Group Blog
 
<<
กันยายน 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
8 กันยายน 2566
 
All Blogs
 
ประเด็นสำคัญของชีวิต

               

               พระพุทธเจ้าทรงสอนพระโมคคัลลานะไม่ให้ทำตัวกร่าง ว่าตัวเองใหญ่โต จะต้องปฏิบัติกับตนอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติก็จะเสียใจ จึงควรทำตัวให้ต่ำที่สุด เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดเท้า ใครจะเหยียบ ใครจะเอาไปเช็ดเท้า เอาไปเช็ดอะไร ก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าคิดว่าเป็นผ้าขาวผ้าสะอาด เวลาใครเอาไปเช็ดอะไรเปื้อนหน่อย ก็จะเกิดโทสะ ใจของเราจะมีความสุขมีความสบายถ้าไม่ถือตัว ไม่มีมานะ เพราะการถือตัวเป็นโมหะ เป็นอวิชชา เป็นความหลง เป็นเหตุทำให้ทุกข์ใจ ทำให้ใจต้องทะเยอทะยาน ดิ้นรนอยู่เรื่อยๆ อยู่เฉยๆไม่ได้ เรื่องของใจเป็นเรื่องแปลก ถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะไม่รู้ จะปฏิบัติไม่ถูก จะปฏิบัติสวนกับความจริงของใจ เพราะมีตัวคอยจูงให้ไปในทางที่ผิด ก็คือโมหะอวิชชานี่เอง ที่ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ใจทุกข์ มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่รู้ จึงนำเอามาสั่งสอนผู้อื่นต่อ สิ่งที่ทรงตรัสรู้ก็คือพระอริยสัจ ๔ ทรงเห็นว่าความทุกข์เกิดจากสมุทัย คือตัณหาความอยาก ๓ ประการคือ ๑. กามตัณหาความอยากในกาม ๒. ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น  ๓. วิภวตัณหาความอยากไม่มีอยากไม่เป็น คือใจนี้จะหิวกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้นั่งหลับตาเฉยๆจะรู้สึกอึดอัด นั่งไม่ได้นาน ถ้านั่งดูหนัง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็นั่งดูได้ ไม่อึดอัด เวลานั่งอยู่ในรถ ถ้ารถวิ่งก็จะไม่รู้สึกอึดอัด ถ้ารถจอดนิ่งก็จะรู้สึกอึดอัด ต้องลงไปเดิน ไปทำอะไร เพราะกามตัณหาความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทำให้อยากสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่แปลกๆใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ถ้าเป็นของเก่าก็จะเบื่อหน่าย คนถึงเปลี่ยนคู่กันอยู่เรื่อย เวลาเจอคนใหม่ๆก็รู้สึกว่าดีไปหมด น่าชื่นชมน่ารักน่ายินดี พออยู่ด้วยกันไปจนจำเจชินชาก็เบื่อหน่าย ก็อยากจะหาใหม่ ทำให้ใจต้องดิ้นรนกวัดแกว่ง ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ
 
ใจจะสุขได้ใจต้องสงบ ระงับดับตัณหาความอยากในใจ แต่เราไม่รู้กัน กลับคิดว่ายิ่งอยากยิ่งมีความสุข เป็นธรรมชาติของกิเลส จะหลอกล่อใจอยู่เรื่อยๆ เมื่อใจไปยินดีกับกิเลสก็เลยทุกข์ ถ้าไม่ยินดีกับกิเลสก็จะเฉยๆ จะสงบนิ่ง มีความสุข นี่คือ ประเด็นสำคัญของชีวิตเรา อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงพระอริยสัจ ๔ อยู่ตรงที่มีสมุทัยหรือไม่มีสมุทัย ถ้าสมุทัยดับนิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา ความทุกข์ก็ดับไป การจะตัดสมุทัยให้หมดไปได้ ก็ต้องใช้เครื่องมือ ก็คือมรรค มรรคที่มีองค์ ๘ มัชฌิมาปฏิปทา ย่อเข้ามาก็คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ปฏิบัติ ถ้าเป็นฆราวาสญาติโยมก็ทานศีลภาวนา ในภาวนาก็มีทั้งสมาธิและปัญญา ถ้าเป็นบรรพชิตเป็นนักบวชก็ศีลสมาธิปัญญา เพราะทานก็ได้ทำไปหมดแล้ว สละหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ ถ้าได้บรรลุแล้วมาเกี่ยวข้องกับทางโลก มีผู้ถวายข้าวของเงินทอง ก็เอาไปทำทานต่อ แต่ไม่ได้ทำทานแบบฆราวาสญาติโยมทำกัน ที่ทำเพื่อกำจัดกิเลส ความโลภความตระหนี่ความหวงแหน สำหรับจิตที่บริสุทธิ์แล้วจะไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ จะทำไปด้วยปัญญาด้วยเหตุผล เมื่อมีเงินจะเก็บไว้ทำไม เอาไปสงเคราะห์โลกจะดีกว่า แต่ไม่ได้อะไรจากการสงเคราะห์โลก เมื่อยังมีชีวิตอยู่ มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ทำไป ถ้าไม่มีข้าวของเงินทองแจก ก็แจกทรัพย์ภายในคือธรรมะ ที่จะทำให้ผู้ที่ยังไม่ฉลาดได้ฉลาดขึ้น ได้หลุดพ้นจากบ่วงของมาร บ่วงของอวิชชาโมหะ ที่ผูกมัดจิตของปุถุชนทั้งหลาย ให้เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ให้มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ก็แจกเป็นธรรมทานไป แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากการให้ทานนี้ เพราะมีประโยชน์อยู่เต็มหัวใจแล้ว
 
ถ้าเป็นน้ำก็เต็มแก้วแล้ว จะเติมเข้าไปอีกก็ไม่ได้มีมากขึ้น ต้องไหลล้นออกมา แต่ทำด้วยความเมตตากรุณา หนึ่งในพระพุทธคุณก็คือพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อสัตว์โลก ทรงสละเวลา ๔๕ พรรษาที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงทำภารกิจของพระศาสดาซึ่งมีอยู่ ๕ ประการด้วยกันที่เรียกว่าพุทธกิจ ๕ ที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกวันคือ ๑. ตอนบ่ายอบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยม ๒. ตอนค่ำอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ๓. ตอนดึกตอบปัญหาและอบรมสั่งสอนเทวดา ๔. ตอนก่อนสว่างทรงเล็งญาณดูว่าจะไปโปรดผู้ใดดี ผู้ที่มีความพร้อมที่จะรับพระธรรมได้อย่างรวดเร็ว ก็จะมุ่งไปโปรดคนนั้น ๕. พอสว่างก็ทรงออกบิณฑบาต เป็นภารกิจประจำของพระพุทธเจ้า เรื่องบิณฑบาตทรงถือเป็นภารกิจที่สำคัญพอๆกับการอบรมสั่งสอนเลย เป็นภารกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำ แม้แต่พระบวชใหม่ก็ทรงสอนให้บิณฑบาต ให้บิณฑบาตไปตลอดชีวิต เป็นสามีจิกรรม เป็นกิจที่เหมาะกับนักบวช ในธุดงควัตรก็ทรงสอนให้บิณฑบาตเช่นเดียวกัน แต่พระภิกษุสามเณรที่บวชกันสมัยนี้ ไม่ทราบว่าได้ยินได้ฟังกันบ้างหรือเปล่า รู้สึกว่าเรื่องบิณฑบาตจะไม่ค่อยสนใจกันสักเท่าไหร่ จะสนใจเรื่องกิจนิมนต์กันมากกว่า ถ้านิมนต์ไปฉันที่บ้านจะแย่งกันขึ้นรถแทบไม่ทัน ถ้าไปบิณฑบาตจะไม่ค่อยไปกัน อาจจะเป็นเพราะว่า ๑. ชอบนอนดึกตื่นสาย บิณฑบาตต้องตื่นแต่เช้า  ๒. ลำบาก ฝนฟ้าตกก็ต้องไป ต้องแบกบาตรที่หนัก ไม่เหมือนกับการไปกิจนิมนต์ นอนตื่นสายๆก็ได้ มีรถเก๋งมารับไปถึงบ้าน อาหารก็ถูกจัดใส่ภาชนะต่างๆไว้อย่างสวยงาม เพียงแต่ไปนั่งสวดหน่อยเท่านั้นเอง แล้วยังมีของแถมติดย่ามกลับวัดอีก
 
ถ้ามองในทางโลก ในทางกิเลสมันก็ดี แต่ถ้ามองในทางขัดเกลากิเลสมันก็ไม่ดี เพราะกิเลสไม่เบาบางลงไป มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ใจก็จะรุ่มร้อน ได้เงินทองมาก็อยากจะซื้อสิ่งนั้นซื้อสิ่งนี้ ไปเดินชอปปิ้งแถวพันธ์ทิพย์ฯกันเต็มไปหมด อ้างว่าไปซื้ออุปกรณ์การเรียนการเผยแผ่ธรรม ความจริงบวชแล้วน่าจะเข้าป่าเข้าเขาจะดีกว่า เรียนกับครูบาอาจารย์ตามวัดป่าวัดเขาเลย ไม่ต้องเรียนเอาประกาศนียบัตรเหมือนสมัยนี้ สมัยพุทธกาล ก็ไม่มีประกาศนียบัตร บวชแล้วก็อยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้าหรือสำนักของครูบาอาจารย์ ทุกค่ำก็ได้ยินได้ฟังเทศน์อบรมสั่งสอนอยู่เป็นประจำ เมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรก็ปลีกวิเวกไป ในเบื้องต้นถ้าจิตใจยังไม่แข็งแรงพอก็อยู่ในสำนักไปก่อน ฝึกให้มีความแข็งแรงกล้าหาญ เพราะการจะกำจัดกิเลสคือความกลัวได้ จะต้องไปอยู่ที่กลัวๆ เพื่อให้เกิดความกลัวขึ้นมา จะได้หาวิธีต่อสู้กำจัดความกลัวให้หมดไป ถ้าอยู่ในที่ปลอดภัยความกลัวก็ยังหลบซ่อนอยู่ ก็อาจจะคิดว่าไม่กลัวแล้ว แต่พอไปอยู่ที่กลัวๆจริงๆก็จะผุดขึ้นมาโผล่ขึ้นมา ก็จะไม่มีทางที่จะต่อสู้กับมันได้ เพราะไม่ได้ฝึกไว้ก่อน เป็นเพียงจินตนาการของใจว่าไม่กลัวแล้ว จะกลัวหรือไม่กลัวจริงๆก็ต้องไปเจอของจริงเสียก่อน เหมือนกับทหารที่ฝึกซ้อมรบกันอยู่เป็นประจำ ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาออกรบจริงๆจะกลัวหรือไม่ จะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้หรือไม่ จนกว่าได้ออกสนามจริง
 
หน้าที่หลักของพระพุทธเจ้าก็คืออบรมสั่งสอนสัตว์โลก ไม่มีอะไรที่ทรงต้องทำอีกแล้ว ทรงบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว กิจในพรหมจรรย์ก็เสร็จหมดแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาอีกต่อไป จะเดินจงกรมนั่งสมาธิอีกมากน้อยเพียงไร ก็ไม่ได้ไปทำให้จิตสะอาดขึ้นไปกว่านั้นบริสุทธิ์ขึ้นไปกว่านั้น ทำไปเพื่อความสบายระหว่างธาตุขันธ์กับจิตเท่านั้น ที่ยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ขันธ์ยังมีการทำงานอยู่ ร่างกายยังทำงานอยู่ ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย มีแต่นอนอย่างเดียวก็จะปวดเมื่อย ก็ต้องลุกขึ้นมานั่งบ้าง ลุกขึ้นมาเดินบ้าง ถ้าเอาร่างกายมาใช้งาน เอามาเทศนาว่ากล่าวสั่งสอน ก็เหนื่อยได้ ก็ต้องมีเวลาพักจิตพักกายสงบจิต หรือเดินจงกรมเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลาย แต่ไม่ได้ทำเพื่อชำระกิเลสเพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องชำระ ทำเพื่อดูแลธาตุขันธ์เท่านั้นเอง ให้อยู่ใช้งานไปได้นานๆ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น หัวใจของพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่พระอริยสัจ ๔ ให้เข้าใจธรรมชาติของใจ ว่าอะไรทำให้ใจมีความสุข อะไรทำให้ใจมีความทุกข์ ถ้าเข้าถึงพระอริยสัจ ๔ และสามารถปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔ ได้ ก็จะไม่ทุกข์กับอะไรอีกต่อไป จะละความอยากต่างๆได้หมด เช่นกามตัณหาความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เราต้องละอย่าไปยินดี อย่าไปอยากดูอยากฟังอะไรทั้งนั้น นั่งหลับหูหลับตาดีกว่า ทำจิตให้สงบไม่ให้ไปคิดเรื่องอะไร ถ้าจิตรวมลงเป็นหนึ่งได้เมื่อไหร่ ก็จะเห็นความมหัศจรรย์ของความสงบ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ไม่มีความสุขอื่นใดในโลกนี้ ที่จะเสมอเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ ถ้าได้สัมผัสความสงบแบบนี้เพียงครั้งเดียวแล้ว  ก็จะปล่อยได้หมดเรื่องความสุขทางโลก ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย จะมุ่งไปที่สงบสงัดวิเวกตามป่าตามเขา ทุ่มเทชีวิตจิตใจกับการบำเพ็ญ ทำจิตให้สงบมากขึ้นไปเรื่อยๆ
 
ครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับความสงบ เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง แต่มีอานุภาพมาก เหมือนกับได้ดูโฆษณาสินค้าที่ประทับใจมาก จะไม่อยากทำอย่างอื่น ถ้ามีภาระอะไรก็จะเคลียร์ให้หมด จะได้มีเวลาบำเพ็ญปฏิบัติธรรมอย่างเดียว คือการทำจิตให้สงบ ซึ่งเป็นงานขั้นแรก เพราะจิตที่สงบด้วยสมาธิยังไม่ได้กำจัด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่เพียงแต่สงบตัวลงตามความสงบของจิต พอจิตออกจากความสงบก็จะคิดปรุง ความอยากต่างๆก็จะแทรกเข้ามาอีก ถึงตอนนั้นก็ต้องปฏิบัติธรรมอีกขั้นหนึ่ง ที่เรียกว่าปัญญาหรือวิปัสสนา เวลาอยากได้อะไรอยากทำอะไร ต้องสอนใจว่ามันไม่ได้ให้ความสุข ให้ก็เพียงนิดเดียวในขณะที่ได้มา แต่จะให้ความทุกข์มากกว่า ทุกข์ที่เกิดจากการดูแลรักษา เป็นห่วงเป็นใยเป็นกังวล ทุกข์ที่เกิดจากการเสียอกเสียใจ เมื่อต้องพลัดพรากจากกันไป ถ้าไม่มีก็จะไม่ทุกข์ อยู่คนเดียวไม่มีสามีไม่มีภรรยา ก็ไม่ต้องทุกข์กับสามีทุกข์กับภรรยา ไม่ต้องทุกข์กับลูกกับหลาน ยาวเป็นลูกโซ่ไปเลย เลี้ยงลูกแล้วก็ต้องเลี้ยงหลานต่ออีก ถ้ามีความผูกพันก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้น ถ้าไม่มีความผูกพันก็จะไม่ทุกข์ ไม่อยากได้ ถ้ามาก็รับเอาไว้ ถ้ายังเอาไปทำประโยชน์ไม่ได้ก็ปล่อยไว้อย่างนั้นไปก่อน ถ้ามีอย่างนี้ก็จะไม่ทุกข์ ถ้ามีใครเอาข้าวของอาหารมาถวาย ก็รับประทานไปฉันไป แต่ไม่ได้อยากรับประทานแต่อย่างใด รับประทานไปตามเวลา ตอนเช้าไปบิณฑบาตก็ไม่ได้คิดฝันว่า วันนี้จะได้อาหารอย่างนั้นอย่างนี้มา ได้อะไรมาพอถึงเวลารับประทานก็รับประทานไป เสร็จแล้วก็ผ่านไป ไม่มีอะไรหลงเหลือติดอยู่ในใจ แต่ถ้ารับประทานด้วยความอยาก ก่อนจะรับประทานก็คิดอยากไปก่อนแล้ว อยากจะรับประทานอาหารอย่างนั้นเหลือเกิน ก็ต้องไปหามารับประทาน รับประทานเสร็จแล้วก็ยังคิดถึงอาหารนั้นอยู่ พอหิวก็อยากจะรับประทานอีก ถ้าไม่ได้รับประทานก็จะรู้สึกทรมานในจิตใจ
 
เราจึงควรศึกษาพระอริยสัจ ๔ ให้ดี จะได้รู้จักวิธีดูแลรักษาใจ ถ้าใจมีความสุข ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นปัญหากับใจ โลกจะเจริญหรือเสื่อมก็จะไม่กระทบกระเทือนใจ ถ้าใจไม่มีความสุข ต่อให้สิ่งอื่นๆมีความเจริญ ใจก็ไม่ได้เจริญ ไม่ได้มีความสุขตามไปด้วย ให้ดูที่ใจเป็นหลัก เพราะใจเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์ ต้องรู้ว่าอะไรเป็นตัวสร้างความสุขสร้างความทุกข์ให้กับใจ สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ก็ต้องกำจัด สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขก็ต้องเสริมสร้างขึ้นมา สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ก็คือตัณหาทั้ง ๓ ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ส่วนที่สร้างความสุขให้กับใจก็คือมรรค ๘ เพราะจะเป็นผู้ทำลายความอยากทั้ง ๓  เมื่อไม่มีความอยากทั้ง ๓ แล้ว ทุกข์ก็ไม่มี จิตก็สงบ มีแต่ความสุข แต่ไม่ได้เป็นสุขเวทนา ที่เกิดจากการได้เห็นได้ยินสิ่งที่ชอบที่ยินดี เป็นความสุขที่เกิดจากการไม่คิดไม่ปรุงแต่ง สงบนิ่งเป็นเหมือนน้ำนิ่งใส เป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของเวทนา เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต สุขเวทนาเกิดจากการได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ ที่ชอบอกชอบใจ ก็ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา ทุกขเวทนาก็เช่นเดียวกัน เกิดจากการสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ที่ไม่ชอบใจ แต่นี่เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต เกิดจากการบำเพ็ญมรรค ๘ ทานศีลภาวนา
 
ก่อนที่จะทำจิตให้สงบได้ ก็ต้องมีศีลเป็นเครื่องสนับสนุน เพราะถ้ายังไม่มีศีล ยังทำบาปทำกรรมอยู่ ใจก็จะวุ่นวาย เวลานั่งทำสมาธิก็จะทำไม่ได้ ถ้าไปนั่งตามที่เปลี่ยวๆ ก็จะมีความหวาดระแวง จะทำไม่ได้เลย นั่งหลับตาก็กลัวคนนั้นคนนี้มาตามล้างผลาญมาตามฆ่า ถ้าไม่ได้ทำผิดศีล ใจจะไม่วุ่นวาย เวลาทำสมาธิก็จะทำได้ง่าย การที่จะมีศีลได้ก็ต้องอาศัยทานเป็นเครื่องสนับสนุน เพราะคนที่ไม่ให้ทานเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ อยากจะเอาอย่างเดียว เมื่ออยากได้อะไร ก็จะพยายามหามาทุกวิถีทาง จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ถ้าต้องไปฉ้อโกง ไปขโมย ไปโกหกหลอกลวง ก็จะทำ หรือไปฆ่าผู้อื่นก็จะทำ เมื่อทำไปแล้วก็จะมีความวุ่นวายใจ มีความวิตกกังวล ถ้าชอบทำบุญให้ทานก็จะไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น เพราะมีความเมตตากรุณา เห็นผู้อื่นลำบากลำบน ก็อยากจะแบ่งความสุขความสบายให้กับเขา เวลาที่อยากได้อะไร ก็จะไม่ทำด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง จะไม่ไปทำบาปทำกรรม เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ก็จะมีศีลขึ้นมาโดยปริยาย เป็นอานิสงส์ที่ตามมาจากการทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ ที่ไม่ได้ทำด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่ออยากจะได้ผลตอบแทน ไม่ได้ทำเพื่อจะได้มีหน้ามีตา ให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นคนใจกว้าง ทำบุญมาก อย่างนี้ก็ยังเป็นความโลภอยู่ ไม่ได้ทำด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เวลาทำบุญให้ทานก็ต้องสังเกตดูว่าทำด้วยความถูกต้องหรือไม่ ต้องไม่ต้องการอะไรจากใครทั้งนั้นเวลาทำบุญให้ทาน ยิ่งไม่ต้องการมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับความสุขใจความอิ่มใจมาก ถ้าต้องการผลตอบแทนแล้วไม่ได้ก็จะห่อเหี่ยวใจ ไม่มีกำลังใจที่จะทำอีก ก็เลยไม่ได้ทำ เพราะทำไม่ถูก จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากการให้ทาน ใจยังหิวยังอยากอยู่
 
เมื่อให้ทานแล้วไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็จะไปทำอย่างอื่นแทน ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่อยากได้ อยากจะมีหน้ามีตา เมื่อทำบุญให้ทานแล้วไม่ได้มีหน้ามีตา ก็ไปสมัครเป็นส.ส. ก็ต้องไปซื้อเสียง เพื่อจะได้มีหน้ามีตา ก็จะไปในทางที่ผิด ไปตามภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น การทำทานจึงเป็นการลดละตัณหาไปในตัว แต่ยังละไม่ได้ทั้งหมด เป็นการตัดกิ่งก้านของความอยาก ถ้าจะตัดให้หมดก็ต้องถอนรากถอนโคน ต้องปฏิบัติในขั้นวิปัสสนาในขั้นปัญญา ให้เห็นว่าความอยากเป็นทุกข์เป็นโทษ สิ่งที่ได้มาก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับจิตใจ มีแต่ภาระทางจิตใจ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะตัดได้ แต่ต้องมีความสุขที่เกิดจากความสงบอยู่ก่อนแล้ว จะไม่หิวกับอะไร ถ้ากิเลสตัณหายังไม่ได้ถูกทำลายไปหมด มันก็ยังหลอกจิตได้ ในขณะที่ไม่ได้อยู่ในความสงบมันก็จะหลอกให้หิวให้อยาก เมื่อเกิดความหิวความต้องการ ก็ต้องสอนใจว่าไม่มีอะไรดีกว่าความสงบ สิ่งที่อยากได้เป็นความทุกข์เป็นภาระ เป็นเรื่องเป็นปัญหา เมื่อสอนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้นมาก็จะถูกระงับดับไปเรื่อยๆ จนไม่มีความอยากโผล่ขึ้นมาปรากฏขึ้นมาให้เห็นอีก ก็จะไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจ จะอยู่อย่างสุขสบายไปตลอดอนันตกาล ไม่มีความหิว ความต้องการ ความอยาก มีแต่ความอิ่ม ความสุข ความพออยู่ตลอดเวลา
 
จึงควรมองที่ใจเป็นหลัก เพราะเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์ที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่อื่น สิ่งอื่นๆได้แต่ดูแลร่างกายของเราเท่านั้น ร่างกายต้องมีปัจจัยไว้ดูแล แต่ต่างกับปัจจัยที่ดูแลใจ อย่าไปหลงคิดว่ามีปัจจัยดูแลร่างกายมากๆแล้ว จะทำให้ใจมีความสุขตามไปด้วย มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต่อให้สร้างพระราชวังขึ้นมา ใจก็ยังร้อนเป็นไฟได้ ถ้ายังมีตัณหาทั้ง ๓ อยู่ ถ้าอยากจะสร้างเรือนใจ สร้างวังของใจขึ้นมา ก็ต้องสร้างด้วยทานศีลภาวนา ถ้าได้สร้างปัจจัย ๔ ของร่างกายไว้พอเพียงแล้ว ก็ให้เอาเวลาที่มีอยู่มาสร้างปัจจัย ๔ ให้กับใจ ด้วยการบำเพ็ญด้วยการเจริญมรรค เจริญสัมมาทิฐิความเห็นชอบ เจริญสัมมาสังกัปโปความดำริชอบ ด้วยการฟังธรรม ที่ออกมาจากความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ เป็นการถ่ายทอดจากใจสู่ใจ จากใจของพระพุทธเจ้า ผ่านใจของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มาสู่ใจของพวกเราอีกต่อหนึ่ง ถ้ารับไว้เรื่อยๆ ต่อไปใจก็จะมีความเห็นที่ถูกต้อง ที่จะพาไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง สู่การทำทาน เช่นวันนี้เราก็มาทำบุญทำทานกัน เอาข้าวเอาของมาถวาย สู่การรักษาศีล  ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘  สู่การบำเพ็ญสมาธิและปัญญาตามลำดับ พอออกจากสมาธิ ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องคิดเรื่องภาระกิจการงาน ก็ให้มาคิดทางด้านธรรมะ คิดเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อจะได้กำจัดความอยากต่างๆ พอเห็นว่าสิ่งที่อยากได้ไม่เที่ยง เวลาจากไปก็ต้องเสียอกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็จะไม่อยากได้อะไร เพราะเป็นความทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่กับเราไปตลอด พิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้วก็จะเกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฐิที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ เกิดความเห็นที่ถูกต้อง จนมีอยู่ทุกขณะจิต ถึงจะเกิดประโยชน์ ถ้าไม่อยู่คู่กับใจ เวลาตัณหาโผล่ออกมา ก็จะสู้ไม่ได้ ดีไปหมด ไอ้นั้นก็ดีไอ้นี่ก็ดี ถ้ามีไตรลักษณ์อยู่กับใจอยู่ตลอดเวลา ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาทั้งนั้น


 
......................................................



ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา
 



Create Date : 08 กันยายน 2566
Last Update : 8 กันยายน 2566 8:36:35 น. 11 comments
Counter : 606 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณEmmy Journey พากิน พาเที่ยว, คุณหอมกร, คุณปัญญา Dh, คุณอุ้มสี, คุณtuk-tuk@korat, คุณThe Kop Civil, คุณโฮมสเตย์ริมน้ำ, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณปรศุราม, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณสองแผ่นดิน, คุณhaiku, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณtoor36, คุณSweet_pills, คุณnewyorknurse, คุณNENE77, คุณเริงฤดีนะ, คุณกะว่าก๋า, คุณeternalyrs, คุณดอยสะเก็ด, คุณkae+aoe


 
อนุโมทนาบุญวันพระจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:11:10:24 น.  

 
ขอบคุณสำหรับธรรมะและกำลังใจครับ


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:13:29:27 น.  

 
สาธุ สาธุ สาธุ


โดย: อุ้มสี วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:13:42:00 น.  

 


โดย: The Kop Civil วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:15:06:49 น.  

 
สวัสดียามบ่ายค่ะ คุณเอ็มพี


โดย: โฮมสเตย์ริมน้ำ วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:15:47:10 น.  

 
สวัสดี จ้ะ น้องเอ็ม

มาอ่านธรรมะและข้อคิด จ้ะ ชอบอยู่ข้อความ
หนึ่งที่พระท่านสอนว่า
"พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ไม่มีความสุขอื่นใดในโลกนี้ ที่จะเสมอเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ" เป็นสัจธรรมจริง ๆ จ้ะ ทุกอย่างก็อยู่ที่ใจของเรา ถ้าใจเราสงบ จะไม่ดิ้นรน
มีทุกข์ จ้ะ
โหวดหมวด ข้อคิดและธรรมะ


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:21:21:38 น.  

 
สาธุ


โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:22:17:30 น.  

 
ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราได้นำข้อคิดในธรรมะบทความนี้ไปใช้บ้าง บ้านเมืองเราน่าจะน่าอยุ่มากกว่านี้


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 8 กันยายน 2566 เวลา:23:19:42 น.  

 


สาธุค่ะ


โดย: Sweet_pills วันที่: 9 กันยายน 2566 เวลา:0:56:19 น.  

 
สาธุธรรมครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 12 กันยายน 2566 เวลา:11:08:40 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 13 กันยายน 2566 เวลา:5:17:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.