สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
นำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจําวัน ในอันที่จะยังให้เกิดประโยชน์สุข
คำสอนของสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นคำสอนที่ใช้ภาษาเรียบง่าย และงดงาม ชวนให้น้อมนำเข้ามาสู่จิตใจ 100 คำสอนที่รวบรวมมา แต่ละคำสอนเป็นข้อความสั้น ๆ ไม่เกินหนึ่งหน้า จัดแบ่งเป็น 8 หมวด ว่าด้วย ชีวิต, คน, คนดี, กรรม, ความสุข, ความดี, เมตตา และชัยชนะ
คำสอนสมเด็จพระสังฆราช ที่ 91
ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยเมตตากรุณาของผู้อื่นมาตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระมหากษัตริย์ และรัฐบาล ญาติมิตรสหายเป็นต้น ถึงไม่ถูกใครฆ่าก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้เลยเหมือนอย่าง มารดา บิดา ทิ้งทารกไว้เฉยๆ ไม่ถนอมเลี้ยงดู ไม่ต้องทำอะไรทารกจะสิ้น ชีวิตไปเอง ฉะนั้น เมื่อทุกๆ คนมีชีวิตเจริญมาได้ด้วยความเมตตากรุณาของท่าน ก็ควรปลูกเมตตา กรุณาในชีวิตอื่นสืบต่อไป
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 92
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่า ทรงมีพุทธานุภาพให้ผู้นับถือไปรบใครแล้วก็ชนะ หรือว่าไปแข่งขัน อะไรกับใครแล้วก็ชนะ มีพุทธานุภาพที่จะทำให้ไม่ต้องเจ็บไม่ต้องตาย มีพุทธานุภาพที่จะทำให้พ้นจาก ผลกรรมของตนที่พึงได้รับ ปัดเป่าให้พ้นจากผลร้ายอันจะเกิดจากผลกรรมที่ตนเองทำไว้ได้ พระพุทธเจ้า ได้ตรัสสอนไว้ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมดีจักได้ดี ทำกรรมชั่วจักได้ชั่ว เพราะฉะนั้น ถ้าพระองค์ไปทรงช่วยได้ว่าทำกรรม ชั่วแล้วไม่ต้องได้ชั่ว ธรรมที่พระองค์ทรงสอนไว้กลับกลายเป็นไม่จริง ไม่ใช่เป็นสัจธรรม ธรรมที่เป็นตัวความจริง
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 93
พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะ คือทรงชนะพระหฤทัยของพระองค์แล้ว ด้วยพระบารมีคือความดี ที่ทรงสร้างมาจนบริบูรณ์ ใครมีเรื่องจะต้องผจญใจก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพิชิตมารดังกล่าวนี้เถิด จะสามารถชนะใจตนเอง และจะเอาชนะเหตุการณ์ต่างๆ ได้ แต่ขอให้ระลึกถึงด้วยความตั้งใจจริงจนเกิด ความสงบ แล้วจักเห็นหนทางชนะขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 94
ผู้ชนะนั้นมักเข้าใจว่า ตนเองเป็นผู้ได้ แต่โดยที่แท้เป็นผู้เสีย คือเสียไมตรีจิตของอีกฝ่าย หนึ่งไปหมดสิ้นหรือจะเรียกว่าได้ก็คือได้เวร เพราะผู้แพ้ก็จะผูกใจเพื่อจะเอาชนะต่อไป จึงเป็นอันว่าไม่ได้ความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้ที่ละได้ทั้งแพ้และชนะจึงจะได้ความสงบสุขทั้งนี้ก็ด้วยการไม่ก่อเรื่องที่จะต้องเกิดมีแพ้มีชนะกันขึ้นแต่เมื่อจะต้องให้มีเรื่องให้แพ้ฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่ง ก็ควรจะต้องมีใจหนักแน่นพอที่จะเผชิญได้ทุกอย่าง
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 95
ทางที่ถูก ควรจะเอาชนะอุปสรรคในทางที่ชอบและพยายามรักษาส่งเสริมความดีของตน คิดให้เห็นว่าเราทำความดีก็เพื่อความดี มิใช่เพื่อให้ใครชม ใครจะชมหรือติ เราก็ยังไม่ควรรับหรือปฏิเสธ ควรนำมาคิดสอบสวนตัวเราเองดูเพื่อแก้ไขตัวเราเองให้ดีขึ้น แต่ไม่รับมาเป็นเครื่องหลอกตัวเองว่าวิเศษเพราะเขา ชมหรือเลวทรามเพราะเขาติ เขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เราจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่การกระทำของเราเอง
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 96
โดยมากอุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยไม่มีสาระ แต่มักจะรับเข้ายึดถือเป็นอารมณ์กวนใจให้เดือดร้อนไปเอง จนถึง ให้ทอดทิ้งความดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด แต่เป็นความเขลาของเราเอง และทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นผู้แพ้ ส่วนการชนะนั้น ก็มิได้ประสงค์ให้ชนะในทางก่อเวรแต่มุ่งให้เอาชนะตนเอง คือชนะจิตใจที่ใฝ่ชั่วของตน และเอาชนะเหตุการณ์แวดล้อมที่มาเป็นอุปสรรคแห่งความดีเพื่อที่จะรักษาและเพิ่มพูนความดีของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้น
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 97
มารแปลว่า ผู้ฆ่า ผู้ทำลายล้าง มารข้างนอกคือผู้มุ่งทำลายล้างข้างนอก มารข้างใน คือกิเลสในใจของตนเอง เป็นต้นว่าความรัก ความชัง ความหลง ซึ่งบังใจเราไม่ให้เกิดปัญญาในเหตุผล เมื่อชนะมารในใจของตนได้แล้ว มารข้างนอกก็ทำอะไรไม่ได้
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 98
ความดีที่จะทำให้สำเร็จการชนะนั้น ก็ต้องใช้ปัญญาค้นหา คือวิธีชนะที่จะไม่ต้องเบียดเบียนใครเป็นความดีชั้นตรี ถ้าเป็นการชนะ ชนิดที่เกื้อกูลเขาอีกด้วยโดยเฉพาะทำให้เขาซึ่งเป็นคนไม่ดี เลิกละความไม่ดีของเขา หรือกลับเป็นคนดีก็นับว่าเป็นความดีชั้นโท ส่วน ความดีชั้นเอก ก็คือความดีที่ชนะความชั่วของตนเอง
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 99
สมัยนี้มีผู้ชอบกล่าวว่า เงินไม่มี เกียรติไม่มีนั่นไม่ใช่ความถูกต้อง เป็นความรู้สึกของคนบางคนเท่านั้น เงินกับเกียรติมิใช่เป็นอัน หนึ่งอันเดียวกัน มิใช่เป็นสิ่งที่แยกจากกันมิได้ คนไม่มีเงิน แต่มีเกียรติก็มีอยู่ความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินที่มีหรือที่ได้มานั้น เป็นเงินที่จะทำให้เกียรติยศชื่อเสียงสิ้นไปหมดไปหรือไม่ ควรจะพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ยังคำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศของตนและของวงศ์ตระกูล
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 100
การรักษาเกียรติเป็นการรักษาธรรมอย่างหนึ่งจะก้าวหน้าหรือถอยหล้งด้วยเกียรติหรือเพื่อเกียรติก็เป็นสิ่งที่พึงสรรเสริญเท่ากัน ดังเรื่องราชสีห์ถอยหลังให้แก่สุกรตัวเปื้อนคูถ (อุจจาระ) ไม่ยอมต่อสู้ด้วยในนิทานสุภาษิต