Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2566
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 กรกฏาคม 2566
 
All Blogs
 
ใจเป็นใหญ่

               

               การมาวัดของพวกเรา มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาทำบุญให้ทาน มาปฏิบัติธรรม ก็มาเพื่อใจของเราเท่านั้น ไม่ได้มาเพื่อสิ่งอื่นใด เพราะไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับใจ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากใจทั้งนั้น ไม่ว่าในทางโลกหรือในทางธรรม มีใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่นรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน จรวด มีใจเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้คิดค้น แล้วก็สั่งไปทางกายและวาจา ให้ทำสิ่งต่างๆขึ้นมา พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ก็มีใจเป็นผู้ทำให้ปรากฏขึ้นมา อยู่ตรงที่ว่าอะไรเป็นผู้ผลักดันใจ  ถ้าอวิชชากิเลสตัณหาเป็นผู้ผลักดัน ก็จะออกมาทางโลก มาสร้างสิ่งต่างๆ เช่นจรวดดาวเทียม เพราะกิเลสอยากจะไปโลกอื่น ไปโลกพระจันทร์ ไปดาวอังคาร ก็คิดค้นสร้างจรวด สถานีอวกาศ ยานอวกาศ ถ้าธรรมเป็นผู้ผลักดัน ก็จะออกมาทางธรรม ปรากฏเป็นพระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวกขึ้นมา อย่างพวกเราวันนี้มาวัดกัน ก็มีธรรมเป็นผู้ผลักดันมา เราจึงมาปฏิบัติธรรม มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาทำบุญให้ทานกัน ถ้ามีอวิชชากิเลสตัณหาผลักดัน ก็คงไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไปบ่อนการพนัน ไปตามสถานที่เริงรมย์ มีอวิชชาพาไป คือมิจฉาทิฐิความเห็นผิดเป็นชอบ ส่วนธรรมเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาทิฐิ ใจจึงเป็นเหมือนรถยนต์ มีผู้ขับคือทิฐิ ๒ ชนิด สัมมาทิฐิความเห็นชอบกับมิจฉาทิฐิความเห็นผิดเป็นชอบ ถ้าความเห็นผิดเป็นชอบพาไป ก็จะพาให้เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ตามความโลภความอยาก ที่ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ ได้มามากน้อยเพียงไร ก็ยังโลภยังอยากอยู่เหมือนเดิม มีความรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ผลักดันให้ใจเดินทางไปสู่ภพหน้าชาติหน้า เมื่อร่างกายแตกสลายดับไปแล้ว
 
ถ้าใจยังมีความโลภความอยากอยู่ มีมิจฉาทิฐิ มีอวิชชา ก็จะผลักดันให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆ อย่างที่เราแสวงหากัน ก็จะแสวงหาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบคนที่มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่จะชี้ให้ไปในทางธรรม ถ้าเกิดศรัทธาแล้วปฏิบัติตาม ก็จะเป็นจุดหักเหของชีวิต เปลี่ยนจากการเดินตามอวิชชาตามมิจฉาทิฐิ ไปเดินตามธรรมตามสัมมาทิฐิ ใจก็จะหมุนไปอีกแบบหนึ่ง จากวัฏฏะก็จะเป็นวิวัฏฏะ สวนกระแสของสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิด ภพชาติก็น้อยลงไปตามลำดับจนหมดไปในที่สุด เพราะความโลภความอยากจะถูกทำลายไปตามลำดับ ชีวิตของพวกเราคงมีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นชาตินี้หรือชาติก่อนๆ ที่ได้พบกับจุดหักเห ได้พบผู้แนะนำเรื่องความเห็นที่ถูกต้อง หรืออาจจะคิดขึ้นมาเอง ว่าการทำตามความอยาก การแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆในโลกนี้ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ เห็นว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การระงับดับความโลภความอยากต่างๆ จึงพยายามปฏิบัติอย่างเข้มข้น จนหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง พวกเราคงได้พบกับจุดหักเหแล้ว จึงได้มีฉันทะวิริยะ มีความพอใจความพากเพียร ที่จะเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินไป ถ้าปฏิบัติอย่างไม่ท้อแท้ อย่างขะมักเขม้น ปฏิบัติให้มากยิ่งๆขึ้นไป ก็เชื่อได้ว่าไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง จะถึงจุดหมายปลายทางที่ดีที่เลิศ คือมรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน แต่ต้องมีวินัย ต้องบังคับตนเองให้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ก็จะเป็นแบบกระต่ายที่วิ่งแข่งกับเต่า เต่ามีวินัยถึงแม้จะเดินช้าแต่เดินไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ แต่กระต่ายจะวิ่งไปตามอารมณ์ มีอารมณ์อยากจะวิ่งก็วิ่ง ไม่มีก็จะไม่วิ่ง ก็จะไปไม่ถึงไหน แต่ถ้ามีวินัยทำไปเรื่อยๆ ก็จะติดเป็นนิสัยไป จะทำแบบไม่หยุดไม่หย่อน ถึงแม้จะช้าบ้างเร็วบ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะมีความตั้งใจที่แน่วแน่ ที่จะทำอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ทำให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ รับรองได้ว่าไม่มีอะไรจะมาขวางกั้นมรรคผลนิพพานได้ อย่างในสุภาษิตที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น
 
พวกเรามีเหตุมีปัจจัยที่ดีแล้ว คือมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ แต่เรายังต้องเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น เพราะการจะหลุดพ้นจากความทุกข์ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ต้องมีความเพียรเป็นส่วนประกอบสำคัญ คุณธรรมอย่างอื่นก็สำคัญ เช่นสติปัญญาสมาธิ ถ้ามีศรัทธาแล้วธรรมที่ต้องเจริญให้มากก็คือสติและความพากเพียร แล้วก็เจริญสมาธิเจริญปัญญา ตามลำดับต่อไป เมื่อมีปัญญาแล้วก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง บรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยคุณธรรมทั้ง ๕ ประการคือ ๑. ศรัทธาความเชื่อ ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ๒. วิริยะความเพียร  ๓. สติ ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ให้ใจปราศจากสติ ให้มีกรรมฐานเช่นการบริกรรมพุทโธ เป็นหลักผูกใจไว้ ไม่ให้ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ ให้รู้อยู่กับพุทโธๆก็ได้ อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้ อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้านั่งอยู่เฉยๆก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออก ถ้ากำลังเดินกำลังเคลื่อนไหวก็ให้อยู่กับการเดินการเคลื่อนไหว จะได้ไม่ลื่นไม่ล้ม ไม่ไปเตะสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าเดินไปแล้วก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็อาจจะลื่นหกล้ม ไปชนไปเตะสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ เพราะไม่มีสติอยู่กับตัว ถ้ามีสติอยู่กับตัวจะรู้ทุกย่างก้าว จะรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า นี่คือการมีสติ ถ้านั่งรับประทานอาหารก็ให้อยู่กับการรับประทานอาหาร ไม่คุยกัน ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งคงจะยากสำหรับฆราวาสญาติโยม เพราะไม่เคยได้รับการปลูกฝังให้ปฏิบัติแบบนี้กัน ส่วนใหญ่จะถือการรับประทานอาหารเป็นกิจกรรมทางสังคม เวลาจะคุยกันก็กินข้าวไปด้วย เป็นปกติของฆราวาส ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ การปฏิบัติก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ต้องดูการรับประทานอาหารของพระ เวลาฉันจะไม่คุยกัน ถึงแม้จะมีพระ ๑๐๐ รูป ๑๐๐๐ รูป ก็จะไม่มีเสียงออกมาเลย ทุกองค์จะฉันด้วยการมีสติ แม้แต่การขบเคี้ยวก็ต้องระวัง อยู่กับหลวงตาเวลาเคี้ยวดังๆจะโดนเทศน์ เวลาเคี้ยวผักบุ้งดังกรอบๆ ท่านก็จะมองละ พระทุกองค์ก็หันมามอง แต่องค์ที่เคี้ยวกลับไม่รู้สึกตัวเพราะขาดสติ ถ้ามีสติจะรู้ว่าดังกรอบๆก็ต้องหยุดก่อน แล้วค่อยเคี้ยวใหม่ไม่ให้มีเสียงดัง ถ้ายังมีเสียงดังก็เลิกฉันเลย ฉันอย่างอื่นที่ไม่ดังแทน
 
ถ้ามีสติอย่างต่อเนื่องแล้ว ใจจะอยู่ใกล้ตัว ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกผูกไว้ ก็จะไปไม่ไกล เวลาต้องการมันก็ไม่ต้องเสียเวลาไปตามหา ถ้าไม่ผูกไว้บางทีก็หาไม่เจอ ไม่รู้ว่าไปไหน ใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ผูกด้วยสติให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ พอเวลาจะนั่งสมาธิทำจิตให้สงบก็จะยาก เพราะจิตจะไม่อยู่กับกรรมฐานเช่นการบริกรรมพุทโธ  จะคิดถึงเรื่องต่างๆ บางวันนั่งสมาธิไม่สงบเลย นั่งไม่ได้เลย เพราะปล่อยจิตให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือมีเรื่องที่มีผลกระทบมาก ดึงให้จิตไปคิดจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว วันนั้นจะนั่งสมาธิไม่ได้ เพราะใจอยู่ไกลจากฐานของความสงบ ถ้ารู้สึกว่านั่งยาก บริกรรมพุทโธก็ไม่ได้ ดูลมหายใจเข้าออกก็ไม่ได้ ก็ต้องฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์แทน ฟังด้วยสติ ไม่ใช่ฟังแล้วก็คิดถึงเรื่องต่างๆ หรือสวดมนต์ด้วยสติไปก่อน ให้อยู่กับบทสวดมนต์ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องต่างๆ หรือใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องที่ไปกังวลไปเกี่ยวข้องด้วย เพื่อจะได้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ต้องจบ ให้เห็นว่าไม่มีสาระอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของปลอมทั้งนั้น ถ้าเป็นความสุขก็เป็นความสุขปลอม ถ้าเป็นสมบัติก็เป็นสมบัติปลอม ไม่ต้องไปเสียดาย เพราะสักวันหนึ่งก็ต้องทิ้งมันไป เมื่อตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย เอาความสุขปลอมไปไม่ได้ ความสุขแท้อยู่ที่ความสงบใจ ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาจะตัดเรื่องที่เกี่ยวข้องผูกพันได้ จะภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งสบายได้ พอจิตสงบนิ่งแล้วก็จะเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น ไม่ลอยไปลอยมา ไม่คิดปรุงอะไร ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ ไม่ต้องดูลมหายใจ จิตจะนิ่งอยู่เฉยๆ จะนานหรือไม่นานก็ขึ้นอยู่กับกำลังของการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมากก็มีกำลังมาก ถ้ามีสติมาก ก็จะสงบนาน มีสติน้อย ก็จะสงบไม่นาน
 
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น กำลังแห่งใจที่ตั้งมั่น 
การฝึกสติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญสมาธิ ๕. ปัญญา ความรอบรู้ กำลังแห่งความรู้ที่เกิดจากปัญญาญาณ และการเจริญปัญญาในลำดับต่อไป เราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ในวัด อยู่นอกวัด อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ก็เจริญได้ แต่สถานที่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเจริญสติง่ายหรือยาก เรียกว่าสัปปายะ ถ้าอยู่คนเดียวในสถานที่สงบสงัดวิเวก การเจริญสติก็จะง่ายกว่าอยู่ ๒ คนหรือ ๓ คน พออยู่ ๒ คน ๓ คนแล้วจิตมักจะคิดถึงกัน อยากจะคุยกัน แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่รู้จะไปคุยกับใคร จะทำให้การดูแลการรักษาสติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เวลานั่งสมาธิก็จะสงบได้ง่ายกว่า เพราะไม่มีอะไรมาฉุดกระชากลากใจไป ถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงอึกกระทึกคึกโครม เวลานั่งสมาธิจะยาก เพราะเสียงจะเข้ามากระทบกับจิต ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา เกิดความรำคาญใจ เกิดความโกรธขึ้นมา ทำให้จิตขุ่นมัวยากต่อการทำให้สงบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเจริญสติจะต้องรอเวลา รอสถานที่สงบสงัด เพราะบางทีเรายังมีความผูกพันกับสังคมกับการทำงานทำการอยู่ ก็ต้องพยายามปฏิบัติในสภาพที่เราอยู่นั้นไปก่อน ถึงแม้จะไม่ได้เต็ม ๑๐๐ ได้เพียง ๑๐ ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย รักษาสติได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้รักษาเลย ให้คิดว่าขณะที่เดินไปไหนมาไหนเป็นการเดินจงกรม ขณะที่นั่งรออะไร ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดเรื่องอะไร ก็ให้คิดว่ากำลังนั่งสวดมนต์ กำลังนั่งทำสมาธิ บริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ พอกลับถึงบ้านอาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก่อนจะนอนก็นั่งสมาธิ จิตก็จะสงบง่าย พอตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็นั่งได้อีก แต่ต้องตัดเรื่องอย่างอื่นไป ถ้าไม่ตัดจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน เช่นตัดพวกละครไป เสร็จจากงานกลับบ้านกินข้าวอาบน้ำเสร็จก็นอนเลย พอแล้วสำหรับเรื่องบันเทิงต่างๆ เป็นของปลอมทั้งนั้น เป็นตัวที่จะขัดขวางไม่ให้ได้พบกับความสุขพบกับสมบัติที่แท้จริง ตัดไปเลย อย่าไปเสียดาย
 
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า จะหลอกให้รอไปวัดก่อนค่อยปฏิบัติ ปีหนึ่งก็อาจจะไปได้เพียงครั้งเดียว ก็จะไม่พอ เพราะการปฏิบัติจะให้ได้ผลเป็นกอบเป็นกำ จะต้องปฏิบัติตลอดเวลาเลย เพราะกิเลสทำงานอยู่ตลอดเวลา อวิชชาทำงานอยู่ตลอดเวลา มิจฉาทิฐิทำงานตลอดเวลา คอยหลอกคอยล่อเราอยู่ตลอดเวลา แต่ธรรมกลับไม่ได้ทำตลอดเวลา ก็โดนต่อยอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ได้ต่อยกิเลสเลย กิเลสจึงมีกำลังมากกว่า แต่ถ้าผลัดกันต่อยก็จะพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ถ้าธรรมต่อยมากกว่า กิเลสก็จะต้องแพ้ธรรม แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ธรรมจะแพ้เสียมากกว่า เวลาเกิดความโลภก็โลภตาม เวลาเกิดความโกรธก็โกรธตาม เวลาเกิดความหลงก็หลงตาม จึงมีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจตามมา นี่คือผลจากการที่ไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะสลับผลัดกัน มีทุกข์บ้างมีสุขบ้าง แต่จะไม่ทุกข์เสมอไปแล้วก็ไม่ได้สุขแบบทางโลก ไม่ได้สุขจากการได้ดูได้ยินได้ฟังได้ดื่มได้รับประทาน แต่สุขจากการชนะความโลภความอยากความโกรธ เวลาโกรธแล้วดับมันได้ จะเกิดความสุขขึ้นมาภายในใจ เวลาโลภแล้วตัดมันได้ ก็เกิดความสุขขึ้นมา โดยไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองเสียเวลากับการหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก จะมีเวลาปฏิบัติ พอกลับบ้านรับประทานอาหารอาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก็ไหว้พระสวดมนต์นั่งทำสมาธินอนแต่หัวค่ำ เช้าก็ตื่นสักตี ๒ ตี ๓ ภาวนาจนถึงตี ๕ ตี ๖ แล้วค่อยอาบน้ำอาบท่าไปทำงาน ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ไม่ต้องไปวัดก็ได้ ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พอตื่นขึ้นมาก็มีสติอยู่กับตัว อยู่กับทุกย่างก้าว ไม่ว่าจะทำอะไร ให้มีสติกับการกระทำนั้นๆ ตั้งแต่อาบน้ำอาบท่าแต่งหน้าแต่งตัว ขับรถหรือขึ้นรถไปทำงาน อยู่ที่ทำงานก็มีสติอยู่กับการทำงาน ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ก็จะได้ปฏิบัิติอย่างต่อเนื่อง
 
ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้วรับรองว่าจะได้ผลมาก จะเจริญก้าวหน้า จะทำให้มีกำลังคือพละ ๕ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาจะเจริญเติบโต จากอินทรีย์ก็จะกลายเป็นพละเป็นพลัง เป็นระดับอริยะไป พระอริยะก็อาศัยพละทั้ง ๕ นี้ คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา เป็นเครื่องมือพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างพระโสดาบันนี่ก็มีศรัทธาที่ไม่สั่นคลอน ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ รู้ว่านี่คือทางที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง เพราะพระโสดาบันได้บรรลุธรรมได้เห็นธรรมแล้ว เมื่อได้เห็นธรรมก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าไปพร้อมๆกัน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้เห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ที่จะเห็นตถาคตเห็นธรรมได้ก็ต้องเป็นพระอริยะสงฆ์เท่านั้น ก็คือพระโสดาบัน เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม เป็นอริยบุคคลขั้นแรก เป็นได้ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีศรัทธาเต็มเปี่ยมในหัวใจ มีฉันทะความพอใจที่จะปฏิบัติให้มีธรรมมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยพละ ๕ คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา พวกเราตอนนี้ก็มีสติมีสมาธิมีปัญญาอยู่บ้าง แต่ยังมีไม่มากพอ จึงต้องเพียรสร้างให้มากขึ้น วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เรานอนเสีย ๘ ชั่วโมง มี ๑๖ ชั่วโมงที่ตื่น เราเจริญสติกันสักกี่นาที ควรประเมินดู ที่ไปไม่ถึงไหนกันก็อยู่ที่การปฏิบัติของเรา ไม่ได้อยู่ที่ใคร ถ้าประเมินดูเราจะเกิดความอาย และคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนอาจจะหลอกตัวเองว่าปฏิบัติมาก พอประเมินดูก็จะเห็นว่าไม่ได้ปฏิบัติมากเลย ถ้าจะปฏิบัติมากต้องถึงเนื้อถึงแก่น ต้องปฏิบัติทุกลมหายใจเข้าออกเลย ในทุกขณะที่ตื่น ควรเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ หลักของสติคือที่นี่เดี๋ยวนี้ ถามตัวเราเสมอว่า ขณะนี้ใจเราอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้หรือเปล่า หรืออยู่ที่เมื่อวานนี้ อยู่ที่พรุ่งนี้ อยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่ตามที่ต่างๆ นั่นแสดงว่าใจลอยไปแล้ว แต่ก็ไปได้บ้าง เพราะมีความจำเป็นต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าปล่อยให้ไป อย่าเคลิ้มฝันคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงความสุขในอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือฝันถึงความสุขในอนาคตที่จะตามมา เป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้น
 
ความสุขที่แท้จริงอยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อยู่ในขณะที่มีสติ ถ้ามีสติจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น จึงต้องเพียรสร้างสติให้มากๆ นั่งสมาธิให้มากๆ ทำจิตให้รวมลงเป็นหนึ่งให้ได้ เป็นเอกัคตารมณ์ ขาดจากอารมณ์ต่างๆ ขาดจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถึงแม้จะมีเสียงมีรูปมีกลิ่นมีรสมีโผฏฐัพพะเข้ามาตามทวารทั้ง ๕ ถ้าจิตขาดจากอารมณ์เหล่านั้นแล้ว มันก็จะไม่รบกวน จิตจะนิ่งเฉยสบายเหมือนกับไม่ได้ยินไม่ได้เห็น เวลาจิตสงบจะเป็นอย่างนั้น ถ้าลงลึกไปอีกระดับหนึ่ง ก็จะหายไปเลย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆหายไปจากการรับรู้ของจิต แม้แต่ร่างกายก็หายไป เหลือแต่จิตอยู่ตามลำพัง สักแต่ว่ารู้เท่านั้น จะอยู่ได้เดี๋ยวเดียวหรืออยู่ได้นาน ก็แล้วแต่กำลังของการปฏิบัติ ถ้าได้พบจุดนั้นแล้ว รับรองได้ว่าศรัทธาจะมีมาก วิริยะก็จะตามมา อยากจะปฏิบัติอย่างเดียว อยากจะเจริญให้มาก อยากจะให้จิตเป็นอย่างนั้นอยู่บ่อยๆ เป็นอยู่เรื่อยๆ ตอนนั้นก็จะตัดความสุขทางโลกได้ ความสุขที่เกิดจากการดูการฟังการรับประทานการดื่มอะไรต่างๆ จะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะความสุขที่ได้รับจากการรวมลงของจิตมีอานุภาพมาก เทียบกันไม่ได้เลย เหมือนช้างกับมด แต่เราไม่เคยเจอความสุขแบบช้างเลย พอได้ความสุขแบบมดก็ดีอกดีใจ มีความยึดติด ก็เลยไม่ได้สัมผัสกับความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ ที่พระอริยะทั้งหลายได้สัมผัสกัน แต่ถ้าบำเพ็ญอย่างต่อเนื่อง ตั้งสติอยู่เรื่อยๆ นั่งสมาธิจนจิตรวมลงได้แล้ว จะรู้ว่าความสุขที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้สัมผัสเป็นอย่างไร จะมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความสุขนั้นมาอยู่กับเราตลอดเวลา การปฏิบัติก็จะคืบหน้า พอได้สมาธิแล้วก็เจริญปัญญาต่อไป ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามที่เข้าใจกัน คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเมื่อได้สมาธิแล้วปัญญาจะเกิดตามมา สมาธิเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้เกิดปัญญา
 
เวลามีสมาธิจิตสงบนิ่งแล้ว จิตจะไม่ลอยไปลอยมา เวลาจะให้พิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใดเช่นพิจารณากาย ให้เห็นเป็นอสุภไม่สวยไม่งาม จิตก็จะอยู่กับการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้พิจารณาเพียงแว้บเดียวแล้วก็หายไปคิดเรื่องอื่น แต่จะคิดพิจารณาทั้งวันทั้งคืนจนกว่าจะเข้าใจ เห็นอย่างทะลุปรุโปร่งตลอดเวลา จนตัดความหลงยึดติดในความสวยงามของร่างกายได้ ระงับดับราคะความกำหนัดยินดีในร่างกายได้เท่านั้น ถึงจะหยุดการพิจารณา ที่ต้องพิจารณาอสุภก็เพราะจิตยังหลง ยังมีความยินดีกับร่างกายของผู้อื่น โดยเฉพาะเพศตรงข้าม หญิงก็ต้องพิจารณาชาย ชายก็ต้องพิจารณาหญิง พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม อาการ ๓๒ หรือสภาพที่ตายไปแล้วว่าเป็นอย่างไร พิจารณาดูไปเรื่อยๆ ถ้ามีสมาธิก็จะสามารถพิจารณาได้ทั้งวันทั้งคืน เดินยืนนั่งนอน ในอิริยาบถต่างๆ เพราะจิตไม่ลอยไปไหน ไม่หิวกับอารมณ์ต่างๆ เพราะมีความสุขของสมาธิหล่อเลี้ยงอยู่ ความสุขที่เกิดจากความสงบเป็นเหมือนกับยาสลบ ที่จะทำให้กิเลสตัณหาความหลงต่างๆ ไม่มีกำลังฉุดลากจิตให้ไปอยากไปโลภได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่สามารถพิจารณาอสุภได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะพิจารณาอะไรก็ตาม จะพิจารณาได้เดี๋ยวเดียว พิจารณาได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็หิวกับอารมณ์ต่างๆ กังวลกับคนนั้นกังวลกับคนนี้ ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ ก็จะไม่ได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่เห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่สามารถตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดตัณหาความอยากในสิ่งต่างๆได้ สมาธิจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญปัญญา เมื่อได้เจริญปัญญาอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะตัดอุปาทานตัดตัณหาได้ วิมุตติการหลุดพ้นก็จะเป็นผลตามมา นี่คือการปฏิบัติทางพุทธศาสนา เป็นขั้นเป็นตอน
 
นี่พูดถึงส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ยังไม่รวมถึงศีลและทาน ที่เป็นองค์ประกอบที่ต้องมีด้วยเช่นกัน ถ้ายังไม่ใจกว้างยังตระหนี่อยู่ ก็จะปฏิบัติธรรมยาก จะรักษาศีลยาก ถ้าไม่มีศีลจิตจะไม่สงบง่าย จะวุ่นวายรุ่มร้อนกับเรื่องต่างๆ เวลาทำผิดแล้วจะมีความกังวลวุ่นวายใจ นอกจากมีศรัทธาสติวิริยะสมาธิปัญญาแล้ว ก็ยังต้องทำบุญให้ทานรักษาศีล อย่างที่พวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติกัน อย่าไปเสียดายสมบัติข้าวของเงินทอง ทำบัญชีจำแนกมันไว้ ส่วนไหนที่จำเป็นก็เก็บไว้ ส่วนไหนไม่จำเป็นก็เอาไปจำหน่ายจ่ายแจก จะได้ตัดความตระหนี่ตัดความโลภ จะได้ไม่อยากได้เงินทอง เพราะพอมีพอกินแล้วจะเอามาทำไม ได้มาก็เอามาทำบุญอยู่ดี อย่าไปหามาเพื่อเอามาทำบุญ เป็นความหลงติดในการทำบุญ ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะทำด้วยความโลภ โลภในบุญ ทำบุญเพื่อตัดความโลภ ขอให้บำเพ็ญต่อไป

 
......................................................



ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา
 



Create Date : 25 กรกฎาคม 2566
Last Update : 25 กรกฎาคม 2566 8:29:58 น. 17 comments
Counter : 600 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณโฮมสเตย์ริมน้ำ, คุณThe Kop Civil, คุณทนายอ้วน, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณกะว่าก๋า, คุณปัญญา Dh, คุณร่มไม้เย็น, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณeternalyrs, คุณปรศุราม, คุณhaiku, คุณสองแผ่นดิน, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณtoor36, คุณSweet_pills, คุณหอมกร, คุณkae+aoe, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณเริงฤดีนะ, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณnewyorknurse, คุณNENE77, คุณtanjira, คุณข้าน้อยคาราวะ


 
ธรรมะสวัสดีค่ะ


โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:8:41:00 น.  

 
สวัสดียามสายวันพระค่ะ คุณเอ็มพี


โดย: โฮมสเตย์ริมน้ำ วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:9:02:56 น.  

 


โดย: The Kop Civil วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:9:51:46 น.  

 
ส่งกำลังใจคราบ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:9:53:16 น.  

 
ความสุขที่แท้จริงอยู่ในปัจจุบัน
อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อยู่ในขณะที่มีสติ
.
.

เห็นด้วยเลยครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:10:42:39 น.  

 


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:14:36:20 น.  

 
สาธุ
หลงติดในการทำบุญ โลภในบุญ


โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:22:55:56 น.  

 
สาธุครับ

ขอบคุณนะครับที่เข้าไปอ่านบล๊อกผมนะครับ


โดย: นายแว่นขยันเที่ยว วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:23:25:55 น.  

 
คนเราต้องมีศรัทธา มันจะเป็นจุดกำเนิดในการทำสิ่งต่างๆ เลย


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 25 กรกฎาคม 2566 เวลา:23:42:48 น.  

 


สาธุค่ะ


โดย: Sweet_pills วันที่: 26 กรกฎาคม 2566 เวลา:0:20:50 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 26 กรกฎาคม 2566 เวลา:5:24:42 น.  

 
อนุโมทนาบุญวันพระขึ้น 8 ค่ำจ้า
อาทิตย์หน้าก็อาสาฬหแล้วนะ



โดย: หอมกร วันที่: 26 กรกฎาคม 2566 เวลา:6:49:25 น.  

 
สวัสดี จ้ะ น้องเอ็ม
มาอ่านธรรมะ ข้อคิดของเธอจ้ะ สัมมาทิฐิ เป็น
ธรรมะทางดี ต้องลงมือปฏิบัติด้วย จึงจะไม่เป็น
ทุกข์ จ้ะ
โหวดหมวด ข้อคิดและธรรมะ


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 27 กรกฎาคม 2566 เวลา:14:38:31 น.  

 


โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 27 กรกฎาคม 2566 เวลา:21:22:09 น.  

 
ธรรมะสวัสดีครับ

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมบล็อกและส่งกำลังใจให้เช่นกันนะครับ


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 27 กรกฎาคม 2566 เวลา:23:28:05 น.  

 
ขอบคุณคุณพีสำหรับกำลังใจนะคะ



โดย: Sweet_pills วันที่: 29 กรกฎาคม 2566 เวลา:0:44:02 น.  

 


โดย: ข้าน้อยคาราวะ (ข้าน้อยคาราวะ ) วันที่: 30 กรกฎาคม 2566 เวลา:16:38:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.