บล็อก "บ้านหมอ" ขอนำเสนอเรื่องสุขภาพ + ภาษาอังกฤษ + ข่าวต่างประเทศสบายๆ สไตล์เราครับ...

<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
2 พฤษภาคม 2553
 

9 วิธีคลายเหงา-เศร้า-เซง


นิตยสาร 'Health
(ออกเสียง "เฮ้ว - L"= สุขภาพ; อย่าออกเสียง "เฮล" เพราะ 'hell' = นรก)'
ตีพิมพ์เรื่อง 'Loneliness
Hurt The Heart
' = "ความเหงาทำร้ายหัวใจ" พร้อมแนะนำทางออก
หรือวิธีคลายเหงา, ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ [
Health ]



----//----


ยุคนี้เป็นยุคที่คนเราพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
ทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งครอบครัวขนาดใหญ่แบบสังคมเกษตร
หรือสังคมไร่นา แสวงหาอิสรภาพ และ "ความเป็นส่วนตัว" มากขึ้นเรื่อยๆ



ศ.จอห์น คาซิออปโป ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ
กล่าวว่า คนทั่วโลกเริ่มมีการแยกตัวจากสังคม (social isolation) มากขึ้นใน
20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบที่พบบ่อย คือ "ความเหงา (loneliness)"



...


ช่วงปี 1990s (= 1990-1999 หรือ พ.ศ. 2533-2542)
ทีมวิจัยจากสวีเดนทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือด
หัวใจ (coronary artery bypass)



ผลการศึกษาพบว่า คนไข้ที่รู้สึกเหงา (feel lonely)
บ่อยเพิ่มเสี่ยงเสียชีวิตหลังผ่าตัดภายใน 30 วันเพิ่มเป็น 2.5 เท่า,
และัยังคงเพิ่มเป็นเกือบ 2 เท่าต่อไปหลังผ่าตัด 5 ปี



...


การศึกษานี้พบว่า
คนที่ไม่ได้อยู่คนเดียวก็เหงาเป็นเหมือนกัน คือ
เกือบครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่เหงาบ่อยเป็นคนที่แต่งงานแล้ว (married)
หรืออยู่ในบ้านที่มีคนหลายคน



ศ.คาซิออปโปพบว่า คนที่เหงาบ่อยมีระดับฮอร์โมนเครียด (cortisol) สูงขึ้น
ซึ่งส่งผลทำให้เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ต่อสู้ ต้านทานเชื้อโรค
และสิ่งแปลกปลอม เช่น มะเร็ง ฯลฯ ได้น้อยลง



...


การศึกษาอื่นๆ พบว่า
คนที่ก้าวร้าวหรือไม่เป็นมิตรกับคนอื่น (hostile)
มักจะหัวใจที่เต้นแรงและเร็ว, ส่วนความเหงา (loneliness)
ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว ทำให้แรงต้านทานการไหลเวียนเลือดสูงขึ้น
ความดันเลือดสูงขึ้น



วิธีคลายเหงาที่สำคัญได้แก่ [ wikihow ]; [ wikihow ];



...


(1). บอกแบบไม่บ่น



การบ่น (พูดซ้ำๆซากๆ หรือพูดแบบหมกมุ่น โดยไม่ฟังใคร)
มักจะทำให้คนรอบข้างเบื่อหน่าย และหาทางหายตัวไปไกลๆ



...



ตรงกันข้าม.. การบอกความรู้สึกเหงาแบบไม่บ่น (พูดน้อยๆ ครั้ง, ปรึกษาหารือ,
รับฟังอีกฝ่ายหนึ่งให้มาก) มีส่วนช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้



ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหายหรือหมอต่างพากัน "เบื่อคนบ่น", ตรงกันข้าม...
การบอกความรู้สึกนี้ออกไป พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
มุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไข มักจะทำให้อะไรๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้



...


(2). เลี้ยงน้อง



การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารความดันเลือดสูง (Hypertension, 2001)
ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างนายหน้าค้าหุ้น (stockbrokers)
ที่ป่วยด้วยโรคความดันเลือดสูง และต้องใช้ยารักษา
สุ่มแบ่งให้ครึ่งหนึ่งเีลี้ยงน้อง (pets = สัตว์เลี้ยง เช่น น้องหมา
น้องแมว น้องปลา ฯลฯ)



...



เมื่อติดตามไปนาน 6 เดือนพบว่า
กลุ่มตัวอย่างที่เลี้ยงน้องมีความดันเลือดสูงขึ้นในช่วงที่มีเรื่องเครียดๆ
เช่น งานหนักๆ ฯลฯ น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่เลี้ยงน้อง



ศ.เอริกา ฟรีดมันน์จากวิทยาลัยพยาบาล มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐฯ
ผู้ทำการวิจัยกล่าวว่า น้องๆ (สัตว์เลี้ยง) มีคุณสมบัติพิเศษ คือ
'nonjudgemental nature' = "ธรรมชาติที่เป็นมิตร โดยไม่พิพากษา (non- =
ไม่; judge = พิพากษา วิจารณ์; รวม = มีความเป็นเพื่อนแท้ มิตรแท้"



...



กล่าวกันว่า คุณสมบัติอย่างหนึ่งของมิตรภาพ หรือความเป็นเืพื่อน คือ
ปรารถนาดีต่อกัน โดยไม่เข้าไปวิจารณ์ หรือตัดสินความดีเลวของอีกฝ่ายหนึ่ง
ซึ่งคุณสมบัตินี้... น้องหมา น้องแมว น้องปลา ฯลฯ มีเพียบเลย



ยุคนี้คนเรามีบ้านเล็กลงซึ่งอาจทำให้การเลี้ยงน้องทำได้ยากขึ้น...
บริการให้เช่าน้องใจดีๆ น่าจะมีส่วนช่วยได้มาก เช่น
อาจมีบริการสปาน้องหมาพันธุ์ใจดีๆ (เช่น โกลเดนรีทรีฟเวอร์ ฯลฯ)
ให้เช่าเดินเล่น (walk a dog) ออกกำลัง, มีบริการน้องหมาเยี่ยมคนไข้ ฯลฯ



...



สถาบันการศึกษา โรงเรียน หรือโรงพยาบาลอาจมีสโมสรน้องหมา ให้คนเหงาๆ
หรือคนรักสัตว์เข้าไปเล่นกับน้อง ให้อาหารน้องได้ เช่น มีสนามแบบสนามเทนนิส
เป็นสนามหญ้า ทั้งในร่มและกลางแจ้ง
สำหรับให้เช่าเวลาเข้าไปเล่นกับน้องหมา, มีสระสำหรับให้อาหารปลา ฯลฯ



...


(3). รับรู้แบบไม่พิพากษา



เราเองควรฝึกรับรู้ หรือกำหนดรู้ความรู้สึก "เศร้า-เหงา-เซง-เบื่อ" ว่า
เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งใครๆ ก็มีได้



...



เทคนิคสำคัญได้แก่ ให้ใช้วิธีแบบที่น้องๆ (หมา แมว ปลา ฯลฯ) ทำ คือ
ไม่เข้าไปตัิดสิน (judge) หรือพิพากษาว่า นี่เป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือไม่ดี



ทว่า... ให้รับรู้อย่างที่มันเป็น ยิ่งถ้าฝึกเจริญสติ กำหนดรู้ได้...
ยิ่งดีใหญ่เลย (สำนักสุขภาพแห่งชาติอังกฤษหรือ NHS
อนุญาตให้คนไข้ไปฝึกเจริญสติแบบพุทธที่วัดพม่า
และนำไปเบิกค่ารักษาพยาบาลได้)



...


(4). ทำดีเล็กๆ ร่วมกับคนอื่น



การไปทำงานอาสาสมัคร หรือทำอะไรดีๆ ให้กับส่วนรวม (ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง
หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) มีส่วนช่วยให้เรารู้สึกดีๆ กับชีวิต เช่น
บริจาคเลือดโดยไม่ระบุคนรับ ปลูกไม้ดอกไว้หน้าบ้าน เลี้ยงน้องหมาด้วยกัน
ขี่จักรยานด้วยกัน ไปเรียนอะไรใหม่ๆ กับเืพื่อน ฯลฯ



...



ที่สำคัญ คือ ให้เลือกทำดีในแบบที่เราชอบ,
การไปทำดีในแบบที่เราไม่ชอบมีแนวโน้มจะช่วยคลายเหงาได้น้อยลง
และอาจเพิ่มความเครียดได้



คนที่ต้องระวังให้มาก คือ พวกจอมบงการ ซึ่งมักจะไม่ค่อยทำงานอะไร
ชอบประสบสอพลอบ๊อสส์ (boss = หัวหน้างาน เจ้านาย) และชอบหางานให้คนอื่นทำ,
วิธีสังเกต คือ คนพวกนี้มักจะได้สองขั้นติดต่อกันหลายปีบ่อย



...


(5). ฝึกพูดคำ "ขอโทษ ขออภัย"



คำ "ขอโทษ ขออภัย" เป็นคำของคนกล้าหาญ และอ่อนน้อมถ่อมตน... คำๆ
นี้เป็นคำที่ช่วยสร้างมิตร พิชิตศัตรู



...



คนที่พูดคำ "ขอโทษ ขออภัย" มักจะเป็นคนที่กล้ายอมรับความจริง
พร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำอะไรผิดพลาดให้น้อยลง ทำอะไรดีๆ
ให้มากขึ้น และไม่ค่อยเหงา



วิธีฝึกง่ายๆ คือ ฝึกพูดออกมาจากปากให้ได้ อย่างน้อยวันละครั้ง และค่อยๆ
เพิ่มเป็น 3 ครั้งหลังอาหาร, ถ้าพูดก่อนอาหารจะช่วยให้ผิวพรรณดี
(จากเมตตาหรือกรุณา), ถ้าพูดหลังอาหารจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารดี



...



กล่าวกันว่า ศิลปะชั้นสูงของการกล่าวคำ "ขอโทษ ขออภัย" คือ
การกล่าวคำนี้ออกมาจากปากให้ได้ ทั้งๆ ที่เราไม่ใช่ฝ่ายผิด ทว่า...
กล้ากล่าวออกมา เพื่อรักษาใจของคนอื่น เพื่อให้คนอื่นรู้สึกดีๆ 



ถ้าทำแบบนี้ได้... ไม่นานความรู้สึกดีๆ
นี้จะสะท้อนกลับเข้ามาหาตัวเราอย่างมากมาย



...


(6). พูดคำ "ขอบคุณ ขอบใจ"



คุณครูภาษาไทยสอนผู้เขียนว่า คนไทยชอบคนที่รู้จักพูดคำว่า
"ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" อย่างพอดี, สามคำนี้เป็นคำที่คนทั่วโลกชื่นชอบ
สะท้อนให้เห็นความเป็นคนกตัญญูรู้คุณคนอื่น 



...



กล่าวกันว่า ศิลปะชั้นสูงของการกล่าวคำ "ขอบคุณ ขอบใจ" คือ
การกล่าวคำนี้ออกมาจากปากให้ได้, ทั้งๆ ที่คนอื่นไม่ได้เป็นฝ่ายถูก
หรือทำอะไรดีเป็นพิเศษ ทว่า... กล้ากล่าวคำนี้ออกมา
เพื่อให้คนอื่นรู้สึกดีๆ



คนที่เรามักจะลืมกล่าวคำ "ขอบคุณ ขอบใจ" บ่อยมักจะเป็นคนใกล้ๆ ตัวเรา
ซึ่งทำอะไรดีๆ ให้เราวันละหลายๆ ครั้ง เช่น หุงข้าว ทำกับข้าว ล้างแก้ว
ล้างจาน ซักผ้า รีดผ้า ถูพื้น ทำความสะอาด ฯลฯ



...


(7). คิดใหม่-พูดใหม่-ทำอะไรใหม่ๆ เสมอ (Think new - talk
new - act new)



การใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซ้ำซากมัำกจะทำให้คนเราเหงาได้ง่าย ตรงกันข้าม... การ
"คิด-พูด-ทำ" อะไรใหม่ๆ มักจะทำให้คนเราสดชื่น และหายเหงาได้



...



ตัวอย่าง เช่น ลองกินอาหารใหม่ๆ ออกกำลังแบบใหม่ๆ เที่ยวที่ใหม่
เรียนเรื่องใหม่หรือภาษาใหม่ ฯลฯ



ไม่ว่าจะทำอะไร... ถ้าฝึกคิดเสมอว่า จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรเสมอ
จะช่วยให้เราก้าวออกจากการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เช่น ถ้าเป็นครู...
ให้ลองคิดว่า จะสอนแบบไหนให้นักเรียนสนุกขึ้น เข้าใจมากขึ้น
เรียนได้ง่ายขึ้น ฯลฯ แทนการสอนแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ 



...


(8). รีดเหงื่อแทนน้ำตา


พระอาจารย์รูปหนึ่งกล่าวไว้ดี คือ ชีวิตคนเรา
"เหงื่อออกมาก-น้ำตาออกน้อย, เหงื่อออกน้อย-น้ำตาออกมาก"


...


เดิมท่านกล่าวถึงชีวิตคนเราว่า
ถ้าขยันหมั่นเพียรแล้ว ชีวิตจะไม่ลำบากตอนแก่หรือเมื่ออายุมากขึ้น


ทว่า... คำกล่าวนี้ใช้ได้กับเรื่อง
"เหงา-เศร้า-เซง" เช่นกัน คือ ถ้าออกแรง-ออกกำลังให้เหงื่อออกเป็นประจำแล้ว
เจ้าความ "เหงา-เศร้า-เซง" มักจะลดลงไปด้วย


...


กล่าวกันว่า วิถีชีวิตที่เหมาะกับคน
"เหงา-เศร้า-เซง" คือ วิถีชีวิตแบบเหงื่อตกกีบหน่อยๆ
หรือออกกำลังให้เหงื่อแตกทุกวัน


ถ้าเหงื่อออกได้ก็จะสดชื่น... น้ำตาจากความ
"เหงา-เศร้า-เซง" ลดลง


...


(9). หยุดพิพากษา



จำไ้ว้ว่า เราไม่ได้เกิดมาเป็นจำเลย เพราะฉะนั้นขั้นแรกที่เราจะมีชีวิตดีๆ
ได้คือ หยุดให้คนอื่นพิพากษาเรา และเราก็ต้องหยุดพิพากษาตัวเองด้วย



...



อาจารย์แห่งเว็บไซต์ 'Wikihow'
แนะนำว่า ให้ดูใจเราไว้... เมื่อใจเราเริ่มจะจับตัวเราเป็นจำเลย
และเริ่มพิพากษาตัวเองด้วยการมองตัวเองให้แง่ร้าย ให้กล่าวคำว่า 'stop =
หยุดๆๆๆ' กำหนดรู้ หรือดูใจเราซ้ำกันหลายๆ ครั้ง


ถ้าทำได้บ่อยๆ... ใจเราที่เป็นผู้พิพากษา
(มองตัวเองในแง่ร้าย) จะทำงานน้อยลง,
ใจเราที่เป็นมิตรแท้-เป็นเืพื่อนคู่คิด-เป็นโค้ชคนเก่ง (มองตัวเองในแง่ดี)
จะทำงานมากขึ้น


... 


ในเมื่อตัวเราจับผิดตัวเอง
(พิพากษาตัวเองในแง่ร้าย) ได้... เราก็ต้องฝึกมองตัวเองในแง่ดีให้ได้ เช่น
ฝึกทำดีเล็กๆ ทุกวัน (เช่น วันนี้ช่วยมดตกน้ำ 2 ตัว ฯลฯ) บันทึกไว้
และอ่านประวัติดีของเราก่อนนอนทุกวัน ฯลฯ 


ชีวิตคนเราอาจจะไม่ได้ในสิ่งที่ดีที่สุด
(best), ขอเพียงให้เราพอใจกับสิ่งที่ดีรองลงไป (second best) ให้ได้
และทำอะไรดีๆ เล็กๆ ทุกวัน... ไม่นาน ชีวิตเราจะค่อยๆ
เคลื่อนเข้าไปสู่กระแสแห่งความดีงาม และจะ "เหงา-เศร้า-เซง" น้อยลงได้



...


เรียนเสนอให้ทำแบบทดสอบซึมเศร้า
ซึ่งถ้าทำแล้วเป็นกลุ่มเสี่ยงจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล (โรคซึมเศร้า)
แล้ว... การใช้ยามักจะได้ผลดี > [
แบบทดสอบซึมเศร้า ]

ถึงตรงนี้... ขอ
ให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ


...


 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [
Twitter ]


ที่มา 
                                                       




  • Thank
    Health; Wikihow; Wikihow //



  • นพ.วัลลภ
    พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์
    ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. > 2 พฤษภาคม 2553.




  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อ
    การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค
    ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล
    ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.









Free TextEditor




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2553
0 comments
Last Update : 2 พฤษภาคม 2553 13:59:44 น.
Counter : 1148 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

wullop
 
Location :
ลำปาง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




บล็อกสุขภาพ + เรื่องทั่วไป... ท่านนำบทความไปใช้ โดยไม่ต้องขออนุญาตครับ... นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์...
New Comments
[Add wullop's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com