The Year My Parents Went on Vacation โฮม อะโลน กับเปเล่




The Year My Parents Went on Vacation
โฮม อะโลน กับเปเล่

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 20 เมษายน 2551


*แม้ช่วง 4-5 ปีหลังหนังบราซิลจะไม่เปรี้ยงปร้างบนเวทีหนังโลกเหมือนช่วงปลายทศวรรษ 1990 ต่อต้นศตวรรษใหม่ ที่มีหนังเด่นอย่าง Central Station(1998) และ City of God(2002) แต่ก็ใช่ว่าวงการหนังแดนกาแฟจะซบเซาหรือขาดแคลนหนังดีไปเสียทั้งหมด ตรงกันข้าม หนังบราซิลในระดับน่าชื่นชมยังมีออกมาอยู่เสมอ

The Year My Parents Went on Vacation คือตัวอย่างของหนังดีจากบราซิลที่ออกมาอวดโฉมให้โลกได้รู้จักเมื่อปี 2007 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการได้เข้าชิงหมีทองที่เบอร์ลิน และได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นตัวแทนชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศ ซึ่งถือว่าพลิกโผและสร้างความแปลกใจพอสมควร เพราะหนังที่เป็นตัวเต็งตอนแรกคือ Tropa de Elite หรือ The Elite Squad ของโจเซ่ พาดิลญ่า ซึ่งจับประเด็นแรงๆ เกี่ยวกับหน่วยตำรวจพิเศษของบราซิล และได้รางวัลหมีทองที่เบอร์ลินช่วงต้นปี 2008

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกเลือกมาอย่างผิดคาด แต่ The Year My Parents Went on Vacation ก็ดีพอจนเข้าไปถึงรอบ 9 เรื่องสุดท้าย

น่าสนใจตรงที่ทั้ง The Year My Parents Went on Vacation และ Tropa de Elite มี บรอลิโอ แมนโตวานี เป็นหนึ่งในผู้เขียนบท ซึ่งนายแมนโตวานีคนนี้เคยเข้าชิงออสการ์บทดัดแปลงยอดเยี่ยมมาแล้วจาก City of God หากจะบอกว่าเขาเป็นคนเขียนบทมือทองของบราซิลในยุคนี้ก็คงไม่ผิดนัก

The Year My Parents Went on Vacation มีองค์ประกอบน่าสนใจมากมาย โดยที่บางองค์ประกอบดูเผินๆ ไม่น่าจะรวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน หนังมีเด็กเป็นตัวเดินเรื่อง รูปแบบเนื้อหาจึงว่าด้วยการ “เติบใหญ่ในช่วงวัย” (coming of age) มีตัวละครจำนวนมากเป็นชาวยิว เหตุการณ์สำคัญในหนังคือฟุตบอลโลกปี 1970 ที่ว่ากันว่าทีมชาติบราซิลเป็นทีมที่ดีที่สุดตลอดกาล จึงมี เปเล่ ทอสเทา ริเวลิโน ฯลฯ อยู่ในบทสนทนาและภาพการแข่งขัน แต่ฉากหลังสำคัญกว่านั้นคือการกวาดจับ-ทรมาน-สังหารกลุ่มผู้ต่อต้านโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร

หนังเริ่มต้นที่เมืองเบโล ฮอริซอนเต ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล เด็กชายเมาโรวัย 12 ขวบ ผู้หลงใหลในเกมฟุตบอลเหมือนเด็กบราซิลทั่วไปถูกพ่อกับแม่พามายังเมืองเซาเปาโล เพื่อให้พักอยู่กับปู่ในย่านชาวยิว พ่อกับแม่บอกว่าเมาโรต้องอยู่ที่นี่ตลอดช่วงที่ทั้งสองไปพักผ่อนวันหยุด โดยพ่อสัญญาว่าจะกลับมาให้ทันเชียร์ทีมชาติบราซิลในฟุตบอลโลกร่วมกัน

ความจริงของการพักผ่อนวันหยุดที่เมาโรไม่รู้คือ พ่อกับแม่ต้องหลบหนีการตามล่าของทางการในข้อหาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ

โชคร้ายที่ปู่ของเมาโรหัวใจวายเสียชีวิตในวันเดียวกับที่พ่อ-แม่พาเมาโรมาส่งหน้าอพาร์ตเมนต์ เมาโรจึงรู้สึกคว้างท่ามกลางคนแปลกหน้าและสถานที่ไม่คุ้นเคย ยังดีที่ชายชราชื่อ ชโลโม เพื่อนบ้านและเป็นเพื่อนของปู่พาเมาโรมาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองดูจะเข้ากันไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยวัย ภาษา (ชโลโมมักจะพูดภาษายิดดิช) และการใช้ชีวิตในแบบของชาวยิวซึ่งต่างจากเมาโร วันรุ่งขึ้นเมาโรจึงย้ายมาอยู่ตามลำพังในห้องของปู่

วันผ่านไปโดยไร้ข่าวคราวของพ่อ-แม่ เมาโรเริ่มปรับตัวได้และคุ้นเคยกับชโลโมมากขึ้น รวมถึงเพื่อนบ้านที่ผลัดกันดูแลเรื่องอาหารการกิน มีเด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันชื่อ ฮันนา มาตีสนิทและสนใจเมาโรเป็นพิเศษ กับเด็กชาย 3-4 คน ที่รับเมาโรเข้าแก๊ง ได้รู้จักกับหญิงสาวใจดีชื่อไอรีนซึ่งใครต่อใครรวมทั้งเมาโรแอบปลื้ม แต่เธอมีแฟนเป็นหนุ่มลูกครึ่งแอฟริกันและเป็นผู้รักษาประตูจอมหนึบของทีมฟุตบอลท้องถิ่น

นอกจากนี้ เมาโรได้พบกับ อิตาโล หนุ่มนักศึกษาเชื้อสายอิตาเลียนซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และบอกว่ารู้จักพ่อของเมาโรเป็นอย่างดี

*เมื่อฟุตบอลโลกที่เม็กซิโกเริ่มขึ้น และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสด ทุกคนต่างตื่นเต้นและเฝ้ารอชม มีเพียงเมาโรที่ไม่เพียงจดจ่อกับการแข่งขัน (เมาโรใส่เสื้อทีมชาติบราซิลเบอร์ 10 ซึ่งเป็นเบอร์ของเปเล่) เขายังตื่นเต้นที่จะได้พบพ่อกับแม่ตามที่ให้สัญญาไว้ด้วย แต่ระหว่างที่แต่ละเกมการแข่งขันดำเนินไป เหตุการณ์รอบตัวก็ดูจะวุ่นวายและตึงเครียดมากขึ้น

บางทีชัยชนะของบราซิลอาจไม่มีความหมายสำคัญสำหรับเมาโรอีกต่อไปแล้ว

เรื่องราวดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากความทรงจำของ เคา ฮัมบูร์เกอร์ ผู้กำกับหนุ่มใหญ่ซึ่งพ่อของเขาที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเซาเปาโลกับแม่เคยถูกจับกุมตัวระยะสั้นๆ ในปี 1970 ข้อหาช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ขณะนั้นเคาอายุ 8 ขวบ ถูกส่งตัวมาอยู่กับย่าในย่านชาวยิว เนื่องจากพ่อมีเชื้อสายเยอรมัน-ยิว ส่วนแม่เป็นคาทอลิกอิตาเลียน ตัวละครในหนังจึงมีคนเชื้อสายอิตาเลียน และตัวละครเมาโรซึ่งเปรียบเหมือนตัวแทนของเคาจึงไม่ได้ขริบอวัยวะเพศแบบชาวยิว

แม้ฉากหลังจะเป็นเรื่องการเมืองที่ถือว่าหนักและมีความรุนแรง แต่หนังนำเสนอด้วยท่าทีสนุกสนาน มีชีวิตชีวา เน้นความไร้เดียงสาของเด็กและสีสันของเกมฟุตบอลที่อยู่ในสายเลือดของชาวบราซิล แทรกเป็นระยะด้วยภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองในระดับไม่เกินสายตาและความเข้าใจของเด็กอย่างเมาโร หนังจึงเข้าถึงง่าย ไม่ตึงเครียดเมื่อถึงฉากที่ตัวละครถูกกระทำ

อย่างไรก็ตาม สีสันของเกมฟุตบอลที่ชาวบราซิลเอาใจจดจ่อกับเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งไม่ถูกเน้นมากนักนี่เองคือแก่นสารของหนัง ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลเผด็จการทหารปิดกั้นสื่อทุกประเภทยกเว้นเพียงข่าวและเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกหนที่สามของทีมชาติบราซิล เพื่อหันเหความสนใจของผู้คนจากเรื่องทางการเมืองและการใช้ความรุนแรงต่อผู้ต่อต้านรัฐบาล

หนังสะท้อนภาพเช่นนั้นผ่านผู้คนแวดล้อมของเมาโรที่นั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ชมการถ่ายทอดสดนัดชิงชนะเลิศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่นานเพิ่งมีการกวาดล้างนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

หนังให้เมาโรผละจากหน้าจอโทรทัศน์ก่อนจบเกมการแข่งขัน และให้เมาโรมอบลูกฟุตบอลคู่ชีพแก่ฮันนา เพื่อสื่อว่าสุดท้ายแล้วเมาโรก็คิดได้ว่าอะไรสำคัญและมีความหมายมากกว่าเกมฟุตบอล

อันที่จริง นี่ไม่ใช่หนังบราซิลเรื่องแรกที่ใช้เกมฟุตบอลสะท้อนภาพเผด็จการทหาร เมื่อปี 1982 หนังเรื่อง Pra Frente, Brasil หรือ Go Ahead, Brazil มีภาพการทรมานนักโทษในห้องใต้ดินขณะที่ตามท้องถนนประชาชนกำลังเฉลิมฉลองแชมป์ฟุตบอลโลก หนังถูกแบนและทำให้ผู้บริหารสตูดิโอที่สร้างหนังเรื่องนี้ถูกไล่ออก

สารอีกประการหนึ่งที่หนังนำเสนอคือ การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของคนต่างเผ่าพันธุ์-เชื้อชาติในเซาเปาโลหรือในบราซิล อาจเนื่องจากความประทับใจส่วนตัวของผู้กำกับฯเพราะเขามีส่วนผสมหลายเชื้อชาติอยู่ในตัว

นอกจากความสนุกสนานมีชีวิตชีวาแล้ว ส่วนดีอีกอย่างหนึ่งของหนังคือ ผู้สร้างปล่อยให้เรื่องราวดำเนินไปโดยไม่ได้เน้นใส่อารมณ์ให้หนักมือจนซ้ำรอยกับหนังแนวใกล้เคียงกันนี้เรื่องอื่นๆ เช่นฉากที่เมาโรได้พบแม่อีกครั้งในช่วงท้าย หนังไม่ได้เน้นให้ซาบซึ้งน้ำตาท่วม หรือส่วนที่เกี่ยวกับความผูกพันระหว่างเพื่อนต่างวัย(ชโลโมกับเมาโร) ซึ่งมีหนังนับไม่ถ้วนเคยทำมาแล้ว หนังก็ไม่ได้ขยายให้ลึกซึ้งเกินความจำเป็น

รายละเอียดของยุคสมัยถูกใส่เข้ามาเพื่อรองรับและรื้อฟื้นความทรงจำของผู้ชม เช่น สมุดภาพนักฟุตบอลทีมชาติซึ่งเมาโรเก็บสะสม บทเพลงร็อคแอนด์โรล บทสนทนาเกี่ยวกับคำพูดของ ซาลดันญ่า โค้ชทีมชาติบราซิล(ภายหลังถูกเปลี่ยนตัวก่อนฟุตบอลโลกเริ่มต้น) ที่บอกว่าเปเล่และทอสเทาไม่ควรเล่นด้วยกันเพราะเหมือนกันเกินไปซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในยุคนั้น

รถโฟล์คเต่าของพ่อที่เมาโรเฝ้าคอยว่าเมื่อไรจะปรากฏให้เห็นก็เป็นที่นิยมในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากบราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโรงงานผลิต และผู้ว่าการเซาเปาโลได้มอบรถโฟล์คเต่าเป็นของขวัญแก่นักฟุตบอลชุดแชมป์โลกปี 1970 ทุกคน (ต่อมาเขาถูกดำเนินคดีว่าไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวซื้อ)

รายละเอียดแห่งยุคสมัยนี่เองทำให้หนังมีอารมณ์ถวิลหาลอยอ้อยอิ่งอบอวลอยู่ด้วย







บล็อกที่เกี่ยวข้อง : โฮม อะโลน กับเปเล่ : อีกครั้งกับความมักง่ายของบริษัทดีวีดี



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 30 มกราคม 2553 7:16:42 น. 3 comments
Counter : 2477 Pageviews.

 




Pra Frente, Brasil (1982) ของ โรแบร์โต ฟาริอาส (Roberto Farias)
หนังบราซิลเรื่องแรกที่ใช้งานฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1970 เป็นฉากหลัง
ขณะที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลถูกทรมานในห้องใต้ดิน





โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:17:52:42 น.  

 
ล่าสุดไปดู A Moment In June มา กุมหัวไปหลายฉากทีเดียว 555


โดย: merveillesxx วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:5:24:07 น.  

 
ดูบอลบราซิลไปแล้ว เดี๋ยวรอดูท่านเทพของอาร์เจนตินาบ้าง

Maradona by Kusturica (2008)







โดย: renton_renton วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:10:33:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
13 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.