Lights in the Dusk โลกย้อนเวลาของ‘เคาริสมากิ’ กับเรื่องเล่าคนชายขอบ




Lights in the Dusk
โลกย้อนเวลาของ‘เคาริสมากิ’
กับเรื่องเล่าคนชายขอบ

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 7 และ 14 ตุลาคม 2550


*โคยสติเนน ชายร่างเล็กผู้เงียบขรึม ทำงานเป็นพนักงานของบริษัทรักษาความปลอดภัยยักษ์ใหญ่ กิจวัตรประจำวันคือเดินตรวจตรายามค่ำคืน และตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ เขาอาศัยในห้องพักตามลำพัง ไม่มีเพื่อน นอกจากเพื่อนร่วมงานที่ชอบมองเขาเป็นตัวตลก เขาไม่รู้วิธีหาผู้หญิงมาเคียงข้าง จะมีก็แต่คนขายอาหารในเพิงข้างถนนซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เขาพูดคุยด้วย เขามีแผนทำธุรกิจ แต่ไม่มีทางที่ธนาคารจะปล่อยเงินกู้ให้คนอย่างเขา

ดูเหมือนชีวิตของโคยสติเนนจะไม่มีความดีงามเลยสักอย่าง นอกจากจิตใจของเขาเอง

วันหนึ่งโดยไม่คาดคิด มีหญิงสาวเข้ามาพูดคุยกับเขา เธอเปรียบเหมือนแสงสว่างยามค่ำคืนที่เขารอคอยมานาน ความเหงาเปิดพื้นที่ว่างให้โคยสติเนนรับหญิงสาวเข้ามาอย่างเต็มใจ โดยหารู้ไม่ว่าหญิงสาวเป็นนางนกต่อให้กับแก๊งมิจฉาชีพที่วางแผนปล้นร้านอัญมณี เพื่อให้สามารถผ่านระบบรักษาความปลอดภัยได้โดยสะดวก

ดูเหมือนชีวิตของโคยสติเนนจะไม่มีความดีงามเลยจริงๆ...

Lights in the Dusk หรือชื่อดั้งเดิมว่า Laitakaupungin valot เป็นผลงานล่าสุดของ อากิ เคาริสมากิ (Aki Kaurismaki) ผู้กำกับฯที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติสูงที่สุดของฟินแลนด์ นับแต่ผลงานเรื่อง Leningrad Cowboys Go America(1989) ต่อด้วย Drifting Clouds(Kauas pilvet karkaavat - 1996) และ The Man Without a Past(Mies vailla menneisyytta - 2002) ซึ่งได้รางวัลสูงสุดลำดับสองที่เมืองคานส์

หนังถูกจัดเป็นภาคสุดท้ายของ “ไตรภาคคนแพ้” หรือ Loser Trilogy ตามหลัง Drifting Clouds ซึ่งว่าด้วยคนตกงาน และ The Man Without a Past ว่าด้วยคนไร้บ้าน ส่วน Lights in the Dusk เป็นเรื่องของความโดดเดี่ยว ก่อนหน้านี้งานของเคาริสมากิเคยถูกจัดกลุ่มเป็นไตรภาคมาแล้วชุดหนึ่ง เรียกว่า “ไตรภาคชนชั้นแรงงาน” หรือ Working-class Trilogy กับเรื่อง Shadows in Paradise(1986) เกี่ยวกับคนเก็บขยะ Ariel (1988) คนงานเหมือง และ The Match Factory Girl(1990) สาวโรงงาน

แม้จะแยกกันเป็น 2 ไตรภาค แต่หากมองภาพรวมของหนังทั้ง 6 เรื่อง ไม่ยากที่จะเห็นจุดร่วมอยู่พอสมควร โดยเฉพาะตัวละครซึ่งล้วนแต่เป็นคนชั้นล่าง หรือคนชายขอบในสังคมสมัยใหม่

นอกจากจะมีจุดร่วมเรื่องฉากหลังของตัวละครแล้ว หนังของเคาริสมากิมีความโดดเด่นเป็นพิเศษตรงบุคลิกของหนังที่เรียบๆ เรื่อยๆ ตัวละครไร้อารมณ์ สอดแทรกตลกร้าย องค์ประกอบงานสร้างต่างๆ ทั้งงานกำกับศิลป์ดูย้อนยุค ใช้สิ่งของสีสดตัดกับการถ่ายภาพโทนมืด ใช้แสงน้อย องค์ประกอบภาพเรียบง่าย ใช้ช็อตพื้นฐาน ไม่หวือหวา การตัดต่อเชื่องช้า ไปจนถึงเพลงประกอบซึ่งมักจะเป็นร็อคแอนด์โรลยุค 60 หรือก่อนหน้านั้น

ที่สำคัญ แม้เนื้อหาจะลำบากยากแค้นทุกข์ตรมเพียงใด หนังของเคาริสมากิยังส่งมอบแง่มุมการมองโลกในแง่ดีให้ผู้ชมเสมอ

ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ปรากฏในหนังทุกเรื่องดังกล่าว ทำให้ไม่อาจแยกตัวเคาริสมากิกับผลงานของเขาได้ พูดให้ชัดขึ้นได้ว่าถ้าต้องการรู้จักงานของเคาริสมากิ ควรทำความรู้จักเคาริสมากิเสียก่อน

นอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะนักทำหนังผู้มีความโดดเด่นแล้ว ชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งที่มาพร้อมกันคือความเป็นคนตรง กล้าวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการแสดงออกในเชิงต่อต้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างวีรกรรมของเคาริสมากิเช่นเมื่อปี 2006 ทันทีที่รู้ข่าวว่า Lights in the Dusk ได้รับเลือกเป็นตัวแทนฟินแลนด์ชิงรางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศ เขารีบต่อสายไปยังฝ่ายคัดเลือกว่าตนเองไม่อนุญาต แม้จะระงับการส่งชื่อไม่ทัน แต่ทางออสการ์ก็ยอมถอนหนังออกจากโผชิงรางวัลตามคำขอของผู้กำกับฯ

หรือเมื่อปี 2003 คราวที่ The Man Without a Past เข้ารอบสุดท้ายออสการ์สาขาเดียวกัน เคาริสมากิปฏิเสธไม่ไปร่วมงานเลี้ยง และประกาศไว้ล่วงหน้าว่าถ้าได้รางวัลก็จะไม่ไปรับ วีรกรรมที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในปีเดียวกันนั้นเอง ขณะกำลังเตรียมตัวเดินทางไปสหรัฐตามคำเชิญของเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์ค เขาได้ข่าวว่า อับบาส เคียรอสตามี เพื่อนผู้กำกับฯซึ่งได้รับเชิญไปร่วมในงานเดียวกัน ถูกปฏิเสธวีซ่าเข้าสหรัฐเนื่องจากเป็นคนอิหร่าน เคาริสมากิยกเลิกการเดินทางทันที พร้อมกับกล่าวประณามสหรัฐเสียยกใหญ่

*“ถ้ารัฐบาลสหรัฐไม่ต้องการคนอิหร่าน พวกเขาคงไม่เห็นประโยชน์อะไรจากคนฟินแลนด์ เพราะเราไม่มีน้ำมัน...” ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงเผ็ดร้อนของเคาริสมากิ

ครั้งหนึ่งเคาริสมากิเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวเนื่องในประเด็นนี้ว่าเขาไม่ได้จงเกลียดจงชังสหรัฐ อันที่จริงเขาชอบสหรัฐ แต่เป็นสหรัฐยุครุสเวลท์(แฟรงคลิน ดี. รุสเวลท์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 1933-1945) ไม่ใช่ยุค “ตัวตลกบุช” ที่มี “ลูกเสือแบลร์” เคียงข้าง

ด้านบุคลิกนิสัยและไลฟ์สไตล์ส่วนตัว เคาริสมากิเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2003 ว่าเขาไม่ดูหนังใหม่ๆ มานานมากแล้ว หนังใหม่เรื่องสุดท้ายที่ได้ดูคือ Riff-Raff (1990) ของ เคน โลช ผู้กำกับฯชาวอังกฤษที่มักจะทำหนังเกี่ยวกับคนชั้นล่างเหมือนกับเคาริสมากิ แต่ต่างสไตล์กันโดยสิ้นเชิง

เขาไม่ชอบฮอลลีวู้ดแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ชอบฮอลลีวู้ดในอดีต มีความสุขกับการดูหนังเก่า เช่นหนังของลอเรลกับฮาร์ดี้ คู่หูนักแสดงตลก และบอกว่านิยายที่มีตัวละครเป็นคนหนุ่มสาวสมัยใหม่เรื่อง High Fidelity ของ นิค ฮอร์นบี้ (เคยสร้างเป็นหนังปี 2000 แสดงโดย จอห์น คูแซ็ก) เป็นหนังสือที่น่าเบื่อที่สุดเท่าที่เคยอ่าน นอกจากนี้ เขายังสะสมรถเก่าไว้หลายคัน คันที่เก่าที่สุดคือเชฟโรเล็ตลีมูซีนปี 1967

จากความนิยมชมชอบเรื่องราวในอดีตด้วยมองว่ามีคุณค่ากว่าสิ่งที่เป็นไปในปัจจุบัน หนังทุกเรื่องของเคาริสมากิจึงสะท้อนตัวตนด้านนี้ออกมาอย่างเด่นชัด ลักษณะย้อนยุคในหนังเห็นได้จากสิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่ใช่แบบสมัยใหม่ รวมทั้งรถยนต์ซึ่งตัวละครใช้จะเป็นรถรุ่นเก่าเสมอ การถ่ายภาพและการเซ็ตฉากเหมือนกำลังดูละครโทรทัศน์ยุค 50 บทสนทนาเชยๆ ดนตรีประกอบรวมถึงเพลงและดนตรีที่ปรากฏในหนังส่วนใหญ่เป็นเพลงรุ่นเก่า ตั้งแต่ร็อคแอนด์โรลยุค 50 ไปจนถึงเพลงสะวิงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ไม่มีโทรศัพท์มือถือให้เห็นในหนังของเคาริสมากิ ทั้งที่ฟินแลนด์เป็นแหล่งนวัตกรรมการสื่อสาร และบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศคือ “โนเกีย”

ใน Drifting Clouds ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกของ “ไตรภาคคนแพ้” เคาริสมากิให้ตัวละครสามี-ภรรยาต่างเป็นส่วนประกอบของผลผลิตพ้นสมัย โดยภรรยาเป็นหัวหน้าบริกรของภัตตาคารยุคสงครามโลกและกำลังถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่ ฝ่ายสามีเป็นคนขับรถรางซึ่งหลงเหลือในฟินแลนด์แค่ที่เฮลซิงกิแห่งเดียว และถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายรถรางไฟฟ้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เขาถูกให้ออกจากงานเพราะรถรางต้องลดเส้นทาง เนื่องจากชาวเฮลซิงกิเลือกเดินทางด้วยขนส่งมวลชนทันสมัยอย่างรถไฟและรถไฟใต้ดินมากกว่า

สำหรับเนื้อหาเรื่องราวแบบเมโลดราม่าว่าด้วยความยากลำบากและการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ก่อนลงท้ายด้วยความสุขเปี่ยมหวัง ชวนให้นึกถึงหนังมองโลกในแง่ดีของผู้กำกับฯนักอุดมคติยุคทศวรรษ 30-40 อย่าง แฟรงค์ คาปรา เช่นเรื่อง It’s a Wonderful Life(1946)

ใน The Man Without a Past หนังลำดับต่อมา ชุมชนคนยากซึ่งตัวละครความจำเสื่อมหลงมาอาศัยอยู่ มีการพึ่งพาและทำกิจกรรมร่วมกันราวกับชุมชนก่อนเก่าซึ่งหลงเหลือให้เห็นในยุคบุปผาชน ส่วนผู้มาเยือนนิรนามผู้มอบสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชนก็คลับคล้ายพระเอกขี่ม้าขาวในหนังตะวันตกหลายต่อหลายเรื่อง

องค์ประกอบเก่าๆ เชยๆ มากมายเหล่านี้ เมื่อถ่ายทอดผ่านภาพในหนังซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายทำในฉากที่เซ็ตไว้ ไม่มีฉากภายนอกให้สังเกตยวดยานพาหนะหรือตึกรามบ้านช่องได้มากนัก อาจชวนให้สงสัยว่าแท้แล้วหนังไม่ได้ใช้ฉากหลังเป็นเวลาปัจจุบัน แต่ย้อนไปสัก 10-20 ปี หรือไกลกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางองค์ประกอบย้อนยุคมากมาย ยังมีองค์ประกอบปลีกย่อยที่เคาริสมากิตั้งใจใส่ไว้เพื่อบอกว่าหนังดำเนินเรื่องราวในเวลาปัจจุบัน ไม่ได้ย้อนยุคแต่อย่างใด เช่นใน Drifting Clouds หนังปี 1996 มีเสียงจากข่าวโทรทัศน์เกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นแอนเจล่าถล่มฟิลิปปินส์ช่วงปี 1995 ขณะที่ข่าวต่อมาเกี่ยวกับการประหารชีวิต เคน ซาโร-วีว่า นักเขียน-นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมชาวไนจีเรีย ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1995 เช่นกัน ส่วนเนื้อหาว่าด้วยคนตกงานก็ตรงกับภาวะการว่างงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดในปี 1994 หลังจากฟินแลนด์ประสบวิกฤตการเงินปี 1991

หรือช่วงท้ายของ The Man Without a Past หนังปี 2002 ชายผู้ล้มเหลวในธุรกิจถือปืนบุกปล้นเงินจากธนาคารท้องถิ่นที่กำลังปิดตัว อาจเป็นความต้องการของเคาริสมากิ ผู้ไม่ปลื้มกับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน เพื่อสื่อถึงการที่ฟินแลนด์ยกเลิกเงินสกุลฟินมาร์ก แล้วใช้เงินยูโรแทน โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2002

มาดู Lights in the Dusk หนังเรื่องล่าสุดกันบ้าง...

องค์ประกอบเก่าๆ เชยๆ ยังมีอยู่ในหนังเช่นเคย ทั้งสิ่งของเครื่องใช้ รถยนต์ของตัวละครนำ เพลงประกอบ ขณะที่การถ่ายภาพและการเซ็ตฉากเห็นชัดว่าจงใจจัดวางยิ่งกว่าหนังเรื่องก่อนๆ เช่นฉากในห้องจะประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ 1-2 ชิ้น แจกันดอกไม้บนโต๊ะ และรูปภาพบนผนัง พร้อมทั้งเน้นด้วยสีและแสงจนโลกย้อนเวลาสไตล์เคาริสมากิมีเสน่ห์เพิ่มขึ้นไปอีก

*แม้ตัวละครนำอย่างโคยสติเนน จะไม่ได้เป็นส่วนประกอบของผลผลิตพ้นสมัย เพราะเป็นพนักงานของบริษัทรักษาความปลอดภัยขนาดใหญ่ที่ใช้อุปกรณ์ไฮเทค แต่บุคลิกโดดเดี่ยว ไม่เข้ากับสังคมรอบข้าง จิตใจดี ไม่ยี่หระต่อโชคชะตาและความลำบาก อีกทั้งไม่แยแสต่อเงื่อนไขที่สังคมตัดสิน

โดยเฉพาะฉากที่โคยสติเนนแสดงความใจใหญ่ท้าต่อยกับชายร่างใหญ่ 3 คน อย่างไม่เกรงกลัว เพราะทนไม่ได้ที่คนกลุ่มนั้นทรมานสุนัข กับฉากยืนคอยให้ตำรวจจับอย่างไม่สะทกสะท้าน ชวนให้นึกถึงหนังฮอลลีวู้ดยุค 50 และภาพของพระเอกอย่าง พอล นิวแมน และมาร์ลอน แบรนโด แม้ว่าตัวละครโคยสติเนน ใน Lights in the Dusk จะไม่มีลักษณะของ “ขบถ” ต่อต้านสังคมตามแนวทางของหนังยุคดังกล่าวก็ตาม

ฝ่ายผู้ร้ายซึ่งเป็นแก๊งมิจฉาชีพก็เป็นโจรในชุดสูทที่ไม่มีอุปกรณ์ไฮเทค(แม้แต่มือถือ) ราวกับหนังแก๊งสเตอร์ย้อนยุค ขณะที่หญิงสาวผู้เป็นนางนกต่อมีผมสีบลอนด์ตามแบบ “หญิงร้าย” ในหนังฟิล์มนัวร์

เรียกได้ว่า Lights in the Dusk หยิบยืมคาแร็กเตอร์ของตัวละครในหนังฮอลลีวู้ดยุคเก่า ทั้งพระ นาง และตัวร้าย มาใส่ไว้ในเรื่องเดียวกัน

ส่วนที่ต่างออกไปจาก Drifting Clouds และ The Man Without a Past คือ แม้จะมีองค์ประกอบเก่าๆ เชยๆ เหมือนกัน แต่ Lights in the Dusk ไม่ก่อให้เกิดความสงสัยว่าหนังไม่ได้ใช้ฉากหลังเป็นช่วงเวลาปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะบทสนทนามีการเอ่ยถึงเงินสกุลยูโรชัดเจน หรือเพียงเพราะมีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยไฮเทค แต่เพราะหนังใช้ภาพทิวทัศน์สิ่งปลูกสร้างหรูหราบริเวณ “รัวโฮลาห์ติ” ในเฮลซิงกิซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมาใส่กำกับไว้ตลอด กระทั่ง Lights in the Dusk เป็นหนังของเคาริสมากิที่ใช้ภาพทิวทัศน์ระยะไกลสุดบ่อยครั้งที่สุด

ท่ามกลางเรื่องราวเลวร้ายที่ตัวละครต้องพบเผชิญ ทั้งการถูกปฏิเสธจากสังคมรอบข้าง ถูกปฏิเสธด้วยถ้อยคำเย้ยหยันจากธนาคารเมื่อขอกู้เงินทำธุรกิจ ผู้คนจิตใจแข็งกระด้าง และการตกเป็นเหยื่อของแก๊งอาชญากรรม ภาพสิ่งปลูกสร้างหรูหราที่เห็นบ่อยครั้งจึงน่าจะถูกใส่เข้ามาเพื่อสื่อถึงโลกสมัยใหม่ซึ่งสวยงามเพียงแค่เปลือกนอกนั่นเอง

จากหนังเรื่องก่อนๆ ซึ่งเคาริสมากิเล่าเรื่องด้วยแง่มุมการมองโลกในแง่ดี ผ่านสไตล์ย้อนยุคซึ่งเขาหลงใหล โดยมุ่งนำเสนอชีวิตของคนชายขอบ หรือคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคม พร้อมกับกระทบกระเทียบภาครัฐที่ปล่อยปละละเลยคนเหล่านี้ (ตัวละครของเขามักถูกกระทำหรือเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐ) ทั้งที่ฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการซึ่งได้ชื่อว่ามีคุณภาพชีวิตติดอันดับสูงสุดลำดับต้นๆ ของโลกในทุกด้าน

มาถึง Lights in the Dusk แก่นสารที่กล่าวมายังมีอยู่ครบถ้วน ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือเคาริสมากิไม่เพียงสะท้อนความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงในสังคมฟินแลนด์(โดยเฉพาะเฮลซิงกิ) เท่านั้น แต่เขากำลังชี้ว่าความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงนั้นกำลังก่อปัญหาโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น เพราะมัวหลงกับภาพลวงตาอันสวยงาม

ถ้าเคาริสมากิต้องการสื่อเช่นนี้จริง อาจมีคนถามกลับว่าผู้ต่อต้านโลกสมัยใหม่อย่างเขากำลังมองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือไม่ อย่างน้อยบทลงท้ายในหนังคงพอจะแปลความหมายแทนคำตอบนี้ได้

ว่ามีแสงสว่างแท้จริงรอเราอยู่เสมอ แม้ในภาพลวงตาอันมืดมิด...




 

Create Date : 01 มีนาคม 2551
12 comments
Last Update : 1 มีนาคม 2551 1:53:51 น.
Counter : 2376 Pageviews.

 


เนื่องจากเรื่องราวส่วนใหญ่ของ Lights in the Dusk เป็นเวลากลางคืน เป็นเรื่องของคนเหงาภายใต้แสงนีออน
งานกำกับศิลป์จึงชวนให้นึกถึงภาพ Nighthawks (1942) ของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (1882-1967) จิตรกรชาวอเมริกัน




ภาพอื่นๆ ของฮอปเปอร์ก็ดูได้อารมณ์ใกล้กับบรรยากาศใน Lights in the Dusk
พื้นที่ว่างเยอะ ฉากมีรายละเอียดน้อย มีคนนั่งเหงา มองแล้วรู้สึกถึงความนิ่ง ความเงียบ


City Sunlight (1954)


A Woman in the Sun (1961)


Hotel Window (1955)

นี่รู้สึกเองนะครับ เคาริสมากิอาจจะไม่ได้อะไรกับงานของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ ก็ได้

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 1 มีนาคม 2551 1:51:24 น.  

 


ต่ออีกนิด...

เขียนถึงเรื่อง "กอด" ลงมติชนวันอาทิตย์ครับ ยังไม่แน่ใจว่ากี่ตอน
ตอนแรกที่จะออกอาทิตย์นี้(2 มี.ค.) เป็นมุมมองแบบ "ธรรมดา" พวกส่วนเกิน-เติมเต็มอะไรประมาณนั้น (ถ้าอัพเดทแล้วก็คลิกอ่านตรงเมนูขวามือได้เลย)

ส่วนมุมมองแบบ "สเปเชี่ยล" ต้องตอนต่อไป
มีตั้งแต่ไทยแลนด์ หวยบนดิน จตุคามฯ ไปจนถึงซูเปอร์แมนสายเหนือเอาเงินมาแจก

ปล.ชอบหนังเรื่องนี้มาก

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 1 มีนาคม 2551 2:08:23 น.  

 

ตา เคาริสมากิ เนี่ยเปรี้ยวจริงๆ
เปรี้ยวจนน่าหมั่นไส้ 5555

(ยังไม่เคยดูหนังเขาเลย)

ส่วน สตาร์พิคส์
ผมก็อยากเขียนถึงหลายเรื่องเหมือนกันครับ
แต่บังเอิญว่าหลังจากเขียนบทความนั้นเสร็จ ก็มีทั้งงาน+สอบ เลยต้องขอวางปากกาไว้ก่อน T T

 

โดย: nanoguy IP: 125.26.132.160 1 มีนาคม 2551 3:58:48 น.  

 

ปล. จะรออ่านที่พี่เขียนถึง "กอด" นะครับ
หนังเรื่องนี้มีอะไรให้ดูให้คิดเยอะดีจริงๆ

(ตอนนี้ผมกำลังนึกอยู่ว่าตรงไหนที่เกี่ยวกับจตุคาม นอกจากตัวละครที่ห้อยจตุคามอยู่ 1-2 ตัว 5555)

 

โดย: nanoguy IP: 125.26.132.160 1 มีนาคม 2551 4:02:23 น.  

 

งานขอเมกันมักเป็นงี้ง่ะ
เหงา เสื่อม

(พูดงี้ ทำให้อยากไปดูกอด)

 

โดย: ม่วน. IP: 125.24.186.243 1 มีนาคม 2551 8:21:25 น.  

 


ตอบ nanoguy
เรื่องจตุคามฯ ไม่ถึงกับเป็นประเด็นตรงๆ ครับ
แต่หนังเหมือนจะตั้งคำถามถึงความศรัทธาต่างๆ ของคนไทย (ปี 2549 ขุนพันธ์เสียชีวิต)

ตอบ ม่วน
อ้าว ยังไม่ได้ดูเหรอครับ
แล้วคำว่า "เสื่อม" ของเด็กศิลป์หมายถึงยังไง


 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 2 มีนาคม 2551 13:01:40 น.  

 





หนังอียิปต์เรื่อง The Yacoubian Building ออกแล้ว

หนังเรื่องนี้เป็นข่าวเล็กๆ เมื่อปี 2006 เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล และอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นเรื่องเสื่อมเสีย
เลยกลายเป็นหนังอื้อฉาว ถูกต่อต้านในอียิปต์

อยากดู

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 2 มีนาคม 2551 16:00:03 น.  

 

ได้ Lights in the Dusk มา...ก้ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ แหะแหะ

ภาพเขียนของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ สวยๆทั้งนั้นเลย ดูแล้วหม่นๆซึมๆโดยเฉพาะภาพ City Sunlight

 

โดย: renton_renton 3 มีนาคม 2551 8:52:49 น.  

 


The Mist....หนังดูน่าสนใจตรงที่ไม่ได้เน้นไปที่สัตว์ประหลาด แต่เน้นที่มนุษย์ ผ่านสัญชาตญาณดิบ ความต้องการอยู่รอด และความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะสื่อถึงประเด็นต่างๆ เหล่านั้น หนังต้องถ่ายทอดความกลัว ความกดดัน ให้ผนึกแน่นในทุกอณูบรรยากาศของหนังเสียก่อน และให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละคร แต่หนังทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น

นอกจากการแสดงบ้าพลังของมาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน.... บรรยากาศของความกลัว ความกดดัน เป็นไปอย่างเลื่อนลอย ขาดตอน (มีฉากที่ดีคือช่วงแรกที่ผู้หญิงขอให้พาไปหาลูก และเธอเดินออกไปตามลำพัง) เมื่อจุดนี้ล้มเหลว "พลัง" ของประเด็นที่หนังต้องการสื่อก็อ่อนลงไปด้วย (ไม่ได้หมายถึงประเด็นอ่อนนะครับ)

ลองเปรียบเทียบกับเรื่อง Bug ทั้งที่ไม่เห็นแมลงสักตัวและมีตัวละครแค่ 2 คน หรือ 28 days later ที่สร้างบรรยากาศได้แข็งแรงมาก โดยประเด็นหลักไม่ได้พูดถึงซอมบี้ติดเชื้อ

แต่หากอยากตีความนัยยะหรือหยิบยกประเด็นที่หนังต้องการบอกกล่าว โดยมองข้ามองค์รวม ก็ถือว่าหนัง "ใส่" ไว้ให้อย่างเต็มที่

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 3 มีนาคม 2551 14:06:52 น.  

 

เห็นภาพตัวอย่างแล้วอยากดู Lights in the Dusk ใจแทบขาดเลยครับ

แต่ภาพวาดของ ฮอปเปอร์ จี๊ดได้อีกนะครับนั่น

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 4 มีนาคม 2551 3:12:17 น.  

 

เคยอ่านตอนเป็นวัยรุ่น
เมื่อไม่นานมานี้
โฮ๊ะๆๆๆๆๆๆๆ

ไม่กล้าแซวมาก
เดี๋ยวไม่สแกนให้ม่วน
อิอิ

 

โดย: ม่วนน้อย 6 มีนาคม 2551 10:21:05 น.  

 

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 7 มีนาคม 2551 14:30:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
1 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.