"แปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาปราจีนฯ"ยกระดับการผลิตด้วยเกษตรสมัยใหม่


นางธีรารัตน์ สมพงษ์  รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จในการยกระดับการผลิตด้วยเกษตรสมัยใหม่ และมีจุดเด่นในด้าน Zero Waste ที่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตข้าวโพดหลังนาโดยไม่มีวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้ง


โดยการไถกลบต้นข้าวโพดหลังนาหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุปรับปรุงโครงสร้างดิน และการนำมาบดสับและหมักเป็นอาหารสำหรับสัตว์ภายในฟาร์ม ทั้งนี้ ในปี 2565 วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาตำบลวังตะเคียน ยังได้รับรางวัลชนะเลิศแปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัดปราจีนบุรี







 







 
จากการติดตามของ สศท.6 พบว่า วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาตำบลวังตะเคียน เริ่มดำเนินการ เมื่อปีงบประมาณ 2563 ในรูปแบบคณะกรรมการแปลงใหญ่ มีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 606 ไร่ (ปลูกเฉลี่ย 15.5 ไร่/ครัวเรือน) สมาชิกเกษตรกร 39 ราย มีนายประสิทธิ์ ย้อยดาเป็นประธานแปลงใหญ่ เกษตรกรมีการปลูกและดูแลรักษาข้าวโพดรุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ของปีถัดไป และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม


ทางกลุ่มแปลงใหญ่มีการบริหารจัดการแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งมั่นขยายผลยกระดับศักยภาพการผลิตการตลาดของกลุ่มจึงเสนอแผนยกระดับศักยภาพสามารถเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการภายใต้งบประมาณแผนงาน/โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ฯ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019


ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีอุปกรณ์ลดต้นทุนสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ได้แก่ รถเกี่ยวพร้อมอุปกรณ์ เทเลอร์ลากรถเกี่ยว หัวรถเกี่ยวข้าวโพด แทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ดันหน้า เครื่องหยอดข้าวโพด เครื่องพ่นยาแรงดันสูง เครื่องผสมปุ๋ย และโรงเก็บวัสดุ








 








 
สำหรับผลลัพธ์ที่สำเร็จจากการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาตามแนวทางการพัฒนา  5 ด้าน ที่สำคัญของโครงการฯ ดังนี้ ด้านการลดต้นทุนการผลิต สมาชิกกลุ่มใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้มูลสุกรมาทำปุ๋ยอินทรีย์และทำน้ำหมักชีวภาพ และการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรตลอดกระบวนการผลิตจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว


ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิต (ค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน ค่าจ้างเครื่องจักรกล) เหลือเพียง 4,550 บาท/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ที่มีต้นทุนเฉลี่ย 5,800 บาท/ไร่/ปี หรือลดลงร้อยละ 22 ด้านการเพิ่มผลผลิต สมาชิกกลุ่มเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดี เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง มีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช และใช้เครื่องหยอดแทนการใช้แรงงานคน เพื่อให้ข้าวโพดเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ไม่แย่งอาหารกัน ต้นข้าวโพดแข็งแรง


ประกอบกับการใช้มูลสุกรเพื่อปรับปรุงดินและบำรุงต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 1,800 กก./ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการฯ มีผลผลิตเฉลี่ย 1,370 กก./ไร่/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ด้านการพัฒนาคุณภาพการผลิต เน้นการพัฒนาความรู้ด้านคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อายุประมาณ 120 วัน (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) สังเกตจากลักษณะของต้นที่แห้งและเปลี่ยนเป็นสีฟางขาว เพราะเป็นช่วงที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่จัดและแห้งสนิท








 






 

ช่วงเวลาดังกล่าวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีคุณภาพดีและความชื้นต่ำ ทำให้ได้ราคาดี นอกจากนี้ยังมีการคัดแยกสิ่งปลอมปนด้วย ด้านการบริหารจัดการ ทางแปลงใหญ่มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการเครื่องจักรกล การบริหารจัดการการผลิต และการบริหารการตลาด และด้านการตลาด เป็นการดำเนินการกับคู่ค้าอย่างต่อเนื่องโดยทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา กับบริษัท รุ่งเรืองผล จำกัด จังหวัดสระแก้ว


เมื่อถึงช่วงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวคณะกรรมการกลุ่มจะแจ้งไปยังผู้รับซื้อ เพื่อยืนยันปริมาณผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวพร้อมต่อรองราคาผลผลิต โดนลานรับซื้อจะให้ราคาผลผลิตที่มาจากแปลงใหญ่สูงกว่าผลผลิตทั่วไปกิโลกรัมละ 0.20 - 0.35 บาท ขึ้นอยู่กับความชื้นของผลผลิต ทั้งนี้ จากผลสำเร็จการดำเนินการของกลุ่มแปลงใหญ่ ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 224,595 บาท/ปี/ราย จากก่อนเข้าร่วมโครงการฯ 136,541 บาท/ปี/ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 65


สำหรับแนวทางการพัฒนาและยกระดับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาตำบลวังตะเคียนในระยะต่อไปเน้นการสร้างรายได้เกิดมูลค่าเพิ่มจากเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ผลิตเป็นส่วนผสมอาหารสุกรขายให้กับสมาชิกกลุ่มที่มีการเลี้ยงสุกร ปลูกขายในรูปแบบข้าวโพดต้นอ่อนเป็นพืชอาหารโคเนื้อสร้างรายได้ในระยะสั้นอีกทางหนึ่ง


กลุ่มจะเป็นตัวแทนขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เพื่อขายให้ชุมชน หากท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิต และผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดหลังนาตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สามารถสอบถามได้ที่ นายประสิทธิ์ ย้อยดา ประธานแปลงใหญ่ เบอร์โทร 08 9093 1480





 






 



Create Date : 26 ตุลาคม 2565
Last Update : 26 ตุลาคม 2565 15:44:19 น.
Counter : 480 Pageviews.

1 comments
SMEsสร้างอาชีพ มอบรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ SMEs สร้างอาชีพ Awards ครั้งที่ 9 อุ้มสี
(30 ก.ย. 2567 14:12:44 น.)
อรุณสวัสดิ์ย่านเมืองเก่า, หาดไม้ขาว สายหมอกและก้อนเมฆ
(30 ก.ย. 2567 17:37:15 น.)
: แสงลอดเมฆ 7 : กะว่าก๋า
(18 ก.ย. 2567 04:21:34 น.)
๏ ... เมกะโปรเจค >< เจ๊ก pro กะ make ... ๏ นกโก๊ก
(7 ก.ย. 2567 21:17:34 น.)
  
สวัสดีรอบดึก แวะมาทักทาย JIMIAV JIMIAV ยินดีที่ได้รู้จักครับ
โดย: สมาชิกหมายเลข 3449339 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2565 เวลา:2:07:34 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Thailand-agriculture.BlogGang.com

BlogGang Popular Award#20



สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด