Eli, Eli, lema sabachthani? ไยจึงทอดทิ้งตนเอง



Eli, Eli, lema sabachthani?
ไยจึงทอดทิ้งตนเอง

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 24 ธันวาคม 2549


*เหตุการณ์ “วันสิ้นโลก” หรือวาระที่อารยธรรมโลกล่มสลาย ดูจะซึมแทรกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนญี่ปุ่นโดยสะท้อนผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งคงเพราะสภาพธรรมชาติของญี่ปุ่นที่เป็นหมู่เกาะ ประกอบด้วยภูเขาไฟจำนวนมาก นอกจากจะเกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำแล้ว ยังต้องเผชิญกับพายุหลายสิบลูกในแต่ละปี

กับอีกสาเหตุหนึ่งคือวิกฤตการณ์ใหญ่จากน้ำมือมนุษย์อย่างมหันตภัยนิวเคลียร์ปี 1945 และลัทธิโอม ชินริเกียว ปล่อยก๊าซซารินจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน และได้รับผลกระทบอีกหลายพันคน เมื่อปี 1995

เหตุทั้งหมดนี้ล้วนแต่ก่อให้เกิดความระแวงหวาดหวั่นในความรู้สึกผู้คน และต่างตระหนักถึงเหตุการณ์ร้ายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ หนังอย่าง The Sinking of Japan เกี่ยวกับเกาะญี่ปุ่นกำลังจะจมที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อเร็วๆ นี้ และการ์ตูนยอดขาย 6 ล้านเล่มเรื่อง Dragon Head เกี่ยวกับลูกไฟถล่มโลก ล้วนแต่ว่าด้วยภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ดูดกลืนชีวิตมนุษย์มากมายมหาศาล หรือแม้กระทั่ง Death Note การ์ตูนสุดฮิตอีกเรื่องก็มีแนวคิดเรื่อง “การพิพากษามนุษย์” อันเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเกี่ยวกับ “วันสิ้นโลก” เช่นกัน

มีการ์ตูนและหนังอีกอย่างละเรื่องสามารถยกมาเป็นตัวอย่างได้ โดยทั้ง 2 เรื่อง มีส่วนคล้ายคลึงกันหลายจุด เรื่องแรกเป็นการ์ตูนระดับรางวัลเรื่อง 20th Century Boys ของ นาโอกิ อุราซาวะ อีกเรื่องคือหนังญี่ปุ่นปี 2005 เรื่อง Eli, Eli, lema sabachthani?

สำหรับ 20th Century Boys เผยแพร่ครั้งแรกปี 1999 หรือหลังเหตุการณ์ก๊าซซาริน 4 ปี ใครเคยอ่านฉบับแปลเป็นไทยคงคุ้นเคยวลี “กูตาลาลา ซือตาลาลา...” กันดี คือเนื้อเพลงที่ตัวละครหนึ่งใช้ปลุกความหวังให้แก่ผู้คนในห้วงเวลาที่โลกถูกครอบครองโดยใครบางคน หลังจากชีวิตจำนวนมหาศาลสูญสิ้นลงเพราะเชื้อไวรัส การ์ตูนใช้ช่วงเวลาฉากหลังยาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 60 มาจนถึงอนาคตราวปี 2018 โดยกำหนดให้ปี 2015 เป็นปีสิ้นสุดคริสตศักราชและเกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง

Eli, Eli, lema sabachthani? ผลงานของ ชินจิ อาโอยามะ ซึ่งเคยโด่งดังจากเรื่อง Eureka(2000) นอกจากจะเกี่ยวกับเชื้อไวรัสร้ายล้างโลกแล้ว หนังใช้ฉากในโลกอนาคตโดยวางไว้ที่ปี 2015 อันเป็นปีเดียวกับเหตุการณ์สำคัญใน 20th Century Boys ที่สำคัญคือมีเนื้อหาว่าด้วย “ดนตรีบำบัด” ในห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวังเหมือนกัน

ชื่อหนังคือหนึ่งในคำพูดของพระเยซูขณะถูกตรึงกางเขน ปรากฏในไบเบิลบทมัทธิว 27 : 46 และมาระโก 15 : 34 อ่านว่า “เอลี เอลี ลามา สะบักธานี” หมายถึง “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย” ซึ่งหนังต้องการสื่อถึงความสิ้นหวังของตัวละคร โดยนำมาใส่ไว้ในบทสนทนาตอนหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษของหนังเมื่อไปฉายยังต่างแดนจึงใช้ข้อความเดียวกันนี้ในภาษาอังกฤษว่า My God, My God, Why Hast Thou Forsaken Me?


หนังกล่าวถึงปี 2015 ในห้วงเวลาที่ดูเหมือนว่าโลกกำลังจะถึงกาลสิ้นสุด ผู้คนค่อยๆ เดินไปสู่วาระสุดท้ายเพราะผลจากวิกฤตโรค “เลมมิ่ง ซินโดรม” อันมีเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุ อาการของโรคนี้คือเชื้อไวรัสจะเข้าไปควบคุมระบบประสาทมีผลให้มนุษย์ปลิดชีวิตตนเอง หลายล้านคนทั่วโลกตกเป็นเหยื่อ ขณะที่อีกจำนวนมากติดเชื้อและเฝ้ารอวันที่จะจัดการตนเอง (ชื่อ “เลมมิ่ง” คือหนูชนิดหนึ่งที่มีเรื่องเล่าขานแบบเข้าใจผิดๆ ว่า พวกมันมีพฤติกรรมประหลาดด้วยการกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายหมู่)

มิซูอิและอะซูฮาระ 2 นักดนตรีเสียงสังเคราะห์ในนาม “สเตพิน เฟตจิต” ใช้ชีวิตอย่างสงบในเมืองชายทะเล พวกเขาดูจะไม่หวาดหวั่นกับเรื่องราวเลวร้ายที่รายล้อมอยู่รอบตัว กิจวัตรของทั้งสองคือการตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ ในละแวกนั้น บางแห่งมีศพเกลื่อนกลาดและคราบเลือดเต็มไปหมด ขณะที่บนโต๊ะอาหารยังมีมื้ออาหารที่ยังกินไม่หมด 2 นักดนตรีเลือกหยิบสิ่งของเครื่องใช้ที่สามารถสร้างเสียงได้นำกลับมายังที่พัก ร่วมกันสร้างสรรค์และบันทึกเสียงเก็บไว้

ในเมืองร้างแห่งนี้นอกจากมิซูอิและอะซูฮาระแล้ว ยังมี นาวี หญิงวัยกลางคนเจ้าของโรงแรมซึ่งไม่มีแขกเข้าพักมานานแล้ว นอกจาก 2 นักดนตรีที่แวะมากินอาหารทุกวัน นาวีเป็นคนมองโลกในแง่ดี อยู่ตามลำพังโดยไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเช่นเดียวกับลูกค้าประจำ 2 คนของเธอ

และแล้วเมืองแห่งนี้ก็มีผู้มาเยือน...มิยากิ มหาเศรษฐีสูงอายุผู้สูญเสียครอบครัวเพราะโรคร้าย พาหลานสาววัยรุ่นชื่อ ฮานะ สมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่และกำลังติดเชื้อมาหามิซูอิและอะซูฮาระ หลังจากรู้ว่าเสียงเพลงของพวกเขาสามารถเยียวยาโรคร้ายนี้ได้ นักสืบที่มิยากิว่าจ้างได้ข้อมูลนี้มาจากรายชื่อคนไข้ที่ “ตายช้า” ล้วนแต่เคยไปชมคอนเสิร์ตของ “สเตพิน เฟตจิต”

มิยากิขอร้องให้มิซูอิและอะซูฮาระเล่นดนตรีเพื่อต่อชีวิตให้ฮานะ แต่การมาเยือนของบุคคลทั้งสามเหมือนสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามาในความสงบเงียบ อะซูฮาระซึ่งติดเชื้อเช่นกันมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ทันที ขณะที่มิซูอิก็ถูกความทรงจำในอดีตเกี่ยวกับการจากไปของคนรักสะกิดให้เจ็บปวดอีกครั้ง

หนังเรื่องนี้ดี-ไม่ดี หรือน่าประทับใจมากน้อยแค่ไหน องค์ประกอบสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งคือ “เสียง” เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ในหนังไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็น “เสียงดนตรี” หรือ “บทเพลง” แต่เป็นเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ เอฟเฟ็กต์กีตาร์ และซินธิไซเซอร์ นำมาผสมผสานสังเคราะห์ไร้รูปแบบตัวโน้ตกับเสียงจากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

*เสียงลักษณะนี้มีให้ได้ยินในเพลงแนวทดลองและการแสดงสด บ่อยครั้งมีเมโลดี้เป็นโครงสร้างอยู่ด้วยทำให้ฟังง่ายขึ้น แต่ในหนังที่ว่าด้วย “ดนตรีบำบัด” เรื่องนี้อัดแน่นเต็มเหยียดด้วยเสียงกราดกร้าวหวีดดังทะลวงโสตประสาท ทั้งยังมีหลายฉากปล่อยยาวหลายนาทีแบบ long take สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยและไม่พิสมัยเสียงแบบนี้อาจจะพานเลิกดูและเกลียดหนังไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามข้อจำกัดเรื่องเสียงอึกทึกน่ารำคาญไปได้ จะพบว่าหนังเรื่องนี้เงียบสงบและงดงามอย่างน่าประหลาด เพราะขณะที่หนังเต็มไปด้วยเสียงทำลายโสต เสียงประกอบอื่นๆ กลับอ่อนโยนละมุนละไม เช่น เสียงแซ็กโซโฟนในตอนต้นเรื่อง เสียงเปียโนคลอเคล้าเป็นระยะ รวมทั้งเสียงเพลง “The End” ร้องโดย แนนซี่ ซิเนตรา ซึ่งตัวละครมิซูอิเปิดฟังยามค่ำคืนนั้นไพเราะจับใจ เนื้อเพลงที่กล่าวถึงความหวังและพลังแห่งรักนั้นให้กำลังใจได้ดี ขณะเดียวกันก็เป็นฉากที่ให้ความรู้สึกเหงาและโหยหายิ่งนัก

ส่วนเรื่องราวหดหู่ว่าด้วยความตายและความสิ้นหวังนั้น หนังได้สร้างสิ่งแย้งด้วยภาพชีวิตงดงาม ความสุขสงบ และความมหัศจรรย์แห่งชีวิต แสงนวลลออตา ภาพภูมิทัศน์ที่ระบายด้วยสีน้ำตาลของต้นไม้เหี่ยวเฉาอาจจะให้ความรู้สึกแห้งแล้งห่อเหี่ยว แต่สีน้ำตาลในฉากบ้านของนาวีกลับอบอวลความอบอุ่นตลอดเวลา

หนังไม่ได้ให้คำตอบหรือคำอธิบายว่าเหตุใดเสียงดนตรีสังเคราะห์จึงเยียวยาโรคร้ายได้ แต่แก่นสารที่หนังมอบให้คือ การไม่ทอดทิ้งตนเอง ยิ้มรับกับทุกเรื่องราว และเยียวยาตนเองด้วยความมหัศจรรย์ของสรรพสิ่ง ซึ่งผู้กำกับฯอาโอยามะหวังว่าภาพยนตร์และดนตรีจะทำหน้าที่นั้นได้

อาซาโน่ ทาดาโนบุ ภาพลักษณ์ของหนังอินดี้เอเชียรับบทมิซูอิได้อย่างเหมาะเจาะ บทพูดน้อย ใบหน้าเรียบเฉย ดูเซอร์ๆ มีบางอย่างซ่อนอยู่ในใจ สำหรับอาซาโน่แล้วมีให้เห็นบ่อยครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องแปลกอีกเช่นกันที่บทซ้ำๆ เช่นนี้ในหนังหลายเรื่อง กลับแตกต่างได้ด้วยการแสดงของอาซาโน่

ในหนังเรื่องนี้ อาซาโน่และนาซายะ นากาฮาระ ผู้รับบทอะซูฮาระ แสดงสดฉากสังเคราะห์เสียงทุกฉากด้วยตนเอง




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2550
9 comments
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2550 20:06:33 น.
Counter : 2551 Pageviews.

 

รู้สึกเฮียอาซาโน่นี่เล่นหนังญี่ปุ่นเกือบทุกเรื่องแล้วนะเนี่ย

 

โดย: nanoguy (nanoguy ) 11 กุมภาพันธ์ 2550 11:45:53 น.  

 

งึมๆ ไม่เคยดู แต่ปกสวยนะ

 

โดย: วาตาชิ IP: 124.120.98.107 11 กุมภาพันธ์ 2550 11:46:34 น.  

 

คริๆๆ
แอบแว้บบบบเข้ามาบอกรักอาซาโน่ค่ะบอส

 

โดย: LunarLilies* 11 กุมภาพันธ์ 2550 15:08:18 น.  

 

น่าดูมากเลยครับ โดยเฉพาะไวรัสที่ว่า..อยากรู้จริง ๆ ว่าอาการของคนในเรื่องจะเป็นยังไง

ผมเคยอ่านประวัติเกี่ยวกับ โอม ชินริเกียว เจอคนที่สืบสวนเรื่องนี้ มีชื่อว่า "เคนจิ" ด้วย

 

โดย: ShadowServant 11 กุมภาพันธ์ 2550 15:08:54 น.  

 



ลอกความคิดเห็นด้านบน

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 13 กุมภาพันธ์ 2550 10:46:52 น.  

 

ตา อาซาโน่ ทาดาโนบุ มาอีกแว้วกับแนวนี้ แต่ก็ยังดูได้ไม่เคยเบื่อเลย กับงานของแก
ดนตรีบำบัด-เป็นเรื่องที่น่าสนใจจัง

 

โดย: renton_renton 13 กุมภาพันธ์ 2550 13:15:41 น.  

 



สวัสดี 14 กุมพา ค่า

 

โดย: renton_renton 14 กุมภาพันธ์ 2550 10:48:04 น.  

 

เพิ่งได้ดู กรี๊ดแตก เพลงในหนังมากๆ พอดีชอบ noise sound อยู่แล้วด้วย ต้องไปซื้อซาวด์แทร็กด่วน

 

โดย: merveillesxx IP: 203.107.196.33 27 กุมภาพันธ์ 2550 3:25:11 น.  

 

nhdthyryhtshr

 

โดย: เก่ง IP: 182.93.207.3 22 กันยายน 2554 15:03:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
11 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.