รัก-ออกแบบไม่ได้...กับหลากหลายความสัมพันธ์




รัก-ออกแบบไม่ได้
กับหลากหลายความสัมพันธ์

พล พะยาบ


*เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน 5 คน ที่ได้มาพบเจอกันในรั้วมหาวิทยาลัย ก่อนเกิดจุดผันแปรเพราะความรักฉันชู้สาวของฝ่ายที่ไม่รู้จักควบคุม ดูจะเป็นโครงเรื่องที่ไม่น่าสนใจเท่าใดนัก โดยเฉพาะถ้า “รัก-ออกแบบไม่ได้” เป็นเพียงหนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งซึ่งผู้สร้างไม่ใช่แกรมมี่ภาพยนตร์ที่มี ยุทธนา มุกดาสนิท เป็นหัวเรือใหญ่ และไม่มีดาราอย่าง ทาทา ยัง เร แม็คโดแนลด์ และชาคริต แย้มนาม เป็นแรงดึงดูด กระทั่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นก็คงไม่รู้สึกอยากซื้อตั๋วเข้าไปชม

แต่เมื่อ “รัก-ออกแบบไม่ได้” (O-Negative) เป็นผลผลิตของแกรมมี่ภาพยนตร์และมีดาราทั้งสามนำแสดง แน่นอนว่าจะได้รับความสำเร็จด้านรายได้ในระดับหนึ่ง แต่ความแน่นอนอีกอย่างหนึ่งที่จะตามมาก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงหนังสำหรับวัยรุ่น วนเวียนอยู่ในอ่างหนังไทยที่ขอคว้าวัยรุ่นเป็นสิ่งยึดเกาะที่แน่นอนไว้ก่อน

ผู้เขียนมองว่า แม้ “รัก-ออกแบบไม่ได้” จะเป็นการวนเวียนอยู่ในอ่างหนังไทย แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวที่สวยงามและน่าจะได้รับการสนับสนุนโดยปราศจากอคติ

อาร์ท ปืน ปริม ฝุ่น และชมพู่ ชาย 2 หญิง 3 แห่ง “เพื่อนกลุ่มโอ” มีเลือดกรุ๊ปเดียวกัน เรียนคณะเดียวกัน เป็นกลุ่มเพื่อนที่โดดเด่นที่สุด ก่อนจะเกิดเหตุการณ์รักสามเส้า-สี่เส้าที่ทำให้ความสัมพันธ์ดั้งเดิมต้องเปลี่ยนไป

วาณิช จรุงกิจอนันต์ ในฐานะผู้เขียนบทสานโครงเรื่องข้างต้นที่ไม่น่าสนใจนักให้เกิดความกระชับกลมกลืนและมุ่งไปสู่แก่นของหนังได้โดยไม่สะเปะสะปะ และสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นจุดเด่นของบทหนังคือ การวางพื้นฐานของตัวละคร สถานการณ์ รวมทั้งรายละเอียดเล็กๆ เพื่อให้ทุกๆ ฉากของหนังมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป ไม่ขาดห้วนหรือเกินล้นซึ่งมักพบในหนังไทยส่วนใหญ่ โดยมี ภิญโญ รู้ธรรม ในฐานะผู้กำกับฯรับช่วงควบคุมอารมณ์ของหนังได้อย่างดี

ที่โดดเด่นที่สุดคือ การเติมแต่งความสัมพันธ์ “พิเศษ” ระหว่างเพื่อนแต่ละคน เพื่อส่งเสริมโครงเรื่องและแก่นแกนหลัก

อาร์ท (เร แม็คโดแนลด์) ชายหนุ่มที่รักการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ ชอบ “เก็บ” สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไว้ในภาพถ่าย ทั้งเก็บไว้ดูเล่น เพื่อเลี้ยงปากท้อง และเพื่อทำวิทยานิพนธ์ เขามีความรู้สึกพิเศษกับปริม (ทาทา ยัง) แต่เป็นความรู้สึกที่ต้อง “เก็บ” ไว้ภายในใจไม่ผิดกับการ “เก็บ” ไว้ในภาพถ่าย เพราะรู้ว่าเพื่อนสนิทคือปืนก็ชอบปริมเช่นกัน

*เมื่อการเก็บภาพคือชีวิตจิตใจของอาร์ท การ “เก็บ” ปริมไว้ในภาพถ่ายจึงหมายถึงการ “เก็บ” ส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจด้วย และเมื่อวิทยานิพนธ์ของอาร์ทคือการถ่ายภาพอุบัติเหตุ นั่นเท่ากับอาร์ทได้เข้าถึงปริมได้มากกว่าที่ปืนเปิดเผยความรู้สึกด้วยซ้ำ เพราะเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับปริม และอาร์ทได้บันทึกภาพไว้

อุบัติเหตุแรกเกี่ยวกับปริมที่อาร์ท “เก็บ” บันทึกไว้คือ อุบัติเหตุที่ปริมล้มลงขณะถูกลงโทษให้ขับรถปลอมรอบมหาวิทยาลัย อุบัติเหตุที่สองคืออุบัติเหตุที่ทำให้แม่ของปริมซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่มีค่าในชีวิตของเธอเสียชีวิต อาร์ททำให้ปริมพบเห็นอุบัติเหตุนั้น และเขาเป็นคนแรกที่รู้ว่าหญิงผู้โชคร้ายนั้นคือแม่ของปริม โดยมองผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป

ภาพถ่ายมีความหมายอีกครั้งเมื่อปืนบอกอาร์ทว่าปืนจูบปริม อาร์ทถึงกับเผลอ “ตัด” ภาพถ่ายจนเสียหาย ในนาทีนั้นอาร์ท “ตัดใจ” และ “ตัดสินใจ” ไปอเมริกา

สุดท้ายปริมได้ไปหาอาร์ทที่อเมริกา และไม่เพียงแค่นั้น เธอยังได้เข้าไปอยู่ในภาพถ่ายร่วมกับอาร์ทด้วย เป็นภาพที่ทำให้เพื่อนได้รู้ความจริงระหว่างเธอกับเขา หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเข้าไปอยู่ในชีวิตของกันและกัน

ปืน (ชาคริต แย้มนาม) ชายหนุ่มที่เติบโตในครอบครัวอบอุ่นและร่ำรวย เขามีความรู้สึกพิเศษต่อปริมเช่นเดียวกับอาร์ท แต่ต่างกันตรงที่ปืนเปิดเผยความรู้สึกให้ปริมรู้ ขณะที่ฝุ่นเพื่อนสาวอีกคนในกลุ่มก็แอบรักปืนอยู่

กับความรู้สึกของปืนที่มีต่อปริม เขามักจะรำพันให้อาร์ทฟังว่าเขาไม่มั่นใจว่าตนเองรู้สึก “รัก” หรือ “สงสาร” ปริมกันแน่ โดยเฉพาะหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับแม่ปริม เพียงแค่ความรู้สึกที่ให้กับปริมก็เป็นความรู้สึกที่ไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงสิ่งของที่เขาให้กับปริม ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่อาจยึดฉวยได้อย่างมั่นคง

ตั้งแต่ดอกไม้ซึ่งย่อมมีวันเหี่ยวเฉา ภาพถ่ายที่เขาไม่ได้เป็นผู้ถ่าย การยอมเป็นแบบเพนท์สีให้ฝุ่นตามคำขอของปริม ยิ่งผิวเผินและห่างไกลกับการแสดงความรัก

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่ปืนให้กับฝุ่น แม้ว่าสิ่งแรกจะเป็นไปด้วยความพลั้งเผลอ แต่ก็เป็นสิ่งมีค่าที่สุด เพราะนั่นคือ “ชีวิต” ที่เกิดจากเลือดเนื้อของคนทั้งสอง

ฝุ่น (มนัสวี กฤตานุกูลย์) หญิงสาวซึ่งมีพื้นฐานครอบครัวเพียบพร้อมเหมือนกับปืน ต่างจากปริมซึ่งกำพร้าพ่อและต่อมาต้องสูญเสียแม่ ฝุ่นและปริมเป็นคู่เพื่อนที่มีความสัมพันธ์พิเศษ กล่าวคือฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ให้เมื่ออีกฝ่ายต้องสูญเสีย

วันเกิดของฝุ่นสองครั้งกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกลุ่มโอ ครั้งแรกเป็นวันเดียวกับวันเสียชีวิตของแม่ปริม จากนั้นปืนเริ่มเปิดเผยความรู้สึกที่เขามีต่อปริม นั่นคือจุดเริ่มสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในกลุ่ม วันเกิดครั้งที่สองคือจุดสิ้นสุดของผลสืบเนื่องจากวันเกิดครั้งแรก เพราะฝุ่นรู้ความจริงว่าปืนรักปริม ปริมยอมจากไปอเมริกา แต่ขณะเดียวกัน ผลจากการแตกหักของความสัมพันธ์ดั้งเดิมก็เป็นจุดเริ่มความสัมพันธ์มั่นคงแบบใหม่ระหว่างปืนกับฝุ่น และอาร์ทกับปริมด้วย

เมื่อโยงวันเกิดอีกครั้งหนึ่งคือวันเกิดลูกในท้องฝุ่น การที่ฝุ่นยอมยุติ “วันเกิด” นี้แลกกับการให้ปริมมีความสุขกับปืน ผลที่เกิดขึ้นกลับย้อนมาให้เธอต้องเป็นฝ่ายรับอีกครั้ง และเป็นการรับที่หมายถึง “ชีวิต” เพราะเป็นเลือดที่ปริมมอบให้ฝุ่น ฝุ่นจึงมอบ “ชีวิต” คืนให้ปริมเช่นกัน นั่นคือแกลเลอรี่เล็กๆ ในชุมชน ซึ่งเป็นความฝันของปริมที่ต้องการมอบให้แม่ (ที่เป็นดั่งชีวิต) ของเธอ

*การ “ให้” ของทั้งสองจึงเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่เท่าที่เพื่อนรักจะพึงให้กันได้

เมื่อมองความสัมพันธ์ของชมพู่ (ศรีพรรณ ชื่นชมบูรณ์) หญิงสาวผู้ต้องการก้าวเดินบนเส้นทางนักเขียน กับเพื่อนๆ ในกลุ่ม แม้ว่าเธอจะอยู่นอกวงเวียนรักสามเส้า-สี่เส้าของเพื่อนๆ แต่ด้วยบทบาทของเธอเพียงสองครั้ง กลับมีความสำคัญในลักษณะศูนย์รวมความเข้าใจ อย่างที่เธอเปรียบตนเองว่าเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำใหญ่จุดบรรจบของปิง วัง ยม น่าน

บทบาทแรกเป็นบทบาทที่ชมพู่รู้สึกว่าเธอโดดเด่นเหมือนนางเอก เพราะเป็นวันเกิดของเธอในวันรับน้องวันสุดท้าย เพื่อนๆ ทุกคนร่วมกันร้องเพลงอวยพรให้เธอภายใต้บรรยากาศแห่งความเป็นมิตรและความเข้าใจ วันเกิดของชมพู่จึงให้ผลลัพธ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวันเกิดของฝุ่น อีกบทบาทหนึ่งคือ การที่เธอถ่ายทอดเรื่องราวของ “เพื่อนกลุ่มโอ” ออกมาเป็นนิยายและได้เผยแพร่ในวงกว้างบนหน้านิตยสาร กระทั่งให้เราซึมซับรับรู้ไปพร้อมกัน

จากความสัมพันธ์ของทั้ง 5 ตัวละคร เห็นได้ว่าหนังสามารถแชร์ความสำคัญได้อย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีบทบาทของตนเอง และบทบาทนั้นล้วนแต่มีผลกระทบต่อเพื่อนๆ ในกลุ่มทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เมื่อหนังสามารถเสนอจุดสำคัญนี้ได้ ประกอบกับองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งการแสดง การถ่ายภาพ-ตัดต่อ และเพลงประกอบ “รัก-ออกแบบไม่ได้” จึงอบอวลด้วยมิตรภาพที่ผู้ชมทุกคนคงระลึกถึงหรือใฝ่หา

ถ้าจะใส่หนังไทยสักเรื่องหนึ่งในอันดับ “หนังประทับใจ” ประจำตัว... “รัก-ออกแบบไม่ได้” คงสวยงามพอในพื้นที่นั้น

โดยไร้การ "ออกแบบ" (อคติ) ใดๆ ล่วงหน้า




 

Create Date : 15 มีนาคม 2551
11 comments
Last Update : 15 มีนาคม 2551 0:14:40 น.
Counter : 39475 Pageviews.

 




งานในยุค "ฝึกเขียน" ครับ ลงในคอลัมน์ "ที่ตรงนี้คุณเขียน" ใน Starpics Movie Edition ฉบับที่ 478 มกราคม ปี 2542 เป็นชิ้นแรกที่ส่งมาที่นี่ เพราะก่อนหน้านั้น ผมจะส่งไปที่คอลัมน์ "เวทีวิจารณ์" ใน Cinemag ยุค บก.ประไพพรรณ และ "ตีตั๋ว"

ที่เขียนถึง "อคติ" เพราะช่วงต้นยุค 2540 หนังไทยหลุดพ้นจากกระแสหนังวัยรุ่นของทศวรรษก่อน แนวหนังมีความหลากหลาย ไม่เน้นหวานแหวววัยหวานอีกแล้ว "รัก-ออกแบบไม่ได้" ซึ่งหน้าหนังเป็นหนังรักวัยรุ่นขายดาราจึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองแบบดูแคลน และปฏิเสธไว้ก่อน

อีกอย่างที่มองเห็นจากบทวิจารณ์นี้คือ ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เบื้องหลังว่าบทหนังดั้งเดิมเป็นของใครบางคน ซึ่งถูกแกรมมี่ฟิล์มเอาไปดัดแปลงแบบมัดมือชก กว่าที่คนทั่วไปจะรู้เรื่องนี้ก็เมื่อชื่อของ "ยุทธเลิศ สิปปภาค" เป็นที่รู้จักแล้วในอีก 2-3 ปีต่อมา

ปกวีซีดีลงข้อความใต้ชื่อหนังว่า

"2 รางวัลพระสุรัสวดี – 6 รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง – 9 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ – 5 รางวัล Cinemag Spirit Award ครั้งที่ 3"

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 15 มีนาคม 2551 0:12:42 น.  

 

คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ

[ของตกแต่งโดนๆคลิกเลย] ขอเป็นกำลังใจให้คนทำหนัง เรื่องนี้ ดีนะให้แนวคิดความรัก ชอบ

 

โดย: Sweet IP: 61.19.249.107 15 มีนาคม 2551 10:28:57 น.  

 

งานเขียนเก่า
แต่ม่วนก็ยังไม่เคยดูแหละ หนังเรื่องนี้
ม่วนล่ะเช้ย เชย (ตามเคย)


ปล.มีอะไรน่าตื่นเต้นวันศุกร์ที่ 21 นี้ด้วยแหละคุณเอ้!!!!

 

โดย: ม่วนม่วนม่วน. IP: 125.24.236.98 16 มีนาคม 2551 9:06:27 น.  

 


^
^
ดีใจด้วย

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 16 มีนาคม 2551 12:51:44 น.  

 

ตอนนี้ยังมีแผ่นให้ดูอยู่หรือเปล่าหนอ..
ตอนนั้นผมก็มองหนังเรื่องนี้ด้วยอคติเหมือนกัน

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.74.181 16 มีนาคม 2551 14:30:14 น.  

 

 

โดย: aaa IP: 124.120.25.109 18 มีนาคม 2551 2:25:08 น.  

 

ยังไม่ได้ดูเลยค่ะเรื่องนี้

 

โดย: renton_renton 19 มีนาคม 2551 8:37:48 น.  

 

ทำไมถึงออกแบบไม่ได้ละฮับ



พยายามหน่อย สถาปนิกแห่งความรัก

 

โดย: ปุถุซน 19 มีนาคม 2551 12:43:41 น.  

 

ขอบคุณมากครับสำหรับสำเนา ^^
ไว้ติดต่อกันอย่างไรดีหนอ

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.67.31 20 มีนาคม 2551 10:49:24 น.  

 

เขียนดีมากค่ะ อ่านแล้วอยากจะหยิบหนังขึ้นมาดูอีกจัง ชอบตอนที่เขียนถึงอาร์ตอ่านแล้วรู้สึกว่า
ตอนเราดูหนังเหมือนเรายังดูไม่ละเอียดพอ

 

โดย: mary jane IP: 171.97.163.210 27 มีนาคม 2555 0:17:28 น.  

 

โอเนกาทีฟ รักออกแบบไม่ได้ O-Negative งานเขียนโดย วาณิช จรุงกิจอนันต์ และ ยุทธนา มุกดาสนิท ภาพยนตร์ที่เคยโด่งดังเมื่อ 17 ก่อน จาก ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค มาทำเป็นละคร กับเรื่องราวของ 5 เพื่อนสนิท ปริม , อาร์ท, ปืน, ฝุ่น และ ชมพู่ ที่มีกรุ๊ปเลือดเดียวกัน คือ O (โอ) แต่มีเพียง ปริม กับ ฝุ่นที่จัดอยู่ในกลุ่มเลือด โอเนกาทีฟ โดยมีเรื่องราวความรักมาคล้องเกี่ยว เมื่อ...เพื่อนกลุ่มเดียวกัน เลือดกรุ๊ปเดียวกัน และ คนรัก คนเดียวกัน
โอเนกาทีฟ รักออกแบบไม่ได้ นำแสดงโดยนักแสดงวัยรุ่นชื่อดัง อาทิ ต่อ-ธนภพ, เก้า-จิรายุ, เก้า-สุภัสสรา, วิโอเลต วอเทียร์ และ ก้อย-อรัชพร จะออกอากาศให้แฟน ๆ ได้รับชมกันทางช่อ GMM25 เร็ว ๆ นี้ ห้ามพลาด สามารถรับชมได้ที่ลิงค์นี้ครับ //goo.gl/SZwJRp

 

โดย: เหนื่อย กว่าจะตั้งชื่อได้ 29 เมษายน 2559 20:42:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.