Cocalero ฮีโร่โบลิเวีย
Cocalero ฮีโร่โบลิเวีย
พล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 17 กุมภาพันธ์ 2551
หากเอ่ยถึงผู้นำประเทศละตินอเมริกาที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกาและทุนนิยม-จักรวรรดินิยม ผู้นำคิวบาอย่าง พิเดล คาสโตร ย่อมถือเป็นรุ่นเก๋าที่แน่วแน่มั่นคงในแนวทางของตนเองยาวนานเกือบกึ่งศตวรรษ ส่วนผู้นำรุ่นใหม่มาแรงที่สุดในช่วง 5-6 ปีหลัง เห็นจะไม่มีใครเกิน ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา
อีโว โมราเลส เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ถูกจับตาและกล่าวถึงตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับแต่เขาก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีโบลิเวียเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 หลังจากชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาด 1 เดือนก่อนหน้านั้น
Cocalero (2007) คือหนังสารคดีที่ติดตาม อีโว โมราเลส ในช่วง 68 วัน ก่อนการเลือกตั้ง
ย้อนกลับไปทำความรู้จักเขาเพิ่มเติม...เรื่องราวของโมราเลสที่ปรากฏผ่านสื่อนานาชาติมักจะไม่พ้นภาพการต่อต้านอย่างแข็งกร้าวต่อสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตกซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีได้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในโบลิเวียทุกทิศทุกทาง โดยประชากรโบลิเวียค่อนประเทศยังคงยากจนข้นแค้นไม่เปลี่ยนแปลง
ปฏิบัติการสุดช็อคโลกของโมราเลสเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม หลังจากที่เขารับตำแหน่งเพียง 4 เดือน โมราเลสส่งทหารเข้าไปยึดที่ทำการ โรงกลั่น โรงแปรรูป และหลุมขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของบรรษัทค้าพลังงานข้ามชาติ รวมทั้งสิ้น 56 จุด ทั่วประเทศ เพื่อคืนเป็นทรัพย์สินของรัฐและประชาชน ก่อนจะตั้งโต๊ะเจรจาทำสัญญากันใหม่เพื่อให้ชาวโบลิเวียได้ผลประโยชน์ที่ไม่เคยได้มาก่อนอย่างเหมาะสม (โบลิเวียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอเมริกาใต้)
เรื่องราวต่อมา...โมราเลสไม่ได้ผงาดขึ้นมาท้าทายสหรัฐอย่างโดดเดี่ยว แต่มี ฟิเดล คาสโตร และฮูโก ชาเวซ หนุนเสริมตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดี กระทั่งเขาถูกจัดเข้าไปอยู่ในขบวนแถวของอักษะสังคมนิยมแห่งอเมริกาใต้
เรื่องราวต่อมา...โมราเลสนับเป็นผู้นำโบลิเวียคนแรกที่เป็นชนพื้นเมือง เขาเป็นอินเดียนแดงเผ่าไอมารา เกิดในครอบครัวยากจน และจบการศึกษาเพียงแค่ระดับมัธยม
เรื่องราวต่อมา...หลังจากรับตำแหน่งเพียง 4 วัน โมราเลสประกาศลดเงินเดือนลงครึ่งหนึ่ง และปฏิเสธเข้าไปอยู่ในทำเนียบประธานาธิบดี
เรื่องราวต่อมา...แรงผลักครั้งใหญ่ที่ส่งโมราเลสสู่การเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองคือกรณีที่รัฐบาลสั่งกวาดล้างไร่โคคาของเกษตรกร(รวมทั้งของโมราเลส) ตามบัญชาของสหรัฐอเมริกาที่อ้างว่าใบโคคาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโคเคน แลกกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โบลิเวีย ชาวไร่โคคาจึงรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล กระทั่งพัฒนาปรับเปลี่ยนมาเป็นพรรคแนวร่วมสังคมนิยม (Movimiento al Socialismo-MAS) ในที่สุด
คำว่า Cocalero ซึ่งหมายถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกโคคาในโบลิเวียถูกนำมาใช้เป็นชื่อการเคลื่อนไหวของโมราเลสเพื่อให้โคคากลับมาเป็นพืชไร่ของเกษตรกรอีกครั้ง โดยมีนัยของการปลดแอกโบลิเวียจากสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกด้วย
ยังมีเรื่องราวต่อมา...และต่อมาอีกมากมายที่ถูกเล่าขาน-เรียบเรียง-วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อนานาชาติ แต่ยังมีเรื่องราวส่วนหนึ่งที่ไม่เคยเผยแพร่ในสื่อใด นอกจากให้สัมผัสใกล้ชิดในหนังสารคดีเรื่อง Cocalero เท่านั้น
อเลฮานโดร แลนดีส หนุ่มชาวบราซิลวัย 25 ปี ซึ่งไม่มีประสบการณ์ทำหนังมาก่อน ใช้เวลากว่า 2 เดือน บันทึกเรื่องราวของโมราเลส ของบุคคลรอบข้าง และกิจกรรมเบื้องหน้า-เบื้องหลังการหาเสียง โดยที่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าเขาจะชนะการเลือกตั้ง
โมราเลสไม่มีภาพของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เราคุ้นเคยหรือจินตนาการไปถึง เขาไม่มีกลุ่มคนติดตามห้อมล้อม ไม่มีทีมงานช่วยหาเสียง นอกจากเลขาฯส่วนตัว คนขับรถ ที่ปรึกษาด้านสื่อ และบอดี้การ์ด 1-2 คน โมราเลสไม่เคยสวมสูทผูกไท นอกจากเสื้อเชิ้ต เสื้อแจ็คเก็ต และเสื้อทีมฟุตบอลโบลิเวียซึ่งเห็นเขาใส่บ่อยครั้งยามไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะ
บุคลิกและการแสดงออกของโมราเลสไม่ต่างจากชาวบ้านธรรมดาทั่วไป เขาพูดจาตรงไปตรงมาจนบางครั้งมองเห็นความซื่ออยู่ในน้ำเสียงและถ้อยคำ เขาไม่เคยแต่งงาน และยอมรับว่าไม่เคยแม้แต่อยู่กินกับผู้หญิง
จากคำบอกเล่าของโมราเลสแสดงให้รู้ว่าเขาไม่มีเงินทุนในการหาเสียง ภาพโฆษณาหาเสียงทางโทรทัศน์และป้ายบิลบอร์ดของคู่แข่งซึ่งหนังใส่แทรกไว้จึงยิ่งดูแตกต่างกับโมราเลสที่ใช้วิธีโรยปูนขาวบนภูเขาเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า EVO
นอกจากภาพการหาเสียงและชีวิตส่วนตัวแล้ว หนังยังตามโมราเลสไปยังอาร์เจนตินาเพื่อร่วมชุมนุมต่อต้านเขตการค้าเสรีอเมริกา โดย ฮูโก ชาเวซ แนะนำเขาบนเวทีปราศรัย
อีกส่วนหนึ่งของหนังมี ลีโอนิลดา ซูริตา ผู้สมัครเลือกตั้งวุฒิสมาชิกเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ภาพของซูริตาที่เราเห็นคือสาวใหญ่ผมยาวถักเปีย ปากเคี้ยวใบโคคาตลอดเวลา เธอเป็นชาวอินเดียนแดง เคยเป็นเกษตรกรไร่โคคาก่อนจะผันตัวมาเป็นแกนนำกลุ่มสตรีในเขตชาพาเร่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมสังคมนิยม บทบาทของเธอจึงสอดคล้องและสนับสนุนโมราเลสโดยตรง
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของซูริตาคือการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองและการเลือกตั้งต่อชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ ต้องซักซ้อมวิธีลงคะแนนโดยจำลองให้คล้ายของจริงเพื่อให้ทุกเสียงในเขตชาพาเร่ไม่ตกหล่น
ยิ่งเวลางวดเข้ามา เรื่องราวที่หนังเล่าอย่างราบรื่นมาตลอด หรือบางครั้งเรียกรอยยิ้มได้ด้วยซ้ำ เริ่มมีภาพความเครียดความกดดันให้เห็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่โมราเลสโดนชาวซานตาครูซด่าไล่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย (ซานตาครูซเป็นเมืองของชนชั้นกลาง-เจ้าของที่ดินซึ่งจะเสียประโยชน์หากโมราเลสชนะการเลือกตั้ง) ถูกนักข่าวจี้ถามเรื่องความสนิทสนมกับฮูโก ชาเวซ การไม่มาปรากฏตัวบนเวทีหาเสียงจนชาวบ้านไม่พอใจ
กระทั่งในวันเลือกตั้งชาวบ้านในเขตเชพาเร่จำนวนมากไม่สามารถลงคะแนนได้เพราะไม่มีชื่อในทะเบียน ทั้งที่การเลือกตั้งคราวก่อนก็มาเลือกตั้งในจุดเดียวกัน
ฉากต่อมาโมราเลสขึ้นเครื่องบินไปยังกรุงลาปาซ เขามองออกไปนอกหน้าต่าง ดูเหม่อลอยครุ่นคิด ภาพตัดไปที่ใบพัดเครื่องบิน มีเสียงอื้ออึงโดยรอบ ก่อนที่หนังจะพาข้ามมายัง 1 วันหลังการเลือกตั้ง
เนื่องจากหนังไม่ได้มีจุดประสงค์ในการนำเสนอแนวคิด แง่มุมแหลมคม หรือมุมมองใหม่ แต่เป็นการบันทึกเพื่อบอกเล่าและเปิดเผยส่วนที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของคนทั่วไป การใส่ดนตรีประกอบตลอดทั้งเรื่อง และการตัดต่อเพื่อนำเสนอแบบดราม่าในช่วงท้ายจึงไม่ได้มีผลเสียต่อเนื้อหา
ส่วนที่น่าชื่นชมคือแม้หนังสารคดีจะบันทึกเรื่องราวของบุคคลอย่างใกล้ชิด ซ้ำยังเกี่ยวพันกับการเมืองโดยตรง แต่หนังก็วางน้ำหนักได้พอเหมาะจนไม่เป็นเหมือนวิดีโอประชาสัมพันธ์นักการเมืองและพรรคการเมือง นอกจากจะมีคำบอกเล่าด้านลบต่อพรรคโดยบาทหลวงในชุมชน และภาพกับคำพูดของชาวบ้านที่เกลียดหน้าโมราเลสแล้ว ตัวโมราเลสเองซึ่งดูเป็นชาวบ้านธรรมดาไร้การปรุงแต่งคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังปราศจากท่าทีเอนเอียง และยังคงความน่าเชื่อถือไว้ได้
แม้โมราเลสจะเป็นศัตรูของอเมริกา แต่ Cocalero มีโอกาสเดินทางไปฉายเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว และได้เข้าชิงรางวัลในสาขาหนังสารคดี
แปลกตรงที่วันฉายหนังรอบแรกตรงกับวันครบรอบ 1 ปี การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโมราเลสพอดิบพอดี
ไม่รู้เป็นความตั้งใจของใครหรือเปล่า...
Create Date : 31 สิงหาคม 2551 |
|
11 comments |
Last Update : 31 สิงหาคม 2551 6:10:24 น. |
Counter : 2650 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: ม่วน IP: 202.44.135.34 31 สิงหาคม 2551 12:24:30 น. |
|
|
|
| |
โดย: beerled IP: 203.154.188.177 1 กันยายน 2551 8:57:55 น. |
|
|
|
| |
โดย: initial A IP: 161.200.255.162 3 กันยายน 2551 10:44:35 น. |
|
|
|
| |
โดย: FILMSICK IP: 203.156.32.206 6 กันยายน 2551 2:14:05 น. |
|
|
|
| |
โดย: yawaiam IP: 118.172.164.101 8 กันยายน 2551 16:48:20 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]
|
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................
พญาอินทรี
ศราทร @ wordpress
|
|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
31 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|