(ที่เกาะสมุย)ข้อสรุปการเสวนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาของเกาะสมุย

สถาปนิกกับแนวคิดการพัฒนาเมือง:

ข้อสรุปการเสวนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาของเกาะสมุย

บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร

สถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย และอุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย

อาจารย์ฐาปนาบุณยประวิตรบรรยายแนวทางการพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด


บทนำ

กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ เขตภาคใต้ตอนบน โดยการสนับสนุนของบริษัทแชง-โกแบง เวเบอร์ จำกัด ได้จัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “สถาปนิกกับแนวคิดการพัฒนาเมือง”บรรยายโดย อาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตรผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทยและอุปนายกสมาคมการผังเมืองไทยจัดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 เวลา 18.00-23.00 ณ.ร้าน The Grass ตรงข้ามโครงการ Replay บ้านบางรัก อำเภอเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสมาชิกของกรรมาธิการฯ เข้าร่วม 56 คนผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้รับเหมาก่อสร้างจำนวน 16 คน

การเสวนาในครั้งนี้มีเนื้อหาสำคัญหลายประการทั้งการเสนอของวิทยากรและจากข้อคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนารายละเอียดสรุปได้ดังนี้





สาระสำคัญในการบรรยายและข้อเสนอของวิทยากร

วิทยากรได้แนะนำแนวคิดการวางผังพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth Principles) ซึ่งใช้ในการวางผังเมืองรวมเมืองเกาะสมุยและผังเมืองรวมในอีกหลายพื้นที่โดยเกณฑ์สำคัญของการวางผังได้แก่ การกระชับรูปแบบเมืองให้เติบโตในแนวตั้งการลดการกระจัดกระจายของเมืองไปรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่น้ำท่วมถึง การผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผสมผสานกิจกรรมในพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนการสร้างชุมชนแห่งการเดินและชุมชนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นระบบการสัญจรหลักในการเดินทางการส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยให้มากที่สุด และที่สำคัญได้แก่การใช้ระบบการมีส่วนร่วม ซึ่ง Smart Growth กำหนดลักษณะการมีส่วนร่วมไว้4 ระดับ ดังนี้

• การมีส่วนร่วมในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์ทรัพยากร

• การกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่และโครงการที่ได้จากจัดทำแผนยุทธศาสตร์

• การกระตุ้นให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการลงทุนทางธุรกิจเพื่อก่อให้เกิดความคุ้มค่าการใช้ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐลงทุนไว้และการก่อให้เกิดการสร้างงานและการจ้างงานรวมทั้งการสร้างความมีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจ

• การให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันประเมินผลยุทธศาสตร์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนโครงการเศรษฐกิจของภาคเอกชนเพื่อหาผลกระทบในทุกๆ ด้านพร้อมสร้างแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การวางผังในการดำเนินงานช่วงต่อไป

ต่อจากนั้น วิทยากรได้ชี้เห็นแนวทางในการออกแบบเมืองตามเกณฑ์ LEED-ND ซึ่งเริ่มจากเกณฑ์ทางกายภาพจำนวน3 เกณฑ์(จากเกณฑ์จำนวน 5 เกณฑ์) เพื่อการออกแบบประกอบด้วย

• เกณฑ์ด้านทำเลและที่ตั้ง (Location and Linkage)

• เกณฑ์ด้านรูปแบบของย่านและการออกแบบ (Neighborhood Pattern andDesign)

• เกณฑ์โครงสร้างพื้นฐานเขียว (Green Infrastructure)

โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจแนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูแปลงที่ดินประกอบด้วย การจัดวางถนนสายหลัก (Main Street) การจัดแบ่งแปลงที่ดินรูปแบบกริด(Grid System) การเชื่อมโยงโครงข่ายถนนและการคำนวณจำนวนสามแยกและสี่แยกตามเกณฑ์การเลือกที่ตั้งอาคารสำนักงาน ค้าปลีก บริการ และที่อยู่อาศัยการกำหนดที่ตั้งสถานีขนส่งมวลชน เป็นต้น

ต่อจากนั้นได้กล่าวถึง รูปแบบการจัดส่วนประกอบเมืองตามเกณฑ์ The Transect และแบ่งลำดับชั้นของเมืองตามเกณฑ์Form-Based Codes และ TOD ซึ่งได้แบ่งเมืองออกเป็น

• ย่านใจกลางเมือง (Downtown)

• ย่านพาณิชยกรรมเมือง (Urban Center)

• ย่านที่อยู่อาศัยผสมผสานพาณิชยกรรม (General Urban)

• ย่านที่อยู่อาศัย (Urban)

• ย่านชานเมือง (Sub Urban)

พร้อมจำแนกกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินอาคารและกิจกรรมเศรษฐกิจตามเกณฑ์ The Transect และ WalkUps โดยให้ความสำคัญกับสถานที่ตั้งของหน่วยบริการหลักซึ่งมีผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและปรับเปลี่ยนรูปแบบเมืองโดยหน่วยบริการหลัก ประกอบด้วย

• สถานีขนส่งมวลชน แบ่งเป็น Multimodal Transportation Center และ Station Center

• ศูนย์การค้าปลีกและศูนย์พาณิชยกรรมแบ่งเป็นศูนย์การค้าปลีกผสมผสานสำนักงานและที่อยู่อาศัยกับศูนย์พาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยและกิจกรรมเศรษฐกิจพิเศษเช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวกิจกรรมการผลิต และการบริการ

• สถาบันการศึกษา แบ่งเป็น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียน

สุดท้ายได้กล่าวถึง แนวทางในการออกข้อกำหนดเพื่อการบริหารจัดการเมืองโดยชี้ให้เห็นว่า การออกข้อกำหนดทุกชนิดต้องดำเนินการภายหลังการกำหนดยุทธศาสตร์การวางผังเมือง และการออกแบบเมืองแล้วเท่านั้น ห้ามออกข้อกำหนดขึ้นมาก่อนเนื่องจากจะก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ และต้องเข้าใจว่า ข้อกำหนดทางผังเมืองนั้นเป็นข้อกำหนดที่ยึดโยงกับโครงสร้างทางกายภาพ เช่น ที่ดิน อาคารและสภาพแวดล้อมไม่ได้กำหนดขึ้นโดยภาพรวมเช่นเดียวกับกฎหมายอื่น

ข้อเสนอการปรับปรุงระบบทางกายภาพของเกาะสมุย

วิทยากรได้สรุปบางเนื้อหาสำคัญที่ผังเมืองรวมเมืองเกาะสมุย(อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโยธาธิการและผังเมือง) กำหนดไว้ สาระสำคัญ ดังนี้

1. ผังเมืองรวมเมืองเกาะสมุยออกแบบตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด จำแนกที่ดินออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มพื้นที่เมือง กลุ่มพื้นที่เกษตรกรรม และกลุ่มพื้นที่ธรรมชาติ โดยกลุ่มพื้นที่เมืองได้วางผังให้กระชับตามเกณฑ์TOD โดยกำหนดให้ชุมชนพาณิชยกรรมเดิมเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้ารางเบา(ตามแผนงานโครงการในอนาคต)การปรับปรุงข้อกำหนดเดิมทั้งหมดและการเพิ่มสิทธิประโยชน์ (ZoningIncentive) สำหรับผู้ลงทุนและขยายการลงทุนในพื้นที่ TOD สำหรับกลุ่มพื้นที่เกษตรกรรมและกลุ่มพื้นที่ธรรมชาตินั้นได้ปรับเปลี่ยนการใช้ที่ที่ดินบริเวณพรุกระจูดและพรุหน้าเมืองให้เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่คงสภาพเพื่อการกับเก็บน้ำและทางน้ำไหลแต่ยังอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ตามเงื่อนไขกำหนด เช่นเดียวกับพื้นที่ความสูง 100เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งผังได้กำหนดให้ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความสูงอาคารและที่โล่งตามกฎหมายไว้

2. การออกแบบระบบการเดินทางและการเชื่อมต่อผังได้กำหนดให้มีระบบการเดินทางภายในพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนๆ แรกได้แก่การเดินทางระยะไกล โดยให้เดินทางเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งมวลชนเป็นหลักและเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นรองสำหรับการเดินทางภายในพื้นที่ TOD ได้วางผังให้หน่วยบริการสำคัญตั้งอยู่ใกล้กัน(การปรับปรุงในอนาคต) ดังนั้นจึงเกิดความสะดวกในการเดินและการใช้จักรยานในการสัญจรภายในพื้นที่และการสัญจรระหว่างที่อยู่อาศัยไปยังสถานีขนส่งมวลชน

3. กำหนดศูนย์การพัฒนาเมืองเพื่อจำแนกบทบาทเมืองให้มีความเด่นชัดและเกิดความสะดวกในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงได้แบ่งศูนย์การพัฒนาเมืองออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ศูนย์พาณิชยกรรมหลักจำนวน 7 ศูนย์ ศูนย์พาณิชยกรรมท่องเที่ยว จำนวน 5 ศูนย์ และศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนจำนวน12 ศูนย์ ดังตัวอย่างบทบาทหน้าที่ของศูนย์การพัฒนา เช่นศูนย์พาณิชยกรรมหลักซึ่งอยู่บริเวณศูนย์พาณิชยกรรมดั้งเดิมและพื้นที่เศรษฐกิจของเกาะสมุยบริเวณถนนสายทวีราษฎร์ภักดีหรือถนนสายรอบเกาะศูนย์ดังกล่าวนี้ จะรองรับการค้าธุรกิจบริการในทุกๆ ด้านศูนย์การพัฒนาขนาดใหญ่เช่นศูนย์พาณิชยกรรมหลักหน้าทอนจะเป็นที่ตั้งของสถาบันราชการและ Samui Multimodal TransportationCenter อันเป็นที่รวมของการขนส่งทุกรูปแบบของเกาะสมุยหรือศูนย์พาณิชยกรรมหลักโลตัสเฉวง จะเป็นสถานที่รวมของธุรกิจบริการทางการเงินการค้าปลีก และการบริการที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ข้อเสนอและข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมเสวนา

ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมากซึ่งส่วนหนึ่งสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงข้อกำหนดผังเมืองรวมได้ รายละเอียด ดังนี้

1.การเร่งรัดให้ผังเมืองรวมประกาศใช้หรือมีผลบังคับโดยเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของเกาะสมุยได้ทั้งนี้จากการที่ผังเมืองรวมได้ให้ incentive ด้านขนาดอาคารและความสูงอาคารไว้ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนในอนาคต

2.ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนอาคารชุด เนื่องจากเทศบาลนครเกาะสมุยได้ออกเทศบัญญัติห้ามก่อสร้างอาคารชุดทุกชนิดไว้หลังจากผังเมืองรวมปี2549 หมดอายุ ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาผู้ประกอบการไม่สามารถลงทุนและขยายผลิตภัณฑ์บริการที่อยู่อาศัยได้

3. เกาะสมุยยังขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆอีกเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างที่ผู้ออกแบบและผู้ประกอบการกำลังประสบคือการขาดแคลนโครงข่ายการระบายน้ำ ทั้งระบบระบายน้ำฝนและน้ำเสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายระบายน้ำในถนนสายรองและถนนซอยทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบการระบายน้ำจากอาคารเข้าสู่ระบบการจัดการน้ำโดยรวมได้เกิดการปล่อยน้ำทิ้งและน้ำฝนลงสู่ผิวถนนและไหลเข้าสู่สถานที่สาธารณะสร้างทัศนอุจาดและทำให้เมืองสูญเสียสภาพแวดล้อมที่ดี

4. การขาดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ที่เด่นชัดภาคเอกชนและภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ทราบทิศทางในการพัฒนาเมืองและการใช้พื้นที่สำหรับการพัฒนาโครงการ

5. การขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพและความล้มเหลวในการจัดการระบบการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวเนื่องจากเทศบาลนครเกาะสมุยไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดการการเดินเรือ(เรือเฟอร์รี่และเรือประมง) การเดินรถขนส่งสาธารณะ (รถขนส่ง รถแท็กซี่และรถสองแถว) การจัดการเชิงพื้นที่ถนนของกรมทางหลวง ฯลฯจึงทำให้ไม่สามารถสร้างระบบการจัดการที่ดีและสร้างความปลอดภัยสำหรับการเดินทางได้


สรุป

วิทยากรและผู้ร่วมเสวนาเห็นว่าเกาะสมุยยังมีศักยภาพและโอกาสอีกมากในการพัฒนาสู่เมืองท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานเพียงแต่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการวางผังและออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมืองการลงทุนระบบขนส่งมวลชนและสร้างระบบการเชื่อมต่อการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับการจัดการสภาพแวดล้อมนั้น วิทยากรได้เสนอให้เกณฑ์ LEED-ND และ Form-BasedCodes ในการออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับทุกย่านและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านสำคัญๆ ที่มีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้แนวทางหลักที่ผู้ร่วมการเสวนาอยากเห็นได้แก่การปรับปรุงระบบการปกครองเกาะสมุยให้เป็น “เมืองพิเศษด้านการท่องเที่ยว”ซึ่งจะสามารถกระชับอำนาจและรวมศูนย์การบริหารจัดการ รวมทั้งสามารถสร้างระบบบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพได้ 






Create Date : 21 กันยายน 2558
Last Update : 21 กันยายน 2558 21:10:00 น.
Counter : 1663 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Rattanakosin.BlogGang.com

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด