"ไทย จีน"MOUวิจัยเทคโนโลยีปลูกยาง-เพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุน
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ สถาบันวิจัยยางของสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนของจีน (CATAS) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือ แม่โขง-ล้านช้าง ด้านเทคโนโลยีการปลูกยาง เพื่อการวิจัยเทคนิคการปลูกและพัฒนายางเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ต่ออุตสาหกรรมยางธรรมชาติของทั้งสองประเทศ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน จะดำเนินการในระหว่างปี 2564 – 2565 มีวัตถุประสงค์สำหรับทำการทดลองเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติทางการเพาะปลูกยาง 6 ประการ และเทคโนโลยีในประเทศไทยที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยยาง (สวย.) ของการยางแห่งประเทศไทย และสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนของจีน (Chinese Academy of Tropical Agricultural Sciences: CATAS)
ประกอบด้วย การติดตาด้วยต้นเล็ก การกรีดที่กระตุ้นด้วยสาร Ethlin (สารกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพสูง) การควบคุมหน้ากรีดยางแห้ง (TPD) ด้วยสาร Sipikang (การรักษา TPD) การกรีดยางด้วยมีดกรีดแบบใช้มอเตอร์ และการตรวจหาปริมาณเนื้อยางแห้ง (DRC) ด้วยอุปกรณ์ทดสอบ DRC ซึ่ง กยท. ได้สนับสนุนพื้นที่ จัดหาต้นยางและแปลงสาธิตที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราและศูนย์วิจัยยางหนองคาย เป็นพื้นที่รวมประมาณ 12.5 ไร่ ส่วนCATAS จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ในแปลงสาธิต และหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติทางการเพาะปลูกและเทคโนโลยียางให้กับเจ้าหน้าที่ของ กยท. เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ ตลอดจนนักวิชาการของไทย จึงมั่นใจได้ว่าบันทึกความเข้าใจนี้ จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยียาง ถือเป็นการสนับสนุนกิจกรรมวิจัยข้ามพรมแดน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยของทั้งสองประเทศ
Prof. Huang Huasun, Director of Rubber Research Institute of Chinese Academy of Tropical Agricultural Sciences กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือ แม่โขง-ล้านช้าง ด้านเทคโนโลยีการปลูกยางร่วมกับ กยท.
ภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเกษตรจีน-ไทย ในครั้งนี้มีเรื่องเกษตรกรรมและการลดความยากจนเป็นส่วนสำคัญหลัก รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง (LMC) ประกอบด้วย ประเทศไทย กัมพูชา จีน ลาว พม่า และเวียดนาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสวนยาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสวนยางและเกษตรกรรายย่อยของทั้งสองประเทศ
โดยทั้งสององค์กรจะเสริมสร้างความร่วมมือกันนำเสนอเทคนิคใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำและต้นทุนที่สูงขึ้นของชาวสวนความร่วมมือนี้จึงเสมือนชัยชนะของทั้งสองฝ่ายในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านสวนยางพาราภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ซึ่งการเริ่มต้นที่ดีก็เหมือนเราประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว