Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2561
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
26 กุมภาพันธ์ 2561
 
All Blogs
 
คนไทย(ชอบ)อ่านอะไร?



26 กุมภาพันธ์ 2561











ผมมีโอกาสไปฟังเสวนาในหัวข้อ “คนไทย(ชอบ)อ่านอะไร?” ที่จัดโดยหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือกันให้มากขึ้น จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 เนื้อหาในการเสวนาครั้งนี้น่าสนใจมาก ผมจึงจับประเด็นสำคัญที่ได้รับฟังเอามาเขียนนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านด้วย

(รายละเอียดจากการเสวนาในครั้งนี้ ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด หรือคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ผมก็ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ)

โดยวิทยากรผู้นำเสวนามี 3 ท่านคือ คุณอรรถ บุนนาค เจ้าของสำนักพิมพ์แปลเรื่องญี่ปุ่น JLIT และคุณโจ้กับคุณเน็ต จากร้านขายหนังสือออนไลน์ Readery


-เริ่มที่คุณอรรถ ใครที่บอกว่าวัยรุ่นไม่อ่านหนังสือนั้นไม่จริงเลย เพราะตัวเองทำสำนักพิมพ์ที่ขายหนังสือให้แก่วัยรุ่น เชื่อว่าในยุคนี้วัยรุ่นมีโอกาสในการอ่านเยอะมากกว่าสมัยก่อน

-จากผลการสำรวจ คนที่ไม่อ่านหนังสือคือคนในวัยทำงานอายุระหว่าง 30-40 ปี เนื่องจากคนกลุ่มนี้อยู่ในวัยทำงาน กำลังทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว คนทำงานพอกลับมาบ้านก็เหนื่อยจนไม่อยากอ่านหนังสือแล้ว

-ส่วนกลุ่มคนที่อ่านเยอะที่สุดอยู่ในช่วงระหว่าง 20-30 ปี และจะกลับมาอ่านหนังสือเยอะอีกครั้งก็เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว จนเมื่อถึงวัยเกษียณก็จะกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้นเช่นกัน

-เด็กในยุคนี้มีหนังสือให้อ่านเยอะมาก หลากหลายเยอะกว่าในสมัยก่อนมาก ในยุคสมัยนี้มีหนังสือแปลที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ จากการสำรวจเด็กมัธยมต้นบางคนเริ่มอ่านวรรณกรรมคลาสิคของโลกแล้ว โดยเมื่อเขาได้อ่านเรื่องแปลพวกนี้แล้วเขาชอบก็จะเกิดแรงบันดาลใจให้เขาอยากไปหาต้นฉบับ(ภาษาต่างประเทศ)มาอ่านด้วย

-ที่น่าสนใจคือว่า วัยรุ่นอ่านคอนเทนต์ที่เป็นนิยายเยอะมาก แต่หนังสือในบ้านเราไม่ค่อยจะมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยรุ่นสักเท่าไหร่เลย คือในวงการหนังสือไทยยังขาดวรรณกรรมเยาวชนที่ดีๆ สำหรับให้เด็กวัยรุ่นอ่าน

-ถ้าย้อนไปในสมัยก่อน ในสมัยที่คุณอรรถเป็นวัยรุ่น จะมีนิตยสาร “เธอกับฉัน” ที่ถือว่าเป็นหนังสือของวัยรุ่นในยุคนั้น มี “พจน์ อานนท์” เป็นบรรณาธิการ ในตัวนิตยสารมีเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของวัยรุ่น รวมทั้งมีนวนิยายวัยรุ่นที่ดีๆ หลายเรื่องด้วย แต่ในปัจจุบันในท้องตลาดไม่มีหนังสือในลักษณะนี้เลย

-สำหรับนิตยสาร “เธอกับฉัน” ในสมัยก่อนนั้นคงเรียกว่าเป็นสกุลไทยฉบับวัยรุ่นเลย เทียบเท่ากับนวนิยายที่โพสลงในเว็บสมัยนี้ เช่น เด็กดี , จอยลดา , ธัญวลัย , Storylog , ReadAWrite ฯลฯ เพียงแต่นิยายที่ลงในเว็บพวกนี้ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการเลย

-ในยุคนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่าไปต่อว่าลูกเลย ในการที่ลูกเป็นติ่งโน้นติ่งนี้หรือชื่นชอบในสิ่งต่างๆ เพราะในสมัยก่อนคุณพ่อคุณแม่ก็มีความรู้สึกเหมือนกับลูกๆ ในตอนนี้เช่นกัน เพียงแต่แสดงออกไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

-ถ้าถามว่าคนไทยอ่านอะไร? ตอบได้ว่าคนไทยก็อ่านคอนเทนต์ในแบบเดิมไม่ได้เปลี่ยนเลย แต่ที่เปลี่ยนไปคือรายละเอียดต่างๆ ในคอนเทนต์นั้นๆ อย่างเช่นในสมัยก่อนยุคคุณพ่อคุณแม่อาจจะได้อ่านแต่นิยายรัก แต่รุ่นลูกในสมัยนี้เข้าได้อ่านเรื่องรักเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดของเรื่องนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ในนิยายรักสมัยนี้อาจจะมีแฝงเรื่องสิทธิสตรีเอาไว้ด้วย ซึ่งนิยายในสมัยก่อนไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้มากนัก หรือปัจจุบันนี้มีเรื่องชายรักชายเป็นนิยายวาย เป็นแนวที่วัยรุ่นกำลังนิยมอ่านอยู่

-จะเห็นได้ว่าคอนเทนต์ในสมัยใหม่นี้มีความหลากหลายมากขึ้น คือมีแยกย่อยแตกออกไปเยอะ หรือมีเซ็กเม้นท์ (segment) มากขึ้น ไม่เหมือนในสมัยก่อนที่นักเขียนดังจะครองตลาดอยู่ตลอด เรื่องราวหรือคอนเทนต์ต่างๆ ก็จะซ้ำไปซ้ำมาตลอด

-เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะเห็นว่า ในปัจจุบันนี้คนที่เป็นผู้ใหญ่เหมือนว่าจะไม่มีคอนเทนต์อะไรให้อ่าน เพราะที่มีอยู่ในตลาดไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจ ไม่ใช่เรื่องของวัยเขา หลายสำนักพิมพ์มองข้ามกลุ่มผู้อ่านสูงวัยนี้ไปเลย จะเห็นว่าไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ไหนเลยที่ทำฟอนซ์(ลักษณะของตัวอักษร)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่คนแก่จะได้อ่านได้ บางครั้งตัวหนังสือที่เล็กเกินไปผู้ใหญ่ก็อ่านไม่ได้ ทำให้ความรื่นรมย์ในการอ่านลดน้อยลงไป

-ขอยกตัวอย่างนักเขียนดังที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้คือ ว.วินิจฉัยกุล อาจารย์วินิตามักจะใช้ทฤษฎีทางวรรณคดีมาใช้ในนวนิยายที่ท่านเขียนเยอะมาก อ่านแล้วจะเห็นว่าเรื่องราวปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้เรื่องเป็นสมัยใหม่มากขึ้น และช่วงหลังอาจารย์วินิตาพยายามเอาสังคมผู้สูงวัยเข้ามาใส่ไว้ในนวนิยายของท่านด้วย เช่นเรื่อง “จากฝัน สู่นิรันดร” คุณอรรถชื่นชมเป็นอย่างมาก

-นักเขียนต้องเข้าใจว่ากลุ่มผู้อ่านของเราคือใคร จะได้สร้างเรื่องได้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านด้วย เช่นถ้าเป็นผู้อ่านกลุ่มมีอายุสักหน่อย ถ้าจะเขียนเรื่องรักก็อาจจะเป็นรักแบบพีเรียด(ย้อนยุค)ก็ได้

-ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่า คอนเทนต์ของใครก็ของมัน ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจคอนเทนต์ของเด็ก จึงทำให้เด็กก็ไม่เข้าใจคอนเทนต์ของผู้ใหญ่ด้วย ผู้ปกครองในสมัยนี้จึงควรต้องเปิดใจให้กว้าง ต้องยอมรับเรื่องราวของพวกเด็กๆ ด้วย ลองเข้าไปอ่านนิยายในเว็บดู อย่างที่ เด็กดี , จอยลดา , ธัญวลัย ฯลฯ ผู้ใหญ่อ่านแล้วอาจจะรู้สึกกรี๊ดกร๊าดบอกว่าอ่านไม่ได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าในสมัยก่อนคุณก็เคยอ่านนิยายประโลมโลกมาก่อน เคยต้องคลุมโปงแอบอ่านก็มี เพราะฉะนั้นอย่างไปว่าเด็กเลย













-คุณเน็ตเอาสถิติจากเว็บ Readery มาโชว์ให้ดูกัน กลุ่มลูกค้าประมาณ 60% เป็นกลุ่มคนอายุ 18-30 ปี โดยเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

-คุณเน็ตจะลองเอา 20 อันดับหนังสือขายดีในปี 2018 มาพูดให้เห็นว่าคนไทยชอบอ่านอะไร? โดยอันดับที่ 20 เป็นหนังสือชื่อ “วัสดุนิยม : เรื่องราวสุดทึ่งของสารพันวัตถุเปลี่ยนโลก” เล่มนี้เป็นหนังสือแปลที่พูดถึงสิ่งของหรือวัตถุต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยดูว่าใครเป็นคนค้นคิดหรือประดิษฐ์ขึ้นมา หรือผลิตอย่างไร เป็นมาอย่างไร เล่มนี้ขายดีเพราะมีกระแสป๊อปซายน์ (Pop Science) คือเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่อ่านสนุก

-ซึ่งปีที่แล้วหนังสือในแนวป๊อปซายน์นี้โตขึ้นเยอะมากเลย ป๊อปซายน์ (Pop Science) เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนเรา คือเอาวิทยาศาสตร์มาย่อยเพื่อเขียนให้อ่านสนุกและได้ความรู้ด้วย

-คุณโจ้เสริมว่า ปัจจุบันห้องสมุดควรจะต้องจัดหมวดหมู่หนังสือใหม่เลย เพราะมันมีแนวหนังสือที่เกิดใหม่เยอะมาก ควรจะสร้างแยกออกมาเป็นเซ็กเม้นท์ใหม่เลย

-หนังสือแนวป๊อปซายน์ (Pop Science) อีกเล่มที่น่าสนใจคือเรื่อง “ความงามแห่งฟิสิกส์” เล่มนี้เขียนเรื่องฟิสิกส์ให้เป็นภาษาแบบวรรณกรรมเลย คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเรื่องฟิสิกส์เป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป แต่พอได้มาอ่านเล่มนี้แล้วจะรู้เลยว่ามันสนุกมาก อ่านแล้วมหัศจรรย์มาก ไม่คิดว่าเรื่องวิทยาศาสตร์จะเอามาเขียนได้สนุกขนาดนี้

-คุณโจ้เสริมว่า “ความงามแห่งฟิสิกส์” เล่มนี้อ่านสนุกมาก เพราะเขาใช้ภาษาแบบงานวรรณกรรมเลย เราจะอ่านเพื่อเป็นบันทึกประสบการณ์ชีวิตก็ได้ หรือจะอ่านเอาความรู้ก็ได้ หรือจะอ่านเอาความเพลิดเพลินก็ได้

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า ปัจจุบันร้านขายหนังสือมีปัญหาเรื่องการวางหนังสือเหมือนกัน เพราะว่าคนขายไม่ได้อ่านหนังสือ จึงไม่รู้อย่างแท้จริงว่าเล่มไหนควรอยู่ตรงไหน เล่มไหนอยู่ในหมวดไหนกันแน่ เท่าที่เคยพบก็คือ มีร้านหนังสือเอาหนังสือเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ไปวางไว้ในหมวดเกษตรกรรม

-คุณเน็ตบอกว่า สำหรับเรื่อง “ความงามแห่งฟิสิกส์” นี้ ทางสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส ได้เลือกคนแปล (สุนันทา วรรณสินธ์ เบล) ที่เคยแปลงานวรรณกรรมมาก่อนเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้ด้วย

-คุณเน็ตแนะนำต่อหนังสือขายดีอันดับที่ 19 ชื่อเรื่อง “อาทิตย์สิ้นแสง” เล่มนี้เป็นวรรณกรรมคลาสิคของญี่ปุ่นแปลโดยสำนักพิมพ์ JLIT ของคุณอรรถ

-คุณอรรถเสริมให้ว่า จริงๆ แล้วเรื่องแปลญี่ปุ่นเรื่องแรกของทาง JLIT คือเอง “สูญสิ้นความเป็นคน” คือคุณอรรถเคยได้ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น เคยได้อ่านวรรณกรรมคลาสิคของญี่ปุ่นซึ่งใช้ภาษาเหนือกว่างานทั่วไป จึงลองแปลเรื่องโดยตรงมาจากภาษาญี่ปุ่น แรกเลยมองเห็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะซื้อสักประมาณ 2,000 คน จึงพิมพ์ 2,000 เล่ม แต่เกิดขายดีขึ้นมา จนกลายเป็นกระแสอ่านงานญี่ปุ่น กลายเป็นซับคัลเจอร์ขึ้นมา โดยมาจากกลุ่มฮิปเตอร์เป็นหลักก่อน ประมาณว่า ขี่จักรยานมานั่งทำงานในร้านกาแฟ ใช้ชีวิตสโลไลฟ์













-เมื่อมีกลุ่มวัยรุ่นที่อ่านหนังสือไม่ใช่กระแสหลัก พวกเขาจะสร้างซับคัลเจอร์ (Sub Culture) ขึ้นมา ในอนาคตกลุ่มนี้อาจจะกลายมาเป็นกลุ่มกระแสหลักก็ได้ จะเห็นว่าในปัจจุบันซับคัลเจอร์แนวฮิบเตอร์กำลังมาแรง กลุ่มคนพวกนี้พยายามจะย้อนกลับไปสู่ความรุ่งเรืองในอดีต กลุ่มนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง เพิกเฉยต่อการเมือง ใช้ขีวิตอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก

-คุณโจ้เสริมในประเด็นนี้ว่า ดังนั้นถ้าถามว่าคนไทยชอบอ่านอะไร? ก็คงตอบได้ว่าคนไทยชอบอ่านหนังสือตามกระแส คือตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจบันจะอ่านตามกระแสเป็นหลัก ยุคก่อนอาจจะอ่านตามกระแสที่ละครกำลังออนแอร์ แต่ในยุคปัจจุบันมีกระแสต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและหลากหลายมากว่าเดิม

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า พอมีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น ความชอบของคนก็เริ่มหลากหลายมากขึ้นด้วย คนสามารถเข้าถึงสิ่งที่ชอบได้มากขึ้นและถี่มากกว่าแต่ก่อน ด้วยความที่เซ็กเม้นท์มันหลากหลายมากขึ้น คนก็จะเลือกอ่านตามแต่เรื่องที่ตัวเองชอบ ดังนั้นสำนักพิมพ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักที่ชัดเจนจึงจะอยู่ได้

-อย่างเช่น ถ้ามีนิยายที่ตัวละครเอกเป็นนักปักผ้า ปรากฎว่าตรงกับกลุ่มคนที่ชอบทำงานฝีมือหรืองานดร๊าฟพอดีเขาก็จะรีบซื้อเล่มนี้ทันทีเลย ปัจจุบันจะเห็นว่ามีสังคมกลุ่มปักผ้าเกิดขึ้นมา ยุคนี้เป็นยุคที่มีการสอนงานฝีมือกันเยอะ สอนการปักผ้าก็มีเยอะด้วย การที่มีปากกาเขียนผ้าออกมาจำหน่าย คนกลุ่มนี้ก็จะชอบใจมาก ส่วนคนอื่นทั่วไปก็จะไม่เข้าใจความรู้สึกของคนกลุ่มนี้เลย

-คุณโจ้ ให้คำตอบเดียวกันกับคุณอรรถว่า ปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือตามสิ่งที่เขาขอบ

-คุณอรรถ บอกว่าคนไทยยังอ่านอยู่ คนไทยยังอ่านคอนเทนต์อยู่เสมอ ทุกคนอ่านคอนเทนต์ตามรสนิยมของตัวเอง ตามความชื่นชอบของตัวเอง ถึงแม้มันจะหลากหลายขึ้นแต่มันก็ยังมีความชอบส่วนตัวอยู่

-คุณเน็ตไล่อันดับหนังสือขายดีที่เป็นเรื่องแปลญี่ปุ่นให้ฟังต่อ อันดับที่ 19 คือ “อาทิตย์สิ้นแสง” อันดับที่ 14 คือเรื่อง “พรุ่งนี้ผมจะเดตกับเธอคนเมื่อวาน” เล่มนี้เป็นเรื่องที่มีวิธีการเล่าเรื่องที่พิเศษมาก ต้องลองไปหาอ่านกันดู , อีกเรื่องคือ “ดวงดาวแห่งเงามืด” และเรื่อง “ฆาตกรรบนเนิน D” สรุปว่าในอันดับหนังสือขายดีมีกระแสหนังสือแปลญี่ปุ่น 5 เรื่อง

-เมื่อปีสองปีที่แล้วมีกระแสการอ่านอย่างหนึ่งมาจากทางเกาหลี คือกระแส “จินยองอ่าน” ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเรื่องทางการตลาด หรือเป็นเรื่องของความชื่นชอบของติ่งจริงๆ แต่ปรากฎว่ามันเป็นกระแสการอ่านที่แรงมาก เป็นโมเดลรักการอ่านจากดาราไอดอลเกาหลีที่ชื่อจินยอง โดยเขาจะถือหนังสืออยู่ในมือตลอดเวลา พวกติ่งทั้งหลายก็จะไปสืบค้นมาว่าจินยองอ่านหนังสือเรื่องใดบ้าง พวกติ่งจะได้ไปหาซื้อมาอ่านบ้าง กระแสจินยองอ่านนี้ทำให้สำนักพิมพ์หลายๆ แห่งได้ผลพลอยได้ตามไปด้วย

-คุณอรรถขอเสริมในประเด็นกระแส “จินยองอ่าน” ว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเด็กวัยรุ่นไทยจึงไปตามอ่านวรรณกรรมที่จินยองอ่าน เพราะว่าบางเล่มมันไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน อย่างเช่นเรื่อง “โลลิต้า” เห็นเด็กเข้ามาตามหาซื้อแล้วก็ตกใจว่าเด็กจะอ่านเรื่องแบบนี้เหรอ?

-แต่พอลองตามไปดูในทวิเตอร์ของเด็กพวกนี้ เด็กที่ซื้อเรื่อง “โลลิต้า” ไปปรากฎว่าพวกเขาอ่านกันจริง อ่านแล้วพวกเขาเอามาวิพากษ์กันได้ว่า ตรงไหนชอบไม่ชอบอย่างไร ก็แสดงว่าพวกเขาซื้อไปแล้วอ่านจริง ก็ดีเหมือนกันในแง่ที่ว่า เด็กเขาอ่านแล้วจะได้รู้ว่าตัวเองชอบแนวไหน? หรือว่าไม่ชอบแนวไหน? ไม่ต้องตามกระแสไปทั้งหมดก็ได้

-คุณอรรถ พูดเรื่องแปลญี่ปุ่น “สูญสิ้นความเป็นคน” ว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันมืดมนมากๆ เลย เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ตอนแรกที่จะจัดพิมพ์ก็กลัวเหมือนกันว่าคนจะไม่อ่าน แต่ปรากฎว่ามีคนที่เป็นโรคซึมศร้าซื้อไปอ่านเยอะ คนพวกนี้บอกว่าตัวละครฆ่าตัวตายแทนเขาไปแล้ว เขาอ่านแล้วรู้ซึ้งและเข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้อย่างดี เราในฐานะผู้จัดพิมพ์ก็รู้สึกดีใจกับเขาด้วย

-ถามว่าทำไมกระแสเรื่องญี่ปุ่นกลับมาได้ในบ้านเรา ต้องบอกว่าเดิมมันมีกระแสอยู่แล้ว โดยคนไทยชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนมังงะ ฯลฯ เพราะการ์ตูนเป็นสิ่งที่คนรับได้ง่าย เป็นสิ่งที่คนเข้าใจได้ง่าย คนไทยอ่านการ์ตูนโดเรม่อน เห็นสภาพบ้านของโนบีตะ เห็นห้องนอนของโนบีตะ เห็นภาพการกินอาหารของคนญี่ปุ่น ฯลฯ ทำไห้คนไทยเข้าใจวัฒนธรรมพื้นฐานของญี่ปุ่นผ่านทางการ์ตูนพวกนี้ ทำให้พอมีกระแสญี่ปุ่นเกิดขึ้นคนไทยจึงอ่านตามกันได้เยอะ

-คุณเน็ต บอกว่าจริงๆ แล้วมีกลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาหาซื้อเรื่อง “สูญสิ้นความเป็นคน” ไปอ่านกันเยอะ เพราะว่าเขารู้จักเล่มนี้มาจากสื่ออื่นแล้ว

-คุณอรรถ ให้ความเห็นว่า คนไทยชอบความยุ่มแยะ (น่อนเทส) ชอบความขยะแขยงแย่ๆ เช่นในสมัยก่อนจะมีนิตยสารข่าวอาชญากรรม ที่มีภาพศพ ภาพคนตาย ฯลฯ คนไทยชอบอะไรแบบนี้ ในยุคหนึ่งจึงมีคนไทยตามอ่านเรื่องผีของ “สรจักร” กันเยอะมาก

-คนไทยมีความสวยงามอยู่ข้างหน้า แต่ซ่อนความยุ่มแยะไว้ข้างหลัง คนไทยชอบเรื่องผี ชอบเรื่องแย่ๆ ชอบเรื่องคนทะเลาะกัน ชอบเรื่องศพ ฯลฯ คุณอรรถมีคุณแม่ที่เป็นคนญี่ปุ่นซึ่งรับไม่ได้อยู่อย่างหนึ่ง คือการรดน้ำศพ คนญี่ปุ่นไม่ชอบไปเห็นศพเลย แต่คนไทยจัดทำกันเป็นพิธีตรองอย่างดีเลย จึงกลายเป็นว่า คนไทยมีข้อแก้ตัวที่สวยหรูในเรื่องแบบนี้

-คุณเน็ตกลับไปที่หนังสือขายดีต่อ สำหรับเรื่องไทยที่เจอในอันดับหนังสือขายดีเป็นหนังสือที่อยู่ในกลุ่มวรรณกรรมสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่กลุ่มกระแสหลักที่เป็นเรื่องรัก โดยมีอยู่สองเรื่องคือ “ร่างของปรารถนา” กับเรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา”

-คุณเน็ตขอพูดถึงนิยายไทยที่กำลังขายดีในตอนนี้ โดยเฉพาะที่เป็นนิยายชายรักชายหรือนิยายวายที่ไปขายได้ในไต้หวัน เมื่อสัปดาห์ทีผ่านมามีงานไต้หวันบุ๊คแฟร์ เห็นมีนิยายวายจากไทยกำลังไปได้ดีในตลาดไต้หวันคือเรื่องในชุดโซตัส “SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” และเรื่องในชุด “เดือนเกี้ยวเดือน” ซึ่งนิยายวายจากไทยนี้กำลังได้รับความนิยมมาก ส่วนในไทยก็เห็นว่ากำลังจะทำเป็นละครโทรทัศน์เหมือนกัน

--คุณอรรถให้ความเห็นว่า สำหรับนิยายวายนี้ส่วนใหญ่คนเสพจะเป็นผู้หญิง ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงสาว และเห็นผู้หญิงอายุ 40 ขึ้นไปก็เสพนิยายวายเหมือนกัน ยิ่งเขาอายุเยอะเท่าไหร่เขายิ่งชอบนิยายวาย เพราะว่าในยุคของเขาไม่มีให้อ่าน แต่ในยุคปัจจุบันมันโผล่ขึ้นมาอยู่บนดินให้อ่านกันได้อย่างเปิดเผย เคยรู้จักสาวสายหวานคนหนึ่ง สายหวานประมาณแนวแฟชั่นวีคเลย พอเธอได้มาอ่านนิยายวายกลับชอบมาก จากคนที่ไม่เคยมีความเข้าใจเรื่องวายมาก่อน แต่พอเธออ่านแล้วรู้สึกอินมาก แสดงว่านิยายวายมันเป็นเรื่องที่โรแมนติคมาก

-คุณเน็ตให้ความเห็นเสริมว่า นักเขียนรางวัลซีไรท์คนล่าสุด “จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” ก็เขียนนิยายแนวชายรักชายด้วย โดยเธอใช้นามปากกาในการเขียนนิยายวายว่า “ร.เรือในมหาสมุท” มีผลงานนิยายวายเรื่อง “วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย” และเรื่อง “ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่” มีวางขายอยู่ใน Readery ด้วย

-คุณอรรถให้ความคิดเห็นต่อในประเด็นนี้ว่า สำหรับนิยายวายเรื่อง “ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่” นี้ถือเป็นการตั้งชื่อเรื่องที่ดีที่สุดแห่งปีเลย เพราะชื่อเรื่องมีความหมายอยากให้รีบเปิดหนังสืออ่านเลย และเท่าที่ได้อ่านผลงานของ “จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท” อ่านแล้วก็ต้องขอชื่นชมว่าเธอเขียนได้ดีมาก เรื่องดีเลยไม่ใช่ไก่กานะ มีการวางโครงเรื่องดี สำนวนการเขียนดี มีวรรณศิลป์ที่ดีเยี่ยมด้วย สมแล้วกับที่เธอได้รางวัลซีไรท์

-คุณเน็ตเล่าต่อว่า ปัจจุบันนี้เริ่มมีกระแสที่มองหานักเขียนซึ่งเขียนนิยายวายหรือนิยายออนไลน์อยู่ตามเว็บบอร์ดต่างๆ โดยเป็นนักเขียนที่พอมีฝีมือดี มีทักษะการเขียนที่ใช้ได้ ทางสำนักพิมพ์จะดึงนักเขียนพวกที่พอมีแววเหล่านี้ให้มาเขียนงานวรรณกรรมที่ดีๆ เพราะเชื่อว่าสามารถสร้างนักเขียนที่เก่งขึ้นมาได้ และนักเขียนเหล่านี้มีกลุ่มแฟนคลับที่คอยติดตามผลงานอยู่แล้วด้วย

-คุณอรรถช่วยเสริมว่า นักเขียนญี่ปุ่นคนที่ได้รางวัลโนเบลคนล่าสุด แต่เดิมเขาก็เคยเขียนนิยายพาฝันมาก่อนเหมือนกัน ก่อนจะหันมาเขียนงานวรรณกรรมที่หนักขึ้น ซึ่งแพล็ตเทิร์นของนักเขียนแบบนี้ในญี่ปุ่นมีเยอะ สำหรับในไทยถ้าเริ่มมีให้เห็นในลักษณะแบบนี้บ้างก็น่าจะดี

-คุณโจ้ออกความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากที่เห็นผลงานเรื่อง “สิงโหนอกคอก” ของจิดานันท์ได้รางวัลซีไรท์ และหนังสือขายดีขึ้น เริ่มจะมองเห็นว่าอาจจะใกล้ถึงยุคที่ไม่มีกระแสหลักแล้วก็ได้ คือคนไม่ได้สนใจอ่านแต่เรื่องรักอย่างเดียวแล้ว คนอ่านมองหาเรื่องที่แสดงความหมายเชิงอุดมคติมากขึ้น

-คุณอรรถบอกว่า ปัจจุบันเป็นยุคอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกไร้พรมแดนแล้ว เอาของจากประเทศหนึ่งไปขายให้อีกประเทศหนึ่งนั้นกลายเป็นเรื่องที่ธรรมดาไปแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าคนอ่านชอบอ่านแนวไหนเขาก็จะหาแนวนั้นมาอ่าน และเชื่อว่าคนที่อ่านหนังสือจริงๆ ยังต้องการซื้อสิ่งพิมพ์อยู่ (ยังซื้อหนังสือเล่มอยู่) เพราะหนังสือเล่มจะเป็นหลักฐานยืนยันให้คนอื่นรู้ได้ว่า เขาชอบในสิ่งนั้นจริงๆ เขาเป็นติ่งของแนวนั้นจริงๆ

-สังเกตดูได้ ถ้าหนังสือเรื่องใดที่ฮิตเป็นที่นิยม จะมีการทำของที่ระลึกที่เป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น เช่น กระเป๋า แก้วน้ำ เสื้อยืด ฯลฯ ของที่ระลึกพวกนี้จะขายพร้อมกับหนังสือเล่มเลย แล้วก็ขายดีด้วย เพราะสิ่งที่เป็นแบบเก่าเป็นอะนาล็อคคนก็ยังซื้ออยู่ เนื่องจากสิ่งที่เป็นดิจิทัลมันจับต้องไม่ได้ มันหยิบมาอวดกันซึ่งๆ หน้าไม่ได้

-หนังสือเล่มให้สัมผัสที่มากกว่า บางคนอ่านหนังสือแล้วชอบดมกลิ่นหนังสือด้วย บางคนชอบจับหนังสือให้กระชับมือเวลาอ่าน บางคนชอบกัดปลายมุมหนังสือก็มี ยิ่งหนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วฟินมากปลายมุมหนังสือก็จะอร่อยมากตามไปด้วย












-คุณเน็ตช่วยเสริมในประเด็นนี้ว่า การซื้อหนังสือจากร้านออนไลน์ลูกค้าจะไม่ได้จับหนังสือ ไม่มีโอกาสได้ลองเปิดอ่านดูก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นการออกแบบปกจึงกลายเป็นส่วนสำคัญสำหรับการตัดสินใจซื้อหนังสือทางออนไลน์ จะเห็นว่าในปัจจุบันนี้สำนักพิมพ์เริ่มให้ความสำคัญกับผู้ออกแบบปกมากขึ้น เพราะการที่ปกสวยอาจทำให้ขายได้ดีขึ้น การออกแบบปก ออกแบบฟอนซ์(ลักษณะตัวอักษร)หน้าปกก็สำคัญ

-ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการประกวดการออกแบบปกหนังสือเยอะขึ้น อย่างในบ้านเราในงานหนังสือครั้งก่อนก็มีการประกวดปกหนังสือ บางสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญมาก อย่างสำนักพิมพ์มติชนออกแบบหนังสือชุดนักรบ (ชุดวิถีแห่งอำนาจ จากตัวละครจีน) ออกแบบได้สวยมาก เห็นแล้วอยากซื้อหนังสือเพื่อเก็บสะสมเลย

-และข้อสำคัญอีกประการสำหรับการออกแบบปกคือ ปัจจุบันนี้สำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มเข้ามาทำการตลาดในโซเซียลกันเยอะมาก ปกหนังสือที่สวยและดึงดูดสายตาจึงได้เปรียบในการโพสโชว์ภาพปกให้คนอ่านเห็น

-คุณโจ้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันจะมีนักออกแบบปกที่มีชื่อเสียง โดยคนพวกนี้จะเป็นศิลปินมาก่อน ถ้าเขาออกแบบปกไหนจะมีชื่อบอกไว้ที่บนหน้าปกคู่กับชื่อหนังสือเลย มีผลทำให้คนที่ชื่นชอบผลงานของคนออกแบบปกจะตัดสินใจซื้อในทันทีเช่นกัน โดยนักออกแบบปกดังๆ ที่ในบ้านเรารู้จักดีส่วนใหญ่อยู่ในไต้หวัน

-คุณอรรถ พูดถึงการออกแบบปกแล้วอยากพูดถึงนักวาดการ์ตูนไทย โดยคิดว่านักวาดการ์ตูนไทยเป็นชาติที่สร้างคอนเทนต์ได้ดีมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา คือมีรากฐานในการสร้างเรื่องเหมือนกัน ไม่ใช่จะโผล่มาลอยๆ คือมีการสร้างตัวละครที่ชัดเจน บอกว่าตัวละครใดอยู่ในราศรีใดด้วย และสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครได้อย่างชัดเจน อย่างนักวาดการ์ตูนที่ชื่อ วิมล ของแจ่มใส ถ้าเขามาวาดภาพปกหนังสือเล่มไหน เล่มนั้นจะขายดีมากๆ เลย












-กลับมาที่คุณเน็ตมาพูดถึงหนังสือขายดีต่อ โดยเล่มที่น่าสนใจเป็นหนังสือฮาวทูแนวเลี้ยงลูก เป็นหนังสือชุดเลี้ยงลูกของคุณหมอ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่เคยทำนิยตสาร “รักลูก” ซึ่งมีหลายเล่มมากและขายดีทุกเล่ม หนังสือแนวนี้เรียกว่ากระแสแนว EF (Executive Functions: ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ) คือเป็นเรื่องที่ใหม่กว่า IQ และ EQ เพราะว่า EF คือการพัฒนาสมองในรอบด้าน คือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วย จะฉลาดหรือเก่งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว หนังสือในแนวนี้พ่อแม่มักจะซื้อเอาไว้เป็นคู่มือสำหรับการเลี้ยงลูก คือถ้ามีลูกก็จะซื้อแน่ๆ ส่วนจะอ่านหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง

-คุณอรรถออกความคิดเห็นว่า ปัจจุบันนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายพยายามจะหาสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ลูก การหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกหรือกระแสแนว EF นี้ก็ใช่ คือทุกวันนี้เนื้อหาที่อยู่ในโลกออนไลน์มันไม่ได้ว่าจะถูกต้องเสมอไป สิ่งต่างๆ ที่โพสลงในออนไลน์มันไม่น่าเชื่อถือเท่าการหาข้อมูลจากหนังสือ จึงทำให้หนังสือแนวนี้ยังขายได้ดีอยู่เสมอ

-คุณเน็ตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่อง EF ปัจจุบันกลายเป็นกระแสที่กำลังมาแรงเหมือนกัน คุณหมอประเสริฐเปิดเพจของตัวเองทางเฟสบุ๊ค เป็นการสร้างแบรนด์ของคุณหมอประเสริฐเองว่าเป็นฐานความรู้ในเรื่องนี้ มีคนที่ติดตามข้อมูลอยู่มาก พอมีหนังสือของคุณหมอประเสริฐออกมาคุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามก็จะซื้อตลอด

-คุณโจ้พูดถึงในประเด็นนี้ว่า เอาไปเทียบกับการขายอีบุ๊คได้เลย ที่อีบุ๊คมักจะมีเรื่องให้คนอ่านฟรีก่อนแล้วค่อยขายหนังสือ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ขายได้ดีด้วย เหมือนที่คุณหมอประเสริฐเปิดเพจให้คนสนใจอ่านข้อมูลฟรี พอคุณหมอประเสริฐเอาข้อมูลเหล่านั้นที่เคยเผยแพร่แล้วมารวมเล่มก็ยังขายได้ ยังมีคนซื้ออยู่เช่นกัน

-คุณเน็ตบอกถึงหนังสือขายดีต่อ ในกลุ่มที่ขายดีอีกแนวคือกลุ่มวรรณกรรมแปล เล่มที่ขายดีคือ “เนินนางวีนัส” , “หิมะ” และ “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” โดยสองเล่มหลังนี้เป็นแม่เหล็กสำคัญของสำนักพิมพ์มติชนเลย

-คุณอรรถขอพูดถึงประเด็นที่มีคนบอกว่า ดิจิทัลจะมาทำลายล้างสิ่งเก่าๆ นั้นคุณอรรถเห็นว่าไม่จริงเสมอไป เพราะในวันนี้มีแนวโน้มว่าจะต้านกลับแล้ว อย่างในไทยตอนนี้คนหันมาสนใจงานดราฟ์มากขึ้น งานประดิษฐ์ประดอยงานการฝีมือมีคนสนใจมากขึ้น ปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีเปิดสอนกันมากด้วย แสดงว่าคนเริ่มหันมาสนใจอะนาล็อกมากกว่าเดิมแล้ว เริ่มชอบแนววินเทจ (Vintage) มากขึ้น

-อย่างในสมัยก่อนจะทำวิทยานิพนธ์สักเรื่องก็หาข้อมูลยากจัง ต้องหาคีย์เวิร์ดเพื่อไปค้นบัตรรายการในห้องสมุด เพื่อหาหนังสือที่มีข้อมูลที่เราต้องการ แต่ยุคใหม่มันง่ายเกินไป แค่เข้ากูเกิ้ลก็ค้นได้แล้ว พอนานๆ เข้าคนรุ่นใหม่เริ่มคิดว่ามันไม่ใช่แล้ว ยุคดิจิทัลมันไม่ได้ใช้จิตนาการเลย มันไม่น่าจะดีแล้ว คนรุ่นใหม่จึงหันกลับไปโหยหาอดีตมากขึ้น

-คุณเน็ตช่วยเสริมข้อมูลในประเด็นนี้ว่า ร้านขายหนังสือในอเมริกามีอยู่แห่งหนึ่ง ที่มีเครื่องพิมพ์ดีดไว้ให้ลูกค้าได้ลองพิมพ์บทกวีของตัวเอง ทุกวันนี้เครื่องพิมพ์ดีดใช้กันน้อยมาก คนรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยใช้เครื่องพิมพ์ดีดเลยด้วย อาจจะไม่รู้จักว่า “ปัดแคร่” คืออะไรด้วย คนรุ่นใหม่จึงไปเข้าร้านนี้มาก ถือว่าเป็นการตลาดในรูปแบบของการย้อนหาอดีตได้ดี

-คุณโจ้บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคของกระแส เราสามารถสร้างกระแสขึ้นมาเองได้ โดยไม่ต้องไปวิ่งตามคนอื่นตลอด ถ้าเรามีอะไรที่วิเศษกว่าคนอื่น หรือเรามีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น เราก็เอาสิ่งนั้นมาสร้างเป็นกระแสได้ เมื่อเรารู้ว่าเรามีอะไรดี เราก็ควรเอามาอวดคนอื่นจะได้เป็นการสร้างกระแสขึ้นมาได้

-คุณเน็ตบอกว่า อย่างปีที่ผ่านมีสำนักพิมพ์หนึ่งที่พยายามสร้างกระแสจากเรื่อง “เจ้าชายน้อย” โดยมีการจัดพิมพ์ “การกลับมาของเจ้าชายหนุ่มน้อย” ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างกระแสขึ้นมาได้เช่นกัน

-มีหนังสือแปลจากภาษาเกาหลีเรื่อง “เศษเลี้ยวของเธอ” สร้างกระแสเกาหลีได้เหมือนกัน โดยเล่มนี้พิเศษตรงที่คนเขียนเป็นน้องร้องเพลงแร็ปชื่อดังของเกาหลีใต้ โดยเขาเคยเรียนการเขียนสร้างสรรค์มาก่อน จึงเอางานที่เคยเขียนส่งอาจารย์มารวมเล่มขาย แต่งานเขียนของเขาถือว่าดีมากเลยขายได้

-คุณโจ้บอกว่า คนไทยชอบอ่านหนังสือตามกระแส อย่างตอนนี้ถ้าให้ “เฌอปรางค์” วง BNK48 ถือหนังสือเล่มไหนสักเล่ม ถ้าพวกโอตะ(แฟนคลับ)ของเธอเห็น คงไปตามหาซื้อหนังสือกันถล่มทลายแน่ๆ

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า กระแส BNK48 จริงๆแล้วกระแสแบบนี้เคยมีมานานแล้ว ถือว่าเป็นกระแสที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตมาแล้ว เอามาสร้างเป็นกระแสใหม่ เป็นการทำซ้ำๆ ที่คนไทยชอบ เป็นการสร้างรูปแบบขึ้นมาใหม่ แต่เนื้อหายังคงเดิม

-คุณโจ้ตั้งคำถามให้อีกสองท่านลองตอบว่า คิดว่าในปี 2018 นี้กระแสอะไรน่าจะมาบ้าง?

-คุณเน็ต บอกว่าตอนนี้มีนิยายจีนอยู่เล่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจ คือรูปแบบการเขียนมันมาจากข้อความที่เคยเขียนไว้ในทวิเตอร์ โดยทั้งหมดเขียนเรื่องรัก เอามารวมเป็นเล่ม ในประเทศจีนขายได้ถึง 3 ล้านเล่ม ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก แต่ในไทยรูปแบบนี้ก็เคยมีคนทำแล้ว (ชาติ กอบกิตติก็เคยทำ)

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมการอ่านในมือถือของญี่ปุ่นกำลังมาแรง คือเป็นนิยายที่กระทัดรัดสามารถอ่านได้จบทางมือถือในหนึ่งฝ่ามือ ปัจจุบันนี้ไม่อยากให้อะไรก็ตามยาวกว่า 1 Feed ของจอมือถือเลย ถ้าเป็นแบบนี้ได้ คนก็สามารถนั่งอ่าบนรถไฟตอนเช้าได้

-รวมทั้งนิยายในรูปแบบใหม่ที่มีการผสมเอาภาพอีโมจิชั่นลงไปรวมกับเนื้อเรื่องด้วย หรือใช้ภาพสื่อความหมายแทน เพื่อให้เรื่องราวมันกระชัดมากขึ้น

-สำหรับคุณโจ้คิดว่าในปีนี้กระแสที่น่าจะมาคือ แนววรรณกรรมคลาสิคหลัก น่าจะมีหลายสำนักพิมพ์ออกหนังสือในแนวนี้ออกมาเยอะมากแน่ๆ

-คุณโจ้คิดว่าคนไทยยังชอบอ่านนิยายจากนักเขียนไทยอยู่ ถึงแม้ว่ากระแสการอ่านเรื่องแปลจะมาแรงก็ตาม เป็นเพราะว่านักเขียนดังๆ ที่เคยมีฝีมือปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะลงสนามเขียนเรื่องใหม่ให้เห็นกันเท่าไหร่เลย มีแต่นักเขียนรุ่นใหม่สำนวนอ่อนหัดที่อาจจะยังไม่ถึงขั้น คนจึงหนีไปอ่านเรื่องแปลกันหมด อยากให้นักเขียนอาวุโสของไทยกลับมาเขียนเรื่องกันเยอะๆ อยากให้นักเขียนเหล่านี้ได้รับการชื่นชมมากกว่านี้

-คุณอรรถเสริมว่า ถึงแม้จะอ่านหนังสือแปลกันเยอะ แต่ก็ยังอยากอ่านเรื่องแปลจากนักแปลรุ่นเก่าที่ใช้สำนวนดั้งเดิมอยู่ สำนวนเก่าพวกนี้น่าสนใจมีความงดงามในตัว อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ลองอ่านสำนวนเก่าเหล่านี้ดูบ้าง

-คุณโจ้คิดว่า กระแสบทกวีน่าจะกลับมาได้อีกครั้ง โดยเฉพาะบทกวีที่เกิดขึ้นในโซเซียลทั้งหลาย ในอินตราแกรม ในเฟสบุ๊ค ในไลน์ ฯลฯ ในเมืองนอกกำลังฮิตกันมาก ในการโพสภาพแล้วเขียนแคบชั่นเป็นบทกวี ซึ่งในไทยน่าจะมาได้เหมือนกัน

-คุณอรรถให้ความเห็นว่า น่าจะมีกระแสการเก็บกลับมา คือของเก่าที่งดงามน่าจะกลับมาได้อีกครั้ง ในสมัยก่อนมีการเขียนกลอนเปล่ากันเยอะ ในยุคใยไหม พวกสำนวนหวานๆ แบบนี้น่าจะกลับมาเป็นกระแสได้อีกครั้ง บอกได้เลยว่างานที่ทำมือ งานแฮนด์เมคก็น่าจะกลับมาเป็นกระแสด้วย

-แนวสยองขวัญก็น่าจะกลับมาเป็นกระแสได้อีกครั้ง คนไทยชอบเรื่องสยองขวัญ เรื่องผี อาจจะมีสรจักรคนใหม่เกิดขึ้นมาก็ได้ คอนเทนต์ที่เป็นเรื่องผีวัยรุ่นอย่างที่ GTH เคยทำ พวก สี่แพร่ง ห้าแพร่ง น่าจะขายได้ดีอยู่

-คุณโจ้บอกว่า ตอนนี้ทางสำนักพิมพ์แจ่มใสกำลังเอาภาพยนต์ทั้งหมดของ GTH มาเขียนใหม่ให้กลายเป็นนวนิยายทั้งหมด พวกติ่ง GTH เตรียมรอซื้อกันได้เลย

-คุณอรรถคิดว่ากระแสที่เป็น โนเวลไลฟ์ (novel-life) น่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้ โนเวลไลฟ์คือเรื่องราวที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนซึ่งอ่านแล้วรู้สึกอิ่มเอมใจ อ่านแล้วสุขใจ ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในญี่ปุ่น

-ในญี่ปุ่นมีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นโนเวลไลฟ์ คือเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สหกรณ์คนหนึ่ง ที่จะต้องคอยตอบคำถามให้แก่นักศึกษาที่มาซื้อของในสหกรณ์ เช่นนักศึกษาเขียนโน๊ตถามว่า ทำไมไม่มีปากกาเมจิควิเศษขาย? เจ้าหน้าที่คนนี้ก็จะเขียนตอบด้วยวิธีการแปลกๆ หรือสำนวนแปลกๆ ซึ่งเป็นที่ชอบใจของนักศึกษามาก นักศึกษาต้องคอยมาอ่านคำตอบที่เขาเขียน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น จนมีการเอาคำถามคำตอบเหล่านั้นมารวมเล่มขายได้

-อย่างในบ้านเราอาจจะจุดกระแสบรรณารักษ์ขึ้นมาก็ได้ ประมาณว่าตามติดชีวิตบรรณารักษ์ ดูว่าวันๆ เขาทำอะไรบ้าง? เขากินอย่างไร? ทำงานอย่างไร? หรือคนในอาชีพอื่นที่น่าสนใจ พวกนี้เอามาสร้างเป็นโนเวลไลฟ์ได้เช่นกัน














Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2561 11:05:00 น. 9 comments
Counter : 3550 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณLikLi Sympathy, คุณhaiku, คุณเนินน้ำ, คุณ**mp5**, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณtoor36, คุณอุ้มสี


 
เห็นด้วยกับหลาย ๆ ข้อเลยค่า
ที่แน่ ๆ คนไทยชอบอ่านดราม่า
โหวต+แปะใจค่า


โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:13:07:01 น.  

 
อ่านแล้วแปะใจให้นะคะ
เห็นด้วยกับบางข้อค่ะ
พี่ว่าแต่ละคนชอบอ่านอะไรไม่เหมือนกัน
แต่ไม่เป็นไร ขอให้รักการอ่านเยอะ ๆ ก็แล้วกันค่ะ
เพราะความชอบ บางครั้งก็แปรเปลี่ยนไปตามวัยได้เหมือนกันค่ะ


โดย: เนินน้ำ วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:14:03:48 น.  

 
ใช้เวลาอ่านนานมากค่ะคุณอาคุณกล่องเก็บรายละเอียด
ได้เยอะมาก เห็นด้วยในหลายๆประเด็นค่า คิดว่าคนวัยทำงาน
จริงๆแล้วแต่ละคนจะมีการแบ่งเวลาต่างกัน แต่ส่วนมาก
ถ้าอยู่ในเมืองจะใช้เวลาอ่านหนังสือบนรถก็มีนะ แต่
ก็แล้วแต่บางคนล่ะค่ะ555
สำหรับประเด็นกระแสนิยายวายแสดงว่า ตื่นเต้นแทนนักเขียนค่ะ
แสดงว่า สนพ.คงตื่นตัวตามกระแสให้ทันกันแล้วต้องยอมรับว่า
โลกของดิจิทัลยังคงมาแรงจริงๆถ้าวงการวรรณกรรมก้าวทันโลก อย่างไรซะก็ยังอยู่ได้อย่างสบายใจ

ชอบกระแสชีวิตติดบรรณรักษ์ เหมือนกันค่ะ 5555
โหวตและแปะใจค่าา


โดย: Cherry iwa วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:18:17:24 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณกล่อง
รอบนี้พี่มาส่งกำลังใจนะคะ
เรื่องน้ำพริก ปลาแซลมอนจากนอรเวย์ค่ะแต่ปรุงรสไทย ๆ เหมาะกับคนรักสุขภาพค่ะ ส่วนเมนูเส้นพี่ปรุงรสให้ออกมาแบบไทย ๆ ค่ะเพราะถ้าทำสูตรฝรั่งรู้สึกว่าเลี่ยนและไม่เหมาะกับอากาศร้อนของเมืองไทยค่ะ


โดย: เนินน้ำ วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:8:27:09 น.  

 
ส่งกำลังใจครับ


โดย: **mp5** วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:10:16:20 น.  

 
มาส่งใจส่งโหวตแล้วก็ตอบคำถาม
ตอบได้เนอะ พี่ก็คนไทยเหมือนกันนี่นา
คนไทย(คนนี้)ชอบอ่านบล็อกจ้าาาา
มันซูมให้ตัวโตๆได้ ไม่งั้น font ขนาด
default ของคุณกล่องเนี่ย หมดสิทธิ์ได้อ่าน

พี่โชคดีที่เป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ที่ชอบ
ให้อ่านทุกอย่าง ไม่จำกัดอะไรทั้งนั้น พี่จึง
อ่านสบายไม่ต้องคลุมโปงอ่านเลย แต่ก็อย่างว่า
สมัยพี่เป็นเด็กก็ไม่ได้มีหนังสือมากมาขนาดนี้
หนังสือแย่ๆก็ยิ่งหายาก

พี่จึงไม่เคยจำกัดประเภทหนังสือที่ลูกๆจะอ่าน
แต่ก็เคยได้รับฟังเด็กบางคนบอกว่า พวกหนังสือ
บางชนิด อ่านมากๆแล้วก็เอียนไปเอง

ตอนนี้หมอลูกชายมีเวปขายหนังสือเก่า คือซื้อมา
อ่านเองแล้วก็ขายต่อไป เป็นงานอดิเรกที่เลี้ยงตัวได้
ใช้เวลาทำงานไม่มาก เราก็ได้เห็นว่า คนไทยรัก
การอ่านโดยเฉพาะหนังสือเก่าดีๆทำรายได้
เห็นหน้าเห็นหลังที่เดียว



โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:14:36:34 น.  

 
ทุกอย่างก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่เรื่องกระแสนี่เรื่องจริงนะ แต่อย่างกระแส BNK48 ถ้ามีคนทำขึ้นมาไม่รู้จะติดลิขสิทธิ์อะไรของเขารึเปล่า ผมไม่แน่ใจว่าในวง มีใครเป็นหนอนหนังสือมั้ย ถ้ามีแล้วเธอคนนั้นแนะนำหนังสือ หนังสือเล่มนั้นอาจมีผู้ติดตามและซื้อหาเพิ่มขึ้นก็ได้


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:23:38:39 น.  

 
สวัสดีครับคุณอาคุงกล่อง


โดย: ruennara วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:17:46:06 น.  

 
โหวตให้น้องจ้า


โดย: อุ้มสี วันที่: 2 มีนาคม 2561 เวลา:6:02:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.