1 2 3 4 5
6 7 8 9 10 11 12
13 14 15 16 17 18 19
20 21 22 23 24 25 26
27 28 29 30 31
19 สิงหาคม 2566
เพราะเราเข้าใจ
คุณเคยบ้างไหมคะ หากมีอาการผิดปกติอะไรสักอย่างแล้วค้นหาในกูเกิล หรือบังเอิญอ่านเจอในโซเชียลที่มีคนแชร์ หรือฟังคลิปหมอพูดใน TikTok เตือนเกี่ยวโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อรับสารมาแทนจะระวังกลายเป็นระแวงมากกว่าว่าใช่เราหรือเปล่า เมื่อราว 5 ปีก่อน Magnolia เคยตั้งกระทู้ในพันทิปเกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกายตัวเอง เพราะเมื่อก่อนไม่ชอบไปโรงพยาบาล อาศัยถามพันทิปในเบื้องต้น ได้คำตอบบ้างไม่ได้บ้าง โดยมากก็โดนไล่ไปหาหมออยู่ดี กระทั่ง 5 ปีผ่านมา มีผู้หญิงคนหนึ่งหลังไมค์มาถามเราว่า อาการที่เราเป็นอยู่นั้นรักษาอย่างไร หายหรือยัง เพราะเธอกำลังเป็นอยู่เช่นกัน สันนิษฐานว่าเธอคงเป็นประเภทเดียวกับเราคือไม่กล้าไปหาหมอ ไม่รู้จะอธิบายหมอว่าอย่างไรดี จึงถามกูเกิลก่อนแล้วมาเจอกระทู้เราในพันทิป ซึ่งระยะเวลาผ่านมานานจนเราจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่ามันหายไปได้อย่างไร ได้รับการรักษาหรือปล่อยไปเฉยๆ เราตอบเธอไปว่าหลังจากนั้นเราเจอโรคอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เคยเป็นหรือไม่ แม้จะเป็นคำตอบที่ไม่ตรงคำถามนัก แต่คงเป็นรอยโรคจากโรคที่เราบอกเธอไปและพอเป็นข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คนถามสบายใจดีกว่าไม่ตอบอะไรเลย การมีกูเกิลมันก็ดีตรงที่ช่วยไขข้อสงสัยเบื้องต้นได้ แต่ส่วนหนึ่งมักสรุปไปแล้วว่า “ใช่แน่ๆ” ทำให้เครียด วิตกจริต หรือตีตนไปก่อนไข้ หากอาการที่เป็นไม่ครบก็ปลอบใจตัวเองว่า “คงไม่ใช่มั้ง” ทั้งที่ยังไม่ได้คุยกับหมอตัวเป็นๆ เลยสักคน ผู้ป่วยบางคนมีอาการแปลกๆ โรคแปลกๆ หรืออาการที่นอกเหนือจากในกูเกิลที่ถูกบันทึกโดยหมอ เภสัชกรหรือโรงพยาบาล แต่จะถูกบันทึกโดยผู้ป่วยเองที่แชร์ประสบการณ์การรักษาตามเว็บไซต์พันทิปหรือ blog ส่วนตัวของผู้ป่วยอยู่เนืองๆ เกิดการสื่อสารส่วนตัวกันระหว่างผู้ป่วยและผู้ที่กำลังกังวลว่าจะป่วย แทนที่จะไปถามหมอโดยตรง ซึ่งเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำเช่นนั้นเหมือนกัน จนถึงวันที่เราเป็นเอง และเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วนั่นแหละถึงจะมาเป็นผู้เล่าบ้าง เราใช้ blog เพื่อบันทึกประสบการณ์ดังกล่าวเพื่อหวังจะเป็นให้ผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลได้ เนื่องจากเคยตกอยู่ในห้วงความกังวลที่ค้นหาอะไรไม่เจอ ไม่รู้จะถามใครดี การบันทึกใน blog ซึ่งเป็นเสมือนเว็บส่วนตัวสามารถค้นหาจากกูเกิลได้ง่ายกว่า บางครั้งเราก็ยังเก็บไว้ค้นหาเองว่า อาการนี้เราเคยเป็นหรือไม่ เรารักษาอย่างไร ใช้ยาอะไรถึงหาย Magnolia มองว่า การแบ่งปันประสบการณ์หรือเรื่องเล่าความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ของตัวเองในอินเตอร์เน็ตแม้จะไม่ใช่หมอ แต่มันเป็นข้อมูลเบื้องต้นและเป็นวิทยาทานจากผู้ป่วยถึงผู้ป่วย แม้ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงเหมือนงานวิจัยทางการแพทย์ แต่มันเป็นความสบายใจที่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยกันเองว่า “ฉันไม่ได้เป็นอย่างนี้คนเดียวในโลก” นับเป็นประโยชน์ทางใจได้อย่างมาก คนเหงาย่อมเข้าใจคนเหงา เช่นเดียวกับโลกของผู้ป่วยมีแต่ผู้ป่วยเหมือนกันเท่านั้นล่ะที่เข้าใจกันVIDEO
Create Date : 19 สิงหาคม 2566
Last Update : 19 สิงหาคม 2566 10:05:17 น.
0 comments
Counter : 322 Pageviews.