It's Hard to Be Nice สักวันต้องได้ดี




It's Hard to Be Nice
สักวันต้องได้ดี

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 20 กรกฎาคม 2551


*สำหรับใครบางคน...การประคับประคองชีวิตให้อยู่ในร่องรอยที่ดีช่างเป็นเรื่องยากเย็นเต็มที

ฟูโด หนุ่มใหญ่พ่อลูกอ่อนทำงานเป็นคนขับรถแท็กซี่ในกรุงซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มีรายได้พิเศษจากงานผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลอบพาชาวเคิร์ดเข้าเมือง ส่งของร้อน ชี้เป้าและช่วยขับรถให้แก๊งปล้น

งานช่วยแก๊งปล้นหนล่าสุดเกิดความผิดพลาดจนฟูโดถูกซ้อมเลือดอาบ ซ้ำยังเสียรถแท็กซี่หากิน อัซราซึ่งไม่เคยเห็นดีเห็นงามกับการทำงานสกปรกของสามีจึงหมดความอดทน หอบลูกน้อยหนีไป

ความสูญเสียทำให้ฟูโดตระหนักว่าเขาควรเริ่มต้นใหม่ หันหลังให้งานสกปรก ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงามเพื่อให้เมียรักและลูกได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง

ฟูโดกู้เงินก้อนใหญ่จากเซโย ผู้กว้างขวางที่หากินกับธุรกิจนอกกฎหมายเพื่อถอยรถแวนคันใหญ่มาทำเป็นแท็กซี่ เขางอนง้ออัซราจนยอมคืนดี ชีวิตเริ่มเข้ารูปเข้ารอยพร้อมกับความรักความอบอุ่นในครอบครัวที่เคยห่างหายไปเนิ่นนานกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม เพราะหนี้ก้อนใหญ่ทำให้เซโยพยายามดึงฟูโดเข้าสู่วงจรมืดอีกครั้ง แม้จะปฏิเสธเด็ดขาดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เล่ห์เหลี่ยมของเซโยก็ล่อลวงฟูโดจนพลาดพลั้งเข้าจนได้

ยังมีเรื่องเลวร้ายอีกเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อฟูโดต้องยอมให้หมอตรวจพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่พ่อของเด็กทารกซึ่งเกิดจากหญิงสาวท้องแก่ที่เขาขับพามาส่งโรงพยาบาล และผลตรวจที่ออกมาทำให้ฟูโดแทบเสียสติ

เรื่องราวดังกล่าวอยู่ใน It's Hard to Be Nice หรือ Tesko je biti fin หนังปี 2007 จากบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาโดย เซอร์ยาน วูเลติช หนึ่งในคนทำหนังรุ่นใหม่มาแรงของบอลข่าน ถ้านับเฉพาะผู้กำกับฯชาวบอสเนียนก็อาจเป็นรองแค่ ดานิส ทาโนวิช เจ้าของหนังดังเรื่อง No Man’s Land (2001) และ ยาสมิลา ซบานิช จากเรื่อง Grbavica (2007) ไม่นับ อีมีร์ คูสตูริซา (Underground, 1995) ขาใหญ่ขึ้นหิ้งซึ่งเกิดในซาราเยโว แต่หันหลังให้บ้านเกิดไปอยู่ในเซอร์เบีย

ว่าไปแล้วเนื้อหาว่าด้วยคนใฝ่ดีถูกต้อนให้จนมุม หรือ “ทำดีทำยาก ทำชั่วทำง่าย” ถือเป็นพล็อตพื้นฐานของหนังและละคร ส่วนใหญ่จะออกแนวดราม่าชีวิตรันทด บางเรื่องอาจถึงขั้นชวนหดหู่ไปกับชะตากรรมของตัวละครเบี้ยล่างไร้ทางสู้ แต่สำหรับ It's Hard to Be Nice ไม่ได้บีบคั้นอารมณ์ขนาดนั้น เหตุการณ์ยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับตัวละครถูกคลี่คลายไปในเวลารวดเร็ว มีช่วงตึงเครียดมากที่สุดในช่วงท้ายแต่ก็เพียงเวลาไม่นาน

*เมื่อประกอบกับมุขตลกเล็กๆ น้อยๆ เป็นระยะ กับบุคลิกของตัวละครฟูโดซึ่งมักจะมีรอยยิ้มปรากฏให้เห็น แม้จะดูซื่อๆ แต่ก็ใจกล้า ไม่ยอมคน ทำให้อารมณ์โดยรวมของหนังไม่เคร่งเครียดกดดันมากนัก

กระทั่งมองเห็นว่าผู้สร้างใส่ทัศนคติการมองโลกแง่ดีลงไปในหนัง โดยมีความหวังวางอยู่ที่เป้าหมาย ทั้งเป้าหมายของผู้สร้างเอง และของผู้ชมซึ่งอาจซึมซับรับสารที่หนังนำเสนอ

แม้จะมีพล็อตค่อนข้างซ้ำกับหนังจำนวนมาก แต่ It's Hard to Be Nice มีความพิเศษตรงฉากหลังที่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นกรุงซาราเยโว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ดินแดนแห่งความขัดแย้งสู้รบและการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างคนที่เคยอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันในช่วงปี 1992-1995 หรือที่เรียกว่าสงครามบอสเนีย มีผู้เสียชีวิตรวมกันนับแสนราย บ้านเมืองล่มสลาย

ฉากต่างๆ ในหนัง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านเรือนจึงเต็มไปด้วยร่องรอยความเสียหาย อิฐปูนแตกร้าว มีสีเปรย์ฉีดพ่นเลอะเทอะ สิ่งปลูกสร้างถูกทิ้งร้างตายซาก

เหตุการณ์ยุ่งยากเลวร้ายจากพวกมิจฉาชีพที่ตัวละครฟูโดต้องเผชิญจึงไม่ได้เป็นแค่พล็อตของเรื่องราวอันซ้ำซาก แต่สามารถนำไปวางทาบเปรียบเทียบได้กับสภาพเสื่อมโทรมของซาราเยโวหลังสงครามซึ่งผู้คนที่นี่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน

นอกจากนี้ เรื่องราวของคนที่ตั้งใจตั้งหลักเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีกว่าเก่าจึงสื่อถึงความหวังอันเป็นเป้าหมายของผู้สร้างซึ่งต้องการให้ผู้ชมซึมซับรับรู้ว่า ซาราเยโว บอสเนียฯ และผู้คนในดินแดนนี้หลังผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดมาแล้วย่อมสามารถพบเจอสิ่งดีงามได้อีกครั้ง หากยังยึดมั่นและเลือกทางเดินที่ถูกต้อง

หนังมีรายละเอียดให้เก็บงำคิดตามอยู่มากมาย โดยเฉพาะส่วนที่สื่อถึงทัศนคติของชาวบอสเนียนปัจจุบัน เช่นในบทสนทนาระหว่างฟูโดกับหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่จ้างเขาขับรถพาเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นจุดลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งราชอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี กระทั่งเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 สะพานข้ามแม่น้ำเนเรตวาซึ่งถูกพวกโครแอททำลายระหว่างสงคราม หรือพิพิธภัณฑ์จอมพลติโตผู้รวมชาติยูโกสลาเวีย

ฟูโดบอกว่าผู้คนที่นี่ไม่สนใจเรื่องเก่าๆ พวกนี้แล้ว

ยังมีสถานที่จัดแข่งเลื่อนหิมะในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1984 ถือเป็นครั้งแรกของโอลิมปิกฤดูหนาวและเป็นครั้งที่สองของกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศสังคมนิยมได้เป็นเจ้าภาพ สร้างรอยยิ้มและความภาคภูมิใจแก่ชาวบอสเนียนอย่างยิ่ง แต่บัดนี้ถูกทิ้งร้างไร้คนเหลียวแล เช่นเดียวกับป้ายขนาดใหญ่ที่มีรูปตัวนำโชคและสัญลักษณ์โอลิมปิกครั้งนั้นหลงเหลือหลบสายตาผู้คนในสภาพสีสันหม่นหมอง มองเห็นรูกระสุนกระจายอยู่ทั่วไป

สงครามกลางเมืองครั้งร้ายแรงระหว่างคนในชาติเดียวกันได้ลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างให้เหลือเพียงประวัติศาสตร์อันไร้คุณค่าความหมาย

แต่ในเมื่อเรื่องราวยังดำเนินต่อไปอย่างมีความหวัง การเริ่มต้นประวัติศาสตร์บทใหม่ก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2552
2 comments
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2552 0:18:00 น.
Counter : 1488 Pageviews.

 


หนังที่เพิ่งได้ดูแล้วชอบ




Tony Manero (Pablo Larrain, 2008, Chile)





Eldorado (Bouli Lanners, 2008, Belgium)



 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 6 กุมภาพันธ์ 2552 7:17:04 น.  

 

อยากดู Eldorado ค่ะ ... โปสเตอร์สวยอีกต่างหาก ^^

 

โดย: renton :: IP: 125.26.127.223 8 กุมภาพันธ์ 2552 6:47:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
5 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.