Slumdog Millionaire เด็กสลัมเงินล้าน การตลาดไร้ราก
Slumdog Millionaire เด็กสลัมเงินล้าน การตลาดไร้รากพล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 18 และ 25 มกราคม 2552 หมายเหตุ : บทวิจารณ์นี้เขียนหลังรู้ผลรางวัลลูกโลกทองคำ และก่อนประกาศผู้เข้าชิงออสการ์ (1) หลังจากเป็นขวัญใจนักวิจารณ์มาแล้วหลายสำนัก ล่าสุดได้เป็นพระเอกบนเวทีลูกโลกทองคำด้วยการคว้าถึง 4 รางวัล รวมรางวัลใหญ่อย่างบทภาพยนตร์ กำกับภาพยนตร์ และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดรามา นาทีนี้ เด็กสลัมเงินล้าน ราศีจับมากขึ้นอีกโขจนอาจไปไกลถึงเส้นชัยออสการ์ แม้ว่าตัวหนังเองจะไม่ตรงกับ ทาง ของออสการ์นัก ถ้าเทียบกับหนังเต็งเรื่องอื่นอย่าง The Curious Case of Benjamin Button, Frost/Nixon และ Milk Slumdog Millionaire เป็นผลงานกำกับฯของ แดนนี่ บอยล์ คนทำหนังชาวอังกฤษผู้สร้างชื่อจากเรื่อง Trainspotting (1996) ส่วนคอหนังบ้างเราจะรู้จักดีจากหนังฉาวเรื่อง The Beach (2000) และหนังซอมบี้เรื่อง 28 Days Later (2002) มีผู้กำกับฯร่วมเป็นชาวอินเดียคือ โลเวลีน ทันดัน จากบทหนังของ ไซมอน โบฟอย ซึ่งดัดแปลงจากนิยายขายดีเรื่อง Q and A ของ วิกาส สวารัป นักการทูต-นักเขียนชาวอินเดีย เนื้อหาในหนังไม่ยึดตามหนังสือโดยตรง แต่หลักๆ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มจากสลัมในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ผู้พิชิตเงินล้านในเกมโชว์ทางโทรทัศน์ Who Wants to Be a Millionaire? (หรือเกมเศรษฐีในฉบับไทย) แต่กลับถูกตำรวจจับไปเค้นความจริงโดยกล่าวหาว่าเขาโกงคำตอบ เรื่องราวที่เหลือเป็นการเล่าย้อนประวัติชีวิตอันโชกโชนของเด็กหนุ่ม เพื่อให้เห็นว่าเหตุใดเขาจึงรู้คำตอบของแต่ละคำถาม ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสุดท้าย หนังถ่ายทำในอินเดียตลอดทั้งเรื่อง ใช้นักแสดงชาวอินเดีย พูดภาษาฮินดีพอๆ กับภาษาอังกฤษ และมีกลิ่นอายแบบหนังบอลลีวู้ด เพราะเป็นโรแมนติก-ดรามาแนวชวนฝันที่อบอวลด้วยเพลงประกอบสไตล์ภารตะ เห็นได้ว่ารูปร่างหน้าตาของ Slumdog Millionaire คือความโดดเด่นอันแตกต่างซึ่งเรียกความสนใจ-ความตื่นเต้นจากผู้ชมได้ไม่ยาก ผู้สร้างฉลาดพอที่ไม่โยกย้ายเรื่องราวต้นฉบับให้มาเกิดขึ้นในบ้านตนเองโดยเปลี่ยนมุมไบเป็นลอนดอน นิวยอร์ค หรือเมืองอื่นๆ และไม่เปลี่ยนตัวละครเป็นพวกตนเองอย่างที่หนังฮอลลีวู้ดชอบทำ สำหรับผู้ชมในอังกฤษและสหรัฐซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น Slumdog Millionaire จึงไม่ใช่ ไพรัชภาพยนตร์ ที่เป็นเรื่องราวของชาวตะวันตกโดยมีฉากหลังในต่างประเทศเช่นที่เห็นกันเป็นประจำ หรือถ้าเจาะจงฉากหลังอินเดียก็มีอยู่มากมาย หากเป็นเรื่องของชาวอินเดียในอินเดีย และไม่มีชาวตะวันตกมาเกี่ยวข้อง นอกจากผู้ชมจะได้ติดตามเรื่องราวของตัวละครชาวอินเดียประกอบฉากหลังอย่างทัชมาฮาลและมุมไบแล้ว หนังยังเต็มไปด้วยเรื่องราวและบรรยากาศเอ็กโซติกสร้างความตื่นตา-ประหลาดใจ สมทบด้วยวัฒนธรรมอินเดียผ่านเรื่องราวและบทเพลงประกอบมากมาย โดยผู้สร้างตั้งใจเลือกมืออาชีพจากบอลลีวู้ด(เอ.อาร์. ราห์มัน) ดูแลเรื่องดนตรีประกอบทั้งหมด เรียกได้ว่าอะไรที่เป็นเปลือกนอกซึ่งใช้โชว์ความเป็นอินเดีย ผู้สร้างจะใช้บริการจากแหล่งโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำ นักแสดง คนทำดนตรีประกอบ ขณะที่ทีมงานหลักและย่อยซึ่งอยู่เบื้องหลังยังเป็นชาวตะวันตก องค์ประกอบงานสร้างดังกล่าวทำให้ Slumdog Millionaire ไม่ต่างจากหนังอินเดีย เพียงแต่คนสร้างเป็นฝรั่ง และมีกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นคือฝรั่งด้วยกันเองก่อนจะส่งต่อไปทั่วโลก เป็นการสวมรอยวัฒนธรรมอย่างหนังบอลลีวู้ดให้กลายเป็นผลผลิตของชาวตะวันตกโดยตรง นอกจากจะกระตุ้นความสนใจ-ความตื่นเต้นแก่ชาวตะวันตกแล้ว ตลาดหนังบอลลีวู้ดซึ่งมีอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะแหล่งใหญ่ในสหรัฐและอังกฤษย่อมไม่ปฏิเสธหนังเรื่องนี้ ก่อนที่หนังจะเดินทางไปโกยเงินในอินเดียช่วงปลายเดือนมกราคม ลักษณะคล้ายกับที่สตูดิโอโคลัมเบียและโซนี่เคยร่วมทุนให้ อั้งลี่ ทำหนังกำลังภายในแบบจีนแท้ๆ เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon จนได้เข้าชิงออสการ์ถึง 10 สาขา รวมทั้งสาขาหนังยอดเยี่ยมในปี 2001 ต่างกันตรงที่อั้งลี่เป็นคนจีนทำหนังจีน แต่บอยล์เป็นคนอังกฤษที่คิดทำหนังอินเดียแน่นอนว่าความสำเร็จของ Slumdog Millionaire ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความแปลกต่างที่ดึงดูดความสนใจ แต่หนังยังมีเนื้อหาที่โดดเด่นน่าติดตามประกอบกับฝีมือกำกับฯอันแม่นยำของบอยล์ ทำให้หนังเข้าไปอยู่ในใจผู้ชมในที่สุด อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้า Slumdog Millionaire ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มชาวอินเดียและใช้อินเดียเป็นฉากหลัง แต่เป็นเรื่องราวของเด็กฝรั่งคนหนึ่งประกอบฉากหลังอันคุ้นเคย จุดสนใจอาจจะมีไม่เทียบเท่าและเบี่ยงเบนไปคนละทาง หรือหาก Slumdog Millionaire เป็นหนังบอลลีวู้ดโดยผู้สร้างชาวอินเดียก็คงไม่สามารถเข้าถึงผู้ชมและก่อกระแสรุนแรงในวงกว้างได้เท่านี้ ใช่เพียงองค์ประกอบงานสร้างตามที่ได้กล่าวมาที่หนุนเสริมให้หนัง เป็นอินเดีย มากที่สุด บทหนังยังมีการปรับเปลี่ยนจากนิยายต้นฉบับโดยตัดทิ้งตัวละครพระคาทอลิกผู้เลี้ยงดูเด็กหนุ่มเมื่อยังเล็ก และตัวละครนายทหารชาวออสเตรเลียนซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เด็กหนุ่มรู้คำตอบของคำถามข้อหนึ่ง เพื่อให้เหลือเฉพาะตัวละครและเรื่องราวในแบบอินเดียจากฝั่งโลกตะวันออกล้วนๆ ตรงเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนานี่เองมีประเด็นชวนคิดว่าเหตุใดผู้สร้างจึงปรับพื้นหลังของตัวละครให้เป็นเด็กหนุ่มชาวมุสลิมโดยตั้งชื่อว่า จามาล มาลิค แทนเด็กกำพร้าไม่รู้กำพืดเนื่องจากถูกทอดทิ้งกระทั่งพระที่เก็บมาเลี้ยงต้องตั้งชื่อเป็นกลางๆ ว่า ราม โมฮัมเหม็ด โธมัส ซึ่งรวมชื่อทางศาสนาฮินดู อิสลาม และคริสต์ ไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ หนังยังใส่เหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเมื่อกลุ่มชนชาวฮินดูบุกทำลายบ้านเรือนและฆ่าชาวมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์นี้คือแม่ของจามาล เหตุผลเรื่องการกลบเกลื่อนคติโลกตะวันตกที่คุ้นเคยให้เหลือแต่โลกตะวันออกอาจจะเป็นเหตุให้ตัวละครเอกไม่ใช่เด็กกำพร้าที่ถูกพระคาทอลิกเก็บมาเลี้ยงอย่างในต้นฉบับ แต่ทำไมเขาต้องกลายเป็นมุสลิมแทนที่จะเป็นชาวฮินดูซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของอินเดีย ทั้งพื้นหลังชาวมุสลิมและเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาเป็นการเล่นกับกระแสโลกปัจจุบันของผู้สร้างหรือเปล่า...ไม่มีคำตอบสุดท้ายให้เฉลยว่าถูกหรือผิด แต่เพราะพื้นหลังชาวมุสลิมซึ่งปรับเปลี่ยนเข้ามานี่เองกลายเป็นช่องโหว่ที่ผู้สร้างมองข้าม เมื่อถึงฉากที่สองพี่น้องจามาลกับซาลิมเดินทางมาถึงทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานอันน่าภาคภูมิใจของชาวมุสลิมอินเดีย พวกเขาตกตะลึงในความงามและความยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าคืออะไร สองพี่น้องชาวมุสลิมผู้ปลาบปลื้ม อามิตาบห์ บาจจาน พระเอกชาวฮินดู และรู้จักวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง สามทหารเสือ แต่กลับไม่รู้จักอัญมณีแห่งศิลปะมุสลิมอย่างทัชมาฮาลหรือตัวละครเติบโตขึ้นแบบไร้ราก ไม่ต่างจากหนังอินเดียเรื่องนี้ที่ถูกสวมรอยทางวัฒนธรรมโดยชาวตะวันตก (2) ฉากทัชมาฮาลไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความไร้รากของตัวละครสองพี่น้องชาวมุสลิมที่ไม่รู้จักอนุสรณ์สถานแห่งนี้ทั้งที่รู้จักเรื่องไกลตัวอื่นๆ แต่ยังเป็นรอยต่ออันเป็นจุดเริ่มที่ผู้สร้างยัดบทสนทนาภาษาอังกฤษให้ตัวละครโดยให้จู่ๆ สองพี่น้องซึ่งพูดภาษาฮินดีมาตลอด เปลี่ยนมาพูดอังกฤษได้คล่องปากเมื่อต้องสวมบทบาทมัคคุเทศก์(เถื่อน) เพื่อหาเงินประทังชีวิต แถมเป็นการพูดภาษาอังกฤษด้วยการ มั่ว ประวัติทัชมาฮาลเป็นคุ้งเป็นแคว จบจากฉากทัชมาฮาล ตัวละครยังใช้ภาษาอังกฤษต่อเนื่องไปจนจบเรื่อง แม้แต่การพูดคุยกันเองหรือคุยกับตัวละครอื่นซึ่งก่อนหน้านี้พูดกันด้วยภาษาฮินดี จริงอยู่...การสนทนาด้วยภาษาอังกฤษในอินเดียไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และเหตุผลที่ผู้สร้างใส่รอยต่อโดยเปลี่ยนจากการพูดภาษาฮินดีมีคำแปลให้อ่านเป็นการพูดอังกฤษแทนก็เพื่อสนองความต้องการของตลาดเป้าหมายซึ่งผู้ชมใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและมักจะเบื่อหน่ายการอ่านคำบรรยาย แต่รอยต่อดังกล่าวไม่ถูกเชื่อมให้เนียนพอ และเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงสะดุดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนี้ อย่างไรก็ตาม อาการไร้รากของตัวละครทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของผู้สร้าง หากมองในด้านบวกแบบเชื่อมโยงกับนัยยะตามเนื้อหาของหนังถือว่าบังเอิญสอดคล้องไปกันได้อย่างดี นัยยะที่ว่าคือการเติบใหญ่ขยายตัวของเมืองมุมไบแบบรื้อล้างสิ่งที่มีอยู่เดิม พร้อมกับอิทธิพลของเงินที่ควบคุมชีวิตผู้คน เด็กยากจนจากสลัมในมุมไบต่อสู้ดิ้นรนชีวิตก่อนจะแตกหักกับพี่ชายที่หันไปรับใช้ผู้มีอิทธิพล ตามหาหญิงผู้เป็นที่รักซึ่งรู้จักกันตั้งแต่วัยเยาว์ สุดท้ายได้เงินล้านจากเกมโชว์ทางโทรทัศน์ เรื่องราวดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าผจญภัยโลดโผนสู่ปลายทางความสำเร็จ หรือเป็นโรแมนติคชวนฝันของคู่รักท่ามกลางอุปสรรคเท่านั้น แก่นสารเรื่องราวที่คู่ขนานไปตั้งแต่ต้นจนจบคือ หนังพูดถึงคุณค่าความหมายจากรากฐานของชีวิตที่ค่อยๆ ล่มสลายลง สวนทางกับความเจริญรุดหน้าของเมืองและโลกสมัยใหม่ เริ่มจากการสูญเสียแม่ พลัดพรากจากหญิงคนรัก ทะเลาะกับพี่ชาย บริเวณสลัมที่เคยเป็นบ้านกลายเป็นตึกสูง เมืองเต็มไปด้วยการคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัย แต่การสื่อสารระหว่างตัวละครกลับตกหล่น กระทั่งก้าวเดินไปคนละทิศทางฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งจึงเป็นเหตุการณ์ที่สองพี่น้องจามาลกับซาลิมได้กลับมาพบเจอกันอีกครั้งบนอาคารสูงที่กำลังก่อสร้าง โดยจามาลต้องเป็นฝ่ายขึ้นลิฟต์ไปหาพี่ชาย จุดที่สองพี่น้องนั่งพูดคุยกันอยู่สูงลิบเหมือนเช่นการหลุดลอยจากพื้นฐานที่มาของพวกเขา ฉากหลังเบื้องล่างทั่วบริเวณเป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งเมืองใหม่ และสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ยังเป็นเงาสะท้อนอยู่บนแว่นกันแดดของซาลิมซึ่งรับใช้ผู้มีอิทธิพลคุมเมือง ความห่างเหินระหว่างพี่น้องมองเห็นได้จากระยะห่างที่พวกเขานั่งคุยกัน ฝ่ายหนึ่งพูดถึงเงินซึ่งเป็นหัวใจของเมือง แต่อีกฝ่ายต้องการรู้เรื่องของหญิงสาวผู้เป็นหนึ่งในใจ นอกจากความขัดแย้งทางศาสนา(พระเจ้าคนละองค์) ที่ทำให้สองพี่น้องสูญเสียแม่และบ้านกระทั่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตแล้ว เรื่องราวต่อจากนั้นล้วนแต่มีเงินซึ่งเปรียบเป็น พระเจ้า คอยกำหนดชะตากรรม ไล่ตั้งแต่การถูกฝึกให้เป็นขอทาน เป็นไกด์เถื่อน สังหารและปล้นเงินใครคนหนึ่งเพื่อช่วยหญิงคนรัก จากนั้นซาลิมอุทิศตนให้แก่ผู้มีอิทธิพล ส่วนจามาลสมัครเล่นเกมโชว์ชิงเงินล้าน อย่างไรก็ตาม เกมโชว์ชิงเงินล้านซึ่งน่าจะชัดเจนตั้งแต่แรกว่าตัวละครเห็นเงินเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่สุดท้ายหนังค่อยๆ เผยว่าจามาลไม่ได้ถูกเงินลากจูงอย่างที่เราคิด จามาลมีเหตุผลที่ต้องสมัครเข้าเล่นเกม มีคำถามมากมายซึ่งสำคัญกว่าคำถามของพิธีกรรออยู่ที่ไหนสักแห่ง และรางวัลอันยิ่งใหญ่ไม่ใช่เงินล้าน แต่เป็น ความรัก ที่มีคุณค่าความหมายยิ่งกว่า เป็น ความรัก ที่ทำให้ตัวละครลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของตนเอง หาใช่ เงิน อีกต่อไป ปลายทางของเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าตัวละครตกเป็นเบี้ยล่างและต้องตามน้ำอย่างไร้แรงขัดขืน จึงกลับกลายมีทางออกที่สวยงามทั้งในระดับเนื้อหาและแก่นสาร นี่คือบทสรุปที่น่าประทับใจผ่านการลำดับจัดวางเรื่องราวอย่างชาญฉลาดตั้งแต่ต้น แม้เมื่อทบทวนดูจะเห็นว่าหนังออกแนวชวนฝันเกินกว่าความเป็นไปได้ แต่เมื่อถึงเครดิตตอนจบพร้อมกับที่ตัวละครและผู้คนจำนวนมากร่วมกันเต้นรำร้องเพลงแบบหนังบอลลีวู้ด เหตุผลเรื่องความสมจริงใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอีก แดนนี่ บอยล์ ผู้เป็นเอกด้านสไตล์การเล่าเรื่องแม่นยำอย่างยิ่งในการเรียงร้อยเรื่องราวหลากอารมณ์เข้าด้วยกัน ทั้งเคร่งเครียด สนุกสนาน ตื่นเต้น สีสันของวัยเยาว์ ความหม่นมืดของโลกอาชญากรรม และบรรยากาศหลากหลายของอินเดีย ใช้องค์ประกอบภาพ เทคนิคด้านภาพ การตัดต่อ เพลงและดนตรีประกอบอย่างคุ้มค่าในทุกๆ บทตอน จนได้เป็นหนังที่ดูสนุกชวนติดตาม น่าค้นหา และสร้างความประทับใจได้ไม่ยาก โดยภาพรวม Slumdog Millionaire คือ งานบันเทิงชั้นดี อย่างไร้ข้อกังขา เมื่อได้แรงบวกจากการออกแบบสินค้าให้แปลกต่างจากตลาดซึ่งกำหนดไว้แต่เริ่มต้น หนังจึงติดลมบนจนรับความสำเร็จกันไม่หวาดไม่ไหวส่วนจะดีเด่นจนเรียกว่าเป็น หนังยอดเยี่ยม ได้หรือเปล่า สำหรับผู้เขียนมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น
Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2552
15 comments
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2552 19:25:02 น.
Counter : 2778 Pageviews.
โดย: ไกลนั้น IP: 58.9.64.40 28 กุมภาพันธ์ 2552 23:14:30 น.
โดย: เอกเช้า IP: 124.120.193.103 28 กุมภาพันธ์ 2552 23:45:34 น.
โดย: beerled 1 มีนาคม 2552 12:29:40 น.
โดย: ฟ้าดิน 2 มีนาคม 2552 1:41:59 น.
โดย: Seam - C IP: 58.9.201.160 2 มีนาคม 2552 12:44:19 น.
โดย: nanoguy IP: 125.24.163.114 3 มีนาคม 2552 7:10:58 น.
โดย: nanoguy IP: 125.24.155.174 4 มีนาคม 2552 0:07:53 น.
โดย: nanoguy IP: 125.24.119.234 5 มีนาคม 2552 5:47:57 น.
โดย: beerled 5 มีนาคม 2552 20:26:56 น.
โดย: beerled 5 มีนาคม 2552 21:56:49 น.
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [? ]
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................select movie / blog ....... --international-- ....... The Walking Dead I Wish I Knew 127 Hours The Expendables vs. Salt No puedo vivir sin ti Bright Star The World is Big and Salvation Lurks Around the Corner Sin Nombre Invictus Afghan Star Moon Gigante The Promotion An Education Up in the Air Snow (Snijeg) Liverpool Tahaan Lion's Den Tulpan Everlasting Moments Absurdistan Topsy-Turvy Ramchand Pakistani The Pope's Toilet Antonio's Secret พลเมืองจูหลิง Flashbacks of a Fool And When Did You Last See Your Father? The Boy in the Striped Pyjamas Gran Torino Departures Gomorra Abouna + Daratt Grace Is Gone The Road to San Diego Into the Wild Slumdog Millionaire The Silly Age The Year My Parents Went on Vacation It's Hard to Be Nice Ben X Caramel The Class Kings จาก Kolya ถึง Empties The Unknown Woman Dokuz Heima Cocalero The Blood of My Brother & Iraq in Fragments 12:08 East of Bucharest Rescue Dawn Mongol 6 : 30 Something Like Happiness To Each His Cinema The Counterfeiters ข้างหลังภาพ Lions for Lambs + Michael Clayton Father and Daughter Possible Lives กอด The Buried Forest รัก-ออกแบบไม่ได้ Lights in the Dusk The Piano Teacher Do You Remember Dolly Bell? Sisters in Law Al Otro Lado A Time for Drunken Horses Zelary Bug The Invasion The Science of Sleep Paris, I love you Still Life The Lives of Others Heading South Renaissance ABC Africa The Death of Mr. Lazarescu Maria Full of Grace The Last Communist Eli, Eli, lema sabachthani? 4 : 30 Late August, Early September The Circle The Cave of the Yellow Dog Italian for Beginners Love/Juice Your Name is Justine The Syrian Bride Dragon Head Reconstruction Eros The Scarlet Letter The Night of Truth Familia Rodante Bonjour Monsieur Shlomi Lantana Flanders Tokyo . Sora The World Whisky Buffalo Boy S21 : The Khmer Rouge Killing Machine Fire, Earth, Water C.R.A.Z.Y. All about My Mother Jasmine Women Battle in Heaven The Day I Became a Woman Man on the Train CSI : Grave Danger Innocence Life Is a Miracle Drugstore Girl Der Untergang The Bow Happily Ever After The Wayward Cloud The House of Sand Or, My Treasure Janji Joni Moolaade Vodka Lemon Angel on the Right Twentynine Palms The Taste of Tea ....... --independent-- ....... Goodbye Solo The Hurt Locker (500) Days of Summer Towelhead Kabluey Three Burials of Melquiades Estrada Titus Chuck & Buck The Woodsman Pollock Last Days The Limey Inside Deep Throat Coffee and Cigarettes Garden State My Name is Joe Sexy Beast Real Women Have Curves The Brown Bunny Before Sunset Elephant Bubble You Can Count on Me 9 Songs ....... --classic-- ....... Memories of Underdevelopment (1968) The Last Laugh The Snows of Kilimanjaro The Cabinet of Dr.Caligari Nanook of the North The Apu Trilogy ....... --หนังมีไว้ให้คิด-- ....... The Schoolgirl's Diary Long Road to Heaven The Imam and the Pastor Maquilapolis ....... --what a film!-- ....... Kabuliwala (1956) Macunaima (1969) Kozijat rog (1972) The Girl and the Echo (1964) Fruits of Passion (1981) Happy Gypsies (1967) ....... --introducing-- ....... Death Race 2000 (1975) ซอมบี้ปากีฯ+ผีดิบมาเลย์+ซูเปอร์แมนตุรกี Zinda Muoi Father and Daughter ....... --directed by-- ....... Ouran (1968) Pierwsza milosc (1974) Salome (1978) 4 หนังสั้น เคียรอสตามี recommended ....... - 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับภาพยนตร์ - เทมาเส็ก พิคเจอร์ส - Heading South - Still Life - The Apu Trilogy - The Day I Became a Woman - จาก Fire, Earth สู่ Water พญาอินทรี ศราทร @ wordpress
1 2 3 4 5 6 7
8 9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28