Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
 
2 กุมภาพันธ์ 2567
 
All Blogs
 
มีใจใฝ่ธรรม

               

            เป็นสิ่งที่ดีที่พวกเรามีใจใฝ่ธรรมยินดีในธรรมกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการยินดีในธรรมชนะการยินดีทั้งปวง เพราะไม่มีอะไรจะมีคุณค่ากว่าธรรม ธรรมเป็นปัจจัยที่จะแปลงใจของพวกเรา จากปุถุชนให้เป็นอริยบุคคล ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้วมาสั่งสอนธรรมให้แก่สัตว์โลก โอกาสที่ใจของพวกเราจะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลนี้ จะมีน้อยมากหรือไม่มีเลยก็ว่าได้ พวกเราจึงควรยินดีในธรรม ถ้ามีฉันทะความยินดีแล้ว จะมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร มีจิตตะใจจดจ่อ มีวิมังสาคิดใคร่ครวญแต่เรื่องของธรรม เหมือนกับเวลาเราชอบใครสักคนหนึ่ง ใจของเราจะจดจ่อคิดถึงแต่คนนั้นอยู่ตลอดเวลา ยินดีที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในเบื้องต้นที่ต้องมีก็คือฉันทะความยินดี จะเกิดความยินดีได้ ก็ต้องรู้คุณค่าของธรรมะ เราจึงต้องเข้าหาผู้ที่มีธรรมะ เพราะเป็นผู้ที่รู้คุณค่าของธรรมะ เป็นผู้ยกย่องเชิดชูโฆษณาคุณค่าของธรรมะ พอเราได้ฟังแล้วก็จะเห็นคุณค่าของธรรมะ ทำให้เกิดความยินดีที่อยากจะได้ธรรมะมาเป็นของเรา เหมือนกับตอนที่เราเกิดมาใหม่ๆนี้ เราจะไม่รู้คุณค่าของเพชร พอมีผู้ใหญ่บอกว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ เราก็จะเกิดความยินดีอยากได้เพชรขึ้นมา เราจึงต้องเข้าหาผู้ที่มีธรรมะ เข้าหาพระสุปฏิปันโน ถ้าไม่สามารถหาพระสุปฏิปันโนได้ ก็อ่านหนังสือของพระสุปฏิปันโนไปก่อนก็ได้ หรืออ่านหนังสือที่คัดมาจากพระไตรปิฎกก็ได้
  
การยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับเรานี้ เป็นวิธีที่แก้ไขปัญหาภายในใจได้เสมอ แต่บางทีเราไม่มีสติปัญญาพอ ไม่ได้มองปัญหาของใจ มัวแต่ไปมองปัญหาภายนอก พยายามแก้ทุกวิถีทาง ถ้าแก้ได้ก็จะไม่มีปัญหาภายใน ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาในใจด้วย เพราะใจอยากจะแก้ให้ได้ ถ้าแก้แล้วเห็นว่าสุดวิสัย ไม่มีทางที่จะแก้ได้ ยอมรับความจริง ปัญหาภายในใจก็จะไม่เกิดขึ้น เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็รักษาอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่หาย ก็ต้องยอมรับกับสภาพ ถ้ายอมรับได้ ปัญหาในใจก็จะไม่มี ใจจะนิ่งสงบเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงแม้ร่างกายจะเป็นอะไรไป แต่ใจจะเป็นปกติ เหมือนตอนที่ร่างกายเป็นปกติ นี่คือเรื่องของธรรมะ มีคุณประโยชน์กับจิตใจ เพราะจะรักษาใจให้อยู่เหนือความทุกข์ได้ เราจึงควรยินดีกับการศึกษาปฏิบัติธรรม เพราะเป็นวิธีที่จะนำธรรมเข้ามาสู่ใจ มาดูแลรักษาใจ ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ยังไม่เป็นธรรมที่แท้จริงสำหรับเรา ถึงแม้จะเป็นธรรมที่แท้จริงสำหรับพระพุทธเจ้าก็ดี สำหรับพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายก็ดี แต่สำหรับพวกเราธรรมยังไม่ได้เข้ามาในใจ หรือเข้ามาแล้วแต่ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา อยู่สักระยะหนึ่งแล้วก็จางหายไป เพราะเราเอาสิ่งอื่นมากลบธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา พอไปคิดเรื่องอื่น เวลาทำงานทำการต้องใช้ความคิด ธรรมที่ได้ยินได้ฟังมาก็จะถูกความคิดอื่นกลบหายไปหมด ไม่มีเหลืออยู่ในใจเลย พอเกิดปัญหาขึ้นมา ธรรมก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาในใจได้ ไม่สามารถคุ้มครองใจไม่ให้ทุกข์วุ่นวายได้
 
หน้าที่ของเราก็คือ ต้องทำให้มีธรรมะอยู่ในใจตลอดเวลาจนเป็นนิสัย จะคิดอะไรก็คิดด้วยธรรมะ ตอนนี้นิสัยของเราจะคิดด้วยโมหะอวิชชา อวิชชา ปัจจยา สังขารา คิดด้วยความหลง แล้วก็สร้างความทุกข์ขึ้นมาให้กับเรา จะมีความอยากต่างๆซึ่งมักจะสวนทางกับความจริง เช่นอยากจะอยู่ไปนานๆ อยากจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งไม่ตรงกับความจริง เพราะร่างกายมีอายุขัย ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ถ้าเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า มาคอยเตือนใจอยู่เรื่อยๆจนฝังอยู่ในใจแล้ว ก็จะดับความหลงความอยากต่างๆได้ เหมือนกับการท่องสูตรคูณ หรือท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ ถ้าท่องได้แล้ว เวลาเห็นตัวอักษรจะรู้ทันทีว่าเป็นตัวอะไร ถ้าจำความหมายของตัวอักษรได้ เวลาเห็นตัวอักษรในหนังสือ ก็จะเข้าใจความหมายทันทีเลย ไม่ต้องมาสะกดมาคิดว่ามีความหมายอย่างไร เพราะถูกฝังไว้อยู่ในใจแล้ว พอสัมผัสด้วยตาปั๊บก็จะรู้ขึ้นมาในใจทันที ฉันใดธรรมะก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่พวกเราไม่ค่อยได้เอาธรรมะเข้าสู่ใจ เหมือนที่เราเอา ก.ไก่ ข.ไข่หรือสูตรคูณเข้ามาสู่ใจกัน พอเวลาที่ต้องใช้ธรรมะก็เลยไม่มีธรรมะให้ใช้ มีแต่โมหะอวิชชาที่สร้างความอยากต่างๆขึ้นมา แล้วก็สร้างความทุกข์ตามมา
 
เราจึงควรเอาเวลาอันมีค่าของมนุษย์นี้ มาเอาธรรมะเข้าสู่ใจ ถ้าทำอย่างจริงจังก็ไม่ต่างจากการเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ จนอ่านออกเขียนได้ เพราะเราทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนกัน ตั้งแต่ ป.๑ ถึง ม.๖ ก็ ๑๒ ปีเข้าไปแล้ว ถ้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยก็อีก ๔ ปี รวมเป็น ๑๖ ปี ถ้านับอนุบาลอีก ๓ ปี และก่อนอนุบาลอีก ๑ ถึง ๒ ปี ก็ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนทางโลกอย่างน้อยก็ ๒๐ ปี ถ้าทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนธรรมะ ๒๐ ปี ก็จะหลุดพ้นได้อย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าทรงรับประกันไว้แล้ว ไม่เกิน ๗ ปี  พระพุทธเจ้าทรงเอาพระราหุลไปบวชเณร ตอนที่เสด็จกลับไปโปรดพระราชวงศ์ แล้วพระนางยโสธราพิมพาก็เอาพระราหุลมาขอมรดกจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยสั่งให้พระสารีบุตรเอาพระราหุลไปบวชเณร ตอนนั้นอายุประมาณ ๗ ขวบ บวชแล้วก็ไม่สึก เพราะเรียนจบแล้วบรรลุแล้วก็ไม่รู้จะสึกไปหาอะไร ที่สึกกันเพราะยังเรียนไม่จบ ยังไม่บรรลุกัน พวกที่เรียนจบแล้วจะไม่สึกกัน เพราะไม่มีความอยากเหลืออยู่ในใจ พวกที่สึกยังมีความอยากกับเรื่องต่างๆทางโลกอยู่ เช่นยังมีกามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ หรือความอยากมีอยากเป็น อยากเป็นสามีอยากเป็นภรรยา อยากจะเป็นเจ้านาย อยากเป็นใหญ่เป็นโต พวกนี้จะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ในอดีตที่ไม่นานมานี้ก็จะบวชประมาณ ๓ ถึง ๔ เดือนกัน เป็นธรรมเนียมของชายไทยอายุ ๒๐ ปีจะบวชกัน ๑ พรรษา พอออกพรรษารับกฐินแล้วก็ลาสิกขาไป แต่สมัยนี้พวกบวช ๓ ถึง ๔ เดือนนี้จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ พวกบวช ๑๕ วัน ๗ วันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ บวชแล้วยังไม่ทันได้เรียนได้ปฏิบัติก็สึกเสียก่อนแล้ว
 
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า การเรียนทางธรรมะกับการเรียนทางโลกนี้ไม่ต่างกัน ต้องมีเวลา ถ้าเรียนธรรมะแบบเรียนทางโลก ต้องบรรลุขั้นใดขั้นหนึ่งอย่างแน่นอน แต่เสียดายที่ไม่นิยมทางธรรมกัน ครูบาอาจารย์ที่จะสั่งสอนก็มีไม่มาก ก็เลยไม่มีการบรรลุธรรมกัน จึงควรคิดดูให้ดีว่า อะไรจะมีคุณค่ากว่ากัน การหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือการติดอยู่กับความทุกข์บนกองสุขของลาภยศสรรเสริญ ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่เป็นความสุขที่คลุกเคล้าไปด้วยความทุกข์ ความสุขที่มีความทุกข์ตามมาทีหลัง หรือจะเอาความสุขที่ทุกข์ในเบื้องต้น ที่เกิดจากการต่อสู้กับความอยากต่างๆ จากการตัดความสุขต่างๆ เพื่อความสุขที่ดีกว่า ที่ถาวร ที่ไม่มีความทุกข์ตามมา ก็มีทางเลือกอยู่ ๒ ทางอย่างที่เห็นกันอยู่ ทางโลกกับทางธรรม ถ้ายังเสียดายทางโลกอยู่ ให้เวลากับทางธรรมไม่มากเท่าที่ควร ก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร คือผลที่จะรับประกันไม่ให้จิตเสื่อมลงไปได้อีกเลย ก็คืออริยมรรคอริยผลนั่นเอง ถ้ายังไม่ได้เข้าสู่ขั้นมรรคผล ตั้งแต่ขั้นโสดาปฏิมรรคโสดาปฏิผลไปนี้ ถึงแม้จะได้บำเพ็ญบุญกุศลมามากน้อยเพียงไรก็ตาม บุญกุศลต่างๆก็จะเสื่อมหมดไปได้ จิตยังจะขึ้นๆลงๆเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ภพสูงภพต่ำอยู่ แต่ถ้าได้ขั้นโสดาปฏิมรรคโสดาปฏิผลแล้ว การที่จะต้องไปเกิดในอบายก็ตัดออกไปได้เลย ภพชาติที่เวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีจำนวนจำกัด ก็จะถูกลดเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก กลับมาเกิดในภพของมนุษย์ไม่เกิน ๗ ชาติก็จะได้บรรลุถึงพระนิพพานอย่างแน่นอน ถ้าปฏิบัติถึงขั้นสกิทาคามี ก็จะตัดภพชาติลงเหลือเพียงชาติเดียว จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุ ถ้าได้ขั้นพระอนาคามี ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะจิตของพระอนาคามีอยู่ในระดับพรหมโลก จะสามารถปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ในขณะที่อยู่ในสวรรค์ชั้นพรหมโลกได้ จึงไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะจิตของพระอนาคามีรู้ทันเรื่องของร่างกายหมดแล้ว รู้ว่าร่างกายเป็นกับดักของความทุกข์ จะไม่อยากมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะไม่ยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆแล้ว
 
ถ้ายังตัดกามตัณหาไม่ได้ก็ยังต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เช่นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ยังไม่สามารถตัดกามตัณหาหรือราคะตัณหาได้อย่างสิ้นเชิง เพราะยังไม่ได้เจริญอสุภกรรมฐานได้อย่างเต็มที่ ยังไม่ได้พิจารณาความไม่สวยงามของร่างกายในรูปแบบต่างๆ ยังไม่ได้พิจารณาส่วนที่ถูกซ่อนไว้ใต้ผิวหนัง ยังไม่ได้พิจารณาสภาพที่ตายไปแล้ว ถ้าเห็นสภาพของร่างกายว่าเป็นอสุภะ ไม่สวยงามน่าเกลียดน่ากลัวแล้ว ก็จะไม่ยินดีกับการเสพกามต่อไป ถ้าตัดได้อย่างราบคาบแล้ว จิตจะไม่แสวงหาร่างกายมาเสพสุขอีกต่อไป ถ้าไม่หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ไม่ต้องมีตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ต้องมีร่างกาย นี่คือเรื่องของพระอนาคามีที่ตัดกามตัณหาได้แล้ว แต่ยังติดอยู่กับภวตัณหา ยังอยากมีอยากเป็น ยังมีอัตตาตัวตน ยังอยากเป็นใหญ่ ยังอยากจะให้ผู้อื่นยกย่องเคารพสรรเสริญ ยังติดกับความสุขที่ละเอียดที่อยู่ในใจ เป็นความสุขที่เป็นไตรลักษณ์ ที่ยังเปลี่ยนแปลงได้ สุขแล้วก็ยังทุกข์ได้ เป็นความสุขภายในใจ เวลาจิตสงบนิ่งก็สุข พอจิตคิดปรุงแต่งก็จะเกิดทุกข์ขึ้นมาได้ ถ้าคิดปรุงแต่งไปในทางกิเลส ในทางอัตตาตัวตน แต่จะไม่ต้องกังวลกับเรื่องของร่างกาย เพราะเข้าใจหมดแล้ว ทุกสัดทุกส่วน ไม่หลงอยากได้ร่างกายของใครมาเป็นคู่ครองอีกต่อไป ท่านจึงสามารถเจริญธรรม เพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในสวรรค์ชั้นพรหมโลกได้เลย ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
 
นี่คือการปลูกฝังธรรมะให้อยู่กับใจ จนกลายเป็นมรรคผลขึ้นมา ป้องกันไม่ให้ใจไหลกลับไปสู่กระแสของโลก เพราะคำว่าโสดาบันนี้ก็มาจากคำว่าโสตะ ภาษาบาลีแปลว่ากระแส ก็คือกระแสสู่พระนิพพานนั่นเอง เหมือนกับขับรถ พอขึ้นทางด่วนได้แล้ว ก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วและแน่นอน เพราะไม่มีไฟแดง ไม่มีทางแยก ที่จะหลอกให้หลงทางได้ การปฏิบัติธรรมจึงต้องทุ่มเทเวลาให้มาก เหมือนกับการทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาทางโลก ทางโลกเราทุ่มเทให้ได้ตั้ง ๒๐ ปี ทางธรรมเพียง ๗ ปีเท่านั้น ทำไมจะทุ่มเทให้ไม่ได้ เป็นการเรียนเหมือนกัน ต้องหาโรงเรียนที่มีครูมีอาจารย์ที่รู้เรื่องทางนี้จริงๆ สอนแต่เรื่องธรรมะอย่างเดียว อย่างสมัยที่ไปอยู่วัดป่าบ้านตาด ก็เหมือนกับได้ไปโรงเรียนอย่างที่พูดนี้เลย เพราะที่นั่นจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับการศึกษาและการปฏิบัติเท่านั้น จะไม่มีภารกิจอย่างอื่นให้ทำ ไม่มีการก่อสร้าง ไม่มีการเกี่ยวข้องกับศรัทธาญาติโยม ที่จะมาทำบุญบังสังสวดต่างๆ เช่นบังสุกุล สังฆทาน ทำบุญวันเกิด หรือสวดสะเดาะเคราะห์ ภารกิจเหล่านี้จะไม่มีที่วัดป่าบ้านตาด จะมีแต่งานของพระคือบิณฑบาต ทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณวัดให้สะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วก็เข้าทางจงกรมหรือนั่งสมาธิ ปลีกวิเวกอยู่ในป่า ทุก ๔ ถึง ๕ วันพระอาจารย์จะเรียกไปอบรมสัก ๑ ครั้ง อบรมเรื่องธรรมะ วิธีของการปฏิบัติต่างๆ ปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น วิธีที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ท่านจะคอยสอนอยู่ตลอดเวลา เราก็สบายไปเลย ไม่ต้องทำอะไร เพียงทำตามที่ท่านสอน ไม่นานก็เรียนจบ
 
สมัยหลวงปู่มั่นก็เป็นแบบนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ไปศึกษากับหลวงปู่มั่นก็เรียนจบกันเป็นจำนวนมาก ประวัติของท่านเราก็ได้ยินได้ฟังกันแล้ว อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ เป็นเครื่องยืนยันว่าได้เรียนจนสำเร็จแล้วจากโรงเรียนของพระพุทธศาสนา เพราะปฏิบัติกันจริงๆ เพียงไม่กี่ปีก็ได้ขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว ส่วนจะได้ถึงขั้นสุดท้ายเมื่อไหร่ จะช้าหรือจะเร็ว ก็อยู่ที่อินทรีย์ของท่านคือ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ถ้ามีมากก็จะไปเร็ว ถ้ามีน้อยก็ไปช้า อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ๗ วันก็ดี หรือ ๗ เดือนก็ดี หรือ ๗ ปีก็ดี ต้องบรรลุอย่างแน่นอน เพราะความแตกต่างกันในอินทรีย์นี้เอง ศรัทธาอาจจะมีมากเท่าๆกัน แต่วิริยะความอุตสาหะพากเพียรสติสมาธิปัญญาจะไม่เท่ากัน ทำให้การสำเร็จการศึกษาในทางพระพุทธศาสนานี้ มีความแตกต่างกัน หรืออาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามา ทำให้ไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ เช่นพระอานนท์ที่มีภาระอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า จึงไม่มีโอกาสปลีกวิเวกไปบำเพ็ญได้อย่างเต็มที่ ก็เลยเหมือนต้องพักเรียนไปชั่วคราว ต้องไปช่วยงานทางบ้าน ก็เลยต้องพักเรียนไปก่อน ไปช่วยงานทางบ้าน พอเสร็จแล้วค่อยกลับไปเรียนต่อ  พระอานนท์นี้โชคดีที่ภาระเป็นการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เพราะจะได้ศึกษาตลอดเวลา เพราะหนึ่งในเงื่อนไขที่รับภาระนี้ก็คือ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าไปทรงแสดงธรรมที่ไหนก็ตาม ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ตามเสด็จไปด้วย พระพุทธเจ้าต้องกลับมาแสดงธรรม ให้พระอานนท์ได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เพราะท่านถือว่าการที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้านี้ ก็เพื่อการได้ยินได้ฟังธรรมะนั่นเอง เพราะพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะตรัสอะไรก็เป็นธรรมะทั้งนั้น ลูกศิษย์ลูกหาพระเณรต่างๆ จึงแย่งกันอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับท่าน จะได้รับการอบรมอย่างใกล้ชิด เวลาอยู่ใกล้ท่าน ท่านจะดูกิริยาอาการตลอดเวลา ถ้าเห็นออกไปนอกลู่นอกทาง ออกไปทางกิเลสเมื่อไหร่ ท่านจะดึงกลับมาทันที จะมีคติธรรมสอนอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรจะเป็นคติธรรมเป็นอุบาย ที่จะปลูกฝังให้เกิดสติปัญญาขึ้นมา
 
จึงควรสำรวจดูใจของเราว่ายินดีกับอะไร ยินดีกับธรรมะหรือยินดีกับลาภยศสรรเสริญสุข ถ้ายินดีในลาภยศสรรเสริญสุข ก็ต้องพยายามตัดให้ได้ เพราะเป็นยาพิษ ไม่ใช่ธรรมโอสถ ควรยินดีกับธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นธรรมศึกษาหรือธรรมปฏิบัติ ทุกครั้งที่จะฟังอะไร ควรถามตนเองว่ากำลังจะฟังอะไร ฟังยาพิษหรือฟังอาหารที่มีประโยชน์แก่จิตใจ พอมีสติอย่างนี้แล้วก็จะเปลี่ยนใจได้ เมื่อเช้านี้ก็มีคนสารภาพว่า ฟังแต่ยาพิษ ดูแต่ยาพิษ ไม่ได้ฟังได้ดูธรรมะเลย นี่ก็แย่มากที่กล้าสารภาพ ไม่อายเลย แทนที่จะคิดว่าเราควรรีบกลับตัวกลับใจ กลับรับหน้าชื่นตาบานว่าไม่ได้ฟังธรรมเลย ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย ดูแต่โทรทัศน์ ฟังแต่วิทยุ นี่ไม่ได้ว่ากันนะ พอดีพูดเรื่องอุปสรรคของการปฏิบัติ ความหลงมันร้ายกาจขนาดนั้นนะ มันทำให้เห็นว่าไม่เป็นโทษเลย คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้ามองจากมุมธรรมะแล้ว จะเห็นว่าเรานี้แย่มาก ไม่เห็นคุณค่าของเวลา ไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ ต้องเรียนไปอีกหลายชาติกว่าจะจบ หรือไม่จบเลย เพราะใจไม่ใฝ่ธรรมไม่ยินดีในธรรม ยินดีแต่รูปเสียงกลิ่นรส ติดอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรส การได้ยินได้ฟังธรรมเป็นประโยชน์อย่างนี้ ได้สติเตือนใจ ได้ข้อคิดไปเป็นการบ้าน คราวที่แล้วฝากการบ้านไปทำ ก็บ่นว่ายาก คราวนี้จะให้อย่างง่ายหน่อย ให้คิดดูอยู่เรื่อยๆว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังยินดีกับอะไร กับลาภยศสรรเสริญสุข หรือกับธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้ายินดีกับลาภยศสรรเสริญสุข ก็ควรถอนตัวออกมา เพราะเป็นเหมือนกับดักสัตว์ สัตว์ฉลาดที่รู้ทันจะไม่เข้าไปใกล้ แต่สัตว์ที่ไม่ฉลาดจะเข้าไปกินอาหารในกับทันที ก็จะถูกจับไปทันที
 
ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้เป็นตัวสำคัญมาก ที่จะผูกจะจับสัตว์โลกให้เวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น คือกามสุข กามตัณหาความอยากในกาม จึงต้องเห็นว่าเป็นเหมือนอสรพิษ อย่าไปคิดว่าเป็นเพื่อนดี เวลามันมาชวนเรา อย่าไปกับมัน เพราะจะหลอกเราไปเชือดอย่างไม่รู้สึกตัว ให้ยินดีในธรรม พยายามคิดถึงธรรมะ คิดถึงการฟังเทศน์ฟังธรรม คิดถึงการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยๆ นี่เป็นการบ้านสำหรับอาทิตย์นี้ ไม่ได้ว่ากันนะ เพราะเป็นความจริงของชีวิต เป็นเหตุทำให้ได้ยกขึ้นมาเป็นเครื่องเตือนสติ เวลาบ่นว่าทำไมไม่ก้าวหน้าเลย จะได้ไม่ต้องไปโทษใคร โทษความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรส ไม่ยินดีในธรรม จึงไม่ได้ให้เวลากับธรรมเท่าที่ควร เอาเวลาไปให้กับรูปเสียงกลิ่นรสเสียหมด เวลาของพวกเรามีจำกัด วันหนึ่งมีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง จะแบ่งไปทางไหนดี ถ้าไปทางนั้นก็จะไม่ได้มาทางนี้ ถ้ามาทางนี้ก็จะไม่ไปทางนั้น จึงควรลดเวลาที่ให้กับรูปเสียงกลิ่นรสลง เอาเวลามาเพิ่มกับความยินดีในธรรมะ เวลาจะดูโทรทัศน์ดูหนังก็เปิดเทปธรรมะฟังแทน หรือเปิดซีดีธรรมะดูก็ได้ ดูสารคดีทางธรรมะก็ได้ ดูอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับธรรมะ เพื่อจะได้มีธรรมะไว้เหนี่ยวรั้งจิตใจ พอดูบ่อยๆก็จะเห็นคุณค่าของธรรมะ จะทำให้เกิดมีความยินดีมากขึ้น ตอนต้นก็ยินดีกับการดูการฟัง พอได้ดูได้ฟังแล้วก็จะยินดีกับการปฏิบัติ เพราะรู้แล้วว่าดีอย่างนี้ดีอย่างนั้น แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เหมือนยังไม่ได้รับประทานอาหาร ดูสาธิตการทำอาหาร ดูการรับประทานอาหาร ดูการโฆษณาคุณค่าและรสชาติของอาหาร ว่าดีอย่างไร ดูแล้วก็น้ำลายไหล แสดงว่าเกิดความยินดีที่จะรับประทานแล้ว ก็ต้องไปหาอาหารมารับประทาน
 
การฟังธรรมต้องเป็นอย่างนี้ ฟังเพื่อให้เกิดฉันทะวิริยะที่จะปฏิบัติ เมื่อมีฉันทะวิริยะแล้วเวลาปฏิบัติไม่ต้องนั่งอยู่ใกล้ท่านแล้ว ต้องไปปลีกวิเวก ไปหาที่สงบสงัด พอธรรมะจะจางหายไปจากใจ ก็กลับมาหาท่านใหม่กลับมาฟังเทศน์ฟังธรรมต่อ แล้วก็กลับไปปฏิบัติใหม่ ครูบาอาจารย์ถึงต้องคอยอบรมพระเณรที่อยู่กับท่านอย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีภารกิจทางอื่นบางที ๓ ถึง ๔ วันก็จะเรียกประชุมอบรม ถ้ามีภารกิจมากก็ต้องห่างออกไป สมัยแรกๆไปอยู่กับท่านทุก ๔ ถึง ๕ วัน ก็จะอบรมครั้งหนึ่ง ต่อมาก็ ๗ วันบ้าง ต่อมาก็ห่างมากขึ้น เพราะมีภารกิจมากขึ้น มีปัญหาทางด้านสุขภาพบ้าง จนบางครั้งก็ห่างเป็นเดือนเลยก็มี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นว่า ได้มีการบันทึกเสียงธรรมะของท่านไว้เป็นจำนวนมากแล้ว พระทุกองค์สามารถหาฟังได้ จึงไม่ค่อยวิตกกังวลกับการอบรมสั่งสอน เทคโนโลยีหรือเครื่องใช้ไม้สอยสมัยใหม่นี้ เอามาใช้ประโยชน์ในทางธรรมะได้ เอามาเปิดฟังธรรมได้ เวลาที่อยากจะฟังก็เอามาเปิดฟังได้ ไม่ต้องไปพบท่านเสมอไป เพราะธรรมะที่ฟังแต่ละครั้งนี้ จะได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ท่านพูด ๑๐๐ คำอาจจะได้เพียง ๑๐ คำเท่านั้นเอง หรือเข้าใจเพียง ๑๐ คำ เพราะจิตของเราวันนั้นอยู่ในระดับนั้น รับได้เพียงส่วนนั้น แต่ส่วนที่เหนือความสามารถของเราที่จะเข้าใจได้ ก็จะไม่เข้าใจ พอได้ปฏิบัติธรรมได้ขยับขึ้นไปอีกหน่อย พอกลับมาฟังกัณฑ์เดิม ก็เหมือนได้ฟังกัณฑ์ใหม่ เหมือนไม่เคยได้ฟังมาก่อน คราวที่แล้วก็ฟังมาแล้วแต่ทำไมไม่เหมือนกับคราวนี้ ได้อะไรใหม่ที่ไม่ได้ในคราวที่แล้ว
 
จึงอย่าไปคิดว่าธรรมะที่ได้ฟังแล้วนี้ จะซ้ำซากจำเจหรือไม่มีอะไรใหม่ มันมีแต่เราไม่รู้ ควรฟังธรรมสลับกับการปฏิบัติ ให้ยึดเป็นแนวทางของการดำเนิน เวลาเข้าหาครูบาอาจารย์ไม่ได้เข้าเพื่อเห็นหน้าเห็นตาท่าน ไปเพื่อฟังธรรม ฟังแล้วจะได้ประเด็นไปปฏิบัติต่อ มีการบ้านไปทำ ธรรมที่ท่านแสดงที่เรายังทำไม่ได้ เป็นการบ้านของเรา ถ้าทำได้แล้วก็หมดปัญหาไป การเข้าหาครูบาอาจารย์ต้องเข้าอย่างนี้ เวลาไปวัดถ้าไม่ได้นั่งข้างหน้า ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ถ้ามีระบบเสียงที่เราสามารถได้ยินได้ฟัง เหมือนกับนั่งใกล้ชิดกับท่านก็ใช้ได้ ไปเพื่อธรรมะ เพราะท่านมีธรรมะ ไม่ต้องการอย่างอื่นจากท่าน ไม่ต้องการขนม ไม่ต้องการให้ท่านยิ้มหรือทักทายเรา ส่วนนั้นถือเป็นของแถมก็แล้วกัน เหมือนกับไปเติมน้ำมัน ถ้าแจกอะไรก็รับไว้ แจกผ้าขนหนูแจกปากกาแจกดินสอแจกสมุดก็รับไว้ แต่เราไม่ได้ไปปั๊มเพื่อสิ่งเหล่านี้ เราไปเติมน้ำมันเพื่อจะได้ขับรถไปสู่จุดหมายปลายทาง ไปหาครูบาอาจารย์ก็ไปหาธรรมะ ซึ่งเป็นเหมือนน้ำมัน ที่จะขับจิตใจของเราให้ไปสู่มรรคผลนิพพาน
 
มันเป็นไปได้ แต่เราไม่ทำกันเท่านั้นเอง จึงต้องเข้าห้องปฏิบัติกัน ต้องทำการบ้านกัน ไปทดสอบดูว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ของผู้สอนก็บอกทางแล้ว ถ้าไม่ชัดเจนก็ถามได้ ข้องใจตรงไหนติดตรงไหนก็ถามได้ ไม่เคยห้าม ถ้าทุ่มเทเวลาให้อย่างเต็มที่ ลาออกจากงานสักปีหนึ่งถ้าลาได้ ออกปฏิบัติจริงๆสักปีหนึ่ง ต้องได้อะไรสักอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน เราก็ทดลองอยู่ปีหนึ่ง ก็รู้ว่าบวชได้ ตอนต้นก็ไม่แน่ใจว่าจะบวชได้หรือไม่ ตอนนั้นยังรักความสุขทางโลกอยู่ ยังเสียดายอยู่ ต้องลองอยู่อย่างพระสัก ๑ ปี ตัดความสุขทางโลกไปหมด ถือศีล ๘ แต่ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาว ไม่มีใครรู้ว่าเราถือศีล ๘ แต่เรารู้ รู้ว่าศีล ๘ เป็นอย่างไร เราศึกษาอยู่ รู้วิธีการปฏิบัติจิตตภาวนา ใช้สติปัฏฐาน ๔ เป็นคัมภีร์หลักของการปฏิบัติ ทั้งสมถะและวิปัสสนา อยู่ตรงนี้ อยู่ที่สติปัฏฐาน ๔ อานาปานสติก็อยู่ในนี้ เป็นบทแรกเลยของพระสูตร ให้ไปหาที่สงบ นั่งอยู่โคนไม้หรืออยู่ในเรือนร้าง หาสถานที่สงบสงัดวิเวก ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสมารบกวนใจ ตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจ ตั้งตัวให้ตรง นั่งขัดสมาธิ ไม่ต้องเกร็ง ตั้งตัวให้ตรง แต่ไม่ต้องเกร็ง พอภาวนาแล้วก็ไม่ต้องไปสนใจกับอิริยาบถของร่างกาย จะรู้สึกว่าเอนไปทางซ้ายขวา ไปทางหน้าหลัง ก็อย่าไปสนใจ หลังไม่ตรงก็ไม่เป็นไร ขอให้คิดว่าได้ตั้งไว้ตรงแล้ว เพราะถ้ามัวพะวักพะวนกับอิริยาบถของร่างกาย ก็จะไม่ได้ภาวนา
 
พอเริ่มภาวนาแล้ว ถ้าใช้อานาปานสติก็ให้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว หายใจเข้าก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่ากำลังหายใจออก หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น ลมหยาบก็รู้ว่าลมหยาบ ลมละเอียดก็รู้ว่าลมละเอียด ลมหายไปก็รู้ว่าลมหายไป ให้รู้ความจริงของลม ไม่ต้องไปจัดการกับลม ปล่อยให้ลมเป็นไปตามเรื่องของเขา ถ้าลมหายไปก็อย่าตกใจ อย่าไปคิดว่าลมหายไปแล้วจะตาย เพราะไม่มีลมหายใจ ความจริงขณะนั้นลมละเอียดมากจนไม่สามารถจับมันได้ ตราบใดยังมีตัวรู้อยู่ ไม่ตายแน่นอน ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ให้อยู่กับตัวรู้นี้ ถ้าไม่มีลมก็ให้อยู่กับตัวรู้นี้ แล้วมันจะรวมลงเข้าสู่ความสงบเอง ตอนนั้นร่างกายก็จะหายไป ลมก็จะหายไป เหลือแต่สักแต่ว่ารู้อยู่ตามลำพัง ขณะที่มันสงบก็อย่าไปยุ่งกับมัน ปล่อยให้สงบให้นิ่งไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะความสงบของจิตนี้จะเป็นฐานของวิปัสสนาของปัญญาต่อไป เป็นอาหาร เวลาจิตมีความสงบนี้จะมีความอิ่ม กิเลสจะไม่มีกำลังมาฉุดลากให้อยากได้สิ่งนั้นอยากทำสิ่งนี้ เวลาออกจากสมาธิแล้ว จะไม่ค่อยอยากเหมือนกับตอนที่ไม่มีความสงบ แต่ยังไม่หมดไป เพราะกิเลสความอยากไม่ได้ถูกทำลายด้วยอำนาจของสมาธิ เพียงแต่ถูกฉีดยาสลบ ทำให้มันอ่อนกำลังลงไป
 
พอออกจากสมาธิแล้วก็ยังมีความอยากอยู่ แต่ไม่รุนแรงเหมือนตอนที่ไม่มีความสงบ ตอนนั้นเราก็จะสามารถเอาจิตนี้มาทำงานทางด้านวิปัสสนาได้ มาคิดทางธรรมะได้ ถ้าจิตมีกิเลสมีความหิว มันจะไม่ยอมให้เราคิดทางธรรมเลย มันจะให้เราคิดทางลาภยศสรรเสริญ ทางรูปเสียงกลิ่นรส จะคิดถึงโทรทัศน์วิทยุ คิดถึงเครื่องบันเทิงต่างๆ นี่แหละคือกิเลส คือความอยากทางกาม มันจะให้เราคิดแต่เรื่องเหล่านี้ แต่ถ้าได้สมาธิแล้วพอถอนออกมา ความอยากเหล่านี้เหมือนจะหายไป แต่พอไปเห็นหรือสัมผัสอะไรเข้า ก็จะกระตุ้นให้กิเลสตัณหาเกิดขึ้นมา เช่นเห็นคนนั้นคนนี้ ก็จะไปกระตุ้นกิเลสที่ยังมีอยู่ให้ออกมา ถ้าอยู่ในป่าในเขาในที่สงบสงัดที่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะไม่มีอะไรมากระตุ้นให้เกิดกิเลสตัณหา เราก็สามารถเดินจงกรมพิจารณาธรรมไปได้อย่างเพลิดเพลิน จนกว่ากำลังของสมาธิจะหมด แล้วกิเลสเริ่มออกมารบกวน ตอนนั้นก็ต้องกลับเข้าไปพักในสมาธิใหม่ ฉีดยาสลบให้กิเลสใหม่ ทำจิตให้สงบ ถ้าเคยใช้อานาปานสติก็กลับไปทำอานาปานสติต่อ ดูลมไปจนจิตรวมลงสงบนิ่ง พักอยู่ในความสงบ พักให้พอ พอแล้วก็ถอนออกมา ก็ออกมาพิจารณาธรรมต่อ ธรรมนี้ต้องเป็นไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ในรูปก็ได้ ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณก็ได้ เพราะใจยังหลงยึดติดอยู่ ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ยังเห็นว่ารูปนี้เที่ยง ยังเห็นว่ารูปนี้ให้ความสุข ยังเห็นว่ารูปนี้เป็นตัวเราของเรา ก็ต้องพิจารณาแยกแยะว่าเป็นเพียงสภาวธรรม เหมือนกับลมที่พัดมาแล้วก็พัดไป ไม่มีตัวตน ไม่อยู่นิ่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ พิจารณาไปจนรู้ทันความหลง ก็จะไม่คิดอยากให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด ถ้ายังคิดอยากจะให้เป็นอย่างนี้ไปตลอดอยู่ ก็จะคิดไม่อยากให้ร่างกายแก่ ถ้าเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ไม่อยากจะให้แก่ ถ้ามีสุขภาพดีก็จะไม่อยากให้เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามีชีวิตอยู่ก็จะไม่อยากให้ตาย นี่คือความคิดของกิเลส จะคิดไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย
 
ถ้าพิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาความจริงของร่างกายนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะรู้ว่าต้องแก่ไปเรื่อยๆ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บบ้างหายบ้าง แล้วในที่สุดก็จะต้องตายไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะจะกลายเป็นดินน้ำลมไฟไป เอาไปเผาก็จะเหลือแต่ขี้เถ้ากับเศษกระดูกไม่กี่ชิ้น กระดูกก็เป็นวัตถุ ทิ้งไว้หรือเอาไปบดก็จะกลายเป็นดินไป ต้องพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เวทนาก็เช่นเดียวกัน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สุขไปตลอด ไม่ทุกข์ไปตลอด แต่จะสลับกันไป เวลาเวทนาเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ยอมรับความจริงของมัน สุขก็อย่าไปอยากให้สุขไปตลอด ทุกข์ก็อย่าไปอยากให้หายไปเร็วๆ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน วิธีปล่อยวางเวทนาก็คือนั่งให้มันเจ็บ แล้วก็ปล่อยให้มันเจ็บไป อย่าไปอยากให้มันหาย อย่าไปอยากหนีจากมันไป อยู่กับมันไป มันเป็นเหมือนเงาตามตัวเรา มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป มันจะเปลี่ยนเป็นสุขก็ให้มันเปลี่ยนไป มันจะเปลี่ยนเป็นทุกข์ก็ให้มันเปลี่ยนไป เราไปห้ามมันไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นอย่างนั้น นี่คือการพิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ พิจารณาไปเรื่อยๆ ต่อไปจะปล่อยวางขันธ์ ๕ ได้ ปล่อยเขาไปตามธรรมชาติของเขา ร่างกายจะเป็นอะไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป ถ้าไม่สามารถดูแลรักษาได้ก็ต้องปล่อยไป ถ้ายังดูแลรักษาได้ก็รักษาไป เวทนาก็เหมือนกันถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริงของเขา ถ้าไม่ไปหลงไปอยากกับเขาแล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไร สังขารความคิดปรุงแต่งก็เหมือนกัน คิดแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ทำตามความคิดก็ไม่เป็นปัญหา คิดโกรธเกลียดแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ไปโกรธเกลียดตามก็ไม่เป็นปัญหาอะไร จะโกรธใครก็รู้ว่าโกรธ รู้ว่าเป็นเพียงความคิด เราอย่าไปโกรธตามมันก็แล้วกัน มันคิดอยากได้โน่นได้นี่ เราอย่าไปอยากตาม ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร รู้ว่าเป็นเพียงความคิด เหมือนคนมากระซิบว่าทำอย่างนั้นสิทำอย่างนี้สิ ถ้าเราไม่ทำตามก็ไม่เป็นปัญหาอะไร นี่คือการเจริญวิปัสสนา
 
ต้องใช้ไตรลักษณ์ตลอดเวลาถึงจะเป็นปัญญา ถึงจะดับความหลงได้ ถึงจะดับอวิชชาได้ เพราะความหลงจะเห็นสวนทางกับความจริง ความจริงก็คือไตรลักษณ์ เป็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ ๕ ก็ดี รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ดี ตาหูจมูกลิ้นกายก็ดี ลาภยศสรรเสริญสุขก็ดี เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้ว ก็จะไม่หลงยึดติด ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะใจไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยสิ่งเหล่านี้ เวลาปล่อยวางได้แล้ว จะได้สิ่งที่ดีกว่าที่มีอยู่ในใจ ที่ถูกสิ่งเหล่านี้บดบังไว้ คือความสงบนี่เอง พอปล่อยวางได้แล้วใจจะสงบ จะโล่ง จะเบา จะเย็น จะอิ่ม ไม่หิวไม่อยากกับอะไร พอมีความหลงปั๊บ ก็จะหิวขึ้นมาทันที อยากขึ้นมาทันที พอมีปัญญาก็จะดับความหลงได้ ความอิ่มก็เกิดขึ้นมาทันที ต้องใช้ปัญญาถึงจะดับทุกข์ได้อย่างถาวร ดับกิเลสได้อย่างถาวร ต้องใช้ปัญญา ใช้วิปัสสนา ใช้ไตรลักษณ์ตลอดเวลา ในขณะที่ใจไปเกี่ยวข้องกับอะไร ใช้ไตรลักษณ์คอยคุมตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่ไปคิดในทางตรงกันข้ามกับไตรลักษณ์ ไม่คิดให้เป็นนิจจังเป็นสุขังเป็นอัตตา ต้องคิดว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะหลุดได้ ถ้ามีสติตามรู้อย่างเดียว หรือมีสมาธิอย่างเดียว จะไม่พอ ดับได้ชั่วคราว ถ้ามีสติเวลากิเลสเกิดขึ้นมาก็รู้ทันมัน มันก็หายไป พอเผลอก็กลับมาใหม่ เหมือนลิงหลอกเจ้า ถ้ามีสมาธิก็เหมือนถูกฉีดยาสลบ พอออกจากสมาธิเดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมาใหม่ ไม่ตายอย่างถาวร แต่ถ้ามีปัญญาจะไม่กลับมาอีก ทุกครั้งที่มันจะกลับมาไตรลักษณ์ก็จะตัดทันที 
 

 
......................................................



ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา
 
ภาพประกอบจาก : วัดดวงดี จ.เชียงใหม่



Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2567 10:13:53 น. 13 comments
Counter : 489 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณThe Kop Civil, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณSleepless Sea, คุณปรศุราม, คุณทนายอ้วน, คุณปัญญา Dh, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณmultiple, คุณtoor36, คุณhaiku, คุณสองแผ่นดิน, คุณRain_sk, คุณหอมกร, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณชีริว, คุณtanjira, คุณโฮมสเตย์ริมน้ำ, คุณSweet_pills, คุณกะว่าก๋า, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณEmmy Journey พากิน พาเที่ยว, คุณร่มไม้เย็น, คุณnewyorknurse


 


โดย: The Kop Civil วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:10:17:30 น.  

 
สวัสดีคราบ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:15:11:57 น.  

 
สวัสดีครับ


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:15:13:15 น.  

 
ทุกวันนี้เรามัวแต่เรียนทางโลกกัน มากเกินไปนะครับ ทางโลกก็มีแต่จะเพิ่มพูน กิเลสตัญหา ให้มากยิ่งๆขึ้นไป
แต่ทางธรรมนี้ เราจะมาสนใจจริงๆ ก็ยามมีทุกข์เท่านั้นนะครับคุณพี่ ซึ่งกว่าเราจะมาสนใจ ร่างกายจิตใจ ก้ทรุดโทรมแก่ชราไปมากแล้ว โดยมากคนเราก็จะเป็นเช่นนี้แหละนะครับ



โดย: multiple วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:19:25:09 น.  

 
ส่วนมากคนเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ค่อยได้ ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถณาให้มันเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดขึ้นก็นำมาซึ่งความรู้สึกไม่ดีในใจ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเรายอมรับมันได้ ก็จะเหมือนได้ปลดปล่อยตัวเองเลย

แม้จะเรียนธรรม ศึกษาธรรมมาแต่ถึงเวลาบางครั้งก็ไม่ได้นำออกมาใช้เหมือนกันครับ


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:20:40:52 น.  

 
อนุโมทนาบุญวันพระจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:21:40:58 น.  

 
สาธุ


โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:23:13:25 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณเอ็ม

สาธุค่ะ


โดย: tanjira วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:18:31:13 น.  

 
ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ



โดย: Sleepless Sea วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:17:22:33 น.  

 


สาธุค่ะ

ขอบคุณคุณพีสำหรับกำลังใจนะคะ


โดย: Sweet_pills วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:0:30:11 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับ




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:5:28:22 น.  

 
สวัสดี จ้ะ น้องเอ็ม
"มีใจใฝ่ธรรม" หัวข้อนี้ เตือนสติเราได้ดีเสมอ
จ้ะ เราต้องพยายามมีใจใฝ่ธรรม หรือ ยินดีใน
ธรรม เหมือนมีธรรมะในใจ เราก็จะไม่เดินทาง
ไปสู่อบายมุขทั้งปวง การมีใจฝ่ายธรรม จึงเป็น
เรื่องสำคัญสำหรับคนเรา จ้ะ
โหวดหมวด ข้อคิดและธรรมะ


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:9:52:29 น.  

 
สวัสดีค่ะ ขอบคุณที่เข้าไปเยี่ยมค่ะ


โดย: Emmy Journey พากิน พาเที่ยว วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:10:37:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.