นิตยสารสกุลไทยฉบับสุดท้าย จารึกไว้ในใจนิรันดร์
31 ตุลาคม 2559
วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559 นี้เป็นวันสำคัญที่วงการวรรณกรรมจะต้องบันทึกไว้ว่า นิตยสารที่พิมพ์จำหน่ายจนมีอายุต่อเนื่องยืนยาวถึง 62 ปี นามว่า สกุลไทย จำต้องอำลาจากแผงหนังสือไป ด้วยสาเหตุตามที่บรรณาธิการของนิตยสารสกุลไทยได้แจ้งล่วงหน้าไว้แล้ว
วันนี้ผมจึงไปตามหาซื้อนิตยสารสกุลไทยเล่มสุดท้าย ฉบับที่ ๓๒๓๗ นี้มาอ่าน โดยปกติแล้วผมเห็นชื่อนิตยสารสกุลไทยมาตั้งแต่เด็ก ในสมัยที่ยังต้องวิ่งไปที่แผงหนังสือทุกสัปดาห์เพื่อหาซื้อหนังสือการ์ตูน ผมจำได้ว่าเห็นชื่อนิตยสารสกุลไทยนี้ตลอด ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผมจำได้นั้นก็เพราะหน้าปกมักจะลงภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ อยู่เป็นประจำ ทำให้ผมแอบคิดไปเองว่านิตยสารนี้ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ท่าน หรือเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์ฯ แน่ๆ
จนกระทั่งเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ ผมเริ่มสนใจทางด้านวรรณกรรมขึ้นมา ทำให้ผมได้รู้จักกับนิตยสารสกุลไทยมากขึ้นกว่าเดิม คือผมรู้ว่า .. นอกจากได้อ่านนวนิยายเรื่องต่างๆ ที่ลงเป็นตอนๆ แล้ว ผมยังได้ความรู้มากมายจากการอ่านนิตยสารสกุลไทยแล้ว จนกล้าบอกว่านิตยสารสกุลไทยทำให้ผมเป็นคนที่รอบรู้มากขึ้น ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ซื้อต่อเนื่องทุกฉบับ แต่ผมก็ได้ตามอ่านนิตยสารสกุลไทยเล่มที่พลาดซื้อจากในห้องสมุดเสมอ จนกระทั่งในวันนี้ผมเกิดแก่กล้าวิชาขึ้นมา ผมจึงได้ลงเรื่องสั้นในนิตยสารสกุลไทยถึง 2 เรื่อง ถือว่าเป็นเวทีแห่งแรกของผมในวงการวรรณกรรมเลย
ผมเคยได้ฟังนักวิชาการทางวรรณกรรมกล่าวไว้ว่า วัฒนธรรมการอ่านนวนิยายเป็นตอนๆ ที่ลงจากนิตยสารนั้น เป็นการอ่านในรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญต่องานวรรณกรรม คือว่าผู้อ่านต้องคอยติดตามอ่านตอนต่อไปจากนิตยสารในฉบับหน้า ซึ่งในระหว่างที่ผู้อ่านรอคอยตอนใหม่ๆ นี้เอง ทำให้นวนิยายเรื่องนั้นๆ ติดอยู่ในหัวของผู้อ่านตลอด ถ้าหากนวนิยายเรื่องนั้นลงเป็นตอนๆ ทั้งปีกว่าจะจบ ก็แสดงว่านวนิยายเรื่องนั้นอยู่ในหัวของผู้อ่านตลอดทั้งปีด้วยเช่นกัน สาเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้อ่านรักนวนิยายเกือบทุกเรื่องที่ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร รวมทั้งรักพระเอกและนางเอกในนวนิยายเรื่องนั้นเป็นอย่างมากด้วย เพราะว่าผูกพันกันเหมือนเป็นเครือญาติใกล้ชิดที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอด
น่าเสียดายว่าเมื่อนิตยสารสกุลไทยปิดตัวลง จะทำให้การอ่านในรูปแบบที่ต้องรอคอยแบบนี้ค่อยๆ สูญหายตามไปด้วย ผมจำได้ว่าได้เคยอ่านบทความในนิตยสารสกุลไทยฉบับเมื่อไม่นานมานี้ ที่พูดถึงการปิดตัวของนิตยสารสกุลไทยในครั้งนี้ว่า น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญแก่วงการวรรณกรรมเลย งบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานของรัฐต่างๆ ปีละหลายล้านบาท เช่นงบประมาณเพื่อลงโฆษณาของกระทรวงศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอื่นๆ ถ้านำงบประมาณในส่วนนี้มาลงในนิตยสารทางวรรณกรรมที่ดีๆ อย่างเช่นนิตยสารสกุลไทยนี้ ก็อาจจะทำให้ตัวนิตยสารเองอยู่ได้ และยังสามารถจัดพิมพ์จำหน่ายอยู่คู่สังคมไทยได้ต่อไป
แต่เมื่อนิตยสารสกุลไทยต้องปิดตัวลงจริงๆ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ จดจำและรำลึกถึงเรื่องราวดีๆ ที่นิตยสารสกุลไทยมอบให้แก่เรา รวมทั้งไปหาซื้อนิตยสารสกุลไทยฉบับสุดท้ายที่วางแผงในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 นี้มาอ่าน ในเล่มมีเรื่องราวที่บันทึกความทรงจำต่างๆ ไว้มากมาย
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้นิตยสารที่ดีๆ ต้องทยอยปิดตัวลงไป ถ้าน้อยสุดผมก็หวังว่าวัฒนธรรมการอ่านนวนิยายเรื่องยาวยังจะคงอยู่คู่กับสังคมไทยไปตลอดนะครับ
นิตยสารสกุลไทยฉบับสุดท้ายนี้ จัดทำภาคพิเศษในเล่มถวายเป็นราชสักการะสดุดี ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในความทรงจำกว่า 50 หน้า
นิตยสารสกุลไทยฉบับสุดท้าย ฉบับที่๓๒๓๗ นี้ยังขายในคาราเดิมคือ 55 บาท แต่พิเศษเพิ่มความหนาเป็น 220 หน้า พิมพ์สี่สีกว่าครึ่งเล่ม
ปกเดิมที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก แต่สุดท้ายทำเป็นปกซ้อนปกแทน
โฆษณาในเล่มเกือบทั้งหมดเป็นการถวายความไว้อาลัยแก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บทบรรณาธิการและสารบัญ
เนื้อหาในเล่มยังเปี่ยมด้วยคุณภาพเช่นเดิม
นิตยสารสกุลไทยเล่มสุดท้าย ฉบับที่ ๓๒๓๗ วางแผงวันนี้ 31 ตุลาคม 2559 อย่าลืมไปหาซื้อกันนะครับ
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านหนังสือครับ
Create Date : 31 ตุลาคม 2559 |
|
16 comments |
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 15:52:50 น. |
Counter : 3021 Pageviews. |
|
|
|
เคยเห็นคู่เคียงมากับ สตรีสาร และ ศรีสัปดาห์ ขวัญเรือน กุลสตรี
เช่นเดียวกับเพชรแกมพลอย ที่เป็นเด็กรุ่นหลัง
ผมภาวนาว่า อย่าให้ ต่วยตูน ต้องกล่าวคำอำลาเลยครับ
เอาไว้เป็นอนุสรณ์ถึง เฮียต่วย สักฉบับหนึ่งเถิด.