กินเพื่ออยู่
การพิจารณาให้เห็นปฏิกูลในอาหารนั้น ทำเพื่อกำจัดความอยาก ไม่ให้ยินดีในรูปสีสันกลิ่นรสของอาหาร ว่าเป็นอาหารชนิดนั้นอาหารชนิดนี้ ท่านจึงสอนให้พิจารณาให้เห็นความเป็นปฏิกูล คือความไม่น่าดูของอาหารที่รับประทาน พิจารณาดูอาหารที่เคี้ยวอยู่ในปาก ว่ามีรูปลักษณ์อย่างไร ถ้าคายออกมาแล้ว จะตักเข้าไปกินใหม่ได้ไหม ถ้าเห็นสภาพของอาหารที่เคี้ยวอยู่ในปาก ก็จะคลายความอยากรับประทานไปได้มาก ถ้าดูตอนที่อยู่ในถ้วยในจานก็จะทำให้น้ำลายไหล เราจึงต้องพิจารณาดูตอนที่อาหารถูกเคี้ยวแล้วคลุกกับน้ำลายอยู่ในปากว่าเป็นอย่างไร ดูตอนที่อยู่ในท้องว่าเป็นอย่างไร ดูตอนที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร เพื่อตัดความอยากรับประทานอาหารออกไป อาหารทุกชนิดที่รับประทานต้องไปรวมกันอยู่ในท้อง แต่ก่อนที่จะไปรวมกัน เราก็จัดเสียสวยงาม แยกอาหารคาวหวานออกจากกัน แยกไว้เป็นส่วนๆ ถ้าผลไม้หล่นไปในแกงก็จะไม่รับประทาน เพราะไปปนกับของคาว การพิจารณาแบบนี้เพื่อให้เกิดความรังเกียจขยะแขยง เพื่อทำลายความหลงในรูปรสของอาหาร ถ้าไม่พิจารณาก็จะติดกับรูปรสของอาหาร อยากกินอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ แต่ถ้าเป็นพระแล้วเลือกไม่ได้ แล้วแต่ญาติโยมจะนำมาถวาย ถ้าไปอยู่ที่กันดารมีแต่คนยากจนใส่บาตร ก็จะเป็นอาหารที่ไม่ค่อยชอบรับประทาน แต่ต้องฝึกฉันให้ได้ ด้วยการพิจารณาว่าอาหารทั้งหมดที่จะฉันนี้ จะต้องไปรวมกันอยู่ในท้องอยู่ดี ก็ให้รวมกันอยู่ในบาตรเสียเลย ได้อาหารชนิดต่างๆมา ก็เอาใส่รวมลงในบาตรเลย แล้วก็คลุกกันให้เป็นอาหารชนิดเดียวกัน ทั้งของคาวของหวานผลไม้ทองหยิบฝอยทองแกงเขียวหวานแกงจืด ก็ใส่ไปลงไปในบาตร แล้วก็คลุกกัน เหมือนคลุกข้าวให้หมากิน รสชาติก็ดี มีเปรี้ยวหวานมันเค็มครบถ้วนหมดเลย ถ้าฉันแบบนี้แล้วจิตใจจะไม่กังวลกับเรื่องอาหาร ไม่เช่นนั้นแล้วเวลาบวชใหม่ๆจะต้องนั่งอยู่ปลายแถว เวลาเห็นอาหารที่ชอบอยู่หัวแถวก็อยากจะรับประทาน พอมาถึงเราที่ปลายแถวก็เหลือแต่ถาดเหลือแต่จาน ก็จะเกิดความเสียใจท้อแท้เบื่อหน่ายได้ ถ้าไม่ไปมองสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเรา มองแต่เฉพาะสิ่งที่มาตั้งอยู่ข้างหน้าเรา เราก็จะไม่ผิดหวัง แล้วถ้าเอาอาหารทุกชนิดคลุกกันในบาตร เราก็จะไม่เกิดความอยากรับประทานอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ จะช่วยให้การฉันอาหารไม่เป็นปัญหากับเรา การฉันในบาตรนี้ก็มีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. แบบสบายๆ ได้อาหารอะไรมาก็แยกไว้เป็นส่วนๆในบาตร ข้าวก็เอาไว้ด้านหนึ่ง กับข้าวเอาไว้อีกด้านหนึ่ง ผลไม้เอาไว้ด้านหนึ่ง ของหวานก็เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ถ้าเป็นน้ำก็ใส่ไว้ในถ้วยไว้ดื่มเลย ผลไม้จะไว้ที่ฝาบาตรก็ได้ ฉันแบบนี้ฉันแบบสบายๆ แบบที่ ๒ จะไม่จัดแยกอาหารไว้เป็นส่วนๆ มีอะไรก็ใส่ลงไปเลย ตรงไหนก็ได้ แบบที่ ๓ ก็คลุกอาหารทุกชนิดที่อยู่ในบาตร เพื่อกำหลาบกิเลสตัณหา ความอยากรับประทานอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะมีปัญหากับการขบฉัน ฉันไม่ลงบ้าง อยากจะฉันแล้วไม่ได้ฉัน ก็จะทำให้ท้อแท้เบื่อหน่ายกับเพศของนักบวช แต่ถ้าฝึกรับประทานตามมีตามเกิดได้ โดยพิจารณาว่าอาหารจะดีขนาดไหนจะเลวขนาดไหน ก็เป็นอาหารเหมือนกัน ทำหน้าที่เหมือนกัน คือรักษาร่างกายให้อยู่ต่อไปได้ ดับความหิวกาย ป้องกันไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ให้มีกำลังปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว กินเพื่ออยู่ ไม่อยู่เพื่อกิน ไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร ไม่เหมือนฆราวาสญาติโยม เวลารับประทานจะถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง กินกันแบบไม่ยับยั้ง ต้องหาที่กินกัน ต้องขับรถไปไกลๆ เพื่อไปร้านอาหารที่ถูกปากถูกคอ เสียเวลาไปเปล่าๆ เพียงเพื่อเติมน้ำมันให้กับร่างกายเท่านั้นเอง ควรจะปฏิบัติร่างกายเหมือนกับรถยนต์ ปั๊มไหนก็เติมได้ ปั๊มตราดาว ปั๊มตราเสือก็น้ำมันเหมือนกัน มาจากโรงกลั่นเดียวกัน อาหารก็มาจากตลาดเหมือนกัน พอมาถึงที่ร้านแล้วก็มีวิธีปรุงแต่งต่างกันไป ทำให้มีสีสันรสชาติต่างกันไป แต่การทำหน้าที่ดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ได้ ให้มีพลัง ให้มีเชื้อเพลิง ก็เหมือนกัน มีเรื่องการพิจารณาอาหารอยู่เรื่องหนึ่ง มีแม่ชีอยู่รูปหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ในหนังสือของหลวงตาหรือเปล่า หรือได้ยินได้ฟังมา แม่ชีก็พิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารทุกครั้งก่อนที่จะรับประทาน มีอยู่ครั้งหนึ่งพิจารณาจนเลยเถิด จนรับประทานอาหารไม่ลง พอมองเห็นอาหารในจาน ก็จะเห็นภาพอาหารที่อยู่ในกระเพาะ รับประทานไม่ลง จนร่างกายซูบผอม ก็เลยไปปรึกษากับหลวงตา ท่านก็ช่วยแก้ให้ สอนให้พิจารณาว่า อาหารที่รับประทานเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ มาจากดินน้ำลมไฟ ร่างกายก็มาจากดินน้ำลมไฟ เป็นธาตุเหมือนกัน ส่วนผู้ที่พิจารณาคือใจ ไม่ได้กินอาหาร เป็นเพียงผู้จัดการเอาอาหารเข้าไปในร่างกายเท่านั้นเอง เหมือนกับเติมน้ำมันรถ คนขับรถไม่ได้กินน้ำมัน คนขับรถก็เพียงแต่เอาน้ำมันใส่ไปในถังรถยนต์เท่านั้นเอง ร่างกายเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ อาหารก็เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นการเติมธาตุเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับใจเลย ใจเป็นเพียงผู้จัดการดูแลร่างกาย นี่ก็เป็นวิธีแก้ถ้าพิจารณาจนเลยเถิดไป การพิจารณาทางด้านปัญญา ก็เป็นเหมือนกับการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคของจิตใจ คือความโลภความโกรธความหลง หลงในรสชาติอาหารก็เป็นความหลงเป็นความโลภ ก็ต้องพิจารณาปฏิกูลความไม่สวยงามน่าขยะแขยงของอาหาร จะได้คลายความยินดีในอาหาร จะได้ไม่รับประทานมากจนเกินไป พออิ่มแล้วก็จะหยุดได้ ถ้าพิจารณามากเกินไปก็กลับเป็นโทษได้ ทำให้กินอาหารไม่ได้ การพิจารณาปฏิกูลก็เพื่อแก้ปัญหา คือความยินดีในรูปในรสในกลิ่นในสีสันของอาหาร จะต้องเป็นชนิดนั้นชนิดนี้ ความจริงแล้วก็มีอยู่ ๔ รสเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใด มีเปรี้ยวหวานมันเค็มเป็นหลัก จะเป็นอาหารฝรั่ง อาหารจีน อาหารไทยอาหารแขก ก็เปรี้ยวหวานมันเค็มเหมือนกัน ทำหน้าที่เหมือนกัน ก็คือ ให้พลังกับร่างกาย ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าพิจารณามากเกินไปก็เท่ากับกินยามากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ยาขึ้นมาได้ คือกินข้าวไม่ลง พิจารณาปฏิกูลมากจนเกินไป ก็เลยกินไม่ลง ก็ต้องหยุดพิจารณา ถ้าถึงขั้นนั้นก็ต้องหยุด ต้องหันมาพิจารณาว่า เป็นการเติมดินน้ำลมไฟให้กับร่างกายเท่านั้นเอง หรือพิจารณาความสวยงามของอาหารบ้างก็ได้ เพื่อมาแก้กัน ถ้าพิจารณาจนเลยเถิดไป ก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณาดูรูปรสสีสันที่น่ารับประทาน เพื่อคลายปฏิกูลสัญญาที่ทำให้กินไม่ลง การปฏิบัติจึงต้องมีครูบาอาจารย์ ผู้มีประสบการณ์ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ เวลาปฏิบัติจนเลยเถิดไป ไม่มัชฌิมา ไม่อยู่ในทางสายกลาง ถ้าไม่พิจารณาเลยก็หย่อนเกินไป พอเห็นอาหารปั๊บก็น้ำลายไหลอยากจะกิน อย่างนี้ก็หย่อนเกินไป แต่ถ้าพิจารณาปฏิกูลจนกินไม่ลงก็มากเกินไป ต้องให้พอดี คิดว่าเป็นการเติมน้ำมันให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็กินได้ ก็จะแก้ปัญหาเรื่องอาหารได้ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอาหารอีกต่อไป ตอนเริ่มต้นอาจจะต้องคลุกอาหารไปก่อน เพื่อกำจัดความอยากในอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ อยากจะกินก๋วยเตี๋ยว อยากจะกินพิซซ่าอย่างนี้ พอปนทั้งก๋วยเตี๋ยวทั้งพิซซ่าเข้าไปในบาตร ก็ไม่มีพิซซ่าไม่มีก๋วยเตี๋ยวแล้ว มีแต่อาหารรวมมิตรอยู่ในบาตร กินกี่ครั้งๆก็เป็นอาหารรวมมิตร จนไม่ได้ไปนึกถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้อีกต่อไป หลังจากนั้นแล้วก็ไม่ต้องไปคลุกก็ได้ กินแบบปกติ เพราะเรื่องอาหารไม่เป็นปัญหาแล้ว มีก็กิน ไม่มีก็ไม่เคยไปฝันถึง เรื่องของการปฏิบัติกับอาหารก็มีหลายวิธีด้วยกัน สำหรับอาตมาขนาดคลุกแล้ว ตอนเย็นๆบางทีก็ยังปรุงแต่ง คิดถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้อยู่ โชคดีที่ได้ไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ที่มีการอดอาหารกัน พออดอาหารได้สัก ๓ วันแล้ว ก็จะไม่คิดถึงอาหารชนิดต่างๆเลย เพราะคิดก็ไม่ได้กิน จึงอดไปเรื่อยๆ ครั้งละ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง อดวันเว้นวันบ้าง วันนี้ฉันพรุ่งนี้ไม่ฉัน ทำอยู่ ๒ ถึง ๓ ปี แต่ไม่ได้อดเพราะเรื่องอาหารอย่างเดียว อดเพราะช่วยการภาวนาให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกียจคร้าน ไม่ให้ง่วง จึงควรลองอดอาหารกันดูบ้าง ไม่ตายหรอก กระเพาะก็ไม่เสียด้วย แต่กิเลสจะร้องขึ้นมาว่า กระเพาะจะไม่เสียหรือ จะไม่เป็นโรคกระเพาะหรือ ถ้าอดแบบมีขอบมีเขตก็ไม่เป็นไร หลวงตาท่านบอกว่า ท่านอดจนท้องเสีย เพราะอดนานมาก อดทีละ ๑๐ วัน ๑๕ วันแล้วกลับมาฉันครั้งเดียว แล้วกลับไปอดใหม่ ท่านบอกว่าฉันอะไรเข้าไปตอนเช้าพอตอนสายก็ออกมาหมดเลย ท่านบอกว่าเสียร่างกาย แต่ได้ทางจิตใจ คุ้มค่ากับการลงทุน เวลาปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตใจเป็นหลัก เสียกายไม่เป็นไร ถ้าเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้ความเป็นอิสระของใจ ได้หลุดพ้นจากกิเลสความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ เสียอย่างนี้เสียไปเถิด เพราะร่างกายสักวันหนึ่งก็ต้องตายไป แต่ใจไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย ถ้ายังไม่ได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรภาพ ก็ยังต้องเป็นทาสอยู่ ไปเกิดชาติหน้าก็ยังต้องเป็นทาสอีก แต่ถ้ายอมสละร่างกายเป็นเดิมพัน จะเป็นจะตายอย่างไร จะลำบากอย่างไร ก็ไม่ถอย เพื่อทำลายความโลภความโกรธความหลงที่มีอยู่ในจิตใจ ทำอย่างนี้จะได้กำไร เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะชีวิตนี้มีไว้เพื่อทำประโยชน์นี้นั้นเอง เหมือนกับซื้อรถยนต์ขับเคลื่อน ๔ ล้อ สำหรับใช้ในป่าในเขา มาใช้ในบ้านในเมือง ไม่รู้จะซื้อมาทำไม ถนนก็ไม่ขรุขระ ต้องเอาไปลุยในป่าในเขาสิ รถชนิดนี้มีไว้ใช้อย่างนั้น ร่างกายของเราก็อย่างนั้น เป็นเหมือนรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ ไว้สำหรับลุยกับกิเลส กับความโลภความโกรธความหลง แต่เรากลับเอาไปรับใช้กิเลส รับใช้ความโลภความโกรธความหลง แล้วเราจะได้อะไรจากการเกิดในแต่ละชาติ ก็ไม่ได้อะไร ยังตกเป็นทาสของกิเลส รับใช้กิเลสอยู่ เป็นวาสนาของพวกเราที่ได้พบพระพุทธศาสนา ที่ทำให้เรารู้ถึงหน้าที่ที่แท้จริงของร่างกายเรา ว่ามีไว้ทำอะไร ก็มีไว้เพื่อปลดเปลื้องจิตใจที่เป็นทาสของกิเลส ที่อยู่ภายใต้อำนาจของความโลภความโกรธความหลงอยู่นี้ ให้ได้รับอิสรภาพ ทุกขณะที่เราหายใจอยู่นี้ เราอยู่ภายใต้อำนาจของความหลงทั้งนั้น คืออวิชชาปัจจยาสังขารา อวิชชาเป็นตัวสั่งให้สังขารคิด ให้คิดแต่เรื่องลาภยศสรรเสริญสุข วันนี้จะไปเที่ยวไหนดี วันนี้จะไปกินอะไรที่ไหนดี แต่เรื่องไปปฏิบัติธรรมแทบจะไม่คิดกันเลย ส่วนพวกเราอาจจะมีคิดกันบ้าง เพราะได้สัมผัสได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้คิดไปทางวิชชาปัจจยาสังขารา วิชชาก็คือธรรมะคำสอนของครูบาอาจารย์ ที่คอยกระตุ้นให้คิดไปในทางบุญทางกุศล อย่างวันนี้เราก็คิดมาทำบุญกัน ถ้าไม่เคยสัมผัสกับศาสนาเลย วันนี้วันหยุดก็ต้องพาลูกไปเที่ยวกันเพราะเป็นวันเด็ก ไปเที่ยวไหนดี ไปกินที่ไหนดี ก็เป็นเรื่องของอวิชชาปัจจยาสังขาราทั้งนั้น พอไปแล้วก็จะเป็นตัณหาความอยาก เป็นอุปาทานความยึดติด เป็นภพเป็นชาติขึ้นมา พอตายไปจิตก็ยังไม่หยุด อวิชชาปัจจยาสังขารา ก็ส่งให้จิตไปเกิดใหม่ แต่ถ้าใช้ธรรมะปัจจยาสังขาราแล้ว ก็จะดับตัณหา ดับอุปาทาน ดับภาวะคือภพชาติ ก็จะไม่มีการไปไหนมาไหน จิตใจมีความสุขแล้ว ก็ไม่ต้องออกไปเที่ยว อยู่บ้านเฉยๆก็มีความสุข อยู่วัดก็มีความสุข ไม่ต้องออกไปแสวงหาความสุขภายนอก นอกจากมีธุระจำเป็น ไปเผยแผ่ธรรมะ แต่จะไม่ออกไปเหมือนอย่างพวกเรา ที่อยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ พอวันเสาร์วันอาทิตย์ก็คิดหาเรื่องทำแล้ว จะไปไหนดี อยู่บ้านแล้วอึดอัดใจ หงุดหงิดใจ ทั้งๆที่ไม่มีอะไรจะสบายเท่าการอยู่บ้าน ไม่ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้เหนื่อย ห้องน้ำห้องท่าก็สะดวก ไม่ต้องไปเข้าแถวไปแย่งกัน อาหารก็มีเก็บไว้ในตู้เย็น ทำกินในบ้านแสนสบาย แต่ต้องออกไปดิ้นรนหาความสุขภายนอกบ้านกัน เพราะอยู่บ้านไม่ติด อยากจะเห็นรูปแปลกๆใหม่ๆ อยากจะได้ยินเสียงแปลกๆใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ เพราะใจอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภความโกรธความหลง จึงเป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา สังขารก็ปรุงให้ออกไปทางอายตนะ ไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปสู่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไปสู่การสัมผัส แล้วก็เกิดเวทนา พอได้ออกจากบ้านแล้วเป็นอย่างไร มีความสุข ไปดูหนังฟังเพลง ไปกิน ไปเที่ยว ไปซื้อของฟุ่มเฟือย แล้วก็เกิดอุปาทานความยึดมั่น เกิดตัณหาความอยาก ต้องออกไปเรื่อยๆ ออกไปวันนี้แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องออกไปอีก ก็เป็นภาวะ จะต้องออกไปทำใหม่ เสาร์อาทิตย์นี้ไปเที่ยวที่นั่น เสาร์อาทิตย์หน้าก็ไปเที่ยวที่อื่นต่อ ก็จะไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนแก่ตาย พอตายไปใจก็ไปเกิดใหม่ ไปเริ่มต้นทำอย่างนี้ใหม่ เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใช้ธรรมะมาเป็นตัวขับเคลื่อนสังขาร ธรรมะปัจจยาสังขารา ก็จะไปที่สงบที่สงัดที่วิเวก ที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่จะทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความอยากขึ้นมา ไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขา ไปไหว้พระสวดมนต์ ไปฟังเทศน์ ฟังธรรมะของครูบาอาจารย์ ไปนั่งทำจิตให้สงบ เพื่อตัดตัณหาความอยาก ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดภาวะภพชาติที่จะตามมาต่อไป นี่คือธรรมะปัจจยาสังขารา ถ้าเจริญมรรคอยู่เรื่อยๆ เจริญธรรมอยู่เรื่อยๆ ต่อไปธรรมะจะมีแรงมากกว่าอวิชชา ก็จะทำลายอวิชชาให้หมดไปจากจิตจากใจได้ พออวิชชาถูกทำลายหมดไป จิตก็กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมทั้งแท่ง ใจเป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย จะคิดแต่เรื่องธรรมะ เรื่องของเหตุเรื่องของผล ไม่คิดอยากไปมีสมบัติข้าวของเงินทอง เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ เป็นสังฆราช หรือเป็นอะไรทั้งสิ้น จะไม่มีอยู่ในจิตในใจ ไม่คิดอยากไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง ไปโน้นมานี่ ไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก ใจจะไม่คิด เพราะในใจมีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข ถ้าไม่มีความโลภความโกรธความหลงแล้ว ก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความอยาก ก็จะไม่ไปไหน อยู่บ้านสบายที่สุด อยู่วัดสบายที่สุด นี่คือการใช้ธรรมะมาปลดเปลื้องจิต ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ อย่าปล่อยให้ร่างกายเป็นทาสของกิเลส ด้วยการขับรถไปหาร้านเชลล์ชวนชิม ไปกินที่โน้นที่นี่ อาหารชนิดนั้นดี ชนิดนี้ดี บางคนอุตสาห์นั่งเครื่องบินไปกินอาหารที่ฮ่องกง ไปเช้าเย็นกลับ เพราะอวิชชาปัจจยาสังขาราพาไป ถ้าเป็นธรรมะปัจจยาสังขาราก็อยู่ที่บ้านทอดไข่เจียวกิน กินเสร็จจะได้นั่งสมาธิต่อ ไหว้พระสวดมนต์ปฏิบัติธรรม เราทำอยู่ปีหนึ่ง อยู่ในบ้านไม่ได้ไปไหน แต่ไม่ได้ทำอาหารกินเอง ไปกินที่ร้านเพราะมันสะดวก กินก๋วยเตี๋ยวชาม ข้าวผัดชาม ก็อิ่มแล้ว ก็อยู่ได้วันหนึ่ง เช้าตื่นขึ้นมาก็นั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิก็เดินจงกรม ให้มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะเข้าห้องน้ำ จะแปรงฟันก็อยู่ตรงนั้น จะทำอะไรก็อยู่ตรงนั้น แล้วก็เดินจงกรม พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา พิจารณาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะไม่วิตกกับความแก่ความเจ็บความตาย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ดีอกดีใจเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นมาตอนเช้า ไม่ได้เสียอกเสียใจเวลาที่ตกลงไปตอนเย็น เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ใจรับรู้ ร่างกายก็เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ใจรับรู้เช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่ใจไปยึดติดร่างกายว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะความหลงหลอกให้ไปยึด ถ้าแก้ตรงนี้ได้แล้ว ร่างกายก็จะเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ จะขึ้นจะตก ใจก็เฉยๆ ร่างกายจะเป็นจะตาย ใจก็เฉยๆเหมือนกัน เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดว่าเป็นตัวเราของเรานั่นเอง นี่คือสิ่งที่เราต้องพยายามฝึกสอนตัวเรา ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นการเปลี่ยนแปลงของดินน้ำลมไฟ เป็นการรวมตัวกันเข้ามาแล้วก็แยกออกไป ไม่มีอะไรที่รวมตัวกันแล้วจะอยู่ไปได้ตลอด แม้กระทั่งศาลาหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน สักวันหนึ่งก็จะเสื่อมลงไป ผุพังลงไป แยกจากกันไป ศาลาหลังนี้ก็จะหายไป ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็ไม่เสียอกเสียใจ แต่ถ้ายึดติดก็จะเสียใจ ......................................................
ขอขอบคุณที่มาจาก : เว็บ พระธรรมเทศนา
Create Date : 19 เมษายน 2566 |
Last Update : 19 เมษายน 2566 8:41:21 น. |
|
20 comments
|
Counter : 743 Pageviews. |
|
|
|
ผู้โหวตบล็อกนี้... |
คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณRain_sk, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณปรศุราม, คุณดอยสะเก็ด, คุณThe Kop Civil, คุณโฮมสเตย์ริมน้ำ, คุณtoor36, คุณปัญญา Dh, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณทนายอ้วน, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณสองแผ่นดิน, คุณSweet_pills, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณกิ่งฟ้า, คุณหอมกร, คุณeternalyrs, คุณEmmy Journey พากิน พาเที่ยว, คุณกะว่าก๋า, คุณkae+aoe, คุณJohnV, คุณtuk-tuk@korat, คุณดาวริมทะเล, คุณเริงฤดีนะ, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณทูน่าค่ะ, คุณtanjira |
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 19 เมษายน 2566 เวลา:11:06:08 น. |
|
|
|
โดย: ปัญญา Dh วันที่: 19 เมษายน 2566 เวลา:14:26:33 น. |
|
|
|
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 19 เมษายน 2566 เวลา:21:13:43 น. |
|
|
|
โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 19 เมษายน 2566 เวลา:23:17:29 น. |
|
|
|
โดย: Sweet_pills วันที่: 20 เมษายน 2566 เวลา:0:09:16 น. |
|
|
|
โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 20 เมษายน 2566 เวลา:7:17:37 น. |
|
|
|
โดย: หอมกร วันที่: 20 เมษายน 2566 เวลา:7:23:35 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 20 เมษายน 2566 เวลา:14:41:31 น. |
|
|
|
โดย: kae+aoe วันที่: 20 เมษายน 2566 เวลา:21:13:53 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 21 เมษายน 2566 เวลา:5:24:03 น. |
|
|
|
โดย: Sweet_pills วันที่: 22 เมษายน 2566 เวลา:0:21:30 น. |
|
|
|
โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 24 เมษายน 2566 เวลา:7:07:53 น. |
|
|
|
|
|