เตือนภัยแปลงมะเขือเทศหนอนแมลงวันชอนใบ-โรคเหี่ยวเขียว
"กรมวิชาการเกษตร"แจ้งเตือนภัยแปลงมะเขือเทศเฝ้าระวังหนอนแมลงวันชอนใบและโรคเหี่ยวเขียว ชี้หากพบระบาดขั้นรุนแรงต้นตาย แนะเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลง หากพบการะบาดให้เผาเศษใบมะเขือเทศที่ถูกทำลายตัดวงจรแพร่ระบาด ขุดต้นที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลง พร้อมกับไม่ปลูกพืชอาศัยเชื้อสาเหตุโรคช่วยลดการแพร่ระบาดโรคเหี่ยวเขียว
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศหมั่นสำรวจสวนและเฝ้าระวังการเข้าทำลายของศัตรูพืชที่มักพบระบาดในช่วงเวลานี้คือหนอนแมลงวันชอนใบ พบการเข้าทำลายได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ โดยตัวหนอนจะชอนไชอยู่ในใบทำให้เกิดรอยเส้นสีขาวคดเคี้ยวไปมา เมื่อนำใบมะเขือเทศมาส่องดูจะพบหนอนตัวเล็กสีเหลืองอ่อนโปร่งแสง ใส อยู่ภายในเนื้อเยื่อใบ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบเสียหายร่วงหล่นซึ่งจะมีผลต่อผลผลิตหากมะเขือเทศไม่สามารถสร้างใบทดแทนได้ก็จะตายไปในที่สุด วิธีการป้องกันกำจัดหากพบการเข้าทำลายของหนอนแมลงวันชอนใบตามคำแนะนำของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช คือ เผาทำลายเศษใบมะเขือเทศที่ถูกทำลายตามพื้นดิน จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้
เนื่องจากดักแด้ที่อยู่ตามเศษใบมะเขือเทศจะถูกทำลายไปด้วย ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพตามคำแนะนำ เช่น อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลเฟนไพแรด 16% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบตา-ไซฟลูทริน 2.5% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อพบการระบาด พ่น 2 ครั้งติดต่อกัน ทุก 5 วัน
นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคเหี่ยวเขียวจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum โดยอาการเริ่มแรกใบล่างจะเหี่ยวและลู่ลง ใบแก่ที่อยู่ด้านล่างมีอาการเหลือง และใบที่เหี่ยวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ระยะแรกจะแสดงอาการเหี่ยวเฉพาะเวลากลางวันที่อากาศร้อนจัด ต่อมาอาการเหี่ยวจะนานขึ้นจนกระทั่งเหี่ยวถาวรทั้งวัน
อาการจะลามขึ้นไปยังส่วนยอด ขอบใบม้วนลงด้านล่าง เมื่อถอนต้นขึ้นมาพบว่ารากเกิดอาการเน่า และถ้าตัดลำต้นตามขวางแช่น้ำสะอาด ภายใน 5-10 นาทีจะมีเมือกสีขาวขุ่นไหลออกมาตามรอยตัดเป็นสายละลายปนกับน้ำ หากอาการรุนแรงจะพบภายในลำต้นกลวง เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลายโดยเชื้อสาเหตุโรคและมะเขือเทศจะตายในที่สุด
แนวทางในการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวเขียว เกษตรกรควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อนและมีการระบายน้ำที่ดี ไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า 20 เซนติเมตรจากผิวดินและตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก สำหรับพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค สามารถฆ่าเชื้อโรคในดินโดยใช้ยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80 : 800 กิโลกรัมต่อไร่หว่านลงในแปลงหลังไถพรวนดินครั้งแรก จากนั้นไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์จึงเริ่มปลูกพืช
พร้อมกับหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที และโรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดเพื่อป้องกันการระบาดของโรค อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรควรฆ่าเชื้อโดยจุ่มหรือพ่นด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือคลอรอกซ์ 10% ก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดของเชื้อ
ปรับระบบการให้น้ำ ควบคุมความชื้นในดินไม่ให้มากเกินไปเพื่อลดการเกิดโรค ไม่ควรปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ พริก และถั่วลิสง บริเวณใกล้แปลงปลูกมะเขือเทศที่เป็นโรคเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ในแปลงที่มีการระบาดของโรคหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้นำส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก และในพื้นที่เกิดโรคระบาดควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น ข้าวโพด ข้าว ฝ้าย ถั่วเหลือง สลับกันเป็นเวลามากกว่า 1 ปี