ายโดยรวมลงมาเหลือประมาณร้อยละ 10 ถึง 15 ของเงินเดือน ซึ่งเป็นระดับที่หลายท่านสามารถยอมรับได้

ทำให้ได้แค่สองอย่างนี้ก็จะมีชีวิตการเงินที่มั่นคงขึ้นมากแล้ว 

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





 

Create Date : 12 มกราคม 2560    
Last Update : 12 มกราคม 2560 14:00:45 น.
Counter : 1220 Pageviews.  

"Short Sale" เทคนิคคว้าจังหวะทำกำไรหุ้น







สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ยามที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะได้กำไรจากการลงทุนไม่มากก็น้อย แต่ในยามที่ตลาดหุ้นกลับเป็นขาลง การที่จะซื้อหุ้น แล้วขายออกไปในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้กำไรนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่มั้ยคะ ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง หรือเราคิดว่าราคาหุ้นของบริษัทนั้น น่าจะปรับตัวลง การทำ Short Sale เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้เราคว้ากำไรในการลงทุนได้ วันนี้ K-Expert จะมาแนะนำให้รู้จักกันว่า Short Sale คืออะไร และถ้านักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ สนใจทำ Short Sale จะต้องทำอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

Short Sale คืออะไร

Short Sale คือการทำกำไรในช่วงที่เราคิดว่า หุ้นตัวนั้นจะปรับตัวลง โดยเราต้องยืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์มาเสียก่อน เพื่อทำการขายออกมา จากนั้นค่อยซื้อหุ้นตัวนั้นกลับคืนมาในราคาที่ต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันหุ้น AB อยู่ที่ 180 บาท ถ้าเราคาดว่า หุ้น AB ราคาจะปรับตัวลง จึงไปยืมหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ แล้วทำการขายหุ้น AB ที่ราคา 180 บาท จากนั้นหุ้น  AB ปรับตัวลงมาที่ 150 บาท แล้วเราซื้อหุ้นกลับคืนมา ก็จะได้กำไรหุ้นละ 30 บาท ในทางกลับกัน หากหุ้น AB ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 200 บาท เมื่อเราต้องซื้อหุ้นคืนให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ก็จะขาดทุนหุ้นละ 20 บาท ซึ่งการคำนวณในส่วนนี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมและภาษีมูลค่าเพิ่มในการทำ Short Sale

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจสงสัยว่า หุ้นที่นำมาให้ยืมนั้นมาจากไหน โดยปกติแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ที่มีบริการ Short Sale ได้เปิดให้คนที่ลงทุนหุ้นใน SET 100 อยู่แล้ว สามารถให้บริษัทหลักทรัพย์ยืมหุ้นในฐานะผู้ให้ยืม (Lender) ได้ ซึ่งผู้ให้ยืมจะได้รับค่าธรรมเนียมในการยืมหุ้น และยังคงได้รับสิทธิต่างๆ (XD, XM และ XW) ของหุ้นบริษัทนั้นอีกด้วย

อยากทำ Short Sale ต้องทำอย่างไร

การยืมหุ้นมาทำ Short Sale นั้น ไม่ยากเลยค่ะ ก่อนอื่นให้สอบถามกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เราสนใจว่า มีบริการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending - SBL) หรือไม่ และต้องเปิดบัญชีซื้อขายรูปแบบไหน เพราะแต่ละบริษัทหลักทรัพย์มีเงื่อนไขในการเปิดบัญชีที่แตกต่างกันไปค่ะ โดยผู้ยืมต้องวางหลักประกันในรูปแบบเงินสดหรือหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากผู้ยืมไม่สามารถคืนหุ้นให้กับบริษัทหลักทรัพย์

หุ้นที่เราสามารถยืมเพื่อทำ Short Sale ต้องเป็นหุ้นที่อยู่ใน SET 100 หรือ ETF เท่านั้น โดยบริษัทหลักทรัพย์มักกำหนดเงื่อนไขว่า ไม่สามารถยืมหุ้น 5 วันทำการก่อนจะมีการขึ้นเครื่องหมายที่แสดง Corporate Action เช่น XD, XR และ XW ดังนั้นก่อนจะยืมหุ้น ควรเช็กวันขึ้นเครื่องหมายของหุ้นตัวนั้นก่อนด้วยนะคะ ทั้งนี้ในส่วนของค่าธรรมเนียมในการยืมก็ไม่แพงเลยค่ะ คิดที่อัตรา 5-6% ต่อปี และคิดเป็นรายวัน โดยมีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาด้วย และมักมีการคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ 50 บาท

การยืมหุ้นมาทำ Short Sale เป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม การทำ Short Sale มีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการซื้อหุ้นแบบปกติ เพราะมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทำ Short Sale แบบรายวัน และจะไม่มีสิทธิรับเงินปันผล ดังนั้น เมื่อทำ Short Sale แล้วราคาหุ้นไม่ปรับลงอย่างที่คาดการณ์ไว้ ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกวัน และสุดท้ายอาจจบลงที่ต้องซื้อหุ้นคืนในราคาที่สูงกว่าที่คาดหวังไว้ เรียกว่า ขาดทุนทั้งจากส่วนต่างราคาและค่าธรรมเนียม จึงต้องระวังในจุดนี้กันไว้ด้วยนะคะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





 

Create Date : 10 มกราคม 2560    
Last Update : 10 มกราคม 2560 11:28:21 น.
Counter : 1196 Pageviews.  

จ่ายบัตรขั้นต่ำ สบายหรือแย่มากกว่ากัน





สวัสดีค่ะ

หากพูดถึงการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ 10% ของยอดใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หลายคนมองว่าเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาที่เมื่อถึงกำหนดชำระบัตรเครดิตแล้ว เราไม่มีเงินไปจ่ายเต็มจำนวน ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ก็แค่ทยอยจ่ายไปเรื่อยๆ ชิลๆ สบายๆ ไม่กี่เดือน เดี๋ยวก็หมดแล้ว รู้หรือไม่ว่า การทำแบบนี้มีผลเสียยังไง และสาเหตุที่แท้จริงของการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำนั้นคืออะไรกันแน่ K-Expert มีคำตอบในเรื่องนี้มาฝากค่ะ

สาเหตุของการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ

ไม่วางแผนการใช้บัตรเครดิต คือไม่ได้ตั้งงบประมาณในการใช้จ่ายผ่านบัตรในแต่ละเดือนไว้ พอเห็นอะไรถูกใจ อยากได้ก็รูดซื้อเลยทันที ซึ่งจะเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยและมีราคาสูงซะส่วนใหญ่ โดยไม่ได้คิดถึงความสามารถในการจ่าย และเมื่อถึงกำหนดชำระก็ไม่มีเงินไปจ่ายแบบเต็มจำนวน ทำให้จ่ายได้แค่เพียงขั้นต่ำเท่านั้น

ไม่มีวินัยในการใช้บัตรเครดิต แม้ว่าบางคนได้วางแผนการใช้บัตรเครดิต หรือตั้งงบประมาณในการใช้จ่ายผ่านบัตรในแต่ละเดือนไว้แล้ว แต่หากไม่มีวินัยในการใช้บัตรเครดิต คือเมื่อรูดซื้อของไปแล้ว ไม่ได้เตรียมเงินหรือกันเงินออกมาเท่ากับยอดใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยนำเงินไปใช้จ่ายเรื่องอื่นหมด พอถึงกำหนดชำระก็มีเงินไม่พอจ่ายแบบเต็มจำนวน และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการจ่ายเท่ากับขั้นต่ำนั่นเองค่ะ 

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

- มีโอกาสถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด 20% ต่อปีทันที เรื่องนี้บางคนไม่รู้ว่า การที่เราจ่ายบัตรขั้นต่ำนั้นต้องเสียดอกเบี้ยด้วย นึกว่าสามารถผ่อนจ่ายไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีดอกเบี้ย จริงๆ แล้ว การจ่ายบัตรขั้นต่ำจะถูกคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 20% ต่อปีทันทีตั้งแต่วันที่เราซื้อของ หรือวันที่สถาบันผู้ออกบัตรจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการแทนเจ้าของบัตรไปก่อน ไม่ใช่วันครบกำหนดชำระอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยดอกเบี้ยจะคิดเป็นรายวันจนกว่าเราจะจ่ายหนี้หมด ซึ่งการคิดดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน 

ส่วนแรก ดอกเบี้ยจะคิดจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบบัญชีที่แล้ว โดยจำนวนวันจะนับจากวันที่ใช้จ่าย จนถึงวันก่อนที่ธนาคารจะได้รับชำระเงิน 

ส่วนที่สอง ดอกเบี้ยจะคิดจากยอดเงินต้นคงเหลือ โดยจำนวนวันจะนับจากวันที่ชำระเงินบางส่วน จนถึงวันสรุปยอดรายการในเดือนถัดไป

  สูตรการคำนวณดอกเบี้ย = (จำนวนเงินค่าสินค้าหรือบริการ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวัน) / 365

สมมติว่า เรารูดบัตรเครดิตซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดไป มียอดใช้จ่ายเกิดขึ้น 30,000 บาท และเมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ ก็ไม่มีเงินไปจ่ายเต็มจำนวน โดยเลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำ 10% หรือเท่ากับ 3,000 บาทไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าจะจ่ายหนี้หมด เมื่อคิดรวมดอกเบี้ยทั้งหมดที่เกิดขึ้น เราจะเสียดอกเบี้ยสูงถึง 3,200 บาทเลยทีเดียว หรือเท่ากับว่า สมาร์ทโฟนเครื่องนี้เราซื้อมาในราคาที่สูงกว่าปกติถึง 3,200 บาทเลยล่ะค่ะ

ถูกยกเลิกระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยในรอบบัญชีต่อไป หลายคนไม่รู้มาก่อนเลยว่า เมื่อมีการจ่ายขั้นต่ำแล้ว บัตรเครดิตส่วนใหญ่จะยกเลิกระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยในรอบบัญชีต่อไปสำหรับผู้ถือบัตรคนนั้นทันที ซึ่งหากเรายังคงใช้บัตรใบนี้ไปรูดซื้อของอีกไม่ว่าวันไหนก็ตาม ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยทันทีตั้งแต่วันที่ซื้อของเลย ทำให้ดอกเบี้ยพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ การจ่ายขั้นต่ำก็เหมือนเป็นการจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันจัดการได้หมดสักที ดังนั้น หากมีการจ่ายขั้นต่ำแล้วก็ให้หยุดใช้บัตรใบนั้นไปรูดซื้อของอีกจนกว่าเราจะชำระหนี้หมดค่ะ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีชำระบัตรเครดิต น่าจะช่วยให้คนที่คิดจะจ่ายบัตรขั้นต่ำได้พิจารณากันให้รอบคอบอีกครั้งนะคะ ว่าเราอยากใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่มีภาระหนี้สินใดๆ ให้ปวดหัว หรืออยากมีหนี้ มีภาระผูกพัน ต้องหาเงินมาจ่ายบัตรเครดิตทุกเดือน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด เราสามารถเลือกได้ ทางที่ดี ควรวางแผนการใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือน มีวินัยในการใช้บัตร และเตรียมเงินไปจ่ายคืนแบบเต็มจำนวนและตรงเวลาทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั่นเองค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





 

Create Date : 04 ตุลาคม 2559    
Last Update : 4 ตุลาคม 2559 14:20:05 น.
Counter : 1125 Pageviews.  

คนมีลูก ก็วางแผนเกษียณได้





สวัสดีค่ะ

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ครอบครัว อยากให้ลูกมีชีวิตที่สุขสบาย ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียง ก็ทุ่มเทเงินทองให้กับลูก ไม่ได้คิดเผื่อตัวเองว่าต้องมีเงินเก็บและหลักประกันที่มั่นคงเผื่อเอาไว้ในวัยเกษียณ โดยคิดว่าส่งเสียเลี้ยงดูลูกจนเรียนจบก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน แม้ว่าจะไม่มีอะไรผิดอะไรถูกในเรื่องของการเลี้ยงลูก แต่การทุ่มเทให้ลูกจนตัวเราต้องลำบากยามบั้นปลายชีวิต หรือกลายเป็นภาระของลูกในอนาคต ก็คงไม่ดีแน่ ดังนั้น ในฐานะนักวางแผนการเงิน K-Expert แนะนำว่า อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่ามองข้ามการวางแผนเกษียณของตัวเอง ซึ่งบทความนี้ก็มีแนวทางในการเก็บออมเงินเพื่อเกษียณมาฝากค่ะ

ด้วยค่านิยมของคนไทยเราจะส่งลูกเรียนจนจบอย่างน้อยๆ ระดับปริญญาตรี ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 19-21 ปี โดยถ้าคุณพ่อคุณแม่ค่อยมาวางแผนเก็บเงินเกษียณของตัวเองเมื่อลูกเรียนจบ อาจช้าเกินไป เพราะตัวเราก็คงใกล้เกษียณ หรือคุณพ่อคุณแม่บางครอบครัวอาจเกษียณก่อนที่ลูกจะเรียนจบก็เป็นได้ ดังนั้น แผนเกษียณของตัวเองและแผนการศึกษาของลูกเป็นสิ่งที่ควรวางแผนควบคู่กัน

ในการเก็บเงินเพื่อแผนเกษียณของตัวเรานั้น ควรจัดทำแยกออกจากการวางแผนเพื่อการศึกษาลูกหรือแผนการเงินอื่น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบซึ่งกันและกัน โดยคำนวณก่อนว่าหลังเกษียณต้องใช้เงินเท่าไร เพื่อกันเงินในแต่ละเดือนมาเก็บออมให้เพียงพอ แล้วค่อยกันเงินอีกส่วนหนึ่งสำหรับค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายของลูก คำนวณคร่าวๆ หากวันนี้คุณพ่อคุณแม่อายุ 30 ปี มีเวลาเก็บเงินเกษียณเพื่อตัวเอง 30 ปีก่อนที่จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี จำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณของคนสองคนอยู่ที่ประมาณเดือนละ 25,500 บาท ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณจากการสำรวจของ K-Expert ว่า ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของคนๆ หนึ่งจะอยู่ที่เดือนละ 15,500 บาท แต่สำหรับคู่สามีภรรยา ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะใช้ร่วมกันได้ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย พวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตัวเลข 25,500 บาท เมื่อรวมเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3%  เข้าไปแล้ว ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น 62,000 บาท โดยหากใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นเวลา 25 ปี เท่ากับว่า ณ วันที่เกษียณต้องมีเงินเตรียมไว้ประมาณ 18.6 ล้านบาท สมมติเก็บออมเงิน 30 ปี ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี จะเก็บออมเดือนละ 15,220 บาทค่ะ แต่หากรอจนลูกเรียนจบ ค่อยเริ่มเก็บเงิน คุณพ่อคุณแม่อาจมีอายุสัก 50 ปี เท่ากับมีเวลาออมเงิน 10 ปี เพื่อให้มีเงินพอใช้จ่ายหลังเกษียณ จะต้องเก็บออมถึงเดือนละ 59,400 บาท จะเห็นได้ว่า ยิ่งเก็บออมเร็ว จะไม่ต้องเก็บเงินในแต่ละเดือนสูงมากนัก ส่วนจะเก็บออมที่ไหนได้บ้างนั้น ขอแนะนำ ดังนี้ค่ะ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานประจำ และบริษัทมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนะนำให้สมัครเป็นสมาชิก และเลือกสะสมเงินในอัตราสูงสุดเท่าที่ทำได้ (ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน) ซึ่งบริษัทหรือนายจ้างจะสมทบเงินเข้ากองทุนฯ ให้อีกแรงหนึ่งด้วย การสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะได้ประโยชน์ในแง่ของการมีบริษัทฯ ช่วยออมเงินให้แล้ว ยังได้ประโยชน์ทางด้านภาษีถึง 2 ต่อด้วยกัน ต่อที่ 1 คือ เงินที่เราจ่ายเข้ากองทุนฯ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่เราจ่ายสะสม สูงสุดไม่เกินปีละ 5 แสนบาท และต่อที่ 2 หากนำเงินออกจากกองทุนฯ เมื่อมีอายุอย่างน้อย 55 ปี และเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี จะไม่ต้องเสียภาษี เห็นแบบนี้ ต้องรีบสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันแล้วล่ะค่ะ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเสียภาษี กองทุน RMF เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการลดหย่อนภาษีและวางแผนเกษียณในคราวเดียวกันเลยค่ะ โดยสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท และด้วยเงื่อนไขของกองทุน RMF ที่กำหนดให้มีการลงทุนทุกปี หรือเว้นไม่ซื้อหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี ลงทุนถึงอายุ 55 ปี และมีการลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม จึงจะขายกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข ก็ช่วยสนับสนุนการออมเงินเพื่อเกษียณด้วยค่ะ กองทุน RMF ยังมีลักษณะพิเศษ คือ มีหลายนโยบาย เช่น ลงทุนในหุ้น ลงทุนในตราสารหนี้ ลงทุนผสมในหุ้นและตราสารหนี้ ลงทุนในทองคำ ให้เลือกลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือตามอายุของผู้ลงทุน รวมถึงไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพื่อให้เราได้สะสมเงินในกองทุนไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเองค่ะ

ประกันชีวิต สำหรับประกันชีวิตที่เหมาะกับการวางแผนเกษียณ ขอแนะนำ แบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเราจะได้รับเงินก้อนจากประกันเมื่อครบสัญญา รวมถึงมีความคุ้มครองให้ลูกหรือครอบครัวหากเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้เราต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย โดยแนะนำให้เลือกแบบประกันที่มีความคุ้มครองหรือระยะเวลาครบสัญญาสอดคล้องกับอายุเกษียณของเรา เช่น วางแผนเกษียณในอีก 25 ปีข้างหน้า ก็เลือกแบบประกันที่ครบสัญญารับเงินก้อนในอีก 25 ปี นอกจากนี้ ยังมีประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า หลังเกษียณจะมีเงินให้ใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยประกันจะเริ่มจ่ายเงินเป็นรายงวดให้เราเมื่อมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และที่สำคัญ ประกันชีวิตทั้งแบบสะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ หากเราเลือกทำแบบที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป เบี้ยที่จ่ายในแต่ละปีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงปีละ 3 แสนบาทเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า มีหลากหลายช่องทางในการวางแผนเกษียณสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แถมช่วยให้ประหยัดเงินภาษีได้ด้วย ทั้งนี้ เมื่อรู้แล้วว่าต้องเก็บเงินเพื่อแผนเกษียณเดือนละเท่าไร คุณพ่อคุณแม่จะสามารถวางแผนการศึกษาและค่าใช้จ่ายของลูกได้เหมาะสม อย่างแผนการศึกษา โรงเรียนแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน สองภาษา นานาชาติ ก็มีค่าเล่าเรียนที่แตกต่างกัน แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ย่อมอยากเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่ก็ต้องให้มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับรายได้ของครอบครัว นอกจากนี้ การกันเงินเพื่อแผนเกษียณของตัวเราออกมาก่อน ก็ช่วยให้เราไม่ใช้จ่ายเงินไปกับลูกจนหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเรียนพิเศษ เสื้อผ้า ของเล่น โดยมีการวางแผนซื้อเท่าที่จำเป็น เพราะหากไม่วางแผนให้ดี ไม่เพียงแค่ไม่มีเงินเพื่อแผนเกษียณของตัวเรา อาจมีผลกระทบกับแผนการศึกษาของลูกได้อีกด้วย

เมื่อมีลูก ก็มีค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่น้อย จึงต้องวางแผนให้ดี มีการกันเงินออมเพื่อเกษียณของตัวเอง ไม่นำเงินสำหรับแผนเกษียณไปใช้เพื่อแผนการเงินอื่น และอย่ารอจนใกล้เกษียณค่อยคิด ค่อยวางแผน ค่อยเริ่มเก็บเงิน เพราะอาจสายเกินไป กลายเป็นปัญหาการเงิน ซึ่งเราคงไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวที่เรารัก ดังนั้น เมื่อวางแผนมีลูก ก็เริ่มวางแผนเกษียณไปด้วยกันเลยค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





 

Create Date : 29 กันยายน 2559    
Last Update : 29 กันยายน 2559 11:23:10 น.
Counter : 846 Pageviews.  

เทคนิคเก็บเงินรวยก่อนเกษียณ





สวัสดีค่ะ

หากพูดถึงชีวิตในช่วงบั้นปลายหรือเกษียณอายุ หลายต่อหลายคนวาดฝันว่า จะใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างสุขสบาย ซึ่งฝันจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อเรามีเงินใช้สำหรับวัยเกษียณในจำนวนที่มากพอ ส่วนจะต้องมีเงินเท่าไร และเก็บออมเงินอย่างไรนั้น K-Expert มีคำแนะนำมาฝากค่ะ

ต้องเตรียมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณเท่าไร

ปกติแล้วในช่วงเกษียณอายุ ค่าใช้จ่ายของเรามักจะน้อยกว่าในช่วงที่เราทำงาน เพราะค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างจะลดลง เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า โดย K-Expert ได้ไปทำการรวบรวมข้อมูลและพบว่า ถ้าคำนวณจากค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะตกเดือนละ 15,500 บาท โดยเราจะใช้ตัวเลขนี้ในการคำนวณเงินเก็บเพื่อใช้ในวัยเกษียณกันค่ะ

ในการคำนวณเงินที่เราจะต้องมีไว้ใช้ในวัยเกษียณนั้น สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นในอนาคต โดยอัตราเงินเฟ้อที่ใช้ในการคำนวณครั้งนี้คือ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% ต่อปี หมายความว่า สิ่งของราคา 100 บาทในวันนี้ ในปีหน้าของอย่างเดียวกันจะมีราคาสูงขึ้นเป็น 103 บาท ซึ่งก็คือ เราต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการจับจ่ายซื้อของนั่นเอง อย่างคนที่ตอนนี้อายุ 35 ปี และตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี หรือในอีก 25 ปีข้างหน้า ยอดเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 15,500 บาท จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 32,500 บาท ดังนั้นสำหรับคนที่ตอนนี้อายุ 35 ปี ซึ่งคาดว่าจะใช้ชีวิตไปจนถึงอายุประมาณ 85 ปี จะต้องมีเงินเตรียมไว้เมื่ออายุ 60 ปี หรือก่อนเกษียณอายุ เป็นเงินประมาณ 9.7 ล้านบาท

ควรเริ่มออมเงินเมื่อไร

สำหรับช่วงเวลาที่ควรเริ่มเก็บออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณนั้น จากภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นทำงานที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ทำให้การเก็บออมเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุของคนที่เพิ่งเริ่มทำงานนั้นอาจทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นช่วงเวลาที่ควรเริ่มเก็บออมเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณคือ อายุ 30 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่รายได้จากการทำงานปรับเพิ่มสูงขึ้นจนมีเงินเหลือมากพอที่จะเก็บออม และไม่ควรเริ่มเก็บออมเงินเกินอายุ  40 ปี เพราะหากเริ่มช้าจนเกินไป จะทำให้เราออมเงินไม่ทันที่จะใช้ในวัยเกษียณ เพราะยอดออมเงินในแต่ละเดือนจะสูงกว่าคนที่เริ่มออมตั้งแต่อายุน้อยๆ ค่อนข้างมาก

ออมเงินเท่าไร ถึงพอใช้ยามเกษียณ

มาดูประเด็นสำคัญของการออมเงินเพื่อเกษียณอายุกันซึ่งก็คือ ยอดออมเงินในแต่ละเดือน จะได้รู้ว่า ตัวเราเองพอจะออมเงินเพื่อให้เกษียณอย่างสุขสบายได้หรือไม่ จากตารางการออมเงินเพื่อเกษียณอายุจะเห็นได้ว่า หากเราเริ่มออมตั้งแต่อายุ 30 ปี เพื่อเป้าหมายมีเงินในช่วงเกษียณอายุ 11.3 ล้านบาท ยอดเงินออมจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 5,000-19,000 บาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า เรารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน หากรับความเสี่ยงได้สูง นำเงินไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้น คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ยอดออมก็จะตกเดือนละ 4,993 บาท แต่ถ้านำเงินออมที่มีไปลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนประมาณ 3% ต่อปี ยอดเงินออมก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเดือนละ 19,369 บาท ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้บ้าง แต่ก็ไม่อยากนำเงินไปลงทุนในหุ้นทั้งหมด ก็สามารถลงทุนแบบผสม โดยมีทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ผลตอบแทนประมาณ 5-7% ต่อปี ยอดเงินลงทุนในแต่ละเดือนประมาณ 9,252-13,562 บาท

ออมผ่านช่องทางไหน

เมื่อทราบยอดเงินออมในแต่ละเดือนกันแล้ว ในส่วนของช่องทางในการออมเงินเพื่อเกษียณอายุนั้นมีหลากหลาย ซึ่งช่องทางที่จะช่วยให้เราออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ขอแนะนำ ได้แก่

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คนที่ทำงานบริษัทน่าจะคุ้นเคยกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเป็นกองทุนที่เราสามารถสะสมเงินได้สูงถึง 15% ของเงินได้ที่เสียภาษี และยังสามารถนำยอดเงินสะสมไปหักลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเพิ่มเติม ดังนั้นใครที่ทำงานบริษัทก็อย่าลืมสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการออมเงินสำหรับเกษียณอายุ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนที่เปิดโอกาสให้เราออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ อีกทั้งยังสามารถนำยอดเงินลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่เสียภาษี โดยในแต่ละปีเมื่อนำไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเบี้ยประกันบำนาญจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท เงื่อนไขสำคัญในการลงทุนกองทุน RMF คือ ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีไปจนถึงอายุ 55 ปี (เว้นได้อย่างมาก 1 ปี) และเงินลงทุนก้อนแรกต้องลงทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี จึงจะสามารถขายกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข การลงทุนในกองทุน RMF จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้แผนเกษียณของเราเป็นไปตามเป้าหมายได้

ไม่ว่าจะเป็นการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีการออมหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันก็มีตัวช่วยให้เราสามารถลงทุนได้เป็นประจำทุกเดือน อย่างถ้าเลือกลงทุนผ่านกองทุน RMF ก็สามารถสมัครใช้บริการ Saving Plan ซึ่งเป็นแผนการลงทุนในกองทุนรวมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของเรา เพื่อนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม ทำให้ไม่หลงลืมที่จะลงทุนเพื่อแผนเกษียณของเรา

หวังว่า เทคนิคเก็บเงินที่นำมาฝาก น่าจะเป็นแนวทางให้กับหลายๆ คนในการเก็บเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุ โดยถ้าอยากรวยก่อนเกษียณ มีเงินออมเป็นหลักล้านบาทในบั้นปลายชีวิต ขอเพียงเก็บเงินตั้งแต่เนิ่นๆ และลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน ไม่นำเงินออมก้อนนี้ไปใช้กับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น เชื่อว่าการเกษียณอายุแบบสบายๆ ที่หลายคนวาดฝันไว้ ก็จะเป็นจริงได้ไม่ยากเลยค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! บทความที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้





 

Create Date : 27 กันยายน 2559    
Last Update : 27 กันยายน 2559 11:27:09 น.
Counter : 952 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.