"มหิดล"-กยท.MOUต้นแบบคาร์บอนเครดิตสวนยางลดก๊าซเรือนกระจก
"มหาวิทยาลัยมหิดล"โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำบันทึกข้อตกลงเดินหน้าพัฒนาต้นแบบโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมในภาคการเกษตรณ ห้องประชุมนาทตัณฑวิรุฬห์ อาคารนาทตัณฑวิรุฬห์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในความร่วมมือในการขับเคลื่อน สนับสนุน ส่งเสริม และดำเนินการการพัฒนาพื้นที่ปลูกยางพาราให้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อส่งเสริมและมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573
โดยมีอ.ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิทยบริการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินงานหลักร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาข้อตกลงความร่วมมือนี้
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรในเรื่องการเพาะปลูก ผลผลิต ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งภาครัฐได้เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นที่มาให้ กยท. ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางของ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ นำองค์ความรู้ข้อมูลวิชาการ ข้อแนะนำ คำปรึกษา เพื่อนำร่องให้ภาคการเกษตร อาทิ สวนยางพาราที่อยู่ในการดูแลของ กยท. จำนวนกว่า 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ ได้เข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ในประเด็นการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูก เพื่อร่วมกันสร้างสมดุลให้กับสภาวะแวดล้อม ตลอดทั้งสร้างรายได้อีกทางให้กับเกษตรกร จากการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง
ในปี 2565-2567 กยท.จะดำเนินจัดทำสวนยางต้นแบบในโครงการฯ โดยใช้พื้นที่ใช้สวนยางของ กยท.ในการเก็บข้อมูล ติดตามผลและจัดทำรายงานประเมินผลการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก
เพื่อนำมาคำนวณค่าที่ได้ตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจก จากการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ อบก. กำหนด เพื่อผลักดันให้สวนยางพาราในประเทศไทยได้ยกระดับพัฒนาคุณภาพของสวนยางพาราให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป