เกษตรกรจำนวนไม่มากนักที่สามารถปลูกพืชสร้างรายได้ให้กับตนเองเป็นหลักล้านบาทต่อปีซึ่งในจำนวนนี้มีชื่อของนายอเนก ประสม เกษตรกรวัย 59 ปีเจ้าของไร่กาญจนาผู้ปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติรายแรกของอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง รวมอยู่ด้วย
โดยได้น้อมนำหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวปฏิบัติเริ่มจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอยู่ให้เหมาะสมต่อการปลูกพืชซึ่งมะนาวพันธุ์ตาฮิติเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกดังกล่าว รวมทั้งมะนาวพันธุ์ตาฮิติมีลักษณะพิเศษ คือมีผลใหญ่ น้ำมาก ไร้เมล็ด และมีรสเปรี้ยว จึงทำให้มะนาวสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมของตลาด นายอเนกเติบโตมาจากครอบครัวที่ทำการเกษตรโดยปลูกทั้งข้าวโพด ข้าวไร่ และยาสูบ หมุนเวียนเรื่อยมา จนถึงปี 2540 เกิดวิกฤติปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำไม่มีคุณภาพ ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรแบบผสมผสานโดยปลูกมะนาวและลำไยผสมผสานกัน เนื่องจากลำไยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความนิยมและสามารถส่งขายต่างประเทศได้
ส่วนมะนาวเป็นพืชที่ใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวันและยังสามารถใช้เป็นยาได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาพืชทั้ง 2 ชนิดนี้มาปลูกเป็นพืชผสมผสาน รวมทั้งยังมีการปลูกพืชไร่ ได้แก่ งาดำ ถั่วดำ ข้าว ฟักทอง และพริก และมีแหล่งน้ำไว้สำหรับใช้สอยและเลี้ยงปลาอีกด้วย จากประสบการณ์การปลูกมะนาวทำให้นายอเนกได้เรียนรู้ธรรมชาติของมะนาวด้วยตนเองว่า มะนาวสายพันธุ์ตาฮิติจะให้ผลผลิตดีเมื่อปลูกในพื้นที่มีสภาพอากาศร้อนและเป็นเนินสูง และหากมีการรดน้ำต้นมะนาวมากเกินไปจะส่งผลให้มะนาวใบดกสวยงามแต่ไม่ออกดอกติดผล ส่วนการใส่ปุ๋ยหมักจะทำให้ต้นมีการเจริญเติบโตได้ดี ในขณะที่การใส่ปุ๋ยคอกที่ไม่ผ่านการหมักจะส่งผลให้เกิดโรคเชื้อรากับใบและลำต้นของมะนาวได้ การฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพเพื่อบำรุงต้นมะนาวให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงนั้นไม่ควรฉีดพ่นในช่วงที่มะนาวเริ่มติดดอกออกผลเพราะน้ำหมักชีวภาพจะเป็นพาหะนำแมลงวันทองและแมลงชนิดอื่น ๆ มาทำลายผลมะนาว ทำให้ผิวของเปลือกมะนาวเสีย ไม่สวย ได้ราคาไม่ดี ดังนั้นควรฉีดพ่นก่อนที่มะนาวจะติดดอกออกผลจะได้ผลดีที่สุด
นอกจากนี้นายอเนกได้ยังคิดค้นสูตรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นมะนาวและดอกสูตรการใส่ปุ๋ยและวิธีการใส่ปุ๋ยแบ่งเป็นชั้น ๆ เพื่อดูแลต้นมะนาวให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง รวมทั้งได้รับคำแนะนำจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง กรมวิชาการเกษตร ให้ใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และสารชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยกำจัดหนอนชอนใบทดแทนการใช้สารเคมี ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมากและได้ผลผลิตที่ปลอดภัย
โดยนายอเนกมีแนวคิดในการทำเกษตรว่าถ้าผู้ผลิตทำการเกษตรแบบปลอดภัยผู้บริโภคก็รับประทานได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นการปลูกมะนาวที่ไร่กาญจนาจะไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรเลยหากไม่มีการระบาดของโรคและแมลงในระดับที่รุนแรง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้จะใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
เมื่อผลผลิตมีช่วงอายุที่เหมาะสมจะเริ่มเก็บเกี่ยวและคัดแยกผลผลิตที่เน่าเสียออก หลังจากนั้นจะนำผลผลิตไปพักไว้ในโรงคัดเกรดเพื่อทำความสะอาดและคัดแยกผลผลิตก่อนจำหน่าย โดยจะมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงาน แหล่งที่มาของปัจจัยการผลิต และบัญชีการจำหน่ายผลผลิตครบทั้งกระบวนการผลิตเพื่อการทวนสอบได้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อกำหนดแหล่งผลิต GAP พืช โดยพื้นที่ปลูกมะนาวจำนวน 25 ไร่ได้รับการรับรองเป็นแหล่งผลิต GAP พืช จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร
ปัจจุบันนายอเนกมีรายได้จากจำหน่ายมะนาวตาฮิติซึ่งให้ผลผลิตตลอดทั้งปีเฉลี่ยประมาณ 3,500 – 4,000 กิโลกรัม จำหน่ายในกิโลกรัมละ 13-17 บาท และเนื่องจากผลผลิตได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตรจึงสามารถส่งออกไปประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ลาว และโรงงานผลิตน้ำมะนาวส่งออกได้ด้วย
รวมทั้งยังมีรายได้จากการขายกิ่งตอนในราคากิ่งละ 35 บาทจึงทำให้มีรายได้ถึงหลักล้านบาท/ปี นอกจากนี้นายอเนกยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงนำไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 60 ครัวเรือน จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “ปราชญ์เกษตร” ที่เป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนเองและแข่งขันกับตลาดภายนอกได้