The Silly Age เปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ




The Silly Age
เปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 1 มิถุนายน 2551


*หนังเริ่มต้นด้วยข้อความว่า The Silly Age (หรือ La Edad de la Peseta ตามชื่อหนังดั้งเดิม) เป็นสำนวนที่ใช้ในคิวบา เรียกช่วงเวลาก่อนเป็นวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 7-11 ขวบ

นัยของสำนวนคงหมายถึงเป็นช่วงวัยอยากรู้อยากลอง ทำสิ่งต่างๆ ที่อาจดูแล้วงี่เง่า เหลวไหล ไร้สาระ

กระนั้น ถัดจากข้อความดังกล่าวกลับเป็นภาพเคลื่อนไหวเก่าคร่ำของ ฟิเดล คาสโตร กำลังพูดถึงการปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยคิวบาซึ่งสมรภูมิสุดท้ายอยู่ที่กรุงฮาวานา

หนังกำลังสื่อว่า... การปฏิวัติของฟิเดล คาสโตร คือความเหลวไหล ไร้สาระ?

หรือหมายถึงคิวบายุคประธานาธิบดีฟุลเกนซิโอ บาติสตา ที่อยู่ใต้เงื้อมเงาของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะถูกคาสโตรโค่นล้ม คือช่วงเวลาแห่งความโง่งม

คำตอบคือสิ่งที่ต้องค้นหาในหนังเรื่องนี้

ฤดูร้อนปี 1958 อลิเซีย หญิงที่แม้จะเลยวัยสาวมาพอสมควรแต่ยังดูสวยเด่นสะดุดตา พา ซามวล ลูกชายวัย 10 ขวบ กลับมาอยู่กับ วิโอเลตา แม่ของเธอในกรุงฮาวานา หลังจากห่างหายไปนานกว่า 5 ปี วิโอเลตาให้การต้อนรับทั้งสองอย่างเย็นชา เพราะไม่พอใจที่ลูกไม่เคยสนใจไยดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จู่ๆ ก็หอบหิ้วหลานชายกลับมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หนังค่อยๆ บอกว่า ซามวลไม่เคยรู้จักผู้เป็นพ่อ และอลิเซียผ่านการแต่งงานมาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งที่หย่าร้างหรือแต่งงานใหม่ซามวลต้องย้ายที่อยู่ตามเธอไป กระทั่งเขาไม่อยากให้แม่คบหาชายคนใหม่อีก
อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของอลิเซียก็ดึงดูดใจ ราโมน พ่อหม้ายเจ้าของร้านรองเท้าเข้าจนได้ เขารับอลิเซียเข้าทำงาน คอยดูแลเอาใจ และพยายามเข้าถึงซามวล แต่โดนเด็กชายปฏิเสธไมตรีไปเสียทุกครั้ง

ซามวลเป็นเด็กหน้าตาดี แต่มีปัญหาเรื่องไม่สนใจการเรียน และมักจะฝันร้ายจนปัสสาวะรดที่นอน สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของซามวลมีเพียง 2 อย่าง หนึ่งคือการรับหน้าที่เป็นลูกมือของวิโอเลตาซึ่งรับจ้างถ่ายภาพบุคคล ตั้งแต่ขั้นตอนถ่ายภาพ ล้าง ตกแต่ง ไปจนถึงส่งงานตามบ้านลูกค้า กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างเขากับวิโอเลตาที่เคยตึงเครียดค่อยๆ ผ่อนคลายกลายเป็นความสนิทผูกพัน

อีกหนึ่งความสนใจของซามวลคือ นูเรีย นางแบบสาวแสนสวยที่ซามวลหลงใหลและเฝ้ามองเธอยามที่แวะมาให้วิโอเลตาถ่ายภาพในอาภรณ์น้อยชิ้น

เป็นอารมณ์ความรู้สึกในเพศตรงข้ามที่ซามวลได้รับต่อเนื่องจากการได้เห็นโชว์ชุดพิเศษในย่านสลัมที่เรียกว่า “ดูโทรทัศน์” ซึ่งผู้หญิงคนหนึ่งจะ “ถกผ้า” และเก็บเงินจากเด็กๆ เป็นค่าเข้าชม

*จุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อแม่ตัดสินใจแต่งงานกับราโมน ช่วงเวลาเดียวกับข่าวคราวการรุกคืบของขบวนการปฏิวัตินำโดย ฟิเดล คาสโตร ค่อยๆ เข้มข้นขึ้นทุกขณะ ซามวลจะหาทางออกให้กับตนเองอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจผู้เป็นแม่ กับราโมนซึ่งจะมาเป็นพ่อคนใหม่ ความใกล้ชิดผูกพันกับวิโอเลตา ความหลงใหลในตัวนูเรีย แม้กระทั่งปัญหาเรื่องการปัสสาวะรดที่นอน

บางครั้งความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นแค่การเปลี่ยนผ่านช่วงวัยในชีวิต โดยดำเนินไปพร้อมการพลิกเปลี่ยนครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์

พาเวล คีโรด์ ผู้กำกับฯหนุ่มได้รับฉายาจากนักวิจารณ์ว่าเป็น “ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ แห่งคิวบา” กับผลงานหนังยาวเรื่องแรกเรื่องนี้ แม้คีโรด์จะออกตัวว่าไม่ได้รับอิทธิพลจากนักทำหนังชั้นครูชาวฝรั่งเศสอย่างทรุฟโฟต์ แต่เป็นงานของ เปโดร อัลโมโดวาร์ และ หว่องกาไว ต่างหากที่เขาชื่นชมยกย่อง ซึ่งจะว่าไปแล้วสีสันสดใสกับบรรยากาศถวิลหา-ย้อนยุคใน The Silly Age ก็น่าจะสนับสนุนคำอ้างของเขาได้ในระดับหนึ่ง

เครดิตที่ดีของ The Silly Age คือการเข้าชิงและคว้ารางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล รวมทั้งเป็นตัวแทนคิวบาชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศประจำปี 2007

หนังอยู่ในโทนอบอุ่นเป็นหลักทั้งบรรยากาศและเรื่องราวผ่านภาพและเสียงเพลง สร้างความสนุกจากกิริยาอาการไร้เดียงสาของตัวละคร เนื้อหาทางการเมืองซึ่งหนังจับช่วงเวลาสุกงอมก่อนที่ ฟิเดล คาสโตร จะโค่นล้มบาติสต้าสำเร็จเป็นเพียงฉากหลังที่ถูกเอ่ยถึง ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อตัวละคร ยกเว้นการตัดสินใจครั้งใหญ่เมื่อคิวบากลายเป็นสังคมนิยม

อันที่จริง เค้าโครงเรื่องราวของ The Silly Age เป็นรูปแบบที่เห็นกันบ่อยครั้งในหนังหลายเรื่อง ไม่ว่าจะในแง่การเติบใหญ่ในช่วงวัยซึ่งเด็กวัยนี้มักจะตื่นเต้นกับประสบการณ์ทางเพศ มีความขัดแย้งไม่ลงรอยกับผู้ปกครอง ขณะเดียวกันก็อาจผูกพันเป็นพิเศษกับผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พ่อ-แม่ของตน หรือในแง่การสะท้อนเปรียบเทียบเรื่องราวในช่วงวัยของตัวละครกับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง

อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้สร้างจะถ่ายทอดโครงสร้างเดิมๆ ดังกล่าวได้อบอุ่นสวยงามในระดับน่าชื่นชมแล้ว การนำเสนอเปรียบเทียบช่วงเวลาสำคัญของคิวบาโดยคนทำหนังชาวคิวบาเองถือเป็นจุดเด่นอันแตกต่างและไม่ได้หาชมกันได้บ่อยๆ

สำหรับคำถามที่ทิ้งไว้ข้างต้นว่า The Silly Age สื่อถึงอะไร หนังไม่ได้ให้คำตอบไว้ชัดเจน แต่เนื่องจากตัวละครที่ “ร้าย” ต่อซามวลคืออลิเซีย เธอลากจูงชีวิตลูกชายตามแต่ใจ หลงใหลในรูปลักษณ์ยั่วยวนทั้งแฟชั่นทันสมัยและดาราฮอลลีวู้ด รวมถึงการที่เธอและราโมนตัดสินใจอพยพไปสหรัฐอเมริกาเมื่อคาสโตรก้าวขึ้นปกครองคิวบา นั่นแสดงว่าภาพร้ายๆ ของเธอได้สะท้อนถึงรัฐบาลบาติสต้าที่ถูกชักใยโดยสหรัฐอเมริกานั่นเอง

The Silly Age สำหรับผู้สร้างจึงหมายถึงช่วงเวลาโง่งมของคิวบาภายใต้ผู้นำเผด็จการจักรวรรดินิยม ก่อนที่ฟิเดล คาสโตร จะปลดปล่อยคิวบาได้สำเร็จ

และเติบโตเป็นผู้ใหญ่จนทุกวันนี้!?!




 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2552
2 comments
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2552 11:41:45 น.
Counter : 2144 Pageviews.

 

The Silly Age นี่ถ้าเป็นอายุของคนคงจัดยากว่าเป็นช่วงไหนกันแน่ แต่มั่นใจว่าคงไม่ใช่เด็กไร้เดียงสา น่าจะเป็นคนที่มีสมองพอจะทำอะไรโง่ๆได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ และถ้าจะให้ครอบคลุมไปกว่านั้นก็จะต้องเป็นผู้ใหญ่ระดับชาติระดับประเทศ ค่าโง่นั้นจึงจะกลายเป็นชื่อยุคสมัยให้ชนหลังได้เห็นเป็นตัวอย่าง "ว่าอย่าทำตาม" ความผิดพลาดในอดีตอีก
เป็นหนังที่น่าดูนะครับ

 

โดย: beerled IP: 202.176.66.114 21 กุมภาพันธ์ 2552 14:52:12 น.  

 

The Silly Age ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ แต่เห็นโปสเตอร์มีขาคู่เรียวอย่างนี้ไม่นึกว่าจะไปเกี่ยวโยงถึงการเมืองด้วย ^^

แต่เห็นแล้วนึกถึงหนังเรื่อง Black Book ที่นางเอกซ้อนท้ายจักรยานอวดขาขาวอวบท่ามกลางพี่ๆทหาร



และเห็นชื่อ ฟิเดล คาสโตร ก็นึกถึง เช เกวารา ที่ผัดผ่อนการดูหนังแกมาหลายหนแล้ว

 

โดย: renton_renton 22 กุมภาพันธ์ 2552 16:14:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
21 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.