Bonjour Monsieur Shlomi ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่



Bonjour Monsieur Shlomi
ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 30 กรกฎาคม 2549


* Bonjour Monsieur Shlomi หนังอิสราเอลปี 2003 โดยผู้กำกับฯ เชมี่ ซาร์ฮิน(Shemi Zarhin) อาจจะไม่ใช่หนังดีเยี่ยม แต่มักจะถูกกล่าวถึงในฐานะหนังขวัญใจผู้ชมเมื่อได้ไปฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลก รวมทั้งเมื่อฉายในบ้านเราในงานบางกอกฟิล์ม 2005

ชโลมี่ เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ที่คนอื่นมองว่ามีความผิดปกติในเรื่องการอ่านการเขียนมาตลอด ถูกค้นพบโดยครูใหญ่ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ ครูใหญ่คิดจะส่งเขาไปเรียนในสถานที่เฉพาะสำหรับเด็กลักษณะนี้ที่เมืองไฮฟา แต่ติดปัญหาว่าแม่ของเขาคงไม่ยอม และตัวชโลมี่เองก็ไม่อยากไปไกลจากบ้าน

บ้านที่สุดแสนจะวุ่นวายของชโลมี่ ประกอบด้วยแม่ผู้เจ้ากี้เจ้าการ ชอบกะเกณฑ์ชีวิตลูกๆ เธอเพิ่งไล่พ่อของชโลมี่ออกจากบ้านหลังจากจับได้ว่าแอบไปกุ๊กกิ๊กกับสาวเชื้อสายโมร็อคโก ขณะที่ โดรอน พี่ชายของชโลมี่เป็นทหารนิสัยอวดดี และชอบมีปากเสียงกับแม่เป็นประจำ

สมาชิกในบ้านที่เข้าใจและเป็นเพื่อนชโลมี่ได้ดีที่สุดกลับกลายเป็นคุณปู่ผู้ป่วยไข้ ท่าทางงกๆ เงิ่นๆ และพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง มักจะพร่ำเพ้อถึงอดีตนายกรัฐมนตรี เมนาเคม เบกิน อยู่เสมอ ทั้งสองเหมือนมีโลกส่วนตัวร่วมกัน พวกเขาทักทายกันด้วยภาษาฝรั่งเศสทุกวัน ชโลมี่เป็นคนเดียวที่คอยดูแลและพูดคุยกับคุณปู่ ขณะที่คุณปู่แอบให้ความช่วยเหลือชโลมี่โดยที่เจ้าตัวไม่รู้

นอกจากสมาชิกในบ้านอย่างแม่และพี่ชายที่เอาแต่ใจตนเองโดยมีชโลมี่เป็นที่รองรับอารมณ์แล้ว เขายังต้องเป็นคนกลางเวลาพ่อมาตามง้อแม่ เป็นคนคอยไกล่เกลี่ยยามพี่สาวทะเลาะกับสามีแล้วหอบผ้าหอบผ่อนกลับมาบ้าน ยังไม่นับหน้าที่ประจำของชโลมี่อีกอย่างคือเขาต้องรีบกลับจากโรงเรียนเพื่อหุงหาอาหารให้ทุกคนกิน

ภาระมากมายเหล่านี้ทำให้ชโลมี่นึกภาพไม่ออกว่าถ้าตนเองไม่อยู่เสียคนหนึ่ง บ้านจะเป็นเช่นไร...บ้านที่แทบไม่มีใครเอาใส่ใจเขาเลย

* สำหรับชีวิตส่วนตัว ชโลมี่เพิ่งถูกแฟนสาวบอกเลิก แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง เขาได้พบกับ โรน่า หญิงสาวอายุ 17 ปี ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ข้างบ้าน ทั้งสองดูจะแอบชอบพอกัน ติดตรงที่ชโลมี่เข้าใจว่าเธอเป็นแฟนของเพื่อนสนิทพี่ชาย

แม้อะไรๆ ดูจะไม่เป็นใจไปซะหมด แต่เด็กหนุ่มวัย 16 อย่างชโลมี่ก็ต้องตัดสินใจให้ได้ว่าเขาจะจัดการกับชีวิตอย่างไรต่อไป ทั้งต่อครอบครัว ความรัก และอนาคตของตนเอง

Bonjour Monsieur Shlomi เป็นหนัง “เติบใหญ่ในช่วงวัย” หรือ coming-of-age ที่นำเสนอในแนวทางคอมิดี้ ทำให้เนื้อหาที่ค่อนข้างหนักแปรเป็นความสนุกเพลิดเพลิน ฉากตัวละครทะเลาะกันซึ่งมีหลายต่อหลายฉากกลายเป็นฉากชวนหัว แม้จะเป็นหนังเมโลดราม่าที่มีร่องหลุมเรื่องบทอยู่พอสมควร แต่ด้วยภาพรวมของหนังที่ดูน่ารักอบอุ่น ทำให้มองข้ามข้อด้อยจำนวนหนึ่งไปได้

ออชรี่ โคเฮน(Oshri Cohen) นักแสดงนำในบทชโลมี่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง คือจุดเด่นสำคัญของหนัง เขามีบุคลิกอ่อนโยนแต่เข้มแข็ง ทั้งยังดูฉลาดแบบไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ช่วยให้ผู้ชมเอาใจช่วยได้ไม่ยาก

เมื่อคราวหนังเรื่องนี้มาฉายในบางกอกฟิล์ม 2005 ออชรี่ในวัย 21 ปี เดินทางมาร่วมพูดคุยกับผู้ชมด้วย เขาบอกว่าถ่ายหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2001 หรือตอนอายุเพียง 17 ปี ผู้เขียนจำได้ว่าผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเต็มโรงภาพยนตร์ลิโดในวันนั้นให้ความชื่นชมเขามากทีเดียว

จุดที่น่าสนใจและเห็นว่าหนังเน้นเป็นพิเศษคือ สัจพจน์อมตะของ เรอเน เดส์การ์ตส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 17 ที่ว่า “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (I think, therefore I am) โดยเริ่มตั้งแต่ฉากแรกหลังจากชโลมี่โดนแฟนสาวบอกเลิก เขามองไปที่หุ่นเปเปอร์มาเช่ที่มีท่าทางเหมือนคนกำลังนั่งคิด มีป้ายเขียนข้อความดังกล่าวแขวนอยู่ หลังจากนั้น ข้อความและหุ่นตัวนี้ยังปรากฏในช่วงท้ายๆ อีกครั้ง ในตอนที่ชโลมี่หาคำตอบเกี่ยวกับอนาคตตนเอง

* ลักษณะหุ่นกำลังนั่งคิดที่ว่าก็คือการเลียนแบบรูปปั้น “นักคิด” หรือ The Thinker ของออกุสต์ โรแดง ที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ปัญญาหรือเหตุผลอยู่เสมอ ขณะที่ข้อความของเดส์การ์ตส์เป็นแนวทางของปรัชญาลัทธิเหตุผลนิยม ว่าด้วยภาวะการดำรงอยู่แห่งความจริงแท้โดยเริ่มจากตัว “ฉัน”

เห็นอย่างนี้หนังไม่ได้นำเสนอปรัชญาเข้าใจยากแต่อย่างใด ผู้สร้างน่าจะต้องการเปรียบเทียบกับตัวละครส่วนใหญ่ที่ชอบคิดถึงแต่ตนเอง หรือคิดและตัดสินคนอื่นโดยเอาตัวเองเป็นใหญ่ ตรงกันข้ามกับชโลมี่ที่มัวแต่คิดห่วงคนโน้นคนนี้จนไม่คิดถึงตนเอง และทำให้ยังติดค้างอยู่ตรงจุดเดิม ไม่อาจขยับลุกไปไหนได้เสียที

อีกจุดที่น่าสนใจคือประเด็นทางสังคม-การเมืองอิสราเอล โดยหนังให้แม่เป็นคนมีอคติกับชาวยิวเชื้อสายโมร็อคโก(ปู่ พ่อ และโรน่า) ตามประวัติศาสตร์ชาวยิวที่อพยพมาจากแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง หรือที่เรียกกันว่า “ยิวตะวันออก” เคยยุติบทบาททางการเมืองของชาวยิวจากยุโรปด้วยชัยชนะของพรรคลิคุด และส่งให้ เมนาเคม เบกิน(ซึ่งคุณปู่ของชโลมี่เอ่ยถึงเสมอ) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 1977

ความขัดแย้งระหว่างแม่กับคนอื่นๆ จึงน่าจะมีแง่มุมหรือมิติทางสังคม-การเมืองแฝงอยู่ด้วย




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2549
3 comments
Last Update : 17 ตุลาคม 2549 19:20:00 น.
Counter : 2360 Pageviews.

 

ฉันมา ฉันเห็น ฉันเข้าใจ

 

โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ 17 ตุลาคม 2549 23:42:53 น.  

 

ดูตอนเทศกาลอ่ะค่ะ
แต่คงคนละรอบกัน
เพราะมะเห็นมีน้องชโลมี่มาคุยกะเราเลย
ไม่ก้อ......
หนังจบก็ลุกเลย ไม่รอคิวแอนด์เอ

หนังดูสนุกดีค่ะ
มีแง่มุมให้คิดด้วย

 

โดย: วันนี้ มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง (renton_renton ) 18 ตุลาคม 2549 0:38:30 น.  

 

เห็นโทนสีของหนังออกเหลืองๆอุ่นๆ นึกว่าเป็นหนังเก่า(นึกไปถึงบลูลากูนได้ไงก็ไม่รู้)
นางเอกก็สวยใสแบบย้อนอดีตนิดๆ แต่ก็สวยหวานมากอยู่ดี น่าดูครับ(หนังนะ นางเอกด้วย)

 

โดย: sTRAWBERRY sOMEDAY 18 ตุลาคม 2549 11:11:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
17 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.