นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย กรณีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 กรมศุลกากรจับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากชายแดนที่ผ่านมาว่า ทันทีที่ได้รับรายงานได้สั่งการผู้ที่เกี่ยวข้องติดตามข่าวการจับกุมทุเรียน และให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในจังหวัดศรีสะเกษ สืบหาข้อเท็จจริง และวันที่ 27 มิถุนายน 2566
พร้อมกันนี้ได้ประชุมด่วนร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ พาณิชย์จังหวัด และผู้ประกอบการในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหัวหน้าด่านตรวจพืชทั่วประเทศ เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน และกำชับมาตรการเข้มป้องกันการสวมสิทธิ์โดยเด็ดขาด
วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ได้สั่งการให้ ผอ. กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และ ผอ.สำนักนิติการ หาข้อสรุป เพื่อเตรียมดำเนินการกับผู้กระทำความผิด และได้มอบหมายให้ ผอ.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ลงพื้นที่ภาคใต้กับกรมการค้าภายใน ไปตรวจโรงคัดบรรจุ ตามมาตรฐาน มกษ. 9047 – 2560 มาตรฐานสินค้าเกษตร หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน มาตรการในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน เพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงฤดูการส่งออก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วันที่ 29 มิถุนายน 2566 มอบอำนาจให้หัวหน้าด่านตรวจพืชนครพนม ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานี ตำรวจภูธรเมือง นครพนม จ.นครพนม ให้ดำเนินคดีบริษัทผู้ส่งออก ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้รับรองสุขอนามัยพืช (ส่งออกทุเรียน) ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
พร้อมกับออกคำสั่งกรมวิชาการเกษตร “ระงับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร, ทะเบียน DU” (ระงับบริษัทผู้ส่งออกที่กระทำความผิด) ซึ่งเป็นการนำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนไปใช้หรืออ้างถึงในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศเป็นส่วนรวม หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการได้รับการจดทะเบียนนั้นๆ ปฏิบัติไม่เป็นไปตาม ข้อ 9.3 ของประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปยังนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2563
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรออกคำสั่ง “ระงับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช, ทะเบียน DOA” (ระงับล้งที่กระทำความผิด) ซึ่งเป็นการนำการขึ้นทะเบียนไปใช้หรืออ้างอิงในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการหรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการได้รับการขึ้นทะเบียนนั้นๆ ปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อ 7.3 ของประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563
พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ ผอ.สคว กำชับให้ด่านตรวจพืชทุกด่าน ที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก.7) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) ให้ถูกต้อง หากตรวจสอบพบว่าผู้ส่งออก หรือ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) มีเจตนาแจ้งหรือให้ข้อมูลกับทางราชการในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก. 7) อันเป็นเท็จ ให้ทุกด่านตรวจพืช ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำวิธีการรับรองการใช้ GAP เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ไว้แล้ว
กรมวิชาการเกษตรได้ยื่นคำขอตั้งงบประมาณโครงการพัฒนา application ตรวจสอบปริมาณผลผลิตทุเรียน ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อจัดทำการเชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูล GAP กับระบบออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto) ให้เกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลการขายผลผลิต วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว และปริมาณผลผลิตทุเรียนในฤดูกาลนั้น ทำให้สามารถตัดยอดปริมาณผลผลิตเพื่อประกอบการของใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) กับด่านตรวจพืชได้แบบ real-time
โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ยืนยันข้อมูลผ่าน application ได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง application ดังกล่าว จะเป็นการตรวจสอบย้อนกลับ ระหว่างเกษตรกร โรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการ ทำให้สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน โดยหวังว่าจะได้งบประมาณสนับสนุนให้กับโครงการดังกล่าว
“ขอย้ำให้เกษตรกรเก็บรักษาใบ GAP ไว้อย่างดี ใบรับรอง GAP ของท่านมีค่าอย่าให้ใครนำมาใช้สวมสิทธิ์ รวมถึงหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงาน (ล้ง, ใบ DOA) ของท่านไม่สามารถให้เช่าใช้แทนกันได้ โดยหากไม่ปฏิบัติตามกรมวิชาการเกษตรสามารถระงับใช้หรือเพิกถอนใบ GAP/GMP หรือหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนล้งได้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว