The Syrian Bride เจ้าสาวตระเวนชายแดน



The Syrian Bride
เจ้าสาวตระเวนชายแดน

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 6 สิงหาคม 2549


*ปี 2002 มีหนังปาเลสไตน์เรื่อง Rana’s Wedding ของผู้กำกับฯ ฮานี อาบู-อัสซาด ใช้เส้นแบ่งพรมแดนและการแต่งงานกระทบกระเทียบปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่เลบานอนมี The Kite โดย แรนดา ชาฮาล ซาบัก ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เมื่อปี 2003

สำหรับหนังอิสราเอลเรื่อง The Syrian Bride(2004) นั้นคลับคล้ายใกล้เคียงกับ 2 เรื่องข้างต้น หนังใช้เส้นแบ่งพรมแดนและการแต่งงานเพื่อสื่อถึงความเหลวไหลไร้แก่นสารที่เกิดขึ้นในทางสังคม-การเมืองของอิสราเอลและโลกอาหรับ จนส่งผลกระทบต่อชะตาชีวิตของผู้คนในดินแดนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้กำกับฯชาวอิสราเอล อีราน ริคลิส ร่วมกับ ซูฮา อาร์ราฟ มือเขียนบทหนังชาวอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สะท้อนภาพชุมชนผู้นับถืออิสลามนิกายดรูซบนที่ราบสูงโกลาน ซึ่งเป็นพื้นที่กรณีพิพาทระหว่างอิสราเอลกับซีเรียมานานกว่า 4 ทศวรรษ ไม่ต่างจากฉนวนกาซ่า เวสต์แบงก์ หรือพรมแดนเลบานอนที่ระอุไฟสงครามอยู่ในเวลานี้ ให้คนทั่วโลกที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดปัญหาได้รับรู้สภาพอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งยังมองไม่เห็นว่าจะมีทางออกในระยะเวลาอันใกล้นี้

หนังเล่าถึงวันแต่งงานของ โมนา หญิงสาวชาวดรูซแห่งหมู่บ้านมัชดาล ชามส์ บนที่ราบสูงโกลานของอิสราเอล โดยเธอจะถูกส่งตัวข้ามพรมแดนไปอยู่กับเจ้าบ่าวนักแสดงซึ่งเธอไม่เคยพบหน้าในซีเรีย และจะไม่มีโอกาสกลับมายังบ้านเกิดอีก

การต้องจากบ้านไปตลอดชีวิต ไม่ได้พบพ่อแม่พี่น้องอีกต่อไป รวมทั้งความกังวลเรื่องสามีที่ไม่เคยรู้จัก ทำให้โมนาตกอยู่ในอาการเศร้าซึม โดยมี อามาล พี่สาวคอยดูแลปลอบโยนเธอไม่ห่าง

ฮัมเหม็ด พ่อของโมนาก็เหมือนชาวดรูซส่วนใหญ่ในดินแดนแห่งนี้ที่ยังคิดเสมอว่าตนเองเป็นประชากรซีเรีย เขาเป็นหนึ่งในแกนนำประท้วงการยึดครองของอิสราเอลจนเคยถูกจับเข้าคุกและยังอยู่ระหว่างทัณฑ์บน ทางการห้ามเขาเข้าใกล้ชายแดน นั่นหมายความว่าเขาจะไม่มีโอกาสไปส่งลูกสาวและบอกลาเธอเป็นครั้งสุดท้าย

ฮัตเตม พี่ชายของโมนา พาภรรยาชาวรัสเซียนและลูกชายมาร่วมงานแต่งครั้งนี้ด้วย ปัญหาคือ การแต่งงานกับคนนอกศาสนาของเขาถือเป็นเรื่องผิดมหันต์ในหมู่ชาวดรูซผู้เคร่งครัด เขาจึงถูกขับออกจากชุมชนอย่างถาวร ผู้อาวุโสในชุมชนถึงกับกำชับฮัมเหม็ดว่าถ้าเห็นฮัตเตมกลับมา จะขับฮัมเหม็ดออกไปอีกคน สถานะทางสังคมที่บีบบังคับของฮัมเหม็ดทำให้เขาเฉยเมยไม่ยอมพูดคุยกับลูกชาย ทั้งที่ไม่ได้พบหน้ากันนานกว่า 8 ปี

* อามาล พี่สาวของโมนาก็มีเรื่องหนักใจเช่นกัน นอกจากต้องคอยไกล่เกลี่ยปัญหาให้พ่อและพี่ชายแล้ว เธอยังทะเลาะกับสามีทั้งเรื่องที่เธอเป็นคนหัวใหม่ ไม่ยึดติดกับธรรมเนียมของชุมชนจนทำให้เขาต้องอับอายขายหน้าที่ควบคุมภรรยาหัวรั้นไม่ได้ และเรื่องเกี่ยวกับลูกสาวของทั้งสองที่ไปรักกับหนุ่มชาวยิว

ความวุ่นวายในวันวิวาห์ยังไม่หมดแค่นี้ เมื่อถึงเวลาส่งตัวโมนาไปซีเรียกลับเกิดปัญหาเรื่องเอกสารผ่านแดนขึ้นอีก เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศต่างไม่ยอมให้อีกฝ่ายอ้างว่าโมนาเป็นคนของตน ปัญหาจึงตกอยู่กับ ฌองเน่ สาวสหประชาชาติชาวฝรั่งเศสที่ทำหน้าที่ตัวแทนเดินเรื่องระหว่าง 2 พรมแดน ต้องเจรจาอ้อนวอนให้สำเร็จให้ได้

ที่วุ่นไปกว่านั้นคือ ฌองเน่เป็นหญิงสาวที่เคยถูกมาร์วาน น้องชายเพลย์บอยของโมนาหักอก ปัญหาส่วนตัวของเขาและเธอและคู่กรณีคนอื่นๆ จึงถูกหยิบมาถกเถียงกันตรงพรมแดนเขตปลอดทหารนั่นเอง

กว่าจะล่วงเลยผ่านพ้น...วันที่ควรจะแต้มเติมด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และอารมณ์ชื่นมื่นของเจ้าสาวและครอบครัว จึงกลับเต็มไปด้วยความตึงเครียด ความขุ่นข้องหมองใจ และหยาดน้ำตา

พล็อตที่ว่าด้วยหญิงสาวจากแผ่นดินอิสราเอลต้องแต่งงานและถูกส่งตัวไปยังซีเรียโดยไม่ได้กลับมาหาครอบครัวอีก อาจจะเป็นพล็อตง่ายๆ สั้นๆ และมีเงื่อนไขที่ชัดเจน แต่เมื่อดูเรื่องราวทั้งหมดแล้วจะพบว่ายังมีพล็อตรองและรายละเอียดอีกมากมายรายล้อมอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของชุมชนและดินแดนที่มีประวัติซับซ้อน เป็นไปได้ที่เราซึ่งเป็นคนนอกอาจจะพลาดเก็บรายละเอียดเพื่อทำความเข้าใจสารส่วนใหญ่ที่หนังต้องการสื่อ

ยกตัวอย่างเช่นสารเกี่ยวกับสถานะและทัศนคติของชาวดรูซที่มีถิ่นฐานบนที่ราบสูงโกลาน ในหนังเราจะเห็นว่าคนที่นี่ใส่ใจกับข่าวการเสียชีวิตของประธานาธิบดีซีเรียทั้งที่ตนเองอยู่ในอิสราเอล มีการเดินขบวนสนับสนุนประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมกับประท้วงการยึดครองของอิสราเอล โดยพ่อของโมนาเคยร่วมการประท้วงจนถูกจับเข้าคุก นอกจากนี้ พี่ชายอีกคนของโมนา รวมทั้งญาติๆ กลับอยู่ฝั่งซีเรีย ไม่ได้อยู่ในอิสราเอล

เหตุที่เป็นเช่นนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่อิสราเอลยึดครองที่ราบสูงโกลานของซีเรียระหว่าง “สงคราม 6 วัน” หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 3 ในปี 1967 ทำให้ชาวดรูซจำนวนมากอพยพกระจัดกระจายหนีภัยสงคราม เมื่อสงครามยุติ อิสราเอลไม่ยอมให้ผู้อพยพกลับเข้ามายังโกลาน หลายครอบครัวจึงต้องพลัดพรากไม่มีโอกาสอยู่ร่วมกันอีก

จำนวนชาวดรูซที่เคยมีมากถึง 80,000 คน เหลือเพียง 33,000 คน(สถิติปี 1998) พวกเขาเหล่านี้ยังคิดเสมอว่าตนเองเป็นชาวซีเรีย และปฏิเสธสถานะประชากรอิสราเอลด้วยการประท้วงใหญ่ในปี 1981 จนเป็นเหตุให้ผู้ประท้วงจำนวนมากถูกจับเข้าคุก

เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับหนัง...พ่อของโมนาซึ่งเป็นแกนนำชุมชนจึงน่าจะร่วมในเหตุการณ์นี้ด้วย


หรือสารเกี่ยวกับพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ ที่ไม่มีใครยอมใครแม้แต่เรื่องยิบย่อยเช่นเอกสารผ่านแดน จุดนี้เกิดจากความขัดแย้งฝังลึกระหว่างยิว-อาหรับที่ยากจะสมานให้กลมกลืนกันได้ ซีเรียเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมกับชาติอาหรับทำสงครามครั้งใหญ่กับอิสราเอลถึง 3 ครั้ง(1948, 1967 และ 1973) มีการเจรจาคืนที่ราบสูงโกลานหลายครั้งโดยสหรัฐอเมริกาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แต่ต่างฝ่ายต่างตั้งแง่จนล้มเหลวไปเสียทุกครั้ง

ส่วนสาเหตุที่ต้องมีเจ้าหน้าที่สหประชาชาติคอยประสานงาน สืบเนื่องมาตั้งแต่สงครามยมคิปเปอร์ หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 4 ในปี 1973 ที่สหประชาชาติต้องตั้งกองกำลังประจำการในเขตกันชนเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันขึ้นมาอีก

ยังมีเรื่องราวรายละเอียดอีกหลายจุดที่เห็นในหนังให้ศึกษาค้นคว้าหาที่มาที่ไป นอกจากจะทำให้เข้าใจมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ดูหนังได้สนุกยิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้หนังจะสะท้อนปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน แต่การที่บทหนังเพิ่มมิติทางสังคมของชาวดรูซซึ่งส่งผลไม่ต่างจากความขัดแย้งระหว่างยิว-อาหรับสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ลูกชายคนโตถูกอัปเปหิออกจากชุมชนเพราะแต่งงานกับคนนอก หรือลูกสาวหัวก้าวหน้าคิดนอกกรอบจารีตเดิมๆ จนทะเลาะกับสามี ทำให้หนังกล่าวถึงประเด็นที่เป็นสากลมากขึ้น และแตกต่างกับหนังอีกหลายเรื่องในภูมิภาคนี้ที่มักจะกล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างเดียว

The Syrian Bride ไม่ใช่หนังเคร่งเครียดหนักอึ้งแม้ว่าเรื่องราวและตัวละครจะมีท่าทีจริงจังอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะมีแง่มุมหฤหรรษ์ในความวุ่นวายแทรกอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะซีเควนซ์เกี่ยวกับเอกสารผ่านแดนที่สื่อถึงความเหลวไหลน่าขันไม่รู้จักจบสิ้น

ถือเป็นความกลมกล่อมที่น่าชมเชยโดยสาระแก่นสารไม่ขาดตกบกพร่อง





 

Create Date : 08 ธันวาคม 2549
9 comments
Last Update : 8 ธันวาคม 2549 2:17:47 น.
Counter : 2057 Pageviews.

 

จำได้ว่าตอนเรื่องเอกสารผ่านแดนนั้น รู้สึกคันไม้คันมือและคันใจไปกับตัวละครด้วย เพราะมันวุ่นวายและไม่ยอมกัน จนน่าหมั่นเขี้ยว สสารเจ้าสาวก็ปานนั้น ...

The Kite ก็เคยดูค่ะ แต่จำอะไรไม่ได้ T_T จำได้แต่ว่าว่าวของเด็กมันลอยละล่องข้ามไปตกอีกฟากนึงของเส้นแบ่งพรมแดน ประมาณนั้นรึปล่าวคะ ถ้ามีโอกาสน้าก็เอามาลงบล็อคให้อ่านบ้างนะคะ

 

โดย: renton_renton 8 ธันวาคม 2549 14:32:41 น.  

 

^
^ ขอแก้คำผิดค่ะ

จะบอกว่า สงสารเจ้าสาวก็ปานนั้น ...

 

โดย: renton_renton 8 ธันวาคม 2549 14:39:24 น.  

 

ผมเป็นนักศึกษาปริญญาโท กำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับเว็บบล็อกอยู่
จึงใคร่ขอความร่วมมือจากท่านเจ้าของเว็บบล็อกนี้ ถ้าไม่เป็นการรบกวนกรุณาติดต่อกลับมาที่ greentea_sp@hotmail.com
ถ้าขอความนี้เป็นการรบกวนท่าน ผมก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ และก็ต้องขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับท่านที่ให้ความร่วมมือครับ

 

โดย: greentea IP: 125.24.180.122 8 ธันวาคม 2549 18:03:03 น.  

 

โอ้ว แนะนำหนังน่าดูอีกแล้ว ขอบคุณมากครับ

 

โดย: sTRAWBERRY sOMEDAY 9 ธันวาคม 2549 2:29:59 น.  

 

รีบกระโดดมาโหวตให้เลย อิอิ

 

โดย: ดาริกามณี 9 ธันวาคม 2549 9:11:08 น.  

 

ตอบ renton
The Kite ผมเองก็จำไม่ได้ทั้งหมดครับ เลยไม่ได้เอามาเขียน
ดูนานแล้ว ตอนดูก็งงๆ บางฉาก อยากดูซ้ำแต่หาซื้อไม่ได้
ตอนจบออกจะเหนือจริงหน่อย ประมาณว่าเมื่อในชีวิตจริงมีข้อจำกัดมากนัก ก็ขอหลุดพ้นไปดีกว่า เผื่อจะทำในสิ่งที่อยากทำได้

ใช่ครับ มีฉากว่าวที่ renton พูดถึงด้วย

ตอบ sTRAWBERRY sOMEDAY
...ยินดีครับ

ตอบ ดาริกามณี
ขอบคุณคร้าบ ดีใจได้คะแนนกะเค้าด้วย

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 9 ธันวาคม 2549 11:01:59 น.  

 

โหวดให้น้าด้วยฟามเต็มใจค่ะ + จิ้มไปหลายๆทีด้วยล่ะ

 

โดย: renton_renton 10 ธันวาคม 2549 8:51:15 น.  

 

^
^
ขอบคุณคร้าบ

 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 10 ธันวาคม 2549 13:15:04 น.  

 

 

โดย: renton_renton 3 ตุลาคม 2550 21:12:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 ธันวาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.