"กระทรวงเกษตรฯ"บวงสรวงก่อนเริ่มพระราชพิธีพืชมงคล
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์"จัดพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ องค์พระพิรุณทรงนาค และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงฯ เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนการเริ่มงานวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2565
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ประจำปีพุทธศักราช 2565 เป็นประธานในพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ เทวดา องค์พระพิรุณทรงนาค พญานาคและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ศาลพระภูมิ ศาลท้าวเวสสุวรรณ และศาลตา-ยาย ถือเป็นพิธีกรรมก่อนวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีนายสำราญ สาราบรรณ์ นายประยูร อินสกุล นายสมชวน รัตนมังคลา นายโอกาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมพิธี
พิธีบวงสรวงฯ นี้ จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ องค์พระพิรุณทรงนาค และศาลพระภูมิเจ้าที่ของพระยาแรกนาขวัญ จะเป็นพิธีกรรมก่อนการเริ่มงานวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ พร้อมคณะ เป็นผู้ดูแลการประกอบพิธีพราหมณ์ และ มเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ร่วมในพิธีด้วย ในปีพุทธศักราช 2565 ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคมพ.ศ.2565 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการ “พระราชพิธีพืชมงคล” อันเป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และถือเป็นวันเกษตรกรด้วย สำหรับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นวัน “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.19 - 08.49 น.
สำหรับปีนี้ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร
เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ ผู้อัญเชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล สำหรับพันธุ์ข้าวพระราชทานที่เตรียมไว้ในพระราชพิธีมีทั้งสิ้น 6 สายพันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,728 กิโลกรัม ได้แก่ 1) ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 245 กิโลกรัม 2) ปทุมธานี 1 จำนวน 399 กิโลกรัม 3) กข 43 จำนวน 125 กิโลกรัม 4) กข6 จำนวน 70 กิโลกรัม 5) กข 87 จำนวน 300 กิโลกรัม และ 6) กข 85 จำนวน 589 กิโลกรัม
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแจกจ่ายพันธุ์ข้าวพระราชทานให้กับเกษตรกรและประชาชน เพื่อความเป็นสิริมงคลโดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมการข้าว กองเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-561-3794 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทั้ง 29 แห่ง ศูนย์วิจัยข้าวทั้ง 27 แห่ง และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี
ผู้ที่สนใจยังสามารถรับเมล็ดพันธุ์พระราชทานผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ได้ทาง https://rice.moac.go.th ซึ่งเมื่อลงทะเบียนทางออนไลน์แล้ว สามารถเดินทางไปรับพันธุ์ข้าวพระราชทานได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านหลังจากวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป โดยจะได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานคนละ 2 ซอง