แถลงมานุสติเพื่องานผังเมืองไทย โดย อ.ธนกฤต มีสมจิตร




แถลงมานุสติเพื่องานผังเมืองไทย

จากกรณีที่มีแถลงการณ์สภาสถาปนิกเรื่องร่างข้อบังคับสภาฯ ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับโดย 1 ใน 4 สาขานั้น มี “สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง” อยู่ด้วย ร่างข้อบังคับนี้อันมีสาระหลักเพื่อใช้พิจารณาตัดสินว่าบุคคลใดมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมพร้อมกันนี้สภาสถาปนิกจะจัดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม(ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3อาคารสภาสถาปนิก ตั้งแต่เวลา 12:30 น.เป็นต้นไปด้วยนั้น

จากในช่วง 20 ปีมานี้ ผมเคยได้ยินแนวคิดที่จะให้วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งมีอำนาจเต็มตามกฎหมายที่จะมีสิทธิรับงานหรือลงนามในงาน/โครงการจัดจ้างทางผังเมืองนี้มาหลายหน หลายวาระ ตราบจนถึงวันนี้ ผมไม่คิดว่าจะยังมีแนวคิดนี้อยู่อีกในสังคมปัญญาชนไทย!! เนื่องจากแต่ละสาขาวิชาชีพต่างก็มิทิศทางและแนวงานของตนไปตามครรลองวิชาชีพแห่งตนที่ค่อนข้างมีความชัดเจนสูงอยู่แล้ว (เมื่อแยกไปทำงานเฉพาะเรื่อง-เฉพาะทาง) แต่ในกรณีที่เป็นงาน/โครงการที่ต้องรวมตัวกันทำพร้อมกันในหลายวิชาชีพเช่น งานทางการวาง จัดทำ และออกแบบผังเมืองนั้น ถือเป็นงานใหญ่ งานสำคัญระดับสูงและอาจก่อผลกระทบเสียหายต่อสังคมส่วนรวมในระดับทั้งเมืองและระหว่างเมืองได้สูง(เช่น น้ำท่วมใหญ่ ความเสียหายต่อระบบนิเวศของพืชและสัตว์ การก่อมลพิษเมืองและปัญหาภาวะโลกร้อนการก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตรายวันของพลเมืองอีกทั้งความเสี่ยงด้านพิบัติภัยธรรมชาตินานา ฯลฯ) ดังนั้น “งานในทางผังเมือง” นี้ จึงมีความเป็น“สหวิทยาการ” สูงกว่าและรับผิดชอบ และก่อผลกระทบได้ทั้งเชิงลบเชิงบวกมากกว่าการทำงานหลายๆโครงการอย่างมาก เพราะต้องผสาน/ผนึกพลังความรู้จากนักวิชาชีพนับ 20-30 ศาสตร์ นั่นเท่ากับว่าการทำงานร่วมกันนี้ ย่อมมีลักษณะซ้อนทับ และก็มีความชัดเจนในร่องในรอยของวิชาชีพตนไปพร้อมกันแต่ก็ใช่ว่า แนวคิดการ “สร้างอภิสิทธิ์” ทางวิชาชีพนี้ควรจะบังเกิดขึ้นในสังคมไทยเนื่องจากการดำเนินการใดๆ ไม่ควรเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของแต่ละวิชาชีพนั้นๆ หากแต่แต่ละวิชาชีพนั้นควรดำเนินงานของตนอย่างเต็มความรู้ความสามารถในวิชาชีพตนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม(งานเพื่อสังคม/งานสาธารณประโยชน์โดยแท้) หาใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและกลุ่มแต่อย่างใดไม่

ด้วยงานออกแบบชุมชนเมือง (UrbanDesign) และบุคลากรในวิชาชีพการออกแบบเมือง นั้น นักออกแบบเมือง (Urban Designer) เป็นผู้ที่จะนำผลของกระบวนคิด กลั่นกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ผลการศึกษาทั้งเชิงเศรษฐกิจ(เศรษฐกร) โครงสร้างพื้นฐานเมืองและชุมชน(วิศวกร) สังคม ประชากร (นักประชากรศาสตร์และนักสังคมศาสตร์) ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณา(นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยา) โบรานคดี (นักโบราณคดี และนักบรรพชีวิน) การเมืองการปกครอง(นักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์) ฐานทรัพยากรธรรมชาติ (นักวนศาสตร์ นักเกษตรศาสตร์ นักชีววิทยาและนักวิชาการสิ่งแวดล้อม) คุณภาพและมลพิษสิ่งแวดล้อม (นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อมฯลฯ ผ่านกิจกรรมนานาในกระบวนการศึกษา วาง และจัดทำผังเมือง เช่น การศึกษาสำรวจพื้นที่การสัมภาษณ์ทุกภาคส่วน (นักกิจกรรมภาคสนาม) การทบทวนแผนนโยบายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง(นักยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง (นักวิชาการกฎหมายท้องถิ่น/นิติกร) การซ้อนทับและวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ(นักGIS) การทำเวทีรับฟังความคิดเห็น (นักกระบวนการมีส่วนร่วม)การวิเคราะห์ความเสี่ยง (นักชลศาสตร์ นักอุทกศาสตร์ นักปฐพีวิทยา ฯลฯ) เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เป็นการออกแบบดูแล รับผิดชอบ และบริหารจัดการโครงการศึกษา วาง และจัดทำผังเมืองโดยผู้ที่เรียนมาในหลักสูตรแบบ “องค์รวม” ไม่แยกส่วน/แยกศาสตร์ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ในสหวิทยาการด้วยหลักสูตรการวางแผนและผังเมือง(Urban Planning) ซึ่งก็คือนักผังเมือง (UrbanPlanner) เป็นร่มใหญ่หรือแม่งานหรือผู้จัดการหลักของกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา

เรากำลังร่วมเดินกันไปบนเส้นทางแห่งการสร้างเมืองไม่ใช่การออกแบบก่อสร้างสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นองค์ประกอบยิบย่อยของเมืองเรากำลังเดินไปบนความเสี่ยงของระบบการสร้างหลักประกันให้กับสังคมไทย คำถามคือ

ต้องตระหนักร่วมกันให้ได้ว่า งานUrbanDesigns เป็นเพียงขั้นตอน 1 ใน 10 ของกระบวนการศึกษา จัดทำและวางผังเมือง(ไม่ว่าผังระดับใด เช่น ผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมชุมชน ผังพื้นที่เฉพาะผังเฉพาะ ฯลฯ) ซึ่งอาศัยทักษะ(จำเพาะด้าน) ของนักออกแบบเมืองในบางขั้นตอนของกระบวนการเท่านั้นและขั้นตอนการออกแบบนี้จะเกิดขึ้นในขั้นตอนกลางๆ และท้ายๆของกระบวนการจัดทำผังเมือง โดยต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่ซับซ้อนทั้งการใช้นักวิชาชีพหลายสาขาการทุ่มงบประมาณและเวลาในการศึกษารวบรวมข้อมูล คัดกรอง วิเคราะห์ และสังเคราะห์ผลของพื้นที่ปฏิบัติการวางผังซึ่งอีก 9 ใน 10 ขั้นตอนที่นอกเหนือขั้นตอนการออกแบบเมืองนี้เอง ได้ใช้เวลาไปในสัดส่วนที่มากที่สุดกว่าขั้นตอนการออกแบบและปรับแก้ผังโดยก่อนจะถึงการนำผลสังเคราะห์ความรู้จากพหุศาสตร์มาให้ “นักออกแบบเมือง” ได้ลองใช้ทักษะเฉพาะทางในวิชาชีพตนเสนอรูปแบบมาเพื่อให้เหล่า“สหศาสตร์” ได้ร่วมกันคัดกรองว่าแบบที่ออกมานั้นมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดผ่านดุลพินิจของนักวิชาชีพในทุกสาขาที่ร่วมทำกระบวนการศึกษา วิเคราะห์สังคมเคราะห์ผลกันมาทั้งหมดนับแต่ต้นทางและตลอดสายทางหรือไม่แล้วยังต้องนำร่างรูปแบบที่(มีหลายทางเลือก) ซึ่งผ่านการคัดกรองในหมู่นักสหศาสตร์ที่ทำกันอยู่หลายรอบในยกแรกแล้วนี้ไปขอความเห็นชอบหรือแก้ไขปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมลงตัวทั้งเชิงหลักวิชาการและความต้องการของผู้ใช้ผังหรือผู้ได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบจากการบังคับใช้ผังตามกฎหมายคือ“ผองประชาชนเจ้าของพื้นที่” อีกหลายครั้งหลายหน แล้วจึงให้นักวิชาชีพออกแบบ (UrbanDesigner) ได้ใช้ทักษะเฉพาะทาง(และเฉพาะขั้นตอน)ช่วยปรับแต่งให้ทุกฝ่ายยอมรับและเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเหล่านี้เองยังคงอยู่ในการบริหารจัดการและการควบคุมทางมาตรฐานวิชาชีพการผังเมืองของนักวางแผนเมือง(Urban Planer) เป็นสำคัญที่เป็นผู้รู้รอบในสหสาขา(เชิงกว้างและครอบคลุมรัดกุม)เพื่อควบคุม กำกับทิศทางให้สอดรับกับผลการศึกษากลั่นกรองของนักสหวิชาชีพที่กล่าวมาทั้งหมด

แต่หากต้องรวบอำนาจหรืออภิสิทธิ์ไว้ในมือของบางสาขาวิชาชีพเพียงวิชาชีพเดียวมันถูกต้อง เหมาะควร และไม่ขัดต่อจรรยาชีพ และความรับผิดชอบที่ต้องมีให้ประชาชนหละหรือ???หากทางกลุ่มวิชาชาชีพใดมีดำริที่จะยกร่างระเบียบเรื่องนี้ ท่านได้มีคำตอบที่ว่าตลอด20 ปีนี้ ความพยายามนี้จะทำไปเพื่ออะไร? เพื่อใคร? สามารถตอบข้อครหาของสังคมที่ว่า เป็นแค่พิธีกรรมนำไปสู่การควบรวมเบ็ดเสร็จในอำนาจของการศึกษาวาง จัดทำและออกแบบผังเมือง หรือไม่ และจะเป็นการปู่ทางสู่อำนาจสิทธิขาดในการเสนองานประกวดจัดจ้างงาน ในการจัดทำงานจากผู้ว่าจ้างเป็น “ธงนำ” หรือไม่แล้วหลักประกันความอยู่รอดปลอดภัยและสันติสุขอันดีและยั่งยืนของคุณภาพชีวิตประชาชนอีก 70 ล้านประชากรไทย อยู่ตรงไหนนอกเหนือจากที่สังคมมองว่าเป็นแค่การสร้างกิจกรรมแย่งงานและทำมาหากินของนักวิชาชีพ??

นอกเสียจากว่า ... ในแต่ละสาขาวิชาชีพนั้นต่างก็มีระบบหลักประกันทางกฎหมายที่เรียกว่าใบประกอบวิชาชีพในสาขาของตนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และระเบียบเหล่านั้นก็ได้มีข้อบัญญัติแห่งบทลงโทษของเฉพาะวิชาชีพนั้นแล้วหากแต่จะมีวิชาชีพใหม่ (ดูเหมือนจะไม่เคยมีอยู่ในสารบบของการผังเมืองโลก) ที่จะเข้ามารับผิดชอบดูแลงานใหญ่ที่ขึ้นกับความเป็นความตายของมหาชนซึ่งเดิมงานใหญ่เช่นนี้ได้มีครรลองปกติของมันอยู่แล้วที่นักสหวิชาชีพได้มาเข้าร่วมจับมือกับผองประชาชนร่วมไม้ร่วมมือกันสร้างและออกแบบผังเมืองที่ดีน่าอยู่ ยั่งยืน ปลอดภัย ดังนั้น หากจะมีผู้ที่อยากมีอภิสิทธิเหนืองานของประชาชนส่วนรวมก็จำต้องตอบสังคมให้ได้ว่า มีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบไว้อย่างไรแล้วบ้างในร่างระเบียบชุดนี้เช่นว่า หากผังที่ได้วาง/ออกแบบ/จัดทำขึ้นนั้น ก่อความเสียหาย ล้มเหลวหรือประสบพิบัติภัย และเกิดผลกระทบแง่ลบต่อสังคมวงกว้างแล้วไซร้ ผู้มีอำนาจเซ็นรับงานและเซ็นอนุมัติแบบแต่เพียงผู้เดียวหรือเพียงวิชาชีพเดียวนั้นจะรับผิดทางกฎหมายแพ่งและอาญาไว้สูงเป็นกี่เท่าของงานสาขาวิชาชีพอื่นๆ !!นี่คือปุจฉาที่สำคัญยิ่งยวด

ทุกภาคส่วนต้องไม่ลืมว่าโลกใบนี้แคบลงในการเชื่อมถึงและรับรู้ระหว่างกันทุกวัน และโลกนี้แผ่เผยและเปิดกว้างต่อทุกผู้คนทั้งในแวดวงแต่ละวิชาชีพและทุกผู้คนที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้การอยู่ร่วมในสังคม และทำงานรับผิดชอบในแบบสหสาขาวิชาชีพร่วมกันนั้นประชาชนกำลังเฝ้าดูและถามหาคำตอบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในเมื่องานสร้างเมืองมิใช่เพียงงานสร้างบ้าน สร้างตึก สร้างเพิงพัก และสร้างสิ่งอันสวยงามประทับใจและล้ำสมัยประดับเมืองแล้วจึงนำมาใส่ตะกร้ารวมกันเพื่อเรียกว่า “เมือง” แต่งานสร้างเมืองที่แท้จริงนั้นมีแนวโน้มและทิศทางที่ต้องอาศัยภูมิรู้ของอีกหลายสาขาวิชาชีพที่จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเพื่อเติมเต็มส่วนบกพร่องจากที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆอันเป็นพัฒนาการของแต่ละเรื่องของบ้านเมืองเรา มิใช่การชิงกลบลบกระดานกวาดไล่สหวิชาชีพออกไปจากเส้นทางงานสร้างเมือง ให้เหลือ “พระเอกขี่ม้าขาว”เพียงผู้เดียว ผมเชื่อว่า “ประชาชนมิได้ต้องการอย่างนั้น” !!

แนวโน้มที่เมืองต้องการและจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆทั้งแง่มุมของการใช้นักวิชาชีพด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(IEE, EIA, E-HIA) การใช้นักวิชาชีพด้านจัดการความเสี่ยงพิบัติภัย (DisasterViews) งานวิเคราะห์ผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategy ImpactAssessment: SIA) และจะมีนักวิชาชีพด้านจริยธรรมต่อสรรพชีวิน (UrbanBio-Ethics/Bio-Regionalism) เข้ามาเสริมทัพสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่ปลอดภัยมั่นคง และยั่งยืนมากขึ้นไปอีก

หากผมเข้าใจไม่ผิด ดูเหมือนว่าภารกิจด้านผังเมืองถูกกำหนดมาตั้งแต่ตอนก่อตั้งสภาสถาปนิก เพราะมีกำหนดอยู่ 4 สาขาโดยมีสาขาการผังเมือง(ที่เป็นการออกแบบเมือง) รวมไว้ด้วย (เข้าใจว่าเป็น“สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง”) ซึ่งในเวลานั้น ในสมาคมสถาปนิกสยามยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพเรื่องเมืองที่ชัดเจนสถาปนิกที่ทำงานออกแบบเมืองจึงพยายามกำหนดจุดยืนและรักษาผลประโยชน์ตรงจุดนั้นไว้มาเรื่อยแต่เมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงวันนี้สิ่งที่ควรเป็นคือการทบทวนบทบาทและจุดยืนที่ควรตกผลึกให้สังคมยอมรับและเข้าใจอย่างถูกต้องให้ได้ว่ามีขึ้นเพื่ออะไร?? และอยู่ตรงสายโซ่ข้อใดของกระบวนการสร้างเมืองให้สังคม ด้วยเหตุนี้การปรับภารกิจด้านการผังเมืองของบางกลุ่มวิชาชีพนี้ที่ต้องการให้มีเจ้าภาพที่ชัดเจนขึ้นนั้นควรออกมารูปแบบใด ครอบคลุมภารกิจแค่ไหน และสำคัญต่อประเทศชาติอย่างไรสมควรที่จะปล่อยกลุ่มวิชาชีพเดียวดูแลรับผิดชอบเมืองทั้งเมืองฝ่ายเดียวหรือไม่ ???

บทความนี้มิได้มุ่งหมายเพื่อโจมตีหรือมีความขัดแย้งกันในระหว่างสมาคมและระหว่างวิชาชีพที่เกี่ยวกับการผังเมืองแต่ผู้เขียนถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันแก่ทุกภาคส่วนและสังคมวงกว้าง

เพื่อจะร่วมเดินไปบนเส้นทางการสร้างเมืองที่แข็งแกร่งมั่นคง ปลอดภัยกว่าเดิม

โดยยึดผลประโยชน์ของมหาชนชาวสยามเป็นที่ตั้ง


                                                                                            ธนกฤต มีสมจิตร

                                                                             กรรมการบริหารสมาคมการผังเมืองไทย

                                                                                             24 กุมภาพันธ์2560






Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2560 0:04:52 น.
Counter : 1615 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Rattanakosin.BlogGang.com

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด