“แสงสว่างที่ปากอุโมงค์”ประสบการณ์จริงจากความพยายามในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ของหน่วยงานไทย

“แสงสว่างที่ปากอุโมงค์”ภาคประสบการณ์จริงจากความพยายามในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) ของหน่วยงานขนส่งมวลชนไทย

โดย ฐาปนา บุณยประวิตร

อีเมล์ thapana.asia@gmail.com

www.asiamuseum.co.th www.smartgrowthasia.com


บทนำ

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) ตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) ระหว่างวันที่ 3- 5 พฤศจิกายน 2557มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของประเทศโดยมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 50 คนประกอบด้วย ตัวแทนคณะผู้บริหารของ สนข. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด สำนักขนส่งและจราจรกรุงเทพมหานคร สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง




ผู้ร่วมเสวนาในวันแรก

ในการสัมมนาวันแรก (เฉพาะภาคบ่าย)เป็นการสรุปประสบการณ์สำคัญจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยผู้บริหารจากหน่วยงานขนส่งมวลชนร่วมเสวนา ดังนี้

1. นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

2. ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลีผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

3. นายปัตตะพงษ์ บุญแก้วผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย

4. นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง ผู้แทนบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

5. ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล ผู้แทนบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

ดำเนินการโดย ผศ.ดร.สญชัย ลบแย้ม

สาระสำคัญจากเสวนา




นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร


นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช วิทยากรตัวแทนจาก สนข. ได้กล่าวสรุปภารกิจการของ สนข.ในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนซึ่ง สนข.ได้ริเริ่มศึกษาและออกแบบในช่วงของรัฐบาลที่ผ่านมาโดยดำเนินการในพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลกแต่ได้ชะลอไว้หลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนข. ได้มองเห็นผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศจากพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ดำเนินการควบคู่กับการวางผังพัฒนาเมืองดังนั้น จึงมีนโยบายในการส่งเสริมให้การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบในพื้นที่ที่มีศักยภาพเช่น พื้นที่ย่านถนนพหลโยธินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และพื้นที่ในบริเวณอื่นๆซึ่งจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 




ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย


สำหรับประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ได้กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ว่าเป็นแนวทางหลักของโลกในขณะนี้ที่จะสามารถนำพัฒนาเมืองไปสู่ความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกณฑ์การพัฒนาเมืองไปสู่เมืองแห่งการเดินหรือ walkable City นั้นนับเป็นแนวทางเดียวที่จะสร้างโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจและความมั่งคั่งให้เกิดกับเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสุขภาวะให้กับประชาชน สำหรับภารกิจของรฟม.ในการสร้างแนวทางในการลดปัญหาการคับคั่งการจราจรด้วยระบบขนส่งมวลชนนั้น รฟม.เห็นว่า หน่วยงานต่างๆต้องบูรณาการแผนเพื่อให้เกิดสภาพของ BMW ซึ่งได้แก่ Bus, Metro และ walk อย่างสมดุล ต้องพัฒนาระบบการเข้าถึงพื้นที่ TOD ด้วยการเดินและการปั่นจักรยานให้ได้ นอกจากนั้น ต้องสร้างการพัฒนาที่ใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยควรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างแท้จริงโดยภาครัฐเป็นผู้ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 





คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง (คนกลาง)

ตัวแทนจากบริษัท รถไฟฟ้า รฟม.จำกัด (คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า Airport Link ได้กล่าวถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เด่นชัดของ TOD โดยนำกรณีศึกษาการเกิดขึ้นของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระรามเก้าว่าจากเดิมสถานีมักกะสันมีผู้ใช้บริการต่อวันเพียงแค่ 2,000 คนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 4,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มในการเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และได้ยกตัวอย่างการลงทุนของภาคเอกชนในการสร้างทางเดินขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับสถานีรามคำแหงซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานีดังกล่าวเพิ่มปริมาณผู้โดยสารขึ้นอีกมาก กรณีของสถานีทับช้างซึ่งปัจจุบันอยู่ในลักษณะถูกขัดขวางจากอุปสรรคทางกายภาพบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและหาแนวทางในการสร้างพื้นที่เชื่อมต่อสองฝั่งทั้งคลองและถนนมอเตอร์เวย์ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ 




ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล ผู้แทนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด


สำหรับข้อเสนอของ ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล ตัวแทนจากบริษัท รถไฟฟ้ารฟม.จำกัดอีกท่าน ที่เป็นวิทยากรร่วมเสวนา ได่ให้แนวคิดการพัฒนาโครงการ TOD ว่าควรศึกษาตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักและให้ใช้หลักการสร้างความมีชีวิตชีวาแก่พื้นที่ด้วยการสร้างเศรษฐกิจและการลงทุนที่ชัดเจน

สำหรับปัญหาในการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากในวันนี้คือ ข้อกำหนดและกฎหมายหลายฉบับที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่เช่น การอนุญาตให้ รฟม.ทำการพัฒนาพื้นที่ได้ในกิจการของ รฟม.เท่านั้นตามการตีความของกฤษฎีกา ได้ทำให้รฟม.ไม่อาจพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งเพื่อการพาณิชย์หรือที่อยู่อาศัยได้หรือแม้แต่ข้อกำหนดจากกฎหมายฉบับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคซึ่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป




คุณปัตตะพงษ์บุญแก้ว ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (คนกลาง)


สำหรับคุณปัตตะพงษ์บุญแก้ว ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนา TOD รอบสถานีรถไฟ ในช่วงที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้พยายามมองหาศักยภาพของพื้นที่ในบริเวณต่างๆในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของการรถไฟ โดยเชื่อว่าหากสามารถพัฒนาพื้นที่รอบสถานีได้จะเป็นผลดีต่อการสร้างเสถียรภาพในการเดินทางด้วยรถไฟ และพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังเช่นในขณะนี้ การรถไฟกำลังมีโครงการร่วมกับ สนข.ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณที่ดินของการรถไฟฯ เชิงสะพานสารสิน จังหวัดพังงาซึ่งอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบพร้อมไปกับการพัฒนารถไฟฟ้าเชื่อมต่อภายในเขตจังหวัดภูเก็ต และจะใช้รูปแบบเดียวกันนี้ในการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางรถไฟของจังหวัดขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการรถไฟฯได้ประสบปัญหาอย่างมากจากการบุกรุก การใช้พื้นที่ของประชาชน โดยการรถไฟฯไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายที่คาดหวังไว้ได้สำหรับความต้องการที่แท้จริงของการรถไฟฯ การรถไฟฯ ประสงค์จะพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจโดยรวมให้กับเมือง โดยยังคงเอกลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆไว้ ดังเช่นการปรับปรุงฟื้นฟูสถานีรถไฟหัวหิน การรถไฟฯ ได้มีนโยบายให้คงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของสถานีไว้ เพื่อให้เป็นจุดหมายตา เป็นเอกลักษณ์ที่ดีของชาวเมืองหัวหินต่อไป



ภาพการบรรยายเรื่อง “แนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและเมืองอย่างยั่งยืน”

โดย ผศ.ดร.สญชัย ลบแย้ม

กลุ่มวิชาการวางแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง





อาจารย์ฐาปนาบุณยประวิตร และ อาจารย์ ดร.ฐกลพัศ เจนวิวัฒนกุล

ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันการเติบโตอย่างชาญฉลาด



ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 50 คนประกอบด้วย ตัวแทนคณะผู้บริหารของ สนข.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด สำนักขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานคร สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านผังเมืองที่ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่าง 2 ลิ้งก์นี้

//www.oknation.net/blog/smartgrowth

//www.oknation.net/blog/smartgrowththailand





Create Date : 06 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2557 23:30:54 น.
Counter : 1605 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Rattanakosin.BlogGang.com

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด