Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
9 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 

บินข้ามทวีปอย่างไรไม่ให้ป่วย



ไปเที่ยวต่างประเทศสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ ทำอย่างไรให้สุขภาพดีตลอดการเดินทาง
เพราะถ้าไปป่วยระหว่างท่องเที่ยว
คงไม่สนุก การเที่ยวต่างประเทศพึงใส่ใจใน 3 สิ่ง หนึ่งคือ
โรคภัยไข้เจ็บท้องถิ่น สองคือ อาการไอพ่นหน่วงเวลา (เจ็ตแล็ก jet lag)
สามคือ การเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ


เรื่องโรคประจำถิ่น อย่าได้ประมาทเป็นอันขาด นอกจากเรื่องท้องร่วงท้องเสียธรรมดาแล้ว ที่ต้องระวังก็คือ อหิวาต์และ
ไทฟอยด์ จะเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า หมอลลิตากับผมเคยไปเที่ยวชวาบาลีกลับมาสักอาทิตย์หมอลลิตาก็มีอันจับไข้
เป็นอยู่ตั้งสัปดาห์ก็ไม่หาย แถมมีผื่นขึ้น พอเอะใจพาไปพบอาจารย์ของเรา
ท่านเห็นรอยผื่นและรู้ว่าไปเที่ยวชวามาท่านก็วินิจฉัยเปรี้ยงลงเลยว่า "เป็นไทฟอยด์แน่นอน"
ผลเลือดก็ยืนยันอย่างนั้น แถมเป็นไทฟอยด์เข้าตับ เอนไซม์ตับขึ้นสูงถึงเลขพัน ถึงกับต้องหยอดคลอแรมฯเข้าเส้น
จึงเอาลงได้ จากนั้นเป็นประสบการณ์ของเราเลยว่า ถ้าไปเมืองนอก เห็นอาหารพื้นถิ่นตามถนนรนแคม
อย่าเสี่ยงที่จะซื้อกิน ถ้าจะกินได้ก็ต้องเป็นของสุกร้อนๆ น้ำแข็งก็เป็นตัวร้ายอีกตัวที่อาจพาโรคเข้ามาให้เราได้

สำหรับเปรูและประเทศกลุ่มอเมริกาใต้ แอฟริกา ต้องระวังไข้เหลือง
ปัจจุบันมีข้อบังคับว่าใครจะไปประเทศเหล่านี้ต้องฉีดวัคซีนไปก่อนถ้าไม่ฉีดไปจะได้ไหม?

คุณ หมอวินัยเพื่อนผมที่กองควบคุมโรคติดต่อบอกว่า "ไม่ฉีดก็ได้เหมือนกัน แต่อย่าให้จับได้
เพราะพอผ่านด่านเข้าเมืองมา เขาจะดูใบวัคซีน ถ้าไม่มีก็ถูกกักตัวไว้ 15 วัน
ถึงตอนนั้นเพื่อนกันก็ช่วยได้อย่างเดียวคือไปส่งข้าวส่งน้ำเท่านั้นเอง…แต่ เออ!
นายเปลี่ยนเที่ยวบินที่อัมสเตอร์ดัม เพราะฉะนั้นด่านตรวจอาจไม่ทันเพ่งเล็งว่านายมาจากเปรูก็ได้ เลือกเสี่ยงเอาเองละกัน"

เป็นอันว่าเราตัดสินใจฉีดวัคซีน แต่มันมีผลทำให้ผมตัวร้อนๆเมื่อยตัวในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งใกล้วันเดินทางมาก
จึงไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่เรื่องไอพ่นหน่วงเวลา การไปต่างประเทศบางทีต้องเดินทางข้ามทวีป เช่น
ไปอเมริกา ยุโรป ต้องบินถึง 12-18 ชั่วโมง เมื่อเดินทางไปถึงจะเกิดสภาพ
กลับกลางคืนเป็นกลางวัน เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างทวีปที่แตกต่างกัน
ครั้นไปถึงก็มักจะเข้าโปรแกรมท่องเที่ยวทันที ร่างกายยังไม่ปรับตัวเพราะเวลาที่เมืองไทย
ยังเป็นกลางคืนอยู่ จึงมีหลายคนที่เที่ยวไปหลับไป แต่พอตกกลางคืนคนเขาเข้านอนกันหมดแล้ว
แต่พ่อคุณแม่คุณนักท่องเที่ยวจากเมืองไทยของเรา ตายังคงสว่างอยู่เลย

เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นนักธุรกิจ ไปประชุมกับคู่ค้าข้ามทวีป
ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการมีสติตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เผลอไผลอาจผิดพลาดได้
สร้างความเสียหายหลายล้าน มีเรื่องกล่าวกันว่า ตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม
ซึ่งประกอบด้วย โซเวียต รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา
มีการประชุมครั้งสำคัญเพื่อแบ่งการปกครองของประเทศเยอรมนีและกรุงเบอร์ลิน
การประชุมเปิดขึ้นในยุโรป รัสเซียได้อาศัยอาการเจ็ตแล็กของคณะประชุม
จากสหรัฐฯสร้างความได้เปรียบในการประชุม จนเกิดการแบ่งแยกเยอรมันดังที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์นานหลายทศวรรษ


สำหรับคนไทยที่คิดจะไปเที่ยวเปรู ยิ่งต้องมีความสนใจเรื่องไอพ่นหน่วงเวลา
เพราะใช้เวลาเดินทางตั้ง 30 ชั่วโมง ตรงนี้ต้องมีวิธีการเตรียมตัวครับ
ต้องรู้ว่าคนเรามีต่อมไพเนียลซึ่งสร้างเซโรโตนินในตอนกลางวันให้เราแจ่มใส
สร้างเมลาโตนินตอนกลางคืนให้เราหลับสบาย ครั้นเมื่อบินข้ามทวีปต่อมนี้
ปรับตัวไม่ทันจึงเกิดปัญหา ดังนั้นทางแก้ก็คือ ให้กินเมลาโตนินก่อนนอนเป็นเวลาติดกัน 3 วัน
รวมทั้งคืนที่จะเดินทาง ครั้นถึงที่หมายก็กินเมลาโตนินอีก 2-3 วัน ผลก็คือจะช่วยให้ร่างกายปรับสภาพได้อย่างวิเศษ

สารตัวนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่ยานอนหลับ แต่เป็นสารธรรมชาติที่ทำให้ต่อมใต้สมองและต่อมฮอร์โมนอื่นๆทั่วร่างกาย
ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น ที่น่าสังเกตก็คือ มันทำให้ดวงตาของเราเมื่อรับแสงสว่างก็รู้ว่าเป็นกลางวัน
และสรีระของเราก็ทำงานแบบตอนกลางวัน พอสายตาเจอความมืดมันก็รู้ว่าเป็นกลางคืน
สรีระของเราก็ทำงานแบบกลางคืนได้อย่างเป็นธรรมชาติ และที่สำคัญ ต้องหลับบนเครื่องบินให้มากที่สุด
อย่าหลงเพลินกับอาหารที่เสิร์ฟ เพราะคิดดูซิว่ากว่าจะออกเดินทางเกือบเที่ยงคืน กว่าจะบินขึ้น
กว่าจะเสิร์ฟเวลาก็นับว่าเข้าตี 2 ตี 3 แล้ว จึงไม่ควรเสียดายกับอาหารมื้อนั้น
อาจเพียงขอแอปเปิลสักผลหรือน้ำมะเขือเทศสักแก้วรองท้องแล้วนอนให้หลับซะ

ผมมักแนะนำให้ใช้สูตร อัด-อด-อัด หมายความว่ามื้อเย็นก่อนบินให้กินอาหารซะให้อิ่ม
พอขึ้นเครื่องก็ใช้การอด กินอาหารให้เบาที่สุด และเมื่อถึงที่หมายค่อยกินอาหารให้อิ่มอีกทีหนึ่ง

ทีนี้เรื่องของความกดดันอากาศ
บ่อยครั้งที่การท่องเที่ยวของคุณจะต้องไปเที่ยวในดินแดนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลเยอะๆ อย่างทิเบตดินแดนหลังคาโลก
เนปาล ภูฐาน และแม้แต่เปรู อาจเรียกได้ว่าเทือกเขาแอนดิสเป็นดินแดนหลังคาโลกที่สำคัญเทือกหนึ่ง
ทิเบตซึ่งว่าสูงนั้นคือ 3,600 ม. แต่ที่เปรูเส้นทางภูเขาไฟที่เราเดินทางจาก
อะเรปีก้าไปโกลคาแคนยอนนั้น สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 4,400 ม. ทะเลสาบติติคาคาสูง 3,900 ม.
เหนือน้ำทะเล มาชู ปิกชูสูง 2,400 ม. แต่เมืองคุสโกสูงถึง 3,400 ม.
เรื่องการเตรียมสุขภาพเพื่อรับกับความกดอากาศที่แปรเปลี่ยนไปจึงนับว่าสำคัญ

ในที่สูงอากาศเบาบาง คนซึ่งอยู่ที่ราบจะไม่เคยชิน ถ้าเดินด้วยอิริยาบถปกติ
ปริมาณออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้หายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว อาจถึงกับหน้ามืดเป็นลมได้
ดังนั้นเวลาไปท่องเที่ยวในพื้นที่แบบนี้ ต้องเดินช้าๆ ทำตัวเหมือนนักบินอวกาศเดินอยู่บนผิวดวงจันทร์

ไม่แต่เพียงเท่านั้น เลือดที่มีออกซิเจนน้อยทำให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
จะเกิดปฏิกิริยาอัตโนมัติโดยเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงศีรษะจะขยายตัว โดยหวังว่าจะ
ส่งเลือดไปให้ได้มากขึ้น ผลก็คือ เกิดอาการมึนหัว ปวดศีรษะ
บางคนร่วมกับอาการคลื่นไส้ พลอยทำให้นอนไม่หลับอีกด้วย

อาการต่อมาของภาวะที่สูงก็คือ
ตำแหน่งไฮโปทาลามัสซึ่งเป็นตำแหน่งของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
เกิดภาวะที่ทำงานเรรวน ผลก็คือ ร่างกายไม่อาจปรับอุณหภูมิร่างกายได้
ก็อาจเกิดอาการไข้ได้โดยไม่มีสาเหตุอะไรอื่น

อีกปัจจัยหนึ่งของการปรับเปลี่ยนความสูงก็คือ ระบบภูมิต้านทาน
เราต้องรู้ว่าร่างกายของเราเชื่อมต่อกันตั้งแต่จิตสู่ระบบประสาท สู่ระบบฮอร์โมนและสู่ระบบภูมิต้านทาน
เรียกภาษาวิชาการว่า psycho-neuro-endoclino-immunology
ดังนั้นการเปลี่ยนที่สูงอาจมีผลกระทบต่อภูมิต้านทานให้ลดต่ำได้จึงมีผลให้ ป่วยง่าย

วิธีตระเตรียมตัวเองสำหรับการท่องเที่ยวแบบนี้มี 2 วิธีหลักๆ หนึ่งคือ
ฝึกลมปราณเอาไว้สม่ำเสมอ ถ้าใครจะฝึกโยคะ หรือฝึกชี่กงไว้ประจำ
ลมหายใจที่ยาวๆช่วยขยายปอด ทำให้รับความจุของอากาศได้มากขึ้น
อีกวิธีหนึ่งคือ การอบซาวน่า ร้อนสลับเย็น


การอบซาวน่า

เมื่ออบร้อนจะปรับสมองตรงตำแหน่งไฮโปทาลามัสให้ออกคำสั่งกับการควบคุมอุณหภูมิ
ของร่างกายรับกับความร้อนที่อบ พอลงบ่อน้ำเย็นไฮโปทาลามัสจะปรับร่างกายให้รับกับอุณหภูมิที่เย็น
ผลก็คือ การหมั่นอบซาวน่าร้อนสลับเย็นสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก่อนหน้าเดิน
จะช่วยสมองตั้งแต่ไฮโปทาลามัส กับระบบประสาทอัตโนมัติให้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้
อย่างคล่องแคล่วว่องไว ทั้งสองประการนี้ควรปฏิบัติก่อนเดินทางสัก 2 สัปดาห์


ผลก็คือเมื่อไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบฮอร์โมน และระบบภูมิต้านทาน
จะรับสภาพได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้เตรียมตัวอีกมาก
คณะของเราเมื่อเที่ยวเปรูได้สัก 3 วันก็มีทั้งคนที่ปวดหัว นอนไม่หลับ และเป็นหวัดกัน 3-4 คน
เรานึกว่าท่าจะเสียชื่อซะแล้ว แต่คุณนลินสมาชิกทัวร์ของเรา
ท่านหนึ่งบอกกับผมว่า "พนักงานโรงแรมที่เราพักบอกว่า พวกคุณยังดีนะ
คณะชาวญี่ปุ่นมากันเกือบ 30 คน ป่วยกันหมดทุกคนเลย"

เป็นอันว่าคนไทยมีเลือดทรหดกว่ากันเยอะ และทัวร์เที่ยวนี้ผมซึ่งติดกระเป๋าเวชกรรม
ความคล้ายละม้ายวิทยา(โฮมีโอพาธี) ไปด้วยพบว่าได้ใช้ประโยชน์กันเหลือเฟือ

บทความจากมติชน
ฉบับที่ 1441 วันที่ 28 มี.ค.51
โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2551
3 comments
Last Update : 31 ธันวาคม 2551 14:40:44 น.
Counter : 909 Pageviews.

 

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านบทความดีๆครับ
แต่ไม่รุ้ว่าจะได้บินข้าทวีปเมื่อไหร่

ด้วยมิตรภาพ

 

โดย: ดอกเสี้ยวขาว 9 พฤศจิกายน 2551 18:52:04 น.  

 

ไม่ค่อยเดินทางไกล แต่ชอบอบเซาว์น่า

 

โดย: หมูตัวน้อย (mr.pure.fon ) 10 พฤศจิกายน 2551 0:11:26 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ

 

โดย: June4 10 พฤศจิกายน 2551 0:28:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.