หนุนเกษตรกรปลูกพืชหลากหลายทดแทนนาปรังลดใช้น้ำ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน เป็นช่วงฤดูแล้ง ที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ มักจะมีปริมาณจำกัดเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่สนใจหันมาปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนข้าวในฤดูนาปรัง ในพื้นที่ชลประทาน
ทั้งนี้เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง พริก แตงโม ข้าวโพดหวาน เป็นต้น ซึ่งพืชเหล่านี้จะมีอายุการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 120 วัน โดยเฉลี่ยการปลูกข้าวพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้น้ำประมาณ 1,200 - 1,500 ลูกบาศก์เมตร/ฤดูกาลผลิต ในขณะที่พืชใช้น้ำน้อยจะใช้น้ำเพียงประมาณไร่ละ 300 - 800 ลูกบาศก์เมตร/ฤดูกาลผลิตเท่านั้น ทั้งนี้จากผลการเก็บข้อมูลของเกษตรกรเข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2565 มีรายได้จากการปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564 เปรียบเทียบกับรายได้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีการวางแผนการผลิตและการตลาด
พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะมีรายได้ 1,185 บาท/ไร่ (ไม่รวมค่าเช่านา) ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกแตงกวาจะมีรายได้ 24,760 บาท/ไร่, พริกซอส 37,600 บาท/ไร่, ถั่วเขียว 4,040 บาท/ไร่, ข้าวโพดหวาน 1,450บาท/ไร่, ถั่วเหลือง 1,490 บาท/ไร่, แตงโม 12,220 บาท/ไร่, มะเขือเทศ 36,800 บาท/ไร่, มันฝรั่ง 60,075 บาท/ไร่, ถั่วสิสง 5,800 บาท/ไร่, หอมแบ่ง 17,030 บาท/ไร่ และบวบ 32,900 บาท/ไร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พืชใช้น้ำน้อยสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ดีกว่าการทำนา
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกปลูกพืชแต่ละชนิด เกษตรกรควรจะมีการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดก่อนเริ่มปลูกเสมอ ตลอดจนประเมินความพร้อมของสภาพพื้นที่ และศักยภาพในการผลิตของเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณตามทีเหมาะสม และมีตลาดรับซื้อผลผลิตที่แน่นอนด้วย
สำหรับโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง เป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนข้าวในฤดูนาปรัง เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิต การจัดการคุณภาพผลผลิต และการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพการเกษตร
โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่ดีและเหมาะสม โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรังในปีถัดไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการและการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน