นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องด้วยเข้าสู่หน้าฝน สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ และจากอิทธิพลของพายุลมมรสุมเป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์แมลงพาหะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้และมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำเกิดอาการป่วยและในกรณีที่รุนแรง ไม่สามารถทำการรักษาได้ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยพบครั้งแรกในปี 2564 ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 เกิดจากเชื้อไวรัสพบเฉพาะในโคกระบือ
เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือ มาอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง โดย เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัดโดยเร็ว ลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง
สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการระบาดของโรค ตามมาตรการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือโดยการเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด และมีระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ (E-Smart surveillance) เพื่อการรายงานการเกิดโรคในพื้นที่ โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีการรายงานการระบาดของโรคทุกวัน
ขณะเดียวกันยังมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวดตามแนวทางที่กรมปศุสัตว์กำหนด ตามแหล่งรวมสัตว์ตลาดนัดค้าสัตว์ และตามชายแดนการควบคุมแมลงพาหะนำโรค โดยให้เกษตรกรมีการป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์และบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดจำนวนแมลงพาหะในการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงวิธีการอื่นๆ เช่น การกางมุ้ง ใช้ไฟไล่แมลง กับดักแมลง เป็นต้น ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง
นอกจากนั้นยังมีการรักษาสัตว์ป่วย โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ จึงต้องจำเป็นที่จะต้องรักษาตามอาการ โดยหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้โคกระบือ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้
กรมปศุสัตว์ได้มีการนำเข้าวัคซีนโรคลัมปี สกินจากต่างประเทศ และนำไปฉีดให้กับโคกระบือของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกรมปศุสัตว์แล้วจำนวน 360,000 โด๊ส ได้อำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัคซีนจำนวน 572,000 โด๊ส ให้สมาคมผู้เลี้ยงโครวม 13 สมาคม ได้รับบริจาคจากบริษัทผู้นำเข้าอีกจำนวน 100,000 โด๊ส
ปัจจุบันพบว่าแนวโน้มการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในประเทศมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ สามารถควบคุมโรคได้ในวงพื้นที่จำกัด และเพื่อให้ภูมิคุ้มกันระดับฝูงที่ดีได้ กรมปศุสัตว์จึงต้องดำเนินการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรสัตว์ เพื่อให้การควบคุม ป้องกันโรคเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ต่อไป และขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกินที่ทางกรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อตัวเกษตรกรและชุมชนต่อไป