Reconstruction จะต้องลองรักสักกี่ครั้ง



Reconstruction
จะต้องลองรักสักกี่ครั้ง

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 3 กรกฎาคม 2548


*หนังเริ่มต้นด้วยภาพนักมายากลประคองบุหรี่ให้ลอยกลางอากาศ มีเสียงบรรยายถึงบทลงเอยของเรื่องราวที่เต็มไปด้วยหมอกควันลอยล่อง เป็นเรื่องราวอันประกอบด้วยผู้ชาย ผู้หญิง และเสียงหัวเราะ

ก่อนย้ำว่าทั้งหมดนี้คือภาพยนตร์ คือการสร้างสรรค์เรื่องราว และที่แน่ๆ คือ...มันเจ็บปวด

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยอเล็กซ์เปิดประตูร้านเหล้าเดินตรงไปนั่งหน้าบาร์ข้างหญิงสาวชื่อไอมี่ เอ่ยชวนเธอไปกรุงโรมทั้งที่ดูเหมือนว่าทั้งสองไม่เคยรู้จักกัน หญิงสาวปฏิเสธ ต่างแนะนำตัวต่อกัน อเล็กซ์ชมไอมี่ว่าเธอสวยมาก และบอกว่าถึงตอนที่เขาต้องบอกลาเธอแล้ว

จากนั้นเสียงบรรยายเดิมดังขึ้นอีกครั้ง บอกว่าเรื่องราวนี้เกี่ยวกับตัวละคร 4 ตัว คือ หญิงสาวแสนสวยชื่อ ไอมี่ มีสามีเป็นนักเขียนชื่อ ออกัสต์ และอเล็กซ์ ช่างภาพหนุ่ม กับแฟนสาวชื่อ ซิโมน

เรื่องราวต่อมา...หรือเรียกให้ถูกคืออีกเรื่องราวหนึ่ง อเล็กซ์นัดพบซิโมนที่สถานีรถไฟ ที่นั่นเขาพบไอมี่ ทั้งสามขึ้นรถไฟขบวนเดียวกัน เมื่อไอมี่ลงรถ อเล็กซ์วิ่งตามลงไป ทิ้งซิโมนไว้ตามลำพัง

อเล็กซ์เดินตามไอมี่ไปจนถึงร้านเหล้า เขาละล้าละลังอยู่หน้าร้าน ก่อนตัดสินใจเปิดประตูเดินตรงไปนั่งหน้าบาร์ข้างหญิงสาว เอ่ยชวนเธอไปกรุงโรมทั้งที่ดูเหมือนว่าทั้งสองไม่เคยรู้จักกัน หญิงสาวปฏิเสธ ต่างแนะนำตัวต่อกัน อเล็กซ์ชมไอมี่ว่าเธอสวยมาก คราวนี้ทั้งสองลงเอยกันที่ห้องพักของฝ่ายหญิง

*วันรุ่งขึ้น โลกของอเล็กซ์เปลี่ยนแปลงไป ห้องพักของเขาหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีใครจำเขาได้ ทั้งเพื่อนสนิท ซิโมน หรือแม้แต่พ่อของเขาเอง อเล็กซ์มาหาไอมี่ตามนัด แต่ไอมี่กลับจำเขาไม่ได้เช่นกัน ทั้งสองจึงทำความรู้จักกันและรักกันอีกครั้ง ไอมี่ชวนอเล็กซ์ไปกรุงโรม เขาและเธอนัดเจอกันในร้านอาหารแห่งหนึ่ง

แต่ระหว่างที่รอเวลานัดหมาย อเล็กซ์เห็นซิโมนในร้านเหล้า เขาละล้าละลังอยู่หน้าร้าน ก่อนตัดสินใจเปิดประตูเดินตรงไปนั่งหน้าบาร์ข้างหญิงสาว ซิโมนจำเขาไม่ได้ ทั้งสองทำความรู้จักกัน ก่อนที่อเล็กซ์จะบอกลาเธอเพื่อไปหาไอมี่

สุดท้ายอเล็กซ์จะได้ไปโรมกับไอมี่หรือไม่...

ย้ำกันอีกครั้งว่าทั้งหมดนี้คือภาพยนตร์ คือการสร้างสรรค์เรื่องราว และที่แน่ๆ คือ...มันเจ็บปวด

อ่านที่เล่ามาทั้งหมดแล้วอาจทำให้มึนงงกันพอสมควร ผู้เขียนพยายามลำดับถ่ายทอดให้ใกล้เคียงกับกลวิธีที่หนังนำเสนอ เรื่องราวของตัวละครชุดเดิมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ บางคนอาจนึกไปถึงหนังเยอรมันเรื่อง Run Lola Run (1998) ซึ่งเล่นกับ “การเลือกและผลลัพธ์” ที่ต่างกันของตัวละครในสถานการณ์หนึ่ง หรืออาจคิดไปถึง “เสี้ยววินาทีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคน” ใน Sliding Doors (1998)

อันที่จริง นี่คือเรื่องราวของใครบางคนที่ถูกรื้อใหม่สร้างใหม่โดยคนที่ทำหน้าที่เสมือนพระเจ้าในเทพนิยายกรีก-โรมัน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตใครก็ได้ ให้เป็นเช่นใดก็ได้ตามใจ และคนคนนั้นก็คือออกัสต์ สามีของไอมี่ซึ่งเป็นนักเขียน

หนังบอกเราว่าเสียงบรรยายแท้จริงแล้วคือออกัสต์ เขากำลังเขียนเรื่องแต่งซึ่งมีตัวละครชื่ออเล็กซ์กับไอมี่ ช่วงต้นเรื่องออกัสต์บอกกับไอมี่ว่าเขาใกล้จะเขียนเสร็จแล้ว และรู้แล้วว่าจะให้ “พวกเขา” พบกันอย่างไร ภายใต้โจทย์ว่าอเล็กซ์กับไอมี่ต้องรักกัน

*เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการแก้ไขต้นฉบับของออกัสต์ ฉาก องค์ประกอบฉาก และบทสนทนาของแต่ละเรื่องราวจึงใกล้เคียงคล้ายคลึงกัน จะต่างไปตรงบทเริ่มต้นและลงท้ายเท่านั้น(บทไอมี่และซิโมนใช้นักแสดงคนเดียวกัน)

ครั้งหนึ่งระหว่างพูดคุยกับบรรณาธิการ ออกัสต์ให้ทรรศนะเกี่ยวกับความรักว่าผู้ชายชอบให้ความรักเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์อยู่เสมอ ไม่ชอบวางแผน ส่วนผู้หญิงจะตัดสินใจเกี่ยวกับความรักอย่างมีสติ

นี่คือเหตุผลที่อเล็กซ์ถูกทดลองให้ตกหลุมรักแบบเซอร์ไพรส์ครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนไอมี่มักจะชวนให้อเล็กซ์ “ใช้ความคิด”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ออกัสต์ตรวจแก้ต้นฉบับอยู่นั้น ผู้สร้างหลักอันประกอบด้วยผู้กำกับฯ คริสโตเฟอร์ โบ ซึ่งเขียนบทร่วมกับ มอแกน รูคอฟ และผู้กำกับภาพ มานูเอล อัลเบอร์โต คลาโร จะเป็นเสมือนพระเจ้าคอยกำกับออกัสต์อีกทีหนึ่ง

บุคคลทั้งสามคือคนทำหนังเดนมาร์กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบจากโรงเรียนทำหนังไม่นาน ได้รับอิทธิพลจากคนทำหนังร่วมสมัยอย่างหว่องกาไว คริสโตเฟอร์ ดอยล์ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก รวมทั้ง คริสตอฟ คีสโลว์สกี และต้องการเดินตามรอยเท้ารุ่นพี่คนทำหนังเดนมาร์กที่กล้าแหวกขนบเดิมๆ อย่าง ลาร์ส วอน เทรียร์ กับโธมัส วินเทอร์เบิร์ก สองผู้ก่อตั้งกลุ่มด็อกม่า 95(การทำหนังบริสุทธิ์) และแอนโธนี ดอด แมนเทิล ผู้กำกับภาพขาประจำของวอน เทรียร์

การผูกเรื่องชวนงุนงงสอดรับด้วยเทคนิคการนำเสนอแบบแปลกๆ ใน Reconstruction(2003) จึงเป็นสิ่งที่ผู้สร้างใช้แสดงตัวตน ทั้งฝีมือ ทัศนคติ อิทธิพลที่ได้รับ และเป้าหมายของการทำหนัง

นั่นคือปฏิเสธขนบการทำหนังดั้งเดิม โดยเลือกหยิบรูปแบบหนังโรแมนติคคลาสสิคเป็นกรณีตัวอย่าง *

เห็นได้ว่าการกระทำของออกัสต์จริงๆ แล้วเป็นความประสงค์ของผู้สร้างที่ไม่ต้องการให้เรื่องราวความรักจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งเช่นเรื่องรักโรแมนติคทั่วไป หรือเป็นไปตามขนบเดิมๆ ที่คนทั่วโลกคุ้นเคย

“กรุงโรม” สถานที่อันงดงามซึ่งปรากฏเป็นฉากหลังของหนังโรแมนติคคลาสสิคหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ Roman Holiday(1953) Three Coins in the Fountain(1954) จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์โดยให้ตัวละครทั้งอเล็กซ์และไอมี่ต่างต้องการเดินทางไปที่นั่นแบบไม่มีเหตุผล แต่ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ นั่นหมายความว่าเรื่องรักของพวกเขาจะไม่มีทางลงเอยแบบเรื่องรักโรแมนติคคลาสสิคเรื่องอื่นๆ

นัยหนึ่ง Reconstruction จึงเป็นการประกาศว่าต้องการ “รื้อโครงสร้าง” รูปแบบเดิมๆ ของหนัง โดยกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ชาวเดนมาร์กนั่นเอง

แม้ทัศนคติและท่าทีของพวกเขาจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และสิ่งที่พวกเขาคิดและทำจะเป็นกระแสหนึ่งของวงการหนังโลกปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ก็นับได้ว่าพวกเขาคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง โดยพิสูจน์ได้จากความคิดสร้างสรรค์และฝีมือที่แสดงผ่านผลงานชิ้นนี้

ต้องคอยดูว่างานลำดับต่อๆ ไปจะคลี่คลายไปในทิศทางใด




หมายเหตุ
1.Reconstruction ได้รางวัลผลงานเรื่องแรกยอดเยี่ยม ที่เมืองคานส์ ปี 2003
2.หลังจากเรื่องนี้ คริสโตเฟอร์ โบ, มอแกน รูคอฟ และผู้กำกับภาพ มานูเอล อัลเบอร์โต คลาโร ไม่ได้ทำงานร่วมกันอีก นอกจากเรื่อง Allegro (2005) ที่โบกำกับฯ และคลาโรเป็นผู้กำกับภาพ
3.ผลงานของโบคือ Allegro (2005) เข้าชิงรางวัลใหญ่สุดที่ซันแดนซ์ ปี 2006 และ Offscreen (2006) ได้รางวัล Young Cinema Award ที่เวนิส ปี 2006




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2549
4 comments
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2549 21:00:52 น.
Counter : 3023 Pageviews.

 

หนังน่าดูอ่ะ อิอิ
ชอบ sliding doors

 

โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ 25 พฤศจิกายน 2549 0:03:51 น.  

 

อ่านแรกแรกแล้วนึกว่าเกิดเหตุการณ์ เด จา วู ขึ้นซะอีก แต่พอบอกว่าเหมือน Run Lola Run และ Sliding Doors ก็นึกออกเห็นภาพทันทีว่าหนังดำเนินไปแนวไหน ลูกเล่นในการนำเสนอขอหนังน่าสนใจดีค่ะ

 

โดย: renton_renton 25 พฤศจิกายน 2549 7:52:03 น.  

 

ดูเรื่องนี้นานจนลืมไปแล้ว
แต่ชอบผมเพลงตอน end credit ครับ

 

โดย: metrologo 3 กรกฎาคม 2551 11:06:15 น.  

 

น่าดูจัง

 

โดย: นนนี่ IP: 180.180.127.80 7 กันยายน 2556 5:33:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
24 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.