การออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจตอนที่ 2 กรณีศึกษาข้อเสนอการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี





การออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจตอนที่2กรณีศึกษาข้อเสนอการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี

โดย ดร.ธนดร พุทธรักษ์

มูลนิธิยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา (เสนีย์จิตตเกษม)

 ฐาปนา บุณยประวิตร

สถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทยและสมาคมการผังเมืองไทย

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าหนึ่งในศูนย์การค้าปลีกภายในศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี

ที่มา : คุณเวชยันต์ ช้างรักษา

บทนำ

บทความตอนที่ 1 ผู้เขียนได้กล่าวถึงความจำเป็น รูปแบบ ประโยชน์ด้านต่างๆ อาทิผลประโยชน์จากการพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมและผลประโยชน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้รับจากศูนย์เศรษฐกิจกรณีมีการวางแผนพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบพร้อมด้วยแนวทางการวางแผนทางกายภาพตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (SmartGrowth Principles) สำหรับบทความตอนที่ 2 ผู้เขียนจะนำข้อเสนอการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีที่มีสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่ใจกลางเป็นกรณีศึกษาโดยจะชี้ให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ในการยกระดับเป็นศูนย์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ได้มาตรฐานและตอกย้ำความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของบริเวณใจกลางเมืองอุดรธานีที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ(Multimodal Transportation Center) ในอนาคต

บทความตอนที่ 2 ประกอบด้วย ความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค ข้อเสนอการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคและประสบการณ์และความท้าทายในการเป็นผู้นำการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี

จังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและใจกลางพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภาคมีตำแหน่งเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการศูนย์กลางพาณิชยกรรมและศูนย์กลางการค้าระดับภาค ทำหน้าที่สนับสนุนการค้า การผลิตการบริการ และการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ดังเช่น สนามบินนานาชาติ สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โครงข่ายถนนภายในพื้นที่เขตเมืองโครงข่ายทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดในภูมิภาคและประเทศข้างเคียง กล่าวได้ว่าจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งในระดับต้นๆของประเทศ

ในปี 2558 รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุกต์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์เศรษฐกิจภายในประเทศกับศูนย์เศรษฐกิจของต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกโดยกำหนดเป้าหมายการลงทุนและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งได้แก่รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายหนองคาย-กรุงเทพมหานคร รถไฟทางคู่สายหนองคาย-มาบตาพุด ฯลฯทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของเครือข่ายการค้า การกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การค้าและการบริการ ในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจ ทั้งศูนย์เศรษฐกิจระดับภาคและศูนย์เศรษฐกิจบริเวณชายแดนซึ่งพื้นที่พัฒนาเป้าหมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่พื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจตามแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายหนองคาย-กรุงเทพมหานครอันประกอบด้วย พื้นที่ใจกลางเมืองจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่นจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย รวมทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคายมุกดาหาร และนครพนม

สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีนั้นนับว่ามีความพร้อมในระดับสูง เนื่องจากรัฐฯ ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังที่ได้กล่าวแล้วโดยมีสถานีรถไฟและสถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานีเป็นใจกลางและมีย่านพาณิชยกรรมที่ทันสมัยตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบอย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟและสถานีขนส่งเป็นศูนย์เศรษฐกิจที่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานการออกแบบสถาปัตยกรรมเมืองและการผังเมืองซึ่งจะทำให้ศูนย์เศรษฐกิจมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนสามารถตอบสนองต่อการยกระดับทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องวางผังและออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพและการลงทุนเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางเพิ่มเติมทั้งนี้เพื่อเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาและเป็นแบบอย่างสำหรับการวางผังและการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต่อไป

ศักยภาพการพัฒนาเป็นศูนย์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค

เกณฑ์การวางผังและการออกแบบเมืองของ Form-BasedCodes และเกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบด้านพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน(LEED-ND) กำหนดให้ศึกษาศักยภาพพื้นที่พัฒนาโดยการพิจารณาความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่รัฐและเอกชนได้ลงทุนไว้ในพื้นที่โครงการพร้อมกับพิจารณาจากข้อกำหนดของเกณฑ์อื่นๆ ต่อจากนั้นให้กำหนดแนวทางออกแบบปรับปรุงศูนย์เศรษฐกิจตามนโยบายการฟื้นฟูเมืองของการเติบโตอย่างชาญฉลาดกรณีของจังหวัดอุดรธานี จะได้พิจารณาดังต่อไปนี้

เกณฑ์การวางผังและการออกแบบเมือง

ศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีมีสถานีรถไฟเป็นพื้นที่ใจกลางปัจจุบัน มีสภาพเป็นศูนย์พาณิชยกรรมและศูนย์การลงทุนระดับภูมิภาคมีความพร้อมและได้มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตามประเภทเมืองเศรษฐกิจของเกณฑ์การออกแบบเมืองForm-Based Codes และเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(Transit-Oriented Development Principles) ของการเติบโตอย่างชาญฉลาด รายละเอียดดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง

กำหนดให้พื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจประเภทใจกลางเมือง(Downtown Center) และศูนย์พาณิชยกรรมเมือง(Urban Commercial Center) เป็นที่ตั้งของศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ(Multimodal Transportation Center) หรือสถานีขนส่งที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อการเดินทางมากกว่า 2 รูปแบบโดยอย่างน้อยหนึ่งในรูปแบบการเดินทางจะต้องเป็นรถไฟฟ้าระบบรางเป็นองค์ประกอบหากมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นหนึ่งในประเภทการเดินทางให้สถานีนั้นต้องตั้งอยู่ในศูนย์ใจกลางเมืองหรือศูนย์พาณิชยกรรมเมืองเท่านั้นและต้องมีระบบการเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพระหว่างศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบกับสนามบินทั้งนี้ศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต้องเป็นศูนย์กระจายการเดินทางภายในพื้นที่และระหว่างพื้นที่เทียบสัดส่วนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 40เทียบจากปริมาณผู้เดินทางทั้งหมด

โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ

กำหนดให้มี 1)โครงข่ายถนนและทางเดินเชื่อมต่อระหว่างศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบกับสถานีขนส่งศูนย์การค้าปลีก ตลาด สถาบันการศึกษา สถาบันของรัฐ และกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยโดยอาจวัดประสิทธิภาพของการเชื่อมต่อด้วยค่าคะแนนของ walkscore หรือความสามารถในการเดินถึง 2) รูปแบบย่านและอาคารเป็นไปตามเกณฑ์ของ LEED-ND และมาตรฐานการออกแบบสถาปัตยกรรมเมืองของ Form-BasedCodes 3) รูปแบบถนนและมาตรฐานถนนตามเกณฑ์ถนนสมบูรณ์(Complete Streets) โดยให้ความสำคัญพิเศษกับโครงสร้างพื้นฐานถนนทางเดิน ทางจักรยาน และภูมิทัศน์เมือง 4) ระบบการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเขียว (GreenInfrastructure)

โครงสร้างกิจกรรมพาณิชยกรรม

กำหนดให้มีสัดส่วนพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่บริการมีความสมดุลกับจำนวนประชากรถาวรและประชากรชั่วคราวตามเกณฑ์LEED-ND โดยกำหนดให้พื้นที่ถนนสายหลัก (MainStreet) และใจกลางย่านพาณิชยกรรมเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าปลีกร้านค้าปลีก หน่วยบริการ พื้นที่สำนักงาน สถานบันเทิงตามสัดส่วนที่กำหนดและให้มีที่อยู่อาศัยผสมผสานพาณิชยกรรมตามขนาดประชากรถาวรและชั่วคราวไม่น้อยกว่าที่เกณฑ์ระบุสำหรับรัศมีบริการขึ้นอยู่กับการกำหนดทำเลที่ตั้งของหน่วยบริการนั้นๆและเป็นไปตามความเห็นของสถาปนิกผู้ออกแบบ

การวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี

ศูนย์เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ได้แก่ สถานีรถไฟ สถานีขนส่งและโครงข่ายการเดินทางขนส่งมวลชนที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนสำหรับพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีสามารถออกแบบปรับปรุงเป็นศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยหากในอนาคตมีการลงทุนสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงและมีการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมต่อการเดินทางภายในพื้นที่เขตเมืองพร้อมทั้งมีระบบการเชื่อมต่อกับสนามบินนานาชาติจังหวัดอุดรธานีด้วยระบบขนส่งมวลชนแล้วศูนย์เศรษฐกิจแห่งนี้จะสามารถยกระดับไปศูนย์การขนส่งระดับภูมิภาคได้


สถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางศูนย์เศรษฐกิจ

ที่มา: คุณเวชยันต์ ช้างรักษา


สถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางศูนย์เศรษฐกิจ

ที่มา: คุณเวชยันต์ ช้างรักษา

โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพภายในพื้นที่รอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีมีรูปแบบย่านเป็นไปตามเกณฑ์ LEED-NDอย่างไรก็ตามโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายถนน และทางเดินถนนจำเป็นต้องออกแบบปรับปรุงใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของสถานีรถไฟเช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานเขียวและรูปแบบภูมิทัศน์เมือง


บรรยากาศของย่านพาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี

ที่มา: คุณเวชยันต์ ช้างรักษา

โครงสร้างกิจกรรมพาณิชยกรรมนับได้ว่าพื้นที่ในปัจจุบันภาคเอกชนได้ลงทุนไว้เป็นส่วนใหญ่ดังจะเห็นได้จากการลงทุนศูนย์การค้าปลีกในรูป Community mall ในนามของ “ยูดี ทาวน์” ตลาดสด ตลาดใต้รุ่งศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และโรงแรมระดับ 3 ดาวอีกเป็นจำนวนมาก ไม่นับรวมโครงการ AECSquare ที่จะเปิดดำเนินการในช่วงต้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ตามเกณฑ์ LEED-NDในการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจในอนาคตจะต้องเพิ่มปริมาณอาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์สถานบันเทิง และที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ เช่นที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ (Affordable Housing) และคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดโดยกำหนดทำเลที่ตั้งให้ผสมผสานตามสัดส่วนที่กำหนด

บรรยากาศของย่านพาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี

ที่มา: คุณเวชยันต์ ช้างรักษา


โครงการ AECAQUARE เพื่อการพัฒนาพาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยที่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจ

ที่มา : คุณเวชยันต์ ช้างรักษา

ข้อเสนอโครงการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีสามารถรองรับการลงทุน เพิ่มการสร้างงานและการจ้างงานผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนและลงทุนออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ จำนวน 3 โครงการ ดังต่อไปนี้

1.โครงการศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอินโดจีน(Indo-China Multimodal Transportation Center Plan) บริเวณสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีเพื่อรองรับการเปิดบริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางภายในจังหวัดอุดรธานีภายในภาคตะวันอกเฉียงเหนือตอนบนสนับสนุนการเชื่อมต่อการเดินทางกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน

2.โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดอุดรธานี(Udon Thani Mass Transit Development Plan) โดยการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็กบนผิวทาง(Streetcar/Tram) เชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนภายในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานีสนามบินนานาชาติอุดรธานี และศูนย์การกระจายสินค้าจังหวัดอุดรธานีในอนาคต

3.โครงการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีโดยใช้พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานี โดยดำเนินการตามเกณฑ์ Transit-OrientedDevelopment Project : TOD เพื่อวางผังและออกแบบปรับปรุงพื้นที่รอบสถานีให้เป็นเมืองแห่งการเดินเป็นศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนระดับภูมิภาคหรือที่เรียกว่า “ศูนย์เศรษฐกิจอินโดจีน” และศูนย์ที่อยู่อาศัย

ประสบการณ์และความท้าทายในการเป็นผู้นำการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ศูนย์เศรษฐกิจที่ได้รับการออกแบบปรับปรุงตามมาตรฐานและมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจะเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่สนับสนุนให้ประเทศผ่านพ้นไปสู่การเป็นประเทศทีมีรายได้สูงหรือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากศูนย์เศรษฐกิจมีสภาพเป็นหน่วยการผลิตและหน่วยการบริการเป็นแหล่งของการสร้างงานและการจ้างงานที่สร้างมั่นคงด้านรายได้แก่ประชาชนทุกระดับศูนย์เศรษฐกิจระดับเมือง ภาคและภูมิภาคคือหน่วยเศรษฐกิจที่เพิ่มโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งงานโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรที่รัฐได้จัดไว้ ในขณะเดียวกันศูนย์เศรษฐกิจได้ทำหน้าที่ในการลดการเคลื่อนย้ายประชากร ลดความจำเป็นในการเดินทางและเพิ่มความเท่าเทียมในระบบเศรษฐกิจแก่ประชาชน

กรณีศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีสถานะในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่า เป็นศูนย์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคเป็นหน่วยการค้าปลีกสำคัญที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและเป็นแหล่งดึงดูดให้เกิดการบริการอื่นๆ อาทิ การบริการลงทุน การบริการทางการเงินการบริการทางการแพทย์ การบริการท่องเที่ยว การบริการการเดินทางและการบริการศึกษาในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดข้างเคียงสภาพของศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีในขณะนี้จึงมีบทบาทการการให้บริการการลงทุนและการค้าปลีกที่มีขนาดและปริมาณที่มากกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษดังที่รัฐได้กำหนดไว้ดังนั้นจึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารประเทศและผู้บริหารเมืองที่จะพิจารณาต่อยอดให้เกิดการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์ดังกล่าวให้ได้มาตรฐานเป็นตัวแทนของศูนย์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคของประเทศที่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับการพัฒนาในพื้นทีอื่นๆต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Form Based Codes Institute, Form-Based CodesDefined: Available from

formbasedcodes.org/definition

U.S Green Building, LEED for NeighborhoodDevelopment: Available from

w.usgbc.org/Docs/Archive/General/Docs6423.pdf

U.S. Environmental protection Agency, 2014,Smart Growth: Available from

//www.epa.gov/smartgrowth/




Create Date : 02 ธันวาคม 2558
Last Update : 2 ธันวาคม 2558 21:04:17 น.
Counter : 1519 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Rattanakosin.BlogGang.com

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด