ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของจังหวัดอุดรธานีในการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจและระบบขนส่งมวลชน
ศูนย์กลางเศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีและระบบขนส่งมวลชนภายในเขตเมืองจะเกิดขึ้นได้หรือไม่คำตอบอีกไม่นานเกินรอ
วันนี้ ดร.ธนดร พุทธรักษ์และคุณชยันต์ ช้างรักษาในฐานะตัวแทนมูลนิธิยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา(เสนีย์ จิตตเกษม) และสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย (SGT Research Institute) ได้ยื่นหนังสือเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีต่อ พณฯท่าน อาคม เติมพิทยาไพรสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รายละเอียดหนังสือและโครงการดังนี้

เอกสารเสนอเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี
โดย มูลนิธิยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา(เสนีย์ จิตตเกษม)
สถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย
เสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

หลักการและเหตุผล
จังหวัดอุดรธานีมีที่ตั้งอยู่ใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและใจกลางพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรัฐบาลโดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภาคมีตำแหน่งเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการศูนย์กลางพาณิชยกรรมและศูนย์กลางการค้าระดับภาค ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการค้าการผลิต การบริการ และการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ดังเช่น สนามบินนานาชาติ สถานีรถไฟ สถานีขนส่งโครงข่ายถนนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดในภูมิภาคและประเทศข้างเคียงกล่าวได้ว่า จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความพร้อมการลงทุนทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในระดับต้นๆ ของประเทศ
ในปี 2558 รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์เศรษฐกิจภายในประเทศกับศูนย์เศรษฐกิจของต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกโดยได้กำหนดเป้าหมายการลงทุนและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งที่สำคัญได้แก่รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายหนองคาย-กรุงเทพมหานคร รถไฟทางคู่สายหนองคาย-มาบตาพุด ฯลฯทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวและการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การค้า และการบริการในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจ ทั้งศูนย์เศรษฐกิจระดับภาค และศูนย์เศรษฐกิจบริเวณชายแดน ซึ่งพื้นที่พัฒนาเป้าหมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่พื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจตามแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายหนองคาย-กรุงเทพมหานครอันประกอบด้วย พื้นที่ใจกลางเมืองจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่นจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย
ประกอบกับในปัจจุบันการขยายตัวของเมืองอุดรธานีมีอัตราการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่เขตเทศบาลนครอุดรธานีและเขตเทศบาลอื่นๆโดยรอบขยายตัวเชื่อมต่อกันจนเป็นระบบเมืองเดียวกันประชากรของเมือง และประชากรแฝงรวมแล้วประมาณ 400,000 คน ซึ่งจัดได้ว่าขนาดของประชากรเทียบเท่าเป็นเมืองมหานครที่จำเป็นจะต้องมีการจัดการระบบการจราจรและระบบขนส่งมวลชนอย่างเป็นระบบปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเมืองในปัจจุบันคือปัญหาด้านจราจรที่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ประชากรเมืองทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้และสำหรับพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีนั้น นับว่ามีความพร้อมในระดับสูงเนื่องจากรัฐฯ ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อมแล้วโดยมีสถานีรถไฟและสถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานีเป็นใจกลางและมีย่านพาณิชยกรรมที่ทันสมัยตั้งอยู่เป็นพื้นที่โดยรอบอย่างไรก็ตาม เพื่อให้พื้นที่รอบสถานีรถไฟอุดรธานี เป็นศูนย์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนสามารถตอบสนองต่อการยกระดับทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพและลงทุนเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางให้ได้มาตรฐานด้วยการสร้างให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจพาณิชยกรรมอินโดจีนที่มีความยั่งยืน สืบไป

ความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี
ศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีมีสถานีรถไฟเป็นพื้นที่ใจกลาง ปัจจุบันมีสภาพเป็นศูนย์พาณิชยกรรมและศูนย์การลงทุนระดับภูมิภาคมีความพร้อมและได้มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานระดับหนึ่งที่จัดตามประเภทเมืองเศรษฐกิจของเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth Principles) เกณฑ์มาตรฐานการออกแบบเมืองของForm-Based Codes และเป็นเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(Transit-Oriented Development Principles) ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ให้มีสถานีรถไฟระดับภาคและระดับเมืองตั้งอยู่ใจกลาง โดยมีสถานีขนส่งระดับภาคและระดับเมืองศูนย์การค้าระดับภาค ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงแรมและที่พักนักท่องเที่ยวระดับ 4 ดาวตลาดการค้าพื้นถิ่นย่านการค้ากลางคืนและสถานบันเทิงตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณโดยรอบในรัศมีไม่เกิน 500เมตร พร้อมที่อยู่อาศัยรวมในระดับต่างๆ เป็นส่วนประกอบโดยกำหนดขอบเขตการบริการธุรกิจการลงทุนแก่ผู้ประกอบการทั้งภายในพื้นที่และผู้ประกอบการในต่างประเทศซึ่งเรียกพื้นที่นี้ได้ว่าเป็นศูนย์เศรษฐกิจและพาณิชยกรรมระดับภาค (Economicand Commercial Regional Center) จากเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว จะเห็นได้ว่าศูนย์เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีมีลักษณะครบถ้วนทุกประการสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนของประเทศในอนาคตได้
อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่บริเวณรอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานียังไม่เคยได้รับการวางผังและออกแบบตามหลักวิชาการผังเมืองที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลซึ่งได้แก่การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development Project : TOD) อย่างถูกต้องมาก่อนดังนั้นระบบการเชื่อมต่อการเดินทางภายในศูนย์ ระหว่างศูนย์ ระหว่างเมืองและระหว่างประเทศด้วยระบบขนส่งมวลชน จึงยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ นอกจากนั้นลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของสถานีรถไฟและพื้นที่โดยรอบยังเป็นไปอย่างกระจัดกระจายขาดการกำหนดประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดกิจกรรมการใช้ที่ดิน อาคาร สภาพแวดล้อม และการขาดการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการศึกษาและวางผังออกแบบพื้นที่และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูด้านการคมนาคมและการขนส่งมวลชน
ข้อเสนอโครงการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจสามารถรองรับการลงทุนและพัฒนาพื้นที่เพื่อการสร้างงานและจ้างงานตามนโยบายของรัฐบาลได้มูลนิธิยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา (เสนีย์ จิตตเกษม)และสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย จึงขอเสนอให้รัฐบาลลงทุนวางแผนและปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งจำนวน 3 โครงการ ดังต่อไปนี้
1.โครงการศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอินโดจีน (Indo-China Multimodal Transportation Center Plan) บริเวณสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานีเพื่อรองรับการเปิดบริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางภายในจังหวัดอุดรธานีภายในภาคตะวันอกเฉียงเหนือตอนบนและการเชื่อมต่อการเดินทางกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์และสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เกิดประสิทธิภาพ เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการ งบประมาณ ออกแบบ 30ล้านบาท งบประมาณลงทุน 800 ล้านบาท
2.โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดอุดรธานี (Udon Thani Mass Transit Development Plan) โดยการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา (LRT)ขนาดเล็กบนผิวทาง (Streetcar/Tram) เชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนภายในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานีเขตเทศบาลโดยรอบ สนามบินนานาชาติอุดรธานีและศูนย์การกระจายสินค้าจังหวัดอุดรธานีในอนาคต เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ดำเนินการศึกษาออกแบบ งบประมาณ 40 ล้านบาท งบประมาณลงทุน 18,000 ล้านบาท
3.โครงการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่รอบสถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานี (Transit-Oriented Development Project :TOD) เพื่อวางผังและออกแบบพื้นที่รอบสถานีให้เป็นเมืองแห่งการเดินเป็นศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนระดับภูมิภาคหรือที่เรียกว่า ศูนย์เศรษฐกิจอินโดจีนและศูนย์ที่อยู่อาศัยเสนอให้จังหวัดอุดรธานีหรือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรดำเนินการศึกษาออกแบบงบประมาณออกแบบ 50 ล้านบาท และงบประมาณลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ 3,000 ล้านบาท
เพื่อให้ศูนย์เศรษฐกิจอินโดจีนของจังหวัดอุดรธานีสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และมีศักยภาพในการดึงดูการลงทุนและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ภูมิภาคมูลนิธิยุทธศาสตร์การพัฒนา (เสนีย์ จิตตเกษม) และสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทยจึงหวังว่า จะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลเป็นอย่างดี
มูลนิธิยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา(เสนีย์ จิตตเกษม)
สถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย
กันยายน 2558